เปิดงาน ASEAN+3 มุ่ง แนวคิด“การขับเคลื่อนกิจการเพื่อสังคม สู่ความสำเร็จของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในภูมิภาคอาเซียน”(Advancing Social Enterprises for Realisation of SDGs in ASEAN)
พม. ดึงผู้แทน 13 ประเทศสมาชิกอาเซียนบวกสาม ร่วมขับเคลื่อนกิจการเพื่อสังคม
สู่ความสำเร็จของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs ) ใน6ภูมิภาคอาเซียน
วันนี้ (6 มี.ค. 62) เวลา 09.30 น. พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมอาเซียนบวกสามว่าด้วยกิจการเพื่อสังคม ภายใต้แนวคิด “การขับเคลื่อนกิจการเพื่อสังคม สู่ความสำเร็จของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในภูมิภาคอาเซียน” พร้อมด้วย นายอภิชาติ อภิชาตบุตร รองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและ ความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวรายงาน โดยมี พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) คณะผู้บริหารกระทรวง พม. ผู้บริหารสมาคมธุรกิจเพื่อสังคม ผู้บริหารบริติช เคานซิล ผู้แทนจากคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งเอเชียและแปซิฟิก (เอสแคป)ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐที่รับผิดชอบด้านกิจการเพื่อสังคม ผู้ประกอบกิจการเพื่อสังคมของประเทศสมาชิกอาเซียนบวกสามจำนวน 13 ประเทศ ประกอบด้วย บรูไน กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย เมียนมา ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม รวมทั้งจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ผู้แทนสำนักงานเลขาธิการอาเซียนและนักวิชาการที่เกี่ยวข้องของประเทศไทย รวมทั้งสิ้น 300 คน เข้าร่วมการประชุม ณ ห้องเลอ คองคอร์ด บอลรูม โรงแรมสวิสโซเทล กรุงเทพ รัชดา
พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี
นายอภิชาติ อภิชาตบุตร รองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและ ความมั่นคงของมนุษย์
นายอภิชาติ กล่าวว่า ทุกประเทศทั่วโลกได้ตระหนักถึงปัญหาสังคมอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ที่สลับซับซ้อน และการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากรที่สัดส่วนการเกิดของประชากรลดลง ผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น และวัยแรงงานลดลง รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวส่งผลกระทบสำคัญต่อความมั่นคง ของมนุษย์ ความยากจน ความเหลื่อมล้ำทางสังคม และทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นต้น ทั้งนี้ ประเทศสมาชิกอาเซียนได้มีความเห็นร่วมกันว่า มาตรการเชิงป้องกันทางสังคม (Social Protection) สามารถช่วยลดปัญหาและผลกระทบทางสังคม ดังกล่าวได้ ซึ่งการแก้ปัญหาไม่สามารถดำเนินการโดยรัฐบาลเพียงลำพัง จำเป็นต้องอาศัยภาคประชาสังคมและภาคเอกชน เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาอย่างบูรณาการร่วมกัน สำหรับประเทศไทยได้มีนโยบายด้านสังคมที่สำคัญ ได้แก่ นโยบายการลด ความเหลื่อมล้ำของสังคม การสร้างโอกาสการเข้าถึงบริการของรัฐ และการส่งเสริมการกระจายรายได้ โดยการขับเคลื่อนด้วยกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise) เป็นกลไกสำคัญให้ภาคเครือข่ายทุกภาคส่วนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาสังคม
นายอภิชาติ กล่าวต่อไปว่า ปี 2562 ประเทศไทยได้เข้าสู่วาระการเป็นประธานอาเซียน ซึ่งกระทรวงการพัฒนาสังคมและ ความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พส.) ร่วมกับสมาคมธุรกิจเพื่อสังคม บริติช เคานซิล เอสแคป และภาคีเครือข่าย จึงกำหนดจัดการประชุมอาเซียนบวกสามว่าด้วยเรื่องกิจการเพื่อสังคม ภายใต้แนวคิด“การขับเคลื่อนกิจการเพื่อสังคม สู่ความสำเร็จของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในภูมิภาคอาเซียน”(Advancing Social Enterprises for Realisation of SDGs in ASEAN) ซึ่งกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 6 - 8 มีนาคม 2562 ณ โรงแรมสวิสโซเทล กรุงเทพ รัชดา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประเทศในภูมิภาคได้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ด้านกิจการเพื่อสังคมร่วมกัน และตระหนักถึงบทบาทความสำคัญของกิจการเพื่อสังคม ในฐานะที่เป็นนวัตกรรมในการแก้ไขปัญหาทางสังคมในการนำไปสู่เป้าหมายสูงสุด คือ คุณภาพชีวิตของคนและสภาพแวดล้อม ในภูมิภาคอาเซียน ให้มีความยั่งยืน รวมทั้งเผยแพร่ ประชาสัมพันธ์การดำเนินงานด้านกิจการเพื่อสังคมของประเทศไทย
นายอภิชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับกิจกรรมสำคัญของการประชุมครั้งนี้ ประกอบด้วย 1. นิทรรศการ และ บูธแสดงผลการดำเนินงานของกิจการเพื่อสังคมของประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน 2. ปาฐกถาพิเศษและการเสวนาจาก ผู้มีประสบการณ์ด้านกิจการเพื่อสังคมในระดับภูมิภาคอาเซียน 3. การเสวนาในรูปแบบ World Café ตามประเด็นสำคัญ ได้แก่ การศึกษา สาธารณสุข สิ่งแวดล้อม และการพัฒนาชุมชน เพื่อให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้และแบ่งปันประสบการณ์อย่างทั่วถึง และ 4. การศึกษาดูงานกิจการเพื่อสังคมของประเทศไทย ใน 4 ประเด็น ประกอบด้วย 4.1) บทบาทและนโยบายภาครัฐในการส่งเสริมกิจการเพื่อสังคมและผู้นำการส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ของประเทศไทย 4.2) การท่องเที่ยวโดยชุมชน อย่างยั่งยืน แลการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการทำกิจการเพื่อสังคม 4.3) การสร้างอาชีพให้กลุ่มอดีตผู้ต้องขังและผู้ด้อยโอกาสและการสร้างอาชีพที่ยั่งยืนให้กลุ่มสตรีที่ขาดโอกาสทางสังคม และ 4.4) การส่งเสริมปศุสัตว์ในระบบอินทรีย์และระบบการค้าที่เป็นธรรม
“การประชุมครั้งนี้ เป็นเวทีหนึ่งในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ด้านกิจการเพื่อสังคมในภูมิภาคอาเซียนระหว่าง ผู้แทนประเทศสมาชิกอาเซียนทั้งหน่วยงานภาคราชการและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับกิจการเพื่อสังคม ทั้งนี้ ประเทศไทยได้ให้ความสำคัญในการผลักดันการดำเนินงานด้านกิจการเพื่อสังคมในภูมิภาค เพื่อให้การดำเนินงานด้านกิจการเพื่อสังคมให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันตามบริบทของแต่ละประเทศ ก่อให้เกิดความเข้มแข็งของเครือข่ายการทำงานในระดับภูมิภาคอาเซียน อันจะนำไปสู่ การพัฒนาและสวัสดิการสังคมที่ยั่งยืนในภูมิภาคอาเซียนต่อไป” นายอภิชาติ กล่าวในตอนท้าย