ดีป้า ชงหลักเกณฑ์แนวทางการพัฒนาสมาร์ทซิตี้ พร้อมกระตุ้นการลงทุนผ่าน BOI ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสูงสุด 8 ปี
ณ ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) ร่วมกับสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) และสำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) จัดการประชุมคณกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะครั้งที่1/2562 โดยมีรองนายกรัฐมนตรี พลอากาศเอกประจิน จั่นตอง เป็นประธาน พร้อมกรรมการจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
ที่ประชุมในครั้งนี้ เห็นชอบหลักเกณฑ์ และการประกาศหลักเกณฑ์การประเมิน และคุณสมบัติ วิธีการ และกระบวนการในการพิจารณาความเป็นเมืองอัจฉริยะประเทศไทย รวมถึงคู่มือการจัดทำแผนแนวทางการส่งเสริมเมืองอัจฉริยะ เพื่อให้แต่ละพื้นที่ได้เตรียมความพร้อมเข้าสู่กระบวนการพัฒนาไปสู่เมืองอัจฉริยะต่อไป ซึ่งเกณฑ์สำคัญของการก้าวสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะนั้น ครอบคลุมตั้งแต่การจัดทำแผนพัฒนาเมืองอัจฉริยะทั้งเมืองใหม่ และเมืองเดิม การประเมินเพื่อให้ได้รับโลโก้เมืองอัจฉริยะ ตลอดจนสิทธิประโยชน์ด้านการส่งเสริมการลงทุนเมืองอัจฉริยะจากบีโอไอ และสิทธิประโยชน์อื่นๆจากหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง พร้อมมอบหมายให้ดีป้า จัดตั้งสำนักงานสมาร์ทซิตี้ ที่ลาดพร้าว เพื่อเป็นศูนย์กลางการส่งเสริมและพัฒนาเมืองอัจฉริยะอีกด้วย
โดยรองนายกรัฐมนตรี พลอากาศเอกประจิน จั่นตอง กล่าวว่าแนวทางดังกล่าว นอกจากจะทำให้แนวทางการพัฒนาเมืองอัจฉริยะเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ยังมีการส่งเสริมผ่านมาตรการบีโอไอ ซึ่งจะให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี สูงสุด 8 ปี ทั้งกิจการเมืองอัจฉริยะและกิจการระบบในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ เพื่อสร้างรูปแบบการพัฒนาสู่การสร้างแพลนฟอร์มระดับอาเซียน (Asean Platform) ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในปีนี้ ผ่านการจัดประชุม ASEAN Smart City Network เพื่อปักหมุดแกนนำการขับเคลื่อนเมืองอัจฉริยะให้เป็นวาระสำคัญของอาเซียน โดยกำหนดจัด 2 ครั้ง ครั้งแรกจะจัดขึ้นในเดือนมิถุนายน และมุ่งเน้นเมืองอัจฉริยะด้าน Smart Energy และ Smart Environment และครั้งที่ 2 ในเดือนสิงหาคม เป็นมหกรรม ASEAN Smart City Network Conference and Exhibition 2019 ยิ่งใหญ่ที่สุดด้วยเครือข่ายเมืองอาเซียน 26 เมือง และเมืองอื่นๆจากทั่วโลก รวมถึงจัดเอกชนรายใหญ่ของโลกมาร่วมแสดงศักยภาพเมืองอัจฉริยะในประเทศไทย
นอกจากนี้ ที่ประชุมรับทราบความก้าวหน้าการประกวดโลโก้เมืองอัจฉริยะ ที่มีผู้เข้าประกวดกว่าร้อยราย และมีผู้ผ่านเข้ารอบสุดท้าย 6 ราย พร้อมเตรียมประกาศผลรางวัลในปลายเดือนนี้ต่อไป และความก้าวหน้าการพัฒนาเมืองอัจฉริยะต้นของประเทศไทยแบบใน 4 พื้นที่ ที่เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปีทีแล้ว ได้แก่ Amata Smart City, Smart City ศูนย์คมนาคมพหลโยธิน, Smart City EEC และ Smart City ภูเก็ต อีกด้วย