พก. mou กับสํานักงานสาธารณสุขจังหวัด ขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการในระดับชุมชน
พก. ผนึกกำลัง สํานักงานสาธารณสุขจังหวัด MOU การพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการในชุมชน
ร่วมโรงพยาบาล 32 แห่ง ในพื้นที่ 22 จังหวัด 76 หน่วยงาน บูรณาการการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการระดับพื้นที่
ผ่านกลไกศูนย์บริการคนพิการทั่วไป
ร่วมโรงพยาบาล 32 แห่ง ในพื้นที่ 22 จังหวัด 76 หน่วยงาน บูรณาการการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการระดับพื้นที่
ผ่านกลไกศูนย์บริการคนพิการทั่วไป
วันนี้ (25 ก.พ. 62) เวลา 11.00 น. นางธนาภรณ์ พรมสุวรรณ อธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ เป็นประธานร่วมในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการในชุมชน ระหว่าง สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด และผู้อำนวยการโรงพยาบาล 32 แห่ง ในพื้นที่ 22 จังหวัด 76 หน่วยงาน โดยมีนายแพทย์ยงยศ ธรรมวุฒิ ที่ปรึกษาระดับกระทรวง นายแพทย์ทรงคุณวุฒิด้านเวชกรรมป้องกัน ให้เกียรติประกาศเจตนารมณ์การขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการในระดับชุมชน และเป็นสักขีพยานการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการในชุมชน พร้อมเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการในชุมชนโดยการจัดตั้งศูนย์บริการคนพิการทั่วไปและการสนับสนุนการจ้างงานคนพิการตามมาตรา 33 และมาตรา 35 ในโรงพยาบาล ณ โรงแรมเซ็นทรา บาย เซ็นทาราศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร
นางธนาภรณ์ กล่าวว่า สืบเนื่องจากพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2556 ได้กำหนดให้กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) มีหน้าที่ในการประสานและร่วมมือกับหน่วยงานด้านนโยบายและยุทธศาสตร์ของรัฐบาล ส่วนราชการ เอกชน และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งในประเทศและต่างประเทศ ในการดำเนินงานร่วมกันในระดับนโยบาย ยุทธศาสตร์ และแผนงานด้านคนพิการเกี่ยวกับการส่งเสริมคุณภาพชีวิตคนพิการ พร้อมกับได้กำหนดให้คนพิการมีสิทธิเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากสิ่งอำนวยความสะดวกอันเป็นสาธารณะตลอดจนสวัสดิการและความช่วยเหลืออื่น เช่น การบริการฟื้นฟูสมรรถภาพโดยกระบวนการทางการแพทย์ ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ค่าอุปกรณ์เครื่องช่วยความพิการและสื่อส่งเสริมพัฒนาการ ตลอดจนได้รับการส่งเสริมประกอบอาชีพอิสระ รวมถึงให้คนพิการเข้าถึงสิทธิและสวัสดิการต่าง ๆ ได้อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม จึงได้กำหนดให้มีการจัดตั้งศูนย์บริการคนพิการ โดยจำแนกเป็นศูนย์บริการคนพิการระดับจังหวัด จำนวน 77 ศูนย์ และศูนย์บริการคนพิการทั่วไป จำนวน 2,125 ศูนย์
นางธนาภรณ์ กล่าวต่อไปว่า พก. โดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และคณะแพทย์ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ที่มีความเชี่ยวชาญการพัฒนาศักยภาพคนพิการในชุมชน ได้ดำเนินการขับเคลื่อนการพัฒนาศักยภาพคนพิการในระดับชุมชน และกำหนดแนวทางการบูรณาการการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการระดับพื้นที่ ผ่านกลไกศูนย์บริการคนพิการทั่วไป ในวันนี้ จึงได้จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการในชุมชน ระหว่าง สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด และผู้อำนวยการโรงพยาบาล 32 แห่ง ในพื้นที่ 22 จังหวัด 76 หน่วยงาน และเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการในชุมชนโดยการจัดตั้งศูนย์บริการคนพิการทั่วไปและการสนับสนุนการจ้างงานคนพิการตามมาตรา 33 และมาตรา 35 ในโรงพยาบาล เพื่อพัฒนาศักยภาพคนพิการ ส่งเสริมการมีรายได้ ควบคู่กับการฟื้นฟูสมรรถภาพของคนพิการที่ได้รับการจ้างงานในโรงพยาบาล โดยได้คัดเลือกโรงพยาบาลที่มีความพร้อมและมีศักยภาพเข้าร่วมเป็นพื้นที่นำร่อง จำนวน 32 แห่ง ในพื้นที่จังหวัด 22 จังหวัด เพื่อบูรณาการการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการระดับพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรม ผ่านกลไกศูนย์บริการคนพิการทั่วไป ส่งเสริมการจัดตั้งศูนย์บริการคนพิการทั่วไปในโรงพยาบาล ส่งเสริมการสร้างงาน สร้างอาชีพให้แก่คนพิการ ควบคู่กับการฟื้นฟูสมรรถภาพและพัฒนาศักยภาพคนพิการให้มี ความเข้มแข็ง สามารถเป็นต้นแบบให้แก่คนพิการในชุมชนได้ และขยายไปยังโรงพยาบาบาลชุมชนอื่นที่มีความพร้อมในระยะต่อไป ทั้งนี้ กิจกรรมภายในงานประกอบด้วย เวทีเสวนา พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ การบรรยายให้ความรู้ในเรื่องการสนับสนุนการจ้างงานคนพิการ ตามมาตรา 33 และมาตรา 35 ในโรงพยาบาล โดยได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากทางกระทรวงสาธารณสุข มูลนิธินวัตกรรมทางสังคม และสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด พร้อมเยี่ยมชมนิทรรศการการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการในชุมชน โดยมีผู้เข้าร่วมงานประกอบด้วย สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด สํานักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด และโรงพยาบาลนำร่อง 32 แห่ง และหน่วยที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งสิ้น 300 คน
“การขับเคลื่อนงานในครั้งนี้ ส่งผลให้มีคนพิการในชุมชนเป็นจำนวนมากกว่า 150 คนที่ได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพ และพัฒนาศักยภาพเข้าสู่การปฏิบัติงาน ถือได้ว่าเกิดการยกระดับคุณภาพชีวิตทั้งคนพิการและครอบครัวที่มีความเป็นรูปธรรม และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการ MOU ที่เกิดขึ้นจะทำให้คนพิการและผู้ดูแลคนพิการ ที่อยู่ในชุมชนได้รับการฟื้นฟู ส่งเสริม และพัฒนาศักยภาพสามารถดำรงชีวิตในสังคมด้วยคุณภาพชีวิตที่ดี ตลอดจนเกิดการขยายผลการดำเนินงานและเป็นต้นแบบให้แก่โรงพยาบาลอื่น ๆ ในพื้นที่ต่อไป” นางธนาภรณ์ กล่าวในตอนท้าย