ADS


Breaking News

ททท. เดินหน้าต่อยอด 5 เส้นทางท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวล รับศักราชใหม่ชวนเที่ยวไทยอย่างเท่าเทียม

     การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เดินหน้าโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวล (Tourism for all) สู่ปีที่ 2 ต่อยอดเส้นทางท่องเที่ยวใหม่ 5 เส้นทางทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย ปลุกกระแสท่องเที่ยวไทยอย่างเท่าเทียมตั้งแต่ต้นปี 2562 ให้นักท่องเที่ยวทุกกลุ่ม ทุกเพศ ทุกวัย ทุกสภาพร่างกายโดยเฉพาะผู้สูงอายุและผู้พิการได้มีโอกาสเดินทางเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยวได้อย่างไร้อุปสรรคในการเดินทาง พร้อมกันนี้ ททท. ยังได้จัดทำหนังสือเพื่อเป็นสื่อในการแนะนำ 5 เส้นทางท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวลอีกด้วย ถือเป็นการเริ่มมิติใหม่ทางการท่องเที่ยวที่เปิดกว้างสำหรับทุกคนและเป็นการนำร่องให้ทุกภาคส่วนเห็นความสำคัญของคนทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียม
     นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เห็นความสำคัญในการพัฒนาต่อยอดโครงการ 9 เส้นทางท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวลให้สมบูรณ์แบบมากขึ้นโดยได้รวบรวม 5 เส้นทางท่องเที่ยวในจังหวัดที่ผ่านการสำรวจมาแล้วว่ามีอารยสถาปัตย์รองรับค่อนข้างสมบูรณ์คือได้รับการออกแบบ ปรับปรุงบรรยากาศการท่องเที่ยวบนพื้นฐานที่เปิดกว้างสำหรับทุกคน หรือ Universal design ซึ่งประกอบด้วยรายละเอียดของสถานที่ท่องเที่ยว จุดแวะพัก จุดชมทิวทัศน์ รูปแบบการเดินทาง ร้านอาหาร ที่พัก โดยทุกคนสามารถจัดกลุ่มท่องเที่ยวในครอบครัว กลุ่มเพื่อน หรือใครก็ตาม โดยไม่ต้องกังวลว่าสมาชิกในกลุ่มที่มีข้อจำกัดทางร่างกายจะพบอุปสรรคระหว่างการเดินทาง ทำให้ทุกคนสามารถเที่ยวได้สนุกอย่างเต็มที่ ซึ่ง 5 เส้นทางดังกล่าวนี้ประกอบไปด้วยเส้นทางภาคกลาง-จังหวัดราชบุรี เส้นทางภาคตะวันออก-จังหวัดชลบุรี เส้นทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ-จังหวัดเลย เส้นทางภาคเหนือ-จังหวัดเชียงราย และเส้นทางภาคใต้-จังหวัดพังงา 
    ล่าสุด ททท. ได้จัดกิจกรรมทดลองเส้นทางท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวล​ ( FAM Trip) ทั้งหมด 2 เส้นทางได้แก่ พัทยา จ.ชลบุรี และจ. ราชบุรี โดยเชิญตัวแทนนักท่องเที่ยวกลุ่มคนพิการ ตัวแทนผู้สูงอายุจากศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุบ้านบางแค ผู้ประกอบการด้านธุรกิจท่องเที่ยว และสื่อมวลชน เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจ เปิดมุมมอง แลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกันเกี่ยวกับความเหมาะสมของเส้นทางท่องเที่ยว และเพื่อนำไปพัฒนาการท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวลให้พร้อมรองรับการเดินทางท่องเที่ยวของคนทุกกลุ่มได้สมบูรณ์แบบอย่างแท้จริง 
     ซึ่งแหล่งท่องเที่ยวหรือแม้แต่สถานที่ต่างๆ จะสามารถรองรับการเข้าถึงของคนทุกกลุ่มได้อย่างสมบูรณ์แบบนั้นต้องอาศัยแนวคิดในการออกแบบทางสถาปัตยกรรมแบบ “อารยสถาปัตย์” คือการปรับปรุงแหล่งท่องเที่ยวที่คำนึงถึงความเท่าเทียมของทุกคน ครอบคลุมถึงผู้ที่มีความแตกต่างในด้านภาษา การมองเห็น หรือแม้แต่ข้อจำกัดทางสติปัญญา อาทิเช่น อาคารสถานที่ต่างๆ จะต้องพัฒนาปรับปรุงให้มีพื้นที่เหมาะสม ไม่ละเลยรายละเอียด ทางเดินไม่แคบจนเกินไปสำหรับผู้ที่ใช้วีลแชร์ หรือไม้เท้า หรือผู้ที่มีน้ำหนักตัวมาก อุปกรณ์สิ่งอำนวยความสะดวก และบริการต่างๆ สำหรับนักท่องเที่ยวต้องพร้อมรองรับความหลากหลายอายุและสภาพร่างกาย จำเป็นต้องมีความมั่นคง แข็งแรง ปลอดภัยได้มาตรฐานสากล ได้แก่ ที่นั่ง ที่จอดรถ ทางลาดชัน ความสูงต่ำหรือรอยต่อที่เป็นอุปสรรค พื้นผิวต่างสัมผัส ราวกันตกบริเวณระเบียงโดยไม่โยกหรือสั่นคลอน พื้นกันลื่นในห้องน้ำ ประตู ลิฟต์ บันไดเลื่อน ทางสัญจร สัญญาณเสียงหรือสัญญาณแสง จุดบริการน้ำดื่ม พื้นที่หนีภัย ตำแหน่งการใช้งานของอุปกรณ์ต่าง ๆ เป็นต้น
     โดยกลุ่มเป้าหมายจะมุ่งเน้นไปที่คนพิการและผู้สูงอายุ ซึ่งจากการสำรวจสถิติ ปัจจุบันมีประชากรกลุ่มนี้รวมกันมากกว่า 10 ล้านคน และการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ พบว่าเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพ มีกำลังในการใช้จ่ายสูง และชอบแสวงหาประสบการณ์ด้านการท่องเที่ยวเช่นเดียวกับกลุ่มนักท่องเที่ยวอื่นๆ เพียงแต่ต้องมีสิ่งอำนวยความสะดวกรองรับสำหรับกลุ่มคนที่มีข้อจำกัดทางกายภาพได้อย่างแท้จริง ดังจะเห็นได้จากจำนวนนักท่องเที่ยวกลุ่มคนพิการและผู้สูงอายุมีความพึงพอใจการเข้าพักในโรงแรมที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกรองรับมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
     ทั้งนี้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) คาดหวังว่าการจัดโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวลในครั้งนี้จะได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนในการร่วมกันผลักดันและพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ที่พร้อมรองรับและมีเหมาะสมต่อการเดินทางเพื่อเสริมสร้างประสบการณ์และการเรียนรู้สิ่งใหม่ของนักท่องเที่ยวทุกกลุ่ม โดยเฉพาะคนพิการและผู้สูงอายุให้ได้รับความสุขจากการท่องเที่ยวได้อย่างเท่าเทียมกับนักท่องเที่ยวกลุ่มอื่นๆ อีกด้วย ซึ่งสอดคล้องกับแผนพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งชาติ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2560-2564) ระบุว่ากลุ่มนักท่องเที่ยวผู้สูงอายุนับเป็นกลุ่มเป้าหมายที่มีศักยภาพสูงและควรให้ความสำคัญในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการท่องเที่ยวรองรับนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ เพื่อเป็นการเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้ให้กับประเทศ 
     ท่านที่สนใจสามารถเข้าดูรายละเอียดโครงการได้ที่ https://www.facebook.com/AmazingThailand/posts/10156893108480699