วิทยาลัยนานาชาติ ม.หอการค้าไทย วิเคราะห์ข้อมูลแก้ไขปัญหาฆ่าตัวตายเยาวชนอายุ 13 – 17 ปี คว้าชัยเวทีใหญ่อาเซียน ประเทศสิงคโปร์
ปัจจุบัน Data Science หรือศาสตร์แห่งการเก็บและเปลี่ยนแปลงข้อมูลไปสู่ความรู้ หลักวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกันของข้อมูลหรือที่เรียกอีกอย่างหนึ่งว่าวิทยาการข้อมูลนั้นถือเป็นเทรนด์ของโลกที่ปฏิเสธไม่ได้ ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาของเยาวชน นักศึกษาทั่วภูมิภาคอาเซียน ด้วยเหตุนี้มูลนิธิอาเซียน (ASEAN Foundation)ร่วมกับบริษัทเอสเอพี จึงได้จัดการแข่งขัน “ASEAN Data Science Explorers 2018” ณ ประเทศสิงคโปร์ ประกอบด้วยนักศึกษา 10 ประเทศจากอาเซียน ได้แก่ สาธารณรัฐอินโดนีเซีย,ประเทศมาเลเซีย,สาธารณรัฐฟิลิปปินส์,สาธารณรัฐสิงคโปร์ ,บรูไนดารุสซาลาม,สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม,สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว,สหภาพพม่า,ราชอาณาจักรกัมพูชาและประเทศไทย
ล่าสุดจากการแข่งขัน “ASEAN Data Science Explorers 2018” ณ ประเทศสิงคโปร์ นายอัมรินทร์ อุดมผลและนายธีระพงษ์ ศรีสุพรรณ วิทยาลัยนานาชาติ คณะบริหารธุรกิจ สาขาบริหารธุรกิจระหว่างประเทศ ชั้นปีที่ 1 มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ตัวแทนนักศึกษาประเทศไทยที่ชนะเลิศการแข่งขันจากเวทีในประเทศไทยได้รับรางวัล WINNER OF NATIONAL FINALS” ต่อด้วยการแข่งขันในเวทีอาเซียนประเทศสิงคโปร์ได้รับรางวัล “WINNER SOCIAL MEDIA CHALLENGE” จากผลงานการศึกษาเชิงข้อมูลหัวข้อสุขภาพจิตของเยาวชนทั่วภูมิภาคอาเซียน มุ่งขยายผลงานให้รัฐบาลแต่ละประเทศในภูมิภาคอาเซียนตระหนักถึงปัญหาการฆ่าตัวตายของเยาวชนอายุระหว่าง 13 – 17 ปี โดยการกระตุ้นให้ครอบครัวและโรงเรียนให้ความสำคัญปัญหานี้อย่างมาก รวมถึงหาแนวทางสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับครอบครัวและโรงเรียนแก้ไขปัญหาในครั้งนี้
นายอัมรินทร์ อุดมผล (ซ้าย)และนายธีระพงษ์ ศรีสุพรรณ (ขวา) วิทยาลัยนานาชาติ ม.หอการค้าไทย
นายอัมรินทร์ อุดมผล นักศึกษาวิทยาลัยนานาชาติ คณะบริหารธุรกิจ สาขาบริหารธุรกิจระหว่างประเทศ ชั้นปีที่1 มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เล่าว่า “ในการแข่งที่ประเทศสิงคโปร์ผมเลือกทำหัวข้อสุขภาพจิตของเยาวชนทั่วภูมิภาคอาเซียน ตอนแรกที่เราจะทำเรื่องนี้นั้นเราได้เข้าไปดูเกี่ยวกับจำนวนของเด็กแรกเกิด จำนวนคนเสียชีวิต ซึ่งบางประเทศนั้นมีจำนวนผู้เสียชีวิตสูงมาก เราเริ่มศึกษาแหล่งข้อมูลเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆพบว่าในอาเซียนมีข้อมูลสุขภาพจิตเยาวชนค่อนข้างน้อยมาก ซึ่งในประเทศทางโซนยุโรปฐานข้อมูลมีเยอะมากต่างจากในบ้านเราอย่างสิ้นเชิง พอเริ่มสนใจในเรื่องนี้พร้อมกับเจอผลสำรวจของประเทศเวียดนามว่ามีเด็กที่เคยคิดจะฆ่าตัวตายเป็นจำนวน 10 เปอร์เซ็นต์ซึ่งสูงที่สุดในอาเซียนอิงจากข้อมูลปี 2015 ซึ่งเราก็ไม่มีข้อมูลที่ระบุแน่ชัดถึงสาเหตุที่ทำให้เด็กพวกนั้นคิดที่จะฆ่าตัวตาย หลังจากที่เราได้ข้อมูลเกี่ยวกับปัญหามาแล้วก็จะนำข้อมูลตรงนี้ไปใส่ไว้ในแพลตฟอร์มเพื่อที่จะดูกราฟว่าเป็นยังไง หลังจากที่ได้ข้อมูลเชิงลึกต่าง ๆ แล้วก็ออกแบบว่าจะมีการแก้ปัญหาอย่างไรดี”
“แนวทางการแก้ไขปัญหาจากผลการศึกษาที่ได้มา ควรจะเริ่มจากรัฐบาลในแต่ละประเทศโดยการกระตุ้นให้ครอบครัวและโรงเรียนตระหนักถึงปัญหาการฆ่าตัวตายของเยาวชนอายุ 13 -17 ปี ให้มากขึ้น หลังจากนั้นครอบครัวและโรงเรียนจะต้องคอยให้คำปรึกษา สอนและแนะนำกับตัวเยาวชนว่ามีวิธีการป้องกันแก้ไขปัญหาอย่างไรบ้าง หรือเมื่อเจอปัญหานี้เหล่านี้จะไปปรึกษาที่ไหนได้บ้าง” นายอัมรินทร์ กล่าวทิ้งท้าย
นายธีระพงษ์ ศรีสุพรรณ นักศึกษาวิทยาลัยนานาชาติ คณะบริหารธุรกิจ สาขาบริหารธุรกิจระหว่างประเทศ ชั้นปีที่ 1 มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า “หัวข้อสุขภาพจิตของเยาวชนทั่วภูมิภาคอาเซียนที่เรานำไปแข่งขันครั้งนี้ พบว่าในภูมิภาคอาเซียนยังไม่ค่อยตระหนักถึงเรื่องนี้มากนักเพราะขาดการสนับสนุนจากทางรัฐบาลหรือบุคคลที่มีอำนาจที่สามารถออกมาเป็นนโยบายได้ ที่สำคัญยังพบอีกว่าประเทศพม่าเยาวชนอายุระหว่าง13-17 ปีที่คิดจะฆ่าตัวตายมีอัตราสูงสุดเมื่อวัดจากปีที่ผ่านมาว่าและมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นสูงสุดในอาเซียน พอเราเจอปัญหานี้ได้ศึกษาจำนวนประชากรที่เป็นเยาวชนในอาเซียนว่ามีจำนวนเท่าไหร่ผลปรากฏว่ามีจำนวนประมาณ 17 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งจำนวนเยาวชนตรงนี้นั้นจะกลายเป็นประชากรของทุก ๆ ประเทศในภูมิภาคอาเซียน อีกทั้งจำนวนเยาวชนตรงนี้นั้นยังเป็นปัจจัยหลักที่จะเป็นตัวกำหนดว่าประเทศนั้น ๆ จะพัฒนาหรือตกต่ำลงซึ่งมันสำคัญมากในการขับเคลื่อนประเทศ เราจึงมองว่าถ้าเราไม่ทำอะไรตรงนี้อาจจะเป็นผลแย่ให้กับประเทศแต่ละประเทศภูมิภาคอาเซียน ซึ่งการหาปัญหาในครั้งนี้มันจะช่วยทำให้ทราบได้ว่าเราควรเน้นแก้ปัญหาที่จุดไหนเป็นหลักโดยอิงจากตัวเลขที่เราได้มา”
“ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีนโยบายที่ชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องนี้ก็เลยอยากให้ทางรัฐบาลหันมาใส่ใจเรื่องเยาวชนให้มากกว่านี้อย่างเป็นรูปธรรม จะสามารถได้ช่วยลดแก้ไขปัญหาตรงนี้ลง ซึ่งบางประเทศจะมีข้อมูลบ่งบอกชัดเจนว่าเด็กผู้หญิง หรือ เด็กผู้ชายที่มีความคิดที่จะฆ่าตัวตายว่าอันไหนสูงกว่ากันปรากฏว่าเป็นเด็กผู้ชายที่มีความคิดที่จะฆ่าตัวตายสูงกว่า แต่ทางประเทศไทยเราเองนั้นยังไม่มีข้อมูลในส่วนนี้ สุดท้ายถ้าน้อง ๆ ที่อยากมาอยากทำอะไรเพื่อสังคมเราหันมาทำเรื่องนี้มันก็ช่วยให้เราเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างแนวคิดการแก้ไข้ให้กับหลาย ๆ คนได้ เวทีนี้เปรียบเสมือนเป็นลำโพงของเยาวชนถ้าเรามีไอเดียใหม่ๆ เราสามารถเข้ามานำเสนอได้เลยไม่ต้องคิดถึงข้อมูลที่เราต้องหาเพราะว่าทางการแข่งขันนั้นสอนเราทุกอย่าง มันจึงทำให้เยาวชนทุกคนสามารถนำเสนอความคิดของตัวเองได้อย่างเต็มรูปแบบจึงอยากให้น้องๆ ได้เข้ามาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาต่างๆ ในสังคมกัน”นายธีระพงษ์ กล่าวทิ้งท้าย