สรท. คงเป้าส่งออกโต 8% แนะรัฐเร่งเจรจา FTA ตลาดใหม่รับมือสงครามการค้า
นางสาวกัณญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) แถลงข่าวร่วมกับ ดร.ชัยชาญ เจริญสุข เลขาธิการ สรท. และนายคงฤทธิ์ จันทริก ผู้อำนวยการบริหาร สรท. ณ ห้องวิมานสุริยา ชั้น 2 โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ วันอังคารที่ 5 กรกฎาคม 2561 ระบุ การส่งออกเดือนพฤษภาคม 2561 มีมูลค่า 22,257 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัวต่อเนื่องในระดับสูงเป็นเดือนที่ 15 ที่ 11.4% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) การส่งออกในรูปเงินบาทเท่ากับ 689,985 ล้านบาท ขยายตัว 1.3% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน (YoY) ในขณะที่ การนำเข้าในเดือนพฤษภาคม 2561 มีมูลค่า 21,053 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัว 11.7% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน (YoY) และการนำเข้าในรูปของเงินบาทมีมูลค่า 661,662 ล้านบาท ขยายตัว 1.7% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน (YoY) ส่งผลให้ เดือนพฤษภาคม 2561 ประเทศไทยเกินดุลการค้า 1,204 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 28,323 ล้านบาท
ทั้งนี้ สภาผู้ส่งออก ยังคงเป้าการส่งออกไทยในปี 2561 เติบโตเท่ากับ 8% โดยปรับสมมติฐานค่าเงินบาทอยู่ที่ 33.0 (± 0.5) บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ (อัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักระหว่างธนาคาร ณ วันที่ 2 ก.ค. 61 – 33.13 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ) และมีปัจจัยบวกสำคัญประกอบด้วย 1) อุปสงค์ที่แข็งแกร่งจากเศรษฐกิจคู่ค้า ทั้งในระดับตลาดหลัก, ตลาดรอง และตลาดศักยภาพ สอดคล้องกับภาวะการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก 2) การขยายตัวการค้าส่วนหนึ่งจากการนำเข้าสินค้าทุนและวัตถุดิบอย่างต่อเนื่องอันแสดงถึงการลงทุนของภาคการผลิตเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตและการแข่งขันของประเทศไทยในอนาคต 3) ดัชนีคาดการณ์ภาวะธุรกิจส่งออก ไตรมาส 3/2561 อยู่ที่ระดับ 66.0 แสดงถึงความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการที่มีต่อภาคส่งออกของไทย อันเป็นมุมมองจากตัวเลขมูลค่าการส่งออก, มูลค่าคำสั่งซื้อ และมูลค่าสินค้าคงคลัง 4) แนวโน้มการอ่อนค่าลงของเงินบาทเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มความความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทย และเป็นการเพิ่มรายได้ของผู้ประกอบการไทยในรูปเงินบาท และ 5) นโยบายผลักดันการพัฒนาธุรกิจ e-Commerce เป็นการเพิ่มโอกาสและช่องทางการจำหน่ายสินค้า โดยรัฐบาลไทยมีความร่วมมือกับ Global Platform เพื่อเปิดตลาดผู้บริโภคและมีนโยบายผลักดัน National e-Market Place Platform
ประเด็นที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการส่งออกไทย ประกอบด้วย 1) สถานการณ์สงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ (Trade War) ที่ทวีความรุนแรงพร้อมกับการออกนโยบายตอบโต้ทางการค้าของฝ่ายตรงข้าม และการขยายผลไปสู่ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ กับสหภาพยุโรป ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพระบบเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศขยายตัวลดลง และส่งกระทบทางอ้อมต่อประเทศที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานการผลิตของจีน สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป รวมถึงประเทศไทยซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ global supply chain 2) ความผันผวนของตลาดทุนและตลาดตราสารหนี้ เนื่องจากการไหลออกของเงินทุนต่างประเทศจากกลุ่มประเทศเกิดใหม่ (Emerging Market) กลับไปยังสหรัฐฯ อันจะส่งผลต่อความเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศ ที่ผู้ส่งออกไทยควรจับตามองและทำประกันความเสี่ยงโดยใช้เครื่องมือทางการเงินต่างๆ โดยเฉพาะ SMEs 3) ปัญหาความขัดแย้งในตะวันออกกลางและมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านของสหรัฐ ทำให้ราคาน้ำมันและราคาแก็สหุงต้มปรับตัวขึ้น อาจส่งผลให้ต้นทุนการผลิตและต้นทุนการขนส่งสินค้าปรับสูงขึ้น อันส่งผลต่อผลกำไรของผู้ประกอบการในทางอ้อม 4) มาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ภายใต้กฎหมายการค้ามาตรา 232 ต่อประเทศที่ได้ดุลการค้า ส่งผลต่อกลุ่มสินค้ายานยนต์และชิ้นส่วน ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมหลักในภาคการส่งออกของไทย 5) ปัญหาด้านโลจิสติกส์ อาทิ ความแออัดภายในท่าเรือแหลมฉบัง และประกาศกรมศุลกากรที่ 134/2561 เรื่องการยื่นบัญชีรายการสินค้าผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ล่วงหน้า 24 ชั่วโมงก่อนเรือออก ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อผู้ประกอบการส่งออกที่ขายสินค้าผ่าน Trader และกรณีที่ลูกค้ามีคำสั่งซื้อเร่งด่วน เป็นต้น 6) สถานการณ์ในคาบสมุทรเกาหลี ที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ยังคงมาตรการคว่ำบาตรเกาหลีเหนือต่ออีก 1 ปี และ 7) สถานการณ์ราคาสินค้าเกษตรบางรายการ ในห้าเดือนแรกของปี 2561 สินค้าเกษตร, อุตสาหกรรมการเกษตรและอาหาร ขยายตัวได้ดีเกือบทุกรายการ โดยเฉพาะ ข้าว มันสำปะหลัง ไก่สด แช่แข็ง และแปรรูป และผักผลไม้สด แช่แข็ง และแปรรูป ยกเว้น สับประรด และยางพารา ที่โดนกดดันจากสถานการณ์ราคาตกต่ำกว่าต้นทุน และเป็นการหดตัวในเกือบทุกตลาด เนื่องจากปริมาณผลผลิตจำนวนมากล้นตลาด และโรงงานแปรรูปสับประรดไม่สามารถรับซื้อผลผลิตได้อีก น้ำตาลที่ผลผลิตล้นตลาดและโดนปัจจัยกดดันทางราคาจากการเร่งการส่งออกน้ำตาลของบราซิลเพื่อชดเชยค่าเงินบราซิลเลี่ยนที่อ่อนค่าลงอย่างหนัก และมะพร้าวที่ราคาตกเนื่องจากการเปิดเสรีในการนำเข้าและการลักลอบนำเข้า ในขณะที่ลำไย และทุเรียนกำลังโดนมาตรการกีดกันการค้าจากประเทศอินโดนีเซีย
ด้านสถานการณ์ค่าระวางขนส่งสินค้าทางเรือระหว่างประเทศ เปรียบเทียบระหว่างวันที่ 25 พฤษภาคม และวันที่ 29 มิถุนายน 2561 พบว่า อัตราค่าระวางเพิ่มสูงขึ้นในหลายเส้นทาง ซึ่งจากข้อมูล Shanghai Containerized Freight Index (SCFI) พบว่าค่าระวางเรือในเส้นทางสำคัญปรับเพิ่มสูงขึ้นในบางเส้นทาง โดยในเส้นทาง Europe มีอัตราค่าระวางอยู่ที่ 834 USD/TEU ปรับเพิ่มขึ้น 9 USD เมื่อเทียบกับสัปดาห์สุดท้ายของเดือนพฤษภาคม เส้นทาง Mediterranean ค่าระวางอยู่ที่ 905 USD/TEU ปรับเพิ่ม 57 USD เส้นทาง Persian Gulf and Red Sea ค่าระวางอยู่ที่ 508 USD/TEU ปรับเพิ่มขึ้น 24 USD เส้นทาง East/West Africa (Lagos) ค่าระวางอยู่ที่ 2165 USD/TEU ปรับเพิ่มขึ้น 211 เหรียญ และเส้นทางประเทศสิงคโปร์ ค่าระวางอยู่ที่ 152 USD/TEU เพิ่มขึ้น 11 เหรียญ ในเส้นทางที่มีอัตราค่าระวางลดลง อาทิ เส้นทาง US West Coast และ US East Coast พบว่ามีค่าระวางที่ 1,194 USD/FEU และ 2,181 USD/FEU ลดลง 89 และ 90 USD ตามลำดับ, เส้นทาง Australia และ New Zealand ค่าระวางอยู่ที่ 697 USD/TEU ลดลง 113 USD เส้นทาง South Africa ค่าระวางอยู่ที่ 749 USD/TEU ลดลงกว่า 48 USD เส้นทาง South America มีอัตราค่าระวาง 1,546 USD/TEU ลดลง 303 USD ในเส้นทาง Japan ในฝั่ง West และฝั่ง East อัตราค่าระวางใกล้เคียงกันคือ 226 USD/TEU และ 225 USD/TEU ตามลำดับ และในเส้นทางประเทศเกาหลีท่าเรือ Busan ค่าระวางลดลงมาอยู่ที่ 181 USD/TEU ปรับลดลง 17 USD
สภาผู้ส่งออก มีข้อเสนอแนะที่สำคัญ ประกอบด้วย 1) ภาครัฐควรเตรียมมาตรการป้องกันและรับมือกับสถานการณ์ความไม่แน่นอนในการตอบโต้ทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ (Trade War) โดยใช้โอกาสหาช่องทางดันผลักดันการส่งออกสินค้าไทยเข้าไปทดแทนในตลาดคู่ค้าหลักทั้งสองประเทศ รวมถึงรับฟังและประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบเตรียมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของโซ่อุปทานที่จะเกิดขึ้น ในขณะที่ผู้ประกอบการเองก็ควรปรับปรุงกระบวนการผลิตและการใช้แรงงานให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล เนื่องจากสินค้าที่ส่งไปสหรัฐอเมริกาจะมีการตรวจสอบสินค้า ตลอดจนมาตรฐานของโรงงานที่ใช้ในการผลิต จึงเป็นโอกาสดีสำหรับผู้ประกอบการไทยที่จะได้วางแผน เตรียมการปรับตัวในช่วงนี้ เพื่อเพิ่มขึดความสามารถในการแข่งขันได้อย่างยั่งยืน 2) ประชาสัมพันธ์เผยแพร่การสิทธิประโยชน์ ภายใต้กรอบ FTA หรือกรอบความตกลงทางการค้าอื่นเพื่อทดแทนความเสี่ยงรายอุตสาหกรรม 3) ผลักดันการเจรจาการค้าเสรีใหม่และกรอบความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจที่อยู่ระหว่างสรุปการเจรจา อาทิ CPTPP, RCEP, EU, Pakistan, Turkey และ Bangladesh เพื่อเพิ่มอำนาจการต่อรองทางการค้าในระยะยาว และเป็นการเปิดตลาดให้กับผู้ส่งออกของไทยให้มีโอกาสและการกระจายความเสี่ยงของตลาดมากยิ่งขึ้น 4) ผู้ส่งออก SMEs ควรบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน เช่น การใช้บัญชีเงินฝากสกุลเงินตราต่างประเทศ (FCD) หรือการรับจ่ายด้วยสกุลเงินบาท (the invoicing) จากทิศทางค่าเงินบาทในระยะสั้นยังมีแนวโน้มอ่อนค่าต่อเนื่อง หลังจากสกุลเงินดอลลาร์กลับมาแข็งค่าอีกครั้ง ซึ่งเป็นผลจากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง 5) ภาครัฐควรสนับสนุนให้ภาคเอกชนมีการทำวิจัย (Research and Development; R&D) เพื่อเพิ่มมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าไทยโดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตรที่เผชิญกับภาวะราคาสินค้าตกต่ำ อันจะเป็นการเพิ่มรายได้และยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกร และเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า 6) ส่งเสริมการค้าแบบ e-Commerce B2B Cross Border ให้ครอบคลุมทุกกลุ่มสินค้าและกลุ่ม SMEs / Startup ทั้งนี้ ควรติดตาม, เฝ้าระวัง และควบคุม มาตรฐานสินค้าและกลไกการกำหนดราคาสินค้าส่งออกที่อาจส่งผลกระทบต่อสินค้าที่ขายในประเทศ จากธุรกิจข้ามชาติ (e-Commerce) และ 7) ภาครัฐควรเร่งรัดแก้ไขปัญหาด้านโลจิสติกส์ อาทิ เร่งรัดการเพิ่มประสิทธิภาพการยกขนตู้สินค้าภายในท่าเรือแหลมฉบังและเชื่อมต่อการขนส่งระบบรางและ ICD นอกท่าเรือเพื่อลดแถวคอยของรถบรรทุกภายในท่าเรือ ส่งเสริมให้มีอุตสาหกรรมการซ่อมตู้คอนเทนเนอร์ภายในประเทศ เพื่อเพิ่มปริมาณและยกระดับตู้สินค้าเพื่อการส่งออกให้เพียงพอและคุณภาพตรงต่อความต้องการ แก้ไขประกาศและกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการค้าระหว่างประเทศ และกำหนดให้บริการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ และกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องเป็นบริการควบคุมภายใต้ พระราชบัญญัติราคาสินค้าและบริการ พุทธศักราช 2542 เป็นต้น