ADS


Breaking News

สงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนปะทุ หลังสหรัฐฯ เดินหน้าขึ้นภาษีนำเข้าและจีนตอบโต้ต่อเนื่อง

Event
เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2018 รัฐบาลสหรัฐฯ ประกาศรายชื่อสินค้านำเข้าจากจีนที่จะถูกเก็บภาษีนำเข้า (import tariff) ที่อัตรา 25% สืบเนื่องมาจากการตรวจสอบการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาตามมาตรา 301 ของกฎหมายการค้าสหรัฐฯ (Trade Act of 1947) โดยมีสินค้าจีนที่จะเริ่มถูกเก็บภาษีตั้งแต่วันที่ 6 กรกฎาคม 2018 มูลค่า 3.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จำนวน 818 รายการ และสินค้าจีนมูลค่า 1.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อีกจำนวน 284 รายการที่จะเริ่มถูกเก็บภาษีหลังจากนั้น รวมจำนวนสินค้าทั้งสิ้น 1,102 รายการ ที่มูลค่า 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ในวันเดียวกัน ทางการจีนได้ออกมาตอบโต้โดยการประกาศเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ ในมูลค่าและอัตราเดียวกันที่ 25% และจะเริ่มบังคับใช้ในวันเดียวกันกับที่สหรัฐฯ จะเก็บภาษีจากจีน มูลค่า 3.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จำนวน 545 รายการ และจะมีการเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ เพิ่มหลังจากนั้น หากสหรัฐฯ ยังเดินหน้าขึ้นภาษีต่ออีก มูลค่า 1.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อีกจำนวน 114 รายการ รวมจำนวนสินค้าทั้งสิ้น 659 รายการ ที่มูลค่า 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
Analysis

สินค้านำเข้าจากจีนที่ทางสหรัฐฯ จะเก็บภาษีนำเข้าส่วนใหญ่อยู่ในหมวดสินค้าอุตสาหกรรมซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับนโยบาย Made in China 2025 รายชื่อสินค้าจีนที่มีการเปิดเผยในรอบนี้มีการแก้ไขจากรายชื่อสินค้าที่เคยเปิดเผยมาก่อนหน้านี้ (เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2018) ซึ่งมีมูลค่ารวม 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยหลังจากเปิดรับฟังความเห็นจากธุรกิจและประชาชนเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ทางการสหรัฐฯ ได้มีการแก้ไขรายชื่อสินค้าและประกาศรายชื่อออกมารอบใหม่ โดยแบ่งเป็น 2 ระยะ (รูปที่1) ได้แก่ 1) สินค้าที่จะเริ่มถูกเก็บภาษีตั้งแต่วันที่ 6 กรกฎาคม 2018 จำนวน 818 รายการ มูลค่า 3.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งสินค้ากลุ่มนี้เป็นส่วนหนึ่งของ 1,333 รายการที่เคยถูกระบุเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา เช่น ชิ้นส่วนอากาศยาน เครื่องจักรและชิ้นส่วน ชิ้นส่วนยานยนต์ เป็นต้น และ 2) สินค้าที่จะถูกเก็บภาษีหลังจากนี้ (ยังไม่ระบุวันที่แน่นอนเนื่องจากอยู่ในระหว่างการพิจารณา) จำนวน 284 รายการ มูลค่า 1.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเป็นรายชื่อที่แก้ไขเพิ่มเติมจากรายการก่อนหน้านี้ โดยส่วนใหญ่เป็นสินค้าอุตสาหกรรมเน้นไปที่สินค้าที่เกี่ยวข้องกับนโยบาย Made in China 2025 และมีการตัดสินค้าอุปโภคบริโภคบางหมวดในรายชื่อเดิมออก เช่น เครื่องปรินเตอร์ โทรทัศน์ เป็นต้น เนื่องจากต้องการลดผลกระทบโดยตรงที่จะเกิดกับผู้บริโภคสหรัฐฯ  อย่างไรก็ตาม มีสินค้าสำคัญที่ถูกระบุอยู่ในรายการที่เปิดเผยขึ้นใหม่ในระยะที่ 2 เช่น เซมิคอนดักเตอร์ พลาสติก เหล็กโครงสร้าง เป็นต้น ซึ่งรายชื่อสินค้าในระยะที่ 2 นั้นยังต้องมีการรับฟังความเห็นจากสาธารณชนและแก้ไขก่อนเปิดเผยอย่างเป็นทางการต่อไป

ทางการจีนประกาศตอบโต้การกีดกันทางการค้าจากสหรัฐฯ ในมูลค่าเท่ากัน ซึ่งส่วนใหญ่มุ่งเป้าไปที่สินค้าเกษตร ยานยนต์ และพลังงาน ทางการจีนประกาศตอบโต้ด้วยมาตรการขึ้นกำแพงภาษีต่อสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ ในทำนองเดียวกันซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ระยะ โดยในระยะแรกจะเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ ที่อัตรา 25% มูลค่ารวม 3.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จำนวน 545 รายการ และจะบังคับใช้ในวันเดียวกันคือ 6 กรกฎาคม 2018นี้ พร้อมกับเตรียมรายชื่อสินค้าในระยะที่ 2 เช่นเดียวกับสหรัฐฯ มูลค่า 1.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อีกราว 114 รายการ เพื่อตอบโต้การขึ้นภาษีจากสหรัฐฯ รอบต่อไปในทันทีด้วยเช่นกัน โดยมีสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ หมวดสำคัญที่จะถูกเก็บภาษีจากจีนในชุดแรก ได้แก่ หมวดสินค้าเกษตร เช่น ถั่วเหลือง ธัญพืช เนื้อวัว เนื้อหมู อาหารทะเล และหมวดยานยนต์ เช่น รถยนต์ออฟโรด (off-road vehicle) รถไฟฟ้า (electric vehicle) เป็นต้น สำหรับสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ ในระยะที่ 2 ที่จีนวางแผนขึ้นภาษีจะเน้นที่หมวดพลังงาน เช่น ถ่านหิน น้ำมันดิบ แก๊สโซลีน เป็นต้น

ความตึงเครียดทางการค้าสหรัฐฯ-จีนเพิ่มขึ้น หลังทรัมป์ประกาศว่าจะเตรียมเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนเพิ่มอีกมูลค่า 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หากทางการจีนตอบโต้ หลังจากที่มีการประกาศภาษีสำหรับสินค้านำเข้าจากจีนมูลค่ารวม 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ออกมาแล้ว ประธานาธิบดีโดนัล ทรัมป์ก็ยังประกาศว่ามีความเป็นไปได้ที่จะมีการเก็บภาษีเพิ่มเติมสำหรับสินค้าจีนอีกมูลค่า 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หากจีนมีการตอบโต้ ซึ่งจะทำให้สินค้าจีนที่ถูกเก็บภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯ นั้นมีมูลค่ารวมกันทั้งสิ้น 1.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยหากเกิดขึ้นจริงก็จะยิ่งสร้างความตึงเครียดทางการค้าระหว่างทั้งสองประเทศเพิ่มขึ้นจนอาจนำไปสู่การทำสงครามการค้าได้ อย่างไรก็ดี ในภาคเศรษฐกิจของสหรัฐฯ หลายส่วนยังมีความกังวลด้านผลกระทบที่จะตกสู่ผู้บริโภคในสหรัฐฯ เอง เนื่องจากถ้าหากมีการเพิ่มรายชื่อสินค้าอีกกว่า 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ก็มีความเป็นไปได้ที่สินค้าอุปโภคบริโภคหลายชนิดจะถูกรวมอยู่ในสินค้าที่ถูกเก็บภาษีด้วย ซึ่งจะมีผลให้อัตราเงินเฟ้อของสินค้าสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้นตามราคาสินค้านำเข้าที่เพิ่มขึ้นได้ในระยะต่อไปได้

ความตึงเครียดจากการเจรจาระหว่างสหรัฐฯ-จีนที่ไม่ประสบผลจะนำไปสู่สงครามการค้าและทำให้เศรษฐกิจของทั้ง 2 ประเทศได้รับผลกระทบเพิ่มขึ้น ผลจากการขึ้นกำแพงภาษีนำเข้าสินค้าจีนของสหรัฐฯ นั้น หากเป็นสินค้าที่สหรัฐฯ เองไม่สามารถหาตลาดนำเข้าใหม่ทดแทนการนำเข้าสินค้าจากจีนได้ทันทีหรือเป็นสินค้าที่ก่อให้เกิดต้นทุนเพิ่มจากการเปลี่ยนรูปแบบการนำเข้าและการผลิต (supplier and production network) ย่อมส่งผลกระทบต่อทั้งธุรกิจและสภาวะการจับจ่ายและกำลังซื้อของผู้บริโภคสหรัฐฯ ได้หากราคาสินค้าถูกปรับเพิ่ม ซึ่งอาจบั่นทอนการบริโภคภาคครัวเรือนของสหรัฐฯ ในระยะต่อไป ในทำนองเดียวกัน เศรษฐกิจจีนที่กำลังเปลี่ยนผ่านสู่การเติบโตโดยเน้นการบริโภคจากภายใน หากภาวะสงครามการค้าทำให้สินค้านำเข้าหลายๆ อย่างมีราคาแพงขึ้นและจีนไม่สามารถหาสินค้าทดแทนได้ทันที ย่อมส่งผลต่อภาพรวมเศรษฐกิจและผู้บริโภคจีนได้เช่นเดียวกับในสหรัฐฯ ดังนั้น ความเสี่ยงที่เศรษฐกิจของประเทศมหาอำนาจทั้งสองจะถูกบั่นทอนศักยภาพลงจากเรื่องการค้าจึงมีเพิ่มขึ้น และในท้ายที่สุด ยังสามารถส่งผลกระทบต่อภาพรวมการค้าโลกได้หากการกีดกันส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานการผลิตของการค้าโลก
Implication
การเก็บภาษีนำเข้าในรอบนี้ของสหรัฐฯ ยิ่งสร้างความกังวลว่ามาตรการกีดกันทางการค้าอื่นๆ ที่เคยประกาศไว้จะตามมาได้อีกในอนาคต ถึงแม้จะมีการเจรจาระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ไปแล้วก่อนหน้านี้และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ก็ยังเคยประกาศว่าจะชะลอ (on hold) การเก็บภาษีไว้ก่อน แต่สุดท้ายแล้วก็ไม่เป็นผล เพราะประธานาธิบดีทรัมป์ยังคงเดินหน้าเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนต่อไปตามที่ประกาศไว้ตั้งแต่ต้น นอกจากนี้ มาตรการเก็บภาษีนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียมที่เคยยกเว้นให้กับประเทศคู่ค้าสำคัญอย่างแคนาดา เม็กซิโก และสหภาพยุโรป ก็ได้ยกเลิกการยกเว้นไปในที่สุด แสดงให้เห็นว่าประธานาธิบดีทรัมป์ยังมีทีท่าต้องการเดินหน้าการกีดกันทางค้าเพื่อลดการขาดดุลทางการค้าของสหรัฐฯ ต่อไป สำหรับมาตรการกีดกันทางการค้าอื่นๆ ที่อาจสร้างความกังวลและยังต้องจับตาในระยะต่อไป ได้แก่ 1) มาตรการควบคุมการลงทุนจากจีน (investment restriction) ซึ่งก็สืบเนื่องมาจากการสอบสวนตามมาตรการ 301 ของกฎหมายการค้าสหรัฐฯ (Trade Act of 1947) เช่นกัน เพื่อป้องกันไม่ให้บริษัทจากจีนเข้าไปลงทุนหรือซื้อบริษัทในสหรัฐฯ เพื่อให้ได้มาซึ่งเทคโนโลยีโดยง่าย ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะประกาศมาตรการดังกล่าวในวันที่ 30 มิถุนายน 2018 นี้ และ 2) มาตรการเก็บภาษีนำเข้ารถยนต์และชิ้นส่วน โดยเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ประธานาธิบดีทรัมป์ได้มีคำสั่งให้กระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐฯ ตรวจสอบการนำเข้ารถยนต์ รถบรรทุก และส่วนประกอบยานยนต์ โดยใช้มาตรา 232 ว่าด้วยเรื่องความมั่นคงของชาติของกฎหมาย Trade Expansion Act 1962 ซึ่งเป็นมาตราเดียวกับที่ใช้ขึ้นภาษีเหล็กและอะลูมิเนียมในช่วงที่ผ่านมา และมีแผนที่จะเก็บภาษีนำเข้ารถยนต์ที่อัตรา 25% หากพบว่าภาวะการค้าในอุตสาหกรรมยานยนต์สหรัฐฯ ในปัจจุบัน ก่อให้เกิดความเสียเปรียบต่อสหรัฐฯและกระทบกับความมั่นคงของชาติ ซึ่งคาดว่าจะมีการประกาศผลการสืบสวนได้ช่วงต้นปี 2019 เพื่อพิจารณาการเก็บภาษีนำเข้าต่อไป

สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีนที่รุนแรงขึ้นอาจกระทบต่อมูลค่าการค้าและ
ห่วงโซ่อุปทานโลกได้ อย่างไรก็ดี ความเสี่ยงต่อการส่งออกไทยยังคงจำกัดในปีนี้ เนื่องจากสินค้าหลายชนิดที่จะถูกเก็บภาษีทั้งจากสหรัฐฯ และจีนเป็นสินค้าที่ใช้ในอุตสาหกรรมซึ่งอยู่ในห่วงโซ่อุปทานของหลายประเทศ โดยการประกาศเก็บภาษีนำเข้าสินค้าขั้นกลางที่ใช้ในอุตสาหกรรมอาจกระทบห่วงโซ่อุปทานของสินค้าดังกล่าว อาทิ การผลิตเซมิคอนดักเตอร์ ที่จะมีการออกแบบและผลิตชิพจากสหรัฐฯ ก่อนถูกส่งไปทดสอบและบรรจุในจีน และจะถูกส่งกลับเข้ามาในสหรัฐฯ อีกครั้ง ซึ่งหากมีการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าดังกล่าวก็อาจทำให้ผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์ในสหรัฐฯ ได้รับผลกระทบและต้องปรับเปลี่ยนแผนการผลิต และยังมีสินค้าอื่นๆ
ซึ่งอาจได้รับผลกระทบในลักษณะเดียวกัน ซึ่งหากสงครามการค้ารุนแรงขึ้นและเป็นระยะเวลานานจนมีผลต่อต้นทุนการผลิตอย่างมีนัยสำคัญ ก็อาจทำให้ผู้ผลิตต้องปรับเปลี่ยนแผนการผลิตหรือนำเข้า โดยอาจผลิตในประเทศมากขึ้นและทำให้มูลค่าการค้าสินค้าขั้นกลางของโลกลดลงบ้าง สำหรับไทยแล้ว อีไอซีมองว่าจะได้รับผลกระทบเพียงเล็กน้อยจากสถานการณ์ในปัจจุบัน โดยถึงแม้ไทยจะอยู่ในห่วงโซ่อุปทานของสหรัฐฯ และจีนในหลายสินค้า แต่สินค้าที่จะได้รับผลกระทบก็ยังมีสัดส่วนมูลค่าน้อยมากเมื่อเทียบกับการส่งออกโดยรวมทั้งหมดของไทย โดยเฉพาะความเกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมที่อยู่ในนโยบาย Made in China 2025 ซึ่งเน้นไปที่สินค้าไฮเทคยังมีความเข้นข้นต่ำ และผู้ส่งออกไทยก็ยังมีการกระจายสินค้าไปยังตลาดส่งออกอื่นๆ ส่งผลให้อีไอซีมองว่าการส่งออกของไทยในปี 2018 จะยังขยายตัวได้สูงราว 7.5%YOY
โดย : ดร. ธนพล ศรีธัญพงศ์ (thanapol.srithanpong@scb.co.th)
ยุวาณี อุ้ยนอง (yuwanee.ouinong@scb.co.th)
พิมพ์นิภา บัวแสง (pimnipa.booasang@scb.co.th)
Economic Intelligence Center (EIC)
ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
EIC Online: www.scbeic.com

Disclaimer : The information contained in this report has been obtained from sources believed to be reliable. However, neither we nor any of our respective affiliates, employees or representatives make any representation or warranty, express or implied, as to the accuracy or completeness of any of the information contained in this report, and we and our respective affiliates, employees or representatives expressly disclaim any and all liability relating to or resulting from the use of this report or such information by the recipient or other persons in whatever manner. Any opinions presented herein represent our subjective views and our current estimates and judgments based on various assumptions that may be subject to change without notice, and may not prove to be correct. This report is for the recipient’s information only. It does not represent or constitute any advice, offer, recommendation, or solicitation by us and should not be relied upon as such. We, or any of our associates, may also have an interest in the companies mentioned herein.