รวมพลังรัฐ - เอกชน ถกหามาตรการ ลดเค็ม ลดโรค
ภาครัฐและภาคเอกชน ร่วมกันผลักดันจัดทำเป้าหมายเชิงสมัครใจในการลดปริมาณโซเดียมในอาหารสำเร็จรูป ใน 4 ผลิตภัณฑ์หลัก ได้แก่อาหารกึ่งสำเร็จรูป อาหารแช่เย็นแช่แข็ง ผลิตภัณฑ์เครื่องปรุงรส และขนมขบเคี้ยว เร่งลดการบริโภคโซเดียมตามนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขที่ต้องการให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนงานตามยุทธศาสตร์นโยบายลดเกลือและโซเดียมแห่งชาติสอดคล้องกับกรอบนโยบายขององค์การอนามัยโลก ส่งเสริมให้ทุกประเทศลดการบริโภคเกลือในประชากรให้เหลือ 5 กรัมต่อวัน เพื่อทำให้สุขภาพของประชากรทั่วโลกดีขึ้น
นพ.พูลลาภ ฉันทวิจิตรวงศ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่าตามกรอบนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขที่ต้องการให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนงานตามยุทธศาสตร์นโยบายลดเกลือและโซเดียมแห่งชาติซึ่งสอดคล้องกับกรอบนโยบายขององค์การอนามัยโลก (TheWorldHealthOrganization: WHO) ที่ต้องการส่งเสริมให้ทุกประเทศลดการบริโภคเกลือในประชากรให้เหลือ 5 กรัมต่อวัน สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข จึงได้ร่วมกับเครือข่ายลดบริโภคเค็ม องค์การอนามัยโลก และภาคเอกชนซึ่งประกอบด้วย ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารแปรรูป ประชุมหารือเพื่อจัดทำเป้าหมายเชิงสมัครใจในการลดปริมาณโซเดียมในอาหาร หาข้อสรุปเกี่ยวกับบทบาทของภาคอุตสาหกรรมอาหาร ได้แก่ กลุ่มอาหารกึ่งสำเร็จรูป กลุ่มอาหารแช่เย็นแช่แข็ง กลุ่มขนมขบเคี้ยว และกลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องปรุงรส ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่สำคัญในการช่วยผลักดันการลดการบริโภคโซเดียมของประชากร และร่วมกันหาแนวทางหรือมาตรการในการลดโซเดียมหรือช่วยกันผลักดันให้เกิดกฎหมายหรือข้อบังคับกับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารภาคเอกชน
นพ.พูลลาภ กล่าวต่อว่าปัจจุบัน อย. ได้สนับสนุนให้ผู้ประกอบการอาหาร ผลิตอาหารที่ลดหวาน มัน เค็ม ติดฉลาก“ทางเลือกสุขภาพ”เพื่อให้ผู้บริโภคได้มีทางเลือกในการบริโภคอาหารที่เหมาะกับสุขภาพของตนเอง โดยมีผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการรับรองแล้วทั้งสิ้น 633 ผลิตภัณฑ์แบ่งเป็นกลุ่มอาหารมื้อหลัก 10 ผลิตภัณฑ์ เครื่องปรุงรส 12 ผลิตภัณฑ์ อาหารกึ่งสำเร็จรูป (บะหมี่และโจ๊ก) 22 ผลิตภัณฑ์ ขนมขบเคี้ยว30 ผลิตภัณฑ์ กลุ่มเครื่องดื่ม 458 ผลิตภัณฑ์ผลิตภัณฑ์นม 81 ผลิตภัณฑ์และไอศกรีม 20 ผลิตภัณฑ์ อีกทั้งอย.ได้กำหนดแนวทางในการผลักดันมาตรการลดโซเดียมในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารกึ่งสำเร็จรูป อาหารแช่เย็นแช่แข็ง ผงหรือก้อนปรุงรส โดยหวังว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นในการจัดตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนเป้าหมายร่วมกัน และจัดทำแผนการดำเนินการที่เป็นรูปธรรมเพื่อเกิดประสิทธิผล ก่อนมีมาตรการทางกฎหมายต่อไป
ด้าน ผศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็มกล่าวว่า คณะกรรมการนโยบายลดบริโภคเกลือและโซเดียม เพื่อลดโรคไม่ติดต่อระดับชาติ ได้มีประชุมเพื่อขับเคลื่อนโรงพยาบาลลดเค็มน้อยอร่อย (3) ดี ทั่วประเทศ จำนวน 83 แห่ง พร้อมที่จะเดินหน้าเพื่อปรับลดปริมาณลดค่าปริมาณโซเดียมลง จากเดิม 2,400 มิลลิกรัมต่อวัน เป็น 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน นอกจากนี้การให้บริการอาหารในโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไปของกระทรวงสาธารณสุขทั้งอาหารสำหรับผู้ป่วยที่มารักษาในโรงพยาบาล อาหารจากร้านค้าสวัสดิการของโรงพยาบาล หรืออาหารสำหรับญาติและผู้ที่มารับการบริการภายในโรงพยาบาลจะต้องเป็นอาหารที่มีปริมาณโซเดียมต่ำด้วย ซึ่งปัจจุบันความรุนแรงของโรคไม่ติดต่อเรื้อรังเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง และการได้รับโซเดียมสูงมากเกินความต้องการในแต่ละวัน ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงที่มีความสัมพันธ์ต่อการเกิดโรคความดันโลหิตสูง โรคไต โรคหลอดเลือดหัวใจ และโรคหลอดเลือดสมอง จึงมีความจำเป็นเร่งด่วนในการดำเนินงานเพื่อลดการบริโภคเกลือและโซเดียมในประชากรไทยโดยบูรณาการควบคุมปัญหาโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่จะต้องมียุทธศาสตร์การดำเนินงานที่ชัดเจน สามารถนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ด้าน มร. แดเนียล เคอร์เทสซ์ ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่า การลดบริโภคเกลือในประชากรมีความสำคัญและมีความคุ้มค่าในการทำให้สุขภาพของประชากรทั่วโลกดีขึ้น ดังนั้นองค์การอนามัยโลก (TheWorld Health Organization:WHO) จึงได้ส่งเสริมให้ทุกประเทศลดการบริโภคเกลือในประชากรให้เหลือ 5 กรัมต่อวันหรือ 1 ช้อนชาต่อวันโดยยึดรูปแบบวิธีการจัดการปัญหาตามหลักฐานเชิงประจักษ์ซึ่งการบริโภคเกลือของประชากรไทยสูงเกือบสองเท่าของระดับที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ ซึ่งในปัจจุบันประชากรไทยเป็นโรคความดันโลหิตสูงและมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ซึ่งโรคความดันโลหิตสูงเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญสำหรับโรคหัวใจและหลอดเลือดที่เป็นสาเหตุของการตายเกือบ 30 เปอร์เซ็นต์ของการเสียชีวิตทั้งหมดในประเทศไทย ดังนั้นการปรับสูตรอาหารสำเร็จรูปให้ลดปริมาณเกลือลงจึงเป็นมาตรการสำคัญที่จะช่วยลดการบริโภคเกลือในประชากรไทย ส่วนการปรับสูตรอาหารลดโซเดียมจะเป็นยุทธศาสตร์ที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งใช้ได้ผลแล้วในหลาย ๆ ประเทศทั่วโลก เพื่อที่จะช่วยรักษาสุขภาพของประชากรของตนไว้อย่างถ้วนหน้า
ความเป็นมา หลักการและความสำคัญ
ในการประชุมชี้แจงและหารือเพื่อจัดทำเป้าหมายเชิงสมัครใจในการลดปริมาณโซเดียมในอาหารสำเร็จรูปของไทย(Voluntary targets on sodium reduction for packaged food in Thailand)
ปัจจุบันอุตสาหกรรมอาหารมีการใช้โซเดียมหรือสารประกอบโซเดียม เพื่อเข้ามาช่วยยืดอายุการเก็บรักษา ปรับปรุงหรือคงไว้ซึ่งลักษณะของอาหารบางประการ โดยส่วนมากจะนิยมใช้ในปริมาณที่กฎหมายกำหนด แต่สำหรับผู้บริโภคอาหารที่มีโซเดียมมากเกินไป อาจจะส่งผลต่อสุขภาพได้ในระยะยาว โดยจะเห็นได้จากจำนวนผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-communicable disease, NCDs) ที่เพิ่มขึ้นทุกปี ในปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังเป็นจำนวนมาก ซึ่งสาเหตุเกิดมาจากการรับประทานอาหารในแต่ละวันที่มีปริมาณน้ำตาล ไขมัน โซเดียมมากเกินกว่าปริมาณที่กำหนดในแต่ละวัน (Thai RDI) โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกลือหรือโซเดียมที่มีอยู่ในอาหารสำเร็จรูป และอาหารที่ขายตามท้องถนนทั่วไป ซึ่งส่งผลให้เกิดความเสี่ยงในการเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง อาทิเช่น โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคไต อัมพฤกษ์ อัมพาต เป็นต้น
อีกทั้งยังสอดคล้องกับตัวชี้วัดขององค์กรอนามัยโลกในการตั้งเป้าหมายสู่การลดการบริโภคโซเดียมในอาหารลงร้อยละ 30 ภายในปี พ.ศ.2030 ด้วยเหตุนี้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ร่วมกับเครือข่ายลดบริโภคเค็ม และองค์การอนามัยโลก (World Health Organization; WHO) จึงร่วมกันผลักดันการลดการบริโภคเกลือหรือโซเดียมตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 8 เพื่อหารือแนวทางความร่วมมือกับผู้ผลิตอาหารในการลดปริมาณเกลือหรือโซเดียมลง โดยเน้นที่อาหารกลุ่มเสี่ยงทั้ง 4 กลุ่ม ได้แก่ ขนมขบเคี้ยว อาหารกึ่งสำเร็จรูป เครื่องปรุงรส อาหารแช่เย็นและแช่แข็ง อีกทั้งยังพบว่าหลายประเทศได้มีมาตรการแบบบังคับ และ/หรือสมัครใจในการลดปริมาณเกลือหรือโซเดียมในอาหารสำเร็จรูป (หรือจะใช้เป็นกลุ่มอาหารพร้อมรับประทาน) และกลุ่มอาหารกึ่งสำเร็จรูป
ในประเทศไทยมีผู้ประกอบการที่ทำการเผลิตอาหารสำเร็จรูปเป็นจำนวนมาก และมีส่วนสำคัญในการช่วยปรับลดปริมาณเกลือหรือโซเดียมในผลิตภัณฑ์อาหาร จากผลการสำรวจสถานการณ์การแสดงข้อมูลบนฉลากโภชนาการของผลิตภัณฑ์อาหารที่มีจำหน่ายในห้างสรรพสินค้าและร้านสะดวกซื้อในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลในช่วงปี 2555 ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา โดยสำนักอาหาร พบว่าแหล่งของโซเดียมที่ประชากรไทยได้รับจากผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปที่พร้อมบริโภคมากที่สุด คือ กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารกึ่งสำเร็จรูป(บะหมี่/ ก๋วยเตี๋ยวสำเร็จรูป) มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 1,272 มิลลิกรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค และกลุ่มผลิตภัณฑ์โจ๊ก/ ข้าวต้มสำเร็จรูป มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 1,269 มิลลิกรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค (นักโภชนาการแนะนำว่าอาหารมื้อหลักควรมีปริมาณโซเดียมไม่เกิน 600 มิลลิกรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค และอาหารว่างควรมีปริมาณโซเดียมไม่เกิน 100 มิลลิกรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค) อีกทั้งอาหารสำเร็จรูปบางอย่าง นิยมนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการประกอบอาหารด้วย ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของผู้ผลิตอาหารมีผลต่อการบริโภคเกลือหรือโซเดียมในอาหารของประชากรไทยเป็นอย่างมากที่จะต้องร่วมมือกันเพื่อลดการบริโภคเกลือและโซเดียม ตามที่องค์การอนามัยโลก ที่กำหนดให้การลดบริโภคเกลือเป็น 1 ใน 9 เป้าหมายโลกในการควบคุมปัญหาโรคไม่ติดต่อภายในปี พ.ศ.2568 โดยกำหนดให้ลดการบริโภคเกลือ และโซเดียม ของประชาชนทั่วไปให้ได้ร้อยละ30 ภายในปี พ.ศ. 2568
แนวทางการดำเนินงาน
จัดทำค่ากลางและค่าเป้าหมายเชิงสมัครใจในการปรับลดปริมาณโซเดียมในผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมรับประทาน ขนมขบเคี้ยว อาหารกึ่งสำเร็จรูป และเครื่องปรุงรส ผ่านการเห็นชอบจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยแบ่งเป็นเกณฑ์ในการลดปริมาณโซเดียมอ้างอิงจากค่าเฉลี่ยของปริมาณโซเดียมในกลุ่มผลิตภัณฑ์นั้นๆ โดยจะปรับลดร้อยละ 10 ในทุก ๆ 2 ปี โดยมีการติดตามผลปริมาณโซเดียมในผลิตภัณฑ์ทุกปี
ผลที่คาดหวังว่าจะได้หลังจากการประชุมครั้งนี้
- สร้างการมีส่วนร่วมในการพัฒนาข้อมูลทางวิชาการ และวิธีการดำเนินงานร่วมกัน
- ได้แนวทางและข้อเสนอแนะในในการลดปริมาณโซเดียมสำหรับอุตสาหกรรมอาหาร
- ความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนในการลดปริมาณโซเดียมในอาหาร