ทปอ. ชูยุทธศาสตร์ “อินโนเวชั่น ฮับส์” ดันอุดมศึกษาเป็นศูนย์กลางการพัฒนางานวิจัยเพื่อเศรษฐกิจ ตั้งเป้าดัน SMEs ไทยด้วยงานวิจัยไม่ต่ำกว่า 200 ราย สร้างมูลค่าเพิ่มไม่ต่ำกว่า 10%
- ทปอ. จัดงาน “อินโนเวชั่น ฮับส์ 4.0เอส” โชว์นวัตกรรม 5 กลุ่ม เกษตรและอาหาร พลังงาน สังคมผู้สูงอายุ เมืองอัจฉริยะ และเศรษฐกิจสร้างสรรค์
- นักวิจัยไทยเจ๋ง สร้างหุ่นยนต์ระดับโลก JARVIS หุ่นยนต์รับคำสั่งในบ้าน หวังต่อยอดสร้างโอกาสเชิงพาณิชย์
ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์ อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
กรุงเทพฯ 4 เมษายน 2561 – ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) สนองนโยบายรัฐบาล ผลักดันมหาวิทยาลัยสู่การเป็นศูนย์กลางด้านนวัตกรรม หรือ Innovation Hubs เพื่อเร่งผลักดัน SMEs ทั่วประเทศ โดยเฉพาะการสร้างผู้ประกอบการใหม่ (Tech Start up) ให้มีความสามารถในการแข่งขัน โดยใช้นวัตกรรม งานวิจัย และองค์ความรู้มาพัฒนา ตั้งเป้าดัน SMEs ไทยด้วยงานวิจัยไม่ต่ำกว่า 200 ราย สร้างมูลค่าเพิ่มให้ SMEs ไม่ต่ำกว่า 10% เพื่อยกระดับสู่การสร้างเศรษฐกิจฐานนวัตกรรมให้ประเทศ ผ่าน 5 กลุ่มนวัตกรรม ได้แก่ เกษตรและอาหาร พลังงานชีวภาพ สังคมผู้สูงอายุ เมืองอัจฉริยะ และเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ตลอดจนผลักดันหุ่นยนต์ที่พัฒนาขึ้นโดยนักวิจัยจากสถาบันการศึกษาซึ่งบางผลงานเคยผ่านเวทีระดับโลกมาแล้วให้มีโอกาสขยายสู่ความสำเร็จในเชิงพาณิชย์มากขึ้น ทั้งนี้ ทปอ.ได้จัดงานไทยแลนด์อินโนเวชั่น ฮับส์ 4.0 เอส (Thailand Innovation Hubs 4.0s) เพื่อแสดงศักยภาพผลงานวิจัยและนวัตกรรมจากฝีมือคนไทย 5 กลุ่มนวัตกรรม และไฮไลท์พิเศษ โชว์กองทัพ AI หุ่นยนต์อัจฉริยะจากหลายสถาบันการศึกษา อาทิ หุ่นยนต์ JARVIS หุ่นยนต์ Grubbot หุ่นยนต์ N/AX เป็นต้น โดยมีศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์ อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานในพิธี
งานจัดขึ้นระหว่างวันที่ 4-5 เมษายน 2561ณ รอยัล พารากอนฮอลล์ ฮอลล์ 1-2 ชั้น 5 ศูนย์การค้าสยามพารากอน กรุงเทพฯ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม หมายเลขโทรศัพท์ 02 - 3545150 - 2 หรือเข้าไปที่ https://www.facebook.com/Thailand.Innovation.Hubs4.0s/
รองศาสตราจารย์ ดร.พีระพงศ์ ทีฆสกุล ผู้อำนวยการโครงการ Innovation Hubs กล่าวว่า ประเทศไทย 4.0 เป็นนโยบายในการผลักดันการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ ซึ่งหมายถึงการปฏิรูปองค์ความรู้ผ่านระบบการวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างนวัตกรรมและปฏิรูปคนและการศึกษาไปพร้อมๆ กัน ซึ่งประเทศไทยมีข้อได้เปรียบในต้นทุนความหลากหลายทางชีวภาพ (Bio-diversity) จึงจำเป็นที่จะต้องใช้ความได้เปรียบนั้นเป็นความได้เปรียบเชิงแข่งขันให้ได้ ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ) ในฐานะองค์กรหลักในการพัฒนาอุดมศึกษา จึงมีการดำเนินการในรูปแบบศูนย์นวัตกรรม (Innovation Hubs) ซึ่งในระยะแรก จะใช้สถานที่ของมหาวิทยาลัยและเน้นต่อยอดงานวิจัยให้เป็นนวัตกรรม จากนั้นใช้กลไกการทำงานแบบประชารัฐ(Public Private Partnership – PPP) ในการสร้างความร่วมมือกับทุกฝ่าย และขยายผลจากงานวิจัยในมหาวิทยาลัยสู่การใช้ประโยชน์หรือการพัฒนาต่อยอดเทคโนโลยีในเชิงพาณิชย์ โดยเฉพาะการสร้างผู้ประกอบการใหม่ (Tech Start up) และยกระดับผู้ประกอบการเดิม (Existing industry) เพื่อสร้างความสามารถในการผลิตและการแข่งขันให้ SMEs ของประเทศ ตั้งเป้าดัน SMEs ไทยด้วยงานวิจัยไม่ต่ำกว่า 200 ราย สร้างมูลค่าเพิ่มให้ SMEs ไม่ต่ำกว่า 10% โดยมุ่งเน้น 5 กลุ่มนวัตกรรม ซึ่งได้แก่
1. กลุ่มเกษตรและอาหาร (Agriculture & Food) เทคโนโลยีเพื่อการเกษตรสมัยใหม่ ผลิตภัณฑ์จากความหลากหลายทางชีวภาพของท้องถิ่น นำมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ความงาม อาหารเพื่อผู้ป่วยและผู้สูงอายุ ตลอดจนอาหารที่มีรูปแบบและนวัตกรรมการบริโภคแบบใหม่ อาทิ น้ำพริกหนุ่มอบแห้ง เยลลี่ผักสมุนไพร เป็นต้น
2. กลุ่มพลังงานชีวภาพ (BioEnergy) มุ่งเน้นการพัฒนาพลังงานชีวภาพที่เป็นฐานทรัพยากรที่สำคัญของประเทศ โดยเฉพาะก๊าซชีวภาพและชีวมวลสำหรับชุมชน อาทิ ถ่านไร้ควันจากวัตถุเหลือทิ้งจากการเกษตร น้ำมันดีเซลจากขยะพลาสติก เป็นต้น
3. กลุ่มสังคมสูงอายุ (Ageing Society) การใช้เทคโนโลยีการผลิตเครื่องมือและอุปกรณ์เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตสำหรับผู้สูงอายุ เพื่อตอบสนองการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรของประเทศและของโลก อาทิ บ้านอัจฉริยะสำหรับผู้สูงอายุ หุ่นยนต์ BLISS ช่วยบำบัดเด็กออทิสติก ระบบหุ่นยนต์โต้ตอบเพื่อเฝ้าระวังผู้มีภาวะซึมเศร้า สมุนไพรสกัด ตลอดจนแอพพลิเคชั่นต่าง ๆ
4. กลุ่มเมืองอัจฉริยะ (Smart City) มุ่งเน้นการพัฒนานวัตกรรมยกระดับคุณภาพชีวิตในด้านต่าง ๆ เช่น การคมนาคม การขนส่งสินค้า การจัดการด้านพลังงาน ความปลอดภัย การส่งเสริมระบบนิเวศทางเศรษฐกิจ ตลอดจนนวัตกรรมการเตือนภัยทางธรรมชาติ
5. เศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) มุ่งเน้นการสร้างนวัตกรรมด้วยการบูรณาการความรู้และเทคโนโลยีกับต้นทุนภูมิปัญญา และศักยภาพท้องถิ่น สร้างสรรค์ให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์หรือบริการที่มีมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ อาทิ เครื่องคัดลอกและผลิตไม้แกะสลักด้วยระบบสแกน 3 มิติ ไหมไทยไฮเทคไม่กลัวเครื่องซักผ้า เครื่องถมไร้สารตะกั่ว เป็นต้น
รองศาสตราจารย์ ดร.พีระพงศ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบัน ‘หุ่นยนต์’ ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดโดยคาดว่าอีก 5-10 ปีข้างหน้า ความต้องการใช้หุ่นยนต์ทั่วโลก มีโอกาสจะเพิ่มสูงขึ้นเป็น 2 เท่า ซึ่งเป็นผลมาจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป หันมาสนใจใช้งานหุ่นยนต์ทำงานแทนคนมากขึ้น เพื่อความสะดวกสบาย หรือลดความเสี่ยงในการทำงาน ขณะเดียวกันภาวะการแข่งขันทางธุรกิจที่มีความรุนแรงมากขึ้น ทำให้ต้องพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้การใช้งานหุ่นยนต์ทั้งในภาคบริการและภาคอุตสาหกรรมมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง สำหรับการพัฒนาหุ่นยนต์ในประเทศไทย ถือได้ว่ามีความพร้อมด้านบุคลากรที่สร้างต้นแบบหุ่นยนต์ที่มีคุณภาพและศักยภาพสูงมาก อาทิ อาทิ หุ่นยนต์ JARVIS หุ่นยนต์ Grubbot หุ่นยนต์ N/AX หุ่นยนต์ Rescue Robot และหุ่นยนต์ TeleMed เป็นต้น ซึ่งบางชิ้นงานเคยผ่านเวทีระดับโลกมาแล้วและสามารถต่อยอดได้ ซึ่งสามารถรับคำสั่งได้หลากหลาย เช่น หุ่นยนต์ทำความสะอาดบ้าน หุ่นยนต์ดูแลผู้สูงอายุ หุ่นยนต์แพทย์เคลื่อนที่ หุ่นยนต์ช้อปปิ้ง หรือแม้แต่หุ่นยนต์ช่วยบำบัดเด็กออทิสติก หุ่นยนต์กู้ภัย เป็นต้น หากแต่จะต้องได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพัฒนาต่อยอดหุ่นยนต์ให้ประสบความสำเร็จในเชิงพาณิชย์ ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่ช่วยสร้างโอกาสให้กับวงการอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ไทยและขยายความสำเร็จในระดับโลกต่อไป
ทั้งนี้ ทปอ.ได้จัดงานไทยแลนด์อินโนเวชั่น ฮับส์ 4.0 เอส (Thailand Innovation Hubs 4.0s) เพื่อแสดงศักยภาพผลงานวิจัยและนวัตกรรมจากฝีมือคนไทยให้มีโอกาสต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ ตลอดจนสร้างเศรษฐกิจฐานนวัตกรรมให้ประเทศ และไฮไลท์พิเศษ โชว์กองทัพ AI หุ่นยนต์อัจฉริยะจาก 5 สถาบันการศึกษา โดยมีศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์ อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานในพิธี งานจัดขึ้นระหว่างวันที่ 4-5 เมษายน 2561ณ รอยัล พารากอนฮอลล์ ฮอลล์ 1-2 ชั้น 5 ศูนย์การค้าสยามพารากอน กรุงเทพฯ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม หมายเลขโทรศัพท์ 02 - 3545150 - 2 หรือเข้าไปที่ https://www.facebook.com/Thailand.Innovation.Hubs4.0s/