ADS


Breaking News

“สมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉินฯ” จับมือ รพ.ราชวิถี รุกพัฒนาระบงานCallCenterศูนย์กู้ชีพนเรนทร หวังเพิ่มโอกาสรอดชีวิตและลดความพิการของผู้ป่วยในภาวะฉุกเฉิน เน้นให้คำแนะนำ สอนเทคนิคแก่ผู้แจ้งเหตุและผู้ประสานงานให้สามารถช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินเบื้องต้นก่อนรถกู้ชีพมาถึง

     ที่อาคารอุบัติเหตุและฉุกเฉินโรงพยาบาลราชวิถี สมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉินแห่ประเทศไทย ภายใต้ โครงการส่งเสริมและป้องกันคนไทยไม่ให้เจ็บป่วยฉุกเฉิน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ โรงพยาบาลราชวิถี จัดโครงการพัฒนาระบบรับแจ้งเหตุฉุกเฉินด้วยระบบ Call Center ศูนย์นเรนทร โรงพยาบาลราชวิถี เพื่อพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพระบบ Call  Center ให้ทำหน้าที่มากกว่าผู้ประสานงาน สามารถให้คำแนะนำช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินแก่ผู้แจ้งเหตุก่อนที่รถกู้ชีพจะมาถึงที่เกิดเหตุ โดยมีแพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ฉุกเฉินทั่วประเทศรุ่นแรก จำนวน40 คนเข้าร่วมโครงการฯ
           นายแพทย์สมชาย กาญจนสุต อุปนายกสมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉินแห่งประเทศไทย  กล่าวว่า ปัจจุบันการช่วยเหลือผู้เจ็บป่วยฉุกเฉิน ยังพบปัญหาคือไม่ครอบคลุม ครบวงจร ทำให้การรักษาได้ผลไม่ดีเท่าที่ควร  ยิ่งระหว่างที่ผู้แจ้งเหตุขอความช่วยเหลือจาก1669 แล้วจะต้องรอเพื่อให้เจ้าหน้าที่มาถึง จึงจะได้รับการดูแลรักษาอย่างถูกต้อง อาจใช้เวลา10 นาที หรือมากกว่านั้น หากผู้เจ็บป่วยไม่ได้รับการดูแลรักษาอย่างทันท่วงที อาจทำให้เสียชีวิตหรือโอกาสรอดชีวิตน้อยลง ตรงกันข้าม หากผู้แจ้งเหตุ หรือตัวผู้เจ็บป่วย และผู้ที่อยู่ข้างเคียง สามารถช่วยเหลือได้อย่างถูกวิธี อาจทำให้รอดพ้นจากการเสียชีวิตได้ ซึ่งการช่วยเหลือทำได้ด้วยคนธรรมดาหรืออาสาสมัครที่ผ่านการอบรม สำหรับโครงการฯ นี้ถือเป็นการพัฒนาระบบ ช่วยให้เกิดการเติมเต็มช่องว่าง การให้คำแนะนำหลังแจ้งเหตุ เพื่อให้ผู้ที่แจ้งเหตุหรือผู้ที่อยู่ข้างเคียง สามารถช่วยเหลือผู้เจ็บป่วยฉุกเฉินได้อย่างถูกวิธีและทันท่วงทีก่อนที่รถฉุกเฉินจะไปถึง และคาดว่า ผู้เจ็บป่วยฉุกเฉินที่มีภาวะคุกคามต่อชีวิตจะสามารถรอดชีวิตได้อีกจำนวนมาก
           ด้านนายแพทย์จิระพงษ์ ศุภเสาวภาคย์  แพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉิน ศูนย์นเรนทร โรงพยาบาลราชวิถี กล่าวว่า ตามหลักการเมื่อมีผู้ป่วยฉุกเฉิน จำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือทันทีโดยไม่ต้องรอรถพยาบาล โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ป่วยที่หยุดหายใจ ดังนั้นจึงจำเป็นที่ต้องพัฒนาระบบ Call Centerหรือศูนย์รับแจ้งเหตุ หากสามารถพัฒนาศักยภาพของผู้รับแจ้งให้เหตุได้ หรือซักถามเพื่อให้ได้ข้อมูลที่สำคัญออกมา และวิเคราะห์ประเมินสถานการณ์พร้อมให้คำแนะนำที่ถูกต้องได้ เช่น รับมือภาวะความเครียด ความตื่นเต้นให้ได้ ต้องควบคุมสติ จากนั้นบอกความจำเป็นที่จะต้องช่วยเหลือและบอกทีละขั้นตอน ซึ่งจะทำให้การประสานงานส่งต่อเกิดประสิทธิภาพและทันท่วงที ก่อนที่หน่วยกู้ชีพจะมาถึง ซึ่งจะส่งผลดีกว่าที่จะให้ผู้ป่วยรอหน่วยกู้ชีพเพียงอย่างเดียว
           นายแพทย์จิระพงษ์ กล่าวว่า สำหรับโครงการพัฒนารับแจ้งเหตุฉุกเฉินด้วยระบบ Call Center ศูนย์นเรนทร โรงพยาบาลราชวิถี เป็นโครงการแรกที่ทางผู้ที่เกี่ยวข้องต้องการพัฒนาประสิทธิภาพของผู้ที่ทำงานในระบบCall Centerซึ่งมีผู้ให้ความสนใจเข้าร่วมมากถึง 300คน ทางโครงการจึงได้ทำการคัดเลือก40 คน แบ่งเป็นบุคลากรผู้ปฏิบัติงาน ใน รพ.ราชวิถี และรพ.ภาครัฐและเอกชน รวมทั้งมูลนิธิต่างๆ เป้าหมายคือ ต้องการให้ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติได้รับการช่วยเหลืออย่างทันที ณ ที่เกิดเหตุ โดยได้รับแนะนำ วิเคราะห์ และการช่วยเหลือที่ถูกต้องตามหลักการช่วยเหลือของการแพทย์ฉุกเฉินจากผู้ประสานงานได้และครั้งนี้บุคลากรทางด้านการแพทย์ ต่างให้ความสนใจเข้าร่วม เพื่อเพิ่มทักษะความรู้เป็นอย่างมาก