ADS


Breaking News

จำเป็นแค่ไหน...วัคซีนเสริมภูมิคุ้มกันในผู้ใหญ่และผู้สูงวัย

     ขึ้นชื่อว่าโรคภัยไข้เจ็บ แน่นอนว่าไม่มีใครอยากเป็น การป้องกันก่อนเกิดโรค โดยเฉพาะการฉีดวัคซีนจึงถือเป็นทางเลือกเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย หลายคนอาจคิดว่าวัคซีนจำเป็น ควรฉีดให้ครบในเด็ก แต่ในความเป็นจริงแล้วผู้ใหญ่และผู้สูงอายุก็จำเป็นต้องได้รับวัคซีนป้องกันเช่นเดียวกัน ปัจจุบันวัคซีนในผู้ใหญ่และผู้สูงอายุมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะประเทศไทยที่กำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัว และเนื่องในโอกาสวันผู้สูงอายุแห่งชาตินี้ รพ. กรุงเทพ ขอเชิญผู้สูงอายุในบ้านของท่านเข้ารับการตรวจร่างกาย และฉีดวัคซีนป้องกันให้ห่างไกลโรคร้ายที่อาจเกิดขึ้นได้

นายแพทย์ปิยะวัชร์ เตธวัช อายุรแพทย์ โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวถึง ในวัยผู้สูงอายุ หากเกิดโรคติดเชื้ออาจมีอาการรุนแรง และใช้เวลาในการรักษานาน เนื่องด้วยประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ นั่นคือ จะมีประชากรในวัยสูงอายุมากกว่าวัยเด็ก วัยรุ่นและวัยทำงาน การฉีดวัคซีนจึงเป็นแนวทางหนึ่งเพื่อป้องกันโรคและลดค่าใช้จ่ายทางด้านสาธารณสุขลงเมื่อเทียบกับที่คนไข้ต้องไปนอนในโรงพยาบาลนานๆ เมื่อป่วยแล้ว จากข้อมูลของสถานเสาวภา สภากาชาดไทยพบว่า การฉีดวัคซีนป้องกันโรคในผู้ใหญ่และผู้สูงอายุของประเทศไทยยังอยู่ในอัตราที่ไม่สูงมากนัก การรณรงค์และให้ความรู้เกี่ยวกับการฉีดวัคซีนจึงเป็นเรื่องสำคัญ ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ได้ออกคำแนะนำการให้วัคซีนป้องกันโรคสำหรับผู้ใหญ่และผู้สูงอายุในปี พ.ศ. 2557 โดยแบ่งวัคซีนเป็น 2 กลุ่มคือ
1.วัคซีนที่ผู้ใหญ่และผู้สูงอายุควรจะได้รับหากไม่มีข้อห้ามได้แก่ 1.1) วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป และผู้ป่วยอายุระหว่าง 19-64 ปีที่มีประจำตัวเช่น โรคหัวใจ โรคหอบหืด โรคถุงลมโป่งพอง และผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลอย่างน้อยปีละ 1 ครั้งจากโรคเรื้อรัง ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคไต โรคเลือด รวมถึงผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือได้รับยากดภูมิคุ้มกัน 1.2) วัคซีนป้องกันโรคปอดอักเสบ ในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป 1.3) วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบ บี ในผู้ป่วยโรคไตที่ได้รับการฟอกไต รวมไปถึงผู้ป่วยที่ได้รับเลือดบ่อย  นอกจากนี้ยังอาจพิจารณาให้ในผู้ที่มีโรคหัวใจ โรคถุงลมโป่งพอง โรคตับแข็ง โรคไตวายเรื้อรัง ผู้ป่วยโรคเบาหวาน รวมถึงผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือได้รับยากดภูมิคุ้มกัน 1.4) วัคซีนรวมป้องกันโรคคอตีบ บาดทะยัก ไอกรน โดยแนะนำให้ฉีดทุก 10 ปี 1.5) วัคซีนป้องกัน Human Papillomavirus (HPV) ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดมะเร็งปากมดลูก โดยแนะนำให้ฉีดในสตรีอายุ 9-26 ปี  
2.วัคซีนที่อาจพิจารณาให้ตามความเสี่ยงหรือโรคประจำตัวของผู้ป่วย ได้แก่ 2.1) วัคซีนป้องกันโรคปอดอักเสบ ในผู้ป่วยอายุระหว่าง 19-64 ปีที่มีโรคหัวใจ โรคหอบหืด โรคถุงลมโป่งพอง โรคตับแข็ง โรคไตวายเรื้อรัง ผู้ป่วยโรคเบาหวาน รวมถึงผู้ที่สูบบุหรี่เป็นประจำ และผู้เป็นโรคพิษสุราเรื้อรัง 2.2) วัคซีนป้องกันอีสุกอีใส ในรายที่ไม่มีภูมิคุ้มกันโรคและมีโอกาสสัมผัสเชื้อ เช่น ครูหรือผู้ที่เลี้ยงเด็กเป็นจำนวนมาก รวมไปถึงสตรีวัยเจริญพันธุ์ที่ยังไม่ต้องการตั้งครรภ์ ทั้งนี้สำหรับผู้ที่ไม่ทราบหรือไม่เคยมีประวัติเคยเป็นมาก่อน ควรตรวจหาภูมิคุ้มกันโรคอีสุกอีใสก่อนได้รับวัคซีน 2.3) วัคซีนป้องกันโรคงูสวัด ในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป เพื่อลดอุบัติการณ์ของการเกิดโรคงูสวัด และช่วยลดความรุนแรงของอาการงูสวัดได้หากเป็นโรค 2.4) วัคซีนป้องกัน Human Papillomavirus (HPV) ในชายอายุ 19-26 ปี โดยเฉพาะกลุ่มชายรักร่วมเพศ เพื่อป้องกันการติดเชื้อ HPV ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของมะเร็งบริเวณทวารหนักและอวัยวะเพศ 2.5) วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบ เอ โดยเฉพาะในวัยรุ่นและผู้ใหญ่ตอนต้น 2.6) วัคซีนป้องกันไข้เยื่อหุ้มสมองอักเสบ สำหรับผู้ที่จะเดินทางไปยังไปพิธีฮัจญ์และอุมเราะห์ ณ ประเทศซาอุดิอาระเบีย หรือผู้ที่จะเดินทางไปอยู่อาศัยในพื้นที่ที่มีเชื้อเยื่อหุ้มสมองอักเสบชุกชุม

การป้องกันก่อนเกิดโรค ถือเป็นหัวใจสำคัญของการมีสุขภาพที่ดี ทั้งยังช่วยลดภาวะแทรกซ้อนจากโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ที่มีแนวโน้มจะทวีความรุนแรงมากขึ้นตามอายุที่เพิ่มขึ้น วัคซีนดังที่กล่าวมาเป็นเพียงบางส่วนของวัคซีนที่สามารถฉีดเพื่อช่วยป้องกันโรคที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้ แต่ทั้งนี้ ผู้ที่ต้องการฉีดวัคซีนควรพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนเข้ารับการฉีด เพื่อรับการสอบถามประวัติสุขภาพ การตรวจร่างกาย และรับคำแนะนำเกี่ยวกับข้อบ่งชี้และข้อห้ามของวัคซีนแต่ละตัว เพื่อให้ได้รับประโยชน์และความปลอดภัยจากการฉีดวัคซีนอย่างแท้จริง สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่คลินิกวัคซีน รพ.กรุงเทพ หรือ Call Center โทร.1719