ADS


Breaking News

ระบบรางไทยเนื้อหอมนักลงทุนข้ามชาติแห่โชว์เทคโนโลย Rail Asia Expo 2018

     งานแสดงสินค้าและเทคโนโลยีระบบรางรถไฟฟ้า The 4th RISE & RAIL Asia Expo 2018 ที่มีขึ้นวันที่ 28-29 มีนาคม 2561 ณ. ฮอลล์แสดงสินค้า สถานีรถไฟฟ้า แอร์พอร์ต เรล ลิงก์ มักกะสัน คึกคัก ศูนย์รวมนักลงทุนระบบรางทั่วโลกรับกระแสเมกะโปรเจกต์ระบบรางปี61 ที่รัฐบาลอนุมัติงบล่าสุดกว่า 500,000 ล้านบาท จุดเด่นงานปีนี้ บ.เอเชีย เอ็กซิบิทชั่นฯ ผนึกกำลังร่วมกับ RISE จัดประชุมวิชาการและแสดงนิทรรศการ อุตสาหกรรมระบบขนส่งทางรางไทย ครั้งที่ 4 ภายใต้แนวคิด”นวัตกรรมโลก นโยบายชดเชยการจัดซื้อจัดจ้าง และความเชี่ยวชาญไทย มุ่งสู่การพัฒนาระบบราง ในภูมิภาคอาเซียนแบบบูรณาการ” และมีหัวข้อเด่น ตีแผ่รถไฟความเร็วสูงกับการขนส่งในเขตเมือง และแผนการทุ่มทุน22,500ล้านเหรียญสหรัฐสู่ EEC มั่นใจงานปีนี้ดึงคนเข้างาน 3,000 ราย
นายดิสพล ผดุงกุล นายกสมาคมวิศวกรรมระบบขนส่งทางรางไทย เปิดเผยถึง การจัดงาน การประชุมวิชาการและแสดงนิทรรศการ อุตสาหกรรมระบบขนส่งทางรางไทย ครั้งที่ 4 และ RAIL Asia Expo 2018 ( The 4th Thai Rail Industry Symposium and Exhibition (RISE) and RAIL Asia Expo 2018) หรือ The 4th RISE Symposium & RAIL Asia Expo 2018   ที่จัดขึ้นในวันที่  28-29 มีนาคม 2561 ณ. ฮอลล์แสดงสินค้า  สถานีรถไฟฟ้า แอร์พอร์ต เรล ลิงก์ มักกะสัน กรุงเทพฯว่า ปีนี้นับเป็นการเติบโตของงานแสดงสินค้าด้านระบบราง ซึ่งงาน RAIL Asia Expo 2018 จัดโดยบริษัท เอเชีย เอ็กซิบิทชั่น เซอร์วิสเซส จำกัด ที่มีการจัดมาอย่างต่อเนื่องเป็นครั้งที่หกแล้ว
ในปีนี้ งาน RAIL Asia Expo 2018 มีการผนึกกำลังกับ RISE การประชุมสัมมนาระบบรางภายใต้ การสนับสนุนจากภาครัฐ ร่วมกันจัดงานสินค้าระบบรางระดับชั้นนำของภูมิภาคเอเชีย และการประชุมสัมมนาด้านอุตสาหกรรมระบบรางขั้นสูง “งานนี้ถือเป็นการพัฒนาระบบรางครั้งสำคัญยิ่ง เนื่องด้วยจะมีหน่วยงานภาครัฐ ผู้ให้บริการเดินรถ ผู้ผลิตเทคโนโลยีระบบ อุปกรณ์ มาร่วมแสดงผลงานอย่างเต็มรูปแบบไปพร้อมๆกัน”
การพัฒนางานวิจัยระบบรางของไทยนั้น ได้มีการสนับสนุนงบประมาณจากเครือข่ายองค์กรบริหารงานวิจัยแห่งชาติ (คอบช.) โดย สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ซึ่งได้กำหนดให้งานวิจัยระบบรางเป็นหนึ่งในแผนงานวิจัยมุ่งเป้าของประเทศ โดยมอบหมายให้สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ดำเนินการบริหารแผนงานวิจัย เพื่อให้มีผลงานวิจัยที่ใช้ประโยชน์ได้จริงในด้านการคมนาคมระบบรางและตรงตามความต้องการของประเทศ พร้อมทั้งส่งมอบผลงานวิจัยสู่หน่วยงานผู้รับประโยชน์ โดยในปีนี้ เป็นการส่งมอบผลงานวิจัย เรื่อง “การพัฒนารถยนต์รางขนาดเบาวิ่งบนรางรถไฟมิเตอร์เกจหรือถนน” โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิโรฏฐ์ สุคนธนกานต์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น โดยส่งมอบผลงานให้ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) นายดิสพลกล่าว
 
นายชัยวัฒน์  ทองคำคูณ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร หรือ สนข.ในฐานะประธานงานประชุมวิชาการและแสดงนิทรรศการอุตสาหกรรมระบบขนส่งทางรางไทย ครั้งที่ 4 กล่าวว่า ปี 2561 นับเป็นปีสำคัญที่โครงการระบบรางในประเทศไทยด้วยสัญญาการประมูลและจัดซื้อจำนวนมากที่กำลังเกิดขึ้น ดังนั้นในงาน The 4th Thai Rail Industry Symposium and Exhibition (RISE) and RAIL Asia Expo 2018 ที่จัดขึ้นในวันที่  28-29 มีนาคม 2561 ทางกระทรวงคมนาคมจะเป็นแกนนำสำคัญในการจัดประชุมในงานนำเสนอให้เห็นโอกาสใหม่ๆ ร่วมกับผู้ให้บริการเดินรถของภาครัฐและเอกชน และคู่ค้านักลงทุนระดับภูมิภาค การประชุมในครั้งนี้จะอยู่ใต้แนวคิด “อนาคตระบบรางของอาเซียน” มีหัวข้อที่อยู่ในกระแสความสนใจพิเศษอาทิ รถไฟความเร็วสูง การขนส่งในเขตเมือง โครงสร้างพื้นฐานการขนส่งระดับภูมิภาค และนโยบายการวิจัยเกี่ยวกับระบบราง และจุดเด่นที่หัวข้อในการประชุมครั้งนี้จะมีเรื่อง รายละเอียดโครงการขนส่งรูปแบบใหม่ในเขตเมืองของจังหวัดขอนแก่น ภูเก็ต นครราชสีมาและเชียงใหม่ พร้อมทั้งเรื่องแผนการลงทุนโครงการและโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งของประเทศที่รัฐบาลประกาศลงทุนถึงมูลค่า22,500 ล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EEC อีกด้วย
อีกทั้งเมกะโปรเจกต์ระบบรางของไทย เนื้อหอมได้รับความสนใจจากนักลงทุนต่างชาติมากมาย ล่าสุดรัฐบาลเห็นชอบการลงทุนระบบรางมูลค่ารวมกว่า 16 พันล้านเหรียญสหรัฐหรือราว 500,000 ล้านบาท สร้างการเปลี่ยนแปลงการลงทุน เทคโนโลยีและความเชี่ยวชาญระดับโลกให้กับประเทศไทยโครงการใหม่ 12 โครงการ รวมถึงโครงการรถไฟความเร็วสูง  โครงการขยายเส้นทางรถไฟทางคู่ เส้นทางรถไฟฟ้า 11 สายในกรุงเทพฯ โครงการรถไฟฟ้าเชื่อม 5 จังหวัดและอื่นๆ
ด้านนายเดวิด เอ็ทคิ่น กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอเชีย เอ็กซิบิทชั่น เซอร์วิสเซส จำกัด เปิดเผยว่า งาน The 4th Thai Rail Industry Symposium and Exhibition (RISE) and RAIL Asia Expo 2018 ในปีนี้เป็นการผนึกงาน RAIL Asia Expo ครั้งที่ 6 และงาน RISE การประชุมวิชาการและแสดงนิทรรศการ อุตสาหกรรมระบบขนส่งทางรางไทย ครั้งที่ 4 สองงานใหญ่ เข้าไว้ด้วยกัน เป็นงานแสดงนิทรรศการเทคโนโลยีรถไฟ และรถไฟใต้ดิน  ใหญ่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะรวบรวมผู้ผลิตเทคโนโลยีด้านรถไฟ รถไฟใต้ดิน ผู้รับเหมา ระบบราง ผู้ให้บริการระบบรถไฟ ระบบไอที การสื่อสาร อาณัติสัญญาณ อุปกรณ์ในสถานี ระบบความปลอดภัย ฯลฯ ผู้ผลิตต่างประเทศ  ชั้นนำทั้งจากยุโรป อเมริกา,เอเชีย มาจัดแสดงในงาน โดยมีบริษัทที่เข้าร่วมงานและตัวแทนจำหน่ายถึง 120 บริษัท จากทั่วโลก มีผู้เกี่ยวข้องผู้ผลิต ผู้ให้บริการเดินรถ ที่ปรึกษา ผู้รับเหมา นักลงทุน วิศวกร กว่า 1,000 ราย  คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมงานถึง 3,000 คน
ในปีนี้ได้รับความสนใจจากบริษัทยักษ์ใหญ่ วงการขนส่งระบบรางจากทั่วโลก อาทิ บอมบาร์เดีย, ชไนเดอร์, ซีเมนส์, ซีอาร์เอสซี และวอร์สทอนไพน์   มีพาวิเลียนจาก สหราชอาณาจักร จีน และเกาหลี จะนำเทคโนโลยีล่าสุด นวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆในอุตสาหกรรมนี้มานำแสดงรองรับเมกะโปรเจกต์ระบบรางของไทย พบกับงานการประชุมวิชาการและแสดงนิทรรศการ อุตสาหกรรมระบบขนส่งทางรางไทย ครั้งที่ 4 และ RAIL Asia Expo 2018  (The 4th Thai Rail Industry Symposium and Exhibition (RISE) and RAIL Asia Expo 2018) ในวันที่  28-29 มีนาคม 2561 ณ. ฮอลล์แสดงสินค้า  สถานีรถไฟฟ้า แอร์พอร์ต เรล ลิงก์ มักกะสัน
ข้อมูลงาน


การประชุมวิชาการและแสดงนิทรรศการอุตสาหกรรมระบบขนส่งทางรางไทย ครั้งที่ 4 และ Rail Asia Expo 2018 - The 4th Thai Rail Industry Symposium and Exhibition (RISE) and Rail Asia Expo 2018 “นวัตกรรมโลก นโยบายชดเชยการจัดซื้อจัดจ้าง และความเชี่ยวชาญไทย มุ่งสู่การพัฒนาระบบราง แห่งภูมิภาคอาเซียนแบบบูรณาการ” - ASEAN Integration of Global Innovation, Offset Policy and Thai Expertise in the Development of the Regional Rail Network” จัดขึ้นระหว่างวันที่ 28 – 29 มีนาคม 2561 ณ สถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ มักกะสัน เพื่อนำเสนอความก้าวหน้าของผลงานวิจัยและนวัตกรรมระบบรางของประเทศไทยที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในภาคอุตสาหกรรมได้จริง  และนำเสนอแนวทางปฏิบัติในการจัดซื้อจัดจ้างที่มีเงื่อนไขการตอบแทนด้วยการสนับสนุนการพัฒนาประเทศ อันเป็นการสนับสนุนให้ประเทศไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขันและสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว
ในส่วนของ การพัฒนางานวิจัยระบบรางของไทยนั้น ได้มีการสนับสนุนงบประมาณจากเครือข่ายองค์กรบริหารงานวิจัยแห่งชาติ (คอบช.) โดยสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ซึ่งได้กำหนดให้งานวิจัยระบบรางเป็นหนึ่งในแผนงานวิจัยมุ่งเป้าของประเทศ โดยมอบหมายให้ สวทช. โดยโครงการจัดตั้งสถาบันพัฒนาเทคโนโลยีระบบขนส่งทางรางแห่งชาติ และ ฝ่ายบริหารจัดการคลัสเตอร์และโปรแกรมวิจัย (Cluster and Program Management Office : CPMO)  ดำเนินการบริหารแผนงานวิจัย เพื่อให้มีผลงานวิจัยที่ใช้ประโยชน์ได้จริงในด้านการคมนาคมระบบรางและตรงตามความต้องการของประเทศ พร้อมทั้งส่งมอบผลงานวิจัยสู่หน่วยงานผู้รับประโยชน์ โดยในปีนี้ เป็นการส่งมอบผลงานวิจัย เรื่อง “การพัฒนารถยนต์รางขนาดเบาวิ่งบนรางรถไฟมิเตอร์เกจหรือถนน” โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิโรฏฐ์ สุคนธนกานต์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น  โดยส่งมอบผลงานให้ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)
การจัดงานประชุมวิชาการและแสดงนิทรรศการระบบขนส่งทางรางแห่งชาติ (Thai Rail Industry Symposium and Exhibition: RISE) ได้จัดมาแล้ว 3 ครั้ง โดยเริ่มตั้งแต่ปี 2558 โดยหัวข้อการจัดงานคือ “งานวิจัยระบบรางมุ่งเป้าเพื่อการพัฒนาระบบขนส่งทางรางของประเทศ” ปี 2559 หัวข้อการจัดงานคือ “ผลิตชิ้นส่วนระบบรางอย่างไรให้ได้มาตรฐาน” และในปี 2560 หัวข้อการจัดงานคือ “อนาคตอุตสาหกรรมระบบรางไทย: ก้าวกระโดดไปด้วยยุทธศาสตร์ความร่วมมือการจัดซื้อจัดจ้างที่มีเงื่อนไขความร่วมมือในการพัฒนาอุตสาหกรรมระบบรางไทย”