กฟผ. เดินหน้ากองทุน RAC NAMA 320 ล้านบาท ส่งเสริมอุตฯ ไทย ผลักดันผลิตภัณฑ์ทำความเย็นประสิทธิภาพพลังงานสูงและลดโลกร้อน
กรุงเทพฯ, 29 มีนาคม 2561 – การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ร่วมกันจัดพิธีเปิดและแถลงข่าวกองทุน RAC NAMA ของประเทศไทย เพื่อส่งเสริมผลิตภัณฑ์ทำความเย็นประสิทธิภาพพลังงานสูงที่ใช้สารทำความเย็นธรรมชาติ กองทุน RAC NAMA ได้พัฒนามาตรการจูงใจทางการเงินเพื่อสนับสนุนประเทศไทยในการลดก๊าซเรือนกระจก ส่งเสริมโอกาสในเชิงธุรกิจสำหรับผลิตภัณฑ์ทำความเย็นที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น
กองทุน RAC NAMA อยู่ภายใต้ “โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานและการลดก๊าซเรือนกระจกที่เหมาะสมของประเทศในอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น” หรือ “ThailandRACNAMA” ซึ่งถือเป็นโครงการในการดำเนินกลไกการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแรกของประเทศไทยที่ได้รับเงินทุนสนับสนุนจากกองทุน NAMA Facility ด้วยงบประมาณรวมทั้งสิ้น 14.7 ล้านยูโร (ประมาณ 565 ล้านบาท) โดยมอบหมายให้ GIZ ดำเนินงานร่วมกับรัฐบาลไทย ได้แก่ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) และกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.)
นายกฎชยุตม์ บริบูรณ์จตุพร รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า “สำหรับกองทุน RAC NAMA งบประมาณ 320 ล้านบาท (8.3 ล้านยูโร) ที่จะส่งผ่านมายังประเทศไทยนั้น กฟผ. จะทำหน้าที่บริหารเงินทุน ผ่านมาตรการจูงใจทางการเงินเพื่อส่งเสริมการผลิตและการใช้เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพสูงและใช้สารทำความเย็นธรรมชาติที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมใน 4 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ ตู้เย็น ตู้แช่ เครื่องทำน้ำเย็นและเครื่องปรับอากาศ”
“เงินทุนจะแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกคือเงินอุดหนุน จำนวนราว 120 ล้านบาท จะใช้ในการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการปรับเปลี่ยนสายการผลิต รวมทั้งสนับสนุนเครื่องมือและอุปกรณ์ด้านการฝึกอบรมและทดสอบ และส่วนที่สองคือเงินทุนหมุนเวียน จำนวนราว 200 ล้านบาท จะใช้ในการส่งเสริมผลิตภัณฑ์เข้าสู่ตลาด รวมทั้งกระตุ้นให้ผู้ใช้กลุ่มครัวเรือนและผู้ใช้เชิงพาณิชย์ในกลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) หันมาใช้ผลิตภัณฑ์ที่ประหยัดพลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น” นายกฎชยุตม์กล่าวเพิ่มเติม
ในส่วนของ ดร. รวีวรรณ ภูริเดช เลขาธิการ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กล่าวว่า “กองทุน RAC NAMA ถือเป็นมิติใหม่การดำเนินมาตรการทางการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ Climate Finance ของประเทศไทย และถือเป็นส่วนหนึ่งที่จะสนับสนุนการลดก๊าซเรือนกระจกตามเป้าหมายการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (Nationally Determined Contribution: NDC) โดยมีเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย ภายในปี พ.ศ. 2563 ที่ร้อยละ 20–25 จากกรณีปกติ ภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework on Climate Change: UNFCCC) ความตกลงปารีสหรือ Paris Agreement นอกจากนี้ ยังเป็นกองทุนแรกของประเทศไทยที่ได้รับการสนับสนุนจาก NAMA Facility โดยรัฐบาลสหราชอาณาจักรร่วมกับรัฐบาลสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี”
ด้าน นางคามิลล่า เฟนนิ่ง หัวหน้าเครือข่ายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและพลังงาน สถานเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย กล่าวว่า “รัฐบาลสหราชอาณาจักรมีความมุ่งมั่นที่จะแก้ปัญหาภาวะโลกร้อน ดิฉันรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ในวันนี้ได้เป็นผู้แทนความร่วมมือระหว่างรัฐบาลสหราชอาณาจักรและรัฐบาลสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีในการสนับสนุนประเทศไทยให้ดำเนินการลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ด้วยการยกระดับการพัฒนาอุตสาหกรรมทั้งหมดไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็นที่สำคัญของภูมิภาค ดิฉันเชื่อมั่นว่ากองทุน RAC NAMA นี้จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างมีนัยสำคัญ”
นายยาน แชร์ อัครราชทูตและรองหัวหน้าปฏิบัติการ สถานเอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีประจำประเทศไทย กล่าวว่าที่ผ่านมา ประเทศเยอรมนีได้พัฒนาความร่วมมือกับประเทศไทยมากว่า 60 ปี และมีความมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้แก่ประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการสนับสนุนร่วมกันของรัฐบาลสหราชอาณาจักรและรัฐบาลสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีผ่านกองทุน NAMA Facility จะสามารถนำประโยชน์ต่อหลายภาคส่วนในประเทศไทย และการดำเนินงานของกองทุน RAC NAMA ถือเป็นตัวอย่างที่สำคัญและเป็นต้นแบบในด้านการถ่ายทอดองค์ความรู้ ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมทำความเย็นของประเทศไปสู่การใช้เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพพลังงานสูงและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
นายทิม มาเลอร์ ผู้อำนวยการองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประจำประเทศไทยและมาเลเซีย กล่าวว่า “ประเทศไทยถือเป็นหนึ่งในศูนย์การผลิตที่สำคัญของโลกในอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น กองทุน RAC NAMA จึงมุ่งเน้นส่งเสริมเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพพลังงานสูงและใช้สารทำความเย็นธรรมชาติที่มีค่าศักยภาพในการทำให้เกิดภาวะโลกร้อน (GWP) ที่ต่ำมาก และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าสารทำความเย็นสังเคราะห์ทั่วไปถึง 100-1,000 เท่า นอกจากนี้การใช้สารทำความเย็นธรรมชาติดังกล่าวควบคู่ไปกับการพัฒนาอุปกรณ์ที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ จะสามารถลดการใช้พลังงานได้ถึงร้อยละ 5-25”
“GIZ ขอขอบคุณเป็นอย่างยิ่งที่กฟผ. เข้ามารับบทบาทผู้บริหารกองทุน RAC NAMA Fund ในนามประเทศไทย ซึ่งเห็นได้ชัดว่า กฟผ. เป็นหน่วยงานที่มีความเป็นผู้นำ มีวิสัยทัศน์ก้าวไกล และมีความพร้อมทั้งทางด้านบุคลากรและองค์ความรู้จากประสบการณ์ในการดำเนินโครงการลดก๊าซเรือนกระจกและการส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น โครงการฉลากประหยัดไฟเบอร์ 5 เป็นต้น ในส่วนของ GIZ จะทำหน้าที่สนับสนุนด้านเทคนิค โดยส่งเสริมให้มีการเชื่อมโยงองค์ความรู้และความร่วมมือจากต่างประเทศ รวมทั้งช่วยให้ประเทศไทยเข้าถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์และเหมาะสม ในท้ายที่สุดผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่ากองทุน RAC NAMA นี้จะเป็นตัวอย่างของกลไกทางการเงินสีเขียวที่ประสบความสำเร็จในการลดผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” นายทิม มาเลอร์กล่าวเสริม
กองทุน RAC NAMA อยู่ภายใต้ “โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานและการลดก๊าซเรือนกระจกที่เหมาะสมของประเทศในอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น” หรือ “ThailandRACNAMA” ซึ่งถือเป็นโครงการในการดำเนินกลไกการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแรกของประเทศไทยที่ได้รับเงินทุนสนับสนุนจากกองทุน NAMA Facility ด้วยงบประมาณรวมทั้งสิ้น 14.7 ล้านยูโร (ประมาณ 565 ล้านบาท) โดยมอบหมายให้ GIZ ดำเนินงานร่วมกับรัฐบาลไทย ได้แก่ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) และกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.)