จุฬาฯ ร่วมกับพันธมิตรเปิดตัว “เมืองนวัตกรรมแห่งสยาม” ปั้นสยามสแควร์เป็นสังคมอุดมปัญญาและย่านนวัตกรรมที่ตอบโจทย์สังคม พร้อมจัดงาน “Our Futures 2030” ร่วมคิด ร่วมคุย ร่วมสร้างอนาคต สู่ยุค 2030
จุฬาฯ ผสานพลังความร่วมมือการไฟฟ้านครหลวง ไทยเบฟเวอเรจ และธนาคารกสิกรไทย เปิดตัว เมืองนวัตกรรมแห่งสยาม (Siam Innovation District) เพื่อให้เป็นเวทีสังคมอุดมปัญญาและสร้างนวัตกรรมที่ตอบโจทย์สังคม คิกออฟเปิดตัวด้วยงาน Our Futures 2030 ร่วมคิด ร่วมคุย ร่วมสร้างอนาคต ชวนผู้ร่วมงานข้ามเวลาไปอยู่ในยุค 2030 ที่ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงพลิกโฉมรวดเร็วอย่างคาดไม่ถึง พร้อมเปิดเวทีโชว์นวัตกรรมสุดล้ำจากนวัตกรรุ่นใหม่
ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า นวัตกรรมไม่ได้มีบทบาทแค่เพียงการเติบโตทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน และสิ่งสำคัญที่สุดคือนวัตกรรมจะต้องเป็นกลไกในการเสริมพลังให้ประชาชนเข้ามามีบทบาทเชิงรุกและเป็นกลไกสำคัญของการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง เป็นการสร้างความร่วมมือเชิงสร้างสรรค์เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง ซึ่งโครงการเมืองนวัตกรรมแห่งสยาม นับเป็นแนวคิดที่ดีที่จะสร้างโอกาสเพื่อพัฒนาด้านนวัตกรรมของประเทศไทย โดยสนับสนุนนวัตกรทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นเงินทุน สนับสนุนด้านงานวิจัย หรือเป็นศูนย์กลางตลาดเพื่อมาแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบาย Thailand 4.0 ของรัฐบาล ที่มีเป้าหมายให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง โดยการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรม
“เมืองนวัตกรรมแห่งสยามจะเป็นตัวอย่างสำคัญของการสร้างพื้นที่ความร่วมมือที่ใช้การมองอนาคตและความท้าทายสังคมมาเป็นโจทย์ของการพัฒนานวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ของสังคมร่วมกันของหลายภาคส่วน และผลักดันนวัตกรรมดังกล่าวสู่การเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงในวงกว้างต่อไป ไม่เพียงเป็นการศึกษาวิจัยที่ขึ้นหิ้งอย่างที่เป็นมาในอดีต” ดร.สุวิทย์ กล่าว
ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของเมืองนวัตกรรมแห่งสยาม ที่ต้องการจะสร้างสังคมอุดมปัญญาให้เกิดขึ้น เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และช่วยให้สังคมไทยปรับตัวก้าวตามทันความเปลี่ยนแปลงของโลกทั้งในปัจจุบันและอนาคต และจะเป็นเวทีที่จะเปิดโอกาสให้มีการนำเสนอนวัตกรรมสู่สาธารณะในวงกว้าง จึงได้มีการจัดงาน Our Futures 2030 ร่วมคิด ร่วมคุย ร่วมสร้างอนาคต ขึ้นระหว่างวันที่ 22-25 มีนาคม 2561 ที่บริเวณศูนย์การค้าสยามสแควร์วัน และทางเชื่อมสถานี BTS สยาม เพื่อให้ประชาชนเกิดความตื่นตัวว่าจะเกิดอะไรขึ้นเมื่อข้ามเวลาไปอยู่ในยุค 2030 ที่ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงพลิกโฉมรวดเร็ว
อย่างคาดไม่ถึง โดยดำเนินการผ่านการมองอนาคต 3 ประเด็น คือ ชีวิตและความเป็นอยู่ การคมนาคม และการศึกษาเรียนรู้ ซึ่งจะจัดกิจกรรมในหลากหลายรูปแบบ อาทิ
• เวทีสัมมนาสาธารณะเรื่อง “อนาคต” (Futures Public Forum) เวทีที่เปิดโอกาสให้เครือข่ายภาคเอกชน ประชาสังคมและนักวิชาการมาพูดคุย แลกเปลี่ยน เรียนรู้ร่วมกันเรื่องอนาคต เพื่อให้เกิดมุมมองเรื่องอนาคตที่หลากหลายและกระตุ้นให้เกิดความร่วมมือของภาคส่วนต่างๆ ที่จะร่วมกันสร้างอนาคต
• งานเทศกาลภาพยนตร์แห่งอนาคต (Futures Film Festival) กิจกรรมสร้างการรับรู้สาธารณะเรื่องอนาคตที่เกี่ยวข้องกับตัวเราและสังคม ผ่านสื่อภาพยนตร์ โดยความร่วมมือกับองค์กรทางวัฒนธรรมจาก 3 ประเทศคือ บริติชเคาน์ซิล สหราชอาณาจักร, สถาบันเกอเธ่ เยอรมนี และเจแปนฟาวน์เดชั่น ญี่ปุ่น
• นิทรรศการจากอดีตสู่อนาคต (Futures Exhibition) นำเสนอพัฒนาการของประเทศโดยย่อและเชิญชวนให้ประชาชนร่วมการเดินทางสู่ความเป็นไปได้ของอนาคตที่หลากหลายเพื่อร่วมกันค้นหาว่าเราจะมาร่วมกันกำหนดอนาคตที่ต้องการได้อย่างไร
• พื้นที่กลางสาธารณะร่วมสร้างอนาคต (Futures Online Platform) กลไกในการทดลองกระบวนการร่วมสร้างอนาคตที่ตั้งอยู่บนฐานความรู้และนวัตกรรมที่ทุกภาคส่วนในสังคมสามารถมีส่วนร่วมกำหนดได้ในหลากหลายระดับทั้งในระดับความคิด การสนับสนุน จนถึงขั้นของการลงมือทำให้เกิดขึ้น
our-futures-2030/