สยามลวดเหล็กฯ (SIW) ตอกย้ำปณิธานเดินหน้าพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชน ฉายความสำเร็จ School BIRD ต่อยอดชุมชนพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน
บริษัท สยามลวดเหล็กอุตสาหกรรม จำกัด ฉายภาพความสำเร็จโครงการ “การพัฒนาคุณภาพชีวิตโดยมีโรงเรียนเป็นศูนย์กลาง หรือ School BIRD (School-Based Integrated Rural Development)” ตลอดระยะเวลากว่า 5 ปีที่ผ่านมา เพื่อสานต่อปณิธานขององค์กรในการร่วมพัฒนาสังคมและคุณภาพชีวิตของชุมชนให้เข้มแข็ง ตลอดจนดูแลสิ่งแวดล้อมให้เติบโตอย่างยั่งยืนโดยมีโรงเรียนเป็นศูนย์กลาง
ภาพ : สยามลวดเหล็กฯ ต้อนรับ ผู้อำนวยการและคุณครู จาก 6 โรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ
นับตั้งแต่ปลายปี 2554 ที่ชาวบ้านใน ต.หนองละลอก อ.บ้านค่าย จ.ระยอง มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น แต่ละครัวเรือนมีรายได้เฉลี่ยเพิ่มขึ้น 30-40% ซึ่งความแข็งแรงที่เพิ่มขึ้นภายในครอบครัว ก่อนส่งต่อมายังชุมชนเข้มแข็งนี้ เป็นผลมาจากได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้ การพัฒนาคุณภาพชีวิตโดยมีโรงเรียนเป็นศูนย์กลาง หรือ School BIRD
โครงการ School BIRD เติบโตมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีบริษัท สยามลวดเหล็กอุตสาหกรรม จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าลวดเหล็กแรงดึงสูงสำหรับงานคอนกรีตอัดแรง และลวดเหล็กตีเกลียวที่ใช้ในการก่อสร้างที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน เป็นแม่ทัพใหญ่คอยสนับสนุนด้านกลยุทธ์ วางฐานความรู้ด้านการเกษตร การบริหารจัดการ และการตลาด หวังสร้างเศรษฐกิจฐานรากทั้ง 11 ชุมชนให้เติบโต โดยมี 6 โรงเรียนในตำบลหนองละลอกเป็นศูนย์กลาง ประกอบด้วย โรงเรียนบ้านหนองละลอก โรงเรียนวัดละหารไร่ โรงเรียนวัดดอนจันทร์ โรงเรียนบ้านมาบตอง โรงเรียนวัดหนองกระบอกและโรงเรียนวัดเชิงเนิน ผ่านการดำเนินกิจกรรม 5 กลุ่มหลัก คือ การมีส่วนร่วมและสร้างความเข้มแข็งของชุมชน การจัดตั้งหน่วยธุรกิจเพื่อสังคมในโรงเรียนและโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน การฝึกอบรมครูและผู้นำ การพัฒนาด้านสังคม และกองทุนเงินกู้เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ
นายนิกร อ่องอ่อน รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส – ทรัพยากรบุคคลและบริหารทั่วไป บริษัท สยามลวดเหล็กฯ บอกว่า ตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ได้ปรับองค์ความรู้ใหม่ผ่านแนวคิด School BIRD ร่วมกับมูลนิธิมีชัย วีระไวทยะ ทำให้เห็นภาพที่แข็งแรงขึ้นของชุมชนในพื้นที่ สำหรับทุนเริ่มต้น 12 ล้านบาทที่บริษัทสนับสนุน ทุกโครงการต่อยอดได้ตามวัตถุประสงค์ ระยะแรกถ่ายทอดองค์ความรู้การพัฒนาคุณภาพชีวิตโดยมีโรงเรียนเป็นศูนย์กลาง ผ่านโครงการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้สวนเกษตรอินทรีย์ในโรงเรียน ปลูกฝังให้นักเรียนรู้จักการใช้ชีวิตแบบพอเพียง เห็นคุณค่าของทรัพยากรต่างๆที่มีอยู่รอบตัว ผ่านหน้าที่ความรับผิดชอบดูแลแปลงเกษตรแต่ละระดับชั้น ตั้งแต่เริ่มปลูกจนถึงเก็บเกี่ยวก่อนนำผลผลิตที่ได้มาเป็นส่วนประกอบในโครงการอาหารกลางวัน ส่วนผลผลิตที่เหลือนำไปจำหน่ายต่อให้กับผู้ปกครองที่มารับบุตรหลานกลับบ้านในช่วงเย็นด้วยราคาที่ย่อมเยาว์ ก่อนจะนำรายได้กลับมาซื้อเมล็ดพันธุ์ผัก พันธุ์ปลาและเข้าสู่กระบวนการเดิมอีกครั้งเมื่อมีองค์ความรู้ด้านการดำรงชีพและเพิ่มรายได้ผ่านการเรียนรู้สวนเกษตรอินทรีย์ การส่งเสริมวินัยการจับจ่ายและการออมจึงเป็นสิ่งสำคัญ ดังนั้นจึงร่วมกันจัดตั้งกองทุนธนาคารพัฒนาชุมชน ซึ่งเป็นกองทุนที่ทุกคนในชุมชนร่วมกันเป็นเจ้าของ บริหารงานตามระบบธนาคารจริงโดยคณะกรรมการซึ่งเป็นชาวบ้านในพื้นที่ หวังส่งเสริมวินัยการออม และเปิดโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อประกอบอาชีพด้วย
ภาพ : การประชุมสามัญ และชี้แจงผลการดำเนินงานประจำปี 2560 ธนาคารพัฒนาชุมชนและโรงเรียนวัดดอนจันทร์
โดยในระยะแรกบริษัทให้การสนับสนุนเงินกองทุนหมู่บ้านละ 100,000 บาท ไม่เกิน 10,000 บาทต่อรายหมุนเวียนกันไป คิดอัตราดอกเบี้ย 1% ซึ่งผู้กู้แต่ละรายนั้นจะถูกคณะกรรมการธนาคารพัฒนาชุมชนตรวจสอบข้อมูลอย่างละเอียดว่าประกอบอาชีพอะไร กู้เงินไปเพื่อวัตถุประสงค์ใด และติดตามอย่างใกล้ชิดว่านำเงินไปใช้ถูกวัตถุประสงค์หรือไม่ หรือนำไปลงทุนแล้วได้ผลประกอบการอย่างไรเพื่อจะได้ให้คำปรึกษาอย่างทันท่วงที
สำหรับผลกำไรของธนาคารพัฒนาชุมชนแต่ละแห่ง นอกจากจะนำไปปันผลให้กับสมาชิกแล้ว ส่วนหนึ่งคืนกลับไปยังชุมชนโดยรอบในรูปแบบข้าวสาร อาหารแห้ง อาหารสำเร็จรูปและไข่ไก่ ผ่านโครงการดูแลและส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุและผู้พิการ
ภาพ : โครงการดูแลและส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุและผู้พิการ
ความสำเร็จในระยะแรก ส่งผลให้บริษัทดำเนินโครงการ School BIRD ระยะที่ 2 อีก 3 โรงเรียนในจังหวัดระยอง ประกอบด้วย โรงเรียนวัดเกาะ (กริ่มกำพล) ต.หนองตะพาน อ.บ้านค่าย โรงเรียนวัดกระเฉท ต.มาบข่า อ.นิคมพัฒนา และโรงเรียนบ้านคลองบางบ่อ ต.พลงตาเอี่ยม อ.วังจันทร์ หวังกระจายความแข็งแกร่งให้กับชุมชนในจังหวัดระยอง โดยมีโรงเรียนเป็นศูนย์กลางเช่นเคย