ADS


Breaking News

เชฟรอน และ สวทช. จัดงาน “Maker Faire Bangkok 2018 ลานอวดของ ประลองไอเดีย”

ต่อยอดความสำเร็จของวัฒนธรรมแห่งการประดิษฐ์ ผลักดันประเทศไทยสู่สังคมแห่งนวัตกรรมยุค 4.0
บรรยายภาพ – บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด นำโดย นายแบรด มิดเดิลตัน (ที่ 3 จากซ้าย) กรรมการผู้จัดการใหญ่ เชฟรอนเอเชียเซ้าท์ นายไพโรจน์ กวียานันท์ (ที่ 4 จากซ้าย) ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด และนายอาทิตย์ กริชพิพรรธ (ที่ 2 จากซ้าย) กรรมการผู้จัดการใหญ่ฝ่ายสนับสนุนธุรกิจ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ร่วมกับ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นำโดย ดร. สุวิทย์ เมษินทรีย์ (ที่ 4 จากขวา) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รศ.นพ. สรนิต ศิลธรรม (ที่ 3 จากขวา) ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ดร. ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล (ที่ 2 จากขวา) ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และ ผศ.ดร. รวิน ระวิวงศ์ (ขวา) ผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) และ ดร. ประชาคม จันทรชิต (ซ้าย) รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) เปิดงาน “Maker Faire Bangkok 2018: ลานอวดของ ประลองไอเดีย” มหกรรมแสดงผลงานสิ่งประดิษฐ์ของเหล่านักสร้างสรรค์นวัตกรรมที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อจุดประกายความสนใจด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้กับเยาวชนและบุคคลทั่วไป ตลอดจนส่งเสริมการเติบโตของวัฒนธรรมเมกเกอร์ในประเทศไทย ณ ลานหน้าศูนย์การค้าเดอะสตรีท รัชดา เมื่อวันที่ 20 มกราคมที่ผ่านมา


กรุงเทพฯ – 22 มกราคม 2561 - บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ร่วมกับ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และพันธมิตร จัดงาน “Maker Faire Bangkok 2018: ลานอวดของ ประลองไอเดีย” มหกรรมแสดงผลงานสิ่งประดิษฐ์ของเหล่าเมกเกอร์หรือนักสร้างสรรค์นวัตกรรมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ระดมเมกเกอร์ชาวไทยและต่างประเทศร่วมแสดงผลงานสร้างสรรค์ ตลอดจนแบ่งปันความคิดและประสบการณ์แก่ผู้สนใจ รวมกว่า 80 บูธ พร้อมด้วยกิจกรรมและเวิร์กช็อปต่างๆ อีกมากมาย เพื่อจุดประกายความสนใจด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้กับเยาวชนและบุคคลทั่วไป ตลอดจนส่งเสริมการเติบโตของวัฒนธรรมเมกเกอร์ในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง วางรากฐานการสร้างบุคลากรในสาขาสะเต็ม อันเป็นปัจจัยสำคัญในการนำประเทศสู่การมีระบบเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม ตามยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 ของรัฐบาล โดยจัดขึ้นระหว่างวันที่ 20 - 21 มกราคม 2561 ณ ลานหน้าศูนย์การค้าเดอะสตรีท รัชดา โดยมีผู้เข้าร่วมงานในปีนี้รวมทั้งสิ้นกว่า 10,000 คน
บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด นำโดย นายแบรด มิดเดิลตัน (ที่ 4 จากซ้าย) กรรมการผู้จัดการใหญ่ เชฟรอนเอเชียเซ้าท์ นายไพโรจน์ กวียานันท์ (ที่ 3 จากซ้าย) ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด และนายอาทิตย์ กริชพิพรรธ (ซ้าย)  กรรมการผู้จัดการใหญ่ฝ่ายสนับสนุนธุรกิจ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ร่วมกับ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นำโดย ดร. สุวิทย์ เมษินทรีย์ (ที่ 4 จากขวา) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รศ.นพ. สรนิต ศิลธรรม (ที่ 3 จากขวา) ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ดร. ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล (ที่ 2 จากขวา) ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และ ผศ.ดร. รวิน ระวิวงศ์ (ขวา) ผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) และ ดร. ประชาคม จันทรชิต (ที่ 2 จากซ้าย) รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) เปิดงาน “Maker Faire Bangkok 2018: ลานอวดของ ประลองไอเดีย” มหกรรมแสดงผลงานสิ่งประดิษฐ์ของเหล่านักสร้างสรรค์นวัตกรรมที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อจุดประกายความสนใจด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้กับเยาวชนและบุคคลทั่วไป ตลอดจนส่งเสริมการเติบโตของวัฒนธรรมเมกเกอร์ในประเทศไทย ณ ลานหน้าศูนย์การค้าเดอะสตรีท รัชดา เมื่อวันที่ 20 มกราคมที่ผ่านมา

ดร. สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า “กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีผลักดันให้เกิด Makers Nation ที่นำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) เพื่อให้ขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตอบรับกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 สู่การพัฒนาที่มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ซึ่งเมกเกอร์ หรือกลุ่มคนที่ลงมือสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์ตามแต่จินตนาการของตน นำไปสู่นวัตกรรมและผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่ช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจได้อย่างมหาศาล การส่งเสริมวัฒนธรรมเมกเกอร์ในประเทศไทยให้เติบโตอย่างแข็งแกร่งและมั่นคง เป็นเรื่องสำคัญยิ่ง สอดคล้องกับภารกิจของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการสนับสนุนการสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อขับเคลื่อนสังคมไทยให้ก้าวสู่ยุค 4.0 นอกจากนั้นวัฒนธรรมเมกเกอร์ยังส่งเสริมการเรียนในสาขาสะเต็ม เพราะได้เรียนรู้ผ่านการลงมือปฏิบัติ การทดลอง เด็กจึงสนุกกับการเรียน และเข้าใจบทเรียนยิ่งขึ้น ช่วยเพิ่มศักยภาพของเยาวชนคนรุ่นใหม่ให้มีความรู้และทักษะที่จำเป็นต่อการทำงานและใช้ชีวิตในศตวรรษที่ 21 ซึ่งเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว กระทรวงฯ จึงมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ สวทช. และหน่วยงานพันธมิตร ได้ร่วมมือกับเชฟรอน ประเทศไทย จัดงาน Maker Faire Bangkok และหวังเป็นอย่างยิ่งว่ากิจกรรมนี้จะมีส่วนช่วยให้เยาวชนและบุคคลทั่วไปตระหนักและสนใจวัฒนธรรมเมกเกอร์มากยิ่งขึ้น เกิดแรงบันดาลใจที่จะลงมือสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์ เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นของสังคมแห่งเทคโนโลยีที่ยั่งยืนต่อไป”
ดร. ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวเสริมว่า “สวทช. มีหน้าที่หลักในการสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่งมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ปัจจุบันขบวนการเมกเกอร์กลายเป็นกำลังสำคัญในการสร้างความเปลี่ยนแปลงด้วยความคิดสร้างสรรค์ในประเทศที่พัฒนาแล้วหลายๆ ประเทศ ทำให้ สวทช. เล็งเห็นได้ถึงความสำคัญของขบวนการเมกเกอร์ในการช่วยสนับสนุนให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ รวมถึงทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ด้านเทคโนโลยี สวทช. ยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมดำเนินการโครงการ Chevron Enjoy Science จัดกิจกรรมต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อจุดประกายความสนใจและผลักดันให้วัฒนธรรมเมกเกอร์เป็นที่รู้จัก ในวงกว้างยิ่งขึ้นในสังคมไทย โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชน โดยการจัดงาน Maker Faire Bangkok อย่างเต็มรูปแบบเป็นครั้งแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปีนี้ นับเป็นการสานต่อความสำเร็จจากงาน Bangkok Mini Maker Faire ครั้งที่ 1 และ 2 โดยมีเมกเกอร์ทั่วเอเชียมาร่วมแสดงผลงานและแลกเปลี่ยนความรู้กับผู้สนใจ ทั้งนี้กิจกรรมนี้จะช่วยสนับสนุนให้ประเทศไทยก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางเมกเกอร์ในภูมิภาค และสามารถพัฒนาระบบเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมได้อย่างยั่งยืน”


นายไพโรจน์ กวียานันท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กล่าวว่า “เรายินดีและภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้ร่วมส่งเสริมวัฒนธรรมเมกเกอร์ในประเทศไทย ผ่านโครงการ ‘Chevron Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต’ ซึ่งเป็นความร่วมมือตามแนวทาง ‘รัฐร่วมเอกชน’ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างยั่งยืน ผ่านการส่งเสริมการศึกษาในสาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ หรือ สะเต็ม ทั้งในและนอกห้องเรียน ทั้งนี้ โครงการ Chevron Enjoy Science ได้ร่วมมือกับองค์กรพันธมิตร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ส่งเสริมวัฒนธรรมเมกเกอร์อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการจัดงานเมกเกอร์ แฟร์ ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 และร่วมกับ อพวช. ตั้ง Enjoy Maker Space พื้นที่สร้างสรรค์เปิดโอกาสให้เยาวชนได้สร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์ตามไอเดียของตนเอง การจัดอบรมบุคลากรทางการศึกษา เพื่อบูรณาการวัฒนธรรมเมกเกอร์สู่การเรียนรู้ในชั้นเรียนอีกด้วย ไปจนถึงการจัดประกวดสิ่งประดิษฐ์ ‘Enjoy Science: Young Makers Contest’ เพื่อให้เยาวชนได้คิดค้นและสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตในสังคม เราเชื่อมั่นว่างาน Maker Faire Bangkok ครั้งนี้ จะช่วยจุดประกายความสนใจและแรงบันดาลใจในวัฒนธรรมเมกเกอร์ให้กับผู้คนได้ครอบคลุมยิ่งขึ้น ช่วยสร้างพลังคนรุ่นใหม่ที่จะช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศสู่ยุค 4.0 ได้อย่างยั่งยืน”
บรรยากาศภายในงาน


ภายในงาน Maker Faire Bangkok เหล่าเมกเกอร์ทั่วเอเชียต่างร่วมจัดแสดงผลงานสิ่งประดิษฐ์หลากหลาย พร้อมแบ่งปันความรู้และประสบการณ์กับผู้สนใจ โดยมีกิจกรรมไฮไลท์ อาทิ Electric Parade ขบวนพาเหรดแสงสีเสียง TukTuk Racing เกมส์แข่งรถตุ๊กตุ๊กแบบ VR และการจัดแสดงผลงานสร้างสรรค์โดยเมกเกอร์จากประเทศญี่ปุ่น รวมถึงเวิร์กช็อปสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์ที่เปิดให้ผู้เยี่ยมชมได้ร่วมสนุกกับการเป็นเมกเกอร์ นอกจากนี้ ยังมีการประกาศผลและมอบรางวัลโครงการ “Enjoy Science: Young Makers Contest ปี 2” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Chevron Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต ในหัวข้อสิ่งประดิษฐ์เพื่อเสริมสร้างความปลอดภัยในชุมชน โดยผู้ชนะจะมีโอกาสได้ร่วมงาน Maker Faire Bay Area มหกรรมแสดงสิ่งประดิษฐ์ของเหล่าเมกเกอร์ ณ เมืองซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา และรางวัลอื่นๆ รวมมูลค่ากว่า 1.2 ล้านบาท

*หมายเหตุ: อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมและติดตามข่าวสารของงาน Maker Faire Bangkok ได้ที่ www.bangkokmakerfaire.com



เกี่ยวกับโครงการ ”Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต”

โครงการระยะยาว 5 ปี ด้วยงบประมาณรวมกว่า 1,000 ล้านบาท ที่บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ริเริ่มขึ้นในปี 2558 เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันให้กับประเทศไทย ผ่านการศึกษาในสาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ หรือสะเต็ม (STEM) รวมถึงการศึกษาสายอาชีพหรืออาชีวศึกษาครอบคลุมทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ โดยร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ การศึกษา สังคม และเอกชนที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย สํานักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.), สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.), องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.), สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.), สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.), สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.), และกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน โดยมีสถาบันคีนันแห่งเอเซียเป็นผู้ดูแลโครงการ