ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ยอมรับการเมืองมีผลต่อความมั่นใจ แต่ไม่สะเทือนเศรษฐกิจปีหน้า คาดการณ์จีดีพี 61 เร่งตัวแรง 3.5-4.5% จากปัจจัยพื้นฐานเชิงบวก
(ซ้าย)
นายอมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการอาวุโส
สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย
Amonthep Chawla , Head Research
Office of CIMB THAI Bank,
(ขวา)
นายภูดินันท์ เศรษฐนันท์
ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจบริหารเงิน
ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ฺBhudinan Sethanandha, Executive Vice President, Head of Head Structuring
of CIMB THAI Bank
นายอมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยปีหน้า นอกจากปัจจัยพื้นฐานในประเทศและต่างประเทศ ปัจจัยที่หลีกเลี่ยงไม่ได้คือ ความมั่นใจทางการเมือง ความมั่นใจในการเลือกตั้ง ความจริงที่ต้องยอมรับ คือ การเมืองมีผลต่อเศรษฐกิจ มีผลต่อความมั่นใจต่อนักลงทุน และผู้บริโภค หากคนไม่มั่นใจจะทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวได้
เราจึงตั้งมุมมองแบ่งเป็น 3 สถานการณ์
สถานการณ์ที่ 1 เลื่อนการเลือกตั้ง ด้วยเหตุปัจจัยต่างๆ อาทิ การติดขัดในกฎหมายย่อย หรือ กฎหมายลูกของรัฐธรรมนูญ การตกลงเจรจาไม่ได้ข้อสรุป หรืออาจเป็นเพราะไม่สามารถเตรียมความพร้อมได้ทัน ด้วยเหตุผลที่เข้าใจได้เหล่านี้ ทำให้แผนการเลือกตั้งในเดือนพ.ย.ปี 61 ต้องเลื่อนออกไป อาจส่งผลให้นักลงทุนชะลอการลงทุน คนชะลอการบริโภค ประมาณการจีดีพีปี 61 จะอยู่ที่ 3.5-3.8%
สถานการณ์ที่ 2 มีการเลือกตั้ง ภายใต้บริบทที่มีการคาดการณ์กันว่า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือคสช.ได้รับการสนับสนุนจากพรรคการเมือง ให้สานต่อการบริหาร เพื่อรักษาความต่อเนื่องของนโยบาย ประมาณการจีดีพีปี 61 จะอยู่ที่ 3.7-4.0%
สถานการณ์ที่ 3 มีการเลือกตั้ง ภายใต้บริบทที่ คสช.เปลี่ยนผ่านรูปแบบมาใช้อำนาจหน้าที่ของวุฒิสภา ในการกำกับดูแลการดำเนินงานของรัฐบาล ส่วนการเลือกตั้งเป็นไปอย่างเสรี ซึ่งจะเป็นพรรคประชาธิปัตย์ พรรคเพื่อไทย หรือพรรคใด ๆ เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล แต่วุฒิสภายังคงมีอำนาจในการกำกับดูแล และควบคุมแนวทางของรัฐบาลให้เดินตามนโยบายปฏิรูปแห่งชาติ หรือนโยบายยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี สถานการณ์นี้ ความเชื่อมั่นและความต่อเนื่องด้านนโยบายจะยังคงอยู่ต่อไป การเมืองไทยมีภาพลักษณ์เป็นรัฐบาลประชาธิปไตย ซึ่งคาดว่าจะได้รับคะแนนนิยมและมุมมองที่ดีจากต่างชาติ อีกทั้งน่าจะทำให้เห็นภาพอนาคตที่มีความชัดเจนขึ้น โดยประมาณการจีดีพี จะเติบโตได้ถึง 3.9-4.5%
“แต่ไม่ว่าปีหน้าสถานการณ์ทางการเมืองจะออกมารูปแบบไหนใน 3 แบบนี้ เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้นกว่า ช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยมีแนวโน้มเติบโตเหนือ 3.5% ด้วยปัจจัยพื้นฐานเป็นตัวขับเคลื่อน ปัจจัยพื้นฐานที่กำลังเร่งตัวดีขึ้น ได้แก่ ปัจจัยต่างประเทศที่ส่งผลให้การส่งออกไทยพลิกเป็นบวก และถ้าการส่งออกฟื้นตัวต่อเนื่องได้สองไตรมาส เราจะเริ่มเห็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจดีขึ้น คนเริ่มกลับมาลงทุน การบริโภคจะเริ่มกลับมา ซึ่งตรงนี้เองเป็นปัจจัยพื้นฐานที่จะผลักดันการเติบโตอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจไทยไม่ว่าการเมืองปีหน้าจะเป็นอย่างไร เศรษฐกิจไทยจะไม่กลับไปชะลอลงต่ำกว่า 3%” นายอมรเทพ กล่าว
นายอมรเทพ กล่าวว่า โดยสรุป ภาพรวมเศรษฐกิจไทยปีหน้าน่าจะเร่งตัวขึ้นจากปีนี้ จากภาคการส่งออกและการท่องเที่ยว ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนน่าจะฟื้นตัวต่อเนื่องหลังจากอ่อนแอมาหลายปี จากความเชื่อมั่นของนักลงทุนจากเสถียรภาพทางการเมือง สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยปี 61 จะเติบโต 4% จากปี 60 ที่คาดว่าจะโต 3.9%
ด้านค่าเงินบาท คาดว่าจะอ่อนค่าเมื่อเทียบกับเงินเหรียญสหรัฐ เงินจะไหลออกจากนโยบายการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯหรือเฟด และนโยบายลดภาษีของทรัมป์ การที่เงินบาทระยะนี้แข็งค่าขึ้นคาดว่าเป็นเพียงชั่วคราว จากความไม่มั่นใจนโยบายลดภาษีของทรัมป์ เป็นสำคัญ
ทั้งนี้ คาดว่าปี 61 ดุลบัญชีเดินสะพัดจะเกินดุลน้อยกว่าปี 60 เพราะการส่งออกไม่น่าจะเติบโตได้แรง เนื่องจากฐานที่เริ่มสูงขึ้น และการนำเข้าจะเริ่มขยายตัวจากความต้องการสินค้าทุนที่ใช้ในการผลิต
ด้านอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยในปี 61 น่าจะคงที่ 1.5% ตลอดทั้งปี เพื่อรักษาสมดุลการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ขณะที่เงินเฟ้อยังอยู่ระดับต่ำ อีกทั้งเฟดมีความพร้อมในการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายถึง 3 ครั้ง กนง.จึงน่าจะคงดอกเบี้ยได้ตลอดทั้งปี ในเมื่อดอกเบี้ยสหรัฐสูงกว่าดอกเบี้ยไทย จึงเป็นแรงสนับสนุนให้ไทยเกิดเงินไหลออก ส่งผลให้ความน่าสนใจในการเข้ามาซื้อตราสารหนี้ของไทยลดลง ซึ่งเป็นทิศทางทำให้ค่าเงินบาทปี 61 อ่อนค่าที่ระดับ 34 บาทต่อเหรียญสหรัฐ
“ปีทองของไทยจริงๆ ไม่ใช่ปีหน้า เรามองว่าปีทองทางเศรษฐกิจของไทยคือปี 2562 เพราะหลังเกิดการเลือกตั้ง คนจะกลับมาลงทุน และบริโภค รัฐบาลชุดถัดไปของคสช.นับว่าเป็นรัฐบาลที่โชคดี เพราะสิ่งที่คสช.ได้ทำและเดินหน้ามาแล้ว นั้นเริ่มจะเห็นผล และจะขับเคลื่อนได้ในปีถัดไป” นายอมรเทพ กล่าว
อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยยังคงมีปัญหาเชิงโครงสร้างที่ควรได้รับการแก้ไขต่อไป เช่น การขาดแคลนแรงงานมีทักษะ การเข้าสู่สังคมสูงอายุก่อนที่เป็นประเทศรายได้สูง และการมีกฎระเบียบและข้อจำกัดในการลงทุนอันบั่นทอนความสามารถในการแข่งขันของเอกชน เป็นต้น ดังนั้น การปฏิรูปทางเศรษฐกิจยังไม่จบแม้มีการเลือกตั้งแล้วก็ตาม
นายภูดินันท์ เศรษฐนันท์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจบริหารเงิน ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า จากคาดการณ์ของสำนักวิจัยฯที่มองว่าดอกเบี้ยนโยบายจะคงยาวตลอดทั้งปีนั้น ส่วนของดอกเบี้ยระยะยาวเริ่มเห็นสัญญาณการขึ้น ตามการปรับขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐ จึงแนะนำนักลงทุนที่เล็งว่าจะลงทุนตราสารหนี้ แนะนำให้ทยอยซื้อ เพื่อรอรับดอกเบี้ยระยะยาว 3 ปี 5 ปี 7 ปี ที่จะปรับตัวสูงขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปในปี 61 ส่วนผู้ที่ถือครองตราสารไว้อยู่แล้ว ควรศึกษาลงทุนการซื้อขายหุ้นกู้ในตลาดรอง ทำการซื้อขายเปลี่ยนมือเตรียมสภาพคล่องไว้ลงทุนในตราสารออกใหม่ที่จะออกมาในอนาคต
หุ้นกู้ประเภทใหม่ที่น่าจับตาคือ หุ้นกู้ที่อ้างอิงกับหน่วยลงทุนต่างประเทศ หรือ fund link note ซึ่งมีข้อดี คือ ผลตอบแทนที่สูงกว่าการลงทุนในหน่วยลงทุนโดยตรง โดยได้รับความคุ้มครองเงินต้นโดยผู้ออก ทำให้ได้รับความนิยมมากในขณะนี้ เพราะตอบโจทย์นักลงทุนกลุ่มที่ต้องการความคุ้มครองเงินต้น แต่ต้องการโอกาสได้ผลตอบแทนมากกว่าการลงทุนทั่วไป นอกจากนี้ fund link note เป็นอีกก้าวของการไปลงทุนในต่างประเทศ เพราะส่วนใหญ่ fund link note จะลิงค์กับกองทุนขนาดใหญ่ สภาพคล่องสูง ซึ่งธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย กำลังจะเสนอขาย fund link note เร็วๆนี้
นายภูดินันท์ กล่าวว่า เป็นจังหวะที่ดีของการไปลงทุนต่างประเทศ จากการที่ธนาคารแห่งประเทศไทยจับมือกับกลต.ขยายช่องทางและขยายเพดานให้คนไทยไปลงทุนต่างประเทศมากขึ้น ธนาคารพาณิชย์ได้รับการแต่งตั้งให้ทำหน้าที่เป็นตัวแทนพานักลงทุนไปลงทุนต่างประเทศ เพิ่มเติมจากเดิมที่มีบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน และบริษัทหลักทรัพย์ อีกทั้ง เมื่อเร็วๆนี้ ทางการยังขยายเพดานการลงทุนต่างประเทศของนักลงทุนไทยจาก 7.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ เป็น 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ส่งผลให้นักลงทุนรายย่อย มีโอกาสในการทำกำไรจากการลงทุนต่างประเทศมากขึ้น
ขณะเดียวกัน ปัจจัยต่างประเทศขณะนี้ยิ่งเพิ่มความน่าไปลงทุนต่างประเทศ สิ่งที่ต้องจับตาคือแผนภาษีของทรัมป์จะเริ่มมีผลบังคับใช้เร็วแค่ไหน เมื่อใช้แล้วจะส่งผลกระทบด้านบวกต่อบริษัทมากน้อยเพียงใด กล่าวคือ ภาษีที่ลดลงจะส่งผลให้บริษัทต่างๆ มีกำไรมากขึ้น และจะสะท้อนในราคาหุ้นที่สูงขึ้น ทำให้ตลาดหุ้นสหรัฐน่าสนใจ ต่อเนื่องจากปีนี้ที่ดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐปรับตัวขึ้นมาถึง 20%
นอกจากนี้ ค่อนข้างชัดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐจะปรับขึ้น กลายเป็นโอกาสของการลงทุนในต่างประเทศ ซึ่งวันนี้เริ่มเห็นนักลงทุนสถาบันไทยกลับไปซื้อตราสารหนี้ และ fixed income ของต่างประเทศมากขึ้นแล้ว จากที่เคยลดลงในช่วงที่ผ่านมา ทั้งนี้ เพราะดอกเบี้ยสหรัฐเป็นขาขึ้น ส่งผลให้ตราสารหนี้ต่างประเทศเริ่มมีผลตอบแทนสูงกว่าตราสารหนี้ในไทย จึงมีเงินไหลออกไปลงทุนต่างประเทศ
“สิ่งที่นักลงทุนไทยกลัวการไปลงทุนต่างประเทศคือ อัตราแลกเปลี่ยน โดยเฉพาะปีนี้ค่าเงินบาทแข็งค่า 8% แข็งกว่าประเทศเพื่อนบ้าน อย่างไรก็ดี ดัชนีตลาดหุ้นต่างประเทศปรับตัวดีกว่าไทย อาทิ ตลาดหุ้นสหรัฐปรับตัวดีขึ้น 20% ตลาดหุ้นฮ่องกงดีขึ้น 30% ส่วนตลาดหุ้นไทยปรับตัวขึ้นไม่ถึง 10% ดังนั้น เมื่อหักกลบค่าบาทที่แข็งค่ากว่า เทียบกับผลตอบแทนที่น้อยกว่า นับว่ามีโอกาสสร้างผลกำไรให้มากขึ้น” นายภูดินันท์ กล่าว
ในการสร้างความคุ้นเคยกับการลงทุนต่างประเทศ คือ การเปิดบัญชีเงินฝากเงินตราต่างประเทศ เพื่อการลงทุน และกระจายความเสี่ยง ซึ่งธปท.ได้ขยายวงเงินในการถือครองอัตราแลกเปลี่ยนจาก 5 แสนเหรียญสหรัฐ เป็น 5 ล้านเหรียญสหรัฐต่อคน
ในการสร้างความคุ้นเคยกับการลงทุนต่างประเทศ คือ การเปิดบัญชีเงินฝากเงินตราต่างประเทศ เพื่อการลงทุน และกระจายความเสี่ยง ซึ่งธปท.ได้ขยายวงเงินในการถือครองอัตราแลกเปลี่ยนจาก 5 แสนเหรียญสหรัฐ เป็น 5 ล้านเหรียญสหรัฐต่อคน
นอกจากนี้ นักลงทุนอาจสร้างความคุ้นเคยโดยเริ่มลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านอย่างอาเซียน ซึ่งน่าสนใจเช่นกัน ยกตัวอย่าง ตลาดตราสารหนี้ในอินโดนีเซียให้ผลตอบแทน 6% มาเลเซีย 3-4% เทียบกับไทยที่ 2% นับเป็นอีกทางเลือกที่นักลงทุนสามารถศึกษาเพื่อลงทุนได้ โดยเฉพาะในภาวะที่เงินบาทแข็งค่ามากกว่าประเทศเพื่อนบ้าน จะได้รับผลตอบแทนที่สูงขึ้น