ADS


Breaking News

ก.เกษตรฯ...ชงปั้น “ปลากัด” เป็นสัตว์น้ำประจําชาติ พร้อมเสริมศักยภาพเกษตรกรไทยสู่ผู้ประกอบการ 4.0

     ก. เกษตรฯ เตรียมปั้น “ปลากัด” เป็นสัตว์น้ำประจําชาติ พร้อมขับเคลื่อนการสร้างสรรค์ธุรกิจปลากัด ด้วยนวัตกรรมผ่านการพัฒนาผู้ประกอบการใหม่ สานพลังประชารัฐ จับมือภาครัฐ เอกชน เกษตรกร ตั้งเป้าเพิ่มมูลค่าสินค้าและผลิตภัณฑ์ส่งออกปีละกว่า 3,000 ล้านบาท 
     นายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง  กล่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ให้ความสําคัญ ในการยกระดับและส่งเสริมการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันสินค้าภาคการเกษตรของไทย ภายใต้แนวคิดไทยแลนด์ 4.0 โดยสนับสนุนให้เกษตรกรได้พัฒนาศักยภาพในการผลิตสินค้าเกษตร ที่มีคุณภาพ ตอบโจทย์ความต้องการของตลาด พร้อมนำนวัตกรรมเข้ามาร่วมขับเคลื่อนเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม  ซึ่งปัจจุบันสินค้าปลาสวยงามของไทยเป็นหนึ่งในสินค้าเกษตรที่ยังมีแนวโน้มการขยายตัวในตลาดส่งออก อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะ “ปลากัด” ซึ่งไทยมีปัจจัยพื้นฐานทั้งในด้านของศักยภาพการเลี้ยง และการพัฒนาสายพันธุ์เป็นอย่างดี จนเป็นที่ยอมรับและมีชื่อเสียงในระดับสากล กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เล็งเห็นศักยภาพดังกล่าว  จึงเตรียมผลักดันให้ปลากัดเป็นสัตว์นํ้าประจำชาติ เนื่องจากเป็นสัตว์นํ้า ที่มีความสําคัญทั้งในเชิงประวตัิศาสตร์ เชิงวัฒนธรรม-สังคม และเชิงพาณิชย์ ซึ่งแสดงถึงอัตลักษณ์ ให้สัตว์น้ำสวยงามไทย ที่มีตำนานเกี่ยวพันกับวิถีชีวิตสังคมและวัฒนธรรมไทยมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา รวมระยะเวลานานร่วม 700 ปี จากเดิมเป็นการเลี้ยงเพื่อเล่นกีฬากัดปลา แต่ปัจจุบันเปลี่ยนไปแต่ยังคงมี การสืบสานการเลี้ยงปลากัดในแทบทุกจ้งหวัด ถึงแม้มีวัตถุประสงค์ต่างไป ทั้งการเลี้ยงเพื่ออนุรักษ์สายพันธุ์ การเลี้ยงเป็นงานอดิเรกและใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ซึ่งเป็นการสานสัมพันธ์ของคนในครอบครัว และชุมชน ขณะเดียวกันยังมีการพัฒนาปรับปรุงสายพันธุ์และขยายสู่เชิงพาณิชย์ สามารถสร้างอาชีพหลัก และสร้างรายได้เสริม ตลอดจนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน ปัจจุบันนำรายได้เข้าประเทศจากการส่งออกปลากัด ปีละไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านบาท
     อธิบดีกรมประมง กล่าวเพิ่มเติมในรายละเอียดว่า “ปลากัด” เป็นสัตว์น้ำสวยงามชนิดหนึ่งที่กรมประมง ได้ต่อยอดพัฒนา ยกระดับการผลิตและการตลาดอย่างต่อเนื่องภายใต้ยุทธศาสตร์ปลาสวยงาม ปี 2556-2560  โดยได้มีการพัฒนาระบบการผลิตสู่มาตรฐาน พัฒนาสายพันธ์ให้มีความหลากหลาย  อาทิเช่น ปลากัดสีเดียว ปลากัดหม้อหางคู่ ปลากัดหางคู่ยาว (หางกรรไกร) ปลากัดฮาฟมูนหางคู่ ปลากัดฮาฟมูนยักษ์ ปลากัดหม้อคราวเทล ปลากัดคราวเทล ปลากัดหม้อฮาฟมูนหูช้าง และปลากัดจีน เป็นต้น สนับสนุนการรวมกลุ่มการผลิต และสร้างเครือข่าย ส่งเสริมการซื้อขายผ่านระบบตลาดออนไลน์ เปิดโอกาสและเพิ่มช่องทางการจำหน่าย สู่ตลาดโลก โดยปัจจุบันมีตลาดที่สําคัญ ได้แก่ จีน สหรัฐอเมริกา และ สิงคโปร์ ซึ่งมูลค่าการส่งออก มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นทุกปี
     นายอดิศร กล่าวเพิ่มเติมว่า การที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ผลักดันการขับเคลื่อนเพื่อที่จะประกาศ ให้ปลากัดเป็นสัตวน้ำประจำชาติ โดยนำเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาเรื่องนี้ในเดือนธันวาคมที่จะถึงนี้ นอกจากจะเกิดการพัฒนาและอนุรักษ์ปลากัดให้อยู่คู่บ้านคู่เรือนคนไทยอย่างยังยืนสืบไปแล้ว คาดว่า จะเกิดการต่อยอดพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดยมีการสร้างนวัตกรรมสินค้าและบริการต่อยอดปลากัด ป้อนเข้าสู่ตลาดเพิ่มมากขึ้น เช่น เคสโทรศัพท์ พวงกุญแจ แก้วกาแฟ ผ้าพันคอ หมอน เสื้อผ้า กระเป๋า แฟชั่น อื่นๆที่เป็นคอลเลคชันปลากัดไทย เฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้านลายปลากัด และแสตมป์ปลากัด เป็นต้น ซึ่งเป็นสินค้าสร้างสรรค์ที่มีศักยภาพสําหรับนักท่องเที่ยว รวมทั้งส่งออกไปต่างประเทศในอนาคต นอกจากนี้ยังมีการเชื่อมโยงกับการท่องเที่ยว เช่นการจัดทัวร์ หรือโฮมสเตย์หมู่บ้านปลากัด เป็นต้น
     นางสาวดุจเดือน  ศศะนาวิน รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวเสริมว่า การจัดงานประชาสัมพันธ์ ขับเคลื่อนปลากัดเป็นสัตว์น้ำประจำชาติ ในงานตลาดเกษตรเกรดพรีเมียม : ตลาดคลองผดุงกรุงเกษม  ในวันที่ 21-25 พ.ย. นี้ เป็นส่วนหนึ่งของการจัดงานตลาดคลองผดุงกรุงเกษมประจำเดือน พฤศจิกายน ซึ่งมีขึ้น ระหว่างวันที่ 6-26 พ.ย. 60 นอกเหนือจากมีสินค้าปลากัดหลากหลายพันธุ์ หลากหลายสี จำหน่ายในราคาย่อมเยา รวมทั้งสินค้าของที่ระลึกเกี่ยวกับปลากัดดังกล่าวแล้ว ยังมีปลาสวยงามอื่นๆ เช่น ปลาไทยหายาก ปลาคาร์ฟ ปลาทอง กุ้งเครฟิชสวยงาม และมีการประกวดปลาสวยงามประเภทต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีการประกวด ปลากัดออนไลน์ขึ้นเป็นครั้งแรกของโลก ในงานนี้ยังมีสินค้าเกษตรและอาหาร ทั้งต้นไม้ ไม้ดอกไม้ประดับ ผัก-ผลไม้ ไข่ เนื้อ ผลิตภัณฑ์ประมง ข้าว ผ้าไหม ผ้าไทย และเครื่องสําอางสมุนไพรต่างๆ รวมทั้งอาหาร สําเร็จรูปจากร้านที่มีชื่อเสียงในด้านความอร่อยอีก รวมทั้งสิ้น 150 ร้าน จึงขอเชิญชวนผู้สนใจแวะมาซื้อปลากัด ปลาสวยงาม และสินค้าเกษตรอื่นๆในงานนี้ได้ ซึ่งจะเป็นการช่วยเกษตรกร และผู้ประกอบการรายย่อย ที่มาจำหน่ายสินค้าในงานนี้โดยตรง