ADS


Breaking News

โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ชูความสำเร็จคลินิกภาวะหัวใจล้มเหลว พร้อมขยายองค์ความรู้สู่โรงพยาบาลทั่วไทย

     กรุงเทพฯ,วันที่ 28 พฤศจิกายน 2560 - โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ประกาศความสำเร็จคลินิกภาวะหัวใจล้มเหลว ชี้ช่วยลดอัตราการนอนรักษาในโรงพยาบาล การเสียชีวิตจากภาวะหัวใจล้มเหลวได้ถึง 70-80% ทั้งยังพบครึ่งหนึ่งของจำนวนผู้ป่วยทั้งหมดมีอายุน้อยกว่า 45 ปี พร้อมเดินหน้าตอบรับนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขในการผลักดันให้จัดตั้งคลินิกผู้ป่วยหัวใจล้มเหลวภายในโรงพยาบาลหลักทั่วประเทศไทย ด้วยโครงการ “Heart Connect” จัดอบรมองค์ความรู้สำหรับการจัดตั้งคลินิกผู้ป่วยหัวใจล้มเหลวสู่โรงพยาบาลทั่วประเทศไทย 
     ศ. นพ. วิชัย เบญจชลมาศ หัวหน้าศูนย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า ภาวะหัวใจล้มเหลว คือ ภาวะที่หัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายได้ตามที่ต้องการ จากผลกระทบของโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน โรคลิ้นหัวใจตีบหรือรั่วโรคความดันโลหิตสูง และ กล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแอ เป็นต้น ซึ่งนับเป็นภัยเงียบที่ใกล้ตัวของคนไทยในช่วงวัยสูงอายุ รวมถึงวัยทำงานที่มักพบกับสภาพแวดล้อมที่ต้องเผชิญกับความเร่งรีบ จนอาจละเลยการออกกำลังกาย พักผ่อนไม่เพียงพอและมีความเครียดสูง ที่ล้วนส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจจนนำไปสู่ความเสี่ยงต่อภาวะหัวใจล้มเหลวได้ทั้งสิ้น โดยคาดว่าจำนวน 1 ใน 5 ของประชากรไทยจะมีผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลวแฝงอยู่ ซึ่งผู้ป่วยจำนวนกว่า 50% มักจะเสียชีวิตภายใน 5 ปี ภายหลังจากตรวจพบอาการภาวะหัวใจล้มเหลว  นอกจากนี้ผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลวจำนวน 1 ใน 4 ต้องกลับมานอนโรงพยาบาลด้วยภาวะน้ำท่วมปอดภายใน 30 วันแรกหลังออกจากโรงพยาบาล และประมาณ 50% ต้องกลับมานอนโรงพยาบาลซ้ำภายใน 6 เดือน
     ผศ.พญ.ศริญญา ภูวนันท์ หัวหน้าคลินิกผู้ป่วยหัวใจล้มเหลว และ หัวหน้าอนุสาขาวิชาภาวะหัวใจล้มเหลวและอายุรศาสตร์การปลูกถ่ายหัวใจ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า ศูนย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ตระหนักถึงความสำคัญของภาวะหัวใจล้มเหลวในสังคม จึงได้จัดตั้งคลินิกภาวะหัวใจล้มเหลว (Heart Failure Clinic) ขึ้นในปี 2555 โดยมีพันธกิจในการรักษาผู้ป่วยอย่างละเอียดและใกล้ชิด เพื่อลดอัตราการนอนรักษาในโรงพยาบาล การเสียชีวิต พร้อมสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับภาวะล้มเหลวให้แก่ผู้ป่วยด้วย 5-6 ขั้นตอนการตรวจเช็คผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลวของคลินิกฯ ดังนี้
1.      การเดินบนพื้นราบ 6 นาที (6-minute walk test) เพื่อประเมินความสามารถและสมรรถนะการออกกำลังของผู้ป่วย
2.      การตรวจเช็คการรับประทานยาของผู้ป่วย เพื่อตรวจเช็คการรับประทานยาที่ถูกต้องอย่างสม่ำเสมอ
3.      การตรวจเช็คสมุดจดน้ำหนัก เพื่อตรวจสอบว่าผู้ป่วยมีน้ำหนักขึ้นเร็วหรือไม่ อาทิ การมีน้ำหนักขึ้นมากกว่า 2 กิโลกรัม ภายใน 2 วัน เนื่องจากน้ำหนักเป็นข้อมูลสำคัญในการบ่งบอกถึงภาวะน้ำคั่ง ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนว่าหัวใจไม่สามารถบีบตัวหรือปั๊มเลือดได้เพียงพอ ดังนั้นผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลวจำเป็นต้องชั่งน้ำหนักทุกวัน
4.      การพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อประเมินการตรวจร่างกาย การวินิจฉัยและให้การรักษา
5.      การรับคำแนะนำเพื่อการดูแลตนเอง โดย
§  พยาบาลเฉพาะทาง  เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับภาวะหัวใจล้มเหลวและโรคต้นเหตุ พร้อมสอนวิธีการปฏิบัติตัว ได้แก่ การชั่งน้ำหนักทุกวันเพื่อดูภาวะน้ำคั่ง การตรวจเช็คตัวเองเพื่อทราบว่าเมื่อใดควรต้องมาพบแพทย์ทันที  การรับประทานอาหาร การออกกำลังกาย การตรวจเพิ่มเติมพิเศษ การมาตามนัด และ ติดตามอาการของผู้ป่วยที่บ้านอย่างใกล้ชิดรวมถึงเป็นผู้ประสานระหว่างแพทย์และผู้ป่วย
§  นักโภชนาการ เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับการบริโภคโซเดียมในอาหารและประกอบอาหาร รวมถึงสอนการอ่านฉลากเพื่อควบคุมปริมาณโซเดียมในร่างกาย
§  เภสัชกร เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับยา ความสำคัญของยา และ ตรวจสอบการรับประทานยาที่ถูกต้องและสม่ำเสมอ
6.      การตรวจเช็คครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจในบางราย  สำหรับผู้ที่มีการฝังเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ
     นพ. สราวุฒิ ศิวโมกษธรรม แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านภาวะหัวใจล้มเหลวและอายุรศาสตร์การปลูกถ่ายหัวใจ และรองหัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า ภายหลังการดำเนินงานมาตลอดระยะเวลากว่า 5 ปี คลินิกฯ ภาวะหัวใจล้มเหลว โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ฯ พบว่าสถิติผู้ป่วยที่ได้เข้ารับการรักษาจำนวนกว่า 70% - 80 % เป็นเพศชาย และหากแบ่งกลุ่มผู้ป่วยตามช่วงอายุโดยไม่แบ่งเพศก็จะเห็นได้ว่ามีผู้ป่วยในช่วงอายุระหว่าง 45-55 ปีมากที่สุด ซึ่งจำนวนครึ่งหนึ่งของจำนวนผู้ป่วยทั้งหมดมีอายุน้อยกว่า 45 ปี  ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่ในผู้ป่วยอายุน้อยมาจากผลกระทบของโรคกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรง ขณะที่สาเหตุภาวะหัวใจล้มเหลวในผู้ป่วยสูงอายุมาจากโรคหลอดเลือดหัวใจ ทั้งนี้จากการรักษาหรือดูแลผู้ป่วยอย่างครอบคลุมและใกล้ชิดของคลินิกฯ นั้นสามารถช่วยลดอัตราการนอนรักษาในโรงพยาบาล การเสียชีวิตจากภาวะหัวใจล้มเหลวของผู้ป่วยได้มากถึง 80%
     นพ. เอกราช อริยะชัยพาณิชย์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านภาวะหัวใจล้มเหลวและอายุรศาสตร์การปลูกถ่ายหัวใจ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้ริเริ่มนโยบายผลักดันให้จัดตั้งคลินิกผู้ป่วยหัวใจล้มเหลวภายในโรงพยาบาลหลักทั่วประเทศไทยในปี 2559 โดยมุ่งลดอัตราเพิ่มการเสียชีวิตและการเจ็บป่วยด้วยภาวะหัวใจล้มเหลว อีกทั้งโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ได้มีองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญในการจัดตั้งคลินิกภาวะหัวใจล้มเหลวได้อย่างเหมาะสม จึงมีความตั้งใจที่จะเป็นอีกหนึ่งกลไกในการผลักดันนโยบายฯ ให้กลายเป็นจริงและก่อประโยชน์สูงสุดต่อผู้ป่วยผ่านการจัดตั้งโครงการ “Heart Connect” ด้วยการเปิดอบรมขยายองค์ความรู้ในการจัดตั้งคลินิกผู้ป่วยหัวใจล้มเหลวสู่โรงพยาบาลทั่วประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันได้ดำเนินการอบรมไปแล้วกว่า 15 โรงพยาบาล อาทิ รพ.มหาราชนครราชสีมา รพ.ชลบุรี รพ. พิจิตร รพ. พระนครศรีอยุธยา และ รพ. พระปกเกล้าจันทบุรี เป็นต้น

     “แต่ละโรงพยาบาลที่เข้าร่วมการอบรมต่างประสบความสำเร็จในการจัดตั้งคลินิก การนำไปพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ๆ และได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้ป่วยเป็นอย่างดี ทั้งยังมีการเชื่อมโยงเครือข่ายรับส่งตัวผู้ป่วยอาการหนักจากโรงพยาบาลเครือข่ายและโรงพยาบาลรอบนอกในการรับการรักษาภาวะหัวใจล้มเหลวขั้นสูง เช่น การผ่าตัดปลูกถ่าย (เปลี่ยน) หัวใจ หรือการฝังเครื่องพยุงหัวใจเทียมชนิดถาวร (Left ventricular assist device) หรือการให้ยากระตุ้นหัวใจที่บ้าน (Home inotrope program)  นอกจากนี้ศูนย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ฯ ยังคงมุ่งมั่นดำเนินการโครงการดีๆ นี้ต่อไปในปี 2561 อีกด้วยนพ. เอกราช กล่าวทิ้งท้าย