สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เผยอนาคตอุตสาหกรรม Smart Electronics ยุค Thailand 4.0
สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ สถาบันเครือข่ายกระทรวงอุตสาหกรรม เผยผลการศึกษายุทธศาสตร์การปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ไทยไปสู่ Smart Electronics ภายใต้โมเดลประเทศไทย 4.0 ชี้ Smart Electronics เป็นฐานรากของทุกอุตสาหกรรมเป้าหมาย ถ้าทำได้จะส่งผลดีมหาศาล นักวิชาการแนะภาครัฐต้องบูรณาการความร่วมมือระหว่างดีไซน์เนอร์ โปรแกรมเมอร์ และนักการตลาด เพิ่มจำนวนและความหลากหลายให้เพียงพอเพื่อเชื่อมโยงกับภาคอุตสาหกรรมต่างๆ เน้นการรับประกันตลาด มีมาตรการทางภาษีที่เหมาะสม ส่งเสริมการนำไปใช้ รวมทั้งทำการวิจัยเพื่อการพัฒนา หนุนสร้างห้องแล็บที่มีมาตรฐาน และตั้ง Center of Excellence เป็นหน่วยงานเจ้าภาพดำเนินการเฉพาะ
ผุดไอเดียสร้าง IoT Platform เป็นชิ้นงานกลางให้ SMEs นำไปต่อยอดพัฒนาหรือดัดแปลงให้เหมาะสมกับการใช้งานของแต่ละผลิตภัณฑ์ ช่วยลดต้นทุนและระยะเวลาการออกแบบและพัฒนาได้มาก เน้นกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน กลุ่มอุตสาหกรรมเกษตร กลุ่มผลิตภัณฑ์เฮลท์แคร์สำหรับผู้ป่วยและผู้สูงอายุ หวังกระตุ้นให้เกิดการตื่นตัว มีการผลิตและจำหน่ายได้อย่างแพร่หลาย
ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์ จากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในงานสัมมนาเรื่อง “Smart Electronics and Thailand 4.0” จัดโดยสถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อนำเสนอยุทธศาสตร์การปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ไทยไปสู่ Smart Electronics ภายใต้โมเดลประเทศไทย 4.0 ว่า Smart Electronics ถือเป็นฐานของทุกอุตสาหกรรม เมื่อพิจารณาจากอุตสาหกรรม 10 S-Curve พบว่าในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ และอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ Smart Electronics จะช่วยลดการขาดดุลการค้า ทั้งในปัจจุบันและอนาคต อันเนื่องจากที่ผ่านมาต้องพึ่งพาการนำเข้าจำนวนมาก โดยภาครัฐต้องสร้างความร่วมมือระหว่างอุตสาหกรรม ขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ และอุตสาหกรรมการแปรูปอาหาร Smart Electronicsจะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้ เช่น Smart Farming หรือ Smart Tag / Nutrition Check โดยภาครัฐควรเน้นการรับประกันตลาด และส่งเสริมการนำไปใช้ รวมทั้งทำการวิจัยเพื่อการพัฒนา สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ และอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ Smart Electronics จะทำให้อุตสาหกรรมเหล่านี้พึ่งพาตัวเองได้ และยกระดับให้ผู้ประกอบการไทยเป็นผู้ผลิตสินค้าหลักที่มีมูลค่าเพิ่มสูง ภาครัฐควรสนับสนุนให้มีการสร้างห้องแล็บที่มีประสิทธิภาพและเป็นที่ยอมรับ และในกลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัลSmart Electronics จะเป็นฮาร์ดแวร์ของดิจิทัลที่ถูกออกแบบเฉพาะ ซึ่งจะทำให้ไทยมีที่ยืนใอุตสาหกรรมนี้ได้อย่างยั่งยืน เช่น Apple, Google โดยภาครัฐควรเน้นการเชื่อมโยง start-up กับผู้ผลิต hardware
โดยรูปแบบการพัฒนา Smart Electronics ต้องประกอบไปด้วย 3 องค์ประกอบที่เกี่ยวข้องดังนี้
1) ต้องบูรณาการความร่วมมือระหว่างดีไซน์เนอร์ โปรแกรมเมอร์ และนักการตลาดเพื่อเชื่อมโยงกับภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ควรให้การสนับสนุน Start-up อย่างจริงจัง เพิ่มจำนวนและความหลากหลายให้เพียงพอ
2)ต้องพัฒนา Data Center พัฒนาระบบการเก็บข้อมูลพฤติกรรมผู้ใช้งานและอุตสาหกรรม สร้างระบบการเก็บข้อมูลที่สามารถนำมาใช้ได้อย่างรวดเร็ว และมีการวิเคราะห์ข้อมูลได้อย่างแม่นยำ
3)ต้องสร้าง Innovative Lab ได้แก่ Design Lab , Standard Lab, Industrial Lab เพื่อกำหนดมาตรฐานการออกแบบอิเล็กทรอนิกส์ให้ครอบคลุม
ผศ.ดร.ธานี กล่าวต่อว่า มาตรการภาครัฐที่จำเป็นเพิ่มเติม อาทิ ต้องมีเจ้าภาพในการดำเนินงาน อาจตั้ง Center of Excellence เป็นหน่วยงานดำเนินการเฉพาะ มีการประกันตลาด เช่น การให้สินเชื่อดอกเบี้ยพิเศษหรือการรับประกันรายได้บางส่วนให้กับผู้ประกอบการในการเปลี่ยนวิถีการผลิต หรือการร่วมลงทุน แทนการให้เงินอุดหนุน มีมาตรการทางภาษี ควรลดภาษีในส่วนของ Innovative and Design Research ทั้งนี้ต้องมีการบูรณาการระหว่างภาคการผลิต โดยสนับสนุนการดำเนินร่วมกันของหน่วยงาน เช่น ไฟฟ้ากับยานยนต์,ไฟฟ้ากับเครื่องมือแพทย์,ไฟฟ้ากับออโตเมชั่น ขณะที่ผู้ประกอบการก็ควรให้ความร่วมมือกับภาครัฐในด้านข้อมูลมาตรฐาน และ platform ทั้งควรมีการแลกเปลี่ยนความชำนาญระหว่างภาคเอกชนกันเองด้วย
“ในการผลักดันให้อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของไทยสู่การเป็น Smart Electronics ได้สำเร็จนั้น จะช่วยให้ภาครัฐลดการขาดดุลการค้าในระยะยาว เกิดการยกระดับให้ไทยมีศักยภาพในการผลิตชิ้นส่วนที่สำคัญของโลก ทั้งเพิ่มมูลค่าให้กับอุตสาหกรรมหลักของประเทศ เช่น อาหาร เกษตร ช่วยให้การผลิตในอุตสาหกรรมอื่นๆ มีความยืดหยุ่นสูงขึ้น นำไปสู่การได้ภาษีคืนจากการพัฒนาอุตสาหกรรม มูลค่าการส่งออกที่สูงขึ้น การนำเข้าลดลง และประหยัดงบประมาณสนับสนุน”
นายสมบูรณ์ หอตระกูล ผู้อำนวยการสถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ สถาบันเครือข่ายกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการ SMEs สามารถคิดริเริ่มสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ สอดรับกับการก้าวเข้าสู่อุตสาหกรรม Smart Electronics สถาบันไฟฟ้าฯ จึงได้เพิ่มบทบาทของ “ห้องปฏิบัติการออกแบบทางอิเล็กทรอนิกส์(EDL)” นอกเหนือไปจากการให้คำปรึกษา การอบรม และการทดสอบต้นแบบผลิตภัณฑ์ โดยสนับสนุนผู้ประกอบการให้สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมในกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับ Internet of Things(IoT), Smart Home Appliance, อุปกรณ์โทรคมนาคม, Embedded Design รวมถึงอุตสาหกรรมเป้าหมายอื่นๆ ที่ต้องอาศัยการออกแบบทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อเป็นการลดต้นทุนและระยะเวลาให้กับผู้ประกอบการ
“ขณะนี้ทางสถาบันไฟฟ้าฯ อยู่ระหว่างการผลักดันให้เกิด IoT Platform ที่เป็นชิ้นงานกลาง ในกลุ่มสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน กลุ่มอุตสาหกรรมเกษตร กลุ่มพลังงาน และกลุ่มเฮลท์แคร์ เป็นต้น
เพื่อให้ผู้ประกอบการที่สนใจสามารถนำ IoT Platform ดังกล่าว ไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับการใช้งานของผลิตภัณฑ์ตนเองได้ โดยไม่ต้องเสียเวลาและค่าใช้จ่ายจำนวนมากมาพัฒนาตั้งแต่ต้นทีละผลิตภัณฑ์อีกต่อไป ล่าสุดได้ร่วมกับบริษัท มิตซูมารุ อีเลคทริค จำกัด ออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบ พัดลมไอเย็นที่สามารถควบคุมด้วย Smart Phone ผ่านบอร์ด EEI IoT Platform Module สามารถเปิดปิด ควบคุมความเร็วตามระดับ ปรับ swing และตั้งเวลาเปิดปิดเครื่องได้ คาดว่าจะเป็น IoT Platform ชิ้นงานแรกที่จะส่งเสริมให้ผู้ประกอบการรายอื่นๆ ได้นำไปต่อยอดกับผลิตภัณฑ์ของตนเองต่อไป”
นอกจากนี้ยังได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบ “Smart Lighting” ร่วมกับ บริษัท แอลแอนด์อี แมนูแฟคเจอริ่งจำกัด เป็นการพัฒนาชุด Smart Bridge(Gateway) เพื่อเชื่อมคำสั่งควบคุมไปยังอุปกรณ์ไฟฟ้าแสงสว่าง พัฒนาและออกแบบหลอด LED และอุปกรณ์ไฟฟ้าแสงสว่าง และพัฒนา application เพื่อให้สามารถใช้ Smart Phone ควบคุมได้ โดยได้มีการผลิตและจำหน่ายในเชิงพาณิชย์แล้ว ซึ่งเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ที่ขอรับการสนับสนุนเงินทุนจาก “กองทุนการส่งเสริมการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์” ที่ได้จัดตั้งขึ้นเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs มาได้ระยะหนึ่ง
นายสมบูรณ์ กล่าวเพิ่มเติมถึงข้อมูลสถานการณ์การผลิตและการส่งออกของอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในช่วงเดือน ม.ค.- ก.ค. 2560 ว่ามีค่าดัชนีผลผลิตเป็น 115.11 ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.86 โดยสินค้าที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น 3 อันดับแรก ได้แก่ เครื่องซักผ้า Other IC และSemiconductor ขณะที่การส่งออกมีมูลค่า 33,665.88 ล้านเหรียญสหรัฐ ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.86 เมื่อเทียบกับช่วงเดือนเดียวกันของปีก่อน แบ่งเป็นสินค้าไฟฟ้า 10,281.59 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ 19,974.35 ล้านเหรียญสหรัฐ และสินค้าไฟฟ้ากำลัง 3,409.93 ล้านเหรียญสหรัฐ มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.79 ร้อยละ 8.53 และร้อยละ 21.70 ตามลำดับ เนื่องจากตลาดส่งออกหลักมีการปรับตัวเพิ่มขึ้น อาทิ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น จีน สหภาพยุโรป และอาเซียน
โดยสัดส่วนมูลค่าตลาดของสินค้าไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ แบ่งเป็นมูลค่าการจำหน่ายในประเทศร้อยละ 28.41 มูลค่าส่งออกร้อยละ 71.59 แนวโน้มการผลิตสินค้าไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในปี 2560 นี้ คาดว่าในภาพรวมจะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 6 เฉพาะเครื่องใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 2 และอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้นร้อยละ 9 ประมาณการมูลค่าการส่งออกสินค้าไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ปี 2560 ในภาพรวมจะมีมูลค่าราว 57,455 ล้านเหรียญสหรัฐ มีอัตราเติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 4 เมื่อเทียบจากปี 2559 ที่มีมูลค่าส่งออก 55,086 ล้านเหรียญสหรัฐ