วิทยาลัยการจัดการ มหิดลฯ จับมือ มูลนิธิมั่นพัฒนา เปิดตัวสื่อออนไลน์ “ธุรกิจเศรษฐกิจพอเพียง” ตั้งเป้าดันผู้ประกอบการดำเนินธุรกิจตามคำสอน รัชกาลที่ 9
- สุดเจ๋ง! วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเว็บไซต์ชวนองค์กรธุรกิจประเมินความเป็นเศรษฐกิจพอเพียง พร้อมชี้แนวทางพัฒนา 7 สายงานสู่การเป็นองค์กรที่ยั่งยืน
กรุงเทพฯ 5 กันยายน 2560 – วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ มูลนิธิมั่นพัฒนา เปิดตัวเว็บไซต์ www.seb.cm.mahidol.ac.th สื่อการเรียนรู้ด้วยตนเอง ที่รวมรวบองค์ความรู้ด้านปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง จากงานวิจัยองค์กรต้นแบบเกี่ยวกับประสบการณ์ในการดำเนินธุรกิจ ตามแนวทางของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดลุยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 เผยแพร่ให้ผู้ประกอบการธุรกิจรุ่นใหม่ ได้เรียนรู้หลักคิดและวิธีการบริหารงานให้ประสบความสำเร็จ พร้อมฟังกชั่นประเมินองค์กร แบ่งออกตาม 7 สายงานสำคัญ ที่จำเป็นต้องมีเพื่อพัฒนาสู่ความยั่งยืน ได้แก่ 1. การจัดการวัฒนธรรมองค์กร 2. การจัดการทรัพยากรมนุษย์ 3. การจัดการการตลาด 4. การจัดการการผลิตและบริการ 5. การจัดการนวัตกรรมและเทคโนโลยี 6. การจัดการการเงินการลงทุน และ 7. การจัดการความเสี่ยง ผู้สนใจสามารถลงทะเบียนเพื่อเข้าทำแบบทดสอบออนไลน์ โดยคลิกที่ไอคอนทดลองประเมินองค์กรตนเองได้ทุกที่ทุกเวลา
ดร.จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา ประธานกรรมการมูลนิธิมั่นพัฒนา เปิดเผยว่า มูลนิธิมั่นพัฒนา และวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ร่วมกันพัฒนา เว็บไซต์ www.seb.cm.mahidol.ac.th ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่รวมรวมข้อมูลออนไลน์ เกี่ยวกับ “องค์ความรู้ในการบริหารองค์กรธุรกิจตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ที่ทันสมัยและเข้าถึงได้ง่าย ตามแนวทางของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดลุยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ซึ่งจะเน้นการสร้างองค์กรธุรกิจที่มีความรับผิดชอบในการรักษาและพัฒนาสังคมอย่างต่อเนื่อง ไม่เน้นการทำกำไรสูงสุดในระยะสั้นแต่เพียงอย่างเดียว ซึ่งในที่สุดแล้วองค์กรธุรกิจตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง จะสามารถอยู่ร่วมกับส่วนอื่นๆ ของสังคมได้อย่างมีความสมดุลและยั่งยืน โดยเว็บไซต์นี้เกิดขึ้นจากองค์ความรู้จากงานวิจัยที่สะสมมากว่าหนึ่งทศวรรษของ วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล เกี่ยวกับประสบการณ์ในการดำเนินธุรกิจตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง จากผู้บริหารองค์กรธุรกิจที่ประสบความสำเร็จมาพัฒนาเป็นเว็บไซต์ เพื่อให้ผู้สนใจได้เรียนรู้และประเมินการบริหารงานองค์กรของตนเอง ว่ามีความแตกต่างหรือคล้ายคลึงกับแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงหรือไม่ สำหรับนำไปปรับใช้กับองค์กรของตนเองให้ประสบความสำเร็จในอนาคตได้อย่างยั่งยืน
ด้าน รศ.สุขสรรค์ กันตะบุตร วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล และกรรมการมูลนิธิมั่นพัฒนา กล่าวว่า เว็บไซต์ดังกล่าวประกอบด้วยข้อมูล รายละเอียดแนวทางการบริหารธุรกิจตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง แบ่งออกเป็น 7 สายงาน ได้แก่ 1. การจัดการวัฒนธรรมองค์กร ต้องมีค่านิยมร่วมความดีซึ่งก็คือความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และนวัตกรรม 2. การจัดการทรัพยากรมนุษย์ มีการกำหนดสมรรถนะหลักตามค่านิยมร่วมแห่งปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เป็นส่วนหนึ่งในการคัดเลือกพนักงานใหม่ การพัฒนา การประเมินผล การทำงาน และการเลื่อนตำแหน่ง ฯลฯ 3. การจัดการการตลาด มีนโยบายและกลยุทธ์ในการพัฒนาสินค้าใหม่ที่ชัดเจน โดยนำความต้องการของลูกค้า คู่ค้า และบริบทของสังคม มาใช้พัฒนาสินค้าและบริการอย่างต่อเนื่อง ควบคู่กับมีระบบประเมินความพึงพอใจและการรับข้อร้องเรียนของลูกค้า มีการนำวัตถุดิบท้องถิ่นมาใช้พัฒนาสินค้า ที่สำคัญต้องตั้งราคาอย่างยุติธรรมตามกลไกการตลาด และรักษาความเป็นผู้นำทางการตลาดด้วยภาพลักษณ์และลักษณะของสินค้าที่เป็นประโยชน์และปลอดภัย 4. การจัดการการผลิตและบริการ คำนึงถึงผู้อื่นรวมถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด เช่น ลูกค้า พนักงาน ผู้จัดหาวัตถุดิบ สิ่งแวดล้อม สังคม ชุมชน เพื่อให้มีการจัดการห่วงโซ่อุปทานที่ดี พร้อมให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมและสังคมรอบๆ โรงงาน หรือแหล่งผลิตสินค้าโดยการลดของเสีย มลพิษ การสร้างเครือข่าย 5. การจัดการนวัตกรรมและเทคโนโลยี กำหนดแนวทางในการบริหารจัดการให้เกิดนวัตกรรมและเทคโนโลยี โดยมีแหล่งข้อมูลและคนรับผิดชอบอย่างชัดเจน 6. การจัดการการเงินการลงทุน ไม่ใช้กลยุทธตัดราคาเพื่อโจมตีตลาดของคู่แข่ง แต่ใช้ยุทธศาสตร์การลงทุนที่เข้าใจในแนวโน้มระยะยาว และต้องมีนโยบายปันผลกำไรเพื่อนำไปใช้ในโครงการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม และ 7. การจัดการความเสี่ยง มีวางแผนกำลังคน ประเมินศักยภาพ และพัฒนาพนักงาน รวมทั้งส่งเสริมความรู้อย่างต่อเนื่อง รวมถึงการป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราดอกเบี้ยและอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา ที่ และมีคณะทำงานประเมินความเสี่ยงในองค์กรอยู่ตลอดเวลา
“นอกจากข้อมูลรายละเอียดแนวทางการบริหารธุรกิจตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงแล้ว เว็บไซต์ www.seb.cm.mahidol.ac.th ยังมีฟังก์ชั่นการประเมินองค์กรด้วยตนเอง สำหรับนำไปเป็นแบบอย่างพัฒนาแนวทางปฏิบัติในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน จำแนกตามสายงานธุรกิจหลัก 7 สายงานข้างต้น โดยใช้ข้อมูลที่ได้จากการเปรียบเทียบความเหมือนและความแตกต่าง แนวทางการดำเนินธุรกิจของแต่ละสายงานจากองค์กรตัวอย่าง และนำมาพัฒนาเป็นแบบประเมินตนเองขององค์กรธุรกิจ โดยแบบทดสอบในการประเมินตนเองนี้ถูกออกแบบในลักษณะเกณฑ์การประเมิน (Rubric) เพื่อให้เข้าใจง่าย และสะดวกในการรวมคะแนนเพื่อนำไปประมวลผล ผู้ที่สนใจสามารถลงทะเบียนเพื่อเข้าทำแบบทดสอบออนไลน์ โดยคลิกที่ไอคอนทดลองประเมินองค์กรตนเองได้ทุกที่ทุกเวลา” รศ.สุขสรรค์ กล่าว
ทั้งนี้ ในการดำเนินโครงการและกิจกรรมต่างๆ เพื่อทำให้องค์ความรู้อันเกี่ยวเนื่องกับ “ศาสตร์ของพระราชา” โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่อง “หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ซึ่งถือเป็นต้นแบบที่สามารถนำไปปฏิบัติสู่การพัฒนาได้อย่างยั่งยืน อันเป็นหนึ่งในแนวทางที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 พระราชทานแก่รัฐบาล ในการช่วยสร้างความเข้าใจและขยายงานพัฒนาที่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดลุยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ทรงทำไว้อย่างมากมาย เพื่อยึดถือเป็นแนวปฏิบัติในการพัฒนาประเทศชาติบ้านเมือง ให้เจริญก้าวหน้าทัดเทียมนานาประเทศสืบไป การที่คณาจารย์ นักศึกษา และบุคลากร วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ร่วมกันทำวิจัยและประยุกต์องค์ความรู้เกี่ยวกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง สำหรับนำไปเผยแพร่ในหมู่นักธุรกิจให้นำไปปรับใช้ในองค์กรของตน ในทางปฏิบัติจะก่อให้เกิดความยั่งยืนต่อประเทศชาติในหลากหลายมิติ โดยเฉพาะในด้านสังคมและเศรษฐกิจ
สำหรับผู้ประกอบการและประชาชนทั่วไปที่สนใจ เรียนรู้การบริหารงานองค์กรตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงด้วยตนเอง สามารถคลิกเข้าไปศึกษารายละเอียดได้ที่ www.seb.cm.mahidol.ac.th หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ มูลนิธิมั่นพัฒนา โทร. 02-787-7959 คลิก www.tsdf.or.th หรือที่ วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 02-206-2000 คลิก www.cmmu.mahidol.ac.th