ADS


Breaking News

GIT เปิดตัวบริการตรวจสอบ และออกใบรับรองการตรวจสอบเครื่องประดับ เพิ่มความมั่นใจในการส่งต่อความมั่งคั่ง และมั่นคงจากรุ่นสู่รุ่น

     16 สิงหาคม 2560 :  สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือที่รู้จักในนาม GIT จัดอบรมหลักสูตร "การเลือกซื้ออัญมณีและเครื่องประดับ" พร้อมเปิดตัวบริการตรวจสอบ และออกใบรับรองอัญมณีและเครื่องประดับ (Jewelry Identification Report) เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ที่ต้องการเก็บสะสมเครื่องประดับ ทั้งการลงทุน และ การสร้างความมั่นคงให้แก่ทายาทรุ่นต่อไป โดยมีเหล่าเซเลบริตี้ ร่วมกิจกรรมคับคั่ง อาทิ อินทิรา - ปรียามล ธนวิสุทธิ์, กัญญารัตน์ พลาดิศัย, อุษณีย์ มหากิจศิริ ลีโอณีโอ, ดร.อารียา อัศวานันท์ และอีกมากมาย ณ สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) อาคารไอทีเอฟ-ทาวเวอร์ สีลม
     นางดวงกมล เจียมบุตร  ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ เปิดเผยว่า "อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับของไทยเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญของประเทศเป็นอย่างมาก เพราะนอกจากจะเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศ และสร้างรายได้จากการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ (รวมทองคำ) ปี 2559 มีมูลค่าอยู่ที่ 14,247.6 ล้านเหรียญสหรัฐ ในจำนวนนี้เป็นการส่งออกทองคำอยู่ถึงครึ่งหนึ่ง ขณะที่การส่งออกทับทิมไทยไปยังตลาดโลกในปีที่ผ่านมามีมูลค่า 275.29 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวถึงเกือบ 16.37%  โดยมีสัดส่วนคิดเป็น 25.81% ของมูลค่าการส่งออกพลอยสี และคิดเป็น 1.93% ของมูลค่าการส่งออกอัญมณี และเครื่องประดับไทยโดยรวม ซึ่งเห็นได้ว่า ประเทศไทยยังคงรักษาสถานะผู้นำในตลาดโลกในหมวดสินค้าที่อัญมณีและเครื่องประดับอัญมณีไว้ได้อย่างต่อเนื่อง ด้วยฝีมืออันโดดเด่นของช่างเจียระไนเพชรพลอยของไทย คุณภาพของวัตถุดิบ และดีไซน์ที่ไม่เหมือนใคร และเทคนิคต่างๆ ที่ช่างนำมาใช้ ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่ช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับเครื่องประดับและอัญมณีไทยทั้งสิ้น
         "สำหรับการใช้เครื่องประดับอัญมณี และการซื้อขายอัญมณีและเครื่องประดับของคนไทยนั้น มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ โดยเฉพาะความนิยมใช้อัญมณีเพื่อตกแต่งร่างกาย เพื่อทั้งใช้ในการบ่งบอกฐานะทางสังคม รวมถึงการใช้อัญมณีตามความเชื่อ จะเห็นได้ว่ามีการใช้เครื่องประดับมุก ทับทิม ไพลิน หรืออัญมณีประเภทพลอยนพ-เก้า (พลอยมงคล 9 ชนิด) และโลหะมีค่า เช่น ทองคำ มาโดยตลอด รวมทั้งการเก็บสะสมอัญมณีและเครื่องประดับเป็นมรดกตกทอดกันรุ่นต่อรุ่น แต่อย่างไรก็ตามสำหรับเรื่องการตรวจสอบในอดีตนั้นไม่ได้มีอย่างแพร่หลาย และคนส่วนใหญ่ซื้อโดย "ความเชื่อถือ" และเชื่อตามคำบอกกล่าวของผู้ขาย ซึ่งในสมัยก่อนนั้นการเลือกซื้ออัญมณีและเครื่องประดับเป็นการซื้อโดยความเชื่อมั่น และเชื่อใจระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย โดยส่วนมากจะเชื่อกันว่าเป็นเครื่องประดับแท้ แต่โดยความเป็นจริงแล้ว "อัญมณีสังเคราะห์" หรือ "เครื่องประดับเทียมเลียนแบบ" มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ ซึ่งทำให้ผู้ซื้ออาจจะซื้อ ของปลอม หรือ อัญมณีเลียนแบบ โดยไม่ทราบว่าเครื่องประดับนั้น คือพลอยชนิดใด
        ฉะนั้น อัญมณีและเครื่องประดับที่เก็บรักษาไว้ เพื่อมอบให้กับลูกหลาน หรือเก็บเพื่อเป็นสินทรัพย์นั้น จึงควรที่จะระบุได้ว่าเป็น ชนิดใด เป็นของแท้หรือไม่ ซึ่งผู้เป็นเจ้าของสามารถหยิบออกมายืนยันคุณสมบัติ ระบุว่าเป็นของแท้ ของเทียมได้อย่างชัดเจน
    ด้วยเหตุนี้ สถาบันจึงได้เปิดให้บริการตรวจสอบ และออกใบรับรองการตรวจสอบเครื่องประดับ (Jewelry Identification Report) ขึ้น ซึ่งใบรับรองที่การรับรองผลการตรวจวิเคราะห์อัญมณีและเครื่องประดับชนิดนี้ สามารถระบุคุณสมบัติเฉพาะของอัญมณีและเครื่องประดับได้อย่างชัดเจนทั้งในเรื่องน้ำหนัก ชนิดของอัญมณี การปรับปรุงคุณภาพ และความบริสุทธิ์ของโลหะมีค่า เป็นต้น อันจะสามารถใช้เป็นหลักฐานเพื่อการประเมินราคา การขายต่อ การทำประกัน หรือใช้ในการส่งผ่านมรดกจากรุ่นสู่รุ่นได้อย่างถูกต้องในอนาคต
    อีกทั้งใบรับรองการตรวจสอบจาก GIT เป็นการรับรองผลการตรวจวิเคราะห์อัญมณีจากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางของห้องปฎิบัติการตรวจสอบอัญมณีและเครื่องประดับที่มีเครื่องมือที่ทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่งของโลก และได้รับการรับรองจาก The World Jewellery Confederation หรือ CIBJO ให้เป็น CIBJO Laboratory  อีกทั้งยังได้รับการคัดเลือกให้เป็นสมาชิก 1 ใน 7 ของห้องปฎิบัติการชั้นแนวหน้าของโลกโดยเป็นคณะทำงาน ISO 9001:2015 และ ISO17025:2005 จากสถาบัน UKAS (United Kingdom Accreditation Service)  ที่แสดงให้เห็นถึงการยอมรับในมาตรฐานระดับสากล
       นอกจากนี้ สถาบันฯ ยังได้จัดหลักสูตรฝึกอบรม "การเลือกซื้ออัญมณีและเครื่องประดับ" เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเพื่อให้สามารถซื้ออัญมณีและเครื่องประดับได้อย่างถูกต้อง มั่นใจทั้งผู้ให้และผู้รับ โดยกิจกรรมในวันนี้ มีเหล่าเซเลบริตี้ มาร่วมอบรมมากมาย อาทิ อินทิรา - ปรียามล ธนวิสุทธิ์, กัญญารัตน์ พลาดิศัย, อุษณีย์ มหากิจศิริ  ลีโอณีโอ, ดร.อารียา อัศวานันท์, วิชชุดา ลีนุตพงษ์, กรองกาญจน์ ชมะนันทน์ และอีกมากมาย
    สำหรับผู้สนใบริการตรวจสอบ และออกใบรับรองเครื่องประดสับ (Jewelry Identification Report) สามารถใช้บริการได้ที่ทำการของสถาบัน อาคารไอทีเอฟ ชั้น 4 ถนนสีลม ทั้งนี้สถาบันยังมีการให้บริการตรวจสอบ และออกใบรับรองนอกสถานที่เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้บริการอีกด้วย" นางดวงกลมกล่าวทิ้งท้าย
คิดถึงอัญมณี และเครื่องประดับ.....คิดถึง  GIT