ไลท์นิ่ง แมคควีน ร่วมมือกับครูฝึกสุดแกร่ง ครูซ รามิเรซ ในการแข่งขันเพื่อชิงชัยกับ รถซิ่งขาโจ๋ที่ทั้งใหม่และเร็วกว่า
10 สิงหาคม ในโรงภาพยนตร์ และในระบบดิสนีย์ ดิจิตอล 3 มิติ
ข้อมูลงานสร้าง
ไลท์นิ่ง แมคควีน กลับสู่จอเงินอีกครั้ง แต่ครั้งนี้ เขาไม่ได้เป็นรถแข่งน้องใหม่อีกแล้ว เมื่อถูกกลบรัศมีจากรถซิ่งสายฟ้าแลบรุ่นใหม่ แชมเปี้ยนคนดังจากถ้วยพิสตัน คัพรายนี้พบว่าตัวเองถูกผลักดันให้พ้นจากกีฬาที่เขารักอย่างกระทันหัน “รถซิ่งรุ่นใหม่เจ๋งมากครับ” ผู้กำกับไบรอัน ฟีกล่าว “คุณจะเห็นได้ทันทีว่ารถอย่างแจ็คสัน สตอร์มมีความเร็วตามธรรมชาติ เราออกแบบรถที่เร็วกว่า และรุ่นใหม่กว่าพวกนี้ให้มีความเพรียวและลดแรงต้านของอากาศ และพวกมันก็ตรงข้ามอย่างสิ้นเชิงกับไลท์นิ่ง แมคควีนครับ”
ผู้อำนวยการสร้างเควิน รีเฮอร์กล่าวว่า เรื่องราวนี้สะท้อนถึงแชมเปี้ยนในชีวิตจริง “ไลท์นิ่ง แมคควีนลงแข่งมาแล้วกว่าหนึ่งทศวรรษ” รีเฮอร์กล่าว “เขากำลังทุกข์ใจกับปัญหาต่างๆ ที่นักกีฬาจำนวนมากเผชิญในช่วงบั้นปลายชีวิตนักกีฬาของพวกเขา คุณจะโบกมือลาวงการตอนที่อยู่บนจุดสูงสุดหรือคุณจะสู้จนถึงตอนสุดท้ายกันล่ะ”
แม้ว่าไลท์นิ่งจะยังคงเป็นรถแข่งที่รักความสนุก มุ่งมั่นและมั่นใจในตัวเองที่ผู้ชมตกหลุมรักเช่นเคย แต่ความมั่นใจของเขาก็ถูกทดสอบด้วยรถใหม่ๆ ในสนาม “ในตอนแรกที่เราได้พบกับไลท์นิ่ง แมคควีน เขาเป็นน้องใหม่ไฟแรง เป็นซูเปอร์ฮีโร” ฟีกล่าว “เขายังมีอนาคตอีกยาวไกล และแม้ว่าชีวิตเขาจะไปได้สวยนับตั้งแต่ที่เราได้เห็นเขาครั้งล่าสุด เขาก็ไม่ใช่รถแข่งฮ็อตช็อตหนุ่มอีกแล้ว เราได้แต่คิดวนเวียนอยู่กับไอเดียของสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อนักกีฬาอย่างไลท์นิ่งมาถึงบั้นปลายของอาชีพเขา”
และแล้วครูซ รามิเรซก็ก้าวเข้ามา ครูซ ผู้ได้รับมอบหมายให้นำไลท์นิ่ง แมคควีนกลับเข้าลู่เข้าทางอีกครั้งหลังจากความล้มเหลวครั้งใหญ่ ไม่ใช่พวกขี้อายเลย สไตล์การฝึกของเธอทั้งไฮเทค กระตือรือร้นและแน่วแน่ เธอไม่กลัวที่จะใช้ไม้แข็งบ้าง แต่ครูซมีอะไรบางอย่างที่มากกว่าตาเห็น “ฉันรักเรื่องราวของครูซค่ะ” ผู้ร่วมอำนวยการสร้างแอนเดรีย วอร์เรนกล่าว “เธอเป็นตัวละครที่น่าชื่นชมและน่ารักมากๆ เธอคลั่งไคล้การแข่งรถและบทบาทของเธอในการสร้างแชมเปี้ยนมากๆ หนังเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องเกี่ยวกับไลท์นิ่ง แมคควีนเท่านั้น แต่ยังเป็นเรื่องราวของครูซด้วย ในหลายๆ แง่มุมด้วยกันค่ะ”
“Cars 3” พากย์เสียงโดยโอเว่น วิลสัน (“The Royal Tenenbaums,” ภาพยนตร์ที่กำลังจะเข้าฉายเรื่อง “Wonder”) ในบทไลท์นิ่ง แมคควีน คริสเตล่า อลองโซ่ (“The Angry Birds Movie”) ครูฝึกเทคโนโลยีจ๋า ครูซ รามิเรซ ผู้พยายามช่วยเหลือรถแข่งหมายเลข 95 ให้กลับคืนสู่ความยิ่งใหญ่อีกครั้งและอาร์มี่ แฮมเมอร์ (“The Birth of a Nation”) พากย์เสียงนักแข่งรุ่นใหม่ แจ็คสัน สตอร์ม ผู้ซึ่งความเร็วดุจสายฟ้าแลบของเขาทิ้งไลท์นิ่ง แมคควีนให้กินฝุ่น เคอร์รี วอชิงตัน (ซีรีส์เอบีซีเรื่อง “Scandal,” ซีรีส์เอชบีโอเรื่อง “Confirmation”) ได้รับเลือกให้พากย์เสียงนักวิเคราะห์สถิติ นาตาลี เซอร์เทน, นาธาน ฟิลเลียน (ซีรีส์เอบีซีเรื่อง “Castle,” ซีรีส์เอบีซีเรื่อง “Modern Family”) พากย์เสียงนักธุรกิจคนเก่ง สเตอร์ลิง, ลีอา เดอลาเรีย (ซีรีส์เน็ตฟลิกซ์เรื่อง “Orange is the New Black”) พากย์เสียงรถโรงเรียนผู้น่าเกรงขาม มิสฟริตเตอร์ และนักแข่งรถฟอร์มูลา วัน ลูอิส แฮมิลตัน ช่วยเนรมิตชีวิตให้กับเครื่องมือผู้ช่วยที่บังคับการด้วยเสียง แฮมิลตัน
“Cars 3” แสดงความเคารพต่อนาสคาร์ด้วยตัวละครสี่ตัวที่สร้างขึ้นจากตำนานนักแข่งรถตัวจริง คริส คูเปอร์ (“Adaptation,” “American Beauty”) พากย์เสียง สโมคกี้ หัวหน้าลูกทีมของด็อค ฮัดสัน, เจ้าของทีมและตำนานนักแข่งรถนาสคาร์ จูเนียร์ จอห์นสัน พากย์เสียง จูเนียร์ “มิดไนท์” มูน, นักแสดงสามรางวัลเอ็มมี มาร์โก้ มาร์ทินเดล (ซีรีส์เอฟเอ็กซ์เรื่อง “The Americans,” ซีรีส์เอฟเอ็กซ์เรื่อง “Justified,” ซีรีส์อเมซอนเรื่อง “Sneaky Pete”) พากย์เสียงหลุยส์ “บาร์นสตอร์มเมอร์” แนชและอิไซอาห์ วิทล็อค จูเนียร์ (ซีรีส์เอชบีโอเรื่อง “The Wire,” “Cedar Rapids,” ซีรีส์เอชบีโอเรื่อง “Veep”) พากย์เสียงริเวอร์ สก็อต นอกจากนี้ ภาพยนตร์เรื่องนี้ยังได้นำเสนอนักแข่งนาสคาร์และเจ้าของเสียงเบื้องหลังกีฬาชนิดนี้ รวมถึงตัวละครหน้าเดิมๆ จากเรดิเอเตอร์ สปริงส์และโลกรถแข่งของ “Cars” อีกครั้งหนึ่ง
“Cars 3” ที่กำกับโดยฟี (นักวาดรูปสตอรีบอร์ดจาก “Cars,” “Cars 2“) อำนวยการสร้างโดยรีเฮอร์ (“A Bug’s Life,” ภาพยนตร์ขนาดสั้นเรื่อง “La Luna”) และร่วมอำนวยการสร้างโดยวอร์เรน (ภาพยนตร์ขนาดสั้นเรื่อง “LAVA”) ควบคุมงานสร้างโดยจอห์น ลาสเซ็ทเตอร์ ผู้กำกับสองภาคแรกของแฟรนไชส์นี้ ด้วยเรื่องราวโดยฟี, เบน ควีน (ซีรีส์ “Powerless”), อียัล โพเดล (นักแสดงจาก “Code Black”) และโจนาธาน อี. สจวร์ต (ภาพยนตร์ขนาดสั้นเรื่อง “Doing Time”) บทภาพยนตร์เรื่องนี้เขียนโดยคีล เมอร์เรย์ (“Cars”), บ็อบ ปีเตอร์สัน (“Up,” “Finding Nemo”) และไมค์ ริช (“Secretariat,” “The Rookie”) ดนตรีประกอบโดยนักประพันธ์เจ้าของรางวัลออสการ์ แรนดี้ นิวแมน (“Toy Story 3,” “Cars”) ทำนองประพันธ์โดยแบรด เพสลีย์และเพลงประกอบดั้งเดิมโดยซีซี วอร์ดและศิลปินรางวัลแกรมมี แดน โอเออร์บัค “Cars 3” จากดิสนีย์และพิกซาร์พร้อมแล่นเข้าสู่โรงภาพยนตร์ในวันที่ 16 มิถุนายน ปี 2017
การเข้าถึงหัวใจของเรื่องราว
ทีมผู้สร้างเดินทางสู่ดินแดนตะวันออกเฉียงใต้และปรึกษามือโปรเพื่อสร้างเรื่องราวจากความเป็นจริง
ไลท์นิ่ง แมคควีนได้ซิ่งเข้าสู่หัวใจของผู้ชมเมื่อกว่าสิบปีที่ผ่านมาและยังคงเป็นตัวละครดังในปัจจุบัน และช่วงเวลาสิบปีนั้นเองที่เป็นแรงบันดาลใจให้ทีมผู้สร้างสำรวจสิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นสำหรับหมายเลข 95
ทีมผู้สร้างได้ปรึกษาผู้คร่ำหวอดในวงการนาสคาร์ รวมถึงเจฟฟ์ กอร์ดอน แชมเปี้ยนนาสคาร์สี่สมัยและเรย์ อีเวิร์นแฮม ผู้ทำหน้าที่หัวหน้าลูกทีมของกอร์ดอนในช่วงสามในสี่สมัยที่เขาได้ครองแชมป์ ซึ่งกอร์ดอนก็เป็นแหล่งข้อมูลสำคัญ “เขาคุยถึงเรื่องการที่นักแข่งหนุ่มๆ เต็มไปด้วยพลังงาน” ผู้ร่วมอำนวยการสร้างแอนเดรีย วอร์เรนกล่าว “พวกเขาชื่นชอบการซิ่งแบบมิดไมล์ ในขณะที่นักแข่งที่มีประสบการณ์มากกว่ารู้ดีว่าเขาไม่จำเป็นต้องทำแบบนั้น พวกเขาได้ทำความรู้จักกับการแข่งดีพอที่พวกเขาจะสามารถแข่งขันได้ในรูปแบบที่แตกต่างออกไป”
“เราได้ทำการค้นคว้าข้อมูลมากมายครับ” ผู้กำกับไบรอัน ฟีกล่าว “เราดูนักกีฬาประเภทอื่นๆ แต่เราโฟกัสไปที่นักแข่งนาสคาร์ พวกเขาเริ่มต้นตั้งแต่อายุน้อยๆ และชีวิตของพวกเขาก็วนเวียนอยู่กับการแข่งรถ เราถึงกับคุยกับนักจิตวิทยากีฬา ผู้อธิบายว่า นักแข่งพวกนี้หลายคนไม่สามารถจินตนาการถึงการทำอย่างอื่นได้เลย”
ไอเดียนี้เป็นที่ชื่นชอบและกลายเป็นแรงจูงใจสำหรับการเดินทางของไลท์นิ่ง แมคควีนในตอนที่เขาเผชิญหน้ากับรถแข่งรุ่นใหม่ที่อายุน้อยกว่า “มันเป็นเหมือนเรื่องราวอมตะในวงการกีฬาครับ” มือเขียนบทไมค์ ริช ผู้อยู่เบื้องหลังภาพยนตร์อย่าง “Secretariat” และ “The Rookie” กล่าว “เราได้เห็นกรณีแบบนี้กับนักกีฬาจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นไมเคิล จอร์แดนหรือเพย์ตัน แมนนิง, เวย์น เกรทซ์กี้หรือมิสตี้ เมย์-เทรย์เนอร์ สิ่งที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของนักกีฬาคือพวกเขาอายุประมาณสามสิบกว่าๆ ตอนที่พวกเขาอำลาวงการ พวกเขายังคงต้องนึกถึงชีวิตที่เหลือของพวกเขา เราถามเจฟฟ์ กอร์ดอนเกี่ยวกับเรื่องนี้และเขาก็ตอบว่า ‘ผมเองก็กลัวว่าผมจะหาอย่างอื่นทำไม่ได้เหมือนกัน’ พวกเขาต่างก็รู้สึกถึงช่องว่างที่กว้างใหญ่นี้ครับ”
ไลท์นิ่ง แมคควีน ที่ถูกคุกคามโดยนักแข่งรุ่นใหม่ ได้ทำพลาดอย่างใหญ่หลวง ส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุครั้งใหญ่และการหันมาพิจารณาตัวเอง “ปฏิกิริยาแรกของไลท์นิ่งคือเขาอยากจะทำอะไรก็ตามที่นักแข่งรุ่นใหม่ทำ” ฟีกล่าว “ถ้าพวกเขาฝึกกับซิมูเลเตอร์ เขาก็จะฝึกกับซิมูเลเตอร์บ้าง ถ้าพวกเขาใช้อุโมงค์ลม เขาก็จะใช้อุโมงค์ลมบ้างน่ะครับ”
เขาเลือกพึ่งพาครูฝึกผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีที่ศูนย์รัสต์ทิส เรซซิง เซ็นเตอร์ เพื่อกลับคืนสู่ความยิ่งใหญ่อีกครั้ง “ครูซ รามิเรซเป็นครูฝึกระดับแนวหน้าของวงการรถแข่ง” มือเขียนบทบ็อบ ปีเตอร์สันเล่า “เธอรับไลท์นิ่งเป็น ‘โปรเจ็กต์ผู้สูงวัย’ ของเธอและเรียกมันตามที่เธอชอบใจ ตอนนี้ เขาอายุมากขึ้นแล้ว ซึ่งมันเป็นสิ่งที่เขาก็ไม่อยากได้ยิน แต่จำเป็นต้องได้ยินครับ”
ครูซเชี่ยวชาญเรื่องเทคโนโลยีและรู้จักวิธีการสร้างผู้คว้าชัยบนสนามแข่งรูปแบบใหม่ๆ แต่ไลท์นิ่งไม่ใช่ส่วนหนึ่งของรถแข่งรุ่นใหม่ และสิ่งต่างๆ ก็ไม่ได้เป็นไปตามแผนที่วางไว้ที่ศูนย์แข่งรถไฮเทคสุดหรู สเตอร์ลิง เจ้าของรัสต์ทิสคนใหม่ ไม่ต้องการจะเห็นนักแข่งดาวเด่นของเขาต้องดิ่งลงเหว “พวกเขาก็เลยทำข้อตกลงกัน” ผู้อำนวยการสร้างเควิน รีเฮอร์กล่าว “สเตอร์ลิงจะให้ไลท์นิ่งลงแข่งในนัดเปิดฤดูกาลที่ฟลอริดา อินเตอร์เนชันแนล ซูเปอร์ สปีดเวย์ ถ้าเขาชนะ ก็เยี่ยมเลย เขาสามารถตัดสินใจได้ว่าเขาจะอำลาวงการเมื่อไหร่ แต่ถ้าเขาแพ้ เขาจะต้องอำลาวงการและกลายเป็นแบรนด์ให้กับรถธุรกิจ และประชาสัมพันธ์สินค้าไลท์นิ่ง แมคควีนให้กับแฟนๆ ของเขาทั่วโลก”
“มันกระตุ้นให้เกิดการเดินทางเปลี่ยนชีวิตของไลท์นิ่งและครูซบนท้องถนนครับ” ฟีกล่าว “ไลท์นิ่งมีภารกิจที่จะต้องคว้าชัยชนะให้ได้ ถ้าเทคโนโลยีไม่ใช่คำตอบ เขาก็มุ่งมั่นที่จะหาคำตอบให้ได้ว่ามันคืออะไรครับ”
ไลท์นิ่งตัดสินใจกลับคืนสู่รากเหง้าของตัวเอง เขาหวนรำลึกถึงถ้อยคำดีๆ ที่ครูที่รักของเขา ฟาบูลัส ฮัดสัน ฮอร์เน็ท ผู้ล่วงลับ ฝากเอาไว้ให้กับเขา ฟีกล่าวว่า “เขากำลังไล่ตามวัยหนุ่มของตัวเอง คิดว่าถ้าเขาสามารถรับมือกับสิ่งที่ด็อคสอนเขาได้ นั่นคือการทำให้ล้อตัวเองเปื้อน เขาจะพบสิ่งที่เขาขาดหายไปครับ”
ท้ายที่สุด เขาก็หันไปหา สโมคกี้ โค้ชของโค้ชเขา ผู้อยู่เคียงข้างด็อคในช่วงเวลารุ่งโรจน์ของเขา เพื่อให้ช่วยแนะนำและสร้างแรงบันดาลใจให้กับเขา ในขณะที่ทีมผู้สร้างก็มองไปที่โค้ชในชีวิตจริงอย่างอีเวิร์นแฮมและชีวิตของคนเหล่านั้น “ถ้าคุณพยายามจะแบ่งปันไอเดียกับผู้ชมในฐานะคนทำหนัง คุณจะต้องรู้สึกถึงมัน” ฟีกล่าว “ดังนั้น การกลายเป็นพ่อคนก็กลายเป็นแรงจูงใจหลักของผมในการตามหาและทำความเข้าใจกับอารมณ์ในหนังครับ”
“เช่นเดียวกับพวกเราส่วนใหญ่ ผมพยายามหาเวลาที่จะสำรวจโปรเจ็กต์ลูกรักของตัวเอง เราต่างก็มีภาระความรับผิดชอบที่ทำงานและที่บ้าน จนทำให้เราไม่มีเวลาว่างเพียงพอ” ฟีกล่าวต่อ “แล้ววันหนึ่ง ผมได้ใช้เวลาสองสามชั่วโมงระบายสีภาพง่ายๆ เพื่อสอนเรื่องศิลปะให้กับลูกสาวของผม มีบางสิ่งเปลี่ยนไปหลังจากนั้น ผมพบประสบการณ์นั้นคุ้มค่ากว่าที่ผมจินตนาการไว้เสียอีก นั่นเป็นสิ่งที่เราพยายามจะสื่อสารในหนังเรื่องนี้ด้วยความสัมพันธ์ระหว่างไลท์นิ่ง แมคควีนและด็อคครับ”
ความต้องการของไลท์นิ่งที่จะเข้าถึงความเฉลียวฉลาดของด็อคผ่านทางสโมคกี้ทำให้เรื่องราวนี้ลึกซึ้งขึ้นด้วยการสำรวจความสัมพันธ์ระหว่างตัวละครหลัก การสอนเป็นธีมสำคัญในภาพยนตร์เรื่องนี้ “กลายเป็นว่าบทเรียนชีวิตที่ด็อคสอนให้กับลูกศิษย์ของเขายังไม่เสร็จสิ้นดี” รีเฮอร์กล่าว “มันยังมีอะไรให้เรียนรู้อีกเยอะครับ”
การแสดงความเคารพต่อด็อคและอิทธิพลที่เขามีต่ออาชีพของไลท์นิ่ง แมคควีนเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่นำผู้ชมกลับมาสู่ความรู้สึกของ “Cars” ภาคแรกอีกครั้งหนึ่ง “ผู้ชมรู้สึกเชื่อมโยงกับ ‘Cars’ ภาคแรกในรูปแบบที่พิเศษสุดมากๆ” เจย์ วอร์ด ผู้กำกับสร้างสรรค์ของแฟรนไชส์ “Cars” กล่าว “พวกเขาได้เห็นหัวใจของเรื่องในเรดิเอเตอร์ สปริงส์ พวกเขารู้สึกได้ถึงอารมณ์ในความสัมพันธ์ระหว่างตัวละคร”
“‘Cars 2’ เป็นหนังสายลับที่ทั้งสนุกและน่าตื่นเต้น” วอร์ดกล่าวต่อ “แต่มันเป็นเหมือนเรื่องราวของเมเตอร์มากกว่า ใน ‘Cars 3’ เราอยากจะกลับไปหาไลท์นิ่ง แมคควีนและความอบอุ่นและความลึกซึ้งในภาคแรกที่เป็นที่ชื่นชอบของคนจำนวนมากน่ะครับ”
สก็อต มอร์ส ซูเปอร์ไวเซอร์ฝ่ายเรื่องราว กล่าวว่าทีมเรื่องราวต้องการจะขับเน้นแก่นทางอารมณ์ของเรื่อง “เราโฟกัสไปที่ความสัมพันธ์ระหว่างตัวละครจริงๆ ครับ” มอร์สกลาว “เราอยากให้มันให้ความรู้สึกเหมือนหนังกีฬาจริงๆ แต่หนังเรื่องนี้อยากจะเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับการสอนอยู่แล้ว เราอยากให้ไลท์นิ่งตระหนักว่าความสัมพันธ์ของพวกเขามีความหมายอย่างไรบ้างกับด็อคครับ”
มอร์ส คุณพ่อลูกสอง กล่าวว่าเขาใช้ประสบการณ์ของตัวเองในฐานะโค้ชกีฬาของลูกชายเขา “ผมได้ฝึกสอนทีมทั้งหมดเจ็ดทีมตลอดเวลาห้าปีที่ผ่านมา” เขากล่าว “การได้เห็นพวกเขาพัฒนาขึ้นและเติบโตขึ้นในฐานะนักกีฬา และผลกระทบที่มันมีต่อผมเป็นการส่วนตัว ได้ปรากฏอยู่ในการประชุมเรื่องราวของเราด้วยครับ”
มอร์สกล่าวว่า และคุณก็ไม่จำเป็นต้องเป็นนักกีฬาสูงวัยถึงจะเข้าใจความทุกข์ใจของไลท์นิ่ง แมคควีนได้ “ผมมาถึงจุดในการทำงานที่พิกซาร์ที่ผมไม่ใช่เด็กใหม่ ไม่ใช่เด็กฝึกงานวัย 20 ปีที่มีของเล่นเป็นไลท์นิ่ง แมคควีนเป็นของเล่นในตอนเด็กอีกแล้ว พวกเขาดีพอๆ กับเราหรือดีกว่าเราและมองหาโอกาสเสมอ แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าเราทุกคนต้องหลีกทางให้พวกเขา เราต่างก็มองหาสิ่งดีๆ เรามองหาวิธีที่จะช่วยเหลือพวกเขา และหวังว่าพวกเขาจะทำให้เราพัฒนาขึ้นครับ”
มือเขียนบทคีล เมอร์เรย์กล่าวเสริมว่า “ฉันคิดว่าสิ่งที่จะโดนใจผู้ชมจริงๆ โดยเฉพาะพวกผู้ใหญ่ คือไอเดียของการค้นพบความหมายในตอนที่เราแก่ตัวลง การหาวิธีที่จะมีคุณค่าในทุกขั้นตอนของชีวิตเราและส่งมอบอะไรให้กับคนรุ่นต่อไปในแบบที่เราไม่เคยคิดถึงมันในตอนที่เราเพิ่งจะเริ่มต้นน่ะค่ะ”
ตัวละคร “Cars 3”
ภาพยนตร์ได้ต้อนรับรถแข่งทั้งหน้าเก่าและหน้าใหม่ รวมถึงขวัญใจแฟนๆ
ระหว่างการเดินทางของเขาใน “Cars 3” ไลท์นิ่ง แมคควีนได้เจอกับตัวละครใหม่ๆ ที่น่าสนใจและทีมผู้สร้างก็เลือกนักแสดงระดับแนวหน้ามาเนรมิตชีวิตให้กับพวกเขา แน่นอนว่าตัวละครใน “Cars 3” ที่มีตั้งแต่ครูฝึกไฟแรง ผู้มุ่งมั่นกับการปลุกชีพให้กับอาชีพรถแข่งของไลท์นิ่ง แมคควีนไปจนถึงกลุ่มนักแข่งในตำนานผู้เคยลงสนามร่วมกับฟาบูลัส ฮัดสัน ฮอร์เนทมาแล้ว จะสร้างความประทับใจบนจอเงินได้
ผู้ออกแบบงานสร้าง เจย์ ชูสเตอร์ เป็นผู้นำในการสร้างลุคของตัวละครเหล่านี้ ชูสเตอร์ ผู้ซึ่งผลงานเรื่องแรกของเขาที่พิกซาร์คือ “Cars” มองว่าตัวเองเป็นคนรักรถ “มันทำให้ผมได้งานที่นี่ครับ” เขากล่าว “พ่อผมทำงานที่จีเอ็มมา 43 ปีในดีทรอยต์ ผมก็เลยมีพอร์ตที่เต็มไปด้วยภาพสเก็ตช์รถยนต์และความเข้าใจวัฒนธรรมรถโดยรวมครับ”
ชูสเตอร์กล่าวว่า ในแง่ของตัวเอง โลกของ “Cars” ถูกนิยามด้วยข้อจำกัดของมันเป็นส่วนใหญ่ “สิ่งที่ใช้กับการออกแบบตัวละครพวกนี้เป็นวิศวกรรมยานยนต์ในแบบที่ต่างออกไปครับ มันเป็นเหมือนการทดลองเล่นแร่แปรธาตุมากกว่า เรามีโครงหลักที่ติดล้อสี่ล้อ มีกระจกหน้า และมีพื้นที่ที่จำกัดมากๆ รอบกระจังรถและไฟหน้าในการใส่ปากเข้าไป นอกเหนือจากนั้น เราก็ได้ใช้ประโยชน์จากพื้นที่ว่าง สีสันและภาพกราฟิกเพื่อสร้างบุคลิกเฉพาะตัวให้กับตัวละครแต่ละตัวครับ”
เจเรมี ลาสกี้ ผู้กำกับภาพฝ่ายกล้อง เผชิญหน้ากับความท้าทายคล้ายๆ กัน “ลักษณะบนใบหน้าของมนุษย์จะปรากฏในระนาบเดียวกันไม่ว่าพวกเขาจะหันหน้าเข้าหากล้องหรือหันไปทางอื่น” เขากล่าว “ปากของรถจะอยู่ด้านหน้าตาของมันออกไปหกฟุต นั่นคือระยะห่างระหว่างกระจกหน้าไปถึงกระจังหน้ารถครับ เราเล่นกับมุมมองต่างๆ เพื่อทำให้แน่ใจว่าตัวละครจะมีโมเดลแบบนี้ในทุกช็อต เราได้เรียนรู้หลายอย่างจากสองภาคแรก แต่เรายังได้ผลักดันมันไปสู่อีกระดับ ด้วยการเพิ่มพลังงานให้กับช็อตของเราและทำให้ทุกอย่างให้ความรู้สึกที่มีชีวิตชีวามากขึ้น โดยไม่ทำให้ไขว้เขวไปจากสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในเรื่องครับ”
นับตั้งแต่ปี 2011 ในตอนที่ “Cars 2” เข้าฉาย พิกซาร์ แอนิเมชั่น สตูดิโอส์ได้พัฒนาระบบเรนเดอร์ของพวกเขา การแนะนำระบบเรนเดอร์ใหม่ภายในแวดวงแอนิเมชั่นเป็นทั้งที่ต้อนรับและที่หวาดกลัว “สิ่งที่ยอดเยี่ยมเกี่ยวกับระบบเรนเดอร์ใหม่ อาร์ไอเอส คือมันมีความแม่นยำทางกายภาพมากกว่า” ไมเคิล ฟง หัวหน้าผู้กำกับฝ่ายเทคนิคกล่าว “ดังนั้น การสร้างภาพที่ดูเหมือนโลกแห่งความเป็นจริงก็เลยเป็นเรื่องง่ายขึ้นเยอะเพราะมันสามารถสร้างโมเดลการสะท้อนของแสงและปฏิสัมพันธ์ที่แสงมีต่อสิ่งต่างๆ ขึ้นมาได้อย่างถูกต้อง แต่มันยังเป็นเทคโนโลยีใหม่อยู่และมันก็ต้องใช้เวลาในการเรียนรู้ลักษณะเฉพาะของมัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับโลกของ ‘Cars’ ที่แสงเงาจะทำให้เรารุ่งหรือร่วงได้น่ะครับ”
อาร์ไอเอสได้เปิดโอกาสให้กับทีมผู้สร้าง “Cars 3” “ถ้าคุณมองรถที่อยู่ท่ามกลางแสงแดด คุณจะเห็นรอยขีดข่วนเล็กๆ และผงโลหะยิบๆ ภายในสีรถ” หลิงจุนยี ซูเปอร์ไวเซอร์ฝ่ายให้เงาตัวละครกล่าว “มันเป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้รถดูเหมือนรถ ปกติแล้ว การทำอะไรแบบนั้นเป็นเรื่องยากมากๆ แต่เราสามารถเพิ่มรายละเอียดพวกนี้เข้าไปในการให้เงาของเราได้”
ซูดีพ แรนกัสวามี ซูเปอร์ไวเซอร์ฝ่ายเทคโนโลยีทั่วโลก กล่าวว่า เทคโนโลยีที่ถูกนำเข้ามาได้ทำให้กระบวนการให้รายละเอียดแสงเงาในตัวละครแต่ละตัวเป็นไปอย่างอัตโนมัติ ขึ้นอยู่กับว่าเขาหรือเธออยู่ใกล้กับกล้องแค่ไหน “มันทำให้การเรนเดอร์มีประสิทธิภาพมากขึ้น แม้ว่าตอนนี้เราจะสามารถใส่รายละเอียดเพิ่มเติมเข้าไปใกล้ๆ มากแค่ไหนก็ตาม”
คิม ไวท์ ผู้กำกับภาพฝ่ายแสง กล่าวว่า บทบาทของคนให้แสงในเงาสะท้อนแทบจะเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือเนื่องด้วยเรนเดอร์ใหม่ “พวกเขาจะต้องลักไก่ในเรื่องของเงาสะท้อนใน ‘Cars’ ภาคก่อนๆ ค่ะ” เธอกล่าว พลางยอมรับว่าเทคโนโลยีใหม่ๆ ก็มาพร้อมกับความท้าทายแบบใหม่ๆ “ตัวละครของเราเป็นรถและเราก็อยากให้พวกเขาดูสวยจริงๆ ซึ่งเงาสะท้อนก็เป็นสิ่งที่ช่วยให้เราทำได้สำเร็จ” เธอกล่าว “แต่พวกเขาก็ยังคงเป็นตัวละครและผู้ชมก็จำเป็นต้องอ่านอารมณ์ สีหน้าท่าทางของพวกเขาได้ มันมีเงาสะท้อนบางอย่างที่อาจทำให้เสียสมาธิได้ เราก็เลยต้องจัดการกับเรื่องนั้นค่ะ”
ความสมจริงในทุกระดับยังคงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดที่พิกซาร์ จนถึงรายละเอียดที่เล็กน้อยที่สุด เจย์ วอร์ด ผู้กำกับสร้างสรรค์ของแฟรนไชส์ “Cars” กล่าวว่า ทีมงานต้องการทำให้ทุกอย่างถูกต้อง “เราใส่ใจกับเรื่องพลศาสตร์ยานยนต์ ลักษณะการเคลื่อนไหวของรถแต่ละแบบ รถขับเคลื่อนล้อหน้า รถขับเคลื่อนล้อหลัง และ ฯลฯ ล้อของไลท์นิ่ง แมคควีนมีดอกยางในตอนที่เขาแข่งบนพื้นดิน แต่ตอนเขาวิ่งในสนามแข่ง ล้อเขากลับเรียบ เราตั้งใจทำทุกอย่างนั่นเพราะแน่นอนว่าจะต้องมีคนในกลุ่มผู้ชมที่สังเกตเห็นถ้าเราใส่รายละเอียดผิดๆ น่ะครับ”
ตัวละคร
ไลท์นิ่ง แมคควีน เป็นรถแข่งแชมเปี้ยนโลก ผู้โด่งดังจากการคว้าพิสตัน คัพห้าสมัย จู่ๆ เขาก็พบว่าตัวเองต้องเผชิญหน้กับรถแข่งรุ่นใหม่ที่ไม่เพียงแต่คุกคามบัลลังก์แชมป์ของเขา แต่ยังทำให้ความมั่นใจที่ทำให้เขาก้าวมาถึงจุดๆ นี้สั่นคลอนด้วย ด้วยความมุ่งมั่นที่จะกลับไปสู่จุดสูงสุดอีกครั้ง รถแข่งหมายเลข 95 คันนี้จะต้องตัดสินใจว่าความรักที่มีต่อการซิ่งของเขามากพอที่จะจุดประกายการกลับคืนสู่ความยิ่งใหญ่ของเขาได้หรือเปล่า “เราต่างก็สนใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับนักกีฬาที่มาถึงจุดบั้นปลายของอาชีพพวกเขาครับ” ผู้กำกับไบรอัน ฟีกล่าว “สิ่งที่ไลท์นิ่ง แมคควีนต้องการคือการได้เป็นแชมเปี้ยน และเขาก็ทำได้แล้ว หมายความว่าชีวิตเขาจบสิ้นแค่นี้หรือ เขาไม่รู้จักอะไรอย่างอื่นอีกแล้วน่ะครับ”
ผู้อำนวยการสร้างเควิน รีเฮอร์กล่าวว่า ไลท์นิ่ง แมคควีนวิ่งไปได้เรื่อยๆ อย่างสบาย พร้อมกับการคว้าชัยชนะในการแข่งขันต่างๆ แต่ในตอนที่รถแข่งรุ่นใหม่แล่นเข้ามา เขาก็ตื่นตระหนก “เขาประสบอุบัติเหตุครั้งใหญ่ ซึ่งค่อนข้างจะซีเรียสและคล้ายกับอุบัติเหตุที่ทำให้ด็อค ฮัดสันต้องเลิกเป็นนักแข่งรถน่ะครับ”
“ไลท์นิ่งพยายามมากเกินไป” รอยซ์ เวสลีย์ อนิเมเตอร์ผู้ควบคุมกล่าว “เขาไม่ได้มีปัญหาด้านเทคนิค เขาก็แค่ไปถึงขีดจำกัดของตัวเอง ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่เราจะต้องนำเสนอออกไป แต่การทำอะไรแบบนั้นในแอนิเมชั่นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย”
อุบัติเหตุ 24 วินาทีที่หยุดทุกสายตาเป็นตัวกระตุ้นที่นำไปสู่การเดินทางของไลท์นิ่ง ทีมผู้สร้างก็เลยต้องการให้ผู้ชมตระหนักถึงผลกระทบใหญ่หลวงของมัน เจเรมี ลาสกี้ ผู้กำกับภาพฝ่ายกล้อง ต้องการให้ผู้ชมสัมผัสถึงการชนครั้งสำคัญนี้ใกล้ๆ แต่ก็ไม่ใกล้เกินไป “เราไม่อยากจะติดกล้องไว้กับไลท์นิ่ง และทำให้เกิดความรู้สึกเหมือนเครื่องซักผ้าในตอนที่เขากลิ้งตัว แต่เราก็อยากให้ผู้ชมอยู่ชิดติดขอบจอ” เขากล่าว “คุณจะรู้สึกมึนนิดๆ สิ่งสำคัญไม่ได้อยู่ที่การติดตามว่าเกิดอะไรขึ้น แต่เป็นเรื่องของความรู้สึกถึงสิ่งที่เกิดขึ้นมากกว่า”
“มันมีอะไรบางอย่างที่น่าตื่นเต้น ทรงพลังและคาดไม่ถึง เกี่ยวกับการได้เห็น ไลท์นิ่ง แมคควีน พระเอกของเรา กลิ้งหลายตลบ มีประกายไฟกระเด็นออกมา และมีควันพวยพุ่งออกจากเครื่องยนต์น่ะครับ” จอห์น ริสช์ ซูเปอร์ไวเซอร์ฝ่ายเอฟเฟ็กต์กล่าว “มันเป็นฉากแบบที่ดึงดูดผู้ชมเข้าสู่ความเป็นจริงของตัวละครและทำให้ผู้ชมมีอารมณ์ร่วมไปด้วยครับ”
โอเว่น วิลสัน กลับมาให้เสียงพากย์รถแข่งหมายเลข 95 คันนี้อีกครั้ง “ในตอนที่เราพบกับไลท์นิ่ง แมคควีนในภาคแรก เขาเป็นรถนิสัยไม่ดีน่ะครับ” ฟีกล่าว “แต่คุณก็ไม่อยากให้ผู้ชมเกลียดตัวละครเอกของคุณ และนั่นก็คือเวทมนตร์ที่โอเว่นใช้กับไลท์นิ่ง แมคควีน เขาทำให้ตัวละครตัวนี้เป็นที่ชื่นชอบ และใน ‘Cars 3’ เมื่อไลท์นิ่งรู้ว่าเขาไม่ใช่ซูเปอร์ฮีโรอย่างที่เขาเคยเป็น เขาก็หัวเสีย และหลังจากอุบัติเหตุ เขาก็ค่อนข้างเปราะบาง โอเว่นไม่เพียงแต่ดึงอารมณ์พวกนั้นออกมา แต่เขายังเสริมคุณค่าทางความบันเทิงเข้าไปอีกมากมายด้วยครับ”
วิลสันกล่าวว่าไอเดียของการฝึกสอนนี้โดนใจเขาที่ตอนนี้เป็นคุณพ่อลูกสอนจริงๆ “ในฐานะพ่อแม่ คุณก็พยายามจะสอนลูกๆ ของคุณ” เขากล่าว “คุณอยากให้พวกเขาเรียนรู้บทเรียนที่คุณได้เรียนรู้มาและหวังว่าพวกเขาจะไม่ผิดพลาดเหมือนคุณ ผมคิดว่ามันใช้ได้กับโลกของ ‘Cars’ เช่นกัน”
“หนึ่งในสิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิตคือการพบครูพวกนี้” วิลสันกล่าว “สำหรับผม ตอนที่ผมเพิ่งเริ่มเข้าวงการ ครูของผมคือเจมส์ แอล. บรู๊คส์ เขาพาเวส แอนเดอร์สันกับผมไปลอสแองเจลิสและอำนวยการสร้างหนังเรื่องแรกของเรา [‘Bottle Rocket’] เขาทำงานกับเราเรื่องบทหนังอยู่เป็นปี การที่คนแบบนั้นสละเวลามาช่วยเราทำให้หนังเรื่องนั้นสร้างขึ้นมาได้ มันทำให้ชีวิตเราแตกต่างออกไปเลยล่ะครับ”
วิลสันมองเห็นอะไรหลายอย่างของตัวเขาในตัวไลท์นิ่ง แมคควีน “เราต่างก็อยากจะเร่งเครื่องของตัวเองขึ้น เราทั้งคู่ต่างก็บอกว่า ‘ผมพร้อม’ เพื่อเตรียมตัวสำหรับงานใหญ่ๆ ถ้าผมเป็นรถ ผมก็คงอยากจะเป็นรถแข่ง แต่ตอนนี้ที่ผมมีลูกสองคนแล้ว ผมก็อาจเป็นรถสเตชัน วากอนมากกว่าน่ะครับ”
อนิเมเตอร์ควบคุม บ็อบบี้ โพเดสต้า กล่าวว่า วิลสันยังคงเป็นแรงบันดาลใจให้กับการเคลื่อนไหวของไลท์นิ่ง “เราทำงานจากเสียงครับ” โพเดสต้ากล่าว “ดังนั้น รูปร่างปากของไลท์นิ่งก็เลยสะท้อนถึงสิ่งที่โอเว่น วิลสันทำตอนที่เขาพูด เขาจะเหยียดริมฝีปากออกนิดๆ และจะห่อปากเป็นครั้งคราวครับ”
ไลท์นิ่ง แมคควีน ที่ยังคงมีความเป็นรถแข่งสูง หวนคืนสู่วันเวลาเก่าๆ ของตัวเองในแง่ของสไตล์รูปร่าง “ใน ‘Cars 2’ เนื้อเรื่องทำให้ไลท์นิ่งเพิ่มส่วนที่ลดการต้านแรงลมและสปอยเลอร์ตัวใหม่เข้าไป” ผู้ออกแบบงานสร้างเจย์ ชูสเตอร์กล่าว “ในภาคใหม่นี้ เราทำให้ลุคของเขาเรียบง่ายขึ้น เขาเป็นนักแข่งมากประสบการณ์ ที่จะลงแข่งด้วยอุปกรณ์ที่จำเป็นเท่านั้น ดังนั้น แม้ว่าเขาจะเลือกที่จะรักษาไฟหน้าและไฟท้ายจาก ‘Cars 2’ เอาไว้ เราก็ปรับเปลี่ยนสไตล์รูปร่างของเขาให้เป็นแบบภาคแรกและพัฒนากราฟิกให้ทันสมัยขึ้นแต่ยังคงความคลาสสิกเอาไว้ ไลท์นิ่งถูกปัดฝุ่นให้สะอาดเอี่ยมอ่องและเรียบง่ายสำหรับ ‘Cars 3’ ครับ”
แน่นอนว่าในตอนที่ไลท์นิ่ง แมคควีนพบตัวเองอยู่ในศูนย์รัสต์ทิส เรซซิง เซ็นเตอร์ที่ใหม่เอี่ยม เขาก็ถูกแปลงโฉมนิดๆ “สเตอร์ริงช่วยขัดเงาให้เขาใหม่ มันเป็นเรื่องที่สมเหตุสมผลสำหรับเรื่องราว” ซูเปอร์ไวเซอร์ฝ่ายตัวละคร หลิงจุนยีกล่าว “มันเกือบเหมือนชุดคอสตูม นี่ไม่ใช่ไลท์นิ่งตัวจริง เขาก็แค่พยายามจะดูและเป็นเหมือนรถแข่งที่อายุน้อยกว่า เขายังคงมีสีแดง แต่เราใช้วัสดุที่แตกต่างจากภาคแรก มันจะเปลี่ยนไปตามมุมของแสงน่ะครับ”
ครูซ รามิเรซ เป็นครูฝึกเทคโนโลยีจ๋าที่ไม่เหมือนใครที่รัสต์ทิส เรซซิง เซ็นเตอร์ เธอชำนาญในการจัดหาเครื่องมือใหม่ๆ ให้กับรถแข่งพรสวรรค์หน้าใหม่ของทีมเพื่อใช้ในการตะลุยสนาม แต่เธอเกือบจะพลาดท่าในตอนที่ไลท์นิ่ง แม็คควัน แชมเปี้ยนถ้วยพิสตัน คัพปรากฏตัวขึ้น แม้ว่าเธอจะอยากช่วยให้เขากลับสู่ความยิ่งใหญ่อีกครั้ง แต่เธอก็รู้ว่าการแข่งขันนี้เร็วกว่าแต่ก่อน และชัยชนะก็ขึ้นอยู่กับความเร็วเท่านั้น ใช่รึเปล่านะ?
ซูเปอร์ไวเซอร์ฝ่ายเรื่องราว สก็อต มอร์สกล่าวว่า แม้ว่าครูซอาจจะเป็นผู้ที่จะมาแก้ปัญหาของไลท์นิ่ง แต่เธอก็เป็นสิ่งเตือนใจสีเหลืองที่เจิดจ้าเช่นกัน “เธอเป็นตัวแทนที่ชัดเจนมากๆ ของสิ่งที่ทำให้เขาตื่นตระหนกก่อนที่เขาจะชน” มอร์สกล่าว “เธอเป็นโฉมหน้าของอนาคต เธอเจ๋ง เธอกล้า เธอดูเหมือนจะรู้เรื่องอะไรๆ มากกว่าเขา และเธอก็ดูเหมือนไม่แยแสเรื่องนั้น เธอเก่งจริงๆ และไม่จำเป็นต้องพยายามมากเหมือนเขา เธออายุน้อย ส่วนเขาก็อายุมากแล้ว”
ความชื่นชอบที่ครูซ รามิเรซมีต่อการแข่งรถปรากฏให้เห็นกลยุทธการฝึกของเธอ “เธอมองโลกให้แง่บวกมากๆ” ผู้กำกับไบรอัน ฟีกล่าว “เธออยากให้รถแข่งที่เธอฝึกกลายเป็นแชมเปี้ยน และหนึ่งในจุดแข็งของเธอก็คือการหาแรงจูงใจที่ใช่สำหรับพวกเขาแต่ละคันครับ”
สำหรับไลท์นิ่ง แมคควีน ครูซไม่สามารถสงบปากสงบคำได้ แม้ว่าเธอจะเป็นแฟนพันธุ์แท้รถแข่งที่ได้มองรถแข่งหมายเลข 95 คันนี้ทะยานสู่ความยิ่งใหญ่ แต่เธอก็ไม่กลัวที่จะบอกเขาว่า เขาทั้งแก่และช้า “เธอมีความรู้แบบคนรุ่นใหม่” เจย์ วอร์ด ผู้กำกับสร้างสรรค์ของแฟรนไชส์ “Cars” กล่าว “เธอรู้เรื่องเทคโนโลยีสมัยใหม่ ซิมูเลเตอร์และความเร็วเป็นอย่างดี แต่เธอก็ไม่ทันตระหนักถึงพลังของความรู้เกี่ยวกับการแข่งรถสมัยเก่า”
คริสเตล่า อลองโซ่ได้ถูกเลือกมาพากย์เสียงตัวละครตัวนี้ “สิ่งที่ฉันพบว่าน่าแปลกใจเกี่ยวกับแฟรนไชส์ ‘Cars’ คือถ้าฉันดูหนังเรื่องนี้แค่ซักนาที ฉันก็จะคิดว่า ‘ฉันกำลังดูหนังเกี่ยวกับรถ’” อลองโซ่กล่าว “แต่ฉันก็จะเริ่มอินไปกับเรื่องราวจนฉันรู้สึกว่าตัวละครพวกนี้กลายเป็นคนเหมือนฉัน พวกเขามีหัวใจและจิตวิญญาณ ฉันพบว่าตัวเองคอยให้กำลังใจพวกเขา ฉันอยากให้พวกเขาชนะน่ะค่ะ”
นักแสดงหญิงกล่าวว่า การเอาใจช่วยครูซเป็นเรื่องง่าย “ครูซแสบมากๆ ค่ะ เธอมั่นใจในสิ่งที่ตัวเองทำมากๆ แต่เธอก็มีความฝัน และเหมือนกับเด็กจำนวนมากในย่านที่ฉันโตมา ไม่เคยมีใครบอกเธอว่าเธอสามารถทำสิ่งต่างๆ เหล่านี้ได้ มันเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องมีคนบอกคุณว่าคุณสามารถทำได้ ไม่งั้นคุณก็จะเริ่มสงสัยในตัวเอง ถ้าคุณประสบความสำเร็จหรือล้มเหลว สิ่งสำคัญคือคุณได้พยายามแล้ว ฉันคิดว่าครูซมาจากครอบครัวที่คล้ายกับฉัน ฉันรู้สึกว่าตัวเองมีอะไรหลายอย่างเหมือนกับตัวละครตัวนี้ค่ะ”
“เราได้แรงบันดาลใจจากเรื่องราวของคริสเตล่าครับ” ผู้อำนวยการสร้างเควิน รีเฮอร์กล่าว “สแตนด์อัพคอเมดีเป็นวงการที่น่ากลัวสำหรับน้องใหม่และคริสเตล่าก็สามารถสร้างที่ทางของตัวเองได้แม้จะมีอุปสรรคมากมาย ความชื่นชอบการแข่งรถของครูซสะท้อนถึงประสบการณ์ของคริสเตล่าได้อย่างดีครับ”
“เรื่องราวของครูซไม่ได้เกี่ยวกับอุปสรรคทางอาชีพที่มองไม่เห็น” มือเขียนบทคีล เมอร์เรย์กล่าว “นั่นคงเป็นเรื่องที่ทำได้ง่าย โดยเฉพาะในโลกของการแข่งรถอาชีพ แต่พอฉันมองลูกสาวตัวเอง ฉันก็มองเห็นว่ามันคงไม่ใช่เรื่องราวของเธอ สำหรับพวกเราหลายคน อุปสรรคที่ยิ่งใหญ่ที่สุดไม่ใช่ขีดจำกัดที่โลกสร้างไว้ให้เรา แต่เป็นอุปสรรคที่เราสร้างไว้ให้ตัวเองต่างหากล่ะคะ สำหรับครูซ เราอยากจะสำรวจเรื่องนั้น ว่าจะเกิดอะไรขึ้นเมื่อเราสะดุดอุปสรรคจากตัวเองน่ะค่ะ”
สำหรับการสร้างลุคที่เหมาะสมของตัวละครตัวนี้ ทีมผู้สร้างต้องหาสมดุลที่เหมาะสม ที่จะสร้างความโดดเด่นให้กับความเป็นผู้ใหญ่ของไลท์นิ่ง “เราอยากให้แบบดีไซน์ของครูซมีเค้าโครงจากรถยักษ์สัญชาติอเมริกัน” ผู้ออกแบบงานสร้างเจย์ ชูสเตอร์กล่าว “แต่ผสมผสานด้วยความสง่างามแบบรถสปอร์ตคาร์ของยุโรป เธอไม่ใช่รถแข่ง แต่เธอก็เป็นตัวละครแข็งแกร่ง ผู้ต้องรับมือกับรถแข่งรุ่นใหม่ เธอมีรอยยับย่นและขอบแข็งๆ มากพอที่จะทำให้เธอดูทันสมัย แต่ด้วยรูปทรงที่ไหลลื่นและสง่างามกว่า ตอนที่เราได้เห็นครูซอยู่ข้างไลท์นิ่ง แมคควีน เราก็จะสัมผัสได้ทันทีถึงลักษณะนิสัยส่วนตัวของพวกเขาหรือแม้กระทั่งอายุของพวกเขาน่ะครับ”
ทีมงานทำให้แน่ใจว่ากลไกของครูซจะทำให้อนิเมเตอร์สามารถสร้างสีหน้าและการเคลื่อนไหวที่หลากหลายให้กับเธอได้ ครูซมีตัวควบคุมทั้งหมด 656 จุด ซึ่งรวมถึง 360 จุดสำหรับส่วนตัวเครื่องและ 296 จุดสำหรับส่วนใบหน้า แค่ส่วนปาก ริมฝีปาก ฟันและลิ้นก็มีตัวควบคุม 216 จุดแล้ว “เธอเป็นครูฝึกทรงพลังที่เต็มไปด้วยความกระตือรือร้นและพลังงานที่เธอไม่รู้ว่าจะควบคุมมันยังไง” อนิเมเตอร์ผู้ควบคุม จู๊ด บราวน์บิลกล่าว “เธอทุ่มเวลาให้กับการฝึกรถบนซิมูเลเตอร์มากจนทำให้พอเธอออกไปสู่โลกจริงๆ เธอก็เลยหลุดการควบคุมไปนิดๆ อนิเมเตอร์สนุกมากกับการสร้างความแตกต่างระหว่างสไตล์การแข่งที่ขลุกขลัก หลุดจากการควบคุมของเธอกับความชำนาญของไลท์นิ่งในซีเควนซ์ชายหาดครับ”
แจ็คสัน สตอร์ม ทั้งเร็ว เพรียวลมและพร้อมสำหรับการคว้าชัยชนะ สตอร์มเป็นรถแข่งรุ่นใหม่ระดับแนวหน้า ความมั่นใจและท่าทียะโสของเขาอาจจะเกินเลยไปซักหน่อย แต่ความเร็วที่หาตัวจับยากของเขาก็อาจจะสร้างคำนิยามใหม่ให้กับกีฬาชนิดนี้ก็ได้ แจ็คสัน สตอร์ม ที่ผ่านการฝึกฝนจากเครื่องซิมูเลเตอร์ไฮเทคที่ถูกตั้งโปรแกรมเพื่อขัดเกลาเทคนิคให้เพอร์เฟ็กต์และยกระดับความเร็ว ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อให้ไร้เทียมทาน และตัวเขาเองก็รู้ดี “แจ็คสัน สตอร์มเป็นตัวแทนของรถแข่งรุ่นใหม่” อาร์มี่ แฮมเมอร์ ผู้พากย์เสียงตัวละครตัวนี้ กล่าว “พวกเขาอายุน้อย กล้าบ้าบิ่นและมั่นใจ แจ็คสัน สตอร์มทั้งใหม่และเร็วกว่า เขาสามารถคำนวณสัมประสิทธิ์แรงต้านลมได้ในทันที ซึ่งการแข่งกับเรื่องแบบนั้นเป็นอะไรที่ยากมากครับ”
“แจ็คสัน สตอร์มเป็นคู่ปรับตัวฉกาจของไลท์นิ่ง เป็นตัวร้ายของเรื่อง” เจย์ วอร์ด ผู้กำกับสร้างสรรค์ของแฟรนไชส์ “Cars” กล่าวเสริม “แม้ว่าเขาจะไม่ใช่ผู้ร้ายตัวจริง เขาเป็นตัวแทนของสิ่งที่เกิดขึ้นในวงการแข่งรถ ทั้งในหนังและในชีวิตจริง นักแข่งหนุ่มๆ จำนวนมากที่เข้าสู่วงการมีประสบการณ์ในการเล่นเกมและซิมูเลเตอร์มากกว่าการลงสนามจริงๆ และพวกเขาก็คว้าชัยได้เรื่อยๆ ครับ”
มือเขียนบทไมค์ ริช กล่าวว่า ตัวละครตัวนี้เหมือนกับไลท์นิ่งสมัยก่อนมาก “สตอร์มคือไลท์นิ่งที่อันตรายกว่าครับ” ริชกล่าว “ไม่จำเป็นต้องมีใครสอนอะไรเขา เขามีทั้งความหนุ่มแน่นและพรสวรรค์”
“เราไม่พยายามจะนำเสนอสตอร์มออกมาเป็นวายร้ายหนวดเฟิ้ม” ผู้กำกับไบรอัน ฟีกล่าวเสริม “เขาเป็นคนที่เชื่อว่าโอกาสของเขามาถึงแล้ว ทุกสิ่งที่เขาพูดเป็นคำชมที่มีความนัยแอบแฝง เขากำลังบอกไลท์นิ่งว่า ‘มันไม่ใช่โลกของคุณอีกต่อไปแล้ว’ มันมีอากัปกิริยาหลายๆ อย่าง และอาร์มี่ แฮมเมอร์ก็ถ่ายทอมันออกมาได้อย่างมีเสน่ห์ครับ”
“กระแสน้ำกำลังเปลี่ยนแปลง” ฟีกล่าวต่อ “แต่ไลท์นิ่งไม่ได้มองแจ็คสัน สตอร์มว่าเป็นภัยคุกคามจริงๆ อย่างน้อยที่สุด ก็ในช่วงเริ่มแรก หลังจากนั้น ไลท์นิ่งก็ประสบอุบัติเหตุรุนแรง แต่มันไม่ใช่เรื่องเกี่ยวกับความไม่จีรังยั่งยืน แต่มันแสดงให้ไลท์นิ่งเห็นว่าเขาจะต้องทำอะไรที่แตกต่างออกไปถ้าเขาอยากจะก้าวไปข้างหน้าน่ะครับ”
ทีมออกแบบรู้ว่าลุคของแจ็คสัน สตอร์มจะต้องมีส่วนช่วยในการบอกเล่าเรื่องราวของเขา “สำหรับแบบดีไซน์แบบนี้ เราเริ่มต้นจากกระดาษเปล่าครับ” ชูสเตอร์ ผู้ออกแบบงานสร้างฝ่ายตัวละคร กล่าว “เป้าหมายของเราคือการใช้รูปร่าง สี และกราฟิกในการสร้างตัวละครที่ตรงข้ามกับไลท์นิ่ง แมคควีนในทุกทางเท่าที่จะเป็นไปได้”
“รูปร่างของไลท์นิ่งจะโค้งมนและไหลลื่น รูปร่างของสตอร์มก็เลยจะต้องเป็นเหลี่ยมมุมและมีความคมครับ” ชูสเตอร์กล่าว “เขาเป็นคอนเซ็ปต์ของเราที่ว่ารถสต็อกคาร์จะมีหน้าตาเป็นยังไงในอีก 20 ปีข้างหน้า มันก็เลยเป็นสิ่งสำคัญที่เขาจะต้องรักษามวลและกล้ามเนื้อของดีเอ็นเอรถสต็อกคาร์อย่างที่เรารู้จักเอาไว้ แบบดีไซน์ที่แข็งกร้าวของเขามีไว้เพื่อทำให้รถคันอื่นๆ ในสนามดูช้าและล้าสมัยครับ”
นักออกแบบได้รวบรวมเซ็ทกราฟิกที่โดดเด่นและสง่างามไว้สำหรับสตอร์ม ด้วยแรงบันดาลใจจากสัญลักษณ์สากลสำหรับเฮอร์ริเคน นักวาดภาพได้สร้างสัญลักษณ์ตัว “เอส” ให้กับเขา เพื่อให้ตรงข้ามกับสัญลักษณ์สายฟ้าฟาดของรถแข่งหมายเลข 95 “เขาจะต้องเป็นตัวแสบ” เคร็ก ฟอสเตอร์ ผู้กำกับศิลป์ฝ่ายกราฟิกกล่าว “เขาจะต้องโดดเด่นจากเพื่อนๆ เขาไม่ได้มีสีสันหรือรายละเอียดมากเท่ารถแข่งคันอื่นๆ ตัวเขาเป็นแค่รถสีดำที่มีสัญลักษณ์เฮอร์ริเคนอยู่ด้านข้างเท่านั้นเอง”
ฟอสเตอร์กล่าวว่า ตัว “เอส” เป็นลวดลายทึบแสงที่จะถูกเผยออกมาในตอนที่เขาอยู่ใต้แสงไฟ
อนิเมเตอร์ต้องการสร้างความแตกต่างในเรื่องสไตล์การเคลื่อนไหวของสตอร์มและไลท์นิ่งด้วยเช่นกัน “ไลท์นิ่ง แมคควีนเคลื่อนไหวแบบนักสกีสลาลม มันเป็นการตัดสินใจของอนิเมเตอร์ในภาคแรกครับ” บ็อบบี้ โพเดสต้า อนิเมเตอร์ผู้ควบคุมกล่าว “แต่นั่นมันเป็นเมื่อ 10 ปีที่แล้ว แจ็คสัน สตอร์มเป็นรถแข่งรุ่นใหม่ เขาเป็นรถที่กระชับและแม่นยำมาก มีส่วนตกแต่งน้อยมากๆ เพราะเราได้รับอิทธิพลจากบุคลิกและการออกแบบของเขาครับ”
นาตาลี เซอร์เทน เป็นนักวิเคราะห์สถิติที่ได้รับการยกย่องอย่างสูง เธอรู้จักตัวเลขเป็นอย่างดี เซอร์เทนที่ทั้งหัวดีและเก่งในเรื่องการคำนวณเป็นสายเลือดใหม่ในวงการแข่งรถ แม้ว่าเธออาจจะได้คะแนนสูงลิ่วในเรื่องความสามารถของเธอในการประเมินสมรรถนะของผู้เข้าแข่งขัน แต่เธอก็อาจให้ความสำคัญกับแรงใจที่มุ่งมั่นต่ำเกินไปก็เป็นได้ “เธอเป็นผู้หญิงฉลาดที่มั่นใจในตัวเอง” อนิเมเตอร์ผู้ควบคุม จู๊ด บราวน์บิลกล่าว “การเคลื่อนไหวของเธอให้ความรู้สึกเฉียบคมโดยที่ไม่ได้ให้ความรู้สึกของการไร้น้ำหนักมากเกินไป มันไม่มีความฟุ้งซักเท่าไหร่ แต่เธอก็ยังคงสง่างาม เธอสนใจแต่เรื่องข้อเท็จจริง เธอก็เลยมีสมาธิและตรงไปตรงมามากๆ”
ผู้ออกแบบงานสร้างเจย์ ชูสเตอร์กล่าวว่า ลุคของนาตาลี เซอร์เทนมีการออกแบบที่ซับซ้อนกว่าเล็กน้อย “เธอเป็นรถซีดานเทคโนโลยีสูง ที่มีรายละเอียดที่สะท้อนถึงความสง่างามแบบเรียบง่ายและอยู่ภายใต้การควบคุมครับ”
มือเขียนบทไมค์ ริชกล่าวเสริมว่า ตัวละครตัวนี้เป็นภาพสะท้อนของวงการกีฬายุคปัจจุบัน “ตอนนี้ โลกกีฬากำลังใช้สถิติและเมทริกซ์มากมายจริงๆ ครับ” เขากล่าว “นักสถิติเชื่อว่า คณิตศาสตร์สามารถคาดการณ์ได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในกีฬาทุกชนิด แต่มันไม่สามารถวัดค่าหัวใจได้ ตัวละครตัวนี้ได้แสดงให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงอย่างหนึ่งของการกีฬาในช่วงหลายปีที่ผ่านมาครับ”
“นาตาลีเป็นตัวแทนของรถแข่งรุ่นใหม่” ผู้อำนวยการสร้างเควิน รีเฮอร์กล่าวเสริม “เธอได้จัดทำสถิติให้กับบรรดานักบรรยายการแข่งขัน ที่ชี้ให้เห็นถึงเหตุผลมากมายที่แจ็คสัน สตอร์มและเพื่อนนักแข่งไฮเทคของเขาถูกสร้างขึ้นเพื่อชัยชนะ เธอมีทั้งตัวเลขและข้อเท็จจริงทั้งหมด ซึ่งทุกอย่างไม่ได้เข้าข้างไลท์นิ่ง แมคควีนเลย”
ผู้อำนวยการสร้างร่วม แอนเดรีย วอร์เรนกล่าวว่า “เคอร์รี วอชิงตันสามารถนำท่าที เสน่ห์และความมั่นใจแบบนั้นใส่เข้าไปในตัวละครของเธอ ที่มั่นใจเกี่ยวกับสิ่งที่เธอรู้ว่าเป็นข้อเท็จจริงของวงการแข่งรถมากๆ ค่ะ”
“นาตาลี เซอร์เทนเป็นตัวละครสุดเนิร์ดที่เจ้ากี้เจ้าการและรู้ดีไปหมดทุกเรื่อง” วอชิงตันกล่าวติดตลกอีกดว่า “ฉันไม่ได้เป็นอย่างนั้นนะ มันก็เลยเป็นการใช้จินตนาการค่ะ แต่ฉันก็สามารถเข้าถึงความจริงของตัวละครตัวนี้ที่คิดว่าตัวเธอเองรู้ทุกเรื่องได้นะคะ”
สเตอร์ลิงเป็น “รถธุรกิจ” ชาญฉลาด ผู้บริหารศูนย์รัสต์ทิส เรซซิง เซ็นเตอร์ หนึ่งในศูนย์ฝึกระดับแนวหน้าที่ประสบความสำเร็จสูงสุดของประเทศ แม้ว่าเขาจะมีลักษณะเหมือนพวกเจ้าชู้ไก่แจ้และร่ำรวยมหาศาล แต่สเตอร์ลิงก็มีนิสัยเรียบง่าย และสบายๆ อย่างไรก็ดี ธุรกิจก็คือธุรกิจ และสเตอร์ลิงก็มุ่งมั่นกับการทำให้แน่ใจว่าสิ่งที่เขาลงทุนไปจะให้ผลตอบแทนคุ้มค่า
สก็อต มอร์ส ซูเปอร์ไวเซอร์ฝ่ายเรื่องราวกล่าวว่า สเตอร์ลิงแตกต่างจากอดีตเจ้าของคันอื่นๆ ของรัสต์ทิส “ในขณะที่ดัสตี้และรัสตี้คอยเป็นห่วงเป็นใยไลท์นิ่งเสมอ แต่สเตอร์ลิงสนใจแต่เรื่องธุรกิจ เขาเห็นคุณค่าในตัวไลท์นิ่ง แมคควีน แต่อาจจะไม่ใช่ในแบบที่ไลท์นิ่งตั้งความหวังไว้น่ะครับ”
อย่างไรก็ดี ทีมผู้สร้างก็ระมัดระวังที่จะไม่ตกหลุมพรางตามแบบฉบับของธุรกิจยักษ์ใหญ่ “เราไม่อยากให้เขาเป็นพวกรถอ้วนๆ ประมาณว่า ‘ฉันเป็นรถที่แข็งแกร่งที่สุดในห้อง’ น่ะครับ” ผู้กำกับไบรอัน ฟีกล่าว “สเตอร์ลิงมั่นใจในตัวเองมากจนเขาไม่จำเป็นต้องบอกทุกคน เขาเป็นรถมีสไตล์ และเราก็มักนึกถึงเขาว่าเป็นสูทที่ตัดพอดีตัว รถที่เราพิจารณาสำหรับตัวเขาเป็นรถคันเล็กที่บอบบางและมีกระจกมากมายในส่วนของหลังคารถครับ”
นาธาน ฟิลเลียน พากย์เสียง สเตอร์ลิง “เขาเป็นคนฉลาด” ฟิลเลียนพูดถึงตัวละครของเขา “เขาอยากจะคุ้มครองไลท์นิ่งด้วยการดึงเขาออกจากวงการรถแข่งในตอนที่เขายังเป็นผู้ชนะอยู่ เขาตระหนักดีว่าไลท์นิ่งเป็นแบรนด์และในการคุ้มครองเขา มันก็เป็นการคุ้มครองความสามารถของเขาในการกอบโกยเงินด้วย สเตอร์ลิงมองไปที่อนาคตแล้วและเขาก็รู้ดีว่าจะทำยังไงถึงจะประสบความสำเร็จ”
ผู้กำกับกล่าวว่า ฟิลเลียนเป็นส่วนสำคัญในการทำให้แน่ใจว่า สเตอร์ลิงจะไม่ปรากฏเป็นพวกน่ารังเกียจหรือพวกที่ไม่เป็นที่ชื่นชอบ “นาธานอาจจะเป็นคนที่เสียงมีเสน่ห์ที่สุดคนหนึ่ง” ฟีกล่าว “เราไม่อยากได้จอมบงการอีโก้สูงและนาธานก็สร้างสมดุลขึ้นมาได้จริงๆ ครับ”
มิสฟริตเตอร์ชื่นชอบชีวิตแบบชนไม่ยั้งของการแข่งดีโมลิชัน ดาร์บี้ ฟริตเตอร์ ผู้เป็นตำนานท้องถิ่นที่ธันเดอร์ ฮอลโลว์ สปีดเวย์ มีขนาดใหญ่แบบรถโรงเรียนที่น่าเกรงขามแต่ร่องรอยแห่งหายนะ ป้ายหยุดที่คมกริบ และคอลเล็กชันป้ายทะเบียนรถจากเหยื่อของเธอคือสิ่งที่มักจะชักจูงคู่ต่อสู้ของเธอให้เลือกหันไปทางอื่นแทน
“ฟริตเตอร์เป็นรถโรงเรียนแห่งฝันร้ายของคุณครับ” มือเขียนบท บ็อบ ปีเตอร์สันกล่าว “เตรียมพร้อมพบกับความโกรธาจากเขตโรงเรียนโลเวอร์ เบลวิลล์ เคาน์ตี้ได้เลย!” ประโยคนี้ทำผมขนลุกทุกครั้งเลยครับ!”
“การแข่งขันชนดะดีโมลิชัน ดาร์บี้มีรถพยาบาล แท็กซีและรถอาร์วี” ปีเตอร์สันกล่าวต่อ “มันเป็นรถที่คุณไม่ค่อยจะเอาไปเชื่อมโยงกับความวุ่นวาย โกลาหล อาจจะเว้นแต่แท็กซีน่ะครับ”
ลีอา เดอลาเรีย พากย์เสียง มิสฟริตเตอร์ “ฉันรักรถ แบบว่ารถจริงๆ น่ะค่ะ” เดอลาเรียกล่าว “ฉันชื่นชอบพวกเครื่องยนต์มาก ฉันเคยเป็นผู้ช่วยผู้จัดการที่ปั๊มน้ำมันด้วยนะคะ ดังนัน พอฉันได้ยินไอเดียของการได้เป็นรถ ฉันก็คิดเลยว่า ‘คุณล้อฉันเล่นรึเปล่า’ น่ะค่ะ”
“พอเรารู้ว่าลีอาจะได้พากย์เสียงเป็นมิสฟริตเตอร์ เราก็อยากให้ตัวละครของเรามีอะไรบางอย่างที่ได้มาจากสไตล์ของลีอาครับ” ผู้ออกแบบงานสร้างเจย์ ชูสเตอร์กล่าว “เราเอาขอบยางที่ติดรอบกระจกหน้ารถที่มีขนาดใหญ่อยู่แล้วของรถโรงเรียนมาเพิ่มขนาดเข้าไปอีกเพื่อทำให้มันดูเหมือนแว่นขอบหนาที่เป็นสัญลักษณ์ของลีอา มันเป็นส่วนหนึ่งของงานของเรา การพยายามหาตัวละครในทุกรูปทรงเท่าที่จะเป็นไปได้น่ะครับ”
ในความเป็นจริงแล้ว นักวาดภาพสนุกมากกับการออกแบบมิสฟริตเตอร์ รถโรงเรียนดัดแปลงคันนี้มียางล้อที่ขนาดใหญ่โตเกินตัว แม้กระทั่งสำหรับรถบัสก็ตามที “เธอมีปากรูปทรงเหลี่ยม ที่ดูเหมือนแผ่นเหล็กตัดน่ะครับ” ไมเคิล โคเม็ต ซูเปอร์ไวเซอร์ฝ่ายตัวละครกล่าว
แบบดีไซน์ของเธอรวมถึงป้ายหยุดขอบฟันปลาที่ถูกใช้เป็นเลื่อย และคอลเล็กชันของที่ระลึกที่ไม่ธรรมดา “เธอได้แขวนป้ายทะเบียนรถเหยื่อทุกคันของเธอเอาไว้ด้านข้าง เหมือนพวกด็อกแท็กในหนังสงครามเลย” หลิงจุนยี ซูเปอร์ไวเซอร์ฝ่ายตัวละคร ผู้ซึ่งลูกทีมอยู่เบื้องหลังรอยขีดข่วน รอยครูดและลุคยับเยินของรถที่เข้าแข่งขันในเครซี เอททั้งแปดคัน กล่าว
“มิสฟริตเตอร์เป็นราชินีแห่งการแข่งขันเครซี เอท” เดอลาเรียกล่าว “เธอทั้งซ่าส์ ใจร้ายนิดๆ และตลกมากๆ ค่ะ”
ตำนาน
ทีมผู้สร้างต้องการจะใส่สิ่งที่แสดงความเคารพต่อประวัติศาสตร์การแข่งรถและการหวนรำลึกถึงวันเวลาเก่าๆ เข้าไปใน “Cars 3” ในตอนที่ไลท์นิ่ง แมคควีนดิ้นรนที่จะกลับไปยืนอยู่บนจุดสูงสุดอีกครั้ง การสำรวจของเขาได้นำเขาไปสู่กลุ่มตัวละครที่เป็นตัวแทนรากเหง้าการแข่งรถสต็อกคาร์ และเป็นการเชื่อมโยงไปถึงโค้ชผู้ล่วงลับแล้วของไลท์นิ่ง ผู้เป็นทั้งครูและเพื่อนของเขาด้วย ด็อค ฮัดสัน ในการตัดสินใจว่าตัวละครเหล่านี้จะเป็นใครบ้าง สมาชิกของทีมเรื่องราวได้ไปชมการแข่งขันนาสคาร์ เดย์โทนา 500 เพื่อซึมซับบรรยากาศ “เราได้พบแหล่งข้อมูลมากมายที่นั่น ที่เป็นจุดเริ่มต้นให้เราตามหาตัวละครเหล่านี้ครับ” ริชกล่าว “พวกเขาทำให้ไลท์นิ่งได้เห็นว่า การแข่งรถอาจเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ทั้งชีวิต มันอาจจะเปลี่ยนแปลงไปบ้างตามเวลา แต่คุณก็ปรับตัวและเรียนรู้ที่จะแข่งขันในแบบที่ต่างออกไป ความรักที่มีต่อการแข่งรถไม่เคยเลือนหายไปจากตำนานเหล่านี้ครับ”
สโมคกี้ อดีตเจ้าของทีมในพิสตัน คัพ ได้ร่วมมือกับฟาบูลัส ฮัดสัน ฮอร์เนทในสมัยยุค 50s ภายนอกที่แข็งกระด้างของเขาและการแสดงความคิดเห็นอย่างโจ่งแจ้งก็เข้ากันได้ดีกับหน้าที่ของเขาในฐานะหัวหน้าทีมงาน และเขาก็เป็นเจ้าของโรงรถเบสต์ แดมน์ กาเรจ อิน ทาวน์ด้วย แม้ว่าเขาจะยังคงลำบากใจกับการเลือกว่าจะเชื่อสมองหรือสัญชาตญาณของเขาดี แต่เมื่อเป็นเรื่องของเพื่อนพ้องล่ะก็ เขาพร้อมช่วยสุดหัวใจ
สโมคกี้ได้แรงบันดาลใจจากเฮนรี “สโมคกี้” ยูนิค ผู้มีชีวิตอยู่จริง ยูนิค นักแข่งรถและนักออกแบบในวงการนาสคาร์ช่วงเริ่มแรก เป็นที่รู้จักดีที่สุดในฐานะช่างเครื่อง ช่างฝีมือและหัวหน้าทีมงาน เขาได้รับตำแหน่งช่างเครื่องแห่งปีของนาสคาร์สองครั้ง และทีมของเขาก็ชนะการแข่งขันในนาสคาร์ คัพ ซีรีส์ 57 ครั้ง รวมถึงการได้แชมเปี้ยนสองครั้งในต้นยุค 50s โรงรถเบสต์ แดมน์ กาเรจ อิน ทาวน์ของสโมคกี้เป็นสถานที่ที่โด่งดังในเดย์โทนา บีชมาตลอดสี่ทศวรรษ
สก็อต มอร์ส ซูเปอร์ไวเซอร์ฝ่ายเรื่องราว ยังได้แรงบันดาลใจจากอดีตของตัวเองในตอนนึกถึงตัวละครสโมคกี้ด้วย “พ่อผมเป็นช่างยนต์ของฟอร์ดและปู่ผมก็เป็นช่างยนต์ของฟอร์ดเหมือนกัน” มอร์สกล่าว “แต่พอพวกเขารู้ว่าผมสามารถวาดรูปและเขียนเรื่องราวได้ พวกเขาก็ไม่ได้สอนอะไรเกี่ยวกับรถยนต์ให้ผมเลยครับ”
จนกระทั่งมอร์สและภรรยาของเขาย้ายกลับไปย่านเบย์และพ่อของเขาเกษียณแล้วที่มอร์สสามารถเกลี้ยกล่อมพ่อของเขาให้ถ่ายทอดประสบการณ์ของเขาให้กับเขาได้ “ผมบังคับให้พ่อสร้างรถกับผม” มอร์สกล่าว “เราได้หาและสร้างรถฟอร์ดปี 51 ขึ้นมาใหม่ ที่คล้ายกับสโมคกี้ ผมก็เลยรู้สึกผูกพันกับตัวละครตัวนี้อย่างมากครับ”
ผู้กำกับไบรอัน ฟีกล่าวว่า สโมคกี้มีเค้าโครงจากรถปิ๊คอัพจริงๆ ที่เพิ่งสร้างเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา “มันเป็นรถปิ๊คอัพฮัดสันครับ” ฟีกล่าว “ตรงด้านหน้ามันเหมือนกับฮัดสัน ฮอร์เนท และด้านหลังมันก็เหมือนกับรถบรรทุก ซึ่งสมเหตุสมผลมากเมื่อพิจารณาถึงความสัมพันธ์ระหว่างเขากับด็อคน่ะครับ”
คริส คูเปอร์พากย์เสียงสโมคกี้ในภาพยนตร์เรื่องนี้ “เขาเต็มไปด้วยจิตวิญญาณครับ” ผู้อำนวยการสร้างเควิน รีเฮอร์กล่าว “เขาสร้างความหนักแน่นให้กับสโมคกี้ที่เวิร์คสำหรับตัวละครที่เป็นเพื่อนเก่าของด็อคน่ะครับ”
บ็อบบี้ โพเดสต้า อนิเมเตอร์ควบคุมกล่าวเสริมว่า “ในฐานะอนิเมเตอร์ เราชื่นชอบการได้เล่นเป็นอีกครึ่งหนึ่งของการแสดงพวกนี้กับนักแสดงที่มีพรสวรรค์แบบนี้น่ะครับ เมื่อคุณใส่หูฟังและฟังเสียงพากย์เยี่ยมๆ คุณก็จะเริ่มเห็นภาพในหัวครับ”
อนิเมเตอร์นำเสนอสโมคกี้ในแบบที่คล้ายคลึงกับด็อค ลูกศิษย์ของเขา “ปากของเขาถูกปิดบังภายใต้หนวดของเขา” โพเดสต้ากล่าว “เราแทบจะมองไม่เห็นมัน เขามีไดอะล็อคที่น้อยมากๆ ซึ่งก็เป็นแบบเดียวกับที่เราสร้างด็อคด้วยครับ”
จูเนียร์ “มิดไนท์” มูน ตำนานแห่งถ้วยพิสตัน คัพ เริ่มต้นจากการใช้ “น้ำมัน” โฮมเมด วิ่งตามถนนลูกรังที่ปกคลุมไปด้วยป่าไม้ ที่มีเพียงแสงจันทร์ส่องสว่างให้กับเส้นทาง
โรเบิร์ต เกลนน์ “จูเนียร์” จอห์นสัน ตำนานแห่งวงการนาสคาร์ ทั้งสร้างแรงบันดาลใจและให้เสียงพากย์ตัวละครตัวนี้จอห์นสันคว้าชัยในการแข่งขันนาสคาร์มาได้ 50 ครั้งในช่วงยุค 50s และ 60s “ในวงการแข่งรถ ผมเป็นผู้นำครับ” จอห์นสันกล่าว “ผมไม่ใช่ผู้ตาม แต่มันก็เป็นกีฬาที่ยุ่งยากในตอนที่คุณต้องทำเหมือนอย่างที่เราต้องทำ ผมมุ่งมั่นว่าจะไม่มีใครแซงผมได้น่ะครับ”
จอห์นสันเองก็มีจุดเริ่มต้นที่ไม่ธรรมดาเหมือนกัน โดยเขาได้วิ่งส่งเหล้าเถื่อนให้กับครอบครัวทั่วทั้งบริเวณหุบเขาทางตะวันออกของนอร์ธ แครอไลนา ภายหลัง สูตรเหล้าของพวกเขาถูกแบ่งปันให้กับเพียดมองท์ ดิสติลเลอร์ส และได้รับการวางจำหน่ายภายใต้ยี่ห้อจูเนียร์ จอห์นสันส์ มิดไนท์ มูน
หลุยส์ “บาร์นสตอร์มเมอร์” แนช ผู้โด่งดังในฐานะ “สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งแห่งวงการแข่งรถ” ไม่ได้มีจุดเริ่มต้นที่ง่ายดายเลยในฐานะหนึ่งในผู้หญิงกลุ่มแรกๆ ในแวดวงแข่งรถ เธอจะต้องขโมยหมายเลขแข่งรถของเธอเพื่อให้ได้แข่งขันในการแข่งขันครั้งแรก แต่สไตล์การแข่งที่ไม่เกรงกลัวอะไรก็ทำให้เธอได้รับความเคาพจากรถทุกคันที่เธอแข่งด้วย แนช รถฟาบูลัส ฮัดสัน ฮอร์เนทได้ลงแข่งในช่วงเริ่มแรกของการแข่งขันถ้วยพิสตัน คัพ และคว้าชัยมาได้ในการแข่งขันสามครั้งติดกัน
หลุยส์ สมิธ จากนาสคาร์ เป็นแรงบันดาลใจให้กับตัวละครตัวนี้ สมิธ ผู้ไม่ยอมแค่มองการแข่งขันนาสคาร์ครั้งแรกของเธอ ได้เข้าร่วมการแข่งขันด้วย และท้ายที่สุด เธอก็ได้ใช้รถฟอร์ด คูเป้คันใหม่ของครอบครัว หลังจากนั้น เธอก็คว้าชัยชนะมาได้ทั้งหมด 38 ครั้งตลอดการลงแข่งนานเจ็ดปีของเธอ
ตัวละครตัวนี้พากย์เสียงโดยมาร์โก้ มาร์ทินเดล “มาร์โก้มาจากเท็กซัสและเป็นเสียงที่เพอร์เฟ็กต์สำหรับหลุยส์ เธอทำได้เยี่ยมมากครับ” ผู้อำนวยการสร้างเควิน รีเฮอร์กล่าว
ริเวอร์ สก็อต มีพื้นเพที่ต่ำต้อย แต่ความพยายามและทัศนคติที่ไม่เคยยอมแพ้ทำให้เขาวิ่งอยู่แถวหน้าในการชิงชัยถ้วยพิสตัน คัพ โดยเขาคว้าชัยได้ถึงเจ็ดครั้งในช่วงต้นยุค 50s สก็อต ที่ทั้งหัวรั้นและมุทะลุ ภาคภูมิใจในตัวเองเป็นอย่างยิ่ง
อิไซอาห์ วิทล็อค จูเนียร์ ได้ถูกเรียกตัวมาพากย์เสียงตัวละครตัวนี้ “ผมคิดว่าแฟรนไชส์ ‘Cars’ วิเศษสุดครับ” วิทล็อคกล่าว “ผมรู้สึกเป็นเกียรติที่ได้พากย์บทริเวอร์ สก็อต ตัวละครตัวนี้ถูกสร้างมาจากเวนเดล สก็อต ชาวแอฟริกัน/อเมริกันคนแรกที่ชนะการแข่งขันระดับแกรนด์ เนชันแนล ซีรีส์ได้ครับ”
ชื่อของสก็อตได้ถูกบรรจุอยู่ในนาสคาร์ ฮอล ออฟ เฟมในปี 2015 หลังจากที่เขาเสียชีวิตไปแล้ว
เสียงจากนาสคาร์
ทีมผู้สร้างเลือกผู้ยิ่งใหญ่จากวงการนาสคาร์ ตั้งแต่นักแข่งหน้าใหม่และตำนานไปจนถึงเสียงเบื้องหลังกีฬาชนิดนี้ ให้มาสร้างแรงบันดาลใจและเนรมิตชีวิตให้กับตัวละครของเรื่อง “เราต่างก็รักเรื่องราวดีๆ ค่ะ” ผู้ร่วมอำนวยการสร้างแอนเดรีย วอร์เรนกล่าว “เราโชคดีมากๆ ที่ได้ฟังเรื่องราวของพวกเขา ได้สัมผัสเรื่องที่เกิดขึ้นเบื้องหลังวงการแข่งรถ ความเชื่อมโยงนั้นปรากฏให้เห็นในลักษณะการปฏิสัมพันธ์ของตัวละครหลายตัวของเราค่ะ”
ในการค้นหาความจริงในเสียงของนักแข่งรุ่นใหม่ ทีมผู้สร้างได้ทาบทามนักแข่งนาสคาร์หนุ่มๆ มากพรสวรรค์หลายคน ผู้พากย์เสียงตัวละครในเรื่อง เชส เอลเลียต พากย์เสียง เชส เรซล็อตต์, ไรอัน เบลนีย์ พากย์เสียง ไรอัน “อินไซด์” เลนีย์, แดเนียล ซัวเรซ พากย์เสียง แดนนี สเวอร์เวซและบับบ้า วอลเลซ พากย์เสียง บับบ้า วีลเฮาส์ เจเรมี ลาสกี้ ผู้กำกับภาพฝ่ายกล้องกล่าวว่า นักแข่งรุ่นใหม่ถูกเรียกตัวมาเพื่อสร้างความแปลกใหม่ให้กับการจัดวางตำแหน่ง “[ผู้กำกับ] ไบรอัน ฟีต้องการให้รถพวกนี้มีความแม่นยำอย่างที่ไลท์นิ่ง แมคควีนไม่มี แม้ว่าการเคลื่อนไหวของเขาจะสง่างามดุจแปรงสีที่โบกสะบัด แต่รถแข่งรุ่นใหม่เป็นเครื่องยนต์ที่เพอร์เฟ็กต์และไร้สิ่งปรุงแต่ง พวกเขาจะเดินทางจากจุดเอไปถึงจุดบีด้วยความเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้”
เจฟฟ์ กอร์ดอน พากย์เสียง เจฟฟ์ กอร์เว็ตต์, ริชาร์ด เพ็ตตี้ พากย์เสียง สตริป “เดอะ คิง” เว็ธเธอร์สอีกครั้งหนึ่ง, ไคล์ เพ็ตตี้เข้ามาพากย์เสียง คาล เว็ธเธอร์ส และเรย์ อีเวิร์นแฮม พากย์เสียง เรย์ ริเวอร์แฮม นอกจากนั้น อีเวิร์นแฮมยังรับหน้าที่ปรึกษาของเรื่องด้วย อดีตหัวหน้าทีมงานผู้นี้กล่าวว่า “คนรักรถ” จะชื่นชมภาพยนตร์เรื่องนี้ “ทีมผู้สร้างต้องการจะใช้ถ้อยคำและรายละเอียดที่ถูกต้องตามความเป็นจริงจริงๆ ครับ” อีเวิร์นแฮมกล่าว “แต่นอกจากนั้น หนังเรื่องนี้ยังพูดถึงประเด็นสำคัญในการแข่งรถอีกด้วย ผมรักเทคโนโลยีและประโยชน์ที่มันมีต่อการกีฬา แต่บ่อยครั้ง ชีวิตจริงบนสนามแข่งจะขึ้นอยู่กับสัญชาตญาณมนุษย์ ในตอนที่คุณต้องเชื่อใจสัญชาตญาณของตัวเอง ไลท์นิ่ง แมคควีนได้เรียนรู้เรื่องนั้นครับ”
ดาร์เรล วอลทริป จากฟ็อกซ์ กลับมาพากย์เสียงดาร์เรล คาร์ทริป, แชนนอน สเปค มาพากย์เสียง แชนนอน สโปคส์, ฮัมปี้ วีลเลอร์ กลับมาพากย์เสียง เท็กซ์ ดิโนโก้และไมค์ จอยจากฟ็อกซ์ สปอร์ตส์ มาพากย์เสียง ไมค์ จอยไรด์
ทีมงานหน้าเดิมของแฟรนไชส์
แฮมิลตัน ผู้ช่วยบิวท์อินที่สั่งการด้วยเสียง เป็นเพียงหนึ่งในเครื่องมือมากมายในคลังแสงของครูซ รามิเรซ ในตอนที่ไลท์นิ่ง แมคควีนออกฝึกนอกสถานที่ ครูซก็ได้แฮมิลตันมาคอยช่วยทำให้รถแข่งที่ตกที่นั่งลำบากคันนี้กลับเข้าลู่เข้าทางอีกครั้ง ลูอิส แฮมิลตัน นักแข่งรถฟอร์มูลา วัน ได้ถูกเรียกตัวกลับมาสู่โลกของ “Cars” และพากย์เสียงตัวละครตัวนี้
นอกจากนี้ “Cars 3” ยังได้ต้อนรับการกลับมาของผองเพื่อนของไลท์นิ่ง แมคควีนจากเรดิเอเตอร์ สปริงส์อีกครั้ง รวมถึงเมเตอร์ คู่หูแสนรักของไลท์นิ่ง (พากย์เสียงโดย แลร์รี เดอะ เคเบิล กาย) และแซลลี แฟนหมายเลขหนึ่งของรถแข่งหมายเลข 95 (พากย์เสียงโดยบอนนี ฮันท์) เพื่อนๆ ที่คอยสนับสนุนฮีโรจากบ้านเกิดของพวกเขารวมถึงฟิลมอร์ (พากย์เสียงโดยลอยด์ เชอร์), ซาร์จ (พากย์เสียงโดยพอล ดูลีย์), ลิซซี (พากย์เสียงโดยแคทเธอรีน เฮลมอนด์), รามอน (พากย์เสียงโดย ชีค มาริน), เชอร์ริฟฟ์ (พากย์เสียงโดย ไมเคิล วอลลิส) และโฟล (พากย์เสียงโดยเจนนิเฟอร์ ลูอิส)
แม็ค รถขนส่งผู้ภักดี (พากย์เสียงโดยจอห์น ราทเซนเบอร์เกอร์), หลุยจี้ รถเฟียตอิตาเลียน 500 ผู้ใจกว้าง (พากย์เสียงโดยโทนี แชลล็อบ) และรถฟอร์คลิฟอิตาเลียนตัวน้อยเสน่ห์แรง กุยโด้ (พากย์เสียงโดยกุยโด้ ควอโรนี) ยังคงสนับสนุนความพยายามในการแข่งรถของไลท์นิ่ง แมคควีน ผู้ประกาศข่าวกีฬาที่โด่งดังระดับโลก บ็อบ คัทแลส (พากย์เสียงโดยบ็อบ คอสตาส) ยังคงประกาศข่าวการแข่งขัน และชิค ฮิคส์ (พากย์เสียงโดยบ็อบ ปีเตอร์สัน) ก็กลับมาอีกครั้ง ครั้งนี้ เขามาในฐานะผู้บรรยายทางช่องเรซซิง สปอร์ตส์ เน็ตเวิร์ค สองคู่หูผู้น่ารัก ดัสตี้ (พากย์เสียงโดยเรย์ แม็กกลิออซซี) และรัสตี้ (พากย์เสียงโดยทอม แม็กกลิออซซี ผู้ล่วงลับ) กลับมารับบทหุ้นส่วนหลักของรัสต์ทิส แม้ว่าพวกเขาจะมีบางสิ่งยิ่งใหญ่เตรียมไว้สำหรับไลท์นิ่ง แมคควีนก็ตาม
เสียงของพอล นิวแมน ผู้ล่วงลับ ปรากฏในภาพยนตร์เรื่องนี้ในบท ฟาบูลัส ฮัดสัน ฮอร์เนท หรือ ด็อค ฮัดสัน บทเดิมของเขา ในตอนที่นิวแมนได้บันทึกเสียงสำหรับ “Cars” ภาคแรก เขาและผู้กำกับจอห์น ลาสเซ็ทเตอร์มักแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการแข่งรถระหว่างเทค โชคดีที่มีการบันทึกบทสนทนาเหล่านั้นเอาไว้ ซึ่งมีค่าอย่างยิ่งสำหรับทีมผู้สร้างที่ต้องการจะปลุกไฟรักที่ไลท์นิ่ง แมคควีนมีต่อกีฬาชนิดนี้และครูผู้ช่วยเขาค้นพบมันในตอนแรก
“พอลเป็นแฟนพันธุ์แท้การแข่งรถและรอบรู้จริงๆ ครับ” ผู้อำนวยการสร้างเควิน รีเฮอร์กล่าว “ผมคิดว่าเราทุกคนต่างก็ได้เรียนรู้บางอย่างเกี่ยวกับกีฬาชนิดนี้จากด็อค ฮัดสันครับ”
ดูดีนี่
นักวาดภาพสร้างลุคที่หลากหลายและมีชีวิตชีวาให้กับการผจญภัยครั้งใหม่
การเดินทางของไลท์นิ่ง แมคควีนใน “Cars 3” พาเขาจากด้านหนึ่งไปสู่อีกฟากฝั่งหนึ่ง โดยใช้โลเกชันและฉากหลายแห่งเพื่อช่วยผลักดันเรื่องราวของเขา ทีมผู้สร้างต้องการให้ภาคสามในเรื่องราวของไลท์นิ่งสะท้อนถึงความอบอุ่นของภาคแรก แต่ก็ยังให้ความรู้สึกแปลกใหม่
ผู้กำกับไบรอัน ฟีกล่าวว่า แฟรนไชส์ “Cars”มีลุคที่ทำให้มันแตกต่างจากเรื่องอื่นๆ ของพิกซาร์ “แม้ว่าหนังของเราทุกเรื่องจะมีสไตล์ของตัวเอง แต่หนังเรื่อง ‘Cars’ จะต้องมีความสมจริงมากกว่า เกือบจะเป็นความเกินจริงด้วยซ้ำไป มันเป็นความสมจริงภายใต้การกำกับศิลป์ครับ ด้วยเทคโนโลยีที่เราใช้ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เราก็สามารถทำให้ตัวละครและฉากพวกนี้ให้ความรู้สึกที่สมจริงและมีชีวิตชีวามากกว่าแต่ก่อนได้”
“นี่เป็นโลกที่เราเชื่อว่ามีอยู่จริง” ผู้ออกแบบงานสร้างบิล โคนกล่าว “มันให้ความรู้สึกคุ้นเคย คำที่เราใช้คือความน่าเชื่อ ซึ่งเป็นพื้นฐานของทุกอย่างที่เราทำ โลกของ ‘Cars’ ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อรองรับประชากรขนาดเท่ารถของมัน มันถูกใส่สไตล์เข้าไป เราเล่นกับสิ่งของเปรียบเทียบบางอย่าง เพราะรถจะมองตัวเองในธรรมชาติแบบเดียวกับที่คนเรามองเห็นตัวเองในธรรมชาติ ทุกอย่างถูกทำออกมาในแบบที่เข้าถึงได้และน่าติดตามครับ”
ซูดีพ แรนกัสวามี ซูเปอร์ไวเซอร์ฝ่ายเทคโนโลยีทั่วโลกกล่าวว่า เทคโนโลยีที่ถูกพัฒนาขึ้นเร็วๆ นี้ รวมถึงเทคโนโลยีที่ถูกคิดค้นขึ้นเพื่อ “Cars 3” โดยเฉพาะทำให้ลุคของภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นไปได้ “สเกลมันยิ่งใหญ่มาก ซึ่งปรากฏชัดเจนในช็อตสเตเดียมขนาดใหญ่ที่มีรถหลายพันคันและแสงมากกว่านั้น ในการนำเสนอภาพทั้งหมดนั่นบนหน้าจอและเรนเดอร์มันอย่างมีประสิทธิภาพเป็นความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดครับ”
ทีมงานของแรนกัสวามี ผู้ได้รับมอบหมายให้จัดการความซับซ้อนที่เกิดขึ้นในเรื่อง ใช้กลยุทธต่างๆ เช่นการนำชิ้นส่วนต่างๆ ของฉากหรือตัวละครที่มองไม่เห็นในช็อตออก เพื่อลดเวลาที่จะใช้เรนเดอร์ช็อตนั้นๆ ลง “เราทำให้กระบวนการกลายเป็นเรื่องอัตโนมัติ ซึ่งเอื้อต่อความยืดหยุ่นครับ” เขากล่าว “มันทำให้ช็อตที่ก่อนหน้านี้ไม่สามารถเรนเดอร์ได้ให้กลายเป็นสามารถเรนเดอร์ได้และเพิ่มความเร็วของการเรนเดอร์อื่นๆ ขึ้นอีก 30-50 เปอร์เซ็นต์ครับ”
หนึ่งในเป้าหมายสำคัญของ “Cars 3” คือการกลับไปสู่ความรู้สึกของ “Cars” ภาคแรกอีกครั้ง ทั้งในด้านอารมณ์และภาพวิชวล “ผมคิดว่ามันมีความจริงใจและความซื่อสัตย์ในภาคแรกที่เราพยายามจะถ่ายทอดออกมา” เจเรมี ลาสกี้ ผู้กำกับภาพฝ่ายกล้องกล่าว “เคล็ดลับก็คือการรักษาหัวใจอบอุ่นนั้นพร้อมกับความสนุกสนาน สำหรับทีมของผม มันคือการเคารพสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นเรดิเอเตอร์ สปริงส์หรือฟลอริดา อินเตอร์เนชันแนล สปีดเวย์ เราต้องนำผู้ชมไปอยู่ในสถานที่พวกนั้นที่ตัวละครอาศัยอยู่ ฉากพวกนั้นก็เหมือนกับมีชีวิตแหละครับ โธมัสวิลล์เป็นบ้านของสโมคกี้ มันเป็นรังเก่าของด็อคและมันก็ทำให้ตัวละครของเรามีชีวิตอยู่นอกเฟรมครับ”
“หน้าที่ส่วนใหญ่ของเราคือการทำให้หนังเรื่องนี้ให้ความรู้สึกเหมือนว่ามันเป็นหนังไลฟ์แอ็กชัน” ลาสกี้กล่าวต่อ “แต่ตัวละครของเราเป็นเหมือนหัวยักษ์ติดล้อ เราก็เลยต้องรักษาการจัดวางตำแหน่งให้มีความสดใหม่และมีชีวิตชีวาเพื่อดึงความสนใจของผู้ชมให้อยู่กับเรื่องราวครับ”
คิม ไวท์ ผู้กำกับภาพฝ่ายแสงกล่าวว่า ทีมงานของเธอก็ทำงานโดยใช้ความคิดอ่านแบบไลฟ์แอ็กชันเช่นกัน “โลกของเราถูกสร้างขึ้นภายในคอมพิวเตอร์ ซึ่งมองเห็นทุกอย่างเป็นสามมิติ” เธอกล่าว “เราสามารถสร้างห้อง สร้างฉากและตั้งกล้องในห้องนั้นได้ แต่มันก็จะมืดจนกว่าเราจะเพิ่มแสงเข้าไป และเราก็สามารถเพิ่มแสงเข้าไปได้เมื่อไหร่ก็ตามที่เราต้องการเหมือนกับฉากไลฟ์แอ็กชัน แม้ว่าเราจะสามารถควบคุมได้มากกว่าว่าแสงพวกนั้นจะมีปฏิกิริยายังไงน่ะค่ะ”
“การให้แสงเป็นเครื่องมือที่เราใช้ในการช่วยเหลือผู้ชมให้เข้าใจถึงสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น” ไวท์กล่าวต่อ “บทกวีเป็นเรื่องของการที่คุณร้อยเรียงถ้อยคำต่างๆ เข้าด้วยกัน แสงก็คล้ายกัน เราทำการตัดสินใจที่เมื่อนำมารวมกันแล้วจะถ่ายทอดความรู้สึก เป็นความนัยที่ช่วยเสริมเลเยอร์พิเศษที่ช่วยผู้ชมในการตีความช่วงเวลาที่เกิดขึ้นครับ”
เรดิเอเตอร์ สปริงส์
แม้ว่าไลท์นิ่ง แมคควีนจะต้องดั้นด้นเดินทางไกลจากบ้านเพื่อรื้อฟื้นหาสิ่งที่ทำให้เขาเป็นรถแข่งที่ยอดเยี่ยม หัวใจของเขาก็อยู่ที่เรดิเอเตอร์ สปริงส์เสมอ แต่หลายปีมาแล้วที่บ้านเกิดของเขาไม่ได้ปรากฏบนจอเงิน “เราต้องอัพเกรดมันขึ้นเล็กน้อย” ผู้ออกแบบงานสร้างบิล โคนกล่าว “ส่วนอื่นๆ ของโลกจะมีรายละเอียดแบบที่เราสามารถสร้างได้แล้วในตอนนี้ เราก็เลยต้องพัฒนาเรดิเอเตอร์ สปริงส์ขึ้นมาให้อยู่ในหนังเรื่องเดียวกันครับ”
การแข่งรถ
สำหรับซีเควนซ์การแข่งรถทั้งหมด เจเรมี ลาสกี้และทีมงานของเขาต้องการขยายแอ็กชันออกไปอีก “เราได้ศึกษาฟุตเตจนาสคาร์มากมาย” เขากล่าว “การถ่ายทอดการแข่งรถทางโทรทัศน์ได้พัฒนาขึ้นในช่วงกว่าสิบปีที่ผ่านมานับตั้งแต่ ‘Cars’ ภาคแรก เราไม่อยากให้มันให้ความรู้สึกเหมือนว่าเราล้าหลังในเรื่องการถ่ายทอดการแข่งรถ เราอยากให้ผู้ชมรู้สึกว่ามันสมจริง แต่มันก็ยังคงเป็นสิ่งที่พวกเขาไม่เคยเห็นมาก่อน มันมีบางช่วงเวลาที่คุณจะได้เห็นในการแข่งขันนาสคาร์และบางช่วงเวลาที่เราไปตามสนามแข่งรถเพื่อเล่าเรื่องราวของตัวละครครับ”
มือลำดับภาพเจสัน ฮูดัคเองก็ทำการค้นคว้าข้อมูลคล้ายๆ กัน “ผมไปดูการแข่งขันโซโนมาและได้ดูการถ่ายทอดการแข่งขันนาสคาร์หลายครั้ง” เขากล่าว “ผมอยากจะเข้าใจไอเดียว่าอะไรที่เร็วเกินไปในแง่ของการลำดับภาพ และสิ่งที่ผู้ชมเคยชินกับการได้เห็นระหว่างการแข่งรถ ในแง่ของกล้องแล้ว มันมีสิ่งใหม่ๆ หลายเรื่องที่ตอนนี้ที่ผู้ถ่ายทอดทำโดยใช้โกโปรกับโดรนน่ะครับ”
“มีหนังแข่งรถเยี่ยมๆ อยู่หลายเรื่องครับ” ฮูดัคกล่าว “แต่เราไม่เหมือนหนังพวกนั้น เราไม่สามารถเข้าไปในรถแล้วนำเสนอภาพเคลื่อนไหวของนักแข่งรถ เช่นภาพการเปลี่ยนเกียร์และภาพคันเร่งที่ถูกเหยียบมิด แต่พวกของมุมมอง กล้องที่ติดตั้งบนบังโคลนรถเป็นแรงบันดาลใจให้เราถ่ายทำในแบบที่เราไม่เคยคิดมาก่อนครับ”
สิ่งที่ช่วยเสริมสร้างแอ็กชันในซีเควนซ์แข่งรถคือฝูงชนที่กระตือรือร้นและหลากสีสัน ซึ่งบางครั้งก็เห็นได้ชัดเจน เหมือนในซีเควนซ์เครซี เอท และบางครั้งก็มีจำนวนมหาศาล เหมือนอย่างในการแข่งขันครั้งสุดท้าย เอ็ดวิน ชาง ซูเปอร์ไวเซอร์ฝ่ายเทคนิคซิมูเลชันและฝูงชนกล่าวว่า คุณภาพในเรื่องของฝูงชนได้พัฒนาขึ้นแล้ว “รายละเอียดที่คุณจะได้เห็นจากรถใน ‘Cars’ ภาคแรกจะมีความจำกัดมากกว่าในแง่ของสิ่งที่คอมพิวเตอร์ของเราสามารถทำได้ในตอนนั้น” เขากล่าว “พอมาถึงตอนนี้ เรามีความสามารถที่จะทำอะไรๆ ได้มากขึ้น เราสามารถเพิ่มประเภทของรถยนต์เข้าไป ทั้งรถซีดาน รถคูเป้ รถบรรทุกและรถเอสยูวี และสร้างความหลากหลายให้กับการเคลื่อนไหวอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน”
ผู้กำกับศิลป์ฝ่ายกราฟิก เคร็ก ฟอสเตอร์ กล่าวว่า หนึ่งในเครื่องมือที่ทีมผู้สร้างใช้ในการถ่ายทอดความสมจริงของสนามแข่งรถของจริงคือการโฆษณา “เราคิดแบรนด์ต่างๆ ที่จะเวิร์คในโลกของ ‘Cars’ ขึ้นมา” เขากล่าว “การแข่งรถแต่ละครั้งมีชื่อและมีสปอนเซอร์ เช่นเกียร์ส แอนด์ กลอรี 450 ที่มีบัมป์ แอนด์ เซฟเป็นสปอนเซอร์ แล้วในโธมัสวิลล์สำหรับแฟลชแบ็คในช่วงวันเวลารุ่งโรจน์ของด็อค เราก็ได้ค้นคว้าเรื่องการโฆษณาในยุค 40s ทั้งสีสัน ฟอนท์ คำที่ใช้ เพื่อทำให้แน่ใจว่ามันจะกลมกลืนกับโลกใบนั้นจริงๆ น่ะครับ”
ศูนย์ฝึกรัสต์ทิส
ไลท์นิ่ง แมคควีนพบว่าตัวเองรู้สึกเคว้งคว้างนิดๆ หลังจากอุบัติเหตุครั้งใหญ่ และแซลลีก็เป็นผู้ที่เกลี้ยกล่อมให้เขาเดินหน้าต่อไป “เขาคิดว่าเขาต้องฝึกฝนเหมือนกับพวกเด็กรุ่นใหม่” มือเขียนบทบ็อบ ปีเตอร์สันกล่าว “ดัสตี้และรัสตี้ สปอนเซอร์เก่าแก่ของเขา ได้ขายบริษัทให้กับเจ้าของใหม่ สเตอร์ลิง ผู้มีทั้งอุปกรณ์และเงินทองในการสร้างศูนย์ขนาดใหญ่ขึ้นมาได้”
ศูนย์ฝึกรัสต์ทิสเป็นศูนย์ทันสมัยที่มีอุปกรณ์ไฮเทค “เราเริ่มต้นจากขนาดและรูปทรงของโรงจอดเครื่องบินครับ” โคนกล่าว “และเราก็เติมเต็มมันด้วยอุปกรณ์และเครื่องมือในแบบที่นักแข่งสมัยใหม่ต้องการ ทั้งซิมูเลเตอร์ เครื่องวิ่ง และห้องโยคะครับ”
ผู้ออกแบบงานสร้างกล่าวว่า ศูนย์แห่งนี้ได้รับแรงบันดาลใจจากโรงงานผลิตสินค้าพิเศษในยุโรป “ทุกอย่างจะเนี้ยบอย่างเหลือเชื่อ เหมือนโรงพยาบาลเลยครับ” โคนกล่าว “คุณสามารถหยิบของจากพื้นขึ้นมากินได้เลยล่ะ”
โธมัสวิลล์
ในตอนที่ไลท์นิ่ง แมคควีนตระหนักว่าบางที การฝึกฝนแบบไฮเทคอาจจะไม่ใช่กุญแจไปสู่ความสำเร็จครั้งใหม่ของเขาก็ได้ เขาก็เกิดแรงบันดาลใจในการตามหาโค้ชผู้สอนด็อค ฮัดสัน ครูของเขา เขาพบตัวเองอยู่ในโธมัสวิลล์ ที่ซึ่งอดีตหัวหน้าทีมงาน สโมคกี้ ได้เปิดโรงรถแบบเก่า “ด็อคโตมาในโธมัสวิลล์ จริงๆ แล้ว เขาลงแข่งครั้งแรกที่นั่นด้วยซ้ำไปครับ” ผู้กำกับศิลป์ฝ่ายฉาก โนอาห์ โคลเซ็คกล่าว “เราได้เดินทางไปค้นคว้าข้อมูลทางใต้ ที่ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของนาสคาร์ และใช้เวลาอยู่ทางตอนเหนือของจอร์เจียและเซาธ์ แครอไลนาครับ”
โธมัสวิลล์เป็นเมืองเล็กๆ ในชนบท ที่มีร้านอาหารแห่งเดียว มีปั๊มน้ำมันแห่งเดียว และไม่ค่อยมีอะไรอย่างอื่น คอตเตอร์ พิน ซึ่งเป็นศูนย์รวมของคนในท้องถิ่น เป็นเพียงแค่บาร์เล็กๆ ที่เนืองแน่นไปด้วยผู้คน แต่เมื่อพิจารณาจากขนาดตัวของลูกค้าแล้ว มันก็มีขนาดเท่ากับโกดังย่อมๆ เลยทีเดียว ฮัน โช ซูเปอร์ไวเซอร์ฝ่ายฉากกล่าวว่า รายละเอียดที่ทำให้มันให้ความรู้สึกเหมือนเป็นบาร์จริงๆ เป็นเรื่องทำได้ยาก “เราไม่สามารถใช้โต๊ะของคนตามปกติได้” เขากล่าว “เราก็เลยสร้างโต๊ะที่ต่ำเตี้ยติดดิน ที่มีขอบแบบที่เหมือนส่วนผสมระหว่างเคาน์เตอร์ร้านอาหารและแนวกั้นทางหลวง ซึ่งทำให้เราได้เฟอร์นิเจอร์ที่สมจริง ที่อยู่ระดับต่ำกว่าปากของตัวละครครับ ตัวบาร์เองก็เตี้ยและมีเนินแรมป์ขึ้นไปเพื่อที่รถจะสามารถแล่นไปถึงเคาน์เตอร์ได้ แทนที่จะมีป้ายเบียร์เป็นไฟนีออน มันก็จะเป็นป้ายไฟนีออนรูปน้ำมันแทน แล้วเราก็เสริมสิ่งที่เราจินตนาการว่าเป็นป้ายคอตเตอร์ พินแบบดั้งเดิมเข้าไป เพราะพวกเขาน่าจะชื่นชอบการแทนที่มันด้วยป้ายใหม่ๆ ตลอดเวลาน่ะครับ”
นักวาดภาพได้ตั้งทฤษฎีที่ว่า ตัวเมืองเองถูกสร้างขึ้นมาได้จากการแข่งรถ “แต่สนามแข่งที่นั่นปิดตัวไปนานแล้ว” โคลเซ็คกล่าว “มันถูกทิ้งว่างเปล่าและค่อนข้างจะโทรม มันมีหญ้าขึ้นรกไปหมดและทุกอย่างก็ดูเก่าแก่และซีดจางครับ” อย่างไรก็ดี สนามแข่งแห่งนี้ก็มีอดีตของตัวเองและผู้ชมก็จะได้เห็นช่วงเวลารุ่งโรจน์ของมันระหว่างช่วงเวลาเริ่มแรกของอาชีพรถแข่งของด็อค ฮัดสัน นักวาดภาพต้องออกแบบฉากนี้ขึ้นมาสองเวอร์ชัน และคำนึงถึงลักษณะของสนามแข่งแห่งนี้ในตอนที่ด็อคเริ่มแข่งรถ
ความสมจริงเป็นสิ่งสำคัญเสมอ แต่นักวาดภาพก็ปล่อยให้เรื่องราวเป็นตัวสร้างแบบดีไซน์ขึ้นมา “เราตระหนักดีว่านี่คือเรดิเอเตอร์ สปริงส์ในแบบของด็อค” โคลเซ็คกล่าว “เราอยากจะให้มันให้ความรู้สึกโหยหาอดีตแบบเดียวกันครับ”
ทีมงานฝ่ายให้แสงมีส่วนช่วยในการนำเสนอความรู้สึกโหยหาอดีตนั้น “มันเป็นสนามแข่งที่งดงามค่ะ” คิม ไวท์ ผู้กำกับภาพฝ่ายแสงกล่าว “สีสันจะถูกทำให้จืดจาง ขุ่นมัว ฉากต่างๆ จะถูกมองเห็นเป็นร่างเงาในระยะไกล นี่เป็นสนามของด็อค และเราก็อยากสร้างความรู้สึกของอดีตและความเหงาเศร้าค่ะ”
มือลำดับภาพเจสัน ฮูดัคกล่าวว่า ซีเควนซ์แฟลชแบ็คถูกใช้ตามกลยุทธเพื่อสร้างสมดุลกับฉากที่เกิดขึ้นในคอตเตอร์ พิน บาร์ท้องถิ่นที่ไลท์นิ่งและครูซได้พบกับเพื่อนเก่าบางคนของด็อค “มีรถหลายคันนั่งอยู่รอบโต๊ะ คุยถึงวันเวลาเก่าๆ” ฮูดัคกล่าว “ฉากนี้สำคัญมากในแง่ของพล็อต เพราะไลท์นิ่งได้เรียนรู้เกี่ยวกับต้นกำเนิดของอาชีพแข่งรถของด็อค แต่เรารู้สึกเหมือนเรื่องเดินช้าไปหน่อย การใส่แฟลชแบ็คของการแข่งรถเก่าๆ เข้าไปเป็นโอกาสดีในการนำเสนอรถฟาบูลัส ฮัดสัน ฮอร์เนทในช่วงเวลารุ่งโรจน์ของเขา และมันยังช่วยกระตุ้นฉากที่ค่อนข้างจะราบเรียบนี้ด้วยครับ”
เครซี เอท ดีโมลิชัน ดาร์บี้
ไลท์นิ่ง แมคควีนและครูซ รามิเรซต้องการจะมีส่วนร่วมในการแข่งขันชนดะเพื่อปลุกไฟในตัวไลท์นิ่งให้กลับมาลุกโชนอีกครั้ง โชคร้ายที่พวกเขาไปเจอกับการแข่งเครซี เอทเข้า ในการสร้างลุคและความรู้สึกที่เหมาะสมให้กับซีเควนซ์นี้ ทีมผู้สร้างได้ไปชมการแข่งขันในเวลากลางคืนที่เกิดขึ้นบนสนามดินจริงๆ “รถเปรอะเปื้อนไปด้วยดินโคลนครับ” โคนกล่าว “มันสร้างแรงบันดาลใจมากๆ เลย”
ผู้ออกแบบงานสร้างกล่าวว่า ซีเควนซ์นั้นวุ่นวายมาก “มันตลกจริงๆ เหมือนการแข่งโยนพาย ที่มีทั้งดิน โคลนและรถเพี้ยนๆ น่ะครับ”
“โคลนเป็นสิ่งที่เหลือเชื่อครับ” ผู้อำนวยการสร้างเควิน รีเฮอร์กล่าวเสริม “และปรากฏว่าการสร้างโคลนในคอมพิวเตอร์ แอนิเมชั่นก็เป็นเรื่องยากด้วย”
“โคลนดีๆ ช่วยแจ้งเกิดให้ฉากนั้นๆ ได้จริงๆ ครับ” โคลเซ็คกล่าว “เราก็เลยอุทิศเวลาให้กับการสร้างมันให้ดูดี ตัวสนามแข่งเองอยู่ภายในแอ่งหุบเขา ล้อมรอบไปด้วยต้นสน เราเพิ่มห้องน้ำเคลื่อนที่ได้ขนาดเท่ารถและเต็นท์ขายของ ที่ขายของสารพัดประเภทสำหรับรถยนต์เข้าไป จริงๆ แล้ว เราได้สร้างสถานีเติมน้ำสำหรับรถบรรทุกที่มีหน้าที่พ่นน้ำรดสนามด้วยครับ”
“มีแอ่งโคลนขนาดใหญ่อยู่ตรงกลางสนาม” ซูเปอร์ไวเซอร์ฝ่ายเอฟเฟ็กต์ จอน ริสช์กล่าวเสริม “โดยที่รถ 25 คันบุกตะลุยผ่านโคลนนั่นด้วยความเร็ว 60, 70, 80 ไมล์ต่อชั่วโมง ไอเดียของเราคือรถคันไหนก็ตามที่แล่นผ่านแอ่งโคลนยักษ์ด้วยความเร็วขนาดนั้นน่าจะติดหล่ม และมันก็มีผลลัพธ์ตามมา คุณไม่อยากจะติดอยู่ที่นั่นโดยที่มิสฟริตเตอร์ยังออกเพ่นพ่านหรอกนะครับ”
“ในแอนิเมชั่น” ริสช์กล่าว “เราอยากจะซื่อตรงต่อวัตถุดิบของเรา ซึ่งเป็นความท้าทายชิ้นใหญ่เพราะโคลนเป็นสิ่งที่รับมือได้ยาก มันไม่ใช่ของเหลว แต่ก็ไม่ใช่ของแข็งซะทีเดียว ไบรอัน [ฟี] กล่าวว่า เขาอยากได้การผสมผสานระหว่างโอ๊ทมีลข้นๆ กับซุป มันอยู่ในประเภทที่เรียกว่าของเหลวหนืด และเราก็ต้องทำงานอย่างหนักเพื่อให้ได้ความหนืดที่เหมาะสม เพื่อให้ได้โคลนเหนียวหนึบ ลื่นปรื๊ด ที่จะไม่เลอะเปื้อนตัวละครของเราจนหมดน่ะครับ”
ริสช์กล่าวว่า มีการลองผิดลองถูกหลายครั้ง การทดสอบครั้งแรกๆ ได้ผลออกมาเหมือนไอซิ่งแต่งหน้าเค้กหรือช็อคโกแลตเหลว และเมื่อได้ความหนืดและสเกลที่เหมาะสมแล้ว พวกเขาก็ร่วมมือกับแผนกต่างๆ เพื่อสร้างลุคที่เหมาะสมขึ้นมา นักวาดภาพเงาทำให้แน่ใจว่าพื้นที่ที่ล้อมรอบแอ่งโคลนนั้นจะมีความอิ่มตัวของสีและผสมผสานกลมกลืนไปกับโคลนได้ดีและนักวาดภาพให้แสงก็เพิ่มความรู้สึกของความชื้นแฉะและเงาสะท้อนเข้าไป
เจเรมี ลาสกี้ ผู้กำกับภาพฝ่ายกล้อง และทีมงานเลย์เอาท์ได้รับหน้าที่ในการวางกล้องเสมือนจริงเข้าไปท่ามกลางความโกลาหลที่เกิดขึ้น “มันมีการเคลื่อนไหวที่ซับซ้อนเกิดขึ้นมากมาย และสิ่งสำคัญคือเราต้องรู้ว่าไลท์นิ่งและครูซอยู่ตำแหน่งไหนระหว่างการแข่งรถ นอกจากนั้น เรายังต้องนำเสนอเรื่องราวของตัวละครตัวอื่นๆ พร้อมกันไปด้วย ทุกอย่างเพื่อปูพื้นไปสู่การปิดฉากที่ยิ่งใหญ่ครับ”
แม้จะมีการวางแผนอย่างรอบคอบ แต่เคล็ดลับจริงๆ ก็คือการทำให้แน่ใจว่าฉากนั้นยังคงให้ความรู้สึกวุ่นวาย สับสนอลหม่าน “มันคือเครซี เอทครับ” ลาสกี้กล่าว “เราคอยขัดเกลาอยู่เสมอเพื่อทำให้มันเวิร์ค แต่ท้ายที่สุดแล้ว มันก็จะต้องเป็นอะไรที่ดูแล้วสนุกสนาน และจะต้องมีแรงขับทางอารมณ์ที่ผลักดันตัวละครให้ไปถึงตอนจบของฉากให้ได้ครับ”
ฟลอริดา อินเตอร์เนชันแนล ซูเปอร์ สปีดเวย์
ภาพยนตร์เรื่องนี้นำเสนอการแข่งรถหลายครั้งทั่วประเทศ และทีมผู้สร้างก็ได้เพิ่มเติมรายละเอียดเข้าไปเพื่อทำให้แน่ใจว่า สนามแข่งแต่ละแห่งมีลักษณะเฉพาะตัวที่แตกต่างกันไป แต่การแข่งรถครั้งสุดท้ายในเรื่องที่เกิดขึ้นในฟลอริดาเป็นบทสรุปการเดินทางของไลท์นิ่ง แมคควีน ดังนั้น มันก็จะต้องพิเศษสุด “เราได้รับมอบหมายให้สร้างสนามแข่งที่มีความสมัยใหม่” ผู้กำกับศิลป์ฝ่ายฉากโนอาห์ โคลเซ็คกล่าว “มันเป็นตัวแทนของสิ่งที่แจ็คสัน สตอร์มและรถแข่งรุ่นใหม่ทุกคันนำมาสู่กีฬาชนิดนี้ครับ”
นักวาดภาพได้มองไปที่สนามแข่งฟอร์มูลา วันในดูไบและไต้หวัน “เราอยากให้มันเป็นสนามแข่งที่ใหญ่ที่สุดและน่าอัศจรรย์ที่สุด” โคลเซ็คกล่าว “เราตัดสินใจว่า สนามแข่งนี้เดิมจะตั้งอยู่บนชายหาดเหมือนกับเดย์โทนา สปีดเวย์ ดังนั้น สนามแข่งแห่งใหม่ก็จะต้องตอบรับกับสถานที่ตั้งริมชายฝั่งของมัน มันเป็นเหมือนชามขนาดใหญ่ที่ด้านหนึ่ง และอีกด้านหนึ่งก็จะเปิดออกให้เห็นมหาสมุทร มันมีโมเดลที่สวยงามและละเอียดยิบ มีกระจกทั่วทุกแห่ง ซึ่งเป็นไปได้ด้วยซอฟท์แวร์เรนเดอร์ใหม่ครับ”
ผู้ออกแบบงานสร้าง บิล โคนกล่าวว่า นักวาดภาพได้รับการสนับสนุนให้ทุ่มสุดฝีมือ “มันกลายเป็นฉากที่น่าตื่นตาตื่นใจตั้งแต่เริ่มต้นครับ” เขากล่าว “โลเกชันที่เก่าแก่และดีไซน์ร่วมสมัยของมันอาจจะทำให้นาสคาร์อยากจะสร้างสนามแข่งนี้ขึ้นมาก็ได้ครับ”
คิม ไวท์ ผู้กำกับภาพฝ่ายแสง กล่าวว่าการให้แสงฉากที่มีขนาดมหึมาเป็นเรื่องเหนื่อยแสนสาหัสเมื่อพิจารณาจากภายนอกที่เป็นกระจก ฉากหลังที่เป็นมหาสมุทร ขนาดมหึมาและฝูงชนขนาดใหญ่ อย่างไรก็ดี ทีมงานฝ่ายแสงลงเอยด้วยการใช้ไฟ 30,000 ดวง และทุกดวงก็ใช้งานได้ “เราใช้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงเวลาของซีเควนซ์จากกลางวันเป็นกลางคืนค่ะ” ไวท์กล่าว “เรามีแสงไฟข้างสนามที่ช่วยถ่ายทอดความรู้สึกของความเร็วในตอนที่ตัวละครกำลังแข่งรถกันอยู่และแสงจะเคลื่อนที่ผ่านตัวพวกเขาไป มันเป็นสถานที่เก่าแก่ รถเคยแข่งกันไปตามชายหาดที่นี่ แต่สิ่งต่างๆ ก็เปลี่ยนแปลงไปแล้ว ตอนนี้ มันเป็นสนามแข่งทันสมัย ไฮเทค ที่เป็นตัวแทนของทุกสิ่งที่ไลท์นิ่ง แมคควีนจะต้องรับมือกับมันค่ะ”
เล่นอีกครั้งสิ
ซาวน์แทร็คของ “Cars 3” นำเสนอเพลงประกอบใหม่
เพลงคัฟเวอร์เจ๋งๆ และดนตรีประกอบจากแรนดี้ นิวแมน
ดนตรีขับเคลื่อนโลกของ “Cars” เป็นครั้งแรกในปี 2006 ในตอนที่เพลงอย่าง “Life is a Highway” และ “Our Town” ได้ช่วยรังสรรค์ภาพในอุดมคติของโลกที่มีแต่ประชากรรถยนต์ “Cars 3” ยังคงสานต่อธรรมเนียมดั้งเดิม ด้วยการต้อนรับศิลปินหลากหลายแนวมามีส่วนร่วมในการสร้างดับเบิล ซาวน์แทร็คของเรื่อง
อัลบัมเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง “Cars 3” ประกอบด้วยเพลงแปดเพลง รวมถึงเพลงดั้งเดิมโดยแดน โอเออร์บาค, เพลงเอนด์เครดิตโดยซีซี วอร์ด, เพลงคัฟเวอร์สี่เพลงจากศิลปินต่างๆ และเพลงทำนองจากแบรด เพสลีย์ ดนตรีประกอบของเรื่องประพันธ์และควบคุมโดยแรนดี้ นิวแมน ที่ทำให้เขาได้กลับมาทำงานในแฟรนไชส์ “Cars” อีกครั้ง
“ไลท์นิ่ง แมคควีนกำลังอยู่ระหว่างการเดินทางเปลี่ยนชีวิต การเดินทางข้ามประเทศ เพื่อหวนรำลึกถึงอดีตและมองเข้าไปในจิตวิญญาณของตัวเองเพื่อตอบคำถามสำคัญบางอย่าง” ผู้กำกับไบรอัน ฟีจาก “Cars 3” กล่าว “เหมือนกับดนตรีในสองภาคแรก เพลงและดนตรีประกกอบหนังเรื่องนี้ช่วยสนับสนุนเรื่องราวที่เรากำลังเล่าได้จริงๆ ครับ”
อัลบัมเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง “Cars 3”
อัลบัมเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง “Cars 3” นำเสนอเพลง “Run That Race” เพลงออริจินอลที่แต่งและขับร้องโดยแดน โอเออร์บาค เจ้าของเก้ารางวัลแกรมมี ที่เราจะได้ยินในตอนเปิดเรื่อง “เพลงนี้เป็นเรื่องของการไม่ยอมแพ้และการพยายาอย่างดีที่สุดเสมอ” โอเออร์บาค ผู้พบกับทีมผู้สร้างก่อนหน้านั้นเพื่อแต่งเพลงนี้ กล่าว “พวกเขาโชว์ภาพสตอรีบอร์ดให้ผมดูและเล่าพล็อตหนังเรื่องนี้ให้ผมฟัง ผมได้อ่านไดอะล็อคบางส่วน และจากข้อมูลพวกนั้น ผมก็สามารถร้อยเรียงเรื่องราวในหัวออกมาเป็นเพลงนี้ได้ครับ”
โอเออร์บาคจะปล่อยอัลบัมเดี่ยวชุดที่สองของเขา Waiting on a Song ในวันที่ 2 มิถุนายน ภายใต้ค่ายเพลงใหม่ของเขา อีซี อาย ซาวน์
นอกจากนั้น อัลบัมซาวน์แทร็คชุดนี้ยังมีเพลง “Ride” เพลงเอนด์เครดิตออริจินอลที่ร้องโดยซีซี วอร์ด ศิลปินจากค่ายฮอลลีวูด เรคคอร์ดส์ ที่ฟีเจอริงกับศิลปินแกรี คลาร์ค จูเนียร์ เพลงนี้ที่เขียนโดยวอร์ด, อีวาน โบการ์ทและเดฟ บาสเซ็ทท์ ถูกจัดจำหน่ายในรูปแบบดิจิตอล ซิงเกิลโดยวอลท์ ดิสนีย์ เรคคอร์ดส์ในวันที่ 14 เมษายน มันถูกร้องแบบสดๆ โดยวอร์ดในวันที่ 17 เมษายน ในรายการ “Dancing with the Stars” ทางบีบีซี อัลบัมชุดที่สองของเขา The Storm จะวางแผงในวันที่ 30 มิถุนายน
นอกจากนั้น อัลบัมเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง “Cars 3” ยังนำเสนอเพลงคัฟเวอร์สี่เพลง รวมถึงเพลงโบนัสอีกสองเพลงด้วย *
- “Kings Highway” เดิมถูกเผยแพร่ในปี 1991 โดยทอม เพ็ตตี้ แอนด์ เดอะ ฮาร์ทเบรคเกอร์ส ถูกนำกลับมาร้องใหม่โดยนักร้อง-นักแต่งเพลงชาวอังกฤษวัย 23 ปี เจมส์ เบย์
- เพลงยอดนิยมในปี 1984 ของบรูซ สปริงสทีน “Glory Days” ถูกดัดแปลงให้ทันสมัยขึ้นโดยศิลปินผู้ได้รับการเสนอชื่อขิงรางวัลแกรมมี แอนดรา เดย์ ผู้พากย์เสียง สวีท ทีในภาพยนตร์เรื่องนี้ เธอเป็นนักแสดงในคอตเตอร์ พิน ที่มีทรงผมคล้ายกับเดย์
- *เพลงคลาสสิกปี 1965 ของเดอะ บีเทิลส์ “Drive My Car” กลับสู่ท้องถนนอีกครั้ง ด้วยฝีมือของจอร์จ บลังโก้ ศิลปินจากฮอลลีวูด เรคคอร์ดส์
- *“Freeway of Love” ที่โด่งดังในปี 1985 โดยอารีธา แฟรงค์ลิน ถูกนำมาขับร้องโดยนักแสดงหญิงลีอา เดอลาเรีย ผู้พากย์เสียงมิสฟริตเตอร์ รถโรงเรียนที่ผันตัวไปเป็นราชินีดีโมลิชัน ดาร์บี้ใน “Cars 3”
นักร้อง นักแต่งเพลง มือกีตาร์และผู้ให้ความบันเทิงเจ้าของสามรางวัลแกรมมี แบรด เพสลีย์ เจ้าของซิงเกิลอันดับหนึ่ง
24 ซิงเกิลถูกเลือกมาสร้างแทร็คบรรเลงสองเพลงที่ถูกรวมอยู่ในอัลบัมเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง “Cars 3” “Truckaroo” และ “Thunder Hollow Breakdown” ถูกเปิดคลอไปกับซีเควนซ์การแข่งเครซี เอท ที่อัดแน่นไปด้วยแอ็กชัน และทำให้ไลท์นิ่งและครูซอยู่ท่ามกลางความโกลาหล “แบรด เพสลีย์เป็นส่วนหนึ่งของทั้ง ‘Cars’ และ ‘Cars 2’ ครับ” ทอม แม็คดูกัลล์ รองประธานบริหารฝ่ายดนตรีของดิสนีย์ กล่าว “เรารู้ว่าเขาสามารถสนุกกับเครซี เอทได้และเขาก็ทำได้จริงๆ แทร็คคันทรีแบบเรียบง่ายของเขาช่วยส่งเสริมแอ็กชันและอารมณ์ขันของฉากนี้ได้จริงๆ ครับ”
อัลบัมเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง “Cars 3” จากวอลท์ ดิสนีย์ เรคคอร์ดส์ พร้อมวางแผงในวันที่ 16 มิถุนายน
ดนตรีประกอบภาพยนตร์ดั้งเดิม
นิวแมน ผู้อยู่เบื้องหลังดนตรีประกอบที่ได้รับรางวัลออสการ์ของภาพยนตร์ดิสนีย์และพิกซาร์เรื่อง “Toy Story 3” และ “Monsters, Inc.” เป็นผู้แต่งดนตรีประกอบภาพยนตร์เรื่อง “Cars” ภาคแรกและเป็นผู้แต่งเพลงที่ได้รับการเสนอชื่อชิงออสการ์อย่าง “Our Town” สำหรับ “Cars 3” นิวแมนได้รังสรรค์ดนตรีประกอบที่สะท้อนถึงหัวใจและแอ็กชันอ็อกเทนสูงของเรื่องออกมา มีแทร็คทั้งหมด 21 แทร็คถูกรวมอยู่ในอัลบัมซาวน์แทร็คชุดนี้ ตัวนักประพันธ์ผู้นี้กล่าวว่า บางช่วงตอนก็จะให้ความรู้สึกแบบลาติน ซึ่งเป็นความรู้สึกใหม่สำหรับแฟรนไชส์นี้ แต่นิวแมนก็กล่าวว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้ต้องใช้แนวทางการทำงานที่แตกต่างออกไป “ความแตกต่างอย่างหนึ่งของ ‘Cars 3’ คือเรื่องราวน้อยมากเกิดขึ้นในเรดิเอเตอร์ สปริงส์” นิวแมนกล่าว “มันก็เลยทำให้แทบไม่มีดนตรีที่สะท้อนถึงสถานที่แห่งนั้นหรือตัวละครในนั้นเลย ผมได้ใช้ดนตรีที่ถูกดัดแปลงไปจาก ‘Cars’ หน่อยๆ ในตอนที่ไบรอัน [ฟีล] อยากจะกระตุ้นความรู้สึกเก่าๆ น่ะครับ”
แม้ว่านิวแมนจะคุ้นเคยกับแฟรนไชส์นี้เป็นอย่างดี “Cars 3” ก็เป็นโอกาสครั้งแรกที่เขาได้ร่วมงานกับฟี “ไบรอันเป็นคนเก่งและผมก็รู้สึกยินดีอย่างยิ่งที่ได้ร่วมงานกับเขาครับ” นิวแมนกล่าว “มันเป็นประสบการณ์การร่วมงานกับผู้กำกับที่ยอดเยี่ยม ยิ่งเราทำงานร่วมกันมากเท่าไหร่ สัญชาตญาณของเขาเกี่ยวกับทิศทางของดนตรีและสิ่งที่มันควรจะเป็นก็ยิ่งเฉียบคมมากขึ้นครับ”
ความสัมพันธ์ระหว่างนิวแมนและพิกซาร์เริ่มต้นตั้งแต่ภาพยนตร์ปี 1995 ของสตูดิโอเรื่อง “Toy Story” แนวทางการนำเสนอฉากในภาคต่อเรื่อง “Toy Story 2” ของจอห์น ลาสเซ็ทเตอร์ ได้ถูกนำมาใช้อีกครั้งใน “Cars 3” “จอห์นบอกกับผมว่าให้ ‘เล่นกับภาพ’ ครับ” นิวแมน ผู้ปรับทำนองใหม่ให้สะท้อนถึงแอ็กชันในฉากราวกับตัวละครอยู่ในภาพยนตร์ไลฟ์แอ็กชัน กล่าว นิวแมนระลึกถึงคำแนะนำนั้นระหว่างแต่งดนตรีประกอบภาพยนตร์เรื่อง “Cars 3”
“มีฉากที่ไลท์นิ่งแล่นเข้าไปในป่าท่ามกลางเงาทะมึนของต้นไม้ มันเป็นการฝึกแข่งครั้งสุดท้ายของเขาก่อนหน้าจะลงแข่งที่ฟลอริดาครับ” นิวแมนกล่าว แทนที่จะใช้ดนตรีที่ขับเน้นถึงความสุดโต่งของฉากนี้ นิวแมนกลับถูกร้องขอให้แต่งอะไรบางอย่างที่ตรงไปตรงมา เพื่อนำไปสู่บทสรุปที่ชัดเจน
นิวแมนได้ใช้วงออร์เคสตราเครื่องดนตรี 110 ชิ้นในการบันทึกเสียงดนตรี ดนตรีประกอบภาพยนตร์เรื่อง “Cars 3” ประพันธ์และควบคุมโดยแรนดี้ นิวแมน พร้อมวางจำหน่ายโดยวอลท์ ดิสนีย์ เรคคอร์ดส์ในวันที่ 16 มิถุนายน
ประวัตินักพากย์
โอเว่น วิลสัน (พากย์เสียงไลท์นิ่ง แมคควีน) เป็นหนึ่งในนักแสดงที่ประสบความสำเร็จสูงสุดในวงการภาพยนตร์ร่วมสมัย หลังจากที่โด่งดังจากการแสดงที่น่าจดจำของเขาในภาพยนตร์กระแสหลักและภาพยนตร์อินดี้ ในปี 2011 เขาได้แสดงภาพยนตร์ที่ได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลอคาเดมี อวอร์ดโดยวู้ดดี้ อัลเลนเรื่อง “Midnight in Paris” ประกบราเชล แม็คอดัมส์และมาริยง คอติยาร์ด การแสดงของเขาในบทนักเขียนบทผู้ใฝ่ฝันจะเป็นนักเขียนนิยาย กิล เพนเดอร์ทำให้เขาได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลลูกโลกทองคำสาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยมในภาพยนตร์มิวสิคัลหรือคอเมดี
ปลายปีนี้ วิลสันจะแสดงในภาพยนตร์ที่ดัดแปลงจากนิยายโดยราเควล เจ. ปาลาซิโอ้เรื่อง “Wonder” ประกบจูเลีย โรเบิร์ตส์และจาค็อบ เทรมเบลย์ ภาพยนตร์เรื่องนี้จะเข้าฉายในวันที่ 17 พฤศจิกายน ปี 2017
ผลงานความสำเร็จอย่างต่อเนื่องในบ็อกซ์ออฟฟิศของวิลสันรวมถึง “Little Fockers” ภาคสามของแฟรนไชส์บล็อกบัสเตอร์ ประกบเบน สติลเลอร์และโรเบิร์ต เดอ นีโร, “Marley & Me” ประกบเจนนิเฟอร์ อนิสตัน ที่สร้างจากอนุทินยอดนิยมโดยจอห์น โกรแกน, แฟรนไชส์ “Night at the Museum” ประกบโรบิน วิลเลียมส์และเบน สติลเลอร์, คอเมดียอดนิยม “Wedding Crashers” ประกบวินซ์ วอห์น, โรแมนติกคอเมดีเรื่อง “You, Me and Dupree” และการพากย์เสียงบทไลท์นิ่ง แมคควีนในภาพยนตร์ดิสนีย์และพิกซาร์เรื่อง “Cars” และ “Cars 2”
วิลสันได้แสดงประกบเอเดรียน โบรดี้และเจสัน ชวอร์ทซ์แมนในภาพยนตร์ที่ได้รับเสียงวิจารณ์ชื่นชมโดยเวส แอนเดอร์สันเรื่อง “The Darjeeling Limited” เกี่ยวกับพี่น้องที่ออกเดินทางเพื่อรื้อฟื้นสายสัมพันธ์ทั่วอินเดียวิลสันได้ร่วมมือกับผู้กำกับแอนเดอร์สันเจ็ดครั้ง รวมถึงในภาพยนตร์ที่ได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลอคาเดมี อวอร์ดเรื่อง “The Grand Budapest Hotel”; “The Life Aquatic with Steve Zissou” ที่ร่วมแสดงกับบิล เมอร์เรย์และแองเจลิกา ฮูสตัน; “The Royal Tenenbaums” ซึ่งทำให้เขาและแอนเดอร์สันได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลอคาเดมี อวอร์ดสาขาบทภาพยนตร์ดั้งเดิมยอดเยี่ยม; “Rushmore” ซึ่งวิลสันร่วมเขียนบทและร่วมควบคุมงานสร้างและผลงานการกำกับเรื่องแรกของแอนเดอร์สันเรื่อง “Bottle Rocket” ซึ่งวิลสันนำแสดงและร่วมเขียนบท นอกจากนี้ เขายังได้พากย์เสียงภาพยนตร์แอนิเมชั่นที่ได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลอคาเดมี อวอร์ดของแอนเดอร์สันเรื่อง “Fantastic Mr. Fox” อีกด้วย เขาได้พากย์เสียงบทคอย ฮาร์ลิงเกนในภาพยนตร์ที่ได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลออสการ์ปี 2014 เรื่อง “Inherent Vice”
ผลงานการแสดงเรื่องอื่นๆ ของวิลสันรวมถึง “She’s Funny That Way,” “No Escape,” “The Internship,” “Free Birds,” “Are You Here,” โรแมนติกคอเมดีโดยเจมส์ แอล. บรู๊คส์เรื่อง “How Do You Know,” “The Big Year,” “Hall Pass,” “Marmaduke,” “Starsky & Hutch,” “Zoolander,” “Drillbit Taylor,” “The Wendell Baker Story,” “Shanghai Noon,” “Behind Enemy Lines,” “I Spy,” “Shanghai Knights,” “Armageddon,” “The Minus Man” และ “The Cable Guy”
คริสเตล่า อลองโซ่ (พากย์เสียงครูซ รามิเรซ) สร้างประวัติศาสตร์ในแวดวงจอแก้วด้วยการเป็นชาวลาตินคนแรกที่ได้สร้าง อำนวยการสร้างและนำแสดงในซิทคอม โดย “Cristela” ได้สร้างกระแสฮือฮาในปี 2014 เธอเปิดตัวในโลกภาพยนตร์ด้วยภาพยนตร์แอนิเมชั่นโดยโซนีเรื่อง “Angry Birds” (2015) เธอโด่งดังในแวดวงสแตนด์อัพและนับตั้งแต่นั้นมา เธอก็ได้ติดลิสต์นักแสดงคอเมดีชื่อดังมากมาย รวมถึง 10 นักแสดงตลกน่าจับตามองของวาไรตี้, 10 นักแสดงหน้าจับตามองประจำปี 2014 โดยแอลเอ วีคลีย์, 8 สาวที่คุณควรจะติดตามทางทวิตเตอร์โดยคอสโม ลาตินา, นักแสดงตลกน่าจับตามองของไทม์ เอาท์, 13 นักแสดงตลกหญิงน่าจับตามองในปี 2014 โดยคอสโมและหนึ่งในห้าสิบนักแสดงตลกที่คุณควรจะและจะรู้จักโดย Vulture.com รายการสแตนด์อัพพิเศษหนึ่งชั่วโมงรายการแรกของเธอในชื่อ “Lower Classy” กำลังแพร่ภาพอยู่ทางเน็ตฟลิกซ์
อลองโซ่ได้เปิดตัวอัลบัมสแตนด์อัพดิจิตอลชุดแรกของเธอ “Some of the Hits” ภายใต้คอเมดี เซ็นทรัล เรคคอร์ดส์ในปี 2014 “The Half Hour” การแสดงพิเศษครึ่งชั่วโมงครั้งแรกในบอสตันของเธอ แพร่ภาพครั้งแรกในเดือนมิถุนายน ปี 2013 ทางคอเมดี เซ็นทรัล ท่ามกลางเสียงวิจารณ์ชื่นชมล้นหลาม นอกจากนี้ เธอยังได้ร่วมแสดงในซีรีส์ “Conan,” “Stand-Up Revolution” โดยกาเบรียล อิเกลเซียส, “Legally Brown” ทางโชว์ไทม์, “Last Comic Standing” และ “Live at Gotham” นอกเหนือจากนั้น เธอยังได้แสดงที่งานเทศกาลดนตรีบอนนารูและเทศกาลจัสต์ ฟอร์ ลัฟส์ในมอนทรีอัลอีกด้วย
อลอนโซ หนึ่งในนักแสดงตลกสแตนด์อัพที่ได้รับความนิยมสูงสุดในกลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัย ได้ขึ้นแสดงที่งานชุมนุมนาคา (สมาพันธ์กิจกรรมนักศึกษาแห่งชาติ) ที่จัดขึ้นที่ชาร์ล็อตต์ รัฐนอร์ธ แครอไลนา และเป็นการแสดงที่ถูกร้องขอมากที่สุดของงานชุมนุม ในช่วงสามปีที่ผ่านมา เธอได้แสดงในมหาวิทยาลัยเกือบ 300 แห่ง
อลองโซ่เป็นชาวซานฮวน รัฐเท็กซัส เธออาศัยอยู่ในลอสแองเจลิส ในตอนที่เธอไม่ได้เดินทาง เธอจะแสดงตามคลับต่างๆ รวมถึงคลับประจำของเธอ เดอะ คอเมดี แอนด์ เมจิค คลับในเฮอร์โมซา บีช
คริส คูเปอร์ (พากย์เสียง สโมคกี้) กลับสู่เวทีบรอดเวย์อีกครั้งหลังจากผลงานการแสดงจอเงินที่โดดเด่นกว่าหนึ่งทศวรรษ รวมถึงการแสดงที่ได้รับรางวัลอคาเดมี อวอร์ดของเขาในบท จอห์น ลาโร้คในภาพยนตร์โดยสไปค์ โจนซ์เรื่อง “Adaptation” ในปี 2003 นอกจากนั้น เขายังได้รับรางวัลจากสมาพันธ์นักวิจารณ์ภาพยนตร์บรอดคาสต์, สมาพันธ์นักวิจารณ์ภาพยนตร์ลอสแองเจลิสและสมาพันธ์นักวิจารณ์ภาพยนตร์โตรอนโตอีกด้วย
ในเดือนธันวาคม ปี 2016 คูเปอร์ได้แสดงในภาพยนตร์ที่กำกับและเขียนบทโดยเบน เอฟเฟล็ค ที่หลายคนรอคอยเรื่อง “Live by Night” ที่เล่าเรื่องของเหล่าแก๊งสเตอร์ในยุคปราบปรามในบอสตัน นอกจากนี้ เขายังได้แสดงในภาพยนตร์ดังเรื่อง “Coming Through the Rye” ที่เขารับบทเจ.ดี. ซาลิงเกอร์ นักเขียนเจ้าของผลงาน “Catcher in the Rye” อีกด้วย เขาได้แสดงในซีรีส์ฮูลูที่ได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลเอ็มมีในปี 2016 ของเจ.เจ. อับรามส์เรื่อง “11.22.63” ที่สร้างจากหนังสือโดยสตีเฟน คิง การแสดงที่โดดเด่นของเขารวมถึงภาพยนตร์เรื่อง “Demolition,” ภาพยนตร์ที่ได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลอคาเดมี อวอร์ดเรื่อง “Joy” และภาพยนตร์ที่ได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลแซ็ก อวอร์ดเรื่อง “August: Osage County” นอกจากนี้ เขายังเป็นที่รู้จักจากการแสดงมากมายของเขาในภาพยนตร์หลายเรื่องเช่น “The Amazing Spider-Man 2,” “American Beauty,” “The Bourne Identity,” “Capote,” “Breach,” “The Patriot,” “October Sky” และ ฯลฯ
คูเปอร์ได้แสดงในละครเวทีเรื่องใหม่โดยลูคัส ฮนาธเรื่อง “A Doll’s House, Part 2” ซึ่งเขาแสดงประกบนักแสดงรางวัลเอ็มมี ลอรี เม็ทคาล์ฟ, นักแสดงรางวัลโทนี เจย์น ฮูดี้เชลและนักแสดงผู้ได้รับการเสนอชื่อชิงสองรางวัลโทนี คอนโดลา ราชัด “A Doll’s House, Part 2” ที่อำนวยการสร้างโดยสก็อต รูดิน เปิดการแสดงที่โรงละครจอห์น โกลเดนในวันที่ 27 เมษายน ปี 2017
คูเปอร์ สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนการละครแห่งมหาวิทยาลัยมิสซูรี เขาเป็นชาวเท็กซัส เขาใช้ชีวิตอยู่กับภรรยาของเขาในแมสซาซูเซทส์
นาธาน ฟิลเลียน (พากย์เสียง สเตอร์ลิง) ได้รับสี่รางวัลพีเพิลส์ ชอยส์ อวอร์ดสาขานักแสดงดรามาจอแก้วยอนิยม ล่าสุด ในปี 2016 จากการแสดงนำของเขาในซีรีส์ยอดนิยมทางเอบีซีเรื่อง “Castle” ซึ่งแพร่ภาพแปดซีซันและมีจำนวนมากกว่า 170 เอพิโซด
นอกจากนี้ เขายังรับบท ด็อกเบอร์รี หัวหน้าหน่วยรักษาความปลอดภัยไร้ฝีมือในภาพยนตร์โดยจอส วีดอนเรื่อง “Much Ado About Nothing” ที่สร้างจากละครเชคสเปียร์อีกด้วย เขาและวีดอนได้ทำงานร่วมกันมากว่าสิบปี เริ่มจากซีรีส์คัลท์เรื่อง “Firefly” ในปี 2002 แม้จะฉายได้ไม่นาน แต่ “Firefly” ก็ถูกดัดแปลเป็นภาพยนตร์ โดยที่ฟิลเลียนกลับมารับบทมัลคอล์ม เรย์โนลด์สอีกใน “Serenity” ซึ่งวีดอนเขียนบทและกำกับในปี 2005 ฟิลเลียนรับบทประจำเป็น คาเล็บในซีซันสุดท้ายของ “Buffy the Vampire Slayer” และเขาก็รับบทที่ต้องร้องเพลงครั้งแรกเป็นกัปตันแฮมเมอร์ในมิวสิคัลรางวัลเอ็มมีของวีดอนที่สร้างเสียงฮือฮาทางโลกอินเทอร์เน็ต “Dr. Horrible’s Sing-Along Blog” ประกบนีล แพทริค แฮร์ริสและเฟลิเซีย เดย์
ฟิลเลียนได้พากย์เสียง จอห์นนี เวิร์ธติงตัน ผู้นำขี้อวดของสมาคมรอร์ โอเมกา รอร์ในภาพยนตร์ดิสนีย์และพิกซาร์เรื่อง “Monsters University” ร่วมกับบิลลี คริสตัล, จอห์น กู๊ดแมนและเฮเลน เมอร์เรน นอกจากนี้ เขายังได้พากย์เสียง ตัวละครเอก โชจุน ในภาพยนตร์แอนิเมชั่นเรื่อง “Yamasong: March of the Hollows” ร่วมกับอาบิเกล เบรสลินและฟรีด้า พินโต นอกเหนือจากนั้น ฟิลเลียนยังได้พากย์เสียงนักโทษสัตว์ประหลาดใน “Guardians of the Galaxy” และไม่นานนัก เขาก็จะได้ปรากฏตัวในซีเควล “Guardians of the Galaxy Vol. 2” เป็นตัวละครใหม่ ไซมอน วิลเลียมส์ เขาได้แสดงในภาพยนตร์โดยธอร์ ฟรอยด์เดนธัลเรื่อง “Percy Jackson: Sea of Monsters” ในบทเฮอร์เมส ผู้ส่งสารของเหล่าทวยเทพ นอกจากนั้น เขายังได้เป็นผู้บรรยายของสารคดีเรื่อง “Highway of Tears” อีกด้วย
เขาได้พากย์เสียงให้กับเกมยอดนิยมมากมาย รวมถึง “Destiny” และ “Halo 5: Guardians” ซึ่งเกมหลังนี้ เขาได้กลับมาพากย์เสียง เอ็ดเวิร์ด บัค เขาได้พากย์เสียง เพรสตัน นอร์ธเวสต์ในซีรีส์แอนิเมชั่นโดยดิสนีย์เรื่อง “Gravity Falls” เขาได้ดำรงตำแหน่งผู้ควบคุมงานสร้างและรับบทแจ็ค มัวร์ใน “Con Man” ประกบนักแสดง ผู้กำกับและผู้สร้าง อลัน ทูดิ๊ค ซีรีส์เว็บเรื่องนี้กำลังแพร่ภาพซีซันที่สอง ผลงานภาพยนตร์ของฟิลเลียนรวมถึงภาพยนตร์โดยเอเดรียน เชลลีเรื่อง “Waitress” ประกบเคอรี รัสเซล, ภาพยนตร์โดยเจมส์ มอทเทิร์นเรื่อง “Trucker” ประกบมิเชลล์ โมนาแกน, ภาพยนตร์โดยเจมส์ กันน์เรื่อง “Slither” ประกบอลิซาเบธ แบงค์, ภาพยนตร์โดยแพทริค ลัสเซียร์เรื่อง “White Noise 2” และ “Dracula 2000,” ภาพยนตร์โดยสตีเวน สปีลเบิร์กเรื่อง “Saving Private Ryan” และภาพยนตร์โดยฮิวจ์ วิลสันเรื่อง “Blast from the Past”
ผลงานจอแก้วของเขารวมถึง “The Big Bang Theory,” “Drunk History” และ “Kroll Show” เขามีบทประจำในซีรีส์ “Community,” “Desperate Housewives,” “Two Guys and a Girl,” “Drive,” “Pasadena” และ “Miss Match” เขาได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลเอ็มมีจากการแสดงในดรามาช่วงกลางวันเรื่อง “One Life to Live” ฟิลเลียนเป็นชาวเอ็ดมอนตัน รัฐอัลเบอร์ตา และได้ศึกษาที่มหาวิทยาลัยอัลเบอร์ตา เขาได้แสดงละครเวทหลายเรื่องที่เทศกาลเอ็ดมอนตัน ฟรินจ์และได้แสดงกับคณะตลกในเมืองก่อนที่จะไปทำงานแสดงในนิวยอร์กและลอสแองเจลิส
แลร์รี เดอะ เคเบิล กาย (พากย์เสียง เมเตอร์) เป็นศิลปินหลายรางวัลมัลติแพลตินัม ผู้ได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลแกรมมี เจ้าของรางวัลบิลบอร์ด อวอร์ดและหนึ่งในนักแสดงตลกระดับแนวหน้าของประเทศ เขามีไลน์สินค้าของตัวเองและยังคงเปิดการแสดงที่ขายตั๋วหมดเกลี้ยงตามโรงละครและสถานที่ต่างๆ ทั่วอเมริกา แลร์รีได้สร้างมูลนิธิ กิท อาร์ ดัน ซึ่งตั้งชื่อตามประโยคเด็ดของแลร์รี และได้บริจาคเงินให้กับองค์กรการกุศลหลายแห่งกว่าเจ็ดล้านเหรียญ
แลร์รีและเจฟฟ์ ฟ็อกซ์เวิร์ธตี้กำลังอยู่ระหว่างการทัวร์ทั่วประเทศในชื่อ “We’ve Been Thinking Tour” ที่ได้รับการสนับสนุนจากอาร์เอฟดี ทีวี ทัวร์ครั้งนี้เป็นการนำเสนอเรื่องราวใหม่ๆ จากนักแสดงตลกทั้งคู่และได้แพร่ภาพทางเน็ตฟลิกซ์ในฐานะรายการคอเมดีพิเศษ นอกเหนือจากนั้น แลร์รียังได้เปิดตัวแชนแนลคอเมดีของตัวเอง “Jeff and Larry’s Comedy Roundup” ทางซิริอุสเอ็กซ์เอ็มอีกด้วย แชนแนลนี้เป็นการร่วมมือกับซิริอุสเอ็กซ์เอ็มและเจฟฟ์ ฟ็อกซ์เวิร์ธตี้ มันนำเสนอสิ่งที่ยอดเยี่ยมที่สุดในวงการคอเมดีอเมริกัน รวมถึงคู่หูคู่นี้และนักแสดงตลกคนโปรดของพวกเขาอีกด้วย
แลร์รีได้แสดงภาพยนตร์เรื่อง “Jingle All the Way 2” สำหรับฟ็อกซ์ โฮม เอนเตอร์เทนเมนต์ ภาพยนตร์เรื่องนี้ถูกจำหน่ายเป็นดีวีดีในปี 2014 และแพร่ภาพทางยูเอสเอ เน็ตเวิร์ค ผลงานภาพยนตร์ของเขารวมถึง “A Madea Christmas” (2013), “Tooth Fairy 2 (2012),” “Witless Protection” (2008), “Delta Farce” (2007) และภาพยนตร์เรื่องแรกของเขา “Larry the Cable Guy: Health Inspector” (2006) ในตอนที่ “Health Inspector” ถูกจำหน่ายเป็นดีวีดีในเดือนสิงหาคม ปี 2006 มันก็ทำยอดขายได้กว่าหนึ่งล้านก็อปปี้ภายในสัปดาห์แรกของการวางจำหน่าย
แลร์รีได้พากย์เสียงเมเตอร์ในภาพยนตร์แอนิเมชั่นรางวัลลูกโลกทองคำโดยดิสนีย์และพิกซาร์เรื่อง “Cars” (2006) และกลับมาพากย์เสียงบทเดิมอีกครั้งใน “Cars 2” (2011) ภาพยนตร์ทั้งสองเรื่องเปิดตัวที่อันดับหนึ่งในบ็อกซ์ออฟฟิศและรวมกันแล้ว กวาดรายได้ไปกว่าหนึ่งพันล้านเหรียญทั่วโลก
แลร์รีได้เป็นพิธีกรรายการ “Only in America with Larry the Cable Guy” ทางฮิสทอรี ซีรีส์นี้เปิดตัวในปี 2011 และประสบความสำเร็จเชิงเรตติ้งอย่างสูง ในแต่ละเอพิโซด แลร์รีจะเยี่ยมชมสถานที่ต่างๆ ทั่วประเทศ เผยเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ พร้อมกับนำตัวเองไปซึมซับกับวิถีชีวิต งานและงานอดิเรกใหม่ที่แตกต่าง ซึ่งยกย่องประสบการณ์ของชาวอเมริกัน รายการนี้ถูกซื้อลิขสิทธิ์เอเอ็กซ์เอส ทีวี นอกจากนี้ เขายังเป็นนักแสดงนำของซีรีส์แอนิเมชั่นทางซีเอ็มทีเรื่อง “Bounty Hunters” ซึ่งทำให้เขาได้กลับไปร่วมงานกับฟ็อกซ์เวิร์ธตี้และบิล อิงค์วัลล์อีกด้วย
ในช่วงต้นปี 2012 “Them Idiots Whirled Tour” ที่นำแสดงโดยแลร์รี, ฟ็อกซ์เวิร์ธตี้และอิงค์วัลล์ได้แพร่ภาพทางซีเอ็มที ซีรีส์นี้ได้ถูกเผยแพร่ทางดีวีดีและซีดีโดยวอร์เนอร์ บรอส./แจ็ค เรคคอร์ดส์ และเปิดตัวที่อันดับหนึ่งบนบิลบอร์ด คอเมดี ชาร์ท ในวันที่ 4 กรกฎาคม ปี 2009 ที่เมโมเรียล สตาเดียมในลินคอล์น รัฐเนบราสกา แลร์รีได้แสดงต่อหน้าแฟนๆ กว่า 50,000 คน และได้บันทึกการแสดงหนึ่งชั่วโมงของเขา “Tailgate Party” สำหรับคอเมดี เซ็นทรัลด้วย รายการนี้เป็นการขอบคุณแฟนๆ และเนบราสกาสำหรับการสนับสนุนที่ยาวนานของพวกเขา ตั๋วสำหรับรายการนี้ราคาเพียงแค่ 4 เหรียญและก็ขายหมดภายในเวลาเพียงสุดสัปดาห์เดียวเท่านั้น รายการพิเศษนี้แพร่ภาพในวันที่ 31 มกราคม ปี 2010 และดีวีดีก็ออกวางจำหน่ายในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ปี 2010 ซีดีคอเมดีชื่อเดียวกันนี้ได้เปิดตัวที่อันดับหนึ่งของบิลบอร์ด คอเมดี ชาร์ท
ในวันที่ 15 มีนาคม ปี 2009 “The Comedy Central Roast of Larry the Cable Guy” ได้ออกอากาศและซีรีส์นี้ที่ควบคุมงานสร้างโดยแลร์รี เป็นรายการที่มีเรตติ้งสูงสุดเป็นอันดับสามในประวัติศาสตร์ของคอเมดี เซ็นทรัล ด้วยยอดผู้ชม 4.1 ล้านคน นอกจากนี้ เขายังเป็นพิธีกรและผู้อำนวยการสร้างรายการพิเศษช่วงคริสต์มาสของเขาสามรายการให้กับทั้งวีเอชวันและซีเอ็มที รายการวาไรตี้ สไตล์ทั้งสามรายการนี้ประสบความสำเร็จด้านเรตติ้งอย่างสูง
เส้นทางสู่ความเป็นดาราของแลร์รีรวมถึง “Blue Collar Comedy Tour” ซึ่งทำรายได้ไปกว่า 15 ล้านเหรียญ ทีมนักแสดงตลกที่ร่วมแสดงในคอนเสิร์ตครั้งนี้รวมถึงฟ็อกซ์เวิร์ธตี้และอิงค์วัลล์ ความสำเร็จของทัวร์ครั้งนั้นนำไปสู่ “Blue Collar Comedy Tour, The Movie” ซึ่งแพร่ภาพทางคอเมดี เซ็นทรัลในเดือนพฤศจิกายน ปี 2003 และเป็นภาพยนตร์ที่ทำเรตติ้งได้สูงสุดในประวัติศาสตร์ของสถานีในขณะนั้นด้วย ดีวีดีคอนเสิร์ตครั้งนี้ทำยอดขายได้กว่าสี่ล้านก็อปปี้ ซีเควล “Blue Collar Comedy Tour Rides Again” ทำยอดขายได้กว่าสามล้านก็อปปี้ ในเดือนมีนาคม ปี 2006 หนุ่มๆ บลู คอลลาร์ กลับมารวมตัวอีกครั้งเพื่อถ่ายทำ “Blue Collar Comedy Tour, One for the Road” ในกรุงวอชิงตัน, ดีซี ที่วอร์เนอร์ เธียเตอร์ ภาพยนตร์เรื่องนี้แพร่ภาพครั้งแรกทางคอเมดี เซ็นทรัลในวันที่ 4 มิถุนายน ปี 2006 และก็โกยเรตติ้งสูงเช่นเคย ซาวน์แทร็คของเรื่องนี้ได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลแกรมมีปี 2006
อัลบัมคอเมดีชุดแรกของเขา “Lord, I Apologize” ทำยอดขายได้ถึงระดับโกลด์ ด้วยจำนวนกว่า 500,000 ก็อปปี้ ซีดีชุดนี้ครองอันดับหนึ่งในบิลบอร์ด คอเมดี ชาร์ท 15 สัปดาห์ติดต่อกัน ดีวีดีพิเศษของแลร์รีในชื่อ “Git-R-Done” ทำยอดขายได้กว่าหนึ่งล้านก็อปปี้และแตะระดับแพลตินัม นอกจากนี้ แลร์รียังได้แสดงใน “Blue Collar TV” ซีรีส์สเก็ตช์คอเมดีทางวอร์เนอร์ เน็ตเวิร์ค ซึ่งแพร่ภาพครั้งแรกในปี 2004 อีกด้วย ซีรีส์นี้ ที่มียอดผู้ชม 5.4 ล้านคนเป็นซีรีส์ที่มีผู้ชมมากที่สุดเป็นอันดับสองในช่วงนั้น
ซีดีคอเมดีของแลร์รีในชื่อ “Morning Constitutions” วางจำหน่ายในปี 2007 และเปิดตัวที่อันดับหนึ่งในบิลบอร์ด คอเมดี ชาร์ท ส่วน “The Right to Bare Arms” (แจ็ค เรคคอร์ดส์/วอร์เนอร์ บรอส. เรคคอร์ดส์) เปิดตัวที่อันดับหนึ่งในซาวน์สแกน คอเมดี ชาร์ท, อันดับหนึ่งในคันทรี ชาร์ทและอันดับ 7 ในท็อป 200 ชาร์ท นี่เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของซาวน์สแกนที่อัลบัมคอเมดีขึ้นถึงอันดับหนึ่งของชาร์ทคันทรี มันได้รับประกาศนียบัตรยืนยันยอดขายระดับโกลด์ (500,000 ก็อปปี้) โดย RIAA นอกจากนี้ “The Right to Bare Arms” ยังได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลแกรมมีอีกด้วย ซีดีคริสต์มาสชุดแรกของเขา “A Very Larry Christmas” ก็ทำยอดขายได้ถึงระดับแพลตินัม (หนึ่งล้านก็อปปี้) ด้วย
แลร์รีได้รับรางวัลศิลปินคอเมดียอดเยี่ยมแห่งปีและรางวัลอัลบัมคอเมดียอดเยี่ยมแห่งปีของบิลบอร์ดในปี 2005 เขาได้รับรางวัลบิลบอร์ด ท็อป คอเมดี ทัวร์ อวอร์ดในปี 2006
แลร์รีเป็นนักเขียนเบสต์เซลเลอร์ และหนังสือของเขา “Git-R-Done” (2005) ก็เปิดตัวที่อันดับ 26 ในลิสต์เบสต์เซลเลอร์ของนิวยอร์ก ไทม์ เขาได้รับการยกย่องให้ติดหนึ่งใน 100 คนดังของฟอร์บส์ในปี 2006, 2007, 2011 และ 2012) โดยลิสต์นี้เป็นการรวบรวมรายชื่อของบุคคลที่ร้อนแรงและประสบความสำเร็จสูงสุดในอุตสาหกรรมบันเทิง
มูลนิธิกิท อาร์ ดัน เป็นองค์กรไม่แสวงหากำไรที่ก่อตั้งขึ้นในปี 2009 โดยแลร์รี และคารา ภรรยาของเขา เพื่อเป็นศูนย์กลางในการทำการกุศลของครอบครัว มูลนิธิแห่งนี้ ที่ให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือเด็กๆ และทหารผ่านศึก ได้บริจาคเงินให้กับองค์กรต่างๆ มากมายรวมถึงโรงพยาบาลอาร์โนลด์ ปาล์มเมอร์, โอเปเรชัน โฮมฟรอนท์และโรงพยาบาลบำบัดมาดอนนา สามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.gitrdonefoundation.org
อาร์มี่ แฮมเมอร์ (พากย์เสียงแจ็คสัน สตอร์ม) ได้รับเสียงวิจารณ์ชื่นชมล้นหลามจากการแสดงในภาพยนตร์โดยลูก้า กัวแด็กนีโนเรื่อง “Call Me by Your Name” ประกบทิโมธี ชาลาเม็ต ภาพยนตร์เรื่องนี้เล่าเรื่องราวความรักระหว่าง โอลิเวอร์ ตัวละครของแฮมเมอร์และเอลิโอ ตัวละครของชาลาเม็ต ภาพยนตร์เรื่องนี้เปิดตัวในงานเทศกาลซันแดนซ์เมื่อต้นปีที่ผ่านมาและโซนี พิคเจอร์ส คลาสสิกส์ก็จะนำภาพยนตร์เรื่องนี้เข้าฉายในวันที่ 24 พฤศจิกายน
นอกจากนี้ เขายังได้รับการยกย่องจากการแสดงในภาพยนตร์โดยสแตนลีย์ ตุชชีเรื่อง “Final Portrait” ในบท เจมส์ ลอร์ด นักวิจารณ์ศิลปะชาวอเมริกันอีกด้วย บทภาพยนตร์เรื่องนี้เขียนขึ้นจากผลงาน “A Giacometti Portrait” ของตัวลอร์ดเอง ภาพยนตร์เรื่องนี้เปิดตัวในงานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเบอร์ลิน
แฮมเมอร์ได้แสดงในภาพยนตร์โดยเบน วีทลีย์เรื่อง “Free Fire” ในบท ออร์ด ภาพยนตร์เรื่องนี้มีเรื่องราวเกิดขึ้นในบอสตัน ปี 1978 และเล่าเรื่องการปะทะกันและเกมการต่อสู้เพื่อเอาชีวิตรอดระหว่างสองแก๊ง ทีมนักแสดงของเรื่องรวมถึงคิลเลียน เมอร์ฟีย์และบรี ลาร์สัน ภาพยนตร์เรื่องนี้เปิดตัวในงานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติโตรอนโตปี 2016 ได้รับรางวัลพีเพิลส์ ชอยส์ อวอร์ดสาขามิดไนท์ แมดเนส เอทเวนตี้โฟร์ได้นำภาพยนตร์เรื่องนี้เข้าฉายในวันที่ 21 เมษายน
แฮมเมอร์จะเริ่มถ่ายทำภาพยนตร์โดยวีทลีย์เรื่อง “Freak Shift” ในช่วงปลายปีนี้ นอกจากนี้ เขายังจะได้แสดงในภาพยนตร์โดยแอนโธนี มาราสเรื่อง “Hotel Mumbai” ประกบเดฟ พาเทลอีกด้วย ภาพยนตร์เรื่องนี้เล่าเรื่องราวของการก่อการร้ายที่โรงแรมทัช มาฮาล พาเลซในอินเดียโดยพวกทหารปากีสถาน ไวน์สไตน์ คัมปะนีจะนำภาพยนตร์เรื่องนี้เข้าฉายในฤดูใบไม้ร่วงปีนี้
ในปี 2016 แฮมเมอร์ได้แสดงประกบเจค จิลเลนฮัล, เอมี อดัมส์และไมเคิล แชนนอนในภาพยนตร์ที่ได้รับเสียงวิจารณ์ชื่นชมโดยทอม ฟอร์ดเรื่อง “Nocturnal Animals” โฟกัส ฟีเจอร์สได้นำภาพยนตร์เรื่องนี้เข้าฉายในวันที่ 18 พฤศจิกายน ปี 2016
นอกจากนี้ ในปี 2016 แฮมเมอร์ยังได้รับบท ซามูเอล เทิร์นเนอร์ในภาพยนตร์โดยโดยฟ็อกซ์ เสิร์ชไลท์เรื่อง “The Birth of a Nation” อีกด้วย ทีมนักแสดงของเรื่องรวมถึงเนท ปาร์คเกอร์, อาจา นาโอมิ คิงและกาเบรียล ยูเนียน ภาพยนตร์เรื่องนี้เปิดตัวในงานเทศกาลภาพยนตร์ซันแดนซ์ปี 2016 ที่ซึ่งมันขายได้ตามข้อตกลงที่สร้างสถิติให้กับเทศกาล หลังจากนั้น ภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ได้รับรางวัลแกรนด์ จูรี อวอร์ดและยูเอส ดรามาติก ออเดียนซ์ อวอร์ดจากงานเทศกาลครั้งนี้อีกด้วย ภาพยนตร์เรื่องนี้เข้าฉายในวันที่ 7 ตุลาคม ปี 2016
ในปี 2015 แฮมเมอร์ได้แสดงประกบเฮนรี คาวิลในทริลเลอร์สายลับเรื่อง “The Man from U.N.C.L.E.” ในบทสายลับรัสเซีย อิลยา คูร์ยาคินและเอเจนท์ชาวอเมริกัน นโปเลียน โซโล ตามลำดับ ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้เข้าฉายในเดือนสิงหาคม ปี 2015 โดยวอร์เนอร์ บรอส.
ในปี 2013 แฮมเมอร์ได้รับบทนำในภาพยนตร์เรื่อง “The Lone Ranger” ประกบจอห์นนี เดปป์ ภายใต้การกำกับของกอร์ เวอร์บินสกี้และอำนวยการสร้างโดยเจอร์รี บรั๊คไฮเมอร์
แฮมเมอร์ได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลแซ็ก อวอร์ดปี 2012 สาขานักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยมจากบท ไคลด์ โทลสันในภาพยนตร์ชีวประวัติของเจ. เอ็ดการ์ ฮูเวอร์โดยคลินท์ อีสต์วู้ดเรื่อง “J. Edgar” ด้วยบทภาพยนตร์โดยดัสติน แลนซ์ แบล็ค แฮมเมอร์ได้แสดงประกบลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ ภาพยนตร์เรื่องนี้ถูกนำเข้าฉายโดยวอร์เนอร์ บรอส. ในเดือนพฤศจิกายน ปี 2011
การแสดงของเขาในบทฝาแฝดวิงเคิลวอสในภาพยนตร์รางวัลเรื่อง “The Social Network” ทำให้เขาได้รับเสียงวิจารณ์ชื่นชมและส่งให้เขาเป็นหนึ่งในดาราแจ้งเกิดของฮอลลีวูดในปี 2010 ไป แฮมเมอร์ได้รับการเสนอชื่อให้เป็นนักแสดงที่มีแววมากที่สุดโดยสมาพันธ์นักวิจารณ์ภาพยนตร์แห่งชิคาโก และได้รับรางวัลสมาพันธ์นักวิจารณ์ภาพยนตร์โตรอนโตสาขานักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลแซ็ก อวอร์ดสาขาทีมนักแสดงยอดเยี่ยมและได้รับรางวัลลูกโลกทองคำสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมอีกด้วย นอกจากนี้ ภาพยนตร์เรื่องนี้ยังได้รับการยกย่องจากสมาคมนักวิจารณ์ลอสแองเจลิสและนิวยอร์ก, สมาพันธ์นักวิจารณ์ภาพยนตร์บรอดคาสต์, สมาพันธ์นักวิจารณ์แห่งชาติและติดอันดับหนึ่งในสิบภาพยนตร์ยอดเยี่ยมแห่งปีของสถาบันภาพยนตร์อเมริกันอีกด้วย
ลีอา เดลาเรีย (พากย์เสียง มิสฟริตเตอร์) อาจเป็นที่รู้จักดีที่สุดจากการแสดงในบทแคร์รี “บิ๊ก บู” แบล็คในซีรีส์ยอดนิยมทางเน็ตฟลิกซ์เรื่อง “Orange Is the New Black” ที่ทำให้เธอได้รับสองรางวัลแซ็ก อวอร์ด ผลงานหลากหลายของเธอในฐานะนักแสดงตลก นักแสดงหญิงและศิลปินแจ๊สครอบคลุมเวลาหลายทศวรรษ เธอเป็นนักแสดงตลกจอแก้วรักร่วมเพศคนแรกที่เปิดเผยตัวเองในอเมริกา ซึ่งนำไปสู่บทบาทจอแก้วและจอเงินนับไม่ถ้วนในฐานะตำรวจ ครูพละและเลสเบี้ยนที่หลงรักหญิงสาวธรรมดาแบบผิดๆ ผลงานจอแก้วที่น่าสนใจของเธอรวมถึง “Awkward,” “Clarence,” “Californication,” “The Oblongs,” “One Life to Live,” “Law & Order: SVU,” “Will and Grace,” “Friends” และ “Matlock” ผลงานภาพยนตร์ส่วนหนึ่งของเธอรวมถึง “The First Wives Club,” “Dear Dumb Diary” และ “Edge of Seventeen”
เดลาเรียได้รับรางวัลโอบีและเธียเตอร์ เวิลด์ อวอร์ดและได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลดรามา เดสก์ จากบท ฮิลดี้ ในละครเวทีเรื่อง “On the Town” โดยพับลิค เธียเตอร์และได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลโอเวชันจาก “The Boys from Syracuse” เธอรับบทเป็นทั้งเอ็ดดี้และดร.สก็อตในมิวสิคัลบรอดเวย์ที่มีการเบี่ยงเบนทางเพศเรื่อง “The Rocky Horror Picture Show”
เธอได้เป็นนักร้องหลักของงานเฉลิมฉลองเทศกาลแจ๊สนิวพอร์ตครบรอบ 50 ปีและได้แสดงตามสถานที่ที่โด่งดังที่สุดในโลกหลายแห่ง รวมถึงคาร์เนจี้ ฮอล, ลินคอล์น เซ็นเตอร์, ชิคาโก้ ซิมโฟนี, ฮอลลีวูด โบว์ล, รอยัล อัลเบิร์ต ฮอลและซิดนีย์ โอเปรา เฮาส์
เดลาเรียได้ออกอัลบัมห้าชุดกับวอร์เนอร์ แจ๊สและคลาสสิกส์และหนังสือเรื่อง “Lea’s Book of Rules for the World” ก็อยู่ระหว่างการตีพิมพ์ครั้งที่สามกับแบนทัม ดับเบิลเดย์และเดล อัลบัมชุดที่หกของเธอ “House of David delaria+bowie=jazz” วางจำหน่ายในช่วงฤดูร้อนปี 2015 ท่ามกลางเสียงวิจารณ์ชื่นชม
เคอร์รี วอชิงตัน (พากย์เสียง นาตาลี เซอร์เทน) เป็นนักแสดงหญิงมากความสามารถ ผู้ไม่กลัวใคร เธอยังคงเดินหน้าสร้างความประหลาดใจด้วยพรสวรรค์ที่ลึกล้ำของเธอ วอชิงตันเป็นชาวบรองซ์ เธอมีชื่อเสียงโด่งดังจากผลงานของเธอในวงการภาพยนตร์ โทรทัศน์และละครเวที
วอชิงตัน ผู้ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการแสดงในดรามายอดนิยมทางเอบีซีเรื่อง “Scandal” ได้ทำลายกำแพงด้วยการเป็นผู้หญิงชาวแอฟริกัน/อเมริกันคนแรกตั้งแต่ปี 1974 ที่ได้นำแสดงในซีรีส์โทรทัศน์ เธอได้รับการยกย่องในวงกว้างจากบทโอลิเวีย โป๊ป ตัวละครเอกในซีรีส์รางวัลพีบอดี้ รวมถึงได้รับการเสนอชื่อชิงสองรางวัลไพรม์ไทม์ เอ็มมี อวอร์ดในปี 2013 และ 2014 ได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลลูกโลกทองคำในปี 2014 ได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลแซ็ก อวอร์ดในปี 2014 ได้รับสองรางวัลเอ็นเอเอซีพี อิเมจ อวอร์ดในปี 2013 และ 2014 และได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลพีเพิลส์ ชอยส์ อวอร์ดปี 2015 สาขานักแสดงหญิงดรามายอดนิยม ด้วยเคมีหน้าจอที่ร้อนแรงและความแฟชันจ๋า วอชิงตันได้เปลี่ยนโอลิเวีย โป๊ปให้กลายเป็นตัวละครดัง
วอชิงตันได้แสดงในภาพยนตร์เอชบีโอเรื่อง “Confirmation” ซึ่งเธอแสดงและควบคุมงานสร้าง ในปี 2016 วอชิงตันได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลเอ็มมี รางวัลคริติกส์ ชอยส์ รางวัลเอ็นเอเอซีพี รางวัลลูกโลกทองคำและรางวัลแซ็ก อวอร์ดจากการแสดงของเธอ ภาพยนตร์เรื่องนี้เล่าเรื่องการเสนอชื่อคลาเรนซ์ โธมัสให้เป็นผู้พากศาศาลสูงในปี 1991 ซึ่งทำให้ทั่วทั้งประเทศต้องหยุดนิ่งและเปลี่ยนแปลงแนวคิดของผู้คนที่มีต่อการล่วงละเมิดทางเพศ สิทธิของเหยื่อและความสัมพันธ์ระหว่างเชื้อชาติในยุคปัจจุบันนี้ไปตลอดกาล
การแสดงที่ได้รับเสียงชื่นชมของเธอในบท บรูมฮิลดา วอน ชาฟท์ในภาพยนตร์เลือดสาด สไตล์เฉียบเรื่อง “Django Unchained” ทำให้เธอได้รับรางวัลบีอีที สาขานักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมและรางวัลเอ็นเอเอซีพี อิเมจ อวอร์ดสาขานักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม ภาพยนตร์ชิ้นโบแดงปี 2012 เรื่องนี้ของเควนติน ทารันติโน ที่นำแสดงโดยเจมี ฟ็อกซ์, ลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ, คริสตอฟ วอลซ์และซามวล แอล. แจ็คสัน ได้รับเสียงชื่นชมล้นหลาม และได้รับการเสนอชื่อชิงสี่รางวัลลูกโลกทองคำและห้ารางวัลอคาเดมี อวอร์ด
วอชิงตันได้รับบท เดลลา เบย์ โรบินสันในภาพยนตร์ที่ได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลอคาเดมี อวอร์ดปี 2004 เรื่อง “Ray” เรื่องราวของเรย์ ชาร์ลส์ ศิลปินโซลในตำนาน ที่รับบทโดยเจมี ฟ็อกซ์ การแสดงที่สร้างแรงบันดาลใจของเธอทำให้เธอได้รับรางวัลเอ็นเอเอซีพี อิเมจ อวอร์ดสาขานักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม ในปี 2006 วอชิงตันได้รับเสียงวิจารณ์ชื่นชมจากการแสดงของเธอใน “The Last King of Scotland” ในบทเคย์ภรรยาของอิดี้ อามิน ประกบนักแสดงรางวัลอคาเดมี อวอร์ด ฟอเรสต์ วิทเทคเกอร์ เธอได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลเอ็นเอเอซีพี อิเมจ อวอร์ดสาขานักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยมจากภาพยนตร์ทรงพลังที่เล่าเรื่องการปกครองโชกเลือดที่น่าเศร้าของผู้นำทางการทหารชาวอูกันด้าเรื่องนี้
ในปี 2009 เธอได้เปิดตัวบนเวทีบรอดเวย์ด้วยละครโดยเดวิด มาเม็ตเรื่อง “Race” ประกบเจมส์ สเปเดอร์และเดวิด อลัน กรีเออร์ ในดรามาตึงเครียดเกี่ยวกับทนายความสามคน สองคนเป็นคนผิวสีและอีกคนหนึ่งเป็นคนผิวขาว ผู้ต้องตัดสินใจว่าจะรับคดีของชายผิวขาวที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดกับหญิงผิวสีหรือไม่
การแสดงของวอชิงตันตลอดหลายปีที่ผ่านมาได้รับเสียงยกย่องมากมาย รวมถึงการได้รับรางวัลทีน ชอยซ์ อวอร์ดสาขาการแสดงแจ้งเกิดยอดเยี่ยมจาก “Save the Last Dance,” ได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลอินดีเพนเดนท์ สปิริต อวอร์ดสาขานักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมจาก “Lift,” ได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลเอ็นเอเอซีพี อิเมจสาขานักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมจาก “Peeples” และได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลบีอีที อวอร์ดสาขานักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมจากทั้ง “For Colored Girls” และ “Night Catches Us” โดยการแสดงในเรื่องหลังนี้ยังทำให้เธอได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลเอ็นเอเอซีพี อวอร์ดสาขานักแสดงหญิงดีเด่นอีกด้วย ผลงานภาพยนตร์ของเธอรวมถึง “Mr. & Mrs. Smith,” “Fantastic Four,” “Little Man,” “The Dead Girl,” “I Think I Love My Wife,” “She Hate Me,” “Fantastic 4: Rise of the Silver Surfer,” “Miracle at St. Anna,” “Life Is Hot in Cracktown,” “Lakeview Terrace,” “The Details,” “A Thousand Words” และ “Mother and Child”
วอชิงตันมีส่วนร่วมในการเคลื่อนไหวทางสังคมและการเมืองมากมาย ในปี 2009 เธอได้รับการแต่งตั้งจากประธานาธิบดีบารัค โอบามาให้เป็นคณะกรรมการด้านศิลปะและมนุษยศาสตร์ของประธานาธิบดี เธอเป็นผู้สนับสนุนประธานาธิบดีโอบามาที่แข็งแกร่งและเธอได้เคลื่อนไหวเพื่อสนับสนุนเขาด้วย เธอได้ขึ้นเวทีในคืนสุดท้ายของงานประชุมพรรคเดโมแครทแห่งชาติในปี 2012 เพื่อกล่าวสนับสนุนชาวเดโมแครทให้ออกมาลงคะแนนเสียง ในปี 2013 เธอได้รับรางวัลเอ็นเอเอซีพี เพรซิเดนท์ อวอร์ด ซึ่งยกย่องความสำเร็จพิเศษของเธอในการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิพลเมืองและบริการสังคม ในปี 2014 นิตยสารไทม์ได้รวมวอชิงตันให้อยู่ในลิสต์ 100 บุคคลทรงอิทธิพลที่สุดในโลกของไทม์ เธอได้รับรางวัลแกลด มีเดีย แวนการ์ด อวอร์ดในปี 2015 และเอซีแอลยู บิล ออฟ ไรท์ อวอร์ดในปี 2016
เธอเป็นทั้งแบรนด์แอมบาสเดอร์และที่ปรึกษาสร้างสรรค์ให้กับนิวโทรจีนา เธอเป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์ให้กับโมวาโด เป็นครีเอทีฟ แอมบาสเดอร์ให้กับโอพีไอและทำหน้าที่โฆษกให้กับมูลนิธิออลสเตท เพอร์เพิล เพิร์ส
มาร์โก้ มาร์ทินเดล (พากย์เสียง หลุยส์ “บาร์นสตอร์มเมอร์” แนช) เจ้าของสามรางวัลเอ็มมี เป็นหนึ่งในนักแสดงสมทบที่โด่งดังที่สุดและงานชุมที่สุด หลังจากได้แสดงอย่างยอดเยี่ยมคู่ควรกับรางวัลออสการ์ในภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์หลายเรื่องที่ผ่านๆ มา ในช่วงเวลาที่เหลือของปีนี้ก็จะเป็นโอกาสทองของมาร์ทินเดล เธอเพิ่งสร้างประวัติศาสตร์เอ็มมีด้วยการเป็นคนแรกที่ได้รับรางวัลนักแสดงหญิงรับเชิญยอดเยี่ยมในซีรีส์ดรามาสองปีติดกัน (2015 และ 2016) กการแสดงในบทครูฝึกเคจีบีสุดอันตราย คลอเดียใน “The Americans” หลังจากที่เธอได้รับบทสำคัญในซีรีส์ซีบีเอสเรื่อง “The Good Wife” ในซีซันสุดท้าย มาร์ทินเดลก็ได้รับรางวัลคริติกส์ ชอยส์ เทเลวิชัน อวอร์ดปี 2016 จากบทวิลลา อีสต์แมน นักกลยุทธการเมืองเจ้าเล่ห์
ด้านจอเงิน เมื่อเร็วๆ นี้ เธอได้แสดงประกบจอห์น คราซินสกี้ในภาพยนตร์ที่ได้รับเสียงชื่นชมอย่างสูงในเทศกาลภาพยนตร์ซันแดนซ์ปี 2016 เรื่อง “The Hollars” เธอได้รับเสียงชื่นชมมากมายจากงานเทศกาลดังกล่าวและจากนักวิจารณ์ภาพยนตร์จากการแสดงของเธอในบทหญิงสาวที่กำลังจะตายจากเนื้องอกใสมองและลูกชายผู้กลับมายังบ้านเกิดเพื่ออยู่กับเธอ หลังจากนี้ เธอจะได้แสดงประกบจิโอวานนี ริบิซีในซีรีส์ใหม่ทางอเมซอน ไพรม์เรื่อง “Sneaky Pete” ซีรีส์นี้เล่าเรื่องความสัมพันธ์ซับซ้อนระหว่างแม่และลูกชายของเธอและชีวิตอาชญากรรมของทั้งคู่ ซีรีส์นี้ ที่อำนวยการสร้างโดยไบรอัน แครนสตัน เริ่มออกอากาศในต้นปี 2017
มาร์ทินเดลได้รับรางวัลเอ็มมี อวอร์ดปี 2011 สาขานักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยมในซีรีส์ดรามาจากการแสดงยอดเยี่ยมของเธอในบท แม็กส์ เบนเน็ตต์ คุณแม่ใจร้ายในซีรีส์ดรามาทางเอฟเอ็กซ์เรื่อง “Justified” การแสดงในบทนี้ทำให้เธอได้รับรางวัลคริติกส์ ชอยส์ เทเลวิชัน อวอร์ดสาขานักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยมในซีรีส์ดรามาและได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลสมาพันธ์นักวิจารณ์โทรทัศน์ปี 2011 จากความสำเร็จในดรามาเรื่องนี้ ยูเอสเอ ทูเดย์ได้ยกย่องการแสดงของเธอว่า “ฉลาด น่าขนลุก ตลก น่าเชื่อและให้ความบันเทิงอย่างยิ่ง” และเดอะ ฮัฟฟิงตัน โพสต์ก็พูดถึงมันว่า “การแสดงจอแก้วยอดเยี่ยมแห่งปี”
มาร์ทินเดลได้แสดงประกบเกร็ก คินเนียร์ในภาพยนตร์เรื่อง “Heaven Is for Real” และเมื่อปีที่แล้ว เธอก็ได้แสดงในภาพยนตร์โดยไวน์สไตน์ คัมปะนีที่ดัดแปลงจากละครเวทีรางวัลพูลิทเซอร์ของเทรซี เล็ทส์เรื่อง “August: Osage County” ประกบเมอริล สตรีพและจูเลีย โรเบิร์ตส์ ด้านจอแก้ว เธอได้แสดงในซีรีส์ซีบีเอสเรื่อง “The Millers” ประกบวิล อาร์เน็ตต์และโบ บริดเจส
อิไซอาห์ วิทล็อค จูเนียร์ (พากย์เสียง ริเวอร์ สก็อต) เป็นนักแสดงผู้คร่ำหวอดในวงการละครเวที ภาพยนตร์และโทรทัศน์ ผลงานภาพยนตร์หลังจากนี้ของเขารวมถึงภาพยนตร์โดยสไปค์ ลีเรื่อง “She’s Gotta Have It” และภาพยนตร์โดยวอร์เนอร์ บรอส. เรื่อง “CHIPS” ที่กำกับโดยแด็กซ์ เชพเพิร์ดและเปิดตัวในเดือนมีนาคม นอกจากนี้ เขายังได้แสดงในภาพยนตร์อินดีเรื่อง “Person to Person” ที่กำกับโดยดัสติน กาย เดฟา, ภาพยนตร์อเมซอนเรื่อง “Chi-Raq” ที่กำกับโดยสไปค์ ลีและรีเมกภาพยนตร์ดิสนีย์เรื่อง “Pete’s Dragon” ที่กำกับโดยเดวิด โลเวอรี ผลงานภาพยนตร์ของวิทล็อคยังรวมถึง “Cedar Rapids” ที่กำกับโดยมิเกล อาร์เททา, “Detachment” ที่กำกับโดยโทนี เคย์ รวมถึง “The 25th Hour” และ “She Hate Me” ที่กำกับโดยลีอีกด้วย ผลงานภาพยนตร์เรื่องอื่นๆ รวมถึง “Brooklyn’s Finest,” “Twelve,” “Main Street,” “Choke,” “1408,” “Enchanted,” “Pieces of April,” “Everyone Says I Love You,” “The Spanish Prisoner,” “Eddie” และ “Goodfellas”
ด้านจอแก้ว เขาได้รับบทวุฒิสมาชิก เคลย์ เดวิสในซีรีส์ชื่อดังทางเอชบีโอเรื่อง “The Wire” เขาได้รับบทประจำในซีรีส์คอเมดีรางวัลเอ็มมีทางเอชบีโอเรื่อง “Veep” ในบทนายพลจอร์จ แม็ดด็อกซ์ รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม เขาได้ร่วมแสดงในซีรีส์สไปค์ ทีวีเรื่อง “The Mist” ซึ่งจะแพร่ภาพฤดูใบไม้ร่วงปีนี้และซีรีส์สตาร์ซเรื่อง “Survivor’s Remorse” นอกจากนี้ เขายังเป็นนักแสดงขาประจำของซีรีส์ดรามาเอบีซีเรื่อง “Lucky 7” ในบทบ็อบ แฮร์ริสอีกด้วย เขาได้แสดงในซีรีส์โทรทัศน์หลายเรื่อง รวมถึง “Elementary,” “Atlanta,” “Lucifer,” “Limitless,” “The Carmichael Show,” “Law & Order: Criminal Intent,” “Law & Order: SVU,” “The Blacklist,” “Gotham,” “Louie,” “Smash,” “The Chappelle Show,” “Rubicon,” “Meet the Browns,” “Human Giant,” “New Amsterdam,” “Madigan Men,” “Wonderland,” “New York Undercover” และสารคดีทางพีบีเอสเรื่อง “Liberty” รวมถึง “Third Watch” และ “Ed”
เขาได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลลูซิลล์ ลอร์เทล อวอร์ดปี 2002 สาขานักแสดงยอดเยี่ยมจากผลงานของเขาใน “Four” ที่ประสบความสำเร็จในการเปิดการแสดงบนเวทีออฟบรอดเวย์ที่แมนฮัตตัน เธียเตอร์ คลับ ผลงานบรอดเวย์ของเขารวมถึง “The Iceman Cometh,” “Merchant of Venice” และ “Mastergate” และผลงานออฟบรอดเวย์ของเขารวมถึง “Farragut North” (แอตแลนติก เธียเตอร์ คัมปะนี, เจฟเฟน เพลย์เฮาส์), “The Cherry Orchard,” “Everything That Rises Must Converge,” “Up Against the Wind,” “A Lesson Before Dying,” “High Life,” “Edmond,” “The American Clock,” “White Panther” และ “The Illusion” นอกจากนี้ เขายังเป็นส่วนหนึ่งของนักแสดงของละครเวทีเรื่อง “The Piano Lesson” ที่เปิดการแสดงทั่วประเทศในบทของบอย วิลลีอีกด้วย
ลูอิส แฮมิลตัน (พากย์เสียง แฮมิลตัน) นักแข่งฟอร์มูลา วันดาวรุ่งชาวอังกฤษวัย 32 ปี เป็นลูกชายของคุณแม่ชาวอังกฤษและคุณพ่อเชื้อสายเกรนาเดียน เขาเป็นผู้รักษาตำนานที่คงกระพันและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง แฮมิลตันที่เริ่มต้นจากการขับโกคาร์ทตั้งแต่อายุ 8 ขวบ ได้แสดงให้เห็นถึงความเร็วบนสนามที่เหลือเชื่อและไต่อันดับขึ้นมาได้อย่างน่าประทับใจ หลังจากก้าวข้ามการขับโกคาร์ทและฟอร์มูลา 3 ยูโร ซีรีส์แล้ว เขาก็ก้าวสู่จีพีทู ซีรีส์และเออาร์ที กรังด์ปรีซ์ ที่จริงจังมากขึ้น เขาคว้าชัยชนะได้ถึงห้าครั้งก่อนที่จะไปสู่ตำแหน่งสูงสุด หลังจากนั้น เขาก็ได้ก้าวไปสู่ฟอร์มูลา วัน ซึ่งเป็นจุดหมายสูงสุดในวงการแข่งรถ แฮมิลตันได้เปิดตัวในโลกการแข่งขันฟอร์มูลา วันเมื่ออายุได้ 22 ปี เขากลายเป็นแชมเปี้ยนโลกที่อายุน้อยที่สุดระหว่างฤดูกาลที่เขายังเป็นน้องใหม่ แฮมิลตันคว้าชัยชนะมาได้ 53 ครั้ง ทำให้เขาติดอันดับสองในลิสต์ชัยชนะที่ยอดเยี่ยมที่สุดในการแข่งขันกรังด์ปรีซ์ เขาได้รับตำแหน่งสำคัญนี้หลังจากผ่านการแข่งขันฟอร์มูลา วันมาแล้วหนึ่งในสามและเป็นนักแข่งเพียงคนเดียวที่ชนะการแข่งขันในทุกครั้งของแปดฤดูกาลแรกของเขา ในปี 2015 เขาได้คว้าตำแหน่งแชมเปี้ยนโลกได้เป็นครั้งที่สามอย่างสมบูรณ์และเป็นการทำสถิติได้เทียบเคียงกับอาร์ตัน เซนนา วีรบุรุษในวัยเด็กของเขา
ความสำเร็จนอกสนามของแฮมิลตันก็น่าทึ่งไม่แพ้กัน เขาได้รับรางวัลบุคคลกีฬาแห่งปีของบีบีซีในปี 2014 และได้รับรางวัลที่ตัดสินจากเสียงโหวตของสาธารณชน ผู้ได้รับรางวัลนี้ก่อนหน้านี้รวมถึงเดวิด เบคแฮมและแชมเปี้ยนเทนนิส แอนดี้ เมอร์เรย์ เขาได้รับการโหวตจากนิตยสารจีคิว อังกฤษว่าเป็นนักกีฬาแห่งปี 2014 และ 2015 และเป็นหนึ่งใน 100 บุคคลทรงอิทธิพลของนิตยสารไทม์ในปี 2016 และเป็นหนึ่งในสองนักกีฬาที่มีโอกาสได้ขึ้นปกนิตยสารไทม์ ซึ่งวางแผงในเดือนธันวาคม ปี 2016 แฮมิลตัน ผู้เป็นนักพูดฝีปากเยี่ยมเกี่ยวกับผลลัพธ์ของแรงขับ ความมุ่งมั่น ความอุตสาหะและความตั้งใจ ได้รับเชิญจากกูเกิลให้ขึ้นพูดที่กูเกิล ซิทจิสต์ ซึ่งเป็นงานอีเวนต์เกี่ยวกับผู้นำทางความคิดสำคัญของบริษัท ซึ่งรวบรวมซีอีโอ ผู้ทรงอิทธิพลและหุ้นส่วนของพวกเขาในภาคพื้นยุโรปกว่า 200 คนมาอยู่ในงานนี้ เขาได้พากย์เสียงรถแข่งสัญชาติอังกฤษบนเวทีระดับโลกในภาพยนตร์โดยดิสนีย์และพิกซาร์เรื่อง “Cars 2”
แฮมิลตันเป็นนักดนตรี ศิลปินและผู้ชื่นชอบกีฬาเอ็กซ์ตรีม เขาเป็นทูตของลอนดอน แฟชัน วีค เมนส์และเป็นผู้ที่คอยติดตามแถวหน้าและผู้สนับสนุนแบรนด์แฟชันใหม่ๆ และแบรนด์เก่าๆ ไม่ต่างกัน เขาเป็นพรีเซ็นเตอร์ของลอรีอัล เมน เอ็กซ์เพิร์ตในทั่วโลกและมีบทบาทในแฟรนไชส์เกมชื่อดัง Call of Duty อีกด้วย เขาเป็นซูเปอร์สตาร์ระดับโลกของแท้ ที่ยังคงความเป็นอังกฤษพอๆ กับสุนัขบุลด็อกที่เขารัก รอสโก้และโกโก้ แฟนๆ ของแฮมิลตันมีอยู่ทั่วโลกและมีจำนวนหลายล้านคน
เรย์ อีเวิร์นแฮม (พากย์เสียง เรย์ เรเวอร์แฮม) เป็นผู้ชื่นชอบรถตั้งแต่ที่เขาเริ่มแข่งรถและทำงานกับรถเมื่ออายุได้ 15 ปีในบ้านเกิดของเขาที่นิวเจอร์ซีย์ ในช่วง 20 ปีแรกของการทำงาน อีเวิร์นแฮมได้มุ่งมั่นกับการได้เป็นนักแข่งแชมเปี้ยน แต่จนกระทั่งตอนที่เขาเริ่มทำงานในซีรีส์อินเตอร์เนชันแนล เรซ ออฟ แชมเปี้ยนส์ (ไออาร์โอซี) กับนักแข่งอย่างมาริโอ แอนเดร็ตติ, เอ.เจ. ฟอยท์, เดล เอิร์นฮาร์ดท์, ดาร์เรล วอลทริปและบิล เอลเลียต เขาถึงรู้ว่าความสำเร็จในวงการแข่งรถของเขาคงไม่เกิดขึ้นหลังพวงมาลัย
ในปี 1992 ริค เฮนดริคได้มอบโอกาสให้อีเวิร์นแฮมทำหน้าที่หัวหน้าทีมงานของนักแข่งดาวรุ่งหมายเลข 24 ของทีมของเขา เจฟฟ์ กอร์ดอน และส่วนที่เหลือก็กลายเป็นเรื่องของอดีต แชมป์ถ้วยนาสคาร์สามสมัยและชัยชนะอื่นๆ อีก 47 ครั้ง รวมถึงเดย์โทนา 500 สองครั้งและบริคยาร์ด 400 ที่อินเดียนาโพลิส มอเตอร์ สปีดเวย์ด้วย
หลักการ “20 ประเด็นแห่งความสำเร็จ” ของอีเวิร์นแฮมและงานนวัตกรรมของเขากับลูกทีมเรนโบว์ วอร์ริเออร์และทีมวิศวกรได้สร้างความแปลกใหม่ให้กับบทบาทหัวหน้าทีมงานในนาสคาร์และยังคงสร้างมาตรฐานให้กับการทำงานของพวกเขามาจนถึงปัจจุบัน มอเตอร์สปอร์ต มีเดียได้ตระหนักถึงอิทธิพลของอีเวิร์นแฮมด้วยการโหวตให้เขาเป็นหัวหน้าทีมยอดเยี่ยมตลอดกาล
หลังจากซีซันปี 1999 อีเวิร์นแฮมได้อำลาตำแหน่งหัวหน้าทีมงานของเขาเพื่อรับบทบาทเจ้าของทีมที่เป็นความท้าทายใหม่ เดมเลอร์-ไครส์เลอร์ได้เลือกอีเวิร์นแฮมให้เป็นผู้นำในการเข้าสู่การแข่งขันนาสคาร์อีกครั้งของดอดจ์ และภายในเวลาไม่ถึง 500 วัน อีเวิร์นแฮมก็พัฒนาโปรแกรมการกระจายรถยนต์ เครื่องยนต์และชิ้นส่วนสำหรับดอดจ์ในการแข่งขันนาสคาร์ทั้งหมดขึ้นมา ด้วยบิล เอลเลียตนั่งอยู่หลังพวงมาลัย อีเวิร์นแฮมทำให้ดอดจ์คว้าชัยชนะในการแข่งขันเดย์โทนา 500 ปี 2001 ในซีรีส์สปรินท์ คัพครั้งแรกของพวกเขาที่เริ่มต้นขึ้นเมื่อเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา
อีเวิร์นแฮมขายหุ้นส่วนเจ้าของที่เหลืออยู่ของอีเวิร์นแฮม มอเตอร์สปอร์ตส์ของเขาออกไปในปี 2007 และได้รับการเสนอชื่อให้อยู่ในนาสคาร์ ฮอล ออฟ เฟมในปี 2015 นับตั้งแต่อำลาโรงรถของวงการรถแข่งในปี 2007 เขาก็อยู่ในสายตาของสาธารณชนในฐานะนักจัดรายการโทรทัศน์ เขาทำหน้าที่เป็นผู้วิเคราะห์การแข่งนาสคาร์กับสปีด, อีเอสพีเอ็นและเอ็นบีซีเอสเอ็น ปัจจุบัน เขาได้ถ่ายทอดความรักที่เขามีต่อรถยนต์ผ่านทางซีรีส์ “AmeriCarna” ของเขา ซึ่งเขาเป็นเจ้าของร่วม ผู้อำนวยการสร้างร่วมและพิธีกรกับเพื่อนและครูของเขา ริค เฮนดริค “AmeriCarna” กำลังแพร่ภาพซีซันที่สี่ทางเวโลซิตี้ เปิดโอกาสให้อีเวิร์นแฮมได้เผยเรื่องราวที่ไม่เคยมีการบอกเล่ามาก่อนของรถยนต์ที่ส่งอิทธิพลอย่างใหญ่หลวงต่อวัฒนธรรมอเมริกันที่เรารู้จักในปัจจุบัน
ในปี 2014 อีเวิร์นแฮมได้กลับสู่ด้านการแข่งขันของนาสคาร์อีกครั้งเพื่อทำหน้าที่ที่ปรึกษาให้กับเฮนดริค มอเตอร์สปอร์ตส์ เขาเป็นสมาชิกของทีมการจัดการบริหาร ซึ่งอีเวิร์นแฮมได้ให้ความเห็นในแง่มุมสดำคัญต่างๆ ของทีมแข่งรถและได้พบกับหัวหน้าทีมงาน นักแข่ง วิศวกรและสมาชิกคนอื่นๆ ในทีมจัดการเป็นประจำทุกสัปดาห์
ชุมชนนักแข่งรถเป็นหนึ่งในชุมชนที่มีความเอื้อเฟื้อที่สุดในบรรดากีฬาทุกชนิดและมูลนิธิอีเวิร์นแฮม แฟมิลี-เรซซิง ฟอร์ อะ รีซัน (อีเอฟอาร์เอฟเออาร์) ก็ไม่ใช่ข้อยกเว้น มูลนิธินี้มีบทบาทสำคัญในการเสนอบริการให้กับชุมชนย่านชาร์ล็อตต์ พวกเขาให้เงินทุนสนับสนุน อิกไนต์ ศูนย์ประจำชุมชนที่บริหารงานโดยสมาคมออทิสซึมแห่งนอร์ธ แครอไลนาสำหรับเยาวชนที่มีอาการออทิสติกที่มีความสามารถในระดับสูงหรือแอสเปอร์เกอร์ ซินโดรม (เอเอส) ในเมืองเดวิดสัน รัฐนอร์ธ แครอไลนา อิกไนท์เป็นโปรเจ็กต์รักของอีเวิร์นแฮมเพราะลูกชายของเขา เรย์ เจ ก็มีอาการของแอสเปอร์เกอร์ ซินโดรมเช่นกัน อิกไนต์นำเสอกิจกรรม การฝึกทักษะและเวิร์คช็อปทางการศึกษา ที่สนับสนุนอิสรภาพทางสังคม การเงิน การศึกษาและการทำงานให้กับสมาชิกของศูนย์
ประวัติทีมผู้สร้าง
ไบรอัน ฟี (กำกับโดย/เรื่องราวดั้งเดิมโดย) เข้าทำงานที่พิกซาร์ แอนิเมชั่น สตูดิโอส์ ในตำแหน่งนักวาดภาพเรื่องราวในเดือนมิถุนายน ปี 2003 ฟี ผู้เคยทำงานในภาพยนตร์ชื่อดังที่ได้รับความนิยมสูงสุดของสตูดิโอมาแล้วหลายเรื่อง รวมถึงแฟรนไชส์ “Cars,” ภาพยนตร์รางวัลอคาเดมี อวอร์ด “Ratatouille” และ “WALL•E” และ “Monsters University” ได้เปิดตัวผลงานการกำกับเรื่องแรกของเขาด้วยภาพยนตร์ใหม่จากดิสนีย์และพิกซาร์เรื่อง “Cars 3” ที่มีกำหนดเข้าฉายในวันที่ 16 มิถุนายน ปี 2017
ก่อนหน้าที่จะเข้าทำงานที่พิกซาร์ ฟีได้ทำงานในวงการแอนิเมชั่นวาดด้วยมือและการออกแบบตัวละครที่คาแรกเตอร์ บิลเดอร์สในโอไฮโอและไวลด์เบรนในซานฟรานซิสโก เขาสำเร็จการศึกษาจากโคลัมบัส คอลเลจ ออฟ อาร์ต แอนด์ ดีไซน์
ฟีเป็นชาวอเล็กซานเดรีย รัฐเคนตั๊กกี้ เขาตกหลุมรักภาพยนตร์ตั้งแต่ยังเด็กเมื่อพ่อแม่พาเขาไปโรงภาพยนตร์ไดรฟ์อินเพื่อดู “The Jungle Book” และ “Star Wars” เขาใช้ชีวิตอยู่ในเมืองเพทาลูมา รัฐแคลิฟอร์เนีย
เควิน รีเฮอร์ (อำนวยการสร้างโดย) ได้อำนวยการสร้าง “Partly Cloudy” ภาพยนตร์ขนาดสั้นภายใต้การกำกับของปีเตอร์ ซอห์น ที่ฉายก่อนหน้า “Up” ในปี 2009 ในปี 2010 เขาได้อำนวยการสร้าง “Day & Night” ภาพยนตร์ขนาดสั้นที่ได้รับการเสนอชื่อชิงอคาเดมี อวอร์ดโดยเท็ดดี้ นิวตัน ที่เข้าฉายร่วมกับ “Toy Story 3” นอกจากนี้ เขายังได้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ขนาดสั้นเรื่อง “La Luna” ซึ่งฉายพร้อมกับ “Brave” ในปี 2012 อีกด้วย
นับตั้งแต่ที่เข้าทำงานกับพิกซาร์ แอนิเมชั่น สตูดิโอส์ในปี 1993 รีเฮอร์ก็ได้ขยายบทบาทในสตูดิโอของเขาให้ครอบคลุมหลายตำแหน่ง เขาเริ่มต้นจากการเป็นตัวแทนฝ่ายงานสร้างและการเงินของวอลท์ ดิสนีย์ พิคเจอร์สในภาพยนตร์เรื่อง “Toy Story” และผู้ร่วมอำนวยการสร้างเรื่อง “A Bug’s Life” รีเฮอร์ได้เข้าทำงานที่พิกซาร์อย่างเป็นทางการในปี 1999 ในตำแหน่งผู้อำนวยการสร้างฝ่ายพัฒนา ที่ทำการดูแล “ช่วงเวลาบ่มเพาะ” โปรเจ็กต์ภาพยนตร์และภาพยนตร์ขนาดสั้น เริ่มตั้งแต่ “Finding Nemo” ที่เข้าฉายในปี 2003
ในฐานะผู้อำนวยการสร้างฝ่ายพัฒนา รีเฮอร์มีบทบาทสำคัญในการจัดการและนำทีมงานของเขาในขั้นตอนเริ่มแรกของงานสร้างภาพยนตร์ของสตูดิโอ รวมถึงเรื่องการคิดงบประมาณ ทีมงาน มือเขียนบท การค้นคว้าข้อมูล การพัฒนาภาพวิชวลและการคัดเลือกนักพากย์
นอกจากนี้ เขายังได้ดูแลกระบวนการคัดเลือกนักพากย์ของพิกซาร์ เริ่มตั้งแต่ “Finding Nemo” และ “The Incredibles” และสานต่อด้วย “Cars 2,” “Brave,” “Monsters University” และภาพยนตร์ปี 2015 ของสตูดิโอเรื่อง “Inside Out” ซึ่งได้รับรางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์แอนิเมชั่นยอดเยี่ยมและ “The Good Dinosaur”
เขาเริ่มต้นการทำงานในตำแหน่งนักบัญชีของงานสร้างในซีรีส์ “Gumby” และผู้ช่วยผู้อำนวยการสร้างใน “The Gumby Movie” จากนั้น เขาก็ได้ทำงานในภาพยนตร์ของทิม เบอร์ตันเรื่อง “The Nightmare Before Christmas” ในตำแหน่งนักบัญชีของงานสร้าง
เขาเกิดในเมืองเบลเลอวิว รัฐวอชิงตัน และเติบโตในนอร์ธเธิร์น แคลิฟอร์เนีย เขาเข้าศึกษาที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียในซาน หลุยส์ โอบิสโป และสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีในสาขาการออกแบบและวางแผนผังเมือง
แอนเดรีย วอร์เรน (ร่วมอำนวยการสร้างโดย) เข้าทำงานที่พิกซาร์ แอนิเมชั่น สตูดิโอส์ในปี 1998 ในตำแหน่งผู้ช่วยฝ่ายการตลาดงานสร้างใน “A Bug’s Life” หลังจากนั้น เธอก็ขยับไปทำงานผู้ประสานงานแผนกศิลป์ในภาพยนตร์รางวัลอคาเดมี อวอร์ดเรื่อง “Monsters, Inc.” และทำหน้าที่นักระบายสีดิจิตอลให้กับภาพยนตร์รางวัลอคาเดมี อวอร์ดเรื่อง “Finding Nemo” วอร์เรนรับหน้าที่ผู้จัดการแผนกศิลป์ให้กับภาพยนตร์รางวัลลูกโลกทองคำเรื่อง “Cars” เธอรับหน้าที่ผู้จัดการงานสร้างให้กับภาพยนตร์รางวัลอคาเดมี อวอร์ดเรื่อง “WALL•E” และ “Brave” เธอเปิดตัวผลงานการอำนวยการสร้างเรื่องแรกด้วยภาพยนตร์ขนาดสั้นเรื่อง “LAVA” ซึ่งฉายนำหน้า “Inside Out” ในปี 2015
ก่อนหน้าพิกซาร์ วอร์เรนได้ฝึกงานในภาพยนตร์โดยวอลท์ ดิสนีย์ พิคเจอร์สเรื่อง James and the Giant Peach” และเป็นบรรณาธิการเว็บให้กับจาวาซอฟท์
วอร์เรนโตขึ้นมาในซิโอ ฟอลส์ รัฐเซาธ์ดาโกต้า และเข้าศึกษาที่เวสต์มอนท์ คอลเลจ ซึ่งเป็นวิทยาลัยด้านศิลปะในซานตา บาร์บารา รัฐแคลิฟอร์เนีย วอร์เรน ผู้ชื่นชอบศิลปะการเล่าเรื่องมานาน ได้รับแรงบันดาลใจในช่วงเริ่มแรกจากหนังสือของบาบาร์, พวกมัพเพ็ทและ “Star Wars” เธอใช้ชีวิตอยู่ในเมืองอลาเมดา รัฐแคลิฟอร์เนีย กับสามีและลูกๆ สองคน
จอห์น ลาสเซ็ทเตอร์ (ผู้ควบคุมงานสร้าง) เป็นผู้ดูแลภาพยนตร์ทุกเรื่องรวมถึงโปรเจ็กต์ที่เกี่ยวข้องอื่นๆ จากวอลท์ ดิสนีย์ แอนิเมชั่น สตูดิโอส์, พิกซาร์ แอนิเมชั่น สตูดิโอส์และดิสนีย์ตูน สตูดิโอส์ และเขาก็ได้มีส่วนเกี่ยวข้องในกิจกรรมต่างๆ ที่วอลท์ ดิสนีย์ อิเมจิเนียริงอีกด้วย
ลาสเซ็ทเตอร์เปิดตัวผลงานกำกับเรื่องแรกของเขาในปี 1995 ด้วย “Toy Story” ภาพยนตร์คอมพิวเตอร์แอนิเมชั่นขนาดยาวเรื่องแรก ซึ่งทำให้เขาได้รับรางวัลออสการ์พิเศษจากความเป็นผู้นำของเขาที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับทีมงาน ทั้งนี้ เขาและทีมเขียนบทยังได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลอคาเดมี อวอร์ดสาขาบทภาพยนตร์ดั้งเดิมยอดเยี่ยม ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่ภาพยนตร์แอนิเมชั่นได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลในสาขานี้ นอกจากนี้ เขายังได้กำกับภาพยนตร์เรื่อง “A Bug’s Life” (1998), “Toy Story 2” (1999), “Cars” (2006) และ “Cars 2” (2011) อีกด้วย เขาอยู่ระหว่างการกำกับภาพยนตร์โดยดิสนีย์และพิกซาร์เรื่อง “Toy Story 4” ซึ่งมีกำหนดเข้าฉายในเดือนมิถุนายน ปี 2019
ลาสเซ็ทเตอร์ดำรงตำแหน่งผู้ควบคุมงานสร้างให้กับภาพยนตร์ที่ได้รับรางวัลออสการ์ของวอลท์ ดิสนีย์ แอนิเมชั่น สตูดิโอส์เรื่อง “Zootopia” (2016), “Big Hero 6” (2014) และ “Frozen” (2013) ซึ่งได้รับรางวัลออสการ์สาขาเพลงดั้งเดิมยอดเยี่ยมด้วยเช่นกัน (“Let It Go”) นับตั้งแต่รับหน้าที่ดูแลงานครีเอทีฟให้กับสตูดิโอแอนิเมชั่นทั้งสองแห่งในปี 2006 ลาสเซ็ทเตอร์ก็รับหน้าที่ผู้ควบคุมงานสร้างภาพยนตร์ทุกเรื่องของวอลท์ ดิสนีย์ สตูดิโอส์ รวมถึง “Bolt” (2008), “The Princess and the Frog” (2009), “Tangled” (2010), “Winnie the Pooh” (2011), “Wreck-It Ralph” (2012) และ “Moana” (2016) รวมถึง “Ralph Breaks the Internet: Wreck-It Ralph 2” ที่กำลังจะเข้าฉายด้วย นอกจากนี้ เขายังรับหน้าที่ผู้ควบคุมงานร้างของภาพยนตร์โดยดิสนีย์ตูน สตูดิโอส์ รวมถึง “Planes: Fire & Rescue” และ “Tinker Bell and the Legend of the NeverBeast” อีกด้วย
ลาสเซ็ทเตอร์ได้ควบคุมงานสร้างภาพยนตร์พิกซาร์ทุกเรื่อง นับตั้งแต่ “Monsters, Inc.” (2001) รวมถึงภาพยนตร์ที่ได้รับรางวัลอคาเดมี อวอร์ดทั้งแปดเรื่องของสตูดิโอ ได้แก่ “Finding Nemo” (2003), “The Incredibles” (2004), “Ratatouille” (2007), “WALL•E” (2008) “Up” (2009), “Toy Story 3” (2010), “Brave” (2012) และ “Inside Out” (2015) รวมถึง “The Good Dinosaur” (2015), “Finding Dory” (2016) และ “Cars 3” ในฤดูร้อนปีนี้อีกด้วย จนถึงวันนี้ ภาพยนตร์ของพิกซาร์ทำรายได้รวมกันกว่าหนึ่งหมื่นล้านเหรียญในบ็อกซ์ออฟฟิศ ด้วยภาพยนตร์ 15 เรื่องจาก 17 เรื่องที่เปิดตัวที่อันดับหนึ่ง
ลาสเซ็ทเตอร์ได้เขียนบท กำกับและสร้างแอนิเมชั่นให้กับภาพยนตร์ขนาดสั้นของพิกซาร์หลายเรื่อง ซึ่งรวมถึง “Luxo Jr.,” “Red’s Dream,” “Tin Toy” และ “Knickknack” โดย “Luxo Jr.” เป็นภาพยนตร์คอมพิวเตอร์สามมิติเรื่องแรกที่ได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลอคาเดมี อวอร์ด เมื่อมันได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลภาพยนตร์แอนิเมชั่นขนาดสั้นยอดเยี่ยมในปี 1986 และ “Tin Toy” ก็เป็นภาพยนตร์คอมพิวเตอร์สามมิติเรื่องแรกที่ได้รับรางวัลอคาเดมี อวอร์ด เมื่อมันได้รับรางวัลภาพยนตร์แอนิเมชั่นขนาดสั้นยอดเยี่ยมในปี 1988 นอกจากนี้ เขายังได้ทำหน้าที่ผู้ควบคุมงานสร้างภาพยนตร์ขนาดสั้นทุกเรื่องของสตูดิโอ ซึ่งรวมถึง “Geri’s Game” (1997) และ “For the Birds” (2000) ที่ได้รับรางวัลอคาเดมี อวอร์ด, ”La Luna” (2011), “The Blue Umbrella” (2013), “Lava” (2015), “Sanjay’s Super Team” (2015) และภาพยนตร์ขนาดสั้นที่ได้รับรางวัลออสการ์ปีที่แล้วเรื่อง “Piper” ซึ่งฉายก่อนหน้า “Finding Dory” นอกจากนี้ เขายังรับหน้าที่ผู้ควบคุมงานสร้างให้กับภาพยนตร์ขนาดสั้นโดยวอลท์ ดิสนีย์ แอนิเมชั่น สตูดิโอส์หลายเรื่อง ซึ่งรวมถึงภาพยนตร์รางวัลออสการ์เรื่อง “Feast” (2014) และ “Paperman” (2012) และ “Get A Horse!” (2013), “Frozen Fever” (2015) และ “Inner Workings” ซึ่งฉายก่อนหน้า “Moana” เมื่อปีที่แล้วอีกด้วย
ในฐานะที่ปรึกษาสร้างสรรค์หลักของวอลท์ ดิสนีย์ อิเมจิเนียริง เขามีบทบาทสำคัญในการเนรมิตชีวิตให้กับตัวละครที่รักและฉากเรดิเอเตอร์ สปริงส์สำหรับแขกผู้มาเยือนดิสนีย์แลนด์ รีสอร์ท ด้วยการเปิดตัวที่ประสบความสำเร็จในปี 2012 ของคาร์ส แลนด์ พื้นที่ขนาด 12 เอเคอร์ภายในดิสนีย์ แคลิฟอร์เนีย แอดเวนเจอร์ ปาร์ค
ในปี 2009 เขาได้รับรางวัลสิงโตทองคำสาขาความสำเร็จแห่งชีวิตจากงานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเวนิสครั้งที่ 66 ในปีถัดมา เขากลายเป็นผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์แอนิเมชั่นคนแรกที่ได้รับรางวัลเดวิด โอ. เซลส์นิค อชีฟเมนต์ อวอร์ด สาขาภาพยนตร์จากสมาพันธ์ผู้อำนวยการสร้างแห่งอเมริกา รางวัลอื่นๆ ของลาสเซ็ทเตอร์ได้แก่รางวัลคุณูปการโดดเด่นที่มีต่อภาพยนตร์ในปี 2004 จากสมาพันธ์ผู้กำกับศิลป์, ปริญญาดุษฎีกิตติมศักดิ์จากสถาบันภาพยนตร์อเมริกันและ 2008 วินเซอร์ แม็คเคย์ อวอร์ดจากอาซิฟา-ฮอลลีวูดจากความสำเร็จในการทำงานและคุณูปการที่เขามีต่อศิลปะแอนิเมชั่น
ก่อนหน้าการก่อตั้งพิกซาร์ขึ้นในปี 1986 ลาสเซ็ทเตอร์เป็นสมาชิกแผนกคอมพิวเตอร์ในลูคัสฟิล์ม ลิมิเต็ด ที่ซึ่งเขาได้ออกแบบและสร้างแอนิเมชั่นให้กับ “The Adventures of Andre and Wally B.” ตัวละคร CG สามมิติตัวแรกและ ตัวละครอัศวินกระจกแก้ว CG ในภาพยนตร์ที่อำนวยการสร้างโดยสตีเวน สปีลเบิร์กในปี 1985 เรื่อง “Young Sherlock Holmes”
ลาสเซ็ทเตอร์ได้เข้าศึกษาหลักสูตรแอนิเมชั่นตัวละครที่แคลอาร์ต และได้รับปริญญาตรีสาขาภาพยนตร์จากที่นั่นในปี 1979 ลาสเซ็ทเตอร์เป็นคนเดียวที่ได้รับรางวัลอคาเดมี อวอร์ดนักศึกษาสาขาแอนิเมชั่นสองครั้งจากผลงานเรื่อง “Lady and the Lamp” (1979) และ “Nitemare” (1980) เขาได้รับรางวัลเป็นครั้งแรกเมื่ออายุห้าขวบ เมื่อเขาได้รับเงินรางวัล 15 เหรียญจากโมเดล โกรเซอรี มาร์เก็ตในวิทเทียร์ รัฐแคลิฟอร์เนีย จากภาพวาดระบายสีคนขี่ม้าไร้หัว
คีล เมอร์เรย์ (บทภาพยนตร์โดย) เข้าทำงานที่พิกซาร์ในปี 2000 และได้ทำงานในการพัฒนาภาพยนตร์เรื่องต่างๆ เช่น “Finding Nemo” และ “The Incredibles” เธอเป็นหนึ่งในมือเขียนบทของภาพยนตร์พิกซาร์ปี 2006 เรื่อง “Cars” เธอยังได้เขียนงานอีกหลายเรื่องให้กับพิกซาร์และดิสนีย์ ก่อนที่เธอจะหวนคืนสู่โลกของรถภาพยนตร์ใหม่โดยดิสนีย์และพิกซาร์เรื่อง “Cars 3”
เมอร์เรย์อยู่ระหว่างการทำงานในภาพยนตร์ออริจินอลโดยวอลท์ ดิสนีย์ แอนิเมชั่น สตูดิโอ นอกเหนือจากการทำงานแล้ว เธอยังได้เขียนบทและกำกับภาพยนตร์ไลฟ์แอ็กชันกับสามีของเธอและใช้เวลาอยู่กับลูกๆ สามคนของพวกเขาอีกด้วย
บ็อบ ปีเตอร์สัน (บทภาพยนตร์โดย) เป็นมือเขียนบทผู้ได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลอคาเดมี อวอร์ดและผู้กำกับที่พิกซาร์ แอนิเมชั่น สตูดิโอส์และเป็นผู้พากย์เสียงตัวละครที่น่าจดจำมากมายของสตูดิโอ
ปีเตอร์สันเป็นบุคลากรคนสำคัญของพิกซาร์ตั้งแต่ปี 1994 งานแรกของเขาคือการเป็นนักวาดภาพเลย์เอาท์และอนิเมเตอร์ในภาพยนตร์เรื่อง “Toy Story” หลังจากนั้น เขาก็ได้ทำหน้าที่นักวาดภาพเรื่องราวใน “A Bug’s Life” และ “Toy Story 2” และซูเปอร์ไวเซอร์ฝ่ายเรื่องราวใน “Monsters, Inc”
ปีเตอร์สันและเพื่อนมือเขียนบทของเขา แอนดรูว์ สแตนตันและเดวิด เรย์โนลด์สได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลออสการ์สาขาบทภาพยนตร์ดั้งเดิมยอดเยี่ยมจากภาพยนตร์พิกซาร์ปี 2003 เรื่อง “Finding Nemo” นอกจากการมีส่วนร่วมในการเขียนบทภาพยนตร์ที่ได้รับรางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์แอนิเมชั่นยอดเยี่ยมเรื่องนี้ด้วย ปีเตอร์สันยังได้พากย์เสียงมิสเตอร์เรย์ ครูปลากระเบนผู้ชื่นชอบเสียงเพลง ซึ่งเขาก็ได้กลับมาพากย์เสียงบทนี้อีกครั้งใน 13 ปีให้หลังในภาพยนตร์ดิสนีย์และพิกซาร์เรื่อง “Finding Dory”
ปีเตอร์สันเปิดตัวผลงานการกำกับภาพยนตร์เรื่องแรกของเขาในฐานะผู้กำกับร่วมของภาพยนตร์รางวัลอคาเดมี อวอร์ดปี 2009 เรื่อง “Up” และได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลร่วมกับผู้กำกับพีท ด็อคเตอร์และมือเขียนบท โธมัส แม็คคาร์ธีในสาขาบทภาพยนตร์ดั้งเดิมยอดเยี่ยม นอกจากนี้ เขายังมีส่วนร่วมในการเขียนเรื่องราวสำหรับภาพยนตร์เรื่อง “The Good Dinosaur” ซึ่งเข้าฉายในเดือนพฤศจิกายน ปี 2015 อีกด้วย
นอกเหนือจากมิสเตอร์เรย์จาก “Finding Nemo” และ “Finding Dory” แล้ว ปีเตอร์สันยังได้พากย์เสียงตัวละครที่น่าจดจำของพิกซาร์อีกหลายตัว โดยเขาได้พากย์เสียงชายชราเล่นหมากรุก ตัวเอกของภาพยนตร์ขนาดสั้นเรื่อง “Geri’s Game,” บทรอซ สัตว์ประหลาดผู้หมกมุ่นกับงานเอกสารใน “Monsters, Inc.” และสุนัขแสนน่ารักและภักดีที่ชื่อดั๊กใน “Up”
ปีเตอร์สันเกิดในเมืองวูสเตอร์ รัฐโอไฮโอ และเติบโตในบรู๊คลิน รัฐนิวยอร์กและเมืองโดเวอร์ รัฐโอไฮโอ เขาสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยโอไฮโอ นอร์ธเธิร์น ระหว่างศึกษาระดับปริญญาโทในสาขาวิศวกรรมเครื่องกลที่มหาวิทยาลัยเพอร์ดิวในอินเดียนา เขาก็มีโอกาสได้ทำงานในแล็บคอมพิวเตอร์ กราฟิกเป็นครั้งแรก ที่นั่นเองที่เขาได้สัมผัสกับการเขียนการ์ตูน ด้วยการเขียนบทและวาดงานให้กับ “Loco-Motives” การ์ตูนสี่ช่องรายวันสำหรับหนังสือพิมพ์เอ็กซ์โพเนนท์ของมหาวิทยาลัยเพอร์ดิว
หลังจากสำเร็จการศึกษาจากเพอร์ดิว เขาก็ย้ายไปที่เมืองซานตา บาร์บารา รัฐแคลิฟอร์เนีย เพื่อทำงานให้กับเวฟฟรอนท์ เทคโนโลยีส์ ผู้สร้างมายา และทำงานที่เรนเนท โปรดักชันส์ในฮอลีวูด ก่อนที่จะเข้าทำงานกับพิกซาร์ในปี 1994 เขาใช้ชีวิตอยู่ในย่านเบย์ของซานฟรานซิสโก
ไมค์ ริช (บทภาพยนตร์โดย) เริ่มต้นอาชีพเขียนบทของเขาในปี 2000 เมื่อบทภาพยนตร์เรื่อง “Finding Forrester” กลายเป็นภาพยนตร์ดังในช่วงเทศกาลปีใหม่ ที่นำแสดงโดยฌอน คอนเนอรีและกำกับโดยกัส แวน แซงต์ บทภาพยนตร์เรื่องที่สองของเขา “The Rookie” นำแสดงโดยเดนนิส เควดและราเชล กริฟฟิธส์และเข้าฉายในปี 2002 ซึ่งเป็นโปรเจ็กต์แรกในหลายๆ โปรเจ็กต์ที่เขาได้ร่วมงานกับดิสนีย์ ในปีถัดา เขาได้เขียนบทภาพยนตร์เรื่อง “Radio” ซึ่งนำแสดงโดยเอ็ด แฮร์ริส, คิวบา กู๊ดดิ้ง จูเนียร์และเด็บบรา วิงเกอร์
ผลงานของเขายังรวมถึง “The Nativity Story” ที่นำแสดงโดยเคชา คาสเทิล-ฮิวจ์และออสการ์ ไอแซ็คและ “Secretariat” ภาพยนตร์ดิสนีย์ที่นำแสดงโดยไดแอน เลนและจอห์น มัลโควิช ริชและเกรซ ภรรยาของเขาอาศัยอยู่ในย่านพอร์ทแลนด์
ด้วยเพลงที่หลากหลายตั้งแต่บาดหัวใจไปจนถึงเสียดสี และดนตรีประกอบภาพยนตร์ที่ตราตรึงหัวใจ แรนดี้ นิวแมน (ดนตรีประกอบดั้งเดิมแต่งและควบคุมโดย) ได้ใช้พรสวรรค์มากมายของเขาไปกับการรังสรรค์ผลงานดนตรีมาสเตอร์พีซ ที่ได้รับการยอมรับจากผู้ชมรุ่นแล้วรุ่นเล่า
หลังจากเริ่มต้นอาชีพแต่งเพลงในตอนวัยรุ่น เขาก็เริ่มเข้าสู่ห้องบันทึกเสียงในฐานะนักร้องและนักเปียโนในปี 1968 ด้วยอัลบัมชื่อ Randy Newman ตลอดยุค 70 เขาได้ปล่อยอัลบัมชื่อดังอีกหลายชุด เช่น 12 Songs, Sail Away และ Good Old Boys นอกเหนือจากการบันทึกเสียงแบบเดี่ยวและการเปิดการแสดงทั่วโลกเป็นประจำ เขาก็เริ่มแต่งเพลงและดนตรีประกอบภาพยนตร์ในยุค 80s ผลงานภาพยนตร์ของเขารวมถึง “The Natural, Awakenings,” “Ragtime,” “Toy Story” ทั้งสามภาค, “Seabiscuit,” “James and the Giant Peach,” “A Bug’s Life,” “Cars” และ “Monsters University”
Harps and Angels ปี 2008 ภายใต้นันซัช เรคคอร์ดส์ ที่ได้รับการยกย่องอย่างสูง เป็นอัลบัมใหม่ชุดแรกของนิวแมนนับตั้งแต่ปี 1999
ในปี 2011 นันซัชได้ปล่อยไลฟ์ซีดีและดีวีดี ที่บันทึกจากการแสดงที่แอลเอสโอ เซนต์ ลุค โบสถ์แองกลิกันศตวรรษที่ 18 ในกรุงลอนดอน ที่ได้รับการบูรณะโดยลอนดอน ซิมโฟนี ออร์เคสตรา และเขาก็ได้ทำงานร่วมกับบีบีซี คอนเสิร์ต ออร์เคสตรา โดยมีโรเบิร์ต ซิกเลอร์ เป็นวาทยากร
The Randy Newman Songbook Vol. 3 ซึ่งเป็นอัลบัมชุดที่สามในซีรีส์อัลบัมโซโลเปียโน/เสียงร้องเพลงของเขาจากการทำงานหกทศวรรษของเขา ได้วางจำหน่ายในปี 2016 พร้อมกับบ็อกซ์เซ็ทที่รวมอัลบัม Songbook ทั้งสามชุดไว้ด้วยกัน
นอกเหนือจากนั้น นิวแมนยังได้ปล่อย “Putin” เพลงเสียดสีเกี่ยวกับผู้นำชื่อกระฉ่อนชาวรัสเซีย ออกมาในฤดูใบไม้ร่วงปี 2016 อีกด้วย เพลงนี้มาจากอัลบัมชุดใหม่ของเขา ที่มีกำหนดวางจำหน่ายโดยนันซัชในฤดูใบไม้ผลิปี 2017
รางวัลมากมายที่เขาได้รับรวมถึงหกรางวัลแกรมมี สามรางวัลเอ็มมีและสองรางวัลอคาเดมี อวอร์ด รวมถึงดวงดาวบนฮอลลีวูด วอล์ค ออฟ เฟม ชื่อของเขาได้รับการรวมอยู่ในซองไรเตอร์ส ฮอล ออฟ เฟม ในปี 2002 และร็อค แอนด์ โรล ฮอล ออฟ เฟมในปี 2013 ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่เขาได้รับรางวัลอิวอร์ โนเวลโล พีอาร์เอส ฟอร์ มิวสิค สเปเชียล อินเตอร์เนชันแนล อวอร์ด เขาได้รับรางวัลเพ็น นิว อิงก์แลนด์ ซอง ไลริคส์ ออฟ ลิเทราซี เอ็กซ์เซลเลนซ์ อวอร์ดในเดือนมิถุนายน ปี 2014