ADS


Breaking News

กทปส. ร่วมกับ ม.นเรศวร พัฒนาระบบแพทย์ทางไกลกับเทคโนโลยีดิจิทัลแห่งอนาคต หวังลดช่องว่างทางการแพทย์ พื้นที่ห่างไกลเข้าใกล้แพทย์เฉพาะทาง

     กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ หรือ กทปส. เดินหน้าพัฒนาระบบแพทย์ฉุกเฉินทางไกลในชนบท โดยผ่านเครือข่ายดิจิทัลความเร็วสูง ร่วมกับ มหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก พัฒนาโครงการต้นแบบต่อยอดระบบแพทย์ไกลจากเดิมให้เชื่อมโยงบน smart phone สู่ระบบ Mobile Application เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการแพทย์ในประเทศไทย ลดการกระจุกตัวของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ลดภาระค่าใช้จ่ายของประเทศ และที่สำคัญคือลดปัญหาด้านผู้ป่วย ประชาชนของประเทศเป็นสำคัญ

     นายนิพนธ์  จงวิชิต รักษาการผู้จัดการกองทุนวิจัยและพัฒนาฯ กล่าวว่า ปัญหาของระบบทางการแพทย์ไทยที่ผ่านมาและในปัจจุบัน คือ การขาดแคลนแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในพื้นที่ชนบท พื้นที่ห่างไกล เนื่องด้วยจำนวนแพทย์ที่ไม่เพียงพอและแพทย์ส่วนใหญ่อยู่ในโรงพยาบาลศูนย์ฯ โรงพยาบาลส่วนกลาง และโรงพยาบาลขนาดใหญ่ในเขตเมือง ทำให้จำนวนแพทย์เข้าไม่ถึงจำนวนผู้ป่วยในเขตพื้นที่ห่างไกล ดังนั้น กทปส. ได้เดินหน้าพัฒนาต่อยอด โครงการพัฒนาคุณภาพการให้บริการทางการแพทย์ฉุกเฉินทางไกลในชนบท โดยผ่านเครือข่ายดิจิทัลความเร็วสูง เพื่อลดช่องว่างทางการแพทย์ที่เกิดขึ้น โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลความเร็วสูง ศักยภาพของเทคโนโลยีไร้สาย สร้างจุดแข็งในการเชื่อมโยงโครงข่ายระบบแพทย์ทางไกล และให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสามารถเข้าถึงผู้ป่วยได้ทุกพื้นที่ ทุกเวลาแบบ real time
     “โดย โครงการดังกล่าว ได้ร่วมพัฒนากับมหาวิทยานเรศวร ต่อยอดการพัฒนาระบบแพทย์ทางไกลให้สามารถเชื่อมโยง รับส่งข้อมูล อีกทั้งเข้าถึงฐานข้อมูลผู้ป่วยได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งระบบเทคโนโลยีดิจิทัลความเร็วสูง จะเชื่อมต่อภาพจากการรักษา ให้กับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อตรวจรักษาผ่านระบบเชื่อมโยงด้านโทรคมนาคมเข้าสู่โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลในพื้นที่ หรือทำการเชื่อมต่อกับ smart phone ของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญปลายทาง ทำให้ลดปัญหาการขาดแคลนแพทย์ ทุกพื้นที่ในประเทศเกิดความเท่าเทียม ลดปัญหาการเสียชีวิตของประชาชน โดยการนำเอาเทคโนโลยีด้านโทรคมนาคมดิจิทัลความเร็วสูงมาพัฒนาร่วมกับระบบทางการแพทย์ ให้เกิดการพัฒนาต่อยอดอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อประโยชน์ต่อวงการแพทย์ไทยและประชาชนในประเทศอีกด้วย” นายนิพนธ์ กล่าวสรุป 
     รศ.ดร.ไพศาล มุณีสว่าง อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัย กล่าวว่า โครงการพัฒนาคุณภาพการให้บริการทางการแพทย์ฉุกเฉินทางไกลในชนบท โดยผ่านเครือข่ายดิจิทัลความเร็วสูง ถือได้ว่าเป็น Model ต้นแบบให้กับโรงพยาบาลในพื้นที่ชนบท พื้นที่ห่างไกล กับโรงพยาบาลศูนย์ฯ โรงบาลใหญ่ในพื้นที่เขตเมือง หรือ กรุงเทพมหานคร ปัจจุบันได้ทำการทดลองวางระบบ เชื่อมต่อการทำงานเข้ากับโรงยาบาลภายใต้การทำงานของมหาวิทยาลัยนเรศวร โรงพยาบาลในจังหวัดพิษณุโลก 9 แห่ง โรงพยาบาลศูนย์อีก 2 แห่ง รวมแล้ว 12 โรงพยาบาล ซึ่งมีจำนวนผู้ป่วยในระบบฐานข้อมูลกว่า 3.6 ล้านราย โดยได้ทำการศึกษาวิเคราะห์และนำโจทย์ด้านเทคโนโลยีเข้ามาผนวกใช้ ซึ่งจากปัญหาที่ได้ทำการศึกษา คือ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญไม่ได้อยู่กับที่ มีการเดินทางอยู่ตลอดเวลา ผู้ป่วยไม่สามารถที่จะรอได้ ต้องการการรักษาอย่างทันที ดังนั้น ระบบแพทย์ทางไกลที่ดีตอบโจทย์ คือ ระบบโทรศัพท์ทางไกล หรือที่เรียกว่า Mobile Application บน smart phone ที่สามารถให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเชื่อมต่อ สามารถให้คำปรึกษาได้ตลอดเวลา
     รศ.ดร.ไพศาล กล่าวอีกว่า ระบบแพทย์ไกลในการพัฒนาโครงการ ร่วมกับ กทปส. ได้ทำการศึกษาวิเคราะห์ถึงปัญหาด้านการสื่อสาร การใช้และแก้ไขด้วยระบบเทคโนโลยี การเข้าถึงแพทย์ผู้เชี่ยวชาญให้เหมาะสมทุกช่วงเวลา และพฤติกรรมส่วนใหญ่ของแพทย์ที่พร้อมให้คำปรึกษาแบบเร่งด่วนฉุกเฉิน ดังนั้น การผลักดันระบบแพทย์ทางไกลผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล ผ่าน Mobile Application บน smart phone เป็นสิ่งที่ตอบโจทย์ และด้วยเทคโนโลยีการสื่อสารปัจจุบันและในอนาคตที่มีความรวดเร็วมากขึ้น ซึ่งการพัฒนาระบบดังกล่าวได้ทำการศึกษาและให้ความสำคัญทั้งสิ้น คือ
- Data Center ระบบสัญญาณภาพ เสียง ความคมชัดและเป็นปัจจุบัน อาทิ การรักษาการอ่านภาพระบบ DICOM (Digital Imaging and Communications in Medicine) ของผู้ป่วยในลักษณะดิจิตอล โดยสามารถสื่อสารแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างการรักษาได้
- Consultant โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญผ่านโทรศัพท์ หรือ แท็บเล็ต ผ่าน VDO Call อาจเป็นการผ่าตัด หรือ กรณีผิดปรกติทางร่างกาย การตรวจครรภ์ทางไกล ด้วยเทคโนโลยี Augmented Reality (AR) ทำให้อำนวยความสะดวกในการสื่อสารระหว่างผู้รับคำปรึกษา (พยาบาล) และผู้ให้คำปรึกษา (แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ) แบบทันทีทันใด เปรียบเสมือนทั้งผู้ขอและผู้รับคำปรึกษาอยู่ในสถานที่เดียวกัน
- E-Learning การสื่อสารผ่านระบบมัลติมีเดียสามารถถ่ายทอดเรื่องราวและเนื้อหาทางการรักษา ซึ่งนักเรียนแพทย์สามารถสื่อสารกับแพทย์ที่กำลังทำการรักษาผู้ป่วยได้ และสามารถเก็บเป็นฐานข้อมูลในการศึกษาหรือตัวอย่างโรคในครั้งต่อไป
    “แนวทางในการต่อยอด การพัฒนาโครงการในอนาคต หากระบบแพทย์ทางไกลได้รับการส่งเสริมพัฒนาถึงขีดสุด คาดว่าจะสามารถลดปัญหาด้านทรัพยากรบุคคลทางการแพทย์ งบประมาณ ช่องว่างทางการรักษาได้ อาจเรียกได้ว่า “สามารถสร้างโรงพยาบาล ที่ไม่ต้องก่อสร้างอาคาร ไม่ต้องทุ่มงบประมาณ” เทคโนโลยีถือเป็นบทบาทสำคัญในการพัฒนาวงการแพทย์ ในอนาคตหากได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เทคโนโลยีการสื่อสารอาจช่วยให้ผู้ป่วยที่อยู่ที่บ้านสื่อสารกับแพทย์ได้โดยตรง แพทย์ที่เกษียณอายุอาจใช้ความรู้ความสามารถรักษาผู้ป่วยผ่านเครื่องมือการสื่อสาร หรืออาจเกิดคลินิกออนไลน์มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสื่อสารกับผู้ป่วย พิมพ์เอกสารสั่งยาผ่าน application บน smart phone ซึ่งทุกอย่างสามารถเกิดขึ้นได้ ตราบที่เทคโนโลยียังคงเดินหน้า บุคลากร นักคิด นักวิจัยยังคงขับเคลื่อน ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษายังให้การสนับสนุนเดินหน้าพัฒนาต่อไป” รศ.ดร.ไพศาล กล่าวทิ้งท้าย