ADS


Breaking News

งาน “Startup Thailand 2017 - Scale up Asia” ปิดฉากส่งท้ายสวยหรู “อรรชกา” ชี้มีความท้าทายหลายประการที่ต้องเปลี่ยนแปลงผลักดันเป็นรูปธรรม เสนอจัดเป็น ‘วาระสตาร์ทอัพ’ เร่งแก้ไขกฎระเบียบและกฎหมายเอื้อต่อทำธุรกิจ

     6 กรกฎาคม 2560 - ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพฯ / งาน “Startup Thailand 2017 - Scale up Asia” ปิดฉากส่งท้ายสวยหรูที่กรุงเทพฯ หลังจากตระเวนจัดในภูมิภาคต่างๆ 4 ภูมิภาคทั่วประเทศประสบความสำเร็จอย่างสูงพร้อมทั้งสร้างกระแสความตื่นตัวในธุรกิจ “สตาร์ทอัพ” ให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างทั้งประชาชนและนักธุรกิจในภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ “อรรชกา”ลั่นยอมรับยังมีความท้าทายอีกหลายด้านที่จำเป็นจะต้องได้รับการปรับปรุงเร่งด่วนทั้งกฎหมายและกฎระเบียบมากมายหลายอย่างเพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการจากทั่วโลก ผู้เชี่ยวชาญ และกลุ่ม Digital Nomads สามารถเข้ามาร่วมดำเนินธุรกิจกับคนไทยได้ รวมถึงเร่งการเติบโตของสตาร์ทอัพให้มีความสามารถในการขยายตลาดออกไปสู่ต่างประเทศได้


     ดร.อรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้กล่าวเนื่องในพิธีเปิดงาน Startup Thailand 2017 - Scale up Asia  ว่าปัจจุบัน เราอยู่ในยุคของการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่โดยเฉพาะทางด้านเทคโนโลยี ทำให้โลกธุรกิจเองต้องปรับตัวให้พร้อมรับต่อการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ประเทศไทยเองก็จำเป็นต้องก้าวให้ทันโลก ก้าวให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างระบบเศรษฐกิจ เพื่อเข้าสู่ยุคที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศเพื่อสร้างอนาคตที่ยั่งยืน  เราจำเป็นต้องมีนักรบใหม่ทางเศรษฐกิจ หรือ New Economic Warrior ผู้ที่จะสามารถใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการดำเนินธุรกิจ สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและเป็นตัวจักรสำคัญที่จะนำพาประเทศไทยให้ก้าวพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง


     ดร.อรรชกากล่าวต่อไปอีกว่า นักรบทางเศรษฐกิจของเรานั้นต้องประกอบด้วยทั้งผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาปรับใช้ในการดำเนินธุรกิจ สร้างฐานการเติบโตที่มั่นคง และเราจำเป็นต้องมีนักรบทางเศรษฐกิจพันธุ์ใหม่ ได้แก่ผู้ประกอบการสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพในการเติบโตอย่างก้าวกระโดด และมีความสามารถในการแข่งขันในระดับนานาชาติ นี่เองคือที่มาว่าทำไมรัฐบาลจึงจัดงาน Startup Thailand 2016 ขึ้นเมื่อปีที่แล้ว งานดังกล่าวได้สร้างกระแสความตื่นตัวในวงกว้าง กลายเป็นปรากฏการณ์ที่ทำให้ทุกภาคส่วนในสังคมหันมาสนใจในธุรกิจสตาร์ทอัพเป็นงานที่รวบรวมพันธมิตรกว่า 10 กระทรวง 50 หน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษาและหน่วยงานจากต่างประเทศ มีวิทยากรเข้าร่วมจากทั่วโลกกว่า 200 คน มีสตาร์ทอัพมารวมตัวกันมากที่สุดเป็นครั้งแรกกว่า 180 ราย และได้กลายเป็นงานสตาร์ทอัพที่มีจำนวนผู้เข้าร่วมงานกว่า 36,000 คน ซึ่งถือว่ามากที่สุดในเอเชีย ก่อให้เกิดเม็ดเงินลงทุนที่เป็นผลสืบเนื่องจากงานดังกล่าว มูลค่าสูงถึง 4,000 ล้านบาท
     จากกระแสความตื่นตัวดังกล่าว รัฐบาลได้แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาสตาร์ทอัพอย่างจริงจัง Startup Thailand จึงไม่ใช่เพียงแค่งานอีเวนต์เท่านั้น แต่เป็นนโยบายการส่งเสริมและสนับสนุนสตาร์ทอัพอย่างรอบด้าน และเพื่อให้การขับเคลื่อนสตาร์ทอัพเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม นายกรัฐมนตรีฯ ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการวิสาหกิจเริ่มต้นแห่งชาติ หรือ National Startup Committee ที่มีท่านปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธาน คณะกรรมการประกอบด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน ทำงานขับเคลื่อนผ่านคณะทำงาน 4 ด้าน ได้แก่ การสร้างความตระหนักและการรับรู้ การปรับปรุงกฎหมายและกฎระเบียบให้เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจสตาร์ทอัพ การพัฒนาระบบการบ่มเพาะผู้ประกอบการทั้งในภาครัฐและเอกชนที่เข้มแข็ง และการพัฒนามาตรการสนับสนุนและระบบแรงจูงใจเพื่อดึงดูดและขยายการลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัพ  เป้าหมายสำคัญก็เพื่อยกระดับระบบนิเวศการพัฒนาสตาร์ทอัพของไทย ให้ไม่แพ้ใครบนเวทีโลก


     ตลอด 1 ปีที่ผ่านมาที่รัฐบาลส่งเสริมการพัฒนาสตาร์ทอัพอย่างจริงจัง จนเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม ปัจจุบันเรามีสตาร์ทอัพที่อยู่ในช่วงพัฒนาแนวคิด (Idea startup) กว่า 8,000 ราย เกิดสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพและเริ่มดำเนินธุรกิจจริงอีกกว่า 1,500 รายเกิดการจ้างงานใหม่ไม่น้อยกว่า 7,500 อัตรา ซึ่งบุคลากรเหล่านี้ถือเป็นคนรุ่นใหม่ที่จะกลายเป็นกำลังแรงงานที่มีทักษะทางเทคโนโลยีและทักษะด้านความเป็นผู้ประกอบการสูงเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาประเทศยิ่งไปกว่านั้น เราเห็นการเติบโตของการลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัพในประเทศไทยที่เพิ่มขึ้นสูงจากปีก่อนกว่า 150% เกิดความสนใจในธุรกิจสตาร์ทอัพ กระจายไปในทุกภาคส่วน โดยเฉพาะในภาคเอกชนที่กิจการต่างๆ ไม่ว่าจะอยู่ในภาคผลิตหรือภาคบริการ ก็หันมาจัดตั้งกองทุนเพื่อร่วมลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัพ (Corporate Venture Capital:CVC) โดยมีมูลค่ากองทุนที่จัดตั้งขึ้นใหม่เฉพาะปีที่ผ่านมา สูงถึงกว่า 10,000 ล้านบาทนอกจากนี้ รัฐบาลยังออกมาตรการจูงใจทางภาษีสำคัญๆ เพื่อกระตุ้นและส่งเสริมการพัฒนาสตาร์ทอัพ ตั้งแต่การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 5 ปี สำหรับผู้ประกอบการสตาร์ทอัพ, การยกเว้นภาษี 8 ปีสำหรับธุรกิจ Co-working space รวมถึงการจูงใจให้เกิดกิจการร่วมลงทุน (VC) ขึ้นในประเทศไทยด้วยการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับกิจการร่วมลงทุน เป็นระยะเวลา 10 ปี ซึ่งการจะพัฒนาสตาร์ทอัพ จำเป็นต้องมีพื้นที่ให้สตาร์ทอัพได้ใช้ชีวิตและเติบโต  ดังนั้น รัฐบาลโดยกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ จึงได้ส่งเสริมให้เกิด “ย่านนวัตกรรม” หรือ Innovation District ขึ้น 10 ย่าน เพื่อให้เป็นพื้นที่สร้างนวัตกรรมและบ่มเพาะสตาร์ทอัพ


     ดร.อรรชกากล่าวอีกว่ารัฐบาลทราบดีว่าการพัฒนาสตาร์ทอัพให้เติบโตได้ จำเป็นต้องมีการลงทุนในการพัฒนาคน กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้ทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยกว่า 30 แห่งทั่วประเทศ ขับเคลื่อนสู่การเป็นมหาวิทยาลัยแห่งการประกอบการ หรือ Entrepreneurial Universities ที่จะบ่มเพาะกำลังแรงงานยุคใหม่ ที่ความคิดสร้างสรรค์ มีทักษะของการเป็นผู้ประกอบการ และมีความสามารถในการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาสร้างความเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจ และน่าดีใจที่เราได้เห็นการตื่นตัวของมหาวิทยาลัยหลายแห่งที่พร้อมสร้างการเปลี่ยนแปลง และพร้อมเข้ามามีบทบาทในการยกระดับและพัฒนาศักยภาพของสตาร์ทอัพไทย


     การดำเนินการทุกกิจกรรมในช่วงปีที่ผ่านมาถือเป็นการวางรากฐานเพื่อให้ประเทศสามารถขับเคลื่อนไปสู่การเป็นเศรษฐกิจและสังคมแห่งผู้ประกอบการ รัฐบาลมุ่งหวังให้งาน Startup Thailand กลายเป็นงานสตาร์ทอัพระดับโลก พร้อมกันนั้น ประเทศไทยก็พร้อมที่จะร่วมมือกับทุกประเทศ และเปิดโอกาสให้สตาร์ทอัพจากทั่วภูมิภาคเอเชียและทั่วโลกเข้ามาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และทำงานร่วมกับผู้ประกอบการไทย นักลงทุนไทย เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ    


     “แม้ว่ารัฐบาล หน่วยงานภาคเอกชน ภาคการศึกษาและประชาคมสตาร์ทอัพ จะร่วมกันช่วยขับเคลื่อนนโยบาย Startup Thailand ไปจนเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมหลายด้านแล้ว แต่เรายังมีความท้าทายอีกหลายประการ เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดกับโครงสร้างเศรษฐกิจประเทศไปสู่การขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม  ความท้าทายประการแรก  การปรับปรุงกฎหมายและกฎระเบียบอย่างเร่งด่วน ซึ่งในปีที่ผ่านมาคณะกรรมการวิสาหกิจเริ่มต้นแห่งชาติ ได้ให้ความเห็นชอบข้อเสนอการแก้ไขประมวลแพ่งและพาณิชย์ เพื่อรองรับการทำงานของสตาร์ทอัพ เช่น การอนุญาตให้สตาร์ทอัพสามารถให้หุ้นแก่พนักงาน (Earning Stock Options)ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้มีความสามารถและทักษะสูงสามารถเข้ามาทำงานร่วมกับสตาร์ทอัพและมีโอกาสก้าวหน้าไปพร้อมๆ กัน หรือแม้แต่การอนุญาตให้บริษัทจำกัด สามารถออกตราสารหนี้แปลงสภาพ (Convertible debt)เพื่อเพิ่มช่องทางในการระดมทุน ซึ่งการแก้ไขประมวลแพ่งและพาณิชย์นี้ จะต้องมีการผลักดันต่อไปเพื่อให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม  นอกจากนี้ยังมีประเด็นเร่งด่วนที่ต้องพิจารณาในแง่มุมอื่นๆ เช่น การปรับปรุงกฎระเบียบ หรือกสนสนับสนุนให้ผู้ประกอบการจากทั่วโลก ผู้เชี่ยวชาญ และกลุ่มคนที่เราเรียกว่า Digital Nomads สามารถเข้ามาร่วมดำเนินธุรกิจกับคนไทยได้อย่างไร จะสามารถพัฒนาให้เกิด Entrepreneur Visa หรือ Startup Visa ได้อย่างไร
     อีกทั้งความท้าทายในการประกอบธุรกิจสตาร์ทอัพ มีความเสี่ยงสูง และตัวเลขสถิติจากทั่วโลกพบว่า ผู้ประกอบการสตาร์ทอัพเพียงแค่ 5 รายจาก 100 รายเท่านั้น ที่จะประสบความสำเร็จ แต่สำหรับอีก 95 คนไม่สำเร็จ ประเทศไทยจะสามารถสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการเหล่านี้ ล้มและลุกอย่างรวดเร็ว หรือ Fail Forward ได้อย่างไร เพราะการยอมรับและเรียนรู้จากความล้มเหลว และลุกขึ้นยืนอย่างรวดเร็ว ถือเป็น DNA ที่สำคัญของผู้ประกอบการสตาร์ทอัพและความท้าทายสุดท้ายคือการพัฒนาสตาร์ทอัพในประเทศไทย  ที่ผ่านมาสตาร์ทอัพส่วนใหญ่ยังมองตลาดในประเทศเป็นหลัก และมีจำนวนไม่มากนักที่สามารถเข้าสู่ตลาดต่างประเทศได้ ดังนั้น จึงเป็นความท้าทายที่เราจะต้องพัฒนาระบบบ่มเพาะและเร่งการเติบโตของสตาร์ทอัพ ให้มีความสามารถในการขยายตลาดออกสู่ต่างประเทศ และมีมุมมองที่เป็นการแข่งขันในระดับนานาชาติ หรือ Global Perspective


     ดังนั้นเพื่อตอบโจทย์ความท้าทายดังกล่าว รัฐบาลมุ่งมั่นที่จะพัฒนาระบบนิเวศที่เหมาะสมสำหรับธุรกิจสตาร์ทอัพ โดยขอถือโอกาสนี้ เสนอวาระการพัฒนาที่ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนและประชาคมสตาร์ทอัพเอง ต้องมาร่วมกันในการดำเนินการเพื่อผลักดันให้มีการแก้ไขกฎหมายและกฎระเบียบให้เอื้อต่อการทำธุรกิจ เราจะต้องพัฒนาสนามทดสอบ(Regulatory Sandbox) ที่สามารถให้สตาร์ทอัพได้ทดลองดำเนินธุรกิจ ที่กฎหมายอาจปรับเปลี่ยนตามไม่ทัน เพื่อส่งเสริมให้นวัตกรรมสามารถเกิดได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งในวันนี้จะมีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อให้เกิดการดำเนินการดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรม อีกทั้งการพัฒนาสตาร์ทอัพต้องเป็นไปอย่างทั่วถึง เราจำเป็นต้องกระจายโอกาสสู่ภูมิภาค กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ มีเป้าหมายที่ชัดเจน ที่พัฒนาย่านนวัตกรรม 27 แห่งทั่วประเทศ ร่วมกับทุกภาคส่วน ให้เป็นพื้นที่ผู้ประกอบการรุ่นใหม่มีโอกาสเติบโต และใช้ศักยภาพของแต่ละพื้นที่ที่มีความแตกต่างกัน ในการสร้างธุรกิจที่สามารถเติบโตอย่างก้าวกระโดด


     และที่ถือเป็นภารกิจเร่งด่วนที่เราจำเป็นต้องมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง นั่นคือการวางรากฐานและพัฒนาคนที่มีทักษะสูง พัฒนาโปรแกรมเมอร์และบุคลากรสายอื่นๆ ที่ขาดแคลนให้เพียงพอเพื่อรองรับต่อการเติบโตของผู้ประกอบการสตาร์ทอัพ มหาวิทยาลัยถือเป็นภาคส่วนที่มีบทบาทสำคัญยิ่ง และเรามุ่งหวังให้มหาวิทยาลัยทั่วประเทศปรับเปลี่ยนสู่การเป็นมหาวิทยาลัยแห่งการประกอบการ หรือ Entrepreneurial Universities   ส่วนเรื่องสุดท้าย ที่รัฐบาลมุ่งมั่นจะทำมากขึ้นในปีนี้ คือการสร้างความร่วมมือกับนานาชาติ ในการพัฒนาสตาร์ทอัพ ธุรกิจสตาร์ทอัพเป็นธุรกิจที่ต้องสร้างความสามารถในการแข่งขันในระดับภูมิภาคหรือระดับโลก ดังนั้น ประเทศไทยจำเป็นต้องทำงานร่วมกับพันธมิตรในต่างประเทศ ที่จะยกระดับสตาร์ทอัพไทย ซึ่งในงาน Startup Thailand 2017 จะเห็นได้ชัดว่า เราเริ่มต้นสร้างความร่วมมือดังกล่าวแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการที่ Global Entrepreneurship Network หรือเครือข่ายการพัฒนาผู้ประกอบการโลก รวมถึง หน่วยงานจากประเทศต่างๆ อีกกว่า 20 ประเทศ ที่เข้ามาร่วมกับเราในการจัดงาน Startup Thailand 2017


     “ทั้งหมดนี้ เรากำลังสร้างระบบนิเวศที่แข็งแกร่ง สร้าง “Thailand Startup Universe” ที่ทุกๆ ภาคส่วนทำงานร่วมกับ เชื่อมโยงกัน เพื่อเป็นรากฐานในการสนับสนุนให้สตาร์ทอัพสามารถเติบโต   หน้าที่ของรัฐบาล คือการบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์สตาร์ทอัพให้เกิดขึ้นทั่วประเทศ ไม่ใช่เฉพาะเมล็ดพันธุ์ไทยเท่านั้น แต่เรายังสร้างดินที่ดี เพื่อเมล็ดพันธุ์ต่างชาติด้วย  เรายืดหยุ่น รับฟังทุกความต้องการของทุกภาคส่วน และพร้อมผลักดันให้สตาร์ทอัพเติบโต เพราะเราเชื่อในศักยภาพของเอเชีย และในวันนี้ ประเทศไทยของเราพร้อมแล้วที่จะก้าวไปด้วยกันกับประเทศอื่นๆ  สุดท้ายนี้ เราขอเชิญชวนให้สตาร์ทอัพและหน่วยงานสนับสนุนสตาร์ทอัพจากทั่วภูมิภาคเอเชียและจากทั่วโลก เข้ามาทำงานร่วมกับเรา มาเป็นหุ้นส่วนในการพัฒนา ในยุคที่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจไม่มีพรหมแดนอีกต่อไป”
     ดร.อรรชกา ได้กล่าวในตอนท้ายอีกว่า การเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ หรือที่เราเรียกว่า Disruptive Change กำลังเกิดขึ้นกับทุกประเทศทั่วโลก และทุกอุตสาหกรรม และสตาร์ทอัพเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว รัฐบาลมุ่งมั่นและพร้อมที่จะทำให้ประเทศไทยเป็นฐานสำหรับการพัฒนาธุรกิจสตาร์ทอัพ และยินดีต้อนรับทุกท่าน เพื่อสร้างประเทศไทย 4.0 ไปด้วยกัน และขยายความเติบโตสู่ภูมิภาคเอเชียไปด้วยกัน