ADS


Breaking News

เริ่มแล้ว “Good Society Expo เทศกาลทำดี หวังผล” กว่า 100 องค์กรจาก “ภาคสังคม ธุรกิจ ตลาดทุน” รวมพลังสร้าง “พลเมืองที่มีส่วนร่วมเพื่อส่วนรวม”

ปรากฏการณ์ใหม่ประเทศไทย !ทุกภาคส่วนกว่า 100 องค์กรทั้งธุรกิจ สังคม ตลาดทุน ร่วมส่งสาร “ทุกคนมีส่วนร่วมแก้ปัญหาสังคมได้”  “ภาคสังคม” ปลื้มประชาชนตื่นตัวมีส่วนร่วมในงาน “Good Society Expo:เทศกาลทำดีหวังผล” เริ่มวันที่  9-11 มิ.ย.นี้ ที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์  ชวนคนไทยเป็น “พลเมืองที่มีส่วนร่วมเพื่อส่วนรวม” (Active Citizen) สนับสนุนการทำงานกับองค์กรภาคสังคม “ตัวจริง” ใน 5 ประเด็นหลัก “การศึกษา คนพิการ ต้านทุจริต สิ่งแวดล้อม สุขภาพ” โดยมีกลไกการให้ที่ทุกคนมีส่วนร่วมได้ ทั้ง “เทใจ ปันกัน  ฟู้ด ฟอร์ กู๊ด โซเชียลกีฟเวอร์ กองทุนรวมคนไทยใจดี”  ขณะที่ “ภาคตลาดทุน” ทั้งสภาธุรกิจตลาดทุนไทย ตลท. และ ก.ล.ต. พร้อมสนับสนุนให้เกิดระบบนิเวศการลงทุนทางสังคมที่ยั่งยืน ผ่านกลไก “กองทุนรวมธรรมาภิบาลไทย”
ตามที่มูลนิธิเพื่อคนไทย องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มูลนิธินวัตกรรมทางสังคม ยุวพัฒน์ เอ็นไลฟ ร่วมกับ บมจ. เซ็นทรัลพัฒนา บริษัท เซ็นทรัล มาร์เก็ตติ้ง กรุ๊ป จำกัด สมาคมผู้ประกอบวิสาหกิจในย่านราชประสงค์ บมจ. เดอะ แพลทินัม กรุ๊ป สภาธุรกิจตลาดทุนไทย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และภาคีเครือข่ายกว่า 100 องค์กรร่วมจัดงาน “Good Society Expo เทศกาลทำดี หวังผล” หลังจากมีการประชาสัมพันธ์งานนี้เมื่อกลางเดือนพฤษภาคม ปรากฏว่า มีประชาชนจำนวนกว่า 200 คน สมัครเป็น “อาสา” ช่วยงาน และกว่า 300 คนสนใจร่วมทัวร์ภาคสนามเรียนรู้ช่องทางการลงมือแก้ปัญหาสังคมกับภาคีเครือข่ายภาคสังคมที่ขับเคลื่อนงานเชิงประเด็น ได้แก่ ต่อต้านคอร์รัปชัน สิ่งแวดล้อม การศึกษา สุขภาพ และผู้พิการ/ผู้สูงอายุ รวมทั้งกลไกการแบ่งปัน ประกอบด้วย เทใจ ปันกัน ฟู้ดฟอร์กู๊ด โซเชียลกีฟเวอร์ กองทุนรวมคนไทยใจดี และเครือข่ายจิตอาสา ที่เตรียมนำเสนอต่อประชาชนผู้ร่วมงานเป็นจำนวนกว่า 60 กิจกรรม
นายวิเชียร พงศธร  ประธานกรรมการมูลนิธิเพื่อคนไทย ตัวแทนภาคีภาคสังคมผู้ร่วมจัดงานเปิดเผยว่า กรอบคิดเรื่องการลงทุนทางสังคมเป็นเรื่องใหม่ จึงจำเป็นต้องสร้างตัวอย่างความสำเร็จและมีกลไกที่หลากหลายให้ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมได้ แล้วสื่อสารออกไปอย่างต่อเนื่อง ถึงจะนำมาสู่การสร้างสังคมอยู่ดีมีสุขอย่างยั่งยืน ผลตอบรับจากประชาชนต่องานนี้ถือว่า เหนือความคาดหมาย หวังว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ทุกภาคส่วนสามารถร่วมลงทุนทางสังคม โดยความร่วมมือจากกว่า 100 องค์กร นับเป็นปรากฏการณ์ใหม่ระดับประเทศที่ทุกภาคส่วน ได้แก่ ภาคสังคมและภาคีกว่า 80 องค์กร ภาคธุรกิจกว่า 15 องค์กรและภาคตลาดทุนกว่า 20 องค์กร ร่วมส่งสาร “ทุกคนสามารถแก้ปัญหาสังคมได้” เชิญชวนประชาชนยกระดับการทำดี สู่การลงทุนทางสังคม  ที่หวังผลได้มากกว่าการบริจาคด้วย “ทุน” ประเภทต่างๆ ได้แก่ ทุนมนุษย์ ทุนความรู้ ทุนเครือข่าย ทุนเวลา ทุนเงิน ฯลฯ  
ทั้งนี้  เกี่ยวกับประเด็นปัญหาสังคมที่จะนำเสนอเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมกับประชาชนในงาน Good Society Expo  5 ประเด็นหลัก ประกอบด้วย  ประเด็นการศึกษา  นำเสนอสารสำคัญ “Limited Education ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา” โดย มูลนิธิยุวพัฒน์ เลิร์นเอ็ดดูเคชั่น ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ อาชีฟ ฯลฯ และช่องทางการมีส่วนร่วมในแก้ไขปัญหา การศึกษา 3 ด้าน คือ ทุน คุณภาพการศึกษา ทักษะการใช้ชีวิต
ประเด็นต่อต้านคอร์รัปชัน  นำเสนอสารสำคัญ “พลัง Active Citizen เพื่อลดคอร์รัปชัน” โดย องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย โอเพ่นดรีม สุจริตไทย สำนักข่าวอิศรา ฯลฯ  พร้อมรับอาสาสมัครเป็นผู้สังเกตการณ์อิสระโครงการข้อตกลงคุณธรรม (IP-Integrity Pact) ตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้างโครงการขนาดใหญ่ภาครัฐ หมาเฝ้าบ้าน เป็นต้น

ประเด็นผู้พิการและผู้สูงอายุ นำเสนอสารสำคัญ “สังคมร่วม รวมเราทุกคน” (Social Inclusion) โดยมูลนิธินวัตกรรมทางสังคม โรงพยาบาลลำสนธิ มูลนิธิเพื่อเด็กพิการ สภากาชาดไทย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มูลนิธิพระมหาไถ่เพื่อการพัฒนาคนพิการ ฯลฯ  ให้สังคมได้เห็นความหลากหลายของศักยภาพของคนพิการ พร้อมเปิดประสบการณ์ให้คนทั่วไปทดลองเป็น “คนตาบอด-หูหนวก” และจัดกิจกรรมยกย่ององค์กรธุรกิจ 120 แห่งที่สนับสนุนจ้างงานคนพิการ
ประเด็นสิ่งแวดล้อม นำเสนอสารสำคัญ “คุณเท่านั้นที่เปลี่ยนโลกได้” โดย มูลนิธิเอ็นไลฟ มูลนิธิสถาบันราชพฤกษ์  มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติและสถาบันเศรษฐกิจพอเพียง มูลนิธิตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน)  ร่วมกันแสดงพลังอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เพื่อ “ดิน น้ำ ป่า เมือง”  ร่วมน้อมนำศาสตร์พระราชา มาเป็นแนวทางขับเคลื่อนมุ่งแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน  และประเด็นสุขภาพ นำเสนอสารสำคัญ  คนไทยทุกคนเปลี่ยนแปลงตนเองได้” โดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพและกว่า 16 องค์กรเครือข่าย จากปัญหาพฤติกรรมสุขภาพของประชาชนปัจจุบันมีความเสี่ยงทุกด้าน
อีกเนื้อหาสำคัญของงาน เป็นการนำเสนอ “เครื่องมือส่งเสริมการให้” อย่างมีนวัตกรรม นำเสนอสารสำคัญ “Lifestyle of Giving” หรือ “ทุกเวลาของการใช้ชีวิตเราเป็นผู้ให้ตลอด 1 วัน”  ประกอบด้วย  เทใจ ปันกัน  ฟู๊ด ฟอร์ กู๊ด โซเชียลกีฟเวอร์ กองทุนรวมคนไทยใจดี เครือข่ายจิตอาสา  
จากการดำเนินงานปี 2559  “เวบไซต์เทใจ” มียอดสนับสนุนโครงการจากประชาชนทั่วไปจำนวน 6.72 ล้านบาท จำนวน 32 โครงการ และเข้าถึงผู้รับประโยชน์ 1.8 แสนคน กองทุนรวมคนไทยใจดี (BKIND)  สามารถแบ่งปันเงินจากนักลงทุนผู้ถือหน่วยร้อยละ 0.8 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน หรือร้อยละ 40 ของค่าบริหารจัดการกองทุนของบลจ.บัวหลวง  สู่ผู้รับประโยชน์จำนวน 13,683 คน สนับสนุนโครงการเพื่อสังคม  32 โครงการเป็นเงิน 25.50 ล้านบาท ส่วน “ปันกัน” มีผู้ร่วมปันสิ่งของ 16,061 ราย มีผู้บริจาคเงินรับสินค้าแบ่งปัน จำนวน 2.08 แสนราย มีเครือข่ายนักปันอาสา 3,176 ราย สามารถระดมทุนการศึกษาให้นักเรียนทุนยุวพัฒน์ได้ 35.4 ล้านบาท เปลี่ยนเป็นทุนการศึกษาต่อเนื่อง 6 ปีได้ 848 คน “ฟู้ด ฟอร์ กู๊ด” สามารถระดมเงินบริจาคจากร้านอาหารที่ร่วมโครงการจำนวน 3.02 ล้านบาท ช่วยเยาวชนได้ 976 คน “เครือข่ายจิตอาสา” สามารถสร้างการมีส่วนร่วมงานอาสาสมัครให้กับองค์กรภาคสังคม 135 องค์กร และในแต่ละปีสามารถสร้างโอกาสให้ประชาชนเป็นอาสาสมัคร 500-600 คน .
นางวรวรรณ  ธาราภูมิ  ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทยและนายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน เปิดเผยว่า ภาคตลาดทุนมีความพร้อมที่จะเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างสังคมแห่งการลงทุนผ่านกลไก “กองทุนรวมธรรมาภิบาลไทย”  โดยมีเป้าหมายสำคัญนอกจากสร้างโอกาสใหม่ให้นักลงทุนมีทางเลือกในการลงทุนด้านผลตอบแทนแล้ว ยังมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์สังคมที่ดีไปพร้อมๆ กัน ด้วยการสนับสนุนภาคสังคมที่ขับเคลื่อนงานพัฒนาธรรมาภิบาลและต่อต้านคอร์รัปชัน เช่นเดียวกับ นางเกศรา มัญชุศรี กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยให้ความสำคัญในการพัฒนาตลาดทุน  ทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ ขณะเดียวกัน ยังเชื่อมโยงความร่วมมือภาคธุรกิจ และสังคม เพื่อขยายผลลัพธ์ที่ดีทางสังคม ขณะที่นายรพี สุจริตกุล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า ก.ล.ต. ต้องการเห็นตลาดทุนไทยมีธรรมาภิบาลที่ดีเรื่องนี้จะสำเร็จได้ต้องอาศัยความมุ่งมั่นจริงจังจากทุกคน เริ่มจากการมีจิตสำนึก การเคารพกฎกติกาและยึดถือแนวปฏิบัติที่ดี รวมทั้งการมีแรงผลักดันของสังคมซึ่งก็คือ “ผู้ลงทุน” 
สำหรับกิจกรรมที่เกิดขึ้นในเทศกาลทำดีหวังผล เกือบทั้งหมดเป็นการทำงานต่อเนื่องที่ภาคีเครือข่าย พร้อมใจกันมาเชิญชวนประชาชนร่วมขยายผล โดยกำหนดเป้าหมายวัดผลความสำเร็จเป็นทุนประเภทต่างๆ ที่จะมีการติดตามผลทั้งระยะสั้น กลาง และยาว เพื่อนำความสำเร็จมาสื่อสารต่อสาธารณะ หวังให้เกิดการลงทุนทางสังคมอย่างต่อเนื่องในอนาคต

รายชื่อ 12 บลจ. ที่พร้อมนำเสนอขายกองทุนรวมธรรมาภิบาลไทย ไตรมาส 3/2560

  1. บลจ.กรุงไทย
  2. บลจ.กรุงศรี
  3. บลจ.กสิกรไทย
  4. บลจ.ทหารไทย
  5. บลจ.ทาลิส
  6. บลจ.ทิสโก้
  7. บลจ.ไทยพาณิชย์
  8. บลจ.บัวหลวง
  9. บลจ.บางกอกแคปปิตอล
  10. บลจ.ยูโอบี (ประเทศไทย)
  11. บลจ.เอ็มเอฟซี
  12. บลจ.ภัทร


แนวคำตอบวิทยากรงาน “Good Society Expo” เทศกาลทำดีหวังผล
วันศุกร์ที่ 9 มิถุนายน 2560  10.30 - 12.00 น.  ณ เซ็นทรัลคอร์ต (ลานลิฟต์แก้ว) ชั้น G ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์

ช่วงการขยายผลภาคธุรกิจ – สังคม ร่วมสร้างผลลัพธ์

  1. คุณวีณา อ่องจริต กรรมการมูลนิธิเพื่อคนไทย ที่ปรึกษาโครงการ Good Society Expo
ปัญหาสังคมเป็นความรับผิดชอบร่วม การเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อเกิดความร่วมไม้ร่วมมือกันทุกภาคส่วน ภาคธุรกิจเป็นภาคส่วนที่มีทรัพยากรมาก ขณะเดียวกันเป็นผู้บริโภคทรัพยากรตัวยง มูลนิธิเพื่อคนไทยจึงอาสาเป็นตัวกลาง เชิญชวนภาคีกลุ่มต่างๆ  สร้างแพลตฟอร์มความร่วมมือที่ทำให้ภาคสังคมและภาคธุรกิจลงมือทำร่วมกันได้ เริ่มจากงาน “คนไทยขอมือหน่อย” เมื่อ 4 ปีก่อน พัฒนายกระดับเป็น Good Society Expo ซึ่งยังคงคอนเซ็ปต์การมีส่วนร่วมเพื่อส่วนรวมแต่ GSE จะเพิ่มความเข้มข้นเรื่องการสร้างผลลัพธ์ทางสังคม โดยปีนี้เป็นปีแรกที่ภาคีเครือข่ายที่ทำงานเชิงประเด็นเป็นผู้ออกแบบเนื้อหาและเชิญชวนเพื่อนๆ มาทำร่วมกัน เบ็ดเสร็จแล้วงานนี้เรามีคนทำงานเกือบ 300 คนจากกว่า 80 องค์กร สำคัญยิ่ง คือทุกฝ่ายจะมีการกำหนดเป้าหมายร่วมกัน ว่ามาร่วมจัดงานนี้เพื่อระดมทุนแก้ปัญหาสังคม  ซึ่งคำว่า “ทุน” ในที่นี้ไม่ได้มีความหมายแค่ “ทุนเงิน” แต่เป็นทุนมนุษย์ ทุนเครือข่าย ทุนความรู้ ทุนเวลา ฯลฯ
อย่างกลุ่มเซ็นทรัลพัฒนา (CPN) นับเป็นอีกตัวอย่างของภาคธุรกิจที่มีส่วนร่วมเพื่อส่วนรวมที่มีคอมมิตเมนต์สูงมาก วันนี้ท่านผู้บริหารติดภาระกิจมาร่วมงานนี้ไม่ได้ แต่ได้ให้ความอนุเคราะห์สถานที่จัดงานนี้ต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 5 เป็นตัวอย่างของการร่วมระดุมทุนการแก้ปัญหาสังคม ดังนั้น กว่า 60 กิจกรรมที่เกิดขึ้นในงานนี้ย่อมเท่ากับว่า ประชาชนที่มาร่วมงานมีทางเลือกในการลงมือทำจำนวนนี้เช่นกัน ถามว่า ทำดีหวังผล ผลที่ได้คืออะไร ? ผลก็คือการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น ในการที่ทุกคนร่วมลงมือทำแก้ปัญหาสังคม เราจะมีการติดตามผลหลังจัดงาน 3 เดือน 6 เดือนและ     1 ปี ว่าบรรลุเป้าหมายที่วางไว้หรือไม่ GSE จึงไม่ใช่อีเวนท์ แต่เป็นกลไกความร่วมมือที่มีการทำงานต่อเนื่องเพื่อสร้างผลทางสังคม แล้วจะกลับมาบอกเล่ากับสังคมอย่างสม่ำเสมอว่าสิ่งที่คุณช่วยร่วมกับภาคีภาคสังคมต่างๆ เหล่านี้ ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง
  1. นายชาญชัย  พันธุ์โสภา กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.เดอะ แพลทินัม กรุ๊ป ผู้บริหารศูนย์การค้าเดอะ แพลทินัม แฟชั่น มอลล์
สำหรับนโยบายด้านการทำธุรกิจของบริษัทนั้น การดำเนินธุรกิจเพื่อให้ประสบความสำเร็จอย่างเดียว ไม่สามารถทำให้บริษัทนั้นเติบโตและพัฒนาอย่างยั่งยืนได้ ดังนั้นการกำกับดูแลกิจการที่ดีและจรรยาบรรณทางธุรกิจ จึงจัดเป็นกระบวนการทำงานหลักซึ่งต้องคำนึงถึงและเอาใจใส่ผู้มีส่วนได้เสียเช่น ชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยมีเป้าหมายสูงสุด คือ การสร้างความยั่งยืนให้กับองค์กรธุรกิจ ไปพร้อมๆ กับการสร้างความเจริญอย่างยั่งยืนให้แก่สังคม ที่เราอาศัยอยู่ด้วย สำหรับความร่วมมือในโครงการ Good Society Expo : เทศกาลทำดีหวังผล ทางบริษัทได้ร่วมสนับสนุนโครงการนี้มาเป็นปีที่ 2 โดยร่วมมือกับร้านปันกัน ในการระดมสิ่งของและเงินบริจาค จากผู้ประกอบการร้านค้า ลูกค้า พนักงาน ภายในศูนย์การค้า เดอะ แพลทินัม แฟชั่น มอลล์ ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีมาก สำหรับสิ่งของและเงินบริจาคที่ได้มาก็ได้ส่งมอบให้กับร้านปันกัน ไปดำเนินการจัดสรรเป็นทุนการศึกษาให้กับมูลนิธิยุวพัฒน์ เพื่อเป็นประโยชน์ด้านการศึกษาสำหรับเด็กผู้ด้อยโอกาสตั้งแต่ระดับชั้นมัธยม 1 - 6 ต่อไป ซึ่งทางบริษัทมีความตั้งใจที่จะนำผลการดำเนินงานการแบ่งปันในครั้งนี้ แจ้งให้กับผู้ร่วมบริจาคได้รับทราบด้วย เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วม เกิดความภูมิใจในการเป็นผู้ให้และพร้อมที่จะร่วมแบ่งปันอีกในโอกาสต่อๆไป

ช่วง รวมพลังภาคสังคมเชิญชวน “คนไทย” ทำดี..หวังผล ที่ Good Society Expo

  1. คุณอภิชาติ การุณกรสกุล ประธานกรรมการมูลนิธินวัตกรรมทางสังคม
เวลาพูดถึงคำว่า นักปฏิบัติที่เป็น “ตัวจริงภาคสังคม” ผมคิดว่าความหมายเป็นเรื่องของความมุ่งมั่นตั้งใจของพวกเรามากกว่า เพราะเหตุนี้ผมจึงต้องเชิญชวนทุกท่านมาร่วมกันทำด้วยกัน แต่การที่จะชวนคนมาทำดีกันจำนวนมากได้นั้น อย่างแรกเลย ต้องทำให้การทำดีเป็นเรื่องง่าย และเกิดผลดีต่อสังคมและผู้ทำดีด้วย  ไม่เช่นนั้นจะหวังให้คนมาช่วยทำดีจะยาก มูลนิธินวัตกรรมทางสังคม มุ่งเน้นจ้างงานคนพิการ ต้องเริ่มจากการปลดล็อคข้อกฏหมายให้เอื้อต่อการเกิดโอกาสจ้างงานจริงและได้จำนวนมาก ทั้งแก่ผู้พิการและผู้จ้างงาน  จากนั้นเป็นเรื่องการออกแบบกระบวนการทำงาน ให้ง่ายที่ภาคธุรกิจจะตัดสินใจ ผลก็คือ ตัวเลขการจ้างงานคนพิการปี 2559-2560 ดีขึ้นเป็น 6,000 กว่าคน จากเดิมปีนึงเพิ่มเพียง 400-500 คน เป้าหมายปีนี้จะให้ได้ 10,000 คน
ในงานนี้ มูลนิธินวัตกรรมทางสังคมและเพื่อนภาคี เราจะส่งสาร “Social Inclusion สังคมร่วมรวมเราทุกคน” จึงตั้งใจจะเชิญชวนทุกท่านมาลองมีประสบการณ์เป็น “คนพิการชั่วคราว” จะเป็น “คนตาบอด” หรือ “หูหนวก” ก็ได้ เพื่อรับรู้และเข้าใจได้ว่าคนพิการต้องเผชิญกับสถานการณ์อะไรบ้าง นอกจากนั้นยังมีกิจกรรมอีกมาก ทั้งเวิร์คชอปที่นำกิจกรรมโดยผู้พิการ และอื่นๆ อีกมาก ทุกอย่างสะท้อนให้เห็นศักยภาพคนพิการ พร้อมไปกับยกย่องคนทำดี จัดเวที  ยกย่องเชิดชูองค์กรธุรกิจที่จ้างงานคนพิการจำนวน 110 องค์กร ทั้งหมดนี้จะนำมาสู่ความเชื่อมั่นที่จะจ้างคนพิการทำงานอีกจำนวนกว่า 3 แสนคน และที่ต้องการมากๆ คือ “อาสาสมัคร” ผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ เช่น งานกราฟฟิคดีไซน์ งานสื่อสารการตลาด นักวิจัย และอีกหลายวิชาชีพจำนวนมาก มาช่วยแก้ปัญหาผู้พิการและผู้สูงอายุด้วยกัน
  1. ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)
สำหรับพาวิลเลียนประเด็นต่อต้านคอร์รัปชัน ยิ่งต้องการประชาชนมาช่วยกันจำนวนมาก เพราะปัญหาคอร์รัปชันนั้นเป็นต้นทางของความเหลื่อมล้ำทั้งปวง องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) และภาคีเครือข่ายร่วมนำเสนอสาร “เงินของชาติ คือ เงินของฉัน” เชิญชวนคนไทยมาหวงแหนและแสดงความเป็นเจ้าของประเทศอย่างมีส่วนร่วม              งานนี้เราพร้อมจะเปิดรับอาสาสมัคร หลายกลุ่ม เริ่มที่ “ผู้สังเกตการณ์อิสระ” (Independent Observer : IO) โครงการข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) เพื่อช่วยตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้างโครงการภาครัฐขนาดใหญ่ และป้องกันการแทรกแซงกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างจากผู้มีอำนาจ  คุณสมบัติสำคัญของอาสาสมัครกลุ่มนี้ จะต้องมีความรู้ความเข้าใจกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง ณ ตอนนี้เรามีอาสาสมัคร  IO  242 คน ยังต้องการเพิ่มอีก ตั้งเป้าในงานนี้ 100 คน เพราะมีโครงการขนาดใหญ่ต้องติดตามตรวจสอบขณะนี้มี 19 โครงการ มูลค่ากว่า 1.65 แสนล้านบาท ลงนามข้อตกลงคุณธรรมแล้ว 5 โครงการ นอกจากนั้นมี “อาสาสมัครหมาเฝ้าบ้าน” สื่อพลเมืองเปิดโปงปัญหาการทุจริตในชุมชน และยังมีเวทีวิชาการและแลกเปลี่ยนความเห็นโดย “ทีดีอาร์ไอ” ว่าด้วยการสื่อสารงานต่อต้านคอร์รัปชันผ่านเครื่องมือใหม่สำหรับปลูกฝังคุณธรรมให้เยาวชนทั้งเกมและบอร์ดเกม เรียนรู้ข้อมูลการทุจริตกับ ป.ป.ช. ข้อมูลภาษีไปไหนกับ EGA และดาวน์โหลดเกม TheCorrupt กับโอเพ่นดรีม กิจกรรมเหล่านี้ ผมเชื่ออย่างยิ่ง ว่าการจะนำสู่การแก้ปัญหาคอร์รัปชันได้อย่างยั่งยืนได้ จำเป็นต้องสร้างการมีส่วนร่วมจากประชาชนทุกกลุ่มและร่วมกันลงมือทำอย่างต่อเนื่อง
  1. คุณโมนา ศิวรังสรรค์ ผู้อำนวยการ มูลนิธิยุวพัฒน์
เรามองว่าปัญหาการศึกษาในประเทศไทย ถูก “จำกัด” มีเด็กวัยเรียนกว่า 3 แสนคนหลุดจากระบบการศึกษาทุกปี               ในงานนี้ยุวพัฒน์และเพื่อนภาคี จึงร่วมกับ GREYHOUND และชูใจกะกัลยาณมิตรนำเสนอแคมเปญ “Limited Education” ที่พาวิลเลียนการศึกษา โดยกิจกรรมจะเชิญชวนทุกท่านร่วมให้โอกาสน้องเยาวชนผู้ขาดโอกาสร่วมสนับสนุน “โครงการพัฒนา 100 โรงเรียนเพื่อเยาวชนขาดโอกาส”จุดเด่นของโครงการเป็นการผสมผสานเครื่องมือที่จะช่วยเด็กให้อยู่ในระบบทั้งเรื่องทุนและเรื่องคุณภาพการศึกษาแก่โรงเรียนที่อยู่ในกลุ่ม 100 โรงเรียนตลอดระยะเวลา 6 ปี ประกอบด้วยทุนการศึกษา หลักสูตรดิจิทัลคอนเทนต์ของ “เลิร์น เอ็ดดูเคชั่น” หรือครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงจาก “ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์” โดยโรงเรียน 1 แห่งใช้ทุนทั้งสิ้น 12 ล้านบาทหรือเฉลี่ยปีละ 2 ล้านบาท โดยคาดหวังว่าเมื่อ 100 โรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการจะมีเด็กอย่างน้อย 30,000 คนได้รับประโยชน์จากโครงการนี้โดยตรง เรามีระบบติดตามประเมินผลและเปิดให้ผู้สนับสนุนมีส่วนร่วมในการลดความเหลื่อมล้ำการศึกษาได้หลายรูปแบบ เราเริ่มระดมทุนในงาน Good Society Expo นี้ด้วยการเชิญชวนคนไทยร่วม “ดีไซน์”การศึกษาของประเทศไทยของเราให้ดีขึ้นได้        ผู้ที่สนับสนุนขั้นต่ำ 550 บาท จะได้รับเสื้อที่ระลึก Limited Education จาก GREYHOUND โดยมีเพียง 100 ตัว ภายในงาน 3 วันนี้ และสำหรับผู้ที่ไม่สามารถมารับเสื้อได้ภายในงาน จะส่งไปรษณีย์ภายในเดือนกรกฎาคม - สิงหาคม เสื้อนี้มีจุดเด่นสะท้อนปัญหาการศึกษาไทยผ่านลายมือของน้องที่อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ กิจกรรมนี้แม้จะหมดงานแล้ว โครงการ100 โรงเรียนยังเปิดรับการสนับสนุนจากทุกท่านอยู่ ติดตามการระดมทุนต่อเนื่องผ่าน taejai.com
  1. คุณสัญชัย ตัณฑวณิช ผู้อำนวยการมูลนิธิเอ็นไลฟ
เรามีความต้องการที่จะให้ทุกคนตระหนักว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นในปัจจุบันรุนแรงมากขึ้น และ “คุณเท่านั้นที่ทำได้” คือคุณเท่านั้นที่ช่วยโลกได้ ในพาวิลเลียนสิ่งแวดล้อม นอกจากจะนำเสนอโครงการต่างๆ ที่ทุกคนสามารถเข้าร่วมได้  ยังมีกิจกรรมต่อยอดเพื่อมุ่งหวังให้ทุกคนเป็น Active Citizen โดยเปิดรับ “อาสาสมัครสิ่งแวดล้อม” ขึ้นในงานนี้ไม่จำกัดจำนวน เพื่อเชิญชวนประชาชนผู้สนใจสร้างประสบการณ์งานอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมภาคสนามหลังงานนี้ซึ่งกิจกรรมจะมีต่อเนื่องทั้งปี ถ้าหากสนใจปัญหาสภาวะโลกร้อน ขอเชิญไปปลูกป่าชายเลนกับมูลนิธิสถาบันราชพฤกษ์ที่ “บ้านขุนสมุทรจีน จังหวัดสมุทรปราการ” ที่นี่เป็นชุมชนมอญเล็กๆ ที่เป็นที่กล่าวขานไปทั่วโลกจากปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลจนทำให้วัดและหมู่บ้านหายไปกว่า 3 ตารางกิโลเมตร ถ้าสนใจลงพื้นที่เรียนรู้เรื่องการฟื้นฟูป่าตามแนวพระราชดำริ ก็ร่วมเป็นอาสาสมัครในโครงการมวลชนพัฒนาฟื้นผืนป่าแผ่นดินอีสานใต้ที่อุทยานแห่งชาติทับลาน จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งอาสาสมัครจะได้มาร่วมเก็บข้อมูล เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับงานวิจัยและฟื้นฟูป่า อีกทั้งยังได้ซึมซับ ประทับใจ เห็นคุณค่าธรรมชาติ และวิถีชุมชน ถ้าสนใจเรื่องการปลูกพืชผักสวนครัว สมุนไพร และต้นไม้ ให้เหมาะสมในแต่ละพื้นที่ เพื่อรับประทานหรือใช้ประโยชน์ภายในครอบครัว หรือจะพัฒนาต่อยอดโดยนำไปขายสร้างรายได้ให้กับครอบครัว ก็เชิญสมัครเป็นเครือข่ายป่าครอบครัวกับ BEDO ได้ ถ้าสนใจองค์ความรู้เรื่องของศาสตร์พระราชา เพื่อแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ก็สมัครเป็น "อาสาสมัครร่วมปันแรง ปันรู้" ลงพื้นที่กับมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ ซึ่งจะมีกิจกรรมมากมายตลอดทั้งปีเกี่ยวกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ป่า ดิน น้ำ  และหากสนใจเรื่องการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ก็สามารถหาข้อมูลและองค์ความรู้ หรือร่วมกิจกรรมในโครงการต่างๆ ของมูลนิธิเอ็นไลฟ อาทิ โครงการอนุรักษ์พันธุ์หอยชักตีน  โครงการสร้างอุทยานการเรียนรู้ใต้ท้องทะเล (การสร้างแนวปะการังเทียม)  หรือจะร่วมกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์อย่าง “เทศกาลกีฬาทางน้ำจังหวัดกระบี่” (KRABI Water Sport Festival) ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 15-18 พฤศจิกายน 2560 นี้ ที่จังหวัดกระบี่
  1. ดร.ณัฐพันธุ์ ศุภกา ผู้อำนวยการสำนักภาคีสัมพันธ์และวิเทศสัมพันธ์ สสส.
เพราะ 2 ใน 3 ของโรคที่เกิดขึ้นล้วนมาจากปัจจัยทางสังคมและสิ่งแวดล้อม การทำงานของ สสส.จึงเน้นพฤติกรรมทางสุขภาพของคน สังคมและสิ่งแวดล้อม เพราะมีผลต่อการกำหนดความเป็นไปทางสุขภาพ ซึ่งพฤติกรรมทางสุขภาพของคนไทยยุค 4.0 ที่น่าจับตาในแต่ละช่วงวัยพบว่า
  • ในกลุ่มเด็กเล็กเริ่มติดหวานตั้งแต่ 2-5 ขวบ ผู้ปกครองเริ่มให้กินน้ำหวานหรือน้ำอัดลม มากกว่า 1 ครั้งต่อวันถึง 12% และ 30% ของเด็กเล็กมีพัฒนาการต่ำกว่าเกณฑ์โดยเฉพาะพัฒนาการด้านภาษา ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการใช้เทคโนโลยีทั้งสมาร์ทโฟน ไอแพดในการเลี้ยงดู  
  • ขณะที่กลุ่มวัยรุ่น มีพฤติกรรมขยับน้อยกว่าผู้สูงอายุ โดยวัยรุ่นเฉลี่ยมีกิจกรรมทางกายเพียง 1.14 ชั่วโมงต่อวัน แต่ใช้เวลาไปกับอินเตอร์เน็ต 6 ชั่วโมงต่อวัน และต้องการความรู้เรื่องเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย โดยการสำรวจรายงานสุขภาพคนไทยพบว่า จำนวนคู่นอนเฉลี่ยของวัยรุ่นอยู่ที่ 5 คน ทั้งหญิงและชาย
  • ในกลุ่มวัยทำงาน วันนี้เราเห็นวัฒนธรรมการดื่มกาแฟตอนเช้า น้ำหวานกลางวัน และดินเนอร์ขนมหวานบิงชูตอนเย็น ซึ่ง สสส.ร่วมกับ ม.มหิดล ทำการสำรวจถนนสายเศรษฐกิจย่านสีลม อนุสาวรีย์ชัย เพื่อตรวจปริมาณน้ำตาลในเครื่องดื่มชงหวาน 5 เมนูยอดฮิตพบว่า เพียง 1 แก้ว 250 มล. มีปริมาณน้ำตาลสูงถึง 10-15 ช้อนชา ซึ่งองค์การอนามัยโลกแนะนำให้บริโภคน้ำตาลในอาหารทุกชนิดไม่เกินวันละ 6 ช้อนชาเท่านั้น พฤติกรรมเหล่านี้เสี่ยงต่อโรคอ้วนลงพุง และเป็นสาเหตุของโรคเบาหวาน หัวใจ ความดัน เป็นต้น
  • สสส. เราทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพ จะมีการนำเสนอโซนสุขภาพ (Health Pavilion)  ใน                  4 ประเด็นหลักๆ คือ ประเด็นอาหาร และเกษตรปลอดภัย ประเด็นกิจกรรมทางกาย ประเด็นปัจจัยเสี่ยงหลัก (เหล้า บุหรี่ อุบัติเหตุ) และประเด็นสุขภาวะทางเพศ
  • สิ่งสำคัญคือ เราอยากนำเสนอว่า “สุขภาพดีเริ่มได้ที่ตัวเรา และส่งต่อสุขภาพดีให้คนอื่น” จึงได้ออกแบบกิจกรรมที่ช่วยให้ประชาชนได้เกิดความตระหนัก ร่วมมีส่วนร่วมในการรณรงค์และร่วมสนุก อาทิ  
  • กิจกรรมทดสอบปริมาณน้ำตาลในเครื่องดื่มของเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน
    • กิจกรรมสวนผักคนเมืองและการจำลองครัวขนาดเล็กและเครื่องครัวที่จำเป็นเพื่อสะท้อนวิถีชีวิตคนเมือง โดยเครือข่ายลดบริโภคเค็ม มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน Seeds Exchange  ThaiPAN เครือข่ายกลุ่มเกษตรอินทรีย์
    • กิจกรรมชวนขยับวันละ 10,000 ก้าว โดยให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมโหลดแอพพลิเคชั่น นับก้าวเดิน และเริ่มขยับออกกำลังกายแล้วมารายงานผลในวันรุ่งขึ้น หากเดินได้ครบ 10,000 ก้าว มารับรางวัล โดยการสนับสนุนของสมาพันธ์ชมรมเดินวิ่งเพื่อสุขภาพไทยและเครือข่ายคนไทยไร้พุง
    • กิจกรรมเกมส์ถนนคนเมา ให้ใส่แว่นจำลองการเมาแล้วลองเดินบนถนนและกิจกรรมอื่นๆ ที่ให้เห็นถึงอันตรายจากสุราข้อแนะนำการออกกำลังกายที่เหมาะสมกับวัย
    • ทดสอบสุขภาพปอดดี๊ดี นวัตกรรมนวดกดจุดสะท้อนเท้าเลิกบุหรี่ จากภาคีเครือข่าย ได้แก่ สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า มูลนิธิเมาไม่ขับ โครงการควบคุมยาสูบโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน
    • รวมถึงการสื่อสารกับลูกอย่างไรเรื่องเพศ โดยแผนงานสร้างเสริมสุขภาวะทางเพศ มูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง (สคส.)
  • นอกจากนี้ยังมีงานจิตอาสากับโครงการนับเราด้วยคน ภายใต้ Campaign "ทำดีมีเหตุผล" ให้แก่ผู้ที่สนใจและประชาชนทั่วไป กับกิจกรรม "แว่นตานำปัญญา" ที่จะบริจาคแว่นตาให้แก่เด็กในพื้นที่ที่ขาดแคลนแว่นตา เพื่อใช้ในการศึกษา เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในการสร้างสรรค์สังคม นำไปสู่สังคมสุขภาวะ

ช่วงรวมพลังกลไกการให้เชิญชวน“คนไทย” ทำดี..หวังผลที่ Good Society Expo

  1. คุณสุนิตย์ เชรษฐา ผู้อำนวยการสถาบันเช้นจ์ ฟิวชันฯ
เทใจดอทคอมเป็นแพลตฟอร์มระดมทุนออนไลน์รายแรกของประเทศที่มีแนวโน้มการเติบโตที่ดี ปีที่ผ่านมา มียอดสนับสนุนโครงการจากประชาชน  6.72 ล้านบาท ช่วยโครงการเพื่อสังคมต่างๆ  32 โครงการ และเข้าถึงผู้รับประโยชน์             1.8 แสนคน  มี Active Citizen ที่ให้การสนับสนุนโครงการต่างๆ กับเทใจอย่างต่อเนื่อง 4,000 คน ในงานนี้ ตั้งใจจะเชิญชวนคนกลุ่มนี้ให้มีจำนวนเพิ่มขึ้นอีก จึงขอเชิญชวนร่วมกันสนับสนุน  4 โครงการ ได้แก่ ด้านการศึกษา เรามีแคมเปญระดมทุนขายเสื้อเฉพาะกิจให้กับโครงการ “Limited Education” ผ่านเทใจ 100 ตัวปรากฏว่า หมดตั้งแต่ 24 ชั่วโมงแรก กับ โครงการหมื่นฝันปันโอกาส ระดมทุนสนับสนุนเงินเดือนครูคุณภาพ “ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์” จำนวน 53 คน เป้าหมายระดมทุน 6.32 ล้านบาท ด้านทรัพยากรธรรมชาติ ร่วมสนับสนุน “โครงการรักษาป่าใหญ่ให้คนไทยทั้งชาติ” กับมูลนิธิสืบ นาคะเสถียร  ตั้งเป้าระดมทุน 1 ล้านบาทเป็นเสบียงอาหารและให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ลาดตระเวณป่าตะวันตกผืนสุดท้ายทุ่งใหญ่นเรศวรพื้นที่ 12 ล้านไร่   และถ้ารักแมว ช่วย“โครงการทำหมันแมวสัญจร” ตั้งเป้า 3 แสนบาท ถ้ารักเด็ก ก็ช่วย “โครงการวันพิเศษเพื่อแม่เด็กป่วยเรื้อรังสร้างเสริมพลังใจ” กับโรงพยาบาลมีสุข และมูลนิธิกระจกเงา เป้าหมายระดมทุน 8.8 หมื่นบาทในงานนี้และต่อเนื่องทางเวบไซต์เทใจดอทคอมจนกว่าจะถึงเป้าหมาย
  1. คุณปูมนุรี ศุภจรรยา ผู้จัดการฝ่ายการตลาดและผลลัพธ์ทางสังคม โซเชียลกีฟเวอร์
“โซเชียลกีฟเวอร์” เป็นแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ให้คุณได้ช็อปและช่วยสังคมไปพร้อมๆ กัน คุณสามารถช็อปห้องพักดีๆจากรีสอร์ตหรือโรงแรมชั้นนำในราคาตลาดก็จริงแต่ความพิเศษคือเป็นราคาจ่ายที่คุณซื้อได้ทั้งความสุขและความดี เพราะรายได้จากการจำหน่ายห้องพักที่ได้รับจากองค์กรธุรกิจในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเหล่านี้เมื่อนำไปขายแล้วแบ่ง                70 เปอร์เซนต์ไปสนับสนุนโครงการเพื่อสังคม และ 30 เปอร์เซนต์สนับสนุนแพลตฟอร์มและติดตามผล ที่ผ่านมาเราได้รับการสนับสนุนจาก 163 องค์กรธุรกิจ สามารถช่วยโครงการเพื่อสังคมได้ 26 โครงการ คิดเป็นทุนจำนวน 2.5 ล้านบาท  ในงานนี้  ตั้งเป้าหมายระดมทุนเครือข่ายหรือความร่วมมือจากองค์กรธุรกิจ กลุ่มร้านอาหารและโรงแรมทั่วประเทศร่วมสนับสนุนห้องพักเพื่อนำไประดมทุน และตั้งเป้าระดมทุนสำหรับ 6 โครงการเพื่อสังคมขององค์กรต่างๆ ได้แก่ มูลนิธิซายมูฟเมนต์ ช่วยเหลือเด็กพิการทางความเคลื่อนไหว มูลนิธิรักสัตว์ป่า  องค์กรสนับสนุนคุณภาพชีวิตด้านการสื่อสารของผู้พิการซ้ำซ้อน มูลนิธิระดมทุนเพื่อการปรับปรุงคุณภาพชีวิตของสัตว์ “คลองเตย มิวสิค โปรแกรม” และ บ้านคามิลเลียนเพื่อเด็กพิการ รวมเป็นทุนทั้งสิ้น 100,000 บาท และจะดำเนินการต่อเนื่องจนกว่าจะถึงเป้าหมายทางช่องทางออนไลน์โซเชียลกีฟเวอร์
  1. คุณฐาปนีย์ สินาดโยธารักษ์ กรรมการผู้จัดการร้านปันกัน  
ปันกัน คือ  พื้นที่ที่คนมีน้ำใจ ส่งต่อน้ำใจ ส่งต่อข้าวของ เพื่อเปลี่ยนเป็นทุนการศึกษาให้เยาวชนไทยของมูลนิธิยุวพัฒน์ ปันกันเป็นต้นแบบกิจการเพื่อสังคมที่นำรายได้จากการจำหน่ายสิ่งของที่ได้รับจากการแบ่งปัน มาก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นแก่สังคมในด้านต่างๆ โดยเฉพาะด้านการศึกษาสำหรับนักเรียนทุนยุวพัฒน์  และเป็นกลไกขยายการมีส่วนร่วมของคนในสังคม เพื่อสร้างสังคมแห่งการแบ่งปันอย่างแท้จริง ปีที่ผ่านมา ปันกันสามารถระดมทุนการศึกษา เป็นจำนวน 35.4 ล้านบาท เปลี่ยนเป็นทุนการศึกษาต่อเนื่อง 6 ปี ส่งน้องเรียนได้ 848 คน สร้างเครือข่ายนักปันอาสาจำนวน 3,176 คน งานนี้เราต้องการให้สังคมรับรู้ว่า ปันกัน คือ บ้านแห่งการให้โอกาสแก่เด็กที่ขาดโอกาสทางการศึกษา” ดังนั้นในงานนี้ จึงนำเสนอ “บ้านปันกัน”จำหน่ายสินค้า ยังมีกิจกรรมให้ถ่ายภาพคู่กับสินค้าและกิจกรรมมอบต้นกล้าไว้เป็นที่ระลึกในการมอบโอกาสทางการศึกษาให้น้องๆ
  1. คุณทิพย์ชยา พงศธร ผู้ร่วมก่อตั้งโครงการ ฟู้ด ฟอร์ กู๊ด
ฟู้ด ฟอร์ กู๊ด ถือเป็นความร่วมมือระดับประเทศไทยของกลุ่มผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหาร ประชาชนผู้เป็นลูกค้าของร้านและพนักงานได้ช่วยแก้ปัญหาโภชนาการของเด็กที่ขาดแคลน ง่ายๆ  เพียงสั่งอาหารที่มีสัญลักษณ์ “Food4Good พี่อิ่มท้องน้องอิ่มด้วย” จากร้านอาหารที่ร่วมโครงการเกือบ 100 ร้าน โดยในงานนี้ เราต้องการนำเสนอสถานการณ์ปัญหาภาวะโภชนาการในเด็ก เรื่องราวของเด็กๆ ที่ได้รับการช่วยเหลือไปแล้ว เพื่อให้มั่นใจว่าเงินที่ทุกคนช่วยสนับสนุนถูกนำไปใช้อย่างมีประสิทธิผล รูปแบบกิจกรรมจะมีการจัดแสดงเมนูอาหารจากร้านอาหารที่ร่วมโครงการ เพื่อให้คนทั่วไปได้รู้จักและสามารถไปสั่งเมนู ฟู้ด ฟอร์ กู๊ด ได้และมีกิจกรรม แชะ แอนด์ แชร์ ให้ทุกคนได้ช่วยเราเลือกเมนูอาหารที่อยากให้น้องๆ ได้ทาน บอกต่อเพื่อนๆ หรือครอบครัวทางโลกออนไลน์ นอกจากนี้ ภายในงานมีโซน Trust Food Good Truck ที่มาจำหน่ายอาหาร ผลิตจากวัตถุดิบออร์แกนิกส์ ออกร้านในรูปแบบ Food Truck นำรายได้สนับสนุนโครงการ ฟู้ด ฟอร์ กู๊ด  เราคาดหวังว่าจะมีคนเข้ามาเยี่ยมชม รับรู้  เข้าใจ และมีส่วนร่วมสนับสนุนโครงการนี้มากขึ้น ที่ผ่านมา ฟู้ด ฟอร์ กู๊ด ได้ช่วยเหลือเรื่องโภชนาการให้แก่เด็กๆ ที่ขาดแคลนในประเทศไทย เทียบเท่าค่าอาหาร 300,497 มื้ออาหารคุณภาพ ตั้งแต่เริ่มต้นโครงการ ฟู้ด ฟอร์ กู๊ด จนถึงปัจจุบัน สามารถระดมเงินสนุบสนุนจากร้านอาหารที่เข้าร่วมโครงการจำนวน 3,029,424 บาท สามารถช่วยเหลือเด็กๆ ได้จำนวน 976 คนด้วยจะเป็นเมนูที่ถูกสั่งในทุกครั้งของการทานอาหาร ช่วยกันละคนนิด บอกต่อกันคนละหน่อย เพื่อให้เด็กๆ ที่ขาดแคลนได้รับอาหารและโภชนาการที่ดีตลอดไป
  1. คุณวรวรรณ ธาราภูมิ ประธานกรรมการบริหาร บลจ. บัวหลวง
ในงานนี้ BKIND ตั้งใจจะนำเสนอตัวเองกับภาคสังคมให้ตระหนักว่า เราเป็น “กลไกการให้” ไม่ต่างจากเทใจ ปันกัน ฟู้ด ฟอร์ กู๊ด ฯลฯ รูปแบบเป็นหน่วยลงทุนที่ทุกคนมีส่วนร่วมได้ ปีที่ผ่านมา BKIND สามารถนำพา “นักลงทุน” ไปช่วยแก้ปัญหาสังคม โดยจ่ายผ่านส่วนเเบ่งค่าบริหารจัดการร้อยละ 40 ของบลจ.บัวหลวง หรือคิดเป็นเงินร้อยละ 0.8 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (NAV) ไปสนับสนุนโครงการเพื่อสังคมที่มุ่งสร้างอนาคตใหม่ให้สังคมไทยจำนวน 32 โครงการ คิดเป็นทุนทั้งสิ้น 25.5 ล้านบาท ที่สำคัญก็คือ เรามีกระบวนการทำงานที่วัดผลลัพธ์ได้ว่า ทุนที่ภาคสังคมได้รับจาก           นักลงทุนและบลจ.บัวหลวงนั้นไปสร้างผลลัพธ์อะไรให้สังคม กิจกรรมจึงเน้นสื่อสารถึงคุณค่าของตัวกองทุนนี้ผ่านประสบการณ์ตรงจาก “คนทำงานภาคสังคม” ที่ได้รับทุนสนับสนุนจาก BKIND ที่เป็นภาคีร่วมจัดงานนี้ในประเด็นต่างๆ เช่น  ด้านการศึกษา ได้แก่ “เลิร์น เอ็ดดูเคชั่น” ผู้ผลิตหลักสูตรดิจิทัลคอนเทนต์วิทย์-คณิต ช่วยเด็กไทยเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ  “อาชีฟ โซเชียลเอ็นเตอร์ไพรส์” สร้างโครงการฐานข้อมูลอาชีพออนไลน์ ให้เยาวชนได้วางแผนสร้างทักษะอาชีพในอนาคต ด้านการปลูกฝังคุณธรรม ได้แก่ “สุจริตไทย” หลักสูตรอีเลิร์นนิ่งสร้างสุจริตชน   ด้านผู้สูงอายุ ได้แก่ “ฟอร์โอลดี้” โครงการส่งเสริมกลไกการจัดหาอุปกรณ์เครื่องใช้มือสองสำหรับผู้สูงอายุรายได้น้อย และโรงพยาบาลลำสนธิ  ทั้งหมดนี้ เราจะนำไปสื่อสารผ่านช่องทางของภาคตลาดทุน เช่น ช่อง Money Channel ของตลาดหลักทรัพย์และช่องทางอื่นๆ ของบลจ.บัวหลวง เพื่อให้นักลงทุนเกิดความมั่นใจ ไว้วางใจ ว่าเงินทุกบาทของคุณช่วยทำความดีผ่านตัวจริงที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจเหล่านี้  แล้วหวังว่า ผู้ถือหน่วยจะช่วยกันสนับสนุนกองทุนรวมคนไทยใจดีอย่างต่อเนื่อง เพื่อจะได้มีทุนแก่โครงการเพื่อสังคมดีๆ ขยายผลได้
  1. คุณนันทินี มาลานนท์ ผู้จัดการเครือข่ายจิตอาสา
เริ่มจากการประชาสัมพันธ์เชิญชวนประชาชนทั่วไปมาเป็นอาสาสมัครช่วยจัดงาน Good Society Expo ปรากฏว่ามีผู้สมัครมาทั้งสิ้น 243 คน มากกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้เพียง 200 คน เพื่อสนับสนุนงานนี้ซึ่งมีความต้องการมากถึง 206 ตำแหน่งงาน ทั้งอาสาสมัครบุคคลและอาสาสมัครองค์กรอย่างละครึ่ง จากปัญหาที่พบในงานอาสาสมัคร คือคนในสังคมมักจะมองภาพของงานอาสาสมัครเป็นเรื่องยากและมีตัวเลือกที่จำกัด รวมทั้งองค์กรอาสาสมัครเเยกกันอยู่จึงทำให้คนทั่วไปไม่รู้จักงานอาสาสมัครเเละไม่มีช่องทาง เครือข่ายจิตอาสา จึงมุ่งประสานความร่วมมือและเสริมพลังการทำงานขององค์กรที่ทำงานด้านอาสาสมัครและการให้เกี่ยวกับจิตอาสาโดยเน้นที่คุณค่าของความสามัคคีการมีส่วนร่วมและการสร้างสรรค์ประโยชน์สุขในสังคม  และ 3 วันนับจากนี้ เราต้องการให้มิติการทำงานอาสาสมัครเป็นที่รู้จักกว้างมากขึ้น การเข้าร่วมงานในครั้งนี้จะทำให้องค์กรที่ทำงานเพื่อแก้ปัญหาสังคมมองเห็นประโยชน์ร่วมกัน จึงขอเชิญชวน ผู้ที่สนใจลงทะเบียนร่วมเป็นอาสาสมัครในกิจกรรมที่หลากหลาย ตั้งเป้าไว้ว่าจะมีผู้สมัครเป็นอาสา วันละ 50 คน  หรือจะร่วมกิจกรรมในงานนี้ เป็น อาสาสมัครเย็บผ้ากันเปื้อนให้กับเด็กทารกในสถานสงเคราะห์โดยเปิดรับอาสาสมัคร 25 -30 คน นอกจากนั้นยังมีบริการให้กับเพื่อนๆ องค์กรภาคสังคมที่สนใจการจัดกระบวนการจัดการอาสาสมัครพูดคุยที่คลินิกอาสากับพวกเราได้ ตั้งเป้าองค์กรที่สนใจร่วมพูดคุย 10 องค์กรต่อวัน และถ้าไม่สะดวกมาร่วมเป็นอาสาในงานนี้ ก็ลงทะเบียนเป็นอาสาสมัครได้ที่ http://www.volunteerspirit.org/  ในแต่ละปีสามารถสร้างโอกาสให้ประชาชนเป็นอาสาสมัคร 500 -600 คน #