ADS


Breaking News

วิกฤติรอบใหม่อาจเกิดขึ้นแล้วโดยที่เราไม่รู้ตัว

ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย 
ครบรอบ 20 ปีวิกฤติต้มยำกุ้ง...ประวัติศาสตร์จะซ้ำรอยไหม?
  • เมื่อ 20 ปีก่อน ในวันที่ 2 ก.ค. 2540 เราต้องยอมจำนนต่อการโจมตีค่าเงิน ทางธปท. ต้องปล่อยเงินบาทให้อ่อนค่าตามกลไกตลาดจากเดิมที่ตรึงค่าเงินไว้ที่ราว 25 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เงินสำรองระหว่างประเทศถูกใช้ในการปกป้องค่าเงิน แต่จะโทษธปท. ฝ่ายเดียวก็ไม่ได้ เพราะทั้งธนาคารพาณิชย์และนักลงทุนต่างก็มีส่วนในการปล่อยให้ระบบการเงินมีปัญหา ทั้งจากการประเมินสินทรัพย์และความเสี่ยงที่ไม่สอดรับกับปัจจัยพื้นฐาน และความโลภที่บังตา
  • อย่าว่าแต่เมืองไทยเลย แม้แต่นักเศรษฐศาสตร์ที่เก่งระดับโลกก็ไม่อาจทำนายวิกฤติการเงินในสหรัฐ ในยุโรป หรืออีกหลายประเทศได้ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ต่อให้ในปัจจุบันเราจะมีข้อมูล มีแบบจำลองที่ซับซ้อน และมีผู้เชี่ยวชาญมาเฝ้าระวังมากมาย แต่เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่า วิกฤติการเงินจะไม่เกิดขึ้นอีก
  • อย่าถามนักเศรษฐศาสตร์เลยครับว่าวิกฤติการเงินหรือวิกฤติเศรษฐกิจจะเกิดขึ้นอีกครั้งเมื่อไหร่และด้วยสาเหตุอะไร ผมว่าเสียเวลาเปล่า เพราะพวกเราไม่เคยทำนายได้ถูกหรอกครับ

อย่าวางใจดีกว่า...วิกฤติอาจมาในรูปแบบใหม่
  • สาเหตุที่นักเศรษฐศาสตร์ไม่สามารถทำนายวิกฤติได้อย่างถูกต้องก็เพราะว่าวิกฤติเปลี่ยนรูปแบบไปมา ต่อให้เราเฝ้าระวังแผลเดิม มันก็มีช่องโหว่สำหรับแผลใหม่ที่เราไม่คาดคิดได้เสมอ
  • ทีนี้แผลใหม่หรือรูปแบบของวิกฤติรอบใหม่จะเป็นอะไรได้บ้าง ที่แน่ๆ มันคงไม่ซ้ำรอยปี 2540 เพราะทางธปท. ดูแลเสถียรภาพการเงินได้ดี เงินสำรองระหว่างประเทศมีเพิ่มขึ้นมาก
  • หากวิกฤติการเงินเกิดเพราะความโลภ เมื่อเราไม่โลภ วิกฤติก็ไม่เกิด ที่ชัดเจนคือความอยากได้ผลตอบแทนการลงทุนสูงๆ ทั้งส่วนต่างราคาซื้อขายและอัตราผลตอบแทน อัตราดอกเบี้ยในอดีตนั้นสูงอยู่แล้ว แต่คนอยากได้ผลตอบแทนสูงขึ้นไปอีก วิกฤติปี 40 จึงเกิด ปัจจุบัน อัตราดอกเบี้ยแสนจะต่ำ คนถูกบีบให้ไปหาแหล่งลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูงขึ้น เพื่อนำไปใช้จ่ายเพียงพอในยามสูงอายุ จนอาจสูญเสียเงินลงทุน และนำไปสู่ปัญหาด้านเสถียรภาพการเงิน แต่นั่นก็อยู่ในวิสัยของธปท. ที่กำกับดูแลได้ จึงไม่น่านำไปสู่วิกฤติรอบใหม่ได้

แล้วทำไมผมถึงตั้งคำถามว่าเรากำลังยืนฉงนอยู่ท่ามกลางวิกฤติโดยไม่รู้ตัวหรือไม่?
  • นั่นเพราะวิกฤติเปลี่ยนรูปร่างได้เสมอจนเราไม่อาจตามทันได้ วิกฤติที่เราคุ้นเคยมักเกิดขึ้นด้วยช๊อกหรือเหตุการณ์ไม่คาดคิด เศรษฐกิจหดตัวแรง เหมือนรูปตัว V เศรษฐกิจถึงจุดต่ำสุด แต่พอสถานการณ์คลี่คลาย เศรษฐกิจมีการปรับโครงสร้างใหม่ ก็จะสามารถเติบโตได้อย่างรวดเร็วกลับขึ้นมาอีกครั้ง เช่นในช่วงวิกฤติปี 2540 เศรษฐกิจไทยใช้เวลาราว 4 ปีก่อนจะกลับมามีขนาดเศรษฐกิจ หรือ GDP เท่ากับช่วงก่อนวิกฤติได้ในปี 2544 หลังจากนั้นก็เติบโตอย่างรวดเร็วที่เฉลี่ยราว 5.4% ในช่วง 2544-2550 ก่อนวิกฤติลูกใหม่กระทบไทยในปี 2551
  • ในภาวะปัจจุบัน แม้เราคงไม่เห็นรูปตัว V อีก แต่อย่านิ่งนอนใจไป เพราะวิกฤติที่รุนแรงกว่าเดิมอาจก่อตัวขึ้นแล้วโดยที่เราไม่รู้ตัว นั่นคือเศรษฐกิจรูปตัว L ที่เศรษฐกิจไทยโตต่ำ ราวสัก 3.5% และลากยาวต่อเนื่องไปอย่างยาวนาน หากเทียบวิกฤติรอบปี 2540 กับภาวะปัจจุบันแล้ว แน่นอนว่าปี 2540  มีความรุนแรงกว่ามาก ดังเห็นได้จากเศรษฐกิจหดตัวแรง เรามีปัญหาคนว่างงาน คนยากจน แต่อย่าลืมว่าวิกฤติครั้งนั้นเปิดโอกาสให้มีการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ จนกลับมาทะยานใหม่ได้ หากแต่รอบนี้เราไม่มีโอกาสรู้ตัว การปรับตัวค่อนข้างช้า และการที่เศรษฐกิจซึมยาวนั้น แม้ในระยะสั้นไม่เจ็บปวด แต่ในระยะยาวนั้น ขนาดเศรษฐกิจอาจขยายใหญ่ได้ไม่เท่าการเกิดวิกฤติในรูปตัว V เสียด้วยซ้ำ นั่นเพราะการเติบโตที่ช้ามันกัดกร่อนศักยภาพและการปรับตัวของคนไทย

แล้วนักเศรษฐศาสตร์มีทางแก้ไหม?
  • ตามทฤษฎีแล้ว การขยายตัวทางเศรษฐกิจอาศัยอยู่สองปัจจัย ปัจจัยแรกคือการขยายตัวของประสิทธิภาพแรงงาน และประการที่สองคือการขยายตัวของจำนวนแรงงาน ในอดีตเมื่อ 20 ปีก่อน ประเทศไทยโชคดีที่อยู่ในช่วงการเปลี่ยนแปลงของประชากรที่มีวัยทำงานเพิ่มขึ้นเร็ว ต่อให้ประสิทธิภาพของแรงงานเพิ่มขึ้นไม่มาก เศรษฐกิจก็สามารถขยายตัวได้ดี ด้วยจำนวนแรงงานที่เติบโตสูง แต่ในตอนนี้ ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมสูงอายุ ประชากรวัยแรงงานเพิ่มขึ้นน้อยมาก ในขณะที่ประสิทธิภาพของแรงงานยังคงโตช้า แล้วจะไปหวังให้เศรษฐกิจขยายตัวได้อย่างไร?
  • สุดท้ายทางออกก็หวังว่ารูปแบบใหม่ที่เรียกว่า Thailand 4.0 จะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพของแรงงาน ให้เกิดการลงทุนด้านใหม่ๆ ให้แรงงานคนเดิมผลิตของได้มากชิ้นขึ้น หรือสร้างรายได้หรือมูลค่าสินค้าได้ดีขึ้น เสมือนการปรับโครงสร้างเช่นในอดีต ให้เศรษฐกิจไทยผ่านวิกฤติตัว L กลับมาเป็น U หรือ V ได้ในอนาคต แต่ที่สำคัญคือ ประเทศไทยจะผ่านพ้นวิกฤติที่เรายังไม่รู้ตัวไปได้หรือไม่ ก็ฝากความหวังไว้กับโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่ไว้ด้วย หาไม่แล้ว ศักยภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันที่จะโตได้เพียง 3.5% ต่อปี คงเป็นการตอกย้ำว่าเราไม่อาจผ่านพ้นวิกฤติรอบนี้ไปได้