3 สิ่งที่คนวัยเกษียณอยากบอกให้คุณรู้ในวันนี้
เมื่อพูดถึงการเกษียณ เชื่อว่าชาวออฟฟิศหลายคนคงมองว่าเป็นเรื่องไกลตัว ยังมีเวลาเตรียมตัวอีกหลายสิบปี หรือเป็นเรื่องที่ไม่อยากคิดถึง เพราะไม่อยากนึกภาพตนเองในวัยชรา แต่วันนี้ มีสิ่งที่คนเกษียณแล้วอยากบอกให้หนุ่มสาวได้รู้กันไว้ตั้งแต่วันนี้ ก่อนที่จะนึกเสียดายในวันหลัง
1. 60 ยังแจ๋ว
หนึ่งในความเข้าใจผิดที่คนวัยทำงานมีต่อวัยเกษียณ คือ เมื่อเกษียณแล้วนับเป็นการเข้าสู่ “วัยชรา”อย่างเป็นทางการ ซึ่งเต็มไปด้วยปัญหาต่างๆ เช่น สุขภาพที่เสื่อมถอย มีอาการหลงลืม ทำอะไรเชื่องช้าลง และอาจเป็นจุดสิ้นสุดของความรื่นเริงและความกระฉับกระเฉง แต่ในความเป็นจริงแล้ว จากผลสำรวจคะแนนสุขภาพและความเป็นอยู่แบบ 360° ของ “ซิกน่า” บริษัทประกันสุขภาพระดับโลกจากประเทศสหรัฐอเมริกา กลับพบว่า คนไทยในวัยเกษียณ คือผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปนั้น ไม่ได้รู้สึกว่าตนเองแก่เลยแม้แต่น้อย และยังต้องการทำกิจกรรมต่างๆ เช่น เดินทางท่องเที่ยว ทำกิจกรรมเพื่อสังคม หรือแม้แต่การทำงานต่อหลังวัยเกษียณอีกด้วย โดย 69% ของคนไทยที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปบอกว่า การทำงานหลังวัยเกษียณเป็นเรื่องที่พวกเขาทำได้และอยากทำ โดยมีเหตุผลหลักคือ เพื่อทำให้ความคิดและร่างกายรู้สึกกระตือรือร้นอยู่ตลอดเวลา นอกจากนี้ข้อมูลจากผลสำรวจฯยังพบว่าผู้สูงอายุในประเทศไทยใช้เวลาออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอมากกว่าคนที่ยังอายุน้อยอีกด้วย
ทั้งนี้ พฤติกรรมดังกล่าวยังตรงกับรายงานจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ที่ระบุว่า การที่ผู้สูงอายุมีความกระตือรือร้นอยู่ตลอดเวลา โดยมีการออกกำลังกายสม่ำเสมอ รับประทานอาหารถูกต้องตามหลักโภชนาการ และรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้คนรอบข้างนั้น จะสามารถช่วยชะลอ “ความแก่” ทำให้สุขภาพทั้งร่างกายและจิตใจไม่โรยราไปตามอายุได้เป็นอย่างดีอีกด้วย
2. ยิ่งสูงวัย ยิ่งจ่ายมาก
ในวันที่เรายังแข็งแรง ยังสามารถทำงานได้ เราอาจรู้สึกว่าการวางแผนเรื่องค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลไม่ใช่เรื่องที่สำคัญที่สุด โดยจากผลสำรวจคะแนนสุขภาพและความเป็นอยู่แบบ 360° ของ “ซิกน่า” พบว่า คนไทยวัยทำงานส่วนใหญ่เลือกที่จะรักษาอาการเจ็บป่วยเล็กๆน้อยๆ ด้วยตนเอง เช่น การซื้อยาจากร้านขายยามารับประทานหรือการพักผ่อนให้เพียงพอมากกว่าการเดินทางไปพบแพทย์ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่แผนประกันสุขภาพที่เป็นสวัสดิการของบริษัทไม่ครอบคลุมค่ารักษาพยาบาลที่เกิดขึ้นจริง โดยนอกจากการรักษาอาการเจ็บป่วยเล็กๆน้อยด้วยตนเองแล้ว คนไทยในวัยทำงานถึง 40% ยังต้องควักกระเป๋าตัวเองเพื่อจ่ายค่ารักษาพยาบาลส่วนต่างที่เกิดขึ้นแทนการวางแผนค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลในระยะยาว
แม้การรักษาไลฟ์สไตล์ที่กระฉับกระเฉงเมื่อเรามีอายุมากขึ้นจะช่วยชะลอความเสื่อมถอยของร่างกายและจิตใจได้ก็ตาม แต่ความซับซ้อนของปัญหาสุขภาพก็ยังคงเพิ่มขึ้นตามอายุ ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพเพิ่มสูงขึ้น โดยจากผลสำรวจฯ พบว่าคนไทยในช่วงอายุ 50 ปีขึ้นไป เลือกที่จะไปพบแพทย์เมื่อเกิดอาการเจ็บป่วย แม้ว่าจะเป็นการเจ็บป่วยเพียงเล็กน้อยมากกว่าการรักษาด้วยตนเองที่บ้าน นอกจากนั้นคนไทยในช่วงอายุ 50 – 59 ปีมีค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลราว 11,000 บาทต่อปี แต่เมื่อเข้าสู่ช่วงอายุ 60 ปีขึ้นไป ค่าใช้จ่ายดังกล่าวกลับเพิ่มสูงขึ้นราว 23,000 บาทต่อปี ซึ่งสูงขึ้นกว่าเท่าตัวเลยทีเดียว
จากข้อมูลข้างต้น อาจทำให้คนหนุ่มสาววัยทำงานต้องกลับมาพิจารณาถึงการเตรียมพร้อมเรื่องค่าใช้จ่ายในการรักษาสุขภาพในระยะยาวให้ถี่ถ้วน ซึ่งหากเราไม่แน่ใจว่าในอนาคตจะมีเงินเพียงพอเพื่อรองรับค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพและการรักษาพยาบาลที่เพิ่มสูงขึ้น การมองหาหลักประกันด้านสุขภาพเพิ่มเติมนอกเหนือจากสวัสดิการที่บริษัทให้อาจเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ควรพิจารณา
3. รีบเตรียมพร้อมตั้งแต่วันนี้ เพราะเวลาโบยบินไปอย่างรวดเร็ว
สิ่งสำคัญที่สุดที่คนวัยเกษียณอยากบอกกับหนุ่มสาววัยทำงานในตอนนี้คือ “อย่าชะล่าใจ เพราะเวลาผ่านไปอย่างรวดเร็ว” โดยผลสำรวจฯในช่วงสองปีที่ผ่านมาจะพบว่า สิ่งที่คนไทยมีความกังวลมากที่สุดคือ “ความมั่นคงทางด้านการเงิน” ของตนเองจากกรณีการขาดรายได้เนื่องจากไม่สามารถทำงานได้และจากสภาพเศรษฐกิจที่ผันผวน โดยมีคนไทยวัยทำงานเพียง 1 ใน 10 เท่านั้นที่บอกว่าตนเองมีความพร้อมทางด้านการเงินแม้จะไม่ได้ทำงาน และมีผู้สูงอายุเพียง 25% เท่านั้นที่คิดว่าตนมีเงินออมเพียงพอสำหรับการเกษียณ ทำให้เห็นได้อย่างชัดว่าแม้คนไทยจะมีความกังวลเรื่องความมั่นคงด้านการเงิน แต่คนไทยส่วนใหญ่กลับยังไม่รีบเตรียมตัวและไม่มีความพร้อมด้านการเงินเพื่อการเกษียณอย่างมีคุณภาพ และความไม่พร้อมที่สั่งสมมาตั้งแต่วัยทำงานนั่นเอง ที่ทำให้คนไทยส่วนใหญ่ต้องติด “กับดักอายุ” (Age trap) เมื่ออายุล่วงเลยมาถึงวัยเกษียณ
ดังนั้น เพื่อเตรียมความพร้อมสู่การเกษียณอย่างมีคุณภาพ สิ่งที่คนวัยทำงานควรเริ่มเตรียมตัวตั้งแต่วันนี้คือ การวางแผนด้านการเงินเพื่ออนาคต รวมถึงการวางแผนเรื่องค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ ซึ่งจะสามารถป้องกันไม่ให้เราติด “กับดักอายุ”
ทั้งนี้ คุณสามารถติดตามผลสำรวจในด้านต่างๆ ของ “คะแนนสุขภาพและความเป็นอยู่แบบ 360° ของซิกน่า” (Cigna 360° Well-being survey) ได้ที่ https://www.cigna.co.th/news/360well-being โดยการสำรวจคะแนนสุขภาพและความเป็นอยู่แบบ 360° ของซิกน่าดังกล่าว เป็นการศึกษาทัศนคติของผู้คนเกี่ยวกับสุขภาพและความเป็นอยู่ของตนเอง โดยสะท้อนความรู้สึกของแต่ละคนที่มีต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ของตนเองในด้านต่างๆ 5 ด้าน ไม่ว่าจะเป็นสุขภาพและความเป็นอยู่ด้านร่างกาย ด้านสังคม ด้านครอบครัว ด้านการเงิน และด้านการงานจากความคิดเห็นโดยรวมของประชากรไทย โดยที่ซิกน่าได้ทำการสำรวจเช่นเดียวกันนี้กับประชากรที่อาศัยอยู่ในแถบเอเชีย-แปซิฟิค สเปน และสหราชอาณาจักรรวมทั้งหมด 13 ประเทศ
###
เกี่ยวกับซิกน่า ประเทศไทย
ซิกน่า ประเทศไทย เป็นบริษัทในเครือของซิกน่า บริษัทประกันสุขภาพระดับโลกจากประเทศสหรัฐอเมริกาที่มีลูกค้ากว่า 90 ล้านคนทั่วโลก ซิกน่าเข้ามาดำเนินธุรกิจในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2545 โดยดำเนินธุรกิจเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการนำเสนอประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคลและประกันสุขภาพผ่านช่องทางเทเลมาร์เก็ตติ้งและการตลาดทางตรงในประเทศไทย ผลิตภัณฑ์ของซิกน่า ประเทศไทย คือแผนประกันสุขภาพ แผนประกันอุบัติเหตุ และ แผนประกันการเดินทางที่เป็นนวัตกรรม เพื่อให้ความคุ้มครองแก่ลูกค้ารายบุคคลรวมถึงบุคคลในครอบครัวอันเป็นที่รัก สามารถพบข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับซิกน่าประเทศไทยได้ที่ www.cigna.co.th
เกี่ยวกับการสำรวจคะแนนสุขภาพและความเป็นอยู่แบบ 360° ของซิกน่า
การสำรวจคะแนนสุขภาพและความเป็นอยู่แบบ 360° ของซิกน่า (Cigna’s 360° well-being survey) เป็นการศึกษาการรับรู้และทัศนคติของผู้คนเกี่ยวกับสุขภาพและความเป็นอยู่ของตนเอง โดยสะท้อนความรู้สึกของแต่ละคนที่มีต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ของตนเอง โดยการสำรวจนี้เป็นการสำรวจแบบออนไลน์และได้รับการออกแบบเพื่อศึกษาสุขภาพและความเป็นอยู่ในห้าด้านหลัก ได้แก่ สุขภาพและความเป็นอยู่ด้านร่างกาย ด้านสังคม ด้านครอบครัว ด้านการเงิน และด้านการงาน โดยดัชนีชี้วัด หรือ คะแนนที่ได้จากการสำรวจนั้น วัดจากความคิดเห็นโดยรวมของประชากรที่อาศัยอยู่ในแถบเอเชีย-แปซิฟิคและสหราชอาณาจักร