3 เยาวชน “เพาเวอร์กรีนปีที่ 11” ตะลุยศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพในอินโดนีเซีย แบ่งปันการเรียนรู้การอนุรักษ์พันธุ์พืช-สัตว์หายาก ปูพื้นฐานการพัฒนาที่ยั่งยืน
“ความหลากหลายทางชีวภาพในประเทศไทยในอดีตคงอุดมสมบูรณ์มากกว่านี้ แต่ในปัจจุบันจากที่ได้เห็นรอบตัวแทบจะไม่มีต้นไม้ ใบหญ้าให้เห็นสักเท่าไหร่แล้ว อาจเป็นเพราะผู้คนมองไม่เห็นความสำคัญของความหลากหลายทางชีวภาพที่หล่อเลี้ยงพวกเรามานานแสนนาน คงจะดีไม่น้อยถ้าเยาวชนไทยทุกคนได้มีโอกาสเรียนรู้และเข้าใจความหลากหลายทางชีวภาพด้วยตาตนเอง เพื่อต่อยอดไปสู่การอนุรักษ์ที่ไม่ใช่แค่อนุรักษ์ แต่เป็นการขยายองค์ความรู้ที่เรามีให้แก่ทุกคนต่อไป”
เมื่อเร็วๆนี้ บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ผู้นำธุรกิจพลังงานแห่งเอเชียที่มุ่งมั่นพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน ร่วมกับคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล นำ 3 เยาวชนโครงการ “ค่ายเพาเวอร์กรีน” ปีที่ 11 ที่ได้รับคัดเลือก เดินทางไปเรียนรู้ด้านสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ เจาะลึกแนวทางการอนุรักษ์พืชพันธุ์และสัตว์ป่าหายาก ณ สวนสัตว์สไตล์ซาฟารี (Taman Safari Indonesia Bogor) และศูนย์อนุรักษ์ลิงอุรังอุตังบอร์เนียว (Borneo Orang Utan Survival) พร้อมศึกษากระบวนการบริหารเหมืองเอ็มบาลุต (Embalut) ของบ้านปูฯ ที่ให้ความสำคัญกับการดูแลสิ่งแวดล้อมและชุมชน ตลอดจนการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและฟื้นฟูพื้นที่เหมืองตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน
นางสาวศศินันท์พร จิรัชญาพงศ์ (หมิว) ชั้น ม.5 โรงเรียนสารภีพิทยาคม จ.เชียงใหม่
นางสาวนินัฎดา หะยีแวสามะ (นัฎ) ชั้น ม.4 โรงเรียนดารุสสาลาม จ.นราธิวาส
นายพีรพัฒน์ หริเลิศรัฐ (พีท) ชั้น ม.4 โรงเรียนอัสสัมชัญสมุทรปราการ จ.สมุทรปราการ
เยาวชนที่ได้รับเลือกให้ไปทัศนศึกษา ได้แก่ นายพีรพัฒน์ หริเลิศรัฐ (พีท) ชั้น ม.4 โรงเรียนอัสสัมชัญสมุทรปราการ จ. สมุทรปราการ, นางสาวนินัฎดา หะยีแวสามะ (นัฎ) ชั้น ม.4 โรงเรียนดารุสสาลาม จ. นราธิวาส, นางสาวศศินันท์พร จิรัชญาพงศ์ (หมิว) ชั้น ม.5 โรงเรียนสารภีพิทยาคม จ. เชียงใหม่ จึงถ่ายทอดประสบการณ์และแบ่งบันเกร็ดความรู้ที่ได้จากสถานที่ที่ได้ไปเยี่ยมชมเพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนรุ่นใหม่ในการเป็นส่วนหนึ่งเพื่อขับเคลื่อนขบวนการพัฒนาชุมชนและทรัพยากรในชุมชนอย่างยั่งยืน ดังนี้
ความหลากหลายทางชีวภาพของไทยเทียบกับอินโดนีเซีย
นัฎ: ก่อนทัศนศึกษานั้น คิดว่าประเทศไทยเราก็มีทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพสูงพอสมควร สังเกตได้จากผลไม้ที่หลากหลายหากินได้ตลอดปี และสัตว์ต่างๆ แต่เมื่อได้ไปทัศนศึกษาที่อินโดนีเซียแล้ว พบว่าที่นั่นมีความอุดมสมบูรณ์มากกว่าที่ไทยมาก รู้สึกได้ว่าผู้คนที่นั่นจะตระหนักถึงความสำคัญของธรรมชาติและสัมผัสถึงความรักของพวกเขาพลังของการเอาใจใส่ต่อธรรมชาติในการไม่รุกรานป่า ทำให้พื้นที่ส่วนใหญ่จะเต็มไปด้วยต้นไม้ ดูเย็นตา อากาศดีกว่า จึงสามารถพบสัตว์ป่าที่หาดูยากหรือใกล้สูญพันธุ์ได้มากมายได้ที่นี่
พีท: อินโดนีเซียมีพันธุ์พืชที่เหมือนกับประเทศไทยหลายพันธุ์มาก แต่ขนาดของพืชที่นั่น มีขนาดใหญ่และสมบูรณ์กว่าประเทศไทยหลายเท่า สัตว์ป่าท้องถิ่นที่อินโดนีเซีย มีหน้าตาแตกต่างจากที่ประเทศไทยมาก บางชนิดไม่สามารถพบเห็นที่ประเทศไทยได้ เช่น มังกรโคโมโด ลิงจมูกยาว ลิงทาร์เซียร์ เป็นต้น
การอนุรักษ์พันธุ์สัตว์พื้นเมืองหายาก ณ ศูนย์อนุรักษ์ลิงอุรังอุตังบอร์เนียวและศูนย์อนุรักษ์หมีหมา และสวนสัตว์สไตล์ซาฟารี Taman Safari Bogor
การอนุรักษ์พันธุ์สัตว์พื้นเมืองหายาก ที่ศูนย์อนุรักษ์ลิงอุรังอุตัง
หมิว: ศูนย์อนุรักษ์ลิงอุรังอุตังบอร์เนียว เป็นสถานที่ที่รวบรวมลิงอุรังอุตัง และหมีหมาที่ถูกลักลอบนำมาเลี้ยง ฝึกสอนเพื่อแสดงในคณะละครสัตว์ หรือแม้แต่ถูกมนุษย์ทำร้าย โดยมีเจ้าหน้าที่ดูแลสัตว์สอนการใช้ชีวิตตามธรรมชาติให้แก่สัตว์ป่าเหล่านี้ก่อนส่งกลับสู่ธรรมชาติ เช่น การสร้างรัง การหาอาหาร และยังสอนให้เกลียดมนุษย์เพื่อให้พวกมันเอาตัวรอดจากมนุษย์ผู้ไม่หวังดีด้วย นอกจากนี้ ยังได้เห็นสัตว์ป่าท้องถิ่นที่ใกล้ที่จะสูญพันธุ์ และสัตว์ป่าหาชมยากกว่า 2,000 ชนิดที่สวนสัตว์สไตล์ซาฟารี Taman Safari Bogor อีกด้วย อย่างเช่น ชะนีเซียมัง เสือโคร่งสุมาตรา เสือโคร่งเบงกอลขาว กระทิงแดง ยามา อูฐ สิงโต กวาง สิงโต ฯลฯ โดยสัตว์เหล่านี้สามารถสัญจรและหากินได้อย่างอิสระ
ความหลากหลายของพันธุ์สัตว์ในสวนสัตว์สไตล์ซาฟารี Taman Safari Bogor
พีท: วิธีที่เขาใช้ในการอนุรักษ์สัตว์ก่อนจะปล่อยคืนสู่ป่านั้นเป็นระบบ คือมีการแบ่งเป็นระดับความพร้อมของสัตว์แต่ละตัวพร้อมที่จะถูกปล่อยคืนสู่ป่าหรือไม่และยังมีการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย เช่น การฝังชิปในสัตว์แต่ละตัว เพื่อติดตามว่ามันเอาตัวรอดในธรรมชาติได้ตลอดรอดฝั่งหรือไม่ และเป็นครั้งแรกที่ได้ทราบว่า กรงไม่ได้มีความหมายในด้านการจำกัดอิสระของสัตว์เพียงอย่างเดียว แต่ในบางครั้งอย่างเช่นในการอนุรักษ์ Sunbear หมีท้องถิ่นของอินโดนีเซียที่ใกล้สูญพันธุ์ ณ ศูนย์อนุรักษ์หมีหมา เราจำต้องสร้างกรงมาเพื่อป้องกันไม่ให้พวกมันไปใกล้เขตชุมชน เป็นป้องกันอันตรายต่อตัวหมีเองและต่อมนุษย์จนกว่าจะพร้อมกลับคืนสู่ธรรมชาติอย่างปลอดภัย
การจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ ณ เหมืองเอ็มบาลุต
เรียนรู้การจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ ณ เหมืองเอ็มบาลุต / การจัดการแหล่งน้ำเพื่อเพาะพันธุ์ปลา /
กรรมวิธีการสกัดน้ำมันพิมเสน หรือ Patchouli
กรรมวิธีการสกัดน้ำมันพิมเสน หรือ Patchouli
หมิว: แม้จะเป็นเวลา กว่า 25 ปี ที่มีการขุดเหมืองเอ็มบาลุตเพื่อนำถ่านหินไปเป็นพลังงานไฟฟ้าและเชื้อเพลิงต่างๆ แต่ตลอดระยะเวลานั้นมีการจัดการฟื้นฟูสภาพสิ่งแวดล้อมของชุมชนรอบๆ เหมืองอย่างเป็นระบบอยู่ตลอดเวลา
นัฎ: การแบ่งส่วนทำเกษตรผสมผสาน และแปลงสาธิตเทคโนโลยีทางการเกษตรที่เรียกว่า Agriculture Techno Park ช่วยสร้างความรู้ใหม่ๆ ให้แก่ชุมชนทั้งเรื่องการ ปรับบ่อน้ำในเหมืองให้เป็นแหล่งน้ำสำคัญของชาวบ้าน ไว้ทำการเกษตรและเพาะพันธุ์ปลาเพื่อแบ่งให้ชุมชนนำไปบริโภคหรือค้าขายสร้างรายได้ รวมถึงสอนการสกัดน้ำมันหอม Patchouli หรือน้ำมันพิมเสน เพื่อส่งขายเป็นหัวเชื้อในอุตสาหกรรมเครื่องสำอางและน้ำหอมทั้งในและต่างประเทศ และยังเป็นพื้นที่ต้นแบบให้กับเจ้าหน้าที่รัฐในการนำความรู้ไปแจกจ่ายให้กับประชาชนพื้นที่อื่นๆ อีกด้วย ซึ่งถือว่าเป็นการพัฒนาในรูปแบบของการส่งเสริมการเรียนรู้แก่สมาชิกชุมชนไปในตัว
พีท: ที่นี่เราได้รู้จักการฟื้นฟูแบบใหม่ที่ไม่ใช่การปลูกป่าเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการพัฒนาพื้นที่บริเวณรอบๆ เหมืองให้เป็นพื้นที่สาธิตการเกษตรซึ่งเป็นวิธีการฟื้นฟูที่น่าสนใจอย่างมาก เพราะนอกจากจะเป็นประโยชน์ต่อคนในชุมชนแล้วยังสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้กับประเทศไทยได้ด้วย
เยาวชนทั้ง 3 คนอยากฝากคนไทยให้หันมาสนใจกับความหลากหลายทางชีวภาพมากกว่านี้โดยเฉพาะการพัฒนาด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติให้ดียิ่งขึ้น ปลูกฝังจิตสำนึกของคนไทยให้รักษ์ป่า รักษ์สัตว์ และคำนึงถึงคุณค่าของธรรมชาติให้มากขึ้น เพราะนอกจากความหลากหลายทางชีวภาพจะเป็นตัวบ่งบอกเอกลักษณ์ของประเทศแล้ว มันยังสะท้อนถึงคนในประเทศว่าให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมมากเพียงใด โดยสามารถเริ่มจากการศึกษาหาความรู้ด้วยตนเองจากแหล่งข้อมูลต่างๆ เช่น การอนุรักษ์ป่าไม้ วิธีลดโลกร้อน หรือการเข้าไปมีส่วนร่วมกับแกนนำสิ่งแวดล้อมต่างๆอย่างเช่น การเข้าค่าย Power Green Camp เพื่อเรียนรู้ทั้งเรื่องการจัดการ วิธีการแก้ปัญหา เรื่องความหลากหลายทางชีวภาพและหัวข้อที่เกี่ยวข้องอื่นๆ มากมาย เพื่อปลูกฝังจิตสำนึกของการร่วมกันอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมมากขึ้น
นางอุดมลักษณ์ โอฬาร ผู้อำนวยการสายอาวุโส-องค์กรสัมพันธ์ บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า “ความหลากหลายทางชีวภาพมีความสำคัญและเชื่อมโยงกับการดำเนินชีวิตของมนุษย์มากขึ้น ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีผลกระทบโดยตรงกับชีวิตประจำวันของทุกคน ปีนี้จึงเป็นปีที่ 2 ที่บ้านปูฯ จัดทริปทัศนศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพ ณ ประเทศอินโดนีเซีย ประเทศที่ขึ้นชื่อว่าเป็นแหล่งเรียนรู้ที่ดีในด้านความหลากหลายทางชีวภาพ ประกอบกับบ้านปูฯ มีนโยบายสำคัญด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน (sustainable development policy) ในกระบวนการดำเนินธุรกิจตั้งแต่ขั้นตอนวางแผนพัฒนากระบวนการผลิต ระหว่างการดำเนินการผลิต และภายหลังการปิดเหมือง ตัวอย่างโครงการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพที่สำคัญคือ โครงการที่เหมืองบารินโต (Barinto) และเหมืองอินโดมินโค (Indominco) รวมถึงโครงการพัฒนาชุมชนและสิ่งแวดล้อมที่เหมืองเอ็มบาลุต ภายใต้การดูแลของ PT.Indo Tambangraya Megah (ITM) ซึ่งเป็นบริษัทลูกของบ้านปูฯ ในประเทศอินโดนีเซีย จึงต้องการต่อยอดการเรียนรู้และสร้างความตระหนักในเรื่องนี้ให้แก่เยาวชน”
รศ.ดร.รัตนวัฒน์ ไชยรัตน์
รองคณบดีฝ่ายวิชาการและกิจการนักศึกษา คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
รองคณบดีฝ่ายวิชาการและกิจการนักศึกษา คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ในฐานะประธานโครงการค่ายเพาเวอร์กรีน 11
“บ้านปูฯ เชื่อว่า พลังความรู้คือพลังแห่งการเปลี่ยนแปลงและพัฒนา เราจึงส่งเสริมให้เยาวชนได้เปิดโลกทัศน์ เรียนรู้โลกกว้าง เห็นภาพกระบวนการทำงานของภาคธุรกิจที่ดำเนินตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อประกอบธุรกิจควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคม สิ่งแวดล้อม และชุมชน รวมถึงศึกษาทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมต่างถิ่น ที่นอกจากจะสร้างเสริมประสบการณ์ และแรงบันดาลใจแก่เยาวชนแล้ว ยังเชื่อว่าเยาวชนจะสามารถคิดวิเคราะห์และประยุกต์ใช้สิ่งใหม่ที่ได้เรียนรู้ และนำกลับไปปรับใช้ในการพัฒนาชุมชนและทรัพยากรในชุมชนได้อย่างยั่งยืน” นางอุดมลักษณ์กล่าวสรุป
###
เกี่ยวกับการทัศนศึกษาในครั้งนี้
การทัศนศึกษาครั้งนี้เป็นส่วนต่อยอดของโครงการค่ายวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม “เพาเวอร์กรีน” ปีที่ 11 ภายใต้หัวข้อ การจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ กับการอนุรักษ์แหล่งมรดกโลกอย่างยั่งยืน มีระยะเวลารวม 5 วัน เยาวชนที่ได้รับเลือกให้ไปทัศนศึกษาทั้ง 3 คนผ่านเกณฑ์การคัดเลือกโดยพิจารณาจากความสามารถด้านความรู้ ความเข้าใจและความรู้รอบตัวเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม บุคลิกภาพ พฤติกรรม การทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ดี และความสามารถในการสื่อสารภาษาอังกฤษ ซึ่งสังเกตการณ์โดยคณะอาจารย์ระหว่างการเข้าค่ายในช่วงเดือนตุลาคม 2559 และการสัมภาษณ์กับผู้บริหารของบ้านปูฯ
เกี่ยวกับ ค่ายเพาเวอร์กรีน
โครงการค่ายเยาวชนวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม “เพาเวอร์กรีน” (The Power Green Camp) ดำเนินการต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 โดยความร่วมมือระหว่างคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ภายใต้แนวคิดที่ว่า “วิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม - เรียนรู้สู่การปฏิบัติ” ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจด้านวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ ตลอดจนเน้นให้เยาวชนรู้จักนำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์มาใช้แก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบ เพื่อปลูกจิตสำนึกในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนให้แก่เยาวชน สร้างแกนนำและเครือข่ายเยาวชนด้านสิ่งแวดล้อมในอนาคต โดยกลุ่มเป้าหมายของค่าย คือ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 และ 5 สายวิทยาศาสตร์ทั่วประเทศ
เกี่ยวกับ บมจ. บ้านปู
บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) เป็นผู้บุกเบิกด้านพลังงานชั้นแนวหน้าของเอเชีย ดำเนินธุรกิจถ่านหิน ธุรกิจไฟฟ้า และพลังงานที่เกี่ยวเนื่องอย่างครบวงจร ใน 9 ประเทศ ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย จีน ออสเตรเลีย ลาว มองโกเลีย สิงคโปร์ ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา
“พลังความรู้ คือพลังแห่งการเปลี่ยนแปลงและพัฒนา”
บ้านปูฯ เชื่อว่า “การเรียนรู้” เป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนา “คน” ซึ่งจะขับเคลื่อนชุมชนและสังคมให้พัฒนาอย่างยั่งยืนในระยะยาว โครงการซีเอสอาร์ของบ้านปูฯ ในทุกประเทศ จึงมุ่งเน้นสนับสนุนและส่งเสริมการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องให้กับเยาวชนและชุมชนในหลากหลายรูปแบบ ทั้งการเรียนรู้จากประสบการณ์จริง การดำเนินชีวิตประจำวัน การเรียนรู้ทั้งในและนอกห้องเรียน การฝึกฝนเพื่อพัฒนาศักยภาพและทักษะชีวิต หรือการค้นคว้า เรียนรู้ และค้นพบองค์ความรู้ด้วยตนเองหรือร่วมกับคนอื่นๆ