ADS


Breaking News

5 สิ่งที่จะทำให้การฝึก “โยคะ” คุ้มค่าแก่การปูทางชีวิตสู่วัยเกษียณ โดย ทันตแพทย์ สมดุลย์ หมั่นเพียรการ

เป็นที่ทราบกันดีว่าประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ประชากรวัยทำงานจำนวนไม่น้อยกำลังตื่นตัวกับการเตรียมตัวเพื่อปูทางชีวิตสู่วัยเกษียณอย่างมีคุณค่า คงจะดีไม่น้อยจะมีข้อคิดหรือแนวทางให้ได้ปฏิบัติตั้งแต่เนิ่นๆ คุณหมอสมดุลย์ หมั่นเพียรการ ทันตแพทย์หนุ่มวัย 42 ผู้หลงใหลในศาสตร์ของโยคะบำบัดจนกลายเป็นครูฝึกโยคะชื่อดังคนหนึ่งของเมืองไทย และอยู่ในวัยที่ถือว่าไม่เร็วเกินไปกับการเตรียมตัว จึงขอบอกเล่า 5 สิ่งที่จะทำให้การฝึก “โยคะ” คุ้มค่าแก่การปูทางชีวิตสู่วัยเกษียณ จากประสบการณ์ที่คลุกคลีกับ “โยคะ” มานานกว่า 10 ปี
  1. โยคะ เหมาะสำหรับทุกวัย
“โยคะเป็นกิจกรรมบริหารร่างกายที่ถือว่าเหมาะสมสำหรับผู้สูงวัยเป็นที่สุด ต่อให้คุณอายุ 70 ก็ยังทำโยคะได้ แม้จะออกกำลังกายบางประเภทไม่ได้เนื่องจากข้อจำกัดของร่างกายที่เสื่อมถอย โดยเฉพาะโยคะที่ประยุกต์ศาสตร์ของ Anatomy เข้ามาร่วมด้วยก็จะรองรับผู้ฝึกที่มีความแตกต่างและข้อจำกัดด้านร่างกายได้อย่างเหมาะสม เราเลยจะเห็นได้ว่ามีผู้สูงอายุมากมากที่บริหารร่างกายด้วยโยคะและยังคงมีสุขภาพที่แข็งแรง”
  1. โยคะ ช่วยปูทางให้ “ตายอย่างสงบและศพสวย”
“การอายุยืนอาจไม่ใช่เป้าหมายของผม แต่การมีคุณภาพชีวิตและสุขภาพที่ตราบเท่าที่ยังหายใจดูจะเป็นสิ่งสำคัญ ผมคิดอยู่เสมอว่าอยาก “ตายอย่างสงบและศพสวย” ตายอย่างสงบคือไม่เป็นโรคร้าย ดูแลตัวเองได้และไม่เป็นภาระกับใคร ส่วนศพสวยนี่เพิ่งรู้สึกตอนไปปฏิบัติธรรมมา นั่นก็คือการละลดกิเลส ทำให้จิตตัวเองดีเพราะจะทำให้เราไปภพภูมิที่ดีเมื่อเราจากโลกนี้ไป โยคะเป็นสิ่งที่ประสานร่างกายและจิตใจให้เดินควบคู่กันไปอย่างสงบ โยคะยังเป็นเหมือนการเดินจงกรม ที่สร้างการตระหนักรู้ของร่างกายและจิตใจในเวลาเดียวกันขณะฝึก สามารถปูพื้นฐานที่ดีก่อนจะปฏิบัติธรรมได้”
  1. โยคะ ช่วยปรับร่างกายให้กลับสู่สมดุลอีกครั้ง
“เมื่อก่อนผมเป็นคนที่ทำอะไรเร็ว ใจร้อน โยคะทำให้ใจผมเย็นและสงบลง ร่างกายก็คลายความเจ็บปวด เหมือนเป็นการเตรียมกายและใจก่อนจะไปปฏิบัติธรรมได้อย่างดีเลยทีเดียว พอผมไปนั่งวิปัสสนา ผมสามารถนั่งสมาธิได้เป็น 10 ชั่วโมง โดยที่ร่างกายไม่เป็นอุปสรรคมากเท่าไหร่นัก ต่อให้มีเหน็บชา กล้ามเนื้อตึงปวด ใจเราจะรู้เท่าทันร่างกายว่าอาการนี้มาแล้วเดี๋ยวก็ไป ร่างกายมันไม่ได้เป็นอุปสรรคที่จะทำให้เราเข้าใจลมหายใจและจิตใจข้างใน เราสามารถก็จะอยู่กับอาการนี้ได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้มันได้มากจากการปรับสมดุลร่างกายและใจด้วยโยคะมาก่อนหน้านี้”
  1. โยคะกับวัยทอง
“ในวัย 40 ก่อนจะเข้าสู่วัยทอง ร่างกายจะเริ่มมีการเสื่อมถอยอย่างเห็นได้ชัด บวกกับความเครียด โยคะจะทำให้สภาวะใจคลายและสงบ โยคะจึงเป็นเหมือนเครื่องมือที่ปรับกายและใจ   สำหรับวัยทอง และผู้สูงอายุ โยคะสามารถบรรเทาอาการที่เกี่ยวกับกระดูก หมอนรองกระดูก โครงสร้างกระดูกสันหลังอะไรพวกนี้ สามารถปรับสมดุลภายในร่างกายให้แก่ผู้หญิงที่เผชิญปัญหาจากอาการวัยทอง ในแง่ของระบบไหลเวียนเลือด ระบบหายใจ และระบบย่อยอาหาร ขณะที่สามารถปรับสมดุลเรื่อง Growth Hormones ให้กับผู้ชายวัยทองได้”  
  1. โยคะสร้างสังคมใหม่  
“เมื่ออายุเพิ่มขึ้น ดูเหมือนสังคมและคนรอบข้างจะลดน้อยถอยลงตามกาลเวลา การฝึกโยคะในวัยนี้จึงเป็นเหมือนการสร้างสังคมใหม่ๆให้ชีวิตอีกครั้ง ได้พบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิด สำหรับผมโยคะสร้างสังคมแห่งการเชื่อมโยงสิ่งดีๆ เข้าด้วยกัน เพื่อนร่วมคลาสโยคะกับผม พอรู้ว่าผมทำโครงการเพื่อเด็กปากแหว่งเพดานโหว่ พวกเขาก็ไปจัดกิจกรรมโยคะเพื่อการกุศลเพื่อระดมทุนช่วยโครงการนี้ โยคะจึงเป็นเหมือนสื่อกลางที่ทำให้เราได้มาพบกันด้วย”
ท้ายสุด คุณหมอสมดุลย์ยังฝากเคล็ดลับในการฝึกโยคะด้วยอีกว่า สถานที่ก็เป็นสิ่งสำคัญซึ่งควรเป็นที่ๆอากาศถ่ายเทได้สะดวก สามารถรับเอาอากาศธรรมชาติเข้ามา อากาศไหลเวียนได้ดีก็จะช่วยการหายใจได้ดียิ่งขึ้นเนื่องจากโยคะเป็นเรื่องของการควบคุมลมหายใจ  หากเลือกได้การฝึกโยคะท่ามกลางสิ่งแวดล้อมที่มีความเป็นธรรมชาติก็อาจทำให้เราผ่อนคลายได้มากขึ้นเช่นกัน
เห็นได้ชัดว่าโยคะเป็นถึงยาอายุวัฒนะที่สามารถบำรุงรักษาร่างกายและจิตใจได้อย่างมีประสิทธิภาพ ยิ่งในวัยกลางคนถึงผู้สูงวัยที่ต้องประสบกับความเสื่อมถอยของร่างกายและภาวะของใจที่เหนื่อยล้า โยคะดูจะเป็นเหมือนเครื่องมือวิเศษที่ช่วยสร้างสมดุลและเติมเต็มมิติของการใช้ชีวิตที่สามารถสร้างขึ้นได้ด้วยตัวเองโดยไม่ต้องจ่ายเงินซื้อหา ขอเพียงแค่เปิดใจและลองฝึกฝนดู