รู้ยัง ! วิธีป้องกัน WannaCry มัลแวร์เรียกค่าไถ่
นายนักรบ เนียมนามธรรม กรรมการผู้จัดการ
บริษัท เอ็นฟอร์ซ ซีเคียว จำกัด
(ภาพจาก thehacknews.com)
เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2560 ทั่วโลกต้องจารึก มัลแวร์ แรนซัมแวร์ตัวหนึ่งที่มีการแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว คล้ายกับไวรัสยุคก่อน ที่แพร่กระจายไปยังระบบเครือข่ายได้ โดยมีชื่อว่า WannaCry ซี่งย่อมาจาก 'Wana Decryptor,' 'WannaCryptor' หรือ 'WCRY' โดยคำว่า “Cryptor” หมายถึงการเข้ารหัส โดยมัลแวร์ตัวนี้ ทำการเรียกค่าไถ่ด้วยการเข้ารหัสไฟล์ในเครื่องที่โดนเล่นงาน และเรียกค่าไถ่ไปยังเหยื่อให้จ่ายค่าไถ่เพื่อให้ปลดล็อคไฟล์นั้น
แรนมซัมแวร์ที่ผ่านมาส่วนใหญ่ จะมีเป้าหมายที่เครื่องใดเครื่องหนึ่งเฉพาะเจาะจง ทำการเรียกค่าไถ่ด้วยเงิน สำหรับ WannaCry ตัวนี้ จะแพร่กระจายไปหลายเครื่องเพื่อทำการ โดยมีการเรียกค่าไถ่ 300 เหรียญสหรฐ หรือประมาณ 10,000 ในวันที่ 12 ที่ผ่านมานั้น มัลแวร์ WannaCry กระจายรวดเร็วทั่วโลก โดยมี 45,000 เครื่องในกว่า 74 ประเทศ อาทิ สหรัฐอเมริกา รัสเซีย เยอรมัน อิตาลี ตุรกี เวียดนาม ฟิลิปปินส์ ที่ติดมัลแวร์ตัวนี้ สำหรับในไทยตอนนี้ เริ่มมีหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนแจ้งตกเป็นเหยื่อของมัลแวร์นี้ และสถานการณ์ปัจจุบันทั่วโลกที่มัลแวร์ตัวนี้ยังแพร่กระจายอยู่ซึ่งทำให้เครื่องติดมัลแวร์นี้ไปแล้วกว่า 120,000 เครื่อง รวมถึงในประเทศไทยด้วย
WannaCry อาศัยช่องโหว่ของระบบปฏิบัติการ Microsoft ที่ชื่อว่า MS17-010 พุ่งเป้า รุ่น XP ไปจนถึง vista window2008 2008 R2 โดยอาศัยรอยรั่วในเซิร์ฟเวอร์ Microsoft Windows SMB ที่ไม่ได้อุดช่องโหว่ไว้ โดย SMB นี้เป็นโปรโตคอลที่ไว้สำหรับแชร์ไฟล์ ดังนั้นหากเครื่องใดเครื่องหนึ่งที่ติดมัลแวร์ตัวนี้เปิดแชร์ไฟล์ผ่านโปรโตคอลนี้ เจ้ามัลแวร์จะระบาดไปยังเครื่องอื่นได้อย่างรวดเร็ว โดยมัลแวร์นี้จะแฝงมากับไฟล์ที่แนบในอีเมลมาอย่าง Word หรือ PDF โดยเมื่อเหยื่อคลิกเปิดไฟล์ที่แฝงมัลแวร์นี้ มัลแวร์จะทำการค้นหาไฟล์ในเครื่องของผู้ใช้และทำการเข้ารหัสเชิงลึกที่ถอดรหัสไม่ได้ เหยื่อจึงจำเป็นต้องจ่ายค่าไถ่เพื่อกู้ไฟล์กลับมา โดยมีการปล่อยมัลแวร์อีเมลนี้ถึง 5 ล้านเมลใน 1 ชั่วโมง จึงทำให้แพร่กระจายอย่างรวดเร็วและเป็นวงกว้าง และเมื่อเครื่องใดก็ตามถูกมัลแวร์นี้เล่นงาน จะมีข้อความแสดงบนหน้าจอจากแฮกเกอร์ ว่าคุณโดนแฮกแล้ว พร้อมจำนวนค่าไถ่และวิธีการจ่ายเงิน โดยจ่ายด้วย Bitcoin ที่สำคัญ WannaCry มี variant ที่สามารถหลบหลีกระบบการตรวจสอบจาก Anti-virus ได้
อย่างไรก็ตามทาง Microsoft ได้ออกอัพเดท Patch เพื่ออุดช่องโหว่นี้ ครอบคลุมถึง window รุ่นเก่า อย่าง vista ที่ยกเลิกการขายหรือพัฒนาไปแล้ว สำหรับระบบปฎิบัติการอื่นนอกจาก Microsoft ยังไม่มีข้อมูลแน่ชัดว่าจะถูกโจมตีด้วยหรือไม่ ตอนนี้ยังคงแพร่ระบาดเฉพาะระบบปฏิบัติการวินโดว์เท่านั้น
การป้องกันที่สำคัญสำหรับองค์กรและบุคคลทั่วไป แน่นอน คือ การอัพเดท Patch เพื่ออุดช่องโหว่ สำหรับองค์กรใหญ่ที่มี Vulnerability Management ให้สแกนหาช่องโหว่ที่ชื่อว่า MS17-010 และหากเจอช่องโหว่นี้ให้ทำการ Isolate หรือแยกออกจากระบบเครือข่ายอื่นขององค์กร ในส่วนขององค์กรทั่วไปใช้ Firewall ปิดพอร์ตที่เกี่ยวข้องกับโปรโตคอล SMB ได้แก่ 445/138/139 ชั่วคราว จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย อีกวิธีป้องกันที่สำคัญสำหรับทุกภาคส่วน คือ การสำรองข้อมูล โดยควรมีการสำรองข้อมูลไว้อย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง เพื่อที่หากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว สามารถเรียกใช้ข้อมูลที่มีการสำรองไว้ได้ หรือสูญเสียข้อมูลให้เหล่าแฮกเกอร์น้อยที่สุด
สุดท้ายนี้หวังว่าทุกท่านจะทำการอัพเดตโปรแกรมหรือระบบต่างๆอยู่เสมอ รวมถึงการสำรองข้อมูล เพื่อหลีกเลี่ยงการโจมตีจากเหล่าอาชญากรไซเบอร์ หรือได้รับความเสียหายน้อยที่สุด