สจล. ดันไทยศูนย์กลางการศึกษาด้านนวัตกรรมของภูมิภาค ผนึกกำลังทุกสถาบันเน้นหลักสูตรภาษาอังกฤษหนุนอุตสาหกรรม New S-Curve
สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เดินหน้าขับเคลื่อนไทยเป็นศูนย์กลางการศึกษาด้านนวัตกรรมของภูมิภาค ตั้งเป้าสนับสนุนการปฏิรูปการศึกษารับนโยบายพัฒนาประชากร 4.0 ของรัฐบาล ด้วยกลยุทธ์ผนึกกำลังสถาบันชั้นนำของไทย ปรับหลักสูตรเน้นภาษาอังกฤษและการศึกษาแบบสะเต็ม (STEM) ส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรในสาขาซึ่งเป็นที่ต้องการของอุตสาหกรรม New S-Curve พร้อมเดินหน้าทำความตกลงร่วมกับ Carnegie Mellon University มหาวิทยาลัยอันดับต้นๆ ของโลกด้านเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และไอที
ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า การพัฒนาคนที่มีความสามารถ ทักษะที่จะรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมตามนโยบายของรัฐบาลในการพัฒนาประเทศไทย ไทยแลนด์ 4.0 ด้วยการส่งเสริมนวัตกรรมแห่งอนาคตหรือ New S-Curve เช่น หุ่นยนต์ การบินและโลจิสติกส์ เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ ดิจิตัล และการแพทย์ครบวงจร และสร้างมูลค่าเพิ่มให้เพื่อที่จะทำให้เศรษกิจเติบโตขึ้นไปอีกระดับ ยังเป็นความท้าทายสำคัญของไทย แต่ก็ยังหมายถึงโอกาสที่ดีสำหรับประเทศเช่นกัน
“สจล. ในฐานะที่เป็นสถาบันชั้นนำด้านนวัตกรรม และผมในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย หรือ ทปอ. จึงได้ผนึกกำลังกับสถาบันต่างๆ ทั่วประเทศในการกำหนดแนวทางการพัฒนาการศึกษาไทย โดยเน้นสิ่งที่อุตสาหกรรมเป้าหมายต้องการ คือ ทักษะภาษาอังกฤษ ซึ่งต้องอาศัยการจัดหลักสูตรนานาชาติให้มากขึ้น ความรู้ที่จะสนับสนุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาสาขาการแพทย์ วิจัย วิศวกรรม การบิน และวิทยาศาสตร์ทุกแขนง ซึ่งทปอ. ต่างก็เห็นพ้องและจะเร่งดำเนินการเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดเจนและเร่งด่วน”
“สจล. เองมีความพร้อมเต็มที่ซึ่งสามารถเห็นได้ไม่ว่าจะเป็นจากการที่เรากำลังจะเปิดโรงเรียนสาธิตนานาชาติพระจอมเกล้าที่สอนตั้งแต่ชั้นอนุบาลจนจบมัธยมปลายหลักสูตรภาษาอังกฤษ การจะเปิดวิทยาลัยแพทยศาสตร์นานาชาติ สจล. วิทยาลัยอุตสาหกรรมการบินนานาชาติ โครงการจัดตั้งวิทยาลัยวิศวกรรมอวกาศและระบบโลกที่การเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษ และหลักสูตรภาษาอังกฤษที่อีกหลายคณะเปิดสอนอยู่ในปัจจุบัน ประกอบกับเรามีจุดแข็งด้านการสร้างนวัตกรรม นอกจากนั้นสถานที่ตั้งของสจล.เองก็อยู่ใกล้เขตพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Thailand's Eastern Economic Corridor, EEC) ซึ่งรัฐบาลกำหนดให้เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจใหม่ของภูมิภาคนี้ และจะขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจสู่ยุค 4.0 ทำให้สจล. มีความพร้อมอย่างเต็มที่” ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์กล่าว
และเพื่อกระตุ้นให้วงการศึกษาไทยมีการเปลี่ยนแปลงได้เร็วขึ้น บุคลากรและประเทศไทยมีศักยภาพมากขึ้น สจล. ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัย Carnegie Mellon แห่งสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยทางด้านเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และไอที ระดับโลก เป็นแหล่งผลิตนักวิชาการรางวัลโนเบลมาแล้วหลายท่าน เพื่อริเริ่มโครงการจัดตั้งวิทยาเขตมหาวิทยาลัยระดับโลกในประเทศไทย คือ Carnegie Mellon University มหาวิทยาลัยทางด้านเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ ไอที ระดับโลก โดยร่วมมือกับ สจล. เพื่อสร้างวิทยาเขตในประเทศไทย เปิดสอนระดับปริญญาและหลักสูตรระดับโลก นอกจากนั้นทาง Carnegie Mellon University จะนำนักวิจัยและพันธมิตรอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็น ศูนย์หุ่นยนต์แห่งชาติ (National Robotics Engineering Center) ซึ่งตั้งอยู่ใน Carnegie Mellon University เอง หรือ Google, Facebook, และ Disney ตลอดจนบริษัทและอาจารย์ระดับโลกมาทำงานวิจัยเพื่อแก้ปัญหาอุตสาหกรรมของประเทศไทย
ความร่วมมือดังกล่าว จะทำให้ประเทศไทยได้บุคลากรที่เก่งที่สุดในระดับโลกมาช่วยหาทางออกและยกระดับการพัฒนาประเทศ อันจะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ โดยที่ภาคเอกชนจะมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อน
สจล. จะรับสมัครนักวิจัยภายในปลายปีนี้ และจะรับทั้งนักเรียนไทยและทั่วโลกที่มีความรู้และศักยภาพ เข้ามาเริ่มศึกษาตามแนวทางนี้ในปีหน้า ผู้ที่จบการศึกษาจากที่นี่จะได้รับปริญญามาตรฐานเดียวกับ Carnegie Mellon University Pittsburgh เพราะใช้หลักสูตรเดียวกัน นอกจากนั้น สจล. ยังยินดีที่จะร่วมมือกับทุกมหาวิทยาลัยในการทำวิจัย และ case study รวมทั้งยังมีแผนที่จะสร้างวิทยาเขตของ สจล. ที่ Carnegie Mellon University อีกด้วย
ขณะเดียวกัน สจล. ยังมุ่งเน้นการศึกษาแบบ STEM (Science, Technology, Engineering, Mathematics) ที่ผสานความสร้างสรรค์หรือเน้นวิชาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ เป็นพื้นฐานในบรรยากาศและวิธีการจัดการเรียนการสอนที่จะส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ เพื่อกระตุ้นให้คนรุ่นใหม่คิดและวิเคราะห์ได้อย่างเป็นระบบ รวมทั้งสามารถบูรณาการความรู้หลากสาขาเข้าด้วยกันโดยอาศัยความคิดสร้างสรรค์เพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ และนวัตกรรมที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด
นอกจากนี้ สจล. มีนโยบายให้ทุกคณะของสถาบันเปิดหลักสูตรนานาชาติเพิ่มเติมจากที่มีอยู่แล้วในปัจจุบัน 4 หลักสูตรซึ่งเป็นของคณะวิศวกรรมศาสตร์ เพื่อให้ สจล. เป็นแหล่งบ่มเพาะคนรุ่นใหม่ที่มีความสามารถด้านภาษาต่างประเทศในทุกสาขาวิชา รวมทั้งมีแผนที่จะจัดตั้งคณะใหม่ที่ศึกษาด้านเทคโนโลยีดาวเทียม ช่วยให้พยากรณ์อากาศและวางแผนการผลิตในภาคเกษตรได้อย่างแม่นยำและมีประสิทธิภาพสูงขึ้น เพื่อสนับสนุนการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนโดยเน้นและต่อยอดจากจุดแข็งของประเทศด้านเกษตรกรรม
ขณะเดียวกัน วิทยาลัยแพทยศาสตร์นานาชาติ สจล. ซึ่งจะเป็นวิทยาลัยแพทย์ที่อยู่ใกล้ EEC มากที่สุด มีความคืบหน้าในการดำเนินการ โดยสจล. ได้เข้าไปลงพื้นที่โรงพยาบาลสิรินธรในสังกัดสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานครเพื่อให้มั่นใจว่ามีความพร้อมที่จะรองรับนักศึกษาแพทย์ของสจล. เข้าฝึกปฏิบัติงานในอนาคตอันใกล้นี้ และมุ่งเน้นพัฒนาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับโรคต่างๆอันเกิดจากการประกอบอาชีพอุตสาหกรรม และก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์แห่งภูมิภาคอาเซียน
สำหรับการศึกษาในระดับประถมและมัธยม โรงเรียนสาธิตนานาชาติพระจอมเกล้าจะเปิดภาคการศึกษาในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 และ 4 รุ่นแรกในเดือนสิงหาคม 2560 นี้ และด้วยที่ตั้งที่อยู่ใกล้ศูนย์กลางอุตสาหกรรมในภาคตะวันออกของกรุงเทพฯ และ EEC รวมทั้งหลักสูตรที่เป็นมาตรฐานนานาชาติ จะทำให้โรงเรียนสาธิตนานาชาติพระจอมเกล้าสามารถรองรับนักเรียนทั่วไป และบุตรหลานของนักลงทุนต่างประเทศที่เข้ามาทำงานในภาคตะวันออกของประเทศไทยได้เป็นอย่างดี
“การจัดการศึกษาที่เป็นมาตรฐานนานาชาติแบบครบวงจรตั้งแต่ชั้นเด็กเล็กไปจนถึงระดับปริญญา รวมทั้งวิชาสาขาเฉพาะทาง เช่น การแพทย์ คือโมเดลใหม่ที่จะพลิกโฉมการศึกษาของไทย สอดคล้องกับความต้องการของตลาดและนโยบายการปฏิรูประบบการศึกษาของรัฐบาลที่มุ่งเน้นการผลิตทรัพยากรมนุษย์ที่เน้นทักษะที่เป็นที่ต้องการของตลาดมากกว่าจะผลิตตามความถนัดของสถาบันการศึกษาอย่างที่เคยเป็นมา
“นอกจากนี้ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ผมจะเดินหน้าผลักดันให้มหาวิทยาลัยต่างๆ ได้พิจารณาโครงการความร่วมมือกับเอกชนมากขึ้น ในการจัดหลักสูตรการศึกษาที่ตรงตามความต้องการของภาคการผลิต สามารถสร้างคนที่มีคุณภาพ เพื่อสนับสนุนการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานขององค์กรต่างๆ และจะขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่จะเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และทำให้ประเทศไทยสามารถใช้โอกาสที่เกิดขึ้นจากแนวโน้มที่ภูมิภาคเอเชียจะกลายมาเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจใหม่ของโลกต่อไปในอนาคต” ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์กล่าว