ADS


Breaking News

กรุงเทพมหานคร จัดกิจกรรมรณรงค์ “ต้านภัย ไข้เลือดออก” รังสรรค์ “นิทรรศการศิลป์แห่งสุขภาพ” ให้ประชาชนตื่นตัวในการป้องกันโรคไข้เลือดออกผ่านงานศิลปะ

     กรุงเทพฯ 16 พฤษภาคม 2560 - กรุงเทพมหานคร โดยสำนักอนามัย จัดกิจกรรมรณรงค์ “ต้านภัย ไข้เลือดออก” เพื่อมุ่งสร้างให้ประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมายมีความตระหนักรู้ ตื่นตัวในการป้องกันและสามารถปฏิบัติตนเพื่อให้ปลอดภัยจากโรคไข้เลือดออก และมีส่วนร่วมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคไข้เลือดออกในพื้นที่กรุงเทพมหานครอย่างยั่งยืน  ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ 
     นายชวินทร์ ศิรินาค ผู้อำนวยการสำนักอนามัย  กล่าวว่า “สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร มีความห่วงใยสุขภาพประชาชน โดยเฉพาะโรคไข้เลือดออกตามนโยบายของพลตำรวจเอกอัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ซึ่งถือเป็นนโยบายสำคัญยิ่งของกรุงเทพมหานครในการดำเนินการป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออกอย่างยั่งยืน โดยเดือนพฤษภาคมเป็นรอบรณรงค์เรื่องโรคไข้เลือดออก ทางสำนักฯ จึงจัดกิจกรรมรณรงค์ “ต้านภัย ไข้เลือดออก” เพื่อให้ประชาชนทราบถึงวิธีป้องกัน ความเสี่ยงและความรุนแรงของโรค รวมทั้งมุ่งลดจำนวนผู้ป่วยและลดอัตราผู้เสียชีวิตจากโรคไข้เลือดออก ภายใต้แนวคิด“นิทรรศการศิลป์แห่งสุขภาพ” หรือ ‘Art For Health’” 
นายแพทย์ชวินทร์ ศิรินาค ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร ชมนิทรรศการ “ศิลป์แห่งสุขภาพ
นายแพทย์เมธิพจน์ ชาตะเมธีกุล ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคติดต่อ สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร

     กิจกรรมประกอบด้วย การบรรยายความรู้เกี่ยวกับโรคไข้เลือดออกโดยผู้เชี่ยวชาญของสำนักอนามัย สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งเอเซีย และคุณแวนดา สหวงษ์ การถ่ายทอดเรื่องราวและประสบการณ์ตรงของเซเลบริตี้     การจัดนิทรรศการและศิลป์แห่งสุขภาพหรือ Art For Health ที่รวบรวมผลงานภาพของเซเลบริตี้ โดยกลุ่มศิลปินร่วมสมัย เพื่อถ่ายทอดแรงบันดาลใจและความมุ่งมั่นในการป้องกันตนเองจากโรคไข้เลือดออก 
     ศาสตราจารย์แพทย์หญิงอุษา ทิสยากร นายกสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งเอเชีย เปิดเผยว่า “ไข้เลือดออกเป็นโรคที่ประเทศของเราไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เป็นโรคที่ไม่สามารถคาดเดาได้ล่วงหน้าถึงความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นได้ ซ้ำยังพบได้ในคนทุกวัยและทุกที่ในประเทศไทย ซึ่งสร้างภาระให้กับประเทศชาติอย่างมหาศาล ไข้เลือดออกทำให้สูญเสียทั้งโอกาสในการทำงานและการเรียน โดยสามารถทำให้ผู้ป่วยรู้สึกเจ็บปวดและอ่อนแอมาก โดยเฉลี่ยแล้วผู้ป่วยต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาลประมาณ 3.8 วัน รวมทั้งส่งผลกระทบต่อเวลาเรียนของนักเรียน เด็กจะต้องหยุดเรียนไปราว 4.2-5.6 วันเมื่อเป็นไข้เลือดออก ในขณะที่ผู้ใหญ่จะขาดงาน 6.6-9.9 วัน เมื่อป่วยหรือต้องเข้ารักษาโรคไข้เลือดออกในโรงพยาบาล ปัจจุบันยังไม่มีแนวทางที่สามารถการรักษาเชื้อไข้เลือดออกได้ การป้องกันไข้เลือดออกไว้ก่อนจึงเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่ง เพราะเราไม่สามารถคาดเดาได้เลยว่าถ้าเป็นแล้วอาการจะรุนแรงเพียงใด และจะส่งผลถึงชีวิตหรือไม่” 
โบว์-แวนด้า สหวงษ์  ตัวแทนโครงการรณรงค์ “ต้านภัยไข้เลือดออก
และผลงานภาพวาดฝาผนัง โดยศิลปินวัฒนพล กิจบุรินทร์ 

     นางแวนดา สหวงษ์  หรือ “แม่โบว์” ในฐานะตัวแทนโครงการรณรงค์ “ต้านภัย ไข้เลือดออก” กล่าวถึงประสบการณ์โดยตรงของตนเองว่า “ไข้เลือดออกสามารถสร้างความเสียหายได้อย่างใหญ่หลวง ส่งผลกระทบกับทั้งชีวิตส่วนตัวและครอบครัวของโบว์ โดยส่วนตัวแล้วคิดว่าคนไทยส่วนมากยังไม่ทราบว่าไข้เลือดออกเป็นโรคที่รุนแรงแค่ไหน ไม่สามารถคาดเดาได้ล่วงหน้าถึงความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้น ซ้ำยังเกิดได้ทุกที่ ทุกฤดูกาล และทุกวัย ไม่ว่าคุณจะไลฟ์สไตล์แบบไหน แม้แต่คนที่แข็งแรงหรือมีสุขภาพดีอยู่แล้วก็เป็นโรคไข้เลือดออก และมีอาการขั้นรุนแรงได้ เพียงแค่โดนยุงกัดเพียงครั้งเดียวก็เปลี่ยนชีวิตคุณได้ตลอดกาล”  
     ทั้งนี้ โบว์ - แวนดา สหวงษ์ ยังได้เชิญชวนให้ทุกคนร่วมกันต้านภัยไข้เลือดออก และเรียนรู้ข้อมูลเกี่ยวกับโรคนี้ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ในรายที่ไม่แน่ใจว่าตนจะเริ่มต้นอย่างไรในการลุกขึ้นมาป้องกันครอบครัวหรือคนรอบข้างจากภัยไข้เลือดออก สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับวิธีการป้องกันโรคไข้เลือดออกเพิ่มเติมได้ที่แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ศูนย์บริการสาธารณสุข หรือโรงพยาบาลใกล้บ้าน
     นิทรรศการศิลป์แห่งสุขภาพ” หรือ ‘Art For Health’ ประกอบด้วยผลงานภาพวาดคุณโบว์-แวนดาฝาผนังขนาดยักษ์สัญลักษณ์โครงการ “ต้านภัยไข้เลือดออก” วาดโดยศิลปินวัฒนพล กิจบุรินทร์  นอกจากนี้ยังมีผลงานภาพวาดสีอะคริลิก ซึ่งมีชื่อผลงานว่า “Mosquito” โดยศิลปิน โลเล-ทวีศักดิ์ ศรีทองดี ที่มีแรงบันดาลใจมาจากครอบครัววรรธนะสิน โดยสื่อให้เห็นถึงพาหะโรคไข้เลือดออกคือยุงลายในสัดส่วนที่ใหญ่กว่าธรรมชาติเพื่อสะท้อนอันตรายใหญ่หลวงที่มาจากยุงที่แม้มีขนาดเล็ก รวมถึงผลงานภาพเขียนสีน้ำ “โอกาสที่หลุดมือ” โดยศิลปินมุนินทร์ คชรัตน์ ที่มีน้องไบรท์-พิชญทัฬห์ จันทร์พุฒ เป็นแบบ สะท้อนถึงการสูญเสียโอกาสต่างๆ ในชีวิต และภาวะอารมณ์ของผู้ป่วยไข้เลือดออกที่ถูกจำกัด ไม่สามารถใช้ชีวิตได้ดั่งใจ
     ปิ่น- เก็จมณี วรรธนะสิน ร่วมแบ่งปันประสบการณ์การดูแลครอบครัวให้ห่างไกลไข้เลือดออกว่า “ปิ่นเองมั่นใจว่าเป็นคนสุขภาพดีและแข็งแรง แทบไม่ป่วยเป็นไข้หวัดหรือเป็นโรคอื่นๆ แต่หลังจากที่เคยเป็นไข้เลือดออก ทำให้ทราบว่าโรคนี้เกิดได้กับคนทุกวัยและทุกคน ไม่เกี่ยวเลยว่าคุณสุขภาพดีแค่ไหน เพราะพาหะนำโรคไข้เลือดออกคือยุงลาย ดังนั้น ทางเดียวที่จะทำให้ไม่เป็นโรคก็คือ การป้องกันเท่านั้น ในฐานะของคนเป็นแม่ ปิ่นรู้สึกว่าเราต้องดูแลป้องกันตัวเราเองให้แข็งแรงก่อน จึงจะสามารถดูแลและปกป้องลูกและสามีของเราได้เต็มที่ เพราะไม่มีใครอยากเป็นไข้เลือดออก โดยปิ่นทำให้การป้องกันเรื่องยุงลายกลายเป็นกิจวัตรและกิจกรรมในครอบครัว การป้องกันไข้เลือดออกไม่ใช่สิ่งที่ ‘ควรทำ’ แต่เป็นสิ่งที่ ‘ต้องทำ’ ตั้งแต่วันนี้ เริ่มง่ายๆ จากในบ้านของคุณเอง” 
     ไบรท์-พิชญทัฬห์ จันทร์พุฒ กล่าวเสริมว่า “ช่วงที่เป็นไข้เลือดออกอยู่ที่โรงพยาบาล  ไบรท์รู้สึกเครียดและกังวลมาก โดยเฉพาะเรื่องงาน ไบรท์เองเป็นคนที่ใช้ชีวิตอย่างเต็มที่ ในการทำงานก็ทำอย่างเต็มที่ ไข้เลือดออกทำให้สูญเสียโอกาสในการทำงานไปเยอะมาก แล้วยังเป็นภาระให้กับครอบครัวต้องมาดูแลเรา ได้เห็นถึงความยากลำบากของคุณพ่อคุณแม่ที่อายุมากและสุขภาพไม่ค่อยแข็งแรง แต่ก็ต้องมาดูแลเราขณะป่วยเป็นไข้เลือดออกจึงอยากให้ทุกคนให้รู้ถึงแนวทางการป้องกันไข้เลือดออก โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ อยากให้ทุกคนสามารถใช้ชีวิตได้อย่างเต็มที่โดยปราศจากโรคไข้เลือดออกมาเบียดเบียน ตัวไบรท์เองยังมีอะไรที่ต้องการทำอีกมาก ไม่อยากให้เวลาและโอกาสเหล่านั้นสูญเสียไปเพราะไข้เลือดออกอีกแล้ว” 
 เหล่าเซเลบริตี้ ร่วมกัน #ต้านภัยไข้เลือดออก
บรรยากาศการเสวนาบนเวที

     โรคไข้เลือดออก เป็นโรคที่ไม่สามารถคาดเดาได้ล่วงหน้าถึงความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นและอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต  ดังนั้น ประชาชนควรเริ่มปกป้องตนเองและครอบครัวจากไข้เลือดออกตั้งแต่วันนี้ เพื่อลดอัตราผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตจากไข้เลือดออกในประเทศไทย
###
จากซ้าย
  1. นายแพทย์วงวัฒน์ ลิ่วลักษณ์ รองผู้อำนวยการสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร
  2. ศาสตราจารย์แพทย์หญิงอุษา ทิสยากร นายกสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งเอเชีย
  3. นายแพทย์เมธิพจน์ ชาตะเมธีกุล ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคติดต่อ สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร
  4. นางแวนดา (โบว์) สหวงษ์  ตัวแทนโครงการรณรงค์ “ต้านภัยไข้เลือดออก”
  5. นายแพทย์ชวินทร์ ศิรินาค ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร ประธานในพิธี
  6. นายแพทย์เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
  7. นายแพทย์ปรีชา เปรมปรี ผู้อำนวยการสำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข