ADS


Breaking News

โรคผิวหนัง...ฮอตฮิต (HOT HIT) ช่วงหน้าร้อน

โดย ผศ.ดร.พญ.จิตติมา ฐิตวัฒน์   
       แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนัง
สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย
ในช่วงฤดูร้อนเช่นนี้ ผิวหนังของเราเป็นหน้าด่านรับทั้งความร้อนและแสงแดด โรคผิวหนังที่เป็นอยู่เดิม เช่น โรคผิวหนังอักเสบ โรคลมพิษ โรคสะเก็ดเงิน ฯลฯ เมื่อถูกกระตุ้นด้วยความชื้นและการระคายเคืองจากเหงื่อ จะมีอาการคัน ผื่นอับเสบกำเริบเป็นมากขึ้นจากการเกา หรืออาจเกิดโรคผิวหนังได้หลายโรค การอบชื้นทำให้เกิดโรคผด เป็นปัจจัยเสริมทำให้เป็นโรคกลากและโรคเกลื้อน ส่วนแสงอัลตร้าไวโอเลต (ultraviolet: แสงยูวี) ในแสงแดด ทำให้ผิวไหม้ ฝ้าและกระสีเข้มขึ้นจนเห็นเด่นชัด เรามารู้จักโรคผิวหนังที่พบบ่อยในหน้าร้อนเหล่านี้กันดีกว่าค่ะ
โรคผด พบมากในเด็ก เกิดจากการอุดตันของท่อต่อมเหงื่อ ผื่นเป็นเม็ดแดง ๆ เล็ก ๆ เม็ดเดี่ยว ๆ คล้ายสิว ตามบริเวณที่อับ ซอกพับ คอ หน้าอก ไม่ต้องรักษาหายได้เอง ป้องกันโดยใส่เสื้อผ้าบางสบาย เนื้อผ้าไม่อมเหงื่อ เช่น ผ้าฝ้าย ซับเหงื่อให้แห้ง อย่าให้ผิวหนังอบชื้น โรยแป้งฝุ่นจะช่วยให้ผิวแห้งไม่ชื้น
โรคเกลื้อน ไม่ติดต่อ เกิดจากเชื้อราที่ปกติอาศัยอยู่บนผิวหนัง แต่เจริญเติบโตและก่อโรคขึ้นเมื่อมีความชื้น ผื่นเป็นปื้นเล็ก ๆ เป็นดวง ๆ สีขาวหรือแดงหรือดำ มีขุยละเอียด พบบริเวณที่ผิวมัน เช่น หน้า หน้าอก หลัง เป็นต้น เด็กวัยรุ่น คนอ้วน คนที่เหงื่อออกมาก จะเป็นโรคเกลื้อนได้ง่าย การรักษาใช้แชมพูฆ่าเชื้อราฟอกทิ้งไว้บริเวณที่ผิวมัน ได้แก่ ลำตัว ต้นแขน แล้วอาบออก ป้องกันโดยอย่าปล่อยให้ผิวหนังชื้นแฉะ ถ้าเหงื่อออกมากควรซับให้แห้งหรือเปลี่ยนเสื้อผ้า
โรคกลาก เกิดจากการติดเชื้อราบนผิวหนังกำพร้า แต่เป็นเชื้อราคนละชนิดกับเกลื้อน โรคกลากติดต่อจากเชื้อราในดิน เชื้อจากสัตว์หรือจากคน โดยการสัมผัสเชื้อและมีภาวะแวดล้อมที่เหมาะสม  คือผิวหนังชื้น เชื้อราจึงเจริญเติบโตและก่อโรค ซึ่งจะพบโรคได้ทุกเพศทุกวัย และกลากจะขึ้นที่บริเวณผิวหนัง  ผม หรือเล็บ ลักษณะผื่นผิวหนังจะเป็นวงกลมหรือวงรี ขอบชัดเจน นูน มีขุยขาว คัน ถ้าติดเชื้อที่ผม จะมีอาการผมร่วงเป็นหย่อม หลุดขาดง่าย หนังศีรษะบริเวณที่เป็นมีขุยสีเทาคล้ายรังแค บางครั้งมีอาการอักเสบเป็นหนอง เรียกว่า ชันนะตุ เล็บที่ติดเชื้อจะเป็นขุยใต้เล็บ รักษาด้วยยาฆ่าเชื้อรา ซึ่งมีทั้งชนิดกินและชนิดทา การเลือกใช้ยารูปแบบใด ขึ้นอยู่กับบริเวณที่เป็นและความรุนแรงของโรค 
ผิวไหม้ แสงยูวีในแดดทำให้ผิวเราคล้ำขึ้น ถ้าโดนแสงนานหรือแรงมากจะเกิดผิวไหม้ โดยเริ่มจากผิวแดงแสบ ค่อย ๆ ดำและลอกในวันต่อ ๆมา ความสามารถในการทนแสงของผิวหนังของแต่ละคนไม่เท่ากันขึ้นกับปริมาณของเซลล์เม็ดสีบนผิวหนัง เซลล์เหล่านี้จะช่วยปกป้องแสงไม่ให้ทำลายผิว  คนผิวขาวมีเซลล์เม็ดสีน้อยผิวจึงไหม้ได้ง่าย ในขณะที่คนผิวคล้ำมีปริมาณเซลล์เม็ดสีมากโอกาสเกิดผิวไหม้ก็น้อยลง เราสามารถป้องกันผิวหนังจากแสงยูวีโดยไม่ออกไปกลางแจ้งช่วงที่ความเข้มของแสงยูวีมาก (เวลา 10 โมงเช้า ถึง 4 โมงเย็น)ใส่เสื้อผ้าที่ปิดมิดชิด ใส่หมวก กางร่ม ใช้ยากันแดดทาให้ทั่วบริเวณนอกเสื้อผ้า คนที่มีกระ ฝ้า จุดด่างดำบนใบหน้า เมื่อตากแดดจะรู้สึกว่ารอยดำทั้งหลายเห็นชัดขึ้น เนื่องจากแสงยูวีจะกระตุ้นเซลล์เม็ดสีให้มีการสร้างเม็ดสีเพิ่มขึ้น คนที่สวยใสอยู่แล้ว ถ้าอยากจะคงความสวยให้นานก็ควรหลีกเลี่ยงแสงยูวีเช่นกัน นอกจากแสงจะทำให้ผิวไหม้แล้ว ถ้าถูกแสงยูวีบ่อย ๆ นาน ๆ เป็นปี ๆ จะทำให้ผิวหนังแก่เร็ว สีผิวไม่สม่ำเสมอ เป็นมะเร็งของผิวหนังได้ค่ะ

     ดังนั้นหน้าร้อนปีนี้ หากจะไปท่องเที่ยวหรือทำกิจกรรมกลางแจ้งให้มีความสุข อย่าลืมรักษาผิวให้สวยเสมอ ปราศจากโรคผิวหนัง โดยการรักษาความสะอาด ซับเหงื่อให้แห้ง  หลบแดดนะคะ ถ้ามีผื่นผิวหนังกรุณาไปพบแพทย์เพื่อการรักษาที่ถูกต้องค่ะ