ADS


Breaking News

“เดอะ แพลทินัม กรุ๊ป” เผยกำไรปี 59 สุทธิ 704 ล้านบาท ตั้งเป้าปี 60 เติบโตต่อเนื่อง พร้อมเผยแผนโครงการ The Platinum Empowering SMEs

ชูจุดแข็งร้านค้าแฟชั่น ร่วมพัฒนาย่านการค้าส่งและปลีกประตูน้ำของไทย ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว
พักผ่อน ช้อปปิ้ง ที่สำคัญ ในภูมิภาคอาเซียน
     นายชาญชัย พันธุ์โสภา  กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เดอะ แพลทินัม กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ PLAT ผู้ประกอบธุรกิจพัฒนาศูนย์การค้าส่งและปลีก รวมทั้งบริหารพื้นที่ค้าส่งปลีกให้เช่า เพื่อการพาณิชย์ เปิดเผยผลการดำเนินงานของบริษัทฯและบริษัทย่อยในงวดปี 2559 ว่า บริษัทฯ มีกำไรสุทธิจำนวน  704 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 74 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 12% เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2558 ซึ่งเป็นปีที่บริษัทฯมีกำไร นิวไฮ โดยมีรายได้จากการดำเนินงานอยู่ที่ 1,863 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2558 จำนวน 95 ล้านบาท หรือเติบโตขึ้น 5% โดยปัจจัยหลักที่ส่งเสริมอัตราการเติบโตของรายได้จากการดำเนินงาน มาจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ค่าเช่า ค่าบริการและโรงแรม ซึ่งเป็นธุรกิจหลักที่มั่นคง เนื่องจากบริษัทฯมีการปรับขึ้นราคาค่าเช่าพื้นที่รวมทั้งค่าบริการ สำหรับสัญญาเช่าและบริการที่หมดอายุระหว่างปี และการปรับโซนพื้นที่ขายอาหารบางส่วนของศูนย์อาหารในโครงการ เดอะ แพลทินัม แฟชั่น มอลล์ มาบริหารเอง ประกอบกับต้นเดือนธันวาคม 2559 บริษัทฯได้มีการเปิดพื้นที่ให้เช่าสำหรับโครงการ“ตลาดนีออน” ตลาดนัดกลางคืน...ใจกลางกรุง  บนถนนเพชรบุรี 23-29 จึงส่งผลให้รายได้จากการให้เช่าและบริการเพิ่มขึ้น  ทั้งนี้รายได้จากการดำเนินงานของบริษัทฯ มาจาก 3 ส่วนใหญ่ ได้แก่ รายได้ค่าเช่าและบริการอยู่ที่  1,107 ล้านบาท รายได้จากการประกอบกิจการโรงแรมอยู่ที่ 365 ล้านบาท  รายได้จากการขายอาหารและเครื่องดื่ม 246 ล้านบาท  พร้อมทั้งมีรายได้อื่นๆ อยู่ที่ 145 ล้านบาท 
      “ผลประกอบการทั้งรายได้ กำไร ปี 2559 ถือว่าเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ สามารถสร้างกำไรจากการดำเนินงานสูงถึง 704 ล้านบาท เป็นนิวไฮใหม่ของ PLAT ซึ่งถือว่ารายได้หลักมาจากการให้เช่าพื้นที่ โดยที่ผ่านมามีการปรับขึ้นราคาค่าเช่าระหว่างปีพร้อมทั้งปรับเปลี่ยนพื้นที่บางส่วนของร้านอาหารที่บริษัทฯดำเนินงานเองเป็นพื้นที่เช่าจึงส่งผลทำให้รายได้จากพื้นที่เช่าของบริษัทฯเพิ่มขึ้น  ส่วนรายได้โรงแรมที่เพิ่มขึ้นจากการปรับอัตราค่าห้องพักเพิ่มขึ้น ประกอบกับในช่วงไตรมาส 3/59 บริษัทฯมีลูกค้าองค์กรธุรกิจเข้าพักเพิ่มขึ้นซึ่งมีอัตราค่าห้องพักอยู่ในระดับราคาที่สูง ขณะที่รายได้อื่นของบริษัทไม่เปลี่ยนแปลง   ด้านการจ่ายปันผลให้ผู้ถือหุ้นที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯมีมติจ่ายปันผล เป็นเงินสดงวดดำเนินงานวันที่ 1 มกราคม ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2559 อัตราการจ่ายปันผลเป็นเงินสด 0.18 บาทต่อหุ้น ในวันที่ 23 พฤษภาคม 2560 ขึ้น XD  วันที่ 3 พฤษภาคม  2560”      ซึ่งจะนำเสนอต่อที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นพิจารณาอนุมัติต่อไป  นอกจากนี้ นายชาญชัย  กล่าวเพิ่มเติมถึง แผนการดำเนินธุรกิจของ  PLAT ในปี 2560 ตั้งเป้าหมายรายได้อยู่ที่กว่า 2,000 ล้านบาท เติบโตจากปี 59 ที่มีรายได้ 1,863 ล้านบาท


     โดยเฉพาะธุรกิจพื้นที่เช่าส่วนธุรกิจโรงแรม โนโวเทล กรุงเทพ แพลทินัม ประตูน้ำ  มีนักท่องเที่ยวเข้ามาใช้บริการอย่างคึกคัก ทำให้ทั้งปี 2559 มีอัตราการเข้าพักอยู่ที่ 87% นอกจากนี้ยังมีการปรับเพิ่มห้องพักภายในโรงแรม  จากเดิม 283 ห้อง จะทำให้โรงแรมมีห้องพักรวมทั้งสิ้น 288 ห้อง ซึ่งจะทำให้รับรู้รายได้ห้องสวีทเพิ่มอีก 5 ห้อง   ในเดือน เม.ย. เป็นต้นไป ซึ่งจะเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สนับสนุนรายได้บริษัทฯ ให้เติบโตอย่างแข็งแกร่ง  


     สำหรับความคืบหน้าโครงการ เดอะ มาร์เก็ต แบงคอก ศูนย์การค้าปลีกขนาดใหญ่ บนถนนราชดำริ ขนาดพื้นที่รวม 170,000 ตร.ม. มูลค่าการลงทุน 5,800 ล้านบาท ได้ดำเนินการลงเสาเข็มโดยงานชั้นใต้ดินดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้วจะเริ่มเห็นโครงสร้างถึงชั้นบนสุดภายในปีนี้ โดยมีกำหนดแล้วเสร็จและเปิดให้บริการในไตรมาส 4/61 ส่วนความคืบหน้าในการลงทุนที่เกาะสมุย  จ.สุราษฎร์ธานี ปลายปี 2560 นี้ จะเริ่มก่อสร้างโรงแรม 2 แห่ง คือ โรงแรม Holiday Inn Express เป็นโรงแรม 3 ดาว และโรงแรม Holiday Inn Resort 4 ดาว
   
     ขณะที่ความคืบหน้าทางเดินลอยฟ้า "Bangkok Skyline" ซึ่งเป็นโครงการร่วมทุนของเดอะ แพลทินัม กรุ๊ป และกลุ่มเกษร ปัจจุบันเปิดบริการในเฟส 1 (ความยาวทั้งหมด 300 เมตร ความกว้างทางเดิน 5.8 เมตร)เปิดให้ประชาชนได้ทดลองใช้บริการไปแล้วเมื่อเดือนกรกฎาคม 2559 ที่ผ่านมา มีผู้มาใช้บริการประมาณ 50,000 คน/วัน สำหรับเฟส 2 (ความยาว 180 เมตร ความกว้างทางเดิน 3 เมตร) จะเชื่อมต่อจากเฟส 1 ผ่านโครงการ เดอะ มาร์เก็ต แบงคอก ห้างสรรพสินค้าบิ๊กซี อาคารเกษร อาคารอัมรินทร์ พลาซ่า และเชื่อมต่อกับสถานีรถไฟฟ้าชิดลม  คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในไตรมาส 1/ 2560 ซึ่งจะช่วยให้มีการเชื่อมต่อระหว่างศูนย์การค้าและอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนมากขึ้น  ส่งผลดีต่อการเติบโตทางด้านธุรกิจของย่านประตูน้ำ และส่งผลดีต่อธุรกิจของเดอะ แพลทินัม กรุ๊ป ที่มีธุรกิจในย่านนี้ เนื่องจากย่านประตูน้ำเป็นย่านธุรกิจที่มีพัฒนาการและเติบโตอย่างต่อเนื่อง ด้วยการรวมตัวกันของผู้ประกอบการธุรกิจค้าส่งสินค้าเสื้อผ้าแฟชั่น ในลักษณะเดียวกันอย่างโดดเด่นและชัดเจน   จนปัจจุบันเป็นที่จดจำกันว่าเป็น Wholesale Fashion Destination Venue ที่รับรู้กันทั่วไปทั้งคนไทยและต่างชาติไปแล้ว ด้วยความโดดเด่นของศักยภาพทำเลที่อยู่ใจกลางเมือง อยู่ใกล้กับแหล่งที่พักแหล่งท่องเที่ยวที่สามารถท่องเที่ยวได้ทั้งกลางวันกลางคืน ทำให้ย่านนี้มีความโดดเด่น เป็นที่ชื่นชอบของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันมีนักธุรกิจสนใจลงทุนทำธุรกิจในย่านนี้เป็นจำนวนมาก และยังคงมีการลงทุนเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง ในส่วนธุรกิจของ เดอะ แพลทินัม กรุ๊ป เองก็ถือว่ามีธุรกิจหลักที่อยู่ในบริเวณย่านนี้ ไม่ว่าจะเป็น ศูนย์ค้าส่ง เดอะ แพลทินัม แฟชั่น มอลล์  โรงแรมโนโวเทล แพลทินัม ประตูน้ำ  และตลาดนีออน นอกจากนี้ยังมีโครงการ The Market Bangkok บนถนนราชดำริ ที่มีกำหนดแล้วเสร็จและเปิดให้บริการในไตรมาส 4/61 อีกด้วย ดังนั้นภายในอีก 2 ปี จะได้เห็นย่านประตูน้ำมีพัฒนาการเติบโตยิ่งขึ้นไปอีก โดยที่จะเห็นได้ชัดเจน ในปีนี้ก็คือโครงการ "Bangkok Skyline" เฟส 1ได้เปิดให้ทดลองใช้บริการไปแล้วเมื่อเดือนกรกฎาคมปี59 ที่ผ่านมา และโครงการ  "Bangkok Skyline"  เฟส 2 มีกำหนดการแล้วเสร็จในไตรมาส 1/60  ถือได้ว่าในปี 60 นี้ เป็นปีที่   ทุกคนจะได้เห็นความสมบูรณ์แบบของการเชื่อมต่อการเดินทางจากทางเดินลอยฟ้าสู่สถานีรถไฟฟ้า (BTS)ที่แสนสะดวกสบาย  และสำหรับผู้ที่ต้องการเดินทางในเส้นทางเรือย่านประตูน้ำก็มีบริการเดินเรือโดยสารคลองแสนแสบ ให้ได้เลือกเดินทางตามความสะดวก นอกจากนี้ย่านประตูน้ำยังอยู่ใกล้กับสถานีรถไฟฟ้า Airport Rail Link ราชปรารภ สะดวกต่อการเดินทางไปสนามบินสุวรรณภูมิและจะมีโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งจะช่วยเติมเต็มให้ย่านประตูน้ำซึ่งเป็นแหล่งธุรกิจเสื้อผ้าแฟชั่นค้าส่ง กลายเป็นทั้งย่านการค้าธุรกิจและแหล่งท่องเที่ยวที่มีความสมบูรณ์แบบระดับนานาชาติ


     ดังนั้น เดอะ แพลทินัม กรุ๊ป จึงได้วางแผนภายในปีนี้เตรียมปักหมุดให้ศูนย์การค้าเดอะ แพลทินัม แฟชั่น มอลล์ ก้าวเข้าสู่ความเป็น The Best Wholesale Fashion HUB of ASEAN อย่างแท้จริง เนื่องจากปัจจุบันสถิติชาวต่างชาติที่นิยมมาใช้บริการศูนย์การค้าเดอะ แพลทินัม แฟชั่น มอลล์ ยังคงเป็นชาวสิงคโปร์  และมาเลเซีย ซึ่งยังคงครองอันดับต้นๆ ที่นิยมมาใช้บริการอยู่ และปัจจุบันกลุ่มชาวอินโดนีเซียก็เพิ่มขึ้นในอัตราที่ก้าวกระโดดขึ้นเป็น 4 เท่า เมื่อเทียบกับปี พ.ศ.2558  ที่ผ่านมา โดยปัจจุบันยังมีชาวต่างชาติกลุ่มประเทศ CLMV ที่สนใจเข้ามาท่องเที่ยวและยังมาทำธุรกิจซื้อเสื้อผ้าแฟชั่นในรูปแบบค้าส่งเพื่อนำไปจำหน่ายต่อในประเทศของตนอีกด้วย เนื่องจากปัจจุบันกลุ่มประเทศเหล่านี้กำลังมีการเติบโตทางเศรษฐกิจมากขึ้น ประชากรมีความอยู่ดีกินดีมากขึ้น กลุ่มคนกำลังซื้อระดับกลางจนถึงสูง ให้ความสนใจในสินค้าที่มีคุณภาพ สินค้าที่มีความเป็นแฟชั่น โดยเฉพาะจุดเด่นของสินค้าแฟชั่นในเดอะ แพลทินัม แฟชั่น มอลล์ มีความเป็นแฟชั่นที่ทันสมัยเปลี่ยนแบบใหม่ทุกสัปดาห์ โดยในแต่ละสัปดาห์หากใครเคยมาช้อปแล้วจะพบว่าสินค้าประเภทแฟชั่นไม่เคยซ้ำแบบ นอกจากนี้สินค้ายังมีราคาที่ถูกมากหากเทียบกับคุณภาพและดีไซน์ ซึ่งจุดเด่นเหล่านี้เกิดขึ้นจากความเข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภคอย่างแท้จริงและความจริงใจของผู้ประกอบการร้านค้าแฟชั่นชั้นนำภายในศูนย์การค้าเดอะ แพลทินัม แฟชั่น มอลล์    ซึ่งมีอยู่หลายร้านด้วยกัน และเพื่อเป็นการส่งเสริมจุดเด่นเหล่านี้ให้เป็นที่รับรู้ในวงกว้างสู่สากลมากยิ่งขึ้น จึงได้เริ่มต้นจัดโครงการ The Platinum Empowering SMEs ขึ้นมา   เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2559  ซึ่งได้มีการเปิดตัวร้านค้า 20 ร้านโครงการนำร่องไปแล้วเมื่อ17 สิงหาคม 59 ปัจจุบันมีร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการแล้วทั้งหมด 100 ร้านค้า โดยมีเป้าหมายร่วมกันกับร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ คือเป็น The Best Wholesale Fashion HUB of ASEAN  สำหรับวัตถุประสงค์โครงการนั้น เพื่อพัฒนาผู้ประกอบการไทยรายย่อย SME ให้สามารถสร้างแบรนด์ แข่งขัน เพิ่มยอดขายและเติบโตอย่างยั่งยืน ในตลาดเสื้อผ้าแฟชั่นทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ทำธุรกิจค้าส่งและค้าปลีกด้านแฟชั่นเข้าถึงข้อมูลร้านค้าและสินค้าแฟชั่นที่ผ่านการคัดสรรคุณภาพจากโครงการโดยตรง ตลอดจนร่วมพัฒนาย่านการค้าส่งประตูน้ำของไทย ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว พักผ่อน ช้อปปิ้ง ที่สำคัญ  ในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งจะต่อยอดให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยเกิดเงินหมุนสะพัดที่เกิดจากการท่องเที่ยวและช้อปปิ้ง ภายในประเทศไทยได้อย่างสูงสุด  


     ด้านสิทธิประโยชน์ในเบื้องต้นที่ร้านค้าเข้าร่วมโครงการจะได้รับ เช่น การออกแบบและผลิตโปสเตอร์พร้อมติดประชาสัมพันธ์ให้ในลิฟท์โดยสารของศูนย์การค้า  การให้พื้นที่ติดตั้งพร้อมออกแบบจัดดิสเพลย์แนะนำสินค้าภายในบริเวณศูนย์การค้า การจัดทำวีดีโอแนะนำร้านค้าเพื่อการประชาสัมพันธ์ในรูปแบบ 2 ภาษา(ไทย-อังกฤษ)เผยแพร่ภายในจอโทรทัศน์ภายในศูนย์การค้าครอบคลุมทุกโซนพร้อมเตรียมแผนงานเผยแพร่ให้ถึงกลุ่มเป้าหมายคู่ค้านักธุรกิจค้าส่งและปลีกตลอดจนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ โดยตั้งเป้าเผยแพร่ไปในกลุ่มภูมิภาคอาเซียนเป็นลำดับแรก  นอกจากนี้ยังมีการประชาสัมพันธ์ร้านค้าผ่านสื่อ Online และ Social Mediaของศูนย์การค้า เช่น  Website,Instagram,Facebook การจัดทำใบปลิวเพื่อประชาสัมพันธ์ร้านค้าโดยแจกให้กับกลุ่มเอเจนซี่ทัวร์  ไกด์นำเที่ยว นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ จัดกิจกรรมอบรมสัมมนาที่เป็นประโยชน์ให้กับร้านค้า เช่น   การอบรมด้านการพัฒนาธุรกิจทั้งออนไลน์และออฟไลน์ การให้บริการ การใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารการค้า การช่วยต่อยอดธุรกิจโดยการเชิญสถาบันการเงินมาให้ความรู้ด้านธุรกรรมทางการเงิน ส่งเสริมให้ร้านค้ารับชำระค่าบริการสินค้าด้วยบัตรเครดิตเพื่ออำนวยความสะดวกให้ลูกค้า การอัพเดตข่าวสารความรู้ที่เป็นประโยชน์เพื่อนำมาใช้ในการพัฒนาสินค้า สร้างเทคนิคการขาย    การสร้างฐานลูกค้า การจับคู่ธุรกิจหรือ Business Matching และประโยชน์ในด้านอื่นๆ อีกมากมายซึ่งปัจจุบันทางโครงการได้มีการคัดสรรกิจกรรมที่น่าสนใจเพิ่มขึ้นเพื่อให้เหมาะสมกับผู้ประกอบการร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการอีกมากมาย


     ซึ่งภายหลังจากการที่ได้เริ่มดำเนินการโครงการก็ได้รับผลตอบรับที่ดีจากร้านค้าหลายรายที่มีกลุ่มลูกค้าใหม่ๆเพิ่มขึ้นและมียอดขายที่เพิ่มขึ้น และเพื่อให้ผู้ประกอบการรายอื่นๆที่เพิ่งเข้าร่วมโครงการได้เห็นภาพแผนการทำงานของโครงการที่ชัดเจนขึ้น ทางโครงการจึงได้คัดสรร 5 ผู้ประกอบการต้นแบบ ขึ้นมาดังรายชื่อดังนี้
1.คุณรัตติกาล เอี่ยมจั่น ผู้ประกอบการร้าน “Classic Accessories” เครื่องประดับสตรี
2.คุณธัญจิรา  สุคนธากร ผู้ประกอบการร้าน “MODEL Kids” เสื้อผ้าเด็กมีหาง
3.คุณชนุรัก  แซ่ย่าง ผู้ประกอบการร้าน “V Shanel” เสื้อผ้าสไตล์ยีนส์สำหรับวัยรุ่น
4.คุณบัณฑิต พัชรธรรมโรจน์ ผู้ประกอบการร้าน  “96 Studio” เสื้อผ้าผู้ชายสไตล์แคชชวล
5.คุณมณีรัตน์  สมุทรพัฒนพงศ์  ผู้ประกอบการร้าน “SHIRTFOLDING” เสื้อผ้าผู้ชายดีไซน์ทันสมัย
     ซึ่งผู้ประกอบการทั้ง 5 ท่านนี้ เป็นผู้ประกอบการร้านค้าที่มีแบรนด์ของตนเอง ประสบความสำเร็จจากการสร้าง  แบรนด์ของตนเองจนเป็นที่นิยมในวงการค้าส่งและปลีกภายในประเทศและต่างประเทศ   นอกจากนี้สินค้ายังมีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ ออกแบบ ผลิตเอง ใช้วัตถุดิบและแรงงานภายในประเทศไทย มีแนวคิดในการพัฒนาสินค้าอย่างต่อเนื่องหลากหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการให้ความสำคัญกับการตกแต่งร้านค้ารวมถึงการตลาดและประชาสัมพันธ์ พร้อมสามารถเข้ารับการอบรมเรียนรู้กับโครงการและสามารถเสียสละและพร้อมที่จะแบ่งปันประสบการณ์แลกเปลี่ยนแนวทางการพัฒนาสินค้าให้กับผู้ประกอบการใหม่ๆในโครงการได้ ซึ่งจะช่วยผลักดันให้โครงการนี้ประสบความสำเร็จได้ตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ในอีกไม่นานนี้
******************
โครงการ The Platinum Empowering SMEs


ความเป็นมาของศูนย์การค้า เดอะ แพลทินัม แฟชั่น มอลล์
โครงการศูนย์แฟชั่นค้าส่ง เดอะ แพลทินัม แฟชั่นมอลล์ เริ่มเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2548 โดยมีจุดเริ่มต้นคือการรวบรวมร้านค้าสินค้าประเภทเสื้อผ้าแฟชั่น เครื่องประดับ จากผู้ประกอบการ SME รายย่อยที่มีจุดเด่นด้านการผลิตการดีไซน์ที่ดีมีคุณภาพในราคาจับ ต้องได้ และจำหน่ายในราคาส่งที่ผู้ซื้อสามารถนำไปจำหน่ายต่อแล้วได้กำไรพร้อมทั้งต่อยอดการขายได้ ในระยะยาว ปัจจุบันศูนย์แฟชั่นค้าส่งเดอะ แพลทินัม แฟชั่น มอลล์ เป็นที่ยอมรับของกลุ่มคู่ค้าทั้งชาวไทย และต่างชาติที่นิยมมาซื้อสินค้าแฟชั่นทั้งในรูปแบบขายส่งและขายปลีกอย่างต่อเนื่องจนปัจจุบันมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก         ในวงกว้างมากขึ้น ทั้งกลุ่มลูกค้าส่งและปลีกตลอดจนกลุ่มนักท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศ


ความเป็นมาของโครงการ The Platinum Empowering SMEs
ศูนย์การค้าเดอะ แพลทินัม แฟชั่น มอลล์  จัดตั้งโครงการ The Platinum Empowering SMEsขึ้นมาเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2559 โดยเปิดตัวร้านค้า 20 ร้านโครงการนำร่องไปแล้วเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม ปัจจุบันมีร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการแล้วทั้งหมด 100 ร้านค้า และอยู่ระหว่างการสร้าง ความร่วมมือกับผู้ประกอบการร้านค้าภายในศูนย์การค้า เพื่อพัฒนาแบรนด์สินค้าให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น โดยทางศูนย์การค้ามีเป้าหมายร่วมกันกับร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ คือเป็น The Best Wholesale Fashion HUB of ASEAN


วัตถุประสงค์
1. เพื่อพัฒนาผู้ประกอบการไทยรายย่อย SME ให้สามารถสร้างแบรนด์ แข่งขัน เพิ่มยอดขายและเติบโต ได้อย่างยั่งยืน ในตลาดเสื้อผ้าแฟชั่นทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ และร่วมสร้างต้นแบบที่ดีในการร่วมพัฒนาสินค้า SME ของประเทศไทย
2. เพื่อสร้างชื่อเสียงให้กับแบรนด์สินค้าแฟชั่นของไทยไปสู่สากล ในด้านสินค้าแฟชั่นที่มีดีไซน์ มีเอกลักษณ์มีคุณภาพ และอัพเดตเทรนด์ทันสมัยทุกสัปดาห์ ในราคาสมเหตุสมผล
3. เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ทำธุรกิจค้าส่งและค้าปลีกด้านแฟชั่น ได้รับความสะดวกสบายมาก ยิ่งขึ้นในการเข้าถึงข้อมูลการแนะนำร้านค้าสินค้ แฟชั่นที่มีคุณภาพและทันสมัย โดยผ่านการคัดสรรคุณภาพจากทางโครงการโดยตรง
4. เพื่อร่วมพัฒนาย่านการค้าส่งประตูน้ำของไทย ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว พักผ่อน ช้อปปิ้ง ที่สำคัญ ในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งจะต่อยอดให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคมีเงินหมุนเวียนสะพัดที่เกิดจากการท่องเที่ยวและช้อปปิ้ง ภายในประเทศไทยได้อย่างสูงสุด
5. เพื่อตอกย้ำชื่อเสียงของศูนย์การค้า เดอะ แพลทินัม แฟชั่น มอลล์ เป็น The Best Wholesale Fashion HUB of ASEAN โดยมีความน่าสนใจเป็นอันดับ 1 ด้านศูนย์รวมแฟชั่นค้าส่ง ของภูมิภาคอาเซียน


รายละเอียดการดำเนินการของโครงการในปัจจุบัน
ปัจจุบันทางโครงการได้ดำเนินการคัดสรร 5 ผู้ประกอบการต้นแบบ ที่ประสบความสำเร็จจากการสร้างแบรนด์จนเป็นที่นิยม ในวงการค้าส่งและปลีกภายในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งทั้ง 5 ผู้ประกอบการนี้จะต้องเป็นผู้ประกอบการที่มีแนวคิดทันสมัย ใส่ใจหาความรู้รอบตัวในทุกด้าน มีความเข้าใจในกลุ่มลูกค้าของตนเอง และพร้อมปรับตัวไปกับความต้องการและพฤติกรรมของลูกค้าอยู่ตลอดเวลา ทั้งนี้เพื่อสร้างจุดเริ่มต้นของโครงการให้น่าสนใจและเป็นแบบอย่างที่ดีกับผู้ที่สนใจทำธุรกิจแฟชั่นค้าส่งได้


หลักเกณฑ์ในการคัดเลือกร้านค้าเข้าร่วมโครงการมีดังนี้
1. ต้องเป็นร้านค้าที่มีตราสินค้าหรือแบรนด์ของตนเอง
2. สินค้ามีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ ออกแบบ ผลิตเอง ใช้วัตถุดิบและแรงงานภายในประเทศไทย
เป็นส่วนประกอบหลัก  
3. สินค้าไม่ละเมิดลิขสิทธิ์
4. ผู้ประกอบการต้องมีแนวคิดในการพัฒนาแบรนด์อย่างต่อเนื่องในหลากหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็น การให้ความสำคัญกับการตกแต่งร้านค้ารวมถึงการตลาดและประชาสัมพันธ์
5. ผู้ประกอบการให้ความสำคัญในการเข้ารับการอบรมเรียนรู้เพื่อพัฒนาต่อยอดธุรกิจตามรายการที่ทางโครงการจัดขึ้น
6. มีความเสียสละที่จะแบ่งปันประสบการณ์แลกเปลี่ยนแนวทางการพัฒนาแบรนด์ให้กับผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการรายใหม่ๆ เพื่อร่วมพัฒนาโครงการ The Platinum Empowering SMEs ให้ประสบความสำเร็จ


รายชื่อ 5 ผู้ประกอบการร้านค้าต้นแบบ
1. คุณรัตติกาล เอี่ยมจั่น ผู้ประกอบการร้าน “Classic Accessories” เครื่องประดับสตรี
  ออกแบบดีไซน์ผลิตและจำหน่ายเครื่องประดับสตรีที่มีดีไซน์หลากหลายรูปแบบ อาทิ สร้อยคอ จี้ ต่างหู กำไล เข็มกลัด กิ๊บติดผม ผลิตจากวัสดุที่มีให้เลือกมากมายไม่ว่าจะเป็น คริสตัล โลหะ โลหะเคลือบ หิน เรซิ่น เปลือกหอย เมล็ดพืช มะพร้าว มีทั้งแบบเรียบ แบบหรูและแฮนด์เมด กลุ่มเป้าหมายเป็นลูกค้ากลุ่มอาเซียน กลุ่มยุโรปและลูกค้าคนไทย จุดเริ่มต้นและแนวคิดในการพัฒนาสินค้า “ถ้าเริ่มต้นจากคำว่าชอบถือว่ายังไม่พอต้องมีจุดที่ว่า Make Things Happen คือมีความปรารถนาอันแรงกล้าที่จะนำพาสู่ความสำเร็จ ในสิ่งที่ตัวเองต้องการทำและอย่าท้อถอย มุ่งมั่นเพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย คือกิจการเป็นที่ยอมรับในสากล”


2.คุณธัญจิรา  สุคนธากร ผู้ประกอบการร้าน “MODEL Kids” เสื้อผ้าเด็กมีหาง
  ที่มีคู่คิดร่วมธุรกิจคือคุณกฤษณะพงษ์ สุคนธากร (สามี) ร่วมออกแบบดีไซน์ผลิตและจำหน่ายชุดเสื้อผ้าเด็กมีหางเสริมสร้างจินตนาการ เสื้อผ้าเด็กสกรีนเป็นลายสัตว์ต่างๆน่ารัก และมีจุดเด่นคือมีหางเย็บติดกับชุดด้วย นอกจากนี้ยังมีชุดเด็กสไตล์ญี่ปุ่น เช่น ชุดจินเบอิ (Jinbei) ชุดยูกาตะ (Yukata) กลุ่มเป้าหมายเป็นเด็กอายุ 6 เดือน -  6 ปี ผลิตด้วยผ้าเนื้อดีและราคาไม่แพง จุดเริ่มต้นของการทำธุรกิจ “เนื่องจากมีความชอบในงานศิลปะและเรามีลูกชายจึงคิดอยากทำเสื้อผ้าที่เหมาะกับเด็กผู้ชายและมีการต่อยอดพัฒนา มาเรื่อยๆจนเกิดเป็นชุดเด็กมีหางเสริมสร้างจินตนาการขึ้น สำหรับแนวคิดในการพัฒนาสินค้าของแบรนด์ คือมองหาเป้าหมายของตัวเองและใช้ความคิดสร้างสรรค์ทดลองทำ แล้วพัฒนาต่อยอดธุรกิจ     ใช้ไอเดียในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อให้ผู้คนจดจำสินค้าของเราได้”


3.คุณชนุรัก  แซ่ย่าง ผู้ประกอบการร้าน “V Shanel” เสื้อผ้าสไตล์ยีนส์สำหรับวัยรุ่น
  มีหุ้นส่วนธุรกิจร่วมกับคุณชาตรี  ห่อทอง ที่ร่วมกันบริหารเริ่มตั้งแต่การออกแบบดีไซน์ผลิตและจำหน่ายสินค้าประเภทยีนส์ เช่น เอี๊ยมยีนส์ขายาว-สั้น แจ็คเก็ตยีนต์ กางเกงยีนส์ เสื้อเบสบอลที่ใส่คลุมเท่ๆ ฯลฯ กลยุทธ์หลักที่ใช้ในการบริหารแบรนด์สินค้าคือ 4P ได้แก่ Price, Place, Product, Promotion คือ ราคาผลิตภัณฑ์ สถานที่จำหน่าย โปรโมชั่น ที่จะจัดให้ลูกค้าทุกคนเป็นคนพิเศษ และที่สำคัญคือการบริการลูกค้าด้วยความจริงใจ  สำหรับแนวคิดในการทำธุรกิจ “มีความตั้งใจและศึกษาข้อมูลในสิ่งที่สนใจโดยไม่เคยหยุดนิ่ง พร้อมคิดพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง”


4. คุณบัณฑิต พัชรธรรมโรจน์ ผู้ประกอบการร้าน  “96 Studio” เสื้อผ้าผู้ชายสไตล์แคชชวลออกแบบดีไซน์ผลิตและจำหน่ายเสื้อผ้าผู้ชายสไตล์แคชชวล เช่น เสื้อยืด เสื้อเชิ้ต กางเกงยีนส์รวมไปถึงสินค้าพวก Accessories เช่น เข็มขัด ทุกผลิตภัณฑ์เป็นสินค้าที่ผลิตโดยคนไทยยึดหลักการทำธุรกิจมาจากรุ่นคุณพ่อคุณแม่ ที่ทำธุรกิจมาก่อน คือยึดความซื่อสัตย์ ความขยัน ความอดทน และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือคุณธรรม ที่นำมาส่งต่อให้กับลูกค้า คู่ค้า พนักงาน แนวคิดการทำธุรกิจสำหรับยุคปัจจุบัน
  “ปัญหาสินค้าลอกเลียนแบบมีมาตลอด เราต้องสร้างความแตกต่าง และมีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง”


5. คุณมณีรัตน์  สมุทรพัฒนพงศ์  ผู้ประกอบการร้าน “SHIRTFOLDING” เสื้อผ้าผู้ชายดีไซน์ทันสมัย และหุ้นส่วน คุณวรรธนันท์ ชวินธันยวัชร์ คุณไรวินทร์ ชวินธันยวัชร์ คุณปพณพัชร์ ชวินธันยวัชร์  ทีมงานออกแบบดีไซน์ผลิตและจำหน่ายเสื้อผ้าผู้ชายที่ทันสมัยมีความหลากหลาย อาทิเสื้อเชิ้ตแขนสั้น แขนยาว มีทั้งคอจีน คอปก กางเกงขาสั้น ขายาว Jogger Pants กางเกงวอร์มขายาว กางเกงวอร์มขาสั้น เรียกได้ว่าตอบสนองความต้องการของลูกค้า จึงทำให้เกิดรูปแบบที่หลากหลายเพื่อให้ลูกค้าเลือกใช้ได้ ตามโอกาสที่เหมาะสมและตามความชอบ กลยุทธ์ในการทำธุรกิจ คือ 4P โดย P แรกก็คือ Product สินค้าต้องมีความหลากหลายตอบโจทย์ทุกความต้องการของลูกค้า P ที่ 2 ก็คือ Price ราคาสมเหตุสมผล จริงใจไม่เอาเปรียบลูกค้า P ที่ 3 คือ Place สถานที่จำหน่ายที่มีศักยภาพเรียกได้ว่าทำเลดีมีชัยไปกว่าครึ่ง เพราะถ้าผลิตสินค้าที่ดีแต่ไม่มีลูกค้าเราก็ไม่สามารถขายสินค้าของเราได้การเลือกทำเลหน้าร้าน ที่เดอะ แพลทินัม แฟชั่น มอลล์ ทำให้การขยายฐานลูกค้าที่เป็นกลุ่มคนไทยมีมากขึ้นและยังได้ขยาย  กลุ่มลูกค้าต่างชาติที่ให้ความสนใจมาสั่งซื้อทั้งในแบบส่งและปลีกมากขึ้น และที่สำคัญ P ที่ 4 คือ Partnership การที่มีหุ้นส่วนที่ดี ช่วยคิด ช่วยทำ และแก้ปัญหาทำงานเป็นทีมเวิร์ค ถือเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้สามารถชนะ คู่แข่งได้ สำหรับแนวคิดในการทำธุรกิจ “เริ่มต้นธุรกิจจากความรักและความเอาใจใส่กล้าตัดสินใจและลงมือทำ”

สิ่งที่ร้านค้าจะได้รับจากการเข้าร่วมโครงการ
1. การออกแบบและผลิตโปสเตอร์พร้อมติดประชาสัมพันธ์ให้ในลิฟท์โดยสารของศูนย์การค้า
2. การให้พื้นที่ติดตั้งพร้อมออกแบบจัดดิสเพลย์แนะนำสินค้าภายในบริเวณศูนย์การค้า
3. การจัดทำวีดีโอแนะนำร้านค้าเพื่อการประชาสัมพันธ์ในรูปแบบ 2 ภาษา (ไทย - อังกฤษ) เผยแพร่ภายในจอโทรทัศน์ประชาสัมพันธ์ข่าวสารภายในศูนย์การค้าครอบคลุมทุกโซนพร้อมเตรียมต่อยอดเผยแพร่ให้ถึงกลุ่มเป้าหมายคู่ค้านักธุรกิจค้าส่งและปลีกตลอดจนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ โดยตั้งเป้าเผยแพร่ไปในกลุ่มภูมิภาคอาเซียนเป็นลำดับแรก
4. การประชาสัมพันธ์ร้านค้าผ่านสื่อ Online และ Social Media ของศูนย์การค้า เช่น  Website, Instagram, Facebook, YouTube
5. การจัดทำใบปลิวเพื่อประชาสัมพันธ์ร้านค้าโดยแจกให้กับกลุ่มเอเจนซี่ทัวร์ ไกด์นำเที่ยว นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ
6. จัดกิจกรรมอบรมสัมมนาที่เป็นประโยชน์ให้กับร้านค้า เช่นการอบรมด้านการพัฒนาธุรกิจทั้งออนไลน์และออฟไลน์ การให้บริการ การใช้ภาษาอังกฤษ การช่วยต่อยอดธุรกิจโดยการเชิญสถาบันการเงินมาให้ความรู้ด้านการทำธุรกรรมทางการเงิน ส่งเสริมให้ร้านค้ารับชำระค่าบริการสินค้าด้วยบัตรเครดิต
เพื่ออำนวยความสะดวกให้ลูกค้า ฯลฯ
7. ได้รับการอัพเดตข่าวสารความรู้ที่เป็นประโยชน์เพื่อนำมาใช้ในการพัฒนาสินค้า เทคนิคการขาย การสร้างฐานลูกค้า การจับคู่ธุรกิจหรือ Business Matching ฯลฯ
8. ประโยชน์ในด้านอื่นๆ ปัจจุบันทางโครงการได้มีการพัฒนาโปรแกรมต่างๆและกำลังคัดสรรกิจกรรมที่น่าสนใจเพื่อให้เหมาะสมกับผู้ประกอบการร้านค้าต่อไป

ข้อมูลบริษัท  เดอะ แพลทินัม กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)
    “เดอะ แพลทินัม กรุ๊ป” จัดตั้งขึ้นในรูปแบบบริษัทจำกัดจากการควบรวมกิจการในกลุ่มจำนวนทั้งหมด 9 บริษัท เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2556 เพื่อประกอบธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และบริหารจัดการพื้นที่เช่า ตลอดจนเพื่อลงทุนในบริษัทอื่น จากนั้นได้รับการแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2557 ปัจจุบัน บริษัทฯ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัทย่อยทั้งสิ้น 3 บริษัท ได้แก่ บริษัท เดอะ แพลทินัม มาร์เก็ต จำกัด , บริษัท เดอะ แพลทินัม พลาซ่า จำกัด และบริษัท เดอะ แพลทินัม สมุย จำกัด ซึ่งบริษัทฯถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 99.99 นอกจากนี้ บริษัทฯได้ถือหุ้นในบริษัทร่วม 1 บริษัท คือ บริษัท แบงคอก สกายไลน์ จำกัด ซึ่งบริษัทฯถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 49.90