สมาคมมะเร็งนรีเวชไทยเปิดตัวโครงการ “One Gift for One Life วัคซีนเพื่อน้อง ป้องกันมะเร็งปากมดลูก”
สมาคมมะเร็งนรีเวชไทยจัดกิจกรรมสร้างสรรค์สังคม ภายใต้ชื่อโครงการ “One Gift for One Life วัคซีนเพื่อน้อง ป้องกันมะเร็งปากมดลูก” พร้อมประกาศความร่วมมือกับกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ในการให้ความรู้และแนวทางการป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูก พร้อมฉีดวัคซีนเอชพีวี ป้องกันมะเร็งปากมดลูกให้แก่เยาวชนหญิง ภายในศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน จำนวน 11 แห่งทั่วประเทศ
ศ. พญ. สฤกพรรณ วิไลลักษณ์ นายกสมาคมมะเร็งนรีเวชไทย กล่าวว่า สมาคมมะเร็งนรีเวชไทยก่อตั้งขึ้น โดยมีพันธกิจที่จะเป็นสื่อกลางในการเผยแพร่ความรู้ทางวิชาการและการบริการแก่สมาชิกและแก่สาธารณชน ในการดำเนินงานเพื่อสุขภาพที่ดีขึ้นของสตรีไทยที่ป่วยด้วยโรคมะเร็งจากอวัยวะสืบพันธุ์ โดย โครงการ “One Gift for One Life วัคซีนเพื่อน้อง ป้องกันมะเร็งปากมดลูก” เป็นกิจกรรมเพื่อสังคม ที่สมาคมมะเร็งนรีเวชไทยตั้งใจจะจัดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ด้วยความตระหนักดีว่า ปัจจุบันมะเร็งปากมดลูก นับเป็นมะเร็งที่พบบ่อยเป็นอันดับต้นๆ ในผู้หญิงไทย มีผู้ป่วยรายใหม่เกิดขึ้นปีละกว่า 10,000 ราย รวมถึงคร่าชีวิตผู้หญิงไทยสูงถึงอัตราวันละ 12 คน หรือประมาณ 5,000 รายต่อปี ซึ่งแนวทางการป้องกันที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันนอกเหนือจากการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกแล้ว การได้รับวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก หรือวัคซีนเอชพีวี ก็เป็นอีกแนวทางหนึ่ง ที่จะช่วยลดอัตราความเสี่ยงจากการสูญเสียชีวิตด้วยโรคนี้ให้แก่ผู้หญิงไทยตั้งแต่แรกเริ่มอีกด้วย
สมาคมมะเร็งนรีเวชไทยตระหนักดีว่า เยาวชนทุกคนเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติให้เข้มแข็งได้ ดังนั้น สมาคมฯ จึงได้ประสานความร่วมมือกับกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน พร้อมพันธมิตรเครือข่าย จัดให้มีการให้ความรู้ และให้บริการฉีดวัคซีนเอชพีวีแก่เด็กและเยาวชนหญิงที่ต้องอยู่ ณ ศูนย์ฝึกฯ ทั้ง 11 แห่งทั่วประเทศ ทั้งนี้ เพื่อให้เยาวชนทุกคนได้รับสิทธิอย่างเท่าเทียมกัน
ด้าน ศ.พิเศษ วิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ อธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กล่าวว่า กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนได้เล็งเห็นความสำคัญของการให้โอกาส และสิทธิที่เท่าเทียมแก่เด็กและเยาวชน ซึ่งเยาวชนเหล่านี้อาจต้องพลาดโอกาสที่พวกเขาควรจะได้รับในช่วงระหว่างที่ต้องรับการฝึกอบรมอยู่ที่ศูนย์ฝึกฯ ดังนั้น ภายใต้วิสัยทัศน์และพันธกิจของกรมพินิจฯ ที่ต้องการยกระดับคุณภาพในการดูแล แก้ไข บำบัดฟื้นฟู เด็กเยาวชน การได้ร่วมมือจัดกิจกรรม One Gift for One Life วัคซีนเพื่อน้อง ป้องกันมะเร็ง ปากมดลูก” กับทางสมาคมมะเร็งนรีเวชไทยในครั้งนี้ จึงรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่กรมฯ และสมาคมฯ ต่างมีพันธกิจสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน โดยมุ่งหวังให้เยาวชนหญิงภายในศูนย์ฝึกฯ ทั้ง 11 แห่งทั่วประเทศ มีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขที่ดีเช่นเดียวกับเด็กทั่วไป
ด้าน นอ.นพ. ภานนท์ เกษมศานติ์ อุปนายกสมาคมมะเร็งนรีเวชไทย กล่าวว่า เมื่อปี 2558-2559 ที่ผ่านมา สมาคมมะเร็งนรีเวชไทยได้ร่วมมือกับเครือข่ายพันธมิตร อย่าง สโมสรโรตารีกรุงเทพสุวรรณภูมิ สมาพันธ์ชมรมเดินวิ่ง
เพื่อสุขภาพไทย ศูนย์การค้า เดอะเซ้นส์ ปิ่นเกล้า และบริษัทผู้ผลิตและนำเข้าวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกจัดกิจกรรมเดินวิ่งมาราธอน ภายใต้ชื่อโครงการวิ่งด้วยใจให้น้อง ป้องกันมะเร็งปากมดลูก เพื่อระดมทุนหารายได้ในการจัดซื้อวัคซีนเอชพีวี ป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูกให้กับเด็กและเยาวชนที่ด้อยโอกาส รวมถึงส่งเสริมให้หน่วยงานภาครัฐ เอกชน และภาคประชาชนมีความเข้าใจและตระหนักถึงปัญหาของโรคมะเร็งปากมดลูก ที่ปัจจุบันเป็นโรคร้ายที่ทำให้ผู้หญิงเสียชีวิตสูงเป็นลำดับต้นๆ ซึ่งการจัดกิจกรรมในครั้งนั้น ทำให้ทางสมาคมฯ สามารถระดมทุนหารายได้เพื่อจัดหาซื้อวัคซีนป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูกและนำไปมอบ รวมถึงดำเนินการฉีดวัคซีนให้กับเด็กด้อยโอกาสที่บ้านราชวิถี และบ้านธัญญพร รวมจำนวน 320 คน ในปีที่ผ่านมา
เพื่อสุขภาพไทย ศูนย์การค้า เดอะเซ้นส์ ปิ่นเกล้า และบริษัทผู้ผลิตและนำเข้าวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกจัดกิจกรรมเดินวิ่งมาราธอน ภายใต้ชื่อโครงการวิ่งด้วยใจให้น้อง ป้องกันมะเร็งปากมดลูก เพื่อระดมทุนหารายได้ในการจัดซื้อวัคซีนเอชพีวี ป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูกให้กับเด็กและเยาวชนที่ด้อยโอกาส รวมถึงส่งเสริมให้หน่วยงานภาครัฐ เอกชน และภาคประชาชนมีความเข้าใจและตระหนักถึงปัญหาของโรคมะเร็งปากมดลูก ที่ปัจจุบันเป็นโรคร้ายที่ทำให้ผู้หญิงเสียชีวิตสูงเป็นลำดับต้นๆ ซึ่งการจัดกิจกรรมในครั้งนั้น ทำให้ทางสมาคมฯ สามารถระดมทุนหารายได้เพื่อจัดหาซื้อวัคซีนป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูกและนำไปมอบ รวมถึงดำเนินการฉีดวัคซีนให้กับเด็กด้อยโอกาสที่บ้านราชวิถี และบ้านธัญญพร รวมจำนวน 320 คน ในปีที่ผ่านมา
สำหรับปีนี้ สมาคมมะเร็งนรีเวชไทยยังคงสานต่อบทบาทการรณรงค์และป้องกันการเกิดโรงมะเร็งปากมดลูก โดยได้จัดโครงการ One Gift for One Life วัคซีนเพื่อน้อง ป้องกันมะเร็งปากมดลูก ซึ่งสมาคมฯ ได้ประสานความร่วมมือกับ กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน นำข้อมูล ความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับโรคมะเร็งปากมดลูก และแนวทางการป้องกันโรค สัญจรไปเผยแพร่ให้เด็กๆ และเยาวชนภายในศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน รวมถึงเจ้าหน้าที่ภายในศูนย์ฝึกฯ แต่ละแห่งได้รับทราบ นอกจากนี้ สมาคมฯ ยังได้ร่วมมือกับพันธมิตร ที่จะนำวัคซีนเอชพีวีที่ได้ทำการมอบให้แก่ กรมพินิจฯ ในวันนี้ ไปฉีดให้กับน้องๆ ถึงที่ศูนย์ฝึกฯ ที่มีเยาวชนหญิงอยู่ทุกแห่งอีกด้วย สำหรับโครงการ One Gift for One Life วัคซีนเพื่อน้อง ป้องกันมะเร็งปากมดลูก เป็นโครงการฯ ที่สมาคมมะเร็งนรีเวชมีความตั้งใจที่จะมอบของขวัญ เป็นสิทธิการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพที่ดีให้แก่น้องๆ ที่ต้องอยู่ภายในศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน ให้มีโอกาสมีสุขภาพที่ดี มีสิทธิเข้าถึงวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก ที่จะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้กับน้องๆ ลดอัตราการเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งปากมดลูกในอนาคต
นอกจากนี้ สมาคมฯ ยังมีแผน ที่จะดำเนินกิจกรรมโครงการวิ่งด้วยใจให้น้อง ป้องกันมะเร็งปากมดลูก ร่วมกับ Globe-athon 2017 ซึ่งเป็นองค์กรที่ได้จัดกิจกรรมนี้ขึ้นทั่วโลก เป็นประจำทุกปี รวมถึงเครือข่ายพันธมิตร ในวันที่ 24 กันยายน 2560 นี้ เพื่อหารายได้มาดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคม รณรงค์ให้ความรู้เกี่ยวกับโรคมะเร็งปากมดลูกแก่ภาคประชาชน รวมถึงฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายให้แก่เด็กและเยาวชนผู้ด้อยโอกาส โดยตั้งเป้าลดอัตราการเสียชีวิตของ ผู้หญิงไทยจากโรคมะเร็งปากมดลูกให้ลดลง เพราะเมื่อประชาชนมีความเข้าใจเกี่ยวกับโรค และแนวทางการป้องกัน จำนวนผู้ป่วย และผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็งปากมดลูกก็จะลดตามไปด้วยเช่นกัน
ด้าน รศ.นพ. วิชัย เติมรุ่งเรืองเลิศ เลขาธิการสมาคมมะเร็งนรีเวชไทย กล่าวว่า ปัจจุบันพบมะเร็งปากมดลูกเป็นอันดับ 4 ในผู้หญิงทั่วโลก และพบเป็นอันดับ 2 ในภูมิภาคที่กำลังพัฒนา โดยในปี 2555 พบว่ามีผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกรายใหม่เกิดขึ้นประมาณ 528,000 คน ขณะเดียวกันมีผู้ป่วยเสียชีวิตจากโรคดังกล่าวกว่า 266,000 คน โดยคิดเป็นร้อยละ 75 ของผู้ป่วยมะเร็งทั้งหมด และพบว่าการเสียชีวิตจากมะเร็งปากมดลูก 9 ใน 10 คน คิดเป็นร้อยละ 87 เกิดในภูมิภาคที่กำลังพัฒนา สำหรับประเทศไทยพบโรคมะเร็งปากมดลูกเป็นอันดับ 2 รองมาจากมะเร็งเต้านม มีผู้ป่วยรายใหม่เกิดขึ้นปีละกว่า 10,000 คน และเสียชีวิตประมาณปีละ 5,000 คน หรือ 12 คนต่อวัน ซึ่งมากกว่าร้อยละ 80 ของผู้ป่วยอยู่ในช่วงอายุ 30-60 ปี นอกจากนี้ ประเทศไทยมีประชากรสตรีที่เสี่ยงต่อมะเร็งปากมดลูก 26.09 ล้านคน มีอายุตั้งแต่ 15 ปี ขึ้นไป มีจำนวนผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกรายใหม่ปีละ 9,999 ราย เสียชีวิต 5,216 ราย หรือประมาณร้อยละ 53 ถ้าคิดเป็นวันแล้วจะมีสตรีไทยเสียชีวิตจากมะเร็งปากมดลูกเฉลี่ยวันละ 14 คน
รศ.นพ. วิชัย กล่าวต่อว่า มะเร็งปากมดลูกถือเป็นภัยเงียบที่ไม่แสดงอาการในระยะแรก ผู้ป่วยจึงไม่ทราบว่าตนเองเริ่มมีความผิดปกติ ถ้าไม่ได้รับการตรวจภายใน และตรวจหาเซลล์ผิดปกติที่เรียกว่าแพปสเมียร์ (Pap Smear Test) ดังนั้น ถ้ามีอาการดังต่อไปนี้ คือ 1.มีเลือดออกหลังมีเพศสัมพันธ์หรือเลือดออกผิดปกติที่ช่องคลอดนอกช่วงรอบเดือน 2.ตกขาวปนเลือดหรือมีกลิ่นเหม็น 3.มีแผลหรือก้อนบริเวณปากมดลูก 4.ปวดหลัง ขา หรือเชิงกราน 5.เหนื่อย น้ำหนักตัวลดลงหรือเบื่ออาหาร และ 6.ขาบวมเพียงข้างเดียว แสดงว่ามะเร็งอาจจะลุกลามหรือแพร่กระจายไปแล้ว ผู้ป่วยควรพบแพทย์ทันที โดยผู้หญิงทุกวัยมีภาวะความเสี่ยงที่จะติดเชื้อไวรัสฮิวแมนแพปปิโลมา (Human Papillomavirus) หรือ HPV ที่เป็นสาเหตุของมะเร็งปากมดลูก เพราะมีการติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และมักจะแพร่เชื้อระหว่างการมีเพศสัมพันธ์ทางช่องคลอดหรือทวารหนัก อย่างไรก็ตามการแพร่เชื้อยังสามารถติดต่อโดยการสัมผัสผิวหนังบริเวณอวัยวะเพศอีกด้วย เชื้อ HPV ทำให้เกิดความผิดปกติของเซลล์ที่ปากมดลูก ไม่ว่าจะเคยมี กำลังมี หรือจะมีเพศสัมพันธ์ในอนาคต ซึ่งอัตราการติดเชื้อสูงสุดจะอยู่ในช่วงวัยรุ่น ผู้ใหญ่ตอนต้น หรือวัยที่เพิ่งเริ่มมีเพศสัมพันธ์ เนื่องจากช่วงเวลาที่มีโอกาสติดเชื้อมากที่สุดคือ ช่วงสั้นๆ หลังจากเริ่มมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก และตลอดช่วงชีวิตของผู้หญิงมีโอกาสติดเชื้อ HPV ถึงร้อยละ 80-90
เชื้อ HPV มีมากกว่า 100 สายพันธุ์ โดยมีอย่างน้อย 13 สายพันธุ์ที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็ง จากข้อมูลพบว่าเชื้อ HPV ที่ก่อให้เกิดมะเร็งมากที่สุด 2 สายพันธุ์ทั่วโลก คือ สายพันธุ์ 16 และ 18 ซึ่งเป็นสาเหตุประมาณร้อยละ 70 ของมะเร็งปากมดลูกทั้งหมด โดยสามารถป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้ด้วยการไม่มีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร การสวมถุงยางอนามัยขณะมีเพศสัมพันธ์ แต่ไม่สามารถป้องกันเชื้อได้ 100 เปอร์เซนต์ และการฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อ HPV ซึ่งเป็นการป้องกันที่ต้นเหตุของมะเร็งปากมดลูกโดยตรง