ผนึกความร่วมมือ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข เครือข่ายลดบริโภคเค็ม และองค์การอนามัยโลก รวมพลังหารือมาตรการควบคุมโซเดียมในอาหารของคนไทย
เครือข่ายลดบริโภคเค็มร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และองค์การอนามัยโลก ผนึกความร่วมมือร่วมกันหามาตรการต่าง ๆ ร่วมกับผู้ประกอบการภาคเอกชน เพื่อขับเคลื่อนควบคุมปริมาณโซเดียมในอุตสาหกรรมอาหาร ได้แก่ กลุ่มอาหารกึ่งสำเร็จรูป อาหารแช่เย็นแช่แข็ง และผลิตภัณฑ์เครื่องปรุงรส โดยหวังผลให้เกิดความร่วมมืออย่างยั่งยืนในการลดโซเดียมเพื่อสุขภาพของประชาชนชาวไทย
นพ.พูลลาภ ฉันทวิจิตรวงศ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่าสืบเนื่องจากสถานการณ์ความรุนแรงของการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังในประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนับวันจะทวีความรุนแรงมาก ถึงแม้ว่าทั่วโลกรวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในประเทศไทยมีมาตรการที่หลากหลายในการพยายามดำเนินมาตรการต่างๆเพื่อลดอุบัติการณ์ของโรคแล้วก็ตาม ซึ่งปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของการการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง คือ การบริโภค จากข้อมูลการสำรวจการบริโภคโซเดียมคลอไรด์หรือเกลือของประชากรไทย ในปี 2550 โดยกรมอนามัยร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล พบว่า ประชากรไทยได้รับโซเดียมจากอาหารที่บริโภคสูงถึง 4,351.7 มิลลิกรัมต่อวัน ซึ่งมากกว่าปริมาณที่สามารถบริโภคได้เกือบ 2 เท่า นอกจากนี้การสำรวจสุขภาพประชาชนไทยโดยการตรวจร่างกายครั้งที่ 4 พ.ศ. 2551-2552 ที่ดำเนินการโดยสำนักงานสำรวจสุขภาพประชากรไทย สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุขด้วย พบว่า ค่ามัธยฐานของการบริโภคโซเดียมอยู่ที่ 3,264 มิลลิกรัมต่อวันซึ่งเป็นการตอกย้ำจะแสดงให้เห็นว่าประชาชนไทยได้รับโซเดียมในปริมาณที่สูงกว่าความต้องการต่อวัน อีกทั้งองค์การอนามัยโลกได้กำหนดให้การลดการบริโภคเกลือหรือโซเดียม เป็น 1 ใน 9 เป้าหมายที่สำคัญ เพื่อต่อสู้กับโรคไม่ติดต่อเรื้อรังอีกด้วย
จากสถานการณ์ปัญหาและเหตุผลในเบื้องต้นนั้น จึงมีความจำเป็นเร่งด่วนในการดำเนินงานเพื่อลดการบริโภคเกลือและโซเดียมในประชากรประเทศไทย โดยบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพื่อผลักดันให้การบริโภคเกลือและโซเดียมเป็นนโยบายสำคัญ ในการป้องกันและควบคุมปัญหาโรคไม่ติดต่อที่ต้องมียุทธศาสตร์การดำเนินงานที่ชัดเจน สามารถนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ดังนั้นสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา จึงมีแนวทางในการผลักดันมาตรการลดโซเดียมในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่สำคัญ เช่น การปรับสูตรอาหาร สัญลักษณ์ในผลิตภัณฑ์อาหารเกลือสูงได้แก่อาหารกึ่งสำเร็จรูป พวกบะหมี่และโจ๊ก อาหารแช่เย็นแช่แข็ง ผงหรือก้อนปรุงรส และการเก็บภาษีเกลือโซเดียม โดยหวังว่าการประชุมพิจารณามาตรการการควบคุมโซเดียมในอาหารนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นในการจัดตั้งคณะทำงานทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เครือข่ายผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรม ในการขับเคลื่อนเป้าหมายร่วมกัน และจัดทำแผนการดำเนินการที่เป็นรูปธรรมเพื่อเกิดประสิทธิผล ก่อนมีมาตรการทางกฎหมายต่อไป
ด้านนายแพทย์ แดเนียล เคอร์เทสซ์ ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่า มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ยืนยันชัดเจนว่าการบริโภคเกลือมากเกินไปนั้นเป็นโทษต่อร่างกาย การลดการบริโภคเกลือลงนั้นจะช่วยลดความดันโลหิต และยังลดความเสี่ยงของโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และโรคไต องค์การอนามัยโลกแนะว่าการบริโภคเกลือโชเดียมไม่ควรเกินกว่า 5 กรัม หรือ 1 ช้อนชาต่อวัน ปริมาณเกลือที่คนไทยบริโภคส่วนมากนั้นมาจากอาหารสำเร็จรูป (ผ่านกรรมวิธี) การปรับสูตรอาหารสำเร็จรูปให้ลดปริมาณเกลือลงจะเป็นมาตรการสำคัญ ที่จะช่วยลดการบริโภคเกลือในประชากรไทย การปรับสูตรอาหารเป็นยุทธศาสตร์ที่มีประสิทธิภาพซึ่งใช้ได้ผลในหลายๆประเทศทั่วโลกในอันที่จะช่วยรักษาสุขภาพของประชากร
ด้านดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่าสำหรับบทบาทของสสส. ในการสนับสนุนและส่งเสริมให้คนไทยลดการบริโภคโซเดียมนั้น สสส. ได้ให้การสนับสนุนให้กับทุกองค์กรและทุกภาคส่วนอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้เป็นที่ทราบดีว่าในปัจจุบันคนไทยประสบกับปัญหาสุขภาพ มีการเจ็บป่วยด้วยโรคต่างๆที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไต และโรคมะเร็ง เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัญหาสุขภาพเหล่านี้ล้วนเกิดขึ้นจากวิถีชีวิตและพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่เปลี่ยนแปลงไปของคนไทย มีการบริโภคอาหารที่มีไขมัน น้ำตาล และโซเดียมสูงขึ้นและบริโภคผักผลไม้ลดลง จากรายงานการสำรวจการบริโภคอาหารของประชาชนไทยในปี 2554พบว่าคนไทยได้รับโซเดียมในปริมาณสูง โดยแหล่งโซเดียมส่วนใหญ่มาจากอาหารที่จำหน่ายจากร้านค้า ร้านสะดวกซื้อ และเครื่องปรุงรสที่เติม
นพ.สุรศักดิ์ ประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม
ทั้งนี้สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)ในฐานะองค์กรหลักด้านการสร้างเสริมสุขภาพเพื่อให้ประชาชนทุกช่วงวัยมีสุขภาวะที่ดี เกิดความฉลาดรู้ด้านสุขภาพ และจิตสำนึกสุขภาพจึงมีแนวทางในการส่งเสริมให้ประชาชนมีพฤติกรรมการบริโภคที่พึงประสงค์ โดยมุ่งปลูกฝังพฤติกรรมสุขภาพพื้นฐานด้านการบริโภคให้ถูกต้องและยั่งยืนส่งเสริมปัจจัยแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสุขภาวะที่ดีของประชาชน ด้วยการส่งเสริมการพัฒนาความรอบรู้ด้านสุขภาพควบคู่กับการสร้างเสริมพฤติกรรมสุขภาพต่างๆ อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งสนับสนุนให้การลดการบริโภคโซเดียมตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 8 ข้อ4 ในเรื่องนโยบายการลดการบริโภคเกลือ สสส. จะร่วมผลักดันให้เกิดการบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน การผลักดันนโยบาย เป็นกระบวนการสำคัญหนึ่งในการพัฒนานโยบายสาธารณะ กระบวนการนโยบายเพื่อการป้องกันและควบคุมปัญหาโรคไม่ติดต่อ ซึ่งเกี่ยวข้องกับหลายปัจจัยทั้งปัจจัยเสี่ยงเชิงพฤติกรรมของประชาชน รวมถึงปัจจัยแวดล้อมที่กระตุ้นส่งเสริมให้เกิดการมีพฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพ นอกจากการมีข้อมูลวิชาการเพื่อแสดงความสำคัญและความจำเป็นที่ต้องควบคุมและจัดการปัญหาแล้ว ยังต้องอาศัยกลยุทธ์และกระบวนการอื่น ๆ เพื่อผลักดันจนเกิดเป็นนโยบายและมีการบังคับใช้ต่อไป