ADS


Breaking News

“ดีแทค” ผุดแอปกรองเนื้อหา ช่วยพ่อแม่เลี้ยงลูกยุคดิจิทัล

     14 มีนาคม 2560 -  ดีแทคผุดแอปพลิเคชัน dtac Family Care ผู้ช่วยยุคดิจิทัล หวังช่วยพ่อแม่คัดกรองเนื้อหา ควบคุมการเล่นอินเทอร์เน็ตของลูก สถิติเผยเด็กเข้าถึงอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวในรอบ 5 ปี ชี้กว่าครึ่งเล่นอินเทอร์เน็ตทุกวัน
     นางสาวปริศนา รัตนสุวรรณศรี ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานธุรกิจโพสต์เพด บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กล่าวว่า จากอัตราการขยายตัวผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตย่างก้าวกระโดดของเทคโนโลยีสารสนเทศในไทย โดยเฉพาะกลุ่มเด็ก ดีแทค ในฐานะผู้ให้บริการดิจิทัล ได้ตระหนักถึงผลกระทบจากการใช้งานที่ไม่ถูกต้องและปลอดภัย จึงได้พัฒนาแอปพลิเคชันร่วมกับ Smith Micro Software Inc (SMCI) ผู้ผลิตซอฟท์แวร์สัญชาติอเมริกัน เพื่อดูแลคนในครอบครัว และเสมือนได้อยู่ใกล้ทุกเวลา โดยแบ่งได้เป็น 6 ฟังก์ชันการใช้งานหลัก ได้แก่ การดูแลการใช้งานแอปพลิเคชัน, ดูแลการใช้งานโทรออกและรับสาย, สัญญาณขอความช่วยเหลือฉุกเฉิน (SOS), การติดตามตำแหน่งแบบเรียลไทม์, สร้างพื้นที่ปลอดภัย และการติดตามโทรศัพท์กรณีสูญหาย
     ทั้งนี้ กลุ่มเป้าหมายของผู้ใช้แอปพลิเคชัน dtac Family Care คือ พ่อแม่ที่มีอายุระหว่าง 30-50 ปี ที่มีลูกอายุระหว่าง 6-15 ปี เนื่องจากเป็นวัยที่เริ่มมีการถือครองโทรศัพท์ของตัวเองและเป็นช่วงที่พ่อแม่ยังสามารถควบคุมการใช้งานโทรศัพท์ได้ เป็นจังหวะที่ดีในการสร้างวินัยในการใช้สมาร์ทโฟน และแทบเล็ต ขณะที่เด็กอายุมากกว่า 15 ปี เด็กจะย่างเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น ซึ่งจะเริ่มมีความเป็นตัวของตัวเอง  และต้องการพื้นที่ส่วนตัว ซึ่งจะยากต่อการสร้างวินัย ดังนั้น เด็กช่วงวัยก่อน 13-15 ปี จึงเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมต่อการสร้างวินัยในการใช้อินเทอร์เน็ตอย่างสร้างสรรค์และปลอดภัย
     จากการรายงานเรื่องการสำรวจการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในครัวเรือน พ.ศ. 2559 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า เด็กอายุระหว่าง 6-14 ปี มีแนวโน้มการใช้อินเทอร์เน็ตเพิ่มสูงขึ้น จาก 35.9% ในปี 2553 เป็น 61.4% ในปี 2559 โดยในกลุ่มเด็กที่ใช้อินเทอร์เน็ต 51.6% มีการใช้อย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้งและ 47.4% ใช้ทุกวัน ขณะที่ระยะเวลาที่ใช้อินเทอร์เน็ต เด็กส่วนใหญ่ใช้เวลา 1-2 ชั่วโมงต่อวัน
     สะท้อนถึงพฤติกรรมเด็กที่เกิดมาในยุคดิจิทัล (digital native) กับการใช้อินเทอร์เน็ต ซึ่งมีทั้งข้อดีและข้อเสีย โดยเฉพาะปัญหาการทะเลาะเบาะแว้งในครอบครัว ติดเกมจนไม่ยอมรับประทานอาหาร หมกมุ่นอยู่กับอินเทอร์เน็ตตลอดเวลา จนอาจนำไปสู่ปัญหาเด็กติดเกม พฤติกรรมเสพติดความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
     “เราหวังว่าแอปพลิเคชัน dtac Family Care จะช่วยเป็นเสมือนผู้ช่วยให้แก่พ่อแม่ในยุคดิจิทัล ในการสอดส่องและป้องกันภัยอันตรายที่อาจเกิดต่อลูกและคนที่คุณห่วงใยได้อย่างเหมาะสม แม้จะอยู่ห่างไกลกันก็ตาม ซึ่งนี่ถือเป็นอีกพันธกิจหนึ่งของดีแทคในการสร้างเสริมความยั่งยืนต่อสังคมและครอบครัวสืบไป นางสาวปริศนากล่าว
เกี่ยวกับแอปพลิเคชัน dtac Family Care
     แอปพลิเคชัน dtac Family Care เป็นแอปพลิเคชันที่ช่วยให้ครอบครัวดูแลได้ใกล้ชิดกันมากขึ้น ด้วยฟังก์ชันการใช้งานหลักดังนี้
1. ดูแลการใช้งานโทรศัพท์ ด้วยการควบคุมการโทร และการใช้แอพพลิเคชั่น โดยสามารถระบุเวลาในการใช้งานหรือกำหนดเบอร์ที่สามารถติดต่อได้
2. ดูแลการใช้งานโทรศัพท์ ด้วยการควบคุมการโทร และการใช้แอพพลิเคชั่น โดยสามารถระบุเวลาในการใช้งานหรือกำหนดเบอร์ที่สามารถติดต่อได้
3. ติดตามความปลอดภัยด้วยระบบระบุตำแหน่งที่อยู่แบบ Real-time
4. สร้างขอบเขตพื้นที่ปลอดภัย โดยหากสมาชิกในครอบครัวออกหรือเข้าพื้นที่ปลอดภัย ระบบจะส่งข้อความแจ้งทุกคนในครอบครัว
5. ส่งสัญญาณฉุกเฉินให้สมาชิกทุกคน เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน
6. ติดตามโทรศัพท์ที่สูญหาย หรือป้องกันข้อมูลจากระยะไกล

การดาวน์โหลดและผู้มีสิทธิใช้งาน
1. ผู้มีสิทธิใช้งาน ได้แก่ ลูกค้าดีแทค ทั้งระบบรายเดือนและเติมเงิน
2. ลูกค้าทุกคนทดลองใช้บริการฟรี 1 เดือน
3. เมื่อสมัครบริการรายเดือน 59 บาทต่อเดือน
4. ลูกค้า Share Package ใช้บริการฟรีตลอดอายุแพ็กเกจ
5. ลูกค้า Blue Member ใช้บริการฟรี 12 เดือน

ข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ปัจจุบันยุคดิจิทัล

ผู้เชี่ยวชาญชี้เด็กขาด พื้นที่สีขาวบนอินเทอร์เน็ตหวั่นกระทบการพัฒนาการเด็กยุคดิจิทัลระยะยาว พร้อมแนะพ่อแม่สร้างวินัยแก่เด็กก่อน 13 ปี  ชู ระบบคัดกรองเนื้อหา ตัวช่วยสำคัญพ่อแม่ไซเบอร์
     นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ หัวหน้าศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี กล่าวว่า พ่อแม่มือใหม่ในปัจจุบันต่างกับยุคเก่า โดยเฉพาะวัฒนธรรมการเลี้ยงดู เวลาที่น้อยลง เช่นเดียวกันก็ให้ความอิสระกับลูกมากขึ้น ปล่อยให้สำรวจสิ่งแวดล้อมผ่านเทคโนโลยี เปิดโอกาสให้มีการเรียนรู้ด้วยตัวเองที่สูงขึ้นและรวดเร็ว ซึ่งเป็นไปตามสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงและยากที่จะหลีกเลี่ยง
     อย่างไรก็ตาม สิ่งที่พ่อแม่ควรตระหนักคือ การสอนให้รู้เท่าทัน ควบคุม และสร้างวินัยการเข้าถึงและใช้งานอินเทอร์เน็ตแก่เด็ก โดยเฉพาะในเด็กอายุต่ำกว่า 13 ปีลงมา เนื่องจากเป็นช่วงพัฒนาการทางสมองของเด็กในการจดจำ และยังสามารถควบคุมได้ ขณะที่เด็กที่อายุ 13 ปีขึ้น เป็นช่วงที่เข้าสู่วัยรุ่น ซึ่งหากมีการควบคุมมากเกินไป อาจเกิดการต่อต้านอย่างรุนแรงได้
     “อินเทอร์เน็ตเปรียบแหมือนตลาดที่เด็กสามารถเข้าไปช้อปปิ้งความรู้ ความสนุกสนาน ขณะเดียวกันก็มีทั้งของดีและของไม่ดีปะปนกัน ซึ่งเด็กอาจเข้าไปสัมผัสโดยไม่รู้ตัวได้ ซึ่งอาจส่งผลกระทบในระยะยาว เช่น ความรุนแรง บุคลิกภาพ หรือการล่อลวง ดังนั้น ระบบคัดกรองจึงเป็นสิ่งสำคัญในการให้พื้นที่สีขาวเด็กได้เรียนรู้เทคโนโลยีในทางสร้างสรรค์ นพ.อดิศักดิ์ กล่าว
     ระบบคัดกรองอย่างแอปพลิเคชันประเภท Parental Control ถือว่ามีบทบาทสำคัญในการจัดเตรียมพื้นที่สีขาวแก่เด็กให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ และใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีอย่างเต็มที่ เช่นเดียวกัน ผู้ผลิตแพลตฟอร์มและคอนเทนท์ควรมีการจัดระดับความเหมาะสมของเนื้อหา ตัวอย่างเช่นนโยบายการใช้งานของเฟสบุ๊กที่กำหนดให้ผู้ใช้ต้องมีอายุ 13 ปีขึ้นไป
     นพ.อดิศักดิ์ กล่าวว่า ภาครัฐควรตระหนักถึงปัญหาการขาดภูมิคุ้มกันการใช้อินเทอร์เน็ตที่ถูกต้อง ซึ่งควรมีการปรับปรุงพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กและเยาวชนให้ทันสมัย ครอบคลุมถึงสื่ออินเทอร์เน็ตด้วย สร้างพื้นที่อินเทอร์เน็ตสีขาวให้กับเด็กก่อน 13 ปีมากยิ่งขึ้น ในต่างประเทศ ทั้งรัฐบาลและผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตต่างให้ความสำคัญกับพื้นที่สีขาว ถึงขั้นกำหนดเป็นนโยบายพื้นฐานในการบล็อกเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมแก่เด็กอายุต่ำกว่า 13 ปี
     “ระบบคัดกรองเป็นเพียงส่วนหนึ่งในการเลี้ยงดูลูกยุคดิจิทัลเท่านั้น มากกว่านั้นเป็นหน้าที่ของครอบครัวในการให้ความเอาใจใส่ ให้ความรักความอบอุ่นแก่คนในครอบครัวนพ.อดิศักดิ์ กล่าวทิ้งท้าย
     นางอรอุมา ฤกษ์พิพัฒน์ ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานสื่อสารองค์กรและการพัฒนาที่ยั่งยืน บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค กล่าวว่า ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ระบุว่า เด็กอายุระหว่าง 6-14 ปี มีแนวโน้มการใช้อินเทอร์เน็ตเพิ่มสูงขึ้น จาก 35.9% ในปี 2553 เป็น 61.4% ในปี 2559 โดยในกลุ่มเด็กที่ใช้อินเทอร์เน็ต 51.6% มีการใช้อย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้งและ 47.4% ใช้ทุกวัน ขณะที่ระยะเวลาที่ใช้อินเทอร์เน็ต เด็กส่วนใหญ่ใช้เวลา 1-2 ชั่วโมงต่อวัน
     ขณะที่สถานที่ที่เด็กเข้าถึงอินเทอร์เน็ตมากที่สุดคือ โรงเรียน 82.8% สถานที่ต่างๆ 58.2% และบ้าน 48.4% นอกจากนี้ เด็กอายุ 6-14 ปี เสพเนื้อหาผ่านคอมพิวเตอร์เป็นอันดับ 1 ที่ 83.3% ตามด้วยสมาร์ทโฟนที่ 59% และแท็บเล็ต 18.1%
     สำหรับกิจกรรมที่เด็กกลุ่มนี้ใช้อินเทอร์เน็ตมากที่สุดคือ ความบันเทิง ฟังเพลง ดูยูทูป ตามด้วยโซเชียลเน็ตเวิร์ค อัพโหลดรูปภาพ ค้นหาข้อมูล การศึกษา รับส่งอีเมล และโทรศัพท์ผ่านอินเทอร์เน็ต (VoIP)
     นางอรอุมา กล่าวว่า จากข้อมูลข้างต้น สะท้อนให้เห็นว่า ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม การดูแลของพ่อแม่ย่อมมีจุดบกพร่อง โดยเฉพาะที่ยุคอินเทอร์เน็ตเข้ามามีบทบาทสำคัญยิ่ง ดังนั้น ระบบคัดกรองจึงเป็นปัจจัยสำคัญ นอกจากนี้ ความรู้ความเข้าใจด้านเทคโนโลยีของพ่อแม่ก็มีส่วนสำคัญอย่างมาก ตลอดจนการเท่าทันพฤติกรรมเด็กยุคใหม่ โดยพ่อแม่ควรเปิดใจคุยกับลูกต่อการใช้อินเทอร์เน็ต โดยพูดคุยถึงพฤติกรรมตั้งแต่เด็กเริ่มมีพัฒนาการในการจดจำ สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ จากนั้นจึงหาโอกาสพูดคุย อภิปรายระหว่างทำกิจกรรมร่วมกัน เช่น ขณะดูโทรทัศน์ เล่นแทบเล็ต ซึ่งจะทำให้เกิดการซึมซับข้อมูล นอกจากนี้ พ่อแม่ยังควรเป็นผู้ฟังและผู้สื่อสารที่ดี อธิบายให้ชัดเจนถึงการใช้อินเทอร์เน็ตอย่างถูกต้องและสร้างสรรค์ และที่สำคัญ พ่อแม่ควรตั้งกติกาในการออนไลน์ เพื่อสร้างพฤติกรรมและวินัยที่ดีแก่เด็ก
      ดีแทค มุ่งมั่นส่งเสริมและสร้างภูมิคุ้มกันการใช้อินเทอร์เน็ตอย่างสร้างสรรค์และปลอดภัย ภายใต้โครงการ Safe Internet ซึ่งได้ดำเนินการเป็นระยะเวลาราว 3 ปีถึงปัจจุบัน และจะดำเนินการอย่างเข้มข้นในการพัฒนาทุนมนุษย์ด้านดิจิทัล เพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ ประเทศไทย 4.0