มจธ.รวมพลังคนทำงานสุขภาวะชุมชน ครั้งแรก
ในการประชุมวิชาการนวัตกรรมเพื่อสุขภาวะชุมชน (Innovation for Community Well-Being) ที่มีขึ้นระหว่างวันที่ 15 - 16 ธันวาคม 2559 ที่ผ่านมา ณ อาคารเคเอกซ์ อาคารมีชีวิตเพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ จัดโดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เวทีนำร่องที่รวมพลคนทำงานด้านสุขภาวะชุมชนจากเครือข่ายมหาวิทยาลัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นครั้งแรก ได้มาพบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์กันได้มุมมองใหม่ๆ ไปประยุกต์ใช้ตลอดจนได้เห็นโจทย์วิจัยที่มีความสอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมาย เพื่อนำไปสู่การพัฒนาให้ชุมชนมีสุขภาวะที่ดีขึ้น และต่อยอดไปสู่การสร้างเครือข่ายของกลุ่มคนทำงานด้านสุขภาวะชุมชนในที่สุด โดยการประชุมครั้งนี้ได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิที่มีประสบการณ์ตรงจากหลายสาขาร่วมเป็นวิทยากรเล่าถึงประสบการณ์ในการทำงานกับชุมชน พร้อมการบรรยายและการอภิปรายในหัวข้อต่างๆ ที่น่าสนใจ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมงานได้เรียนรู้วิธีการและนำความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ใช้ตามบริบทของแต่ละชุมชนโดยเฉพาะการเรียนรู้เกี่ยวกับความสำคัญของการบูรณาการการเรียนการสอนและวิจัยเพื่อประยุกต์ใช้กับโจทย์หรือแก้ปัญหาจริงในด้านต่างๆ ของชุมชน
อาทิ ศาสตราจารย์ ดร.เกื้อ วงศ์บุญสิน รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง “การพัฒนากลยุทธ์เพื่อสุขภาวะชุมชนท่ามกลางความผกผันทางประชากร” เน้นให้ความรู้และคำแนะนำสำหรับเตรียมความพร้อมในการรับมือกับอนาคตเพื่อรองรับสุขภาวะของประชากรผู้สูงวัยที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในอีก 4-5 ปีข้างหน้า ขณะที่ประชากรในวัยเจริญพันธุ์เริ่มลดน้อยลง,
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์ กล่าวบรรยายด้านสุขภาพ สาธารณสุข และความมั่นคงด้านอาหาร เรื่อง “ยุทธศาสตร์และกลยุทธ์ในการจัดการระบบสาธารณสุขและความมั่นคงด้านอาหารสำหรับกลุ่มคนชายขอบ” ยอมรับว่า “ภาพรวมของไทยนั้นมีปัญหาเรื่องความมั่นคงทางอาหารและขาดโภชนาการที่ดี ขาดการออกกำลังกาย ทำให้เกิดปัญหาโรคอ้วนและโรคเรื้อรังตามมา จึงควรพัฒนาคนไทยในเชิงคุณภาพมากขึ้นในทุกมิติทั้งจิตวิญญาณ สุขภาพกาย สุขภาพใจ และสังคม ซึ่งมี “พฤติกรรมและสิ่งแวดล้อม” เป็นตัวแปรสำคัญที่สุดที่จะทำให้มีสุขภาวะดีขึ้น ส่วนการบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขนั้นเป็นเพียงตัวแปรร้อยละ 20 เท่านั้นไม่ใช่ตัวแปรหลัก ดังนั้น เพื่อให้เกิดความมั่นคงด้านอาหารและโภชนาการ เรื่องของคุณภาพและความปลอดภัยในอาหารคือสิ่งจำเป็นที่สุดและหนีไม่พ้นงานวิจัยที่ต้องมีวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม”
ด้านนายแพทย์พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวถึงทิศทางการศึกษาและบทบาทของมหาวิทยาลัยในการอภิปรายเรื่อง “กับดับความท้าทายของยุทธศาสตร์ชาติ 2036” ว่า ทิศทางการพัฒนาคนจะไม่ได้อยู่ที่ปริญญาบัตรอีกต่อไปแต่อยู่ที่จบแล้วต้องมีงานทำ พึ่งพาตนเองได้ โดยจะต้องเปลี่ยนทิศทางการศึกษาใหม่จากเดิมที่มุ่งเน้นปริญญาบัตรมาเป็นการมีงานทำ เป็นคนดี มีสุขภาพดี และต้องทำให้ได้ภายใน 20 ปีจากนี้ เพราะการพึ่งตนเองจะนำไปสู่ความเข้มแข็งของประเทศตั้งแต่ระดับล่างขึ้นมา โดยเฉพาะระดับชุมชนต้องสนับสนุนให้มีการรวมกลุ่มเพราะการรวมกลุ่มจะทำให้เขาพึ่งพาซึ่งกันและกัน เมื่อกลุ่มเข้มแข็งก็จะทำให้ภาพรวมของสังคมเข้มแข็งมีความสามารถในการพึ่งพาตนเองในเรื่องต่างๆ โดยเฉพาะความเข้มแข็งด้านเทคโนโลยีสอดคล้องกับบทบาทของมหาวิทยาลัยที่จะต้องเพิ่มงานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีนวัตกรรมในประเทศให้มากขึ้น
“การพึ่งพาตนเองทางเทคโนโลยีมีความสำคัญมาก ดังนั้นการจะทำให้คนระดับล่างสามารถเข้าถึงเพื่อลดการเหลื่อมล้ำ มหาวิทยาลัยจึงมีบทบาทอย่างมากที่จะเชื่อมความรู้ที่เป็นความรู้สากลกับความรู้ภูมิปัญญา ทำให้ชาวบ้านหรือชุมชนสามารถนำความรู้นั้นไปใช้ประโยชน์ได้ รวมถึงยกระดับความรู้ของชาวบ้านเพื่อให้เข้าถึงความรู้สากล เพราะเป้าหมายภายใน 20 ปี ไทยจะต้องพึ่งตนเองทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีให้ได้ถึงระดับชุมชน พึ่งตนเองได้ทางด้านการทำมากิน และพึ่งตนเองให้ได้ด้านการจัดการสุขภาพ”
นอกจากนี้ยังได้รับเกียรติจาก รศ.ดร.คุณหญิงสุมณฑา พรหมบุญ ประธานสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา และรศ.ดร.สุธีระ ประเสริฐสรรพ์ ร่วมอภิปรายด้านการศึกษาเรื่อง “STEM ทำได้ กินได้ ใช้จริงในชีวิต” โดยย้ำว่า “STEM ไม่ใช่เรื่องใหม่ เป็นการเอาความรู้โดยเฉพาะความรู้ด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและคณิตศาสตร์มาทำให้กินได้ ใช้จริง STEM เป็นการเอาความรู้ทุกศาสตร์มาใช้ประโยชน์ในการสร้างนวัตกรรม สร้างสิ่งใหม่ๆ และใช้ประโยชน์ได้ และความหมายของ STEM คืออะไรนั้น ไม่สำคัญเท่ากับ STEM ทำอย่างไร และการทำอย่างไร ให้ดูแนวทางและวิธีการทรงงานของในหลวง ร.9”
เวทีอภิปรายด้านการศึกษาเรื่อง “STEM ทำได้ กินได้ ใช้จริงในชีวิต” โดย รศ.ดร.คุณหญิงสุมณฑา พรหมบุญ และ รศ.ดร.สุธีระ ประเสริฐสรรพ์
เวทีการอภิปรายด้านอาชีพเรื่อง “การทำมาหากินของคนยากไร้ มหาวิทยาลัยอยู่ที่ไหน”
สำหรับเวทีการอภิปรายด้านอาชีพเรื่อง “การทำมาหากินของคนยากไร้ : มหาวิทยาลัยอยู่ที่ไหน?” ซึ่งเวทีนี้ได้ผู้ที่ทำงานร่วมกับชุมชนในพื้นที่เข้ามาเป็นวิทยากรเพื่อถ่ายทอดประสบการณ์ตรงให้แก่ผู้เข้าร่วมงานได้รับฟัง โดยพระอาจารย์สมคิด จรณธมโม จากวัดโป่งคำ จังหวัดน่าน พระนักคิด นักพัฒนาที่ทำงานร่วมกับชาวบ้าน เน้นให้ชาวบ้านเข้าใจและตระหนักหาทางแก้ไขปัญหาด้วยการเชื่อมโยงความสัมพันธ์กันระหว่างโรงเรียน วัดและชุมชนเกี่ยวกับการรักษาป่าไม้ และสิ่งแวดล้อม เล่าว่า “ ในช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมา น่านถูกคำว่าพัฒนาเข้ามาทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและสภาพภูมิศาสตร์สูง จนน่านกลายเป็นที่รู้จักว่าเป็นภูเขาหัวโล้น ชุมชนโป่งคำก็เช่นเดียวกัน มีการถางป่า และชาวบ้านเริ่มพึ่งปัจจัยภายนอกชุมชนมาดำรงชีวิตเพราะติดคำว่าสงเคราะห์ ทำให้คนไม่สามารถนึกถึงตัวเอง เมื่อเกิดปัญหาก็จะนึกถึงแต่คนอื่น รอคอยความช่วยเหลือแทนการพึ่งพาตนเองอย่างที่เคยเป็นมาในอดีต ติดสะดวก จนสุดท้ายกลายเป็นทำลาย ทำให้สภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไป จึงพยายามศึกษาวิเคราะห์ถึงสาเหตุและคิดหาวิธีการแก้ไขด้วยการประยุกต์ใช้ภายใต้กลไกการพัฒนาตามนโยบายและแผนพัฒนาของรัฐที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนในชุมชน
บรรยากาศภายนอกห้องประชุม
ปัจจุบันชุมชนโป่งคำกลายเป็นต้นแบบที่เราพยายามทำเพื่อเปลี่ยนจากภูเขาหัวโล้นให้เป็นพื้นที่สีเขียว โดยสิ่งที่ทำคือ การสร้างหลักคิดของคนในชุมชนให้เห็นคุณค่าและความหมายของความรู้ภูมิปัญญาในพื้นที่ ปรับความเข้าใจนัยของคำว่าพัฒนาใหม่ว่า ‘การพัฒนาคือการเปลี่ยนแปลงแต่ไม่ใช่เปลี่ยนทั้งหมด แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงที่กลมกลืนสอดคล้องกับวิถีของชุมชน’ ขณะที่การพัฒนายุคใหม่เมื่อเข้าไปถึงก็เปลี่ยนแปลงหมด เช่น เปลี่ยนจากป่าที่เป็นสีเขียวให้กลายเป็นสีเหลือง เปลี่ยนจากบ่อปลากลายเป็นป่าหิน เปลี่ยนจากคนที่เคยอยู่ด้วยกันอย่างอบอุ่นกลายเป็นต่างคนต่างอยู่
พระอาจารย์สมคิด ยังได้ให้ข้อคิดที่น่าสนใจว่า “ การพัฒนาที่ไม่ได้ฝึกให้ชาวบ้านสำนึกและตระหนักถึงเรื่ององค์ความรู้ภูมิปัญญาซึ่งมีคุณค่าและมีความหมายเป็นสิ่งดีๆ ที่ชุมชนมีอยู่มาใช้เป็นเครื่องมือ แต่ใช้การพัฒนาบนฐานทุน ปัญหาก็จะไม่จบสิ้น ดังนั้น ชุมชนนี้จึงได้เปลี่ยนจากคำว่า การพัฒนาที่ใช้ทุนเป็นฐาน งานเป็นเงิน บุญเป็นส่วนเกินของชีวิต มาเป็น ธรรมเป็นฐาน งานเป็นทุน บุญคือเป้าหมาย ทำอย่างไรให้คนเข้าถึงธรรม(ชาติ) และใช้ธรรมเป็นเครื่องมือในการดำรงวิถีชีวิต นำภูมิปัญญาไปต่อยอดใช้เป็นเครื่องมือที่จะก่อให้เกิดความเข้มแข็งให้กับชุมชนได้ ตลอดจนการนำความเชื่อความศรัทธามาเป็นเครื่องมือก็จะช่วยเปลี่ยนแปลงชุมชนให้เข้มแข็งได้ และอยากเห็นบทบาทของมหาวิทยาลัยในการให้บริการทางวิชาการเข้ามาสู่ชุมชน เพราะเป็นสิ่งหนึ่งที่จะรองรับองค์ความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นอย่างเป็นเหตุเป็นผลและสอดคล้องกับการพัฒนานำไปสู่การยอมรับและอธิบายได้ภายใต้การศึกษา และอยากเห็นการเกิดขึ้นของแนวคิด 1 มหาวิทยาลัย 1 ตำบล เพื่อการสืบค้นสิ่งดีๆ ในชุนชนมาพัฒนา ส่วนการเข้าไปของมหาวิทยาลัยควรไปแบบผู้เรียนรู้ร่วมกับชาวบ้าน ซึ่งก็จะเป็นการนำเอาความรู้ระดับสากลไปประยุกต์ใช้ร่วมกับความรู้ภูมิปัญญาที่จะส่งต่อการแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืนและเหมาะสม”
รศ.ดร.ซุกรี หะยีสาแม รองคณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ปัตตานี ได้เล่าถึงประสบการณ์การทำงานกับชุมชนชาวมุสลิมในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า ต้องยอมรับว่าผลงานวิจัยหรือนวัตกรรม แม้จะได้รับการตีพิมพ์หรือจดสิทธิบัตรเป็นที่ยอมรับมากมาย แต่หลายอย่างก็ไม่สามารถตอบสนองคนกลุ่มหนึ่งได้เพราะในชุมชนห่างไกลมีโจทย์มากมายที่ต้องการคนเข้าไปเป็นเพื่อน โดยที่มหาวิทยาลัยเข้าไปช่วยสร้างอาชีพให้กับชุมชน และการเข้าไปของมหาวิทยาลัยคือ ทำอย่างไรให้ชาวบ้านเป็น “ซูเปอร์ฮีโร่” เป็นคนที่ช่วยเหลือตัวเอง พึ่งพาตนเอง ทำแล้วต้องแบ่งปัน ส่วนหน้าที่ของมหาวิทยาลัยคือ ช่วยเขาให้เขาช่วยตัวเองให้ได้ จากความรู้ของมหาวิทยาลัย หลักคิดของมหาวิทยาลัยคือ… ‘ เราไม่ต้องคิด เราไม่ใช่ซูเปอร์แมน ให้เขาคิด เราเป็นคนที่คอยให้การสนับสนุนด้านวิชาการ อำนวยความสะดวก ให้เขาคิดวางแผน และลงมือทำเอง โดยมีมหาวิทยาลัยตั้งคำถามให้เขาคิด ที่สำคัญคือ ในการทำงานกับชุมชน เป็นการไปสร้างความรู้ ความเข้าใจ และสร้างกระแสความเป็นผู้นำให้กับชุมชนเพื่อแก้ปัญหาของชุมชน’
ด้านรศ.ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) กล่าวถึง นวัตกรรมเพื่อสุขภาวะชุมชนว่า ในฐานะที่เป็นมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรม ที่ทำงานกับชุมชนชายขอบจำนวนมาก มองว่าเพื่อที่จะดูแลสุขภาวะของชุมชนให้อยู่ในสถานภาพที่พอดี ไม่ด้อยโอกาสกว่าคนในเมือง จึงจำเป็นต้องมีการคิดใหม่ คือนวัตกรรมที่ต้องมีมิติทั้งจากความรู้เดิมมาพัฒนาในบริบทที่ต่างไปจากที่เคยใช้ และต้องปรับปรุงให้ใช้ได้ หรือเป็นความรู้ใหม่ที่จะมาใช้กับสิ่งที่มีอยู่เดิมในท้องถิ่นให้เป็นประโยชน์กับการพัฒนาชุมชนและเป็นประโยชน์กับสุขภาวะชุมชนหรือเป็นนวัตกรรมที่เกี่ยวกับสังคมที่เรียกว่าโซเซียล อินโนเวชั่น คือ โครงสร้างการบริหารจัดการใหม่ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นที่คนทำงานด้านการพัฒนาชุมชนจะต้องมองให้ออกว่า ความรู้ เทคโนโลยีและวิธีการการทำงานร่วมกันเมื่อนำมาใช้กับริบทของชุมชนซึ่งมีความหลากหลายและเกิดผลกระทบที่ดี ที่จะทำให้เกิดการพัฒนาการที่ดีขึ้นที่เป็นประโยชน์เราเรียกว่า นวัตกรรม ที่มีเป้าหมายเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและเพิ่มสุขภาวะที่ดีให้กับชุมชน
รศ.ดร.วนิดา พวกุล ที่ปรึกษาอธิการบดีในฐานะประธานกรรมการจัดการ กล่าวถึงการจัดงานครั้งนี้ว่า การจัดงานครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกที่ได้มีการรวบรวมบุคคลที่ทำงานชุมชนจากเครือข่ายพันธมิตรมาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ โดยได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้านมาร่วมบรรยายและอภิปราย ซึ่งแบ่งออกเป็น 6 ด้าน ได้แก่ 1. ด้านสุขภาพและสาธารณสุข 2. ด้านการพัฒนาอาชีพ 3. ด้านการศึกษาและการเรียนรู้ 4. ด้านความมั่นคงด้านอาหาร 5. ด้านการจัดการน้ำ และ6.ด้านพลังงานสิ่งแวดล้อมและการสื่อสาร เพื่อให้สอดคล้องกับทุกๆด้านที่ มจธ.นักวิจัย นักวิชาการ นักศึกษา ของ มจธ.และพันธมิตรที่ร่วมกันทำงานเพื่อชุมชนมาโดยตลอด นอกจากนี้ยังมีการจัดประชุมกลุ่มย่อยอีกหลายหัวข้อ รวมถึงการแสดงผลงานวิชาการและงานวิจัยที่มีผู้นำผลงานเข้าร่วม แบ่งเป็นการนำเสนอในรูปแบบการบรรยายจำนวน 35 ผลงาน และการนำเสนอในรูปแบบโปสเตอร์ จำนวน 23 ผลงาน ซึ่งตลอดช่วง 2 วันของการจัดงานมีผู้สนใจเข้าร่วมงานเป็นจำนวนมากกว่า 150 คน นอกจากนี้ยังได้กระแสตอบรับที่ดีและเรียกร้องให้จัดเวทีในลักษณะนี้อีก ซึ่งมหาวิทยาลัยจึงตั้งเป้าที่จะจัดให้มีขึ้นอย่างน้อยทุกๆ 2 ปี
บรรยากาศภายนอกห้องประชุม