เรื่องเล่าจากหมอผิวหนัง ตอนที่ 1
โดย ศ.นพ.ประวิตร อัศวานนท์
ประชาสัมพันธ์สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย
เรื่องของโรคผิวหนัง อาจจะเป็นเรื่องเล็ก ๆ ของคนทั่วไป แต่บางครั้งก็มีความสำคัญที่หลาย ๆ คน ควรจะใส่ใจ และหมั่นดูแลเอาใจใส่ และรู้วิธีการแก้ปัญหาของโรคผิวหนังกันแบบง่าย ๆ ยกตัวอย่าง เช่น
-โรคผิวหนังจำนวนมาก โดยเฉพาะที่เกิดจากความแห้ง รักษาให้ดีขึ้นได้ เพียงอาบน้ำให้สั้นลง นะครับ และอย่าฟอกสบู่เยอะด้วยครับ
- มีคนไทยเป็นจำนวนมาก ที่รับประทานยามากเกินจำเป็น ...... ในแต่ละปี เรามีคนไข้แพ้ยาชนิดรุนแรง จำนวนมากนะครับ.... ยาที่ญาติ .. เพื่อนบ้าน และ ผู้หวังดีให้มา ถ้าไม่แน่ใจ อย่าเสี่ยง ครับ
-เส้นเลือดฝอยอักเสบ มีหลายชนิด นะครับ.... ความน่าสนใจ คือ บางชนิด ไม่มีอันตรายเลย แต่บางชนิด ก็ อันตรายทีเดียว ...... ถ้ามีผื่นแปลก ๆ แวะให้แพทย์ตรวจ ดีกว่าครับ
-โรคผมร่วงเป็นหย่อม พบได้บ่อยมากนะครับ ส่วนใหญ่รักษากับแพทย์ผิวหนังแล้วได้ผลดี ไม่จำเป็นต้องเสียเงินเป็นหมื่นเป็นแสน ก็หายขาดได้ แต่ถ้าไม่แน่ใจว่าเกิดจากสาเหตุใด ต้องปรึกษาแพทย์โดยละเอียดนะครับ
- เห็นปื้นดำ ๆ หนา ๆ แถวบริเวณต้นคอหรือรักแร้ ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ ไม่ต้องคิดจะขัดออก นะครับ ไม่ใช่ขี้ไคล แต่เป็นสัญญาณว่า ไม่โรคอ้วน ก็ เบาหวาน กำลังมาเคาะประตูแล้ว รู้แล้วต้องรีบลดแป้ง อาทิ เช่น ข้าว ขนมปังและลดน้ำตาล จาก น้ำอัดลม ขนมขบเคี้ยวต่าง ๆ
-ไม่ใช่ว่าทุกผื่นที่เกิดใต้แหวน จะต้องเกิดจากการแพ้โลหะ นะครับ ถ้าสังเกตว่าขอบผื่นชัดมาก ๆ อาจเกิดจากเวลาล้างมือ ล้างจาน แล้ว สบู่ น้ำยาล้างจานมันเข้าไปอยู่ใต้แหวน ทำให้เกิดการระคายเคียง เพราะฉะนั้นเวลาล้างมือ ทำงานบ้าน ขยับแหวน นิดนึง ก็จะไม่เกิดผื่น และไม่ต้องพรากจากแหวน สุดรัก นะครับ
- 7 years' itch ไม่ได้มีความหมายเฉพาะเรื่องชีวิตคู่ ที่พออยู่กันไปนานๆ ทุกอย่าง ก็ดูขวางหู ขวางตา แต่อย่างเดียวนะครับ แต่ยังหมายรวมถึงอาการคัน จากบางโรค ที่ถ้าไม่นึกถึงก็ถูกมองข้ามไปได้ เช่น หิด .... คันแถวซอกนิ้ว รักแร้ สะดือ ในร่มผ้า .... คันมากตอนกลางคืน ... คัน ติดต่อกัน ในบ้าน คิดถึงหิดด้วยนะครับ ยิ่งผู้ใหญ่บางท่านที่นอนติดเตียง แล้ว คนดูแล พาเชื้อมาให้ ท่านอาจคันแล้วบอกไม่ได้ครับ
เรื่องเล่าจากหมอผิวหนังยังไม่จบง่าย ๆ ครับ ยังมีเกร็ดเล็ก ๆ น้อยๆ ที่น่าสนใจเกี่ยวกับความผิดปกติของผิวหนังในส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย อีกมากมายนะครับ หากต้องการสอบถามหรือสืบค้นข้อมูลเพิ่มเติม สามารถเข้าไปได้ที่เว็บไซต์ของสมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย http://www.dst.or.th/html/index.php หรือโปรดติดตามตอนต่อไปนะครับ