ADS


Breaking News

ทิศทางราคาน้้ามันและสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกเริ่มปรับตัวดีขึ้น ส่งผลส่งออกปี 59 ทรงตัวที่ 0% และคาดปี 60 โต 1-2%

     นายนพพร เทพสิทธา ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือ สภาผู้ส่งออก แถลงข่าวร่วมกับนายไพบูลย์ พลสุวรรณา ที่ปรึกษาคณะกรรมการและกรรมการสภาผู้ส่งออก นายวัลลภ วิตนากร รองประธานสภาผู้ส่งออกและนายคงฤทธิ์ จันทริก ผู้อำนวยการบริหารสภาผู้ส่งออก ถึงสถานการณ์ส่งออกในเดือนพฤศจิกายน 2559 ณ ห้องประชุม 1 สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย อาคารลุมพินีทาวเวอร์ ถนนพระราม 4 เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2559 ว่า การส่งออกเดือนพฤศจิกายน 2559 มีมูลค่า 18,911 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 10.19% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน (YoY) ขณะที่มูลค่าการส่งออกในรูปเงินบาทเท่ากับ 657,623.6 ล้านบาท ขยายตัว 9.24% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน (YoY) ส่งผลให้ภาพรวมการส่งออก 10 เดือนแรก มีมูลค่า 197,161.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัว -0.05%
     โดยมีปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการส่งออกไทยในเดือนพฤศจิกายนให้มีการเติบโตสูงสุดในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา ประกอบไปด้วย 1.ราคาทองคำในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นทะลุระดับ 1,300 เหรียญสหรัฐฯ ต่อออนซ์ ทำให้มีการส่งออกทองคำออกไปเป็นจำนวนมาก 2.ทิศทางราคาน้ำมันดิบและสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวสูงขึ้น หลายรายการ อาทิ ยางพารา ฝ้าย เหล็ก และสินแร่โลหะ เป็นต้น และ 3.ประเทศคู่ค้าสำคัญ อาทิ สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป เร่งเพิ่มปริมาณสินค้าคงคลังให้เพียงพอ สำหรับการขายในช่วงหลังเทศกาลคริสต์มาสและเตรียมความพร้อมก่อนเทศกาลตรุษจีนซึ่งจะเป็นช่วงหยุดยาวของหลายประเทศในแถบเอเชีย ซึ่งยืนยันด้วยทิศทางค่าระวางขนส่งสินค้าระยะสั้น (Spot Rate) ในระบบคอนเทนเนอร์ในเส้นทางเอเชีย-ยุโรป และเอเชีย-สหรัฐอเมริกา ที่มีการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นในช่วงเดือนพฤศจิกายนและต่อเนื่องต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ส่งผลให้สภาผู้ส่งออกปรับประมาณการการส่งออกปี 2559 ไว้ที่ทรงตัวหรือ 0%
     อนึ่ง สภาผู้ส่งออก ปรับคาดการณ์การเติบโตของการส่งออกปี 2560 ไว้ที่ 1-2% โดยคาดว่าการส่งออกของไทยจะได้รับปัจจัยบวกจาก 1. การฟื้นตัวของราคาน้ำมันดิบและราคาสินค้าโภคภัณฑ์หลักที่สำคัญในตลาดโลกต่อเนื่องจากปลายปี 2559 และ 2. การปรับตัวของผู้ส่งออกไทยต่อสภาพการแข่งขันที่เปลี่ยนแปลงไป อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การค้าระหว่างประเทศของโลกในปีหน้ายังคงมีปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ต้องเฝ้าระวัง และอาจส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการส่งออกของไทย อาทิ 1. สถานการณ์เศรษฐกิจโลกและการค้าระหว่างประเทศที่ยังคงเปราะบางและยังทรงตัวในระดับต่ำต่อเนื่อง ซึ่งแม้จะมีปัจจัยบวกจากความเชื่อมั่นผู้บริโภคและความเชื่อมั่นอุตสาหกรรม แต่ภาคธุรกิจยังมีความกังวลเกี่ยวกับกำลังซื้อที่แท้จริงของผู้บริโภคว่าจะดีขึ้นในทิศทางเดียวกันหรือไม่ 2. การออกมาตรการกีดกันทางการค้าทั้งด้านภาษีและมิใช่ภาษีเพื่อปกป้องอุตสาหกรรมภายในประเทศซึ่งอาจนำโดยสหรัฐอเมริกา และนำไปสู่การตอบโต้ในลักษณะเดียวกันโดยประเทศคู่ค้าอื่นๆ ซึ่งจะทำให้การค้าระหว่างประเทศ ในภาพรวมหดตัวลงในระยะยาว แต่จะทำให้การส่งออกของไทยได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2560 เป็นต้นไป 3. สถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศ ซึ่งมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้นในหลายภูมิภาคทั่วโลก ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ทางการค้าตามมาในวงกว้าง และ 4. ภัยธรรมชาติที่รุนแรงและบ่อยครั้งมากขึ้น ซึ่งเป็นเหมือนสัญญาณเตือนอันตรายครั้งใหญ่ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะชะงักงันในซัพพลายเชนของการค้าระหว่างประเทศ.


สรุปสถานการณ์ส่งออกของไทยประจำเดือนพฤศจิกายน 2559

     กระทรวงพาณิชย์ระบุ การส่งออกเดือนพฤศจิกายน 2559 มีมูลค่า 18,911ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 10.19% เมื่อ เทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน (YoY)ขณะที่มูลค่าการส่งออกในรูปเงินบาทเท่ากับ 657,623.6 ล้านบาท ขยายตัว 9.24% เมื่อเทียบ กับเดือนเดียวกันปีก่อน (YoY)ส่งผลให้ภาพรวมการส่งออก 10 เดือนแรกมีมูลค่า 197,161.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัว -0.05 %
สถานการณ์ส่งออกในกลุ่มสินค้าและตลาดส่งออกสำคัญ 10 อันดับแรก ในเดือน ม.ค.-พ.ย. 2559 ประกอบไปด้วย
     ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ว่า การส่งออกในเดือนธันวาคมจะขยายตัวต่อเนื่อง โดยทั้งปี 2559 คาดว่าจะขยายตัวอยู่ในช่วง -0.1% ถึง 0.2% โดยมีปัจจัยสนับสนุนประกอบไปด้วย 1. ราคาสินค้าเกษตรสำคัญมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะราคายางพาราและน้ำตาลทรายในตลาดโลก 2. มูลค่าการส่งออกสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมันมีทิศทางเพิ่มขึ้น ตาม แนวโน้มราคาน้ำมัน 3. ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงต่อเนื่อง หลังจาก FED ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงที่ผ่านมา 4. ผลการเลือกตั้ง สหรัฐฯ ไม่ส่งผลให้เกิดความผันผวนในตลาดเงินและตลาดทุนอย่างชัดเจน และ 5. ตลาด CLMV ยังขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะ อัญมณี เครื่องดื่ม และยานยนต์.