สรุปประเด็นแถลงข่าว กกร. โดยมี นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เป็นประธาน
ที่ประชุม กกร. มีความเห็นว่า แม้เศรษฐกิจไทยในช่วงโค้งสุดท้ายของปี 2559 อาจจะได้รับผลกระทบจากปัจจัยทั้งในและต่างประเทศ จนทำให้ในช่วงครึ่งปีหลังเศรษฐกิจไทยขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงเมื่อเทียบกับในช่วงครึ่งปีแรก อย่างไรก็ตาม ด้วยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ และเป็นช่วงฤดูกาลของการส่งมอบสินค้าตามคำสั่งซื้อสำหรับเทศกาลปลายปี จึงคาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2559 จะขยายตัวในกรอบ 3.3 - 3.5%
สำหรับในปี 2560 นั้น เศรษฐกิจไทยยังมีแนวโน้มเผชิญความท้าทายจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก ที่สำคัญ ได้แก่ 1) แนวนโยบายของรัฐบาลทรัมป์ โดยเฉพาะการทบทวนกรอบการค้าการลงทุนกับประเทศต่างๆ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อบรรยากาศการค้าการลงทุนของโลก 2) แนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ ภายใต้มุมมองเชิงบวกต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ และการปรับขึ้นของอัตราเงินเฟ้อ เนื่องจากนโยบายการคลังที่ผ่อนคลายของทางการสหรัฐฯ และ 3) ความเสี่ยงทางการเมืองในภูมิภาคยุโรป โดยในปี 2560 หลายประเทศในยุโรป อาทิ เนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมนี จะมีการเลือกตั้งทั่วไป ซึ่งต้องติดตามโฉมหน้าของรัฐบาลชุดใหม่ว่าจะสร้างความอ่อนไหวต่อเศรษฐกิจยุโรป ปัญหาภาคธนาคาร และค่าเงินยูโร มากน้อยเพียงใด
ท่ามกลางความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกดังกล่าว กกร. ยังคาดว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2560 ยังน่าจะสามารถฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง โดยมีแรงขับเคลื่อนที่สำคัญมาจากการใช้จ่ายและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหลายโครงการของภาครัฐ ซึ่งจะสนับสนุนความเชื่อมั่นและทำให้ภาคเอกชนมีการลงทุนตาม รวมทั้งการท่องเที่ยวที่คาดว่าจะขยายตัวอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ การทยอยปรับขึ้นของราคาน้ำมันในตลาดโลก น่าจะช่วยหนุนมูลค่าการส่งออกในกลุ่มสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน และผลักดันการส่งออกในภาพรวมให้สามารถพลิกกลับมาเป็นบวกได้ในปี 2560 โดยมองว่าการส่งออกอาจจะขยายตัว 0.0-2.0% ด้วยเหตุนี้ กกร.จึงยังคงกรอบประมาณอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2560 ไว้ที่ 3.5-4.0%
เศรษฐกิจภูมิภาคโดยรวมของแต่ละภูมิภาคในปัจจุบันและในอนาคต พบว่าเกือบทุกภาคเศรษฐกิจยังคงประสบปัญหาของการชะลอตัวลง เนื่องจากผลกำไรและยอดขายลดลง ขณะที่ต้นทุนธุรกิจไม่เปลี่ยนแปลง และราคาสินค้ายังคงเท่าเดิม ยอดคำสั่งซื้อลดลงอย่างต่อเนื่อง สำหรับช่วงเวลาที่จะมีการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจจะเกิดขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 2 และ 3 ของปี 2560 โดยผู้ประกอบการเห็นว่า ภาคเกษตรกรรมเป็นภาคเศรษฐกิจที่มีปัญหามากที่สุด
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเศรษฐกิจไทยในช่วงปลายปี 2559 จะได้รับผลกระทบจากปัจจัยทั้งในและต่างประเทศ แต่ยังมีแรงกระตุ้นจากภาครัฐอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณในเดือนตุลาคม ซึ่งเป็นเดือนแรกของปีงบประมาณ 2560 มีการเบิกจ่ายงบประมาณรวม 4.22 แสนล้านบาท (เพิ่มขึ้น 17.5%) นอกจากนี้ ยังออกมาตรการต่าง ๆ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ อาทิ 1. มาตรการโครงการเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ สำหรับจ่ายเงินแก่กลุ่มคนจนที่ไม่ใช่เกษตรกร 2. มาตรการลดหย่อนภาษีกระตุ้นท่องเที่ยว โดยให้นำค่าใช้จ่ายจากการท่องเที่ยว มาหักลดหย่อนภาษีได้ 30,000 บาท 3. มาตรการยกเว้นค่าธรรมเนียมวีซ่าและลดค่าธรรมเนียมวีซ่า ณ ช่องทางอนุญาตของด่านตรวจคนเข้าเมือง และ 4. มาตรการลดหย่อนภาษีกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอย หรือ “ช็อปช่วยชาติ” หากรวมมาตรการต่าง ๆ จะทำให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจประมาณ 30,000 – 40,000 ล้านบาท
แนวทางการสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจภายในประเทศ ให้มีความเข้มแข็งและสามารถรับมือกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกในอนาคตได้ ในช่วงเดือน ม.ค.2560 รัฐบาลจะออกพันธบัตร วงเงิน 1 แสนล้านบาทโดยเป็นการ ระดมทุนจากสภาพคล่องที่มีอยู่ภายในประเทศเพื่อนำวงเงินที่ได้ไปใช้จัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมให้กับกลุ่มจังหวัดทั้ง 18 กลุ่มจังหวัด กลุ่มละ 5-6 พันล้านบาท เพื่อให้กลุ่มจังหวัดนำไปใช้ทำโครงการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่ต่างๆทั่วประเทศในช่วงเวลาระหว่างเดือน ก.พ. - ก.ย. 2560 ซึ่งคาดว่าจะสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจเติบโตเพิ่มอีก 0.5 %
นโยบายดังกล่าว มุ่งเน้นการดำเนินการแบบประชารัฐ เป็นแนวทางการสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจภายในประเทศ (ประชารัฐ สร้างไทย) โดยให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม (รัฐ เอกชน ท้องถิ่น ประชาสังคม) ในการจัดทำแผนพัฒนากลุ่มจังหวัด เพื่อให้การกระจายงบประมาณลงสู่กลุ่มจังหวัดอย่างมีประสิทธิภาพ และบรรลุเป้าหมายของการสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจภายในประเทศ
สำหรับหลักการสำคัญของแผน คือ ต้องสอดคล้องกับ วิสัยทัศน์ประเทศ “มั่นคง มั่งคั่ง และ ยั่งยืน” ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนพัฒนาฯฉบับที่ 12 เป้าหมาย Thailand 4.0 โดยยกระดับจังหวัดเป็น 4.0 นโยบายสำคัญของรัฐบาล และอัตลักษณ์และศักยภาพของพื้นที่
ทั้งนี้ จะมีการจัดทำ Workshop ในส่วนกลาง และมอบหมายให้แต่ละกลุ่มจังหวัดจัดทำรายละเอียดโครงการ เพื่อนำเสนอต่อ ครม.ให้ความเห็นชอบแผนดังกล่าว ก่อนนำเสนอเป็นร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม และมีผลบังคับใช้ต่อไป โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2560
การทำธุรกรรมกับประเทศอิหร่าน ตามที่สหรัฐอเมริกาได้ประกาศยกเลิกการคว่ำบาตรต่อประเทศอิหร่านเมื่อเดือนมกราคม 2559 โดยอนุญาตให้บุคคลที่ไม่ได้ถือสัญชาติอเมริกันสามารถทำธุรกรรมทางการค้ากับบุคคลสัญชาติอิหร่านได้ แต่ในทางปฏิบัติยังไม่เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม โดยธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทยกับธนาคารตัวกลางที่เชื่อมโยงธุรกรรมระหว่างไทย และ อิหร่าน ยังไม่สามารถให้บริการด้านการชำระเงินได้อย่างเป็นปกติ เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ รวมถึงธุรกิจประกันภัยของไทยยังไม่สามารถออกกรมธรรม์คุ้มครองสินค้าที่นำเข้า-ส่งออกกับประเทศอิหร่านได้
อย่างไรก็ตาม เพื่อไม่ให้เป็นการสูญเสียโอกาสทางธุรกิจ ผู้ประกอบการจึงหาแนวทางแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง เช่น ใช้วิธีชำระเงินผ่านตัวแทนที่อยู่นอกประเทศอิหร่าน รวมทั้งต้องหาบริษัทประกันภัยต่างชาติในการคุ้มครองการขนส่งสินค้า ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีต้นทุนค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น การชำระเงินเกิดความล่าช้า และเกิดความเสี่ยงเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการค้าอย่างมาก
ที่ประชุม กกร. จึงเสนอให้ธนาคารแห่งประเทศไทยควรกำหนดแนวทางที่ชัดเจนในการดำเนินธุรกรรมกับประเทศอิหร่านให้แก่ธนาคารพาณิชย์ในไทย เพื่อธนาคารพาณิชย์จะได้นำแนวทางไปศึกษาถึงช่องทางในการดำเนินการต่อไป