ผลสำรวจเบาหวานเผยคนไทยกว่า 2 ล้านคน ไม่รู้ตัวว่าป่วย ปล่อยละเลย เสี่ยงตายปีละ 7 หมื่นกว่าคน แพทย์แนะให้ใส่ใจหมั่นติดตามระดับน้ำตาลในเลือด ทั้งก่อนและหลังทานอาหาร
นักแสดงสาว ไอซ์-ณพัชรินทร์ ไพบูลย์รัตนกิจ ร่วมแชร์ประสบการณ์ในฐานะผู้ดูแลผู้เป็นเบาหวาน
นายสมศักดิ์ กวีไตรภพ หัวหน้าหน่วยธุรกิจผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับการดูแลเบาหวาน ประเทศไทย บริษัท โรช ไดแอกโนสติกส์ (ประเทศไทย) จำกัด (ซ้าย) เปิดตัว “เครื่องตรวจระดับน้ำตาลในเลือดด้วยตนเอง” ที่มาพร้อมฟังก์ชั่นเสริม “แอปพลิเคชั่นแสดงผลค่าน้ำตาล” เพื่อนำไปสู่แนวทางการรักษาอันเกิดประสิทธิผลสูงสุดแก่ผู้เป็นเบาหวาน โดยมีนายแพทย์เอกลักษณ์ วโนทยาโรจน์ จากศูนย์โรคเบาหวานและไทรอยด์ โรงพยาบาลเทพธารินทร์ (ขวา) ให้ความรู้เกี่ยวกับโรคเบาหวาน และไอซ์-ณพัชรินทร์ ไพบูลย์รัตนกิจ ลูกสาวคนสวย ของดาราตลกชื่อดัง ขวัญใจชาวไทย “ค่อม ชวนชื่น” ผู้เป็นเบาหวาน ร่วมแชร์ประสบการณ์ในฐานะผู้ดูแล
กรุงเทพฯ, 2 ธันวาคม 2559 – บริษัท โรช ไดแอกโนสติกส์ (ประเทศไทย) จำกัด หน่วยธุรกิจผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับการดูแลเบาหวาน หนึ่งในบริษัทชั้นนำด้านเวชภัณฑ์ของโลก ได้จัดงาน “สู้กับโรคเบาหวานอย่างเท่าทัน หมั่นติดตามระดับน้ำตาลอย่างสม่ำเสมอ” โดยได้รับเกียรติจาก นายแพทย์เอกลักษณ์ วโนทยาโรจน์ จากศูนย์โรคเบาหวานและไทรอยด์ โรงพยาบาลเทพธารินทร์ ให้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์โรคเบาหวานในปัจจุบัน รวมถึงวิธีการปฏิบัติดูแลตนเองของผู้เป็นเบาหวาน และแนวทางใหม่ในการรักษาโรค โดยใช้นวัตกรรมที่ผู้เป็นเบาหวานสามารถนำมาใช้ดูแลตนเองได้ ด้วย “เครื่องตรวจระดับน้ำตาลในเลือดด้วยตนเอง” และ “แอปพลิเคชั่นแสดงผลค่าน้ำตาล” เพื่อนำไปสู่แนวทางการรักษาอันเกิดประสิทธิผลสูงสุดแก่ผู้เป็นเบาหวาน ภายในงาน ยังมีนักแสดงสาว ไอซ์-ณพัชรินทร์ ไพบูลย์รัตนกิจ ลูกสาวคนสวยของดาราตลกชื่อดัง ขวัญใจชาวไทย “ค่อม ชวนชื่น” ผู้เป็นเบาหวาน ร่วมแชร์ประสบการณ์ในฐานะผู้ดูแล
นายแพทย์เอกลักษณ์ วโนทยาโรจน์ จากศูนย์โรคเบาหวานและไทรอยด์ โรงพยาบาลเทพธารินทร์ กล่าวว่า “จากข้อมูลที่รวบรวมโดยสมาพันธ์เบาหวานนานาชาติ (International Diabetes Federation – IDF) เมื่อเดือนธันวาคมปี พ.ศ. 2558 พบว่า มีจำนวนผู้เป็นเบาหวานทั่วโลกกว่า 415 ล้านคน และจะเพิ่มขึ้นไปถึง 600 กว่าล้านคน ในอีก 20 ปีข้างหน้า โดยเอเชียเป็นหนึ่งทวีปที่มีคนเป็นเบาหวานมากที่สุดในโลก สำหรับประเทศไทย มีผู้เป็นเบาหวานจำนวนถึง 4,025,100 ราย และในจำนวนนี้มีผู้เป็นเบาหวาน ซึ่งไม่รู้ตัวว่าตนเองเป็น อยู่ประมาณ 2 ล้านคน ซึ่งหมายความว่า ปัจจุบันผู้เป็นเบาหวานที่รักษาอยู่ในโรงพยาบาลมีอยู่แค่ครึ่งเดียว ในขณะที่อีกครึ่งหนึ่งไม่รู้ตัวว่าเป็นเบาหวาน จึงทำให้ไม่ได้รับการรักษา ส่งผลให้ผู้ป่วยเหล่านี้ รอจนเกิดโรคแทรกซ้อน ถึงจะเริ่มเข้าสู่กระบวนการรักษา ปัจจุบันพบว่า มีอัตราผู้เสียชีวิต อันเนื่องมาจากโรคเบาหวานมากถึงปีละเกือบ 76,000 คน และจากรายงานยังพบว่า เด็กอายุเพียงแค่ 5 ขวบ ก็ป่วยเป็นโรคหลอดเลือดสมองตีบ เพราะเบาหวานแล้ว”
โรคเบาหวานเกิดจากสาเหตุหลักสองประการ คือ เกิดจากกรรมพันธุ์และการใช้ชีวิตที่ขาดสมดุล โดยเฉพาะการรับประทานอาหารที่ไม่เหมาะสม และขาดการออกกำลังกาย เมื่อเป็นโรคเบาหวานแล้ว บางคนยังไม่ทราบว่าการรักษาต้องมีการติดตามระดับน้ำตาลในเลือดด้วยตนเองอย่างสม่ำเสมอ “คนส่วนใหญ่คิดว่าการเจาะเลือดเป็นเรื่องที่ยุ่งยากเลยไม่ได้เจาะเลือด หรือคนที่เจาะเลือดอยู่แล้วมักเลือกเจาะแต่ตอนเช้าเพียงอย่างเดียว พอเห็นค่าออกมาปกติ ก็ไม่ได้ติดตามค่าน้ำตาลหลังมื้ออาหารในวันนั้นอีก แต่พอวันรุ่งขึ้นพบว่าระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ ก็ค่อยมาคุมอาหาร ซึ่งเป็นการดูแลที่ปลายเหตุ แต่การตรวจระดับน้ำตาลในเลือดที่แนะนำ คือ การตรวจเลือดทั้งก่อนและหลังรับประทานอาหาร เพราะจะได้รู้ว่าค่าน้ำตาลที่สูงนั้น มีเป็นผลมาจากอาหารชนิดใดที่รับประทานเข้าไปหรือไม่ ทำให้ผู้เป็นเบาหวานระวังตัวดีขึ้น และไม่รับประทานชนิดนั้นๆ อีก หรือต้องลดปริมาณลงในครั้งต่อไป ซึ่งจะเป็นการควบคุมน้ำตาลที่มีประสิทธิภาพมากกว่า” นายแพทย์เอกลักษณ์ กล่าว
ด้านนักแสดงสาว ไอซ์-ณพัชรินทร์ ไพบูลย์รัตนกิจ ในฐานะผู้ดูแลคุณพ่อ “ค่อม ชวนชื่น” ซึ่งเป็นโรคเบาหวานได้ร่วมแชร์ประสบการณ์ตรงว่า “ที่ผ่านมา คุณพ่อจะไม่ได้เช็คค่าน้ำตาลทุกวันค่ะ จะไปตรวจค่าน้ำตาลที่โรงพยาบาลตามนัดเท่านั้น ทุกวันก็จะใช้วิธีควบคุมอาหารเป็นหลัก พยายามไม่ให้คุณพ่อทานของหวานหรือแป้งมากเกินไป แต่หลังจากที่ลองตรวจระดับน้ำตาลในเลือดด้วยตนเองทั้งก่อนและหลังอาหาร ตามคำแนะนำของคุณหมอ พบว่ามีประโยชน์มากๆ เลยค่ะ เพราะทำให้คุณพ่อสามารถรู้ค่าน้ำตาลจากอาหารที่รับประทานเข้าไป ถ้าค่าน้ำตาลสูงหรือต่ำกว่าค่าเป้าหมายที่คุณหมอแนะนำ เครื่องตรวจก็จะแสดงผลให้เห็นทันที ทำให้สมาชิกในบ้านช่วยกันระวังเรื่องอาหารได้ดียิ่งขึ้น”
นายแพทย์เอกลักษณ์ วโนทยาโรจน์ ให้ข้อมูลถึงการดูแลรักษาโรคเบาหวานว่า หัวใจสำคัญที่สุด คือ “วินัยในการดูแลตนเอง” ด้วยการหมั่นติดตามระดับน้ำตาลในเลือดด้วยตนเองอย่างสม่ำเสมอ และการจดบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับอาหารที่รับประทานในแต่ละมื้อ เพื่อจะได้รู้ถึงที่มาของค่าน้ำตาลในเลือด และยังช่วยเป็นแนวทางในการตัดสินใจในการเลือกรับประทานอาหารในมื้อต่อไป
นายแพทย์เอกลักษณ์ ยังได้เผยแนวทางการรักษาใหม่ที่กำลังเป็นที่นิยมในทวีปยุโรปและอเมริกาว่า “การดูแลรักษาตนเองของผู้เป็นเบาหวานที่ดีที่สุดนั้น คือ การส่งเสริมให้ผู้เป็นเบาหวานมีศักยภาพในการดูแลตนเอง และการสอนให้ผู้เป็นเบาหวานติดตามระดับน้ำตาลด้วยตนเองอย่างสม่ำเสมอและแปรผลน้ำตาลได้ด้วยตนเอง ซึ่งตรงนี้เป็นการส่งเสริมให้ผู้เป็นเบาหวานมีศักยภาพในการดูแลตนเองอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ แนวทางการรักษาจากองค์กรระดับโลกต่างๆ ทั้ง สหพันธ์เบาหวานนานาชาติ (International Diabetes Federation, IDF) และ สมาคมโรคเบาหวานสหรัฐอเมริกา (American Diabetes. Association; ADA) ต่างให้คำแนะนำว่าผู้เป็นเบาหวานควรจะทำการตรวจระดับน้ำตาลในเลือดด้วยตัวเองอย่างสม่ำเสมอ (Self – Monitoring of Blood Glucose) ทั้งก่อนและหลังอาหาร เพื่อจะได้ทราบถึงที่มาของค่าน้ำตาลจากอาหารที่รับประทานเข้าไปและเป็นแนวทางในการเลือกรับประทานอาหารในแต่ละมื้อ ทำให้สามารถคุมเบาหวานได้อย่างมีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น และเมื่อถึงเวลาตรวจตามนัด แพทย์จะทำการตรวจน้ำตาลแบบ A1C เพื่อนำมาประเมินควบคู่กับผลตรวจรายวันของผู้เป็นเบาหวาน ก็จะได้ค่าเฉลี่ยของระดับน้ำตาลที่แม่นยำยิ่งขึ้น”
แต่ปัจจุบัน ผู้เป็นเบาหวานที่เจาะเลือดทุกวันจะต้องทำการบันทึกค่าน้ำตาลและอาหารที่รับประทานในแต่ละมื้อในสมุดบันทึก ซึ่งการจัดเก็บข้อมูลยังคงมีความยุ่งยากและอาจสูญหายได้ง่าย ด้วยเหตุนี้ บริษัท โรช ไดแอกโนสติกส์ (ประเทศไทย) จำกัด หน่วยธุรกิจผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับการดูแลเบาหวาน จึงได้พัฒนา ‘เครื่องตรวจระดับน้ำตาลในเลือด’ ที่ช่วยให้การใช้งานในทุกๆ วันของผู้เป็นเบาหวานง่ายขึ้น ด้วยฟังก์ชั่นเสริมที่ผู้เป็นเบาหวานสามารถเลือกที่จะถ่ายโอนข้อมูลค่าน้ำตาลไปยัง ‘แอปพลิเคชันแสดงผลค่าน้ำตาล’ ผ่านระบบบลูทูธ เพื่อให้การดูแลโรคเบาหวานของผู้ป่วยสะดวกและง่ายดายขึ้น
นายสมศักดิ์
กวีไตรภพ หัวหน้าหน่วยธุรกิจผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับการดูแลเบาหวาน ประเทศไทย
บริษัท โรช ไดแอกโนสติกส์ (ประเทศไทย) จำกัด ให้ข้อมูลเกี่ยวกับ
เครื่องตรวจระดับน้ำตาลในเลือดด้วยตนเอง รุ่นใหม่ “Accu-Chek Guide” และ
แอปพลิเคชั่นแสดงผลค่าน้ำตาล “Accu-Chek Connect” ที่ได้พัฒนาขึ้น
เพื่อให้ผู้เป็นเบาหวานสามารถดูแลตนเองได้ง่ายขึ้น
และใช้ชีวิตอยู่กับเบาหวานได้อย่างมีความสุข
“เมื่อผู้เป็นเบาหวานใช้เครื่องตรวจระดับน้ำตาลในเลือดด้วยตนเองเสร็จแล้ว ข้อมูลจากเครื่องตรวจระดับน้ำตาลจะถูกถ่ายโอนไปยังแอปพลิเคชันบนมือถือทันที ช่วยลดปัญหาความยุ่งยากในการจดบันทึกข้อมูล ทั้งยังสามารถเรียกดูข้อมูลได้ทุกที่ทุกเวลา นอกจากนี้ แอปพลิเคชันยังมีฟีเจอร์การใช้งานที่หลากหลาย อาทิ ผู้เป็นเบาหวานสามารถดูภาพรวมของข้อมูลระดับน้ำตาลในหลายรูปแบบ เช่น ตาราง กราฟ ทั้งยังแสดงให้เห็นภาพรวมว่า มีระดับน้ำตาลที่สูงหรือต่ำกว่าค่าเป้าหมาย ทั้งนี้ผู้เป็นเบาหวานยังสามารถใช้แอปพลิเคชันถ่ายภาพอาหาร พร้อมอัพโหลดภาพอาหารที่รับประทานในแต่ละมื้อเพื่อช่วยจดจำว่ารับประทานอาหารชนิดใดเข้าไป ข้อมูลเหล่านี้ ผู้เป็นเบาหวานสามารถนำมาวิเคราะห์และประเมินผลการดูแลระดับน้ำตาลทั้งก่อนและหลังอาหารร่วมกับทีมแพทย์และนักโภชนาการได้อย่างสะดวกสบายและง่ายดายยิ่งขึ้น ช่วยให้แพทย์วินิจฉัยแนวทางการรักษาได้แม่นยำยิ่งขึ้น” คุณสมศักดิ์ กวีไตรภพ หัวหน้าหน่วยธุรกิจผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับการดูแลเบาหวาน ประเทศไทย บริษัท โรช ไดแอกโนสติกส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าว
ไอซ์-ณพัชรินทร์ ไพบูลย์รัตนกิจ ร่วมแชร์ประสบการณ์วิธีการดูแลคุณพ่อ “ค่อม ชวนชื่น”
ไอซ์กล่าวเสริมว่า “นอกจากเรื่องข้อมูลที่เป็นประโยชน์ที่ได้จากเครื่องตรวจระดับน้ำตาลในเลือดด้วยตนเองแล้ว ต้องบอกว่าไอซ์ชอบเรื่องความสะดวกสบายมากๆ ค่ะ เพราะเครื่องมือตรวจระดับน้ำตาลในเลือดได้ถูกออกแบบให้ใช้งานง่าย ข้อมูลทุกอย่างถูกบันทึกไว้ในตัวเครื่อง และคุณพ่อยังสามารถส่ง SMS แจ้งผลน้ำตาล มายังมือถือไอซ์ได้ แม้ว่าไอซ์จะไม่ได้อยู่กับคุณพ่อตลอด แต่ก็สามารถรู้ค่าน้ำตาลในเลือดของคุณพ่อได้ พอมีอะไรเราก็โทรคุยกับคุณพ่อหรือคุณแม่ได้ทันที ทำให้สมาชิกในบ้านรู้สึกอุ่นใจในการดูแลคุณพ่อขึ้นมากจริงๆ ค่ะ”
ก่อนจะจบงาน นายแพทย์เอกลักษณ์ ยังได้แชร์เคล็ดลับวิธีการรับประทานอาหารสำหรับผู้เป็นเบาหวานและคนทั่วไป เพื่อให้ห่างไกลจากโรคเบาหวานว่า “ไม่ควรบริโภคแป้งและน้ำตาลมากเกินไป เพราะแป้งส่วนเกินจะถูกแปรสภาพกลายเป็นสารไกลโคเจนหรือไขมัน ทำให้เกิดภาวะน้ำหนักเกิน เกิดภาวะอ้วนและอ้วนลงพุง ซึ่งปัญหาตรงนี้ทำให้เกิดระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น และมีน้ำตาลตกค้างในกระแสเลือดมากเกินไป ทำให้หลอดเลือดอักเสบเสียหายจนเกิดโรคต่างๆตามมาอีกมากมาย นอกจากนี้ วิธีการปรุงอาหารที่ถูกต้อง นอกจากจะช่วยรักษาคุณค่าทางโภชนาการยังดีต่อสุขภาพในระยะยาวด้วย เช่น การต้ม นึ่ง ย่าง ซึ่งดีกว่าการทอด ที่สำคัญเวลาปรุงก็ต้องไม่เน้นรสชาติทางใดทางหนึ่งจนเกินไป เช่น หวานจัด เค็มจัด นอกจากนี้ ผู้เป็นเบาหวานควรรับประทานอาหารที่หลากหลาย เน้นทานผักและควบคุมปริมาณผลไม้ให้พอดี”
เครื่องตรวจระดับน้ำตาลในเลือดด้วยตนเอง รุ่นใหม่ Accu-Chek Guide ที่มาพร้อมฟังก์ชั่นเสริม แอปพลิเคชั่นแสดงผลค่าน้ำตาล Accu-Chek Connect
วิธีการทำงานของเครื่องตรวจระดับน้ำตาลในเลือดด้วยตนเอง รุ่นใหม่ Accu-Chek Guide ที่มาพร้อมฟังก์ชั่นเสริม แอปพลิเคชั่นแสดงผลค่าน้ำตาล Accu-Chek Connect