เครือข่ายลดบริโภคเค็มร่วมกับสสส.ประกาศลดการบริโภคโซเดียมของไทย
“มิติใหม่การลดบริโภคเค็มกับอนาคตของสังคมไทย”
เครือข่ายลดบริโภคเค็มร่วมกับสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกันเปิด “มิติใหม่การลดบริโภคเค็มกับอนาคตของสังคมไทย” ในโอกาสครบรอบ 4 ปีของเครือข่ายลดบริโภคเค็ม เผยความสำเร็จโครงการงานวิจัย 4 โครงการเด่น ประจำปี 2559 ประกอบด้วย 1. โครงการขับเคลื่อนเพื่อลดการบริโภคโซเดียมของคนไทยผ่านการอ่านฉลาก 2. โครงการ Food Safety Forum : ลดเกลือโซเดียมในผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูป 3. โครงการการผลิตเครื่องตรวจสอบความเค็มในตัวอย่างอาหารและปัสสาวะเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพของประชาชนทั่วไป และ4. โครงการ การสร้างฐานข้อมูลวัตถุดิบอาหารและเครื่องปรุงรส : อาหารท้องถิ่นภาคต่าง ๆ และอาหารที่นิยมทั่วไป โดยทั้ง 4 โครงการจะมีส่วนช่วยให้สังคมไทยหันมาใส่ใจปัญหาการบริโภคเค็มมากยิ่งขึ้น
ผศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ ประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม เปิดเผยการทำงานของเครือข่ายลดบริโภคเค็มตลอดปี 2559 ว่า จากการที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนการสร้างเสริมสุขภาพหรือสสส.ในการรณรงค์เพื่อปรับพฤติกรรมการบริโภคเค็ม (โซเดียม) ของประชาชนอย่างต่อเนื่อง และมุ่งเน้นให้ประชาชนเกิดความตระหนักถึงพิษภัยของการรับประทานเค็ม ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคต่าง ๆ มากมายเป็นปีที่ 4 โดยเครือข่ายลดบริโภคเค็มได้พัฒนางานวิจัยต่าง ๆ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคและสังคมอย่างเป็นรูปธรรม ประกอบด้วย 4 โครงการเด่น ได้แก่ 1. โครงการขับเคลื่อนเพื่อลดการบริโภคโซเดียมของคนไทยผ่านการอ่านฉลาก 2. โครงการ Food Safety Forum : ลดเกลือโซเดียมในผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูป 3. โครงการการผลิตเครื่องตรวจสอบความเค็มในตัวอย่างอาหารและปัสสาวะเพื่อลดปัจจัยเสี่ยง 4. โครงการการสร้างฐานข้อมูลวัตถุดิบอาหารและเครื่องปรุงรส : อาหารท้องถิ่นภาคต่าง ๆ และอาหารที่นิยมทั่วไป โดยทั้ง 4 โครงการจะช่วยให้สังคมไทยหันมาใส่ใจปัญหาการบริโภคเค็มมากขึ้น และให้ความสำคัญเกี่ยวกับการบริโภคเกลือ (โซเดียม) ปริมาณมาก ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง
ผศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาเครือข่ายลดบริโภคเค็มรณรงค์และให้ความรู้ประชาชนผ่านสื่อโทรทัศน์ วิทยุ สิ่งพิมพ์ และสื่อออนไลน์อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากการบริโภคเค็มยังคงเป็นสาเหตุสำคัญของโรคไม่ติดต่อเรื้อรังหรือโรคเรื้อรัง โดยเฉพาะโรคหลอดเลือดหัวใจ หลอดเลือดสมอง ไต มะเร็ง เบาหวาน และความดัน ซึ่งเป็นภาวะวิกฤตระดับโลกทั้งในปัจจุบันและอนาคต ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) พบว่าในปี 2548 ร้อยละ 60 ของการเสียชีวิตทั้งหมดของโลกเกิดจากโรคเรื้อรัง และกว่าครึ่งของจำนวนนี้เสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือด นอกจากนั้น WHO ยังระบุว่าภาระโรค (Burden of disease) มากกว่าครึ่งเกิดจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง และร้อยละ 30 ของภาระโรคในกลุ่มนี้เกิดจากโรคหัวใจและหลอดเลือด ดังนั้นโรคไม่ติดต่อเรื้อรังไม่ได้จำกัดอยู่ที่ประเทศพัฒนาแล้วเท่านั้น แต่เป็นปัญหาที่สำคัญต่อประเทศกำลังพัฒนาทั้งในปัจจุบันและอนาคต ซึ่งส่งผลต่อภาระในระบบบริการสุขภาพ การพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคม การสูญเสียของประชากรก่อนวัยอันควร นอกจากนี้กระทรวงสาธารณสุขยังมีนโยบายให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนงานตามยุทธศาสตร์สุขภาพดีวิถีชีวิตไทย (2550-2559) ซึ่งกำหนดเป้าหมายหลักในการลดปัญหาโรควิถีชีวิตที่สำคัญ 5 โรค คือ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หัวใจขาดเลือด หลอดเลือดสมองและมะเร็ง
ด้านรศ.นพ.เกรียงศักดิ์ วารีแสงทิพย์ นายกสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สถานการณ์โรคไตในปัจจุบันกำลังเป็นปัญหาใหญ่ระดับโลก จากข้อมูลพบว่าคนไทยป่วยเป็นโรคไตติดอันดับ 3 ของอาเซียน รองจากมาเลเซียและสิงคโปร์ สาเหตุส่วนใหญ่ร้อยละ 70 เกิดจากเบาหวานและความดันโลหิตสูง ซึ่งมีสถิติผู้ป่วยรวมเกือบ 15 ล้านคน ผลที่ตามมาคือมีภาวะไตเสื่อมและไตเสื่อมเร็วขึ้น จัดว่าเป็นมหันตภัยเงียบที่น่ากลัวเป็นอย่างมาก เพราะผู้ป่วยจะไม่ทราบว่าตนป่วยเป็นโรค กว่าจะรู้ตัวว่าป่วยก็สายเกินแก้แล้ว นอกจากนี้ยังต้องรักษาอย่างต่อเนื่องจนกว่าผู้ป่วยจะได้รับการผ่าตัดปลูกถ่ายไตหรือเสียชีวิต จึงมีค่าใช้จ่ายสูง โดยใช้งบประมาณในการบำบัดทดแทนไตในสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ากว่า 6,000 ล้านบาทต่อปี และต้องใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นทุกปี
โรคกลุ่มนี้เกิดจากพฤติกรรมการบริโภคที่ไม่ถูกต้อง รับประทานอาหารรสเค็มหรืออาหารที่มีส่วนประกอบของโซเดียมเป็นประจำโดยไม่รู้ตัว คือ บริโภคอาหารที่มีเกลือหรือโซเดียมสูงกว่าที่ WHO แนะนำว่า ควรบริโภคโซเดียม 2,000 มก.ต่อวัน รวมทั้งพฤติกรรมนิยมบริโภคอาหารจานด่วน อาหารสำเร็จรูปแช่แข็ง อาหารกึ่งสำเร็จรูป และอาหารที่ปรุงโดยคำนึงถึงแต่รสชาติแต่ไม่คำนึงถึงสุขภาพผู้บริโภค ดังนั้นทางที่ดีที่สุดคือการป้องกันโรคไต หรือรู้ตัวตั้งแต่เป็นระยะเริ่มแรกนั่นเอง และถ้าป่วยเป็นโรคไตแล้ว ก็ควรรับยาที่เหมาะสม ควบคุมอาหาร และออกกำลังกายอย่างถูกต้อง
ด้านดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่าในปัจจุบันหลายประเทศทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยได้มีการรณรงค์ลดบริโภคเค็มหรือลดโซเดียม เพื่อให้ประชาชนเกิดความตระหนักถึงอันตรายของการบริโภคอาหารโซเดียมสูง โดยตลอดหลายปีที่ผ่านมาสสส. ได้ร่วมมือกับทุกภาคส่วนเพื่อให้คนไทยมีสุขภาพดีอย่างต่อเนื่อง ส่วนใหญ่ประชาชนมักจะบริโภคโซเดียมเข้าไปโดยไม่รู้ตัว เพราะโซเดียมไม่ได้มีรสเค็มจัดอย่างเกลือ แต่อยู่ในรูปแบบเครื่องปรุงรส จำพวกผงชูรส ผงปรุงรส ซุปก้อน ผงฟูที่ใช้ทำขนมปัง สารกันบูดซึ่งพบได้ในอาหารและเครื่องดื่ม รวมถึงในอาหารตามธรรมชาติ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง โดยเฉพาะโรคความดันโลหิตสูง ไต หลอดเลือดหัวใจ หลอดเลือดสมอง ดังนั้นการรณรงค์เรื่องนี้จึงมีเป้าหมายในการสนับสนุนและส่งเสริมให้คนไทยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคอาหาร รวมทั้งลดปริมาณโซเดียมในอาหารสำเร็จรูป ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความนิยมและเอื้ออำนวยต่อวิถีชีวิตประจำวัน เพื่อให้ประชาชนมีทางเลือกในการบริโภคอาหารที่ดีมีคุณภาพมากขึ้น
ด้านนายอารยะ โรจนวณิชชากร หัวหน้าโครงการรณรงค์ลดการบริโภคโซเดียมผ่านการอ่านฉลาก ที่ปรึกษาหน่วยเคลื่อนที่เพื่อความปลอดภัยด้านอาหาร สำนักอาหาร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่าปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปหลากหลายรูปแบบที่ตอบสนองต่อผู้บริโภคจำหน่ายในท้องตลาด ด้วยความหลากหลายของผลิตภัณฑ์อาหารทำให้ผู้บริโภคส่วนใหญ่มองข้ามส่วนประกอบที่สำคัญ คือ โซเดียม ที่เป็นส่วนประกอบในการแต่งรส หากมีการบริโภคในปริมาณที่มากเกินความจำเป็นจะทำให้เกิดผลข้างเคียงต่อร่างกาย นำมาซึ่งโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง คือ โรคไต และภาวะความดันโลหิตสูง
ด้วยเหตุนี้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ในฐานะที่เป็นหน่วยงานกำกับดูแลผู้ประกอบการและความปลอดภัยของผู้บริโภค ได้ร่วมมือกับเครือข่ายลดบริโภคเค็มและภาคเอกชน จัดทำโครงการขับเคลื่อนเพื่อลดการบริโภคโซเดียมของคนไทยผ่านการอ่านฉลาก เพื่อขับเคลื่อนให้มีการผลิตผลิตภัณฑ์อาหารที่มีการปรับลดความเค็มที่ดีต่อสุขภาพจำหน่ายในท้องตลาด มีการกล่าวอ้างหรือการแสดงข้อมูลทางโภชนาการที่ถูกต้อง เพื่อให้ผู้บริโภคใช้เป็นข้อมูลในการตัดสินใจเลือกซื้อเลือกบริโภคผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมกับสภาวะของร่างกาย โดยได้ดำเนินการสำรวจสถานการณ์การแสดงข้อมูลโภชนาการและปริมาณโซเดียมบนฉลากอาหารในผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปที่พร้อมบริโภคทันทีปี 2555-2558 ซึ่งจากผลการสำรวจ พบว่า เมื่อแบ่งช่วงปริมาณโซเดียมตามคำแนะนำของนักโภชนาการ คือ อาหารว่างควรมีปริมาณโซเดียมไม่เกิน 100 มก.ต่อหนึ่งหน่วยบริโภค และอาหารที่รับประทานเป็นมื้อหลักควรมีปริมาณโซเดียมไม่เกิน 600 มก.ต่อหนึ่งหน่วยบริโภค พบว่าขนมขบเคี้ยว เครื่องดื่ม และอาหารกึ่งสำเร็จรูป/อาหารแช่เย็นแช่แข็ง มีปริมาณโซเดียมเกินเกณฑ์
กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารที่มีปริมาณโซเดียมสูงที่สุดคือ กลุ่มอาหารกึ่งสำเร็จรูปโดยเฉพาะผลิตภัณฑ์บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป มีปริมาณโซเดียม 2,440 มิลลิกรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค ซึ่งถือว่ามีปริมาณโซเดียมมากเกินความเหมาะสม สำหรับการกล่าวอ้างเกี่ยวกับโซเดียมพบว่า มีผลิตภัณฑ์เครื่องปรุงรสจำนวน 24 ผลิตภัณฑ์ โดยในปี 2558 มีผลิตภัณฑ์ที่มีการกล่าวอ้างปริมาณโซเดียม เพิ่มจากปี 2555 จำนวน 9 ผลิตภัณฑ์ และมีการปรับปรุงฉลากถูกต้องแล้วจำนวน 1 ผลิตภัณฑ์ โดยใช้ข้อความ เช่น “ลดโซเดียม 40%” และโซเดียมน้อย เป็นต้น
เพื่อเป็นการผลักดันให้ผู้ประกอบการมีการแสดงฉลากโภชนาการที่ถูกต้องตามกฎหมาย และส่งเสริมให้ผู้บริโภคตัดสินใจเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีโซเดียมในปริมาณที่เหมาะสม โดยการรับข้อมูลผ่านฉลากอาหาร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา จึงได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 374) พ.ศ. 2559 เรื่อง อาหารที่ต้องแสดงฉลากโภชนาการ และค่าพลังงาน น้ำตาลไขมัน และโซเดียมแบบจีดีเอ เพื่อขยายกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่มีการบังคับให้แสดงฉลากโภชนาการควบคู่กับฉลากโภชนาการรูปแบบ GDA โดยขยายการบังคับในอาหาร 5 กลุ่ม ได้แก่ 1) อาหารขบเคี้ยว 2) ช็อกโกแลต และผลิตภัณฑ์ในทำนองเดียวกัน 3) ผลิตภัณฑ์ขนมอบ 4) อาหารกึ่งสำเร็จรูป และ 5) อาหารมื้อหลักที่เป็นอาหารจานเดียว ซึ่งต้องเก็บรักษาไว้ในตู้เย็นหรือตู้แช่แข็งตลอดระยะเวลาจำหน่าย ลงราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2559 มีผลบังคับใช้วันที่ 18 ตุลาคม 2559 (ฉลากเดิมใช้ได้ถึงวันที่ 17 ตุลาคม 2560) นอกจากนี้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เห็นควรให้มีการผลักดันเพื่อให้เกิดผลิตภัณฑ์ที่มีการลดปริมาณโซเดียมในท้องตลาดมากขึ้น พร้อมกับมีการแสดงข้อมูลปริมาณโซเดียมที่ถูกต้อง และออกสัญลักษณ์ทางเลือกสุขภาพ (healthier logo) ติดหน้าผลิตภัณฑ์ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภค และการเลือกซื้อเลือกบริโภคผลิตภัณฑ์ที่ส่งผลดีต่อสุขภาพของคนไทยคนต่อไป
ด้านอาจารย์ดรุณี เอ็ดเวิร์ดส ที่ปรึกษาสมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางอาหารแห่งประเทศไทย (FoSTAT) กล่าวว่า เป้าหมายการปฏิบัติงานของโครงการ Food Safety Forum : ลดเกลือโซเดียมในผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูป คือ การสร้างเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญและนักวิทยาศาสตร์อาหารรุ่นใหม่ที่มีประสบการณ์พัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารลดเกลือ เพื่อนำไปทดลองปรับสูตรผลิตภัณฑ์อื่น ๆ รวมถึงสร้างความตระหนักในการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารลดโซเดียมออกสู่ท้องตลาดมากขึ้น ซึ่งผลิตภัณฑ์ต้นแบบทั้งหมด 11 ผลิตภัณฑ์ เกิดจากความร่วมมือของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยขอนแก่น และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ กับภาคเอกชน โดยผลิตภัณฑ์ต้นแบบสามารถลดปริมาณโซเดียมลงร้อยละ 26.06–53.2 จึงกล่าวอ้างทางโภชนาการได้ว่าเป็นผลิตภัณฑ์อาหารลดโซเดียมตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 182 พ.ศ. 2541 ที่ระบุว่าต้องสามารถลดปริมาณโซเดียมได้อย่างน้อยร้อยละ 25 จากสูตรเดิม ซึ่งทุกผลิตภัณฑ์ผ่านการยอมรับจากผู้บริโภคและมีผลวิเคราะห์จากห้องปฏิบัติการยืนยัน รวมถึงมีกิจกรรมถ่ายทอดองค์ความรู้การผลิตให้ผู้ประกอบการทั้ง 10 องค์กรสามารถนำไปผลิตจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ต่อไป
ด้าน ผศ.ดร.ยศชนัน วงศ์สวัสดิ์ อาจารย์ภาควิชา คณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า เกลือเป็นเครื่องปรุงที่มีบทบาทสำคัญมากของอาหารไทย การหลีกเลี่ยงการใช้เกลือจึงแทบเป็นไปไม่ได้เลยสำหรับคนไทย การนำเครื่องตรวจวัดความเค็มในอาหารก่อนการบริโภค หรือการตรวจวัดปริมาณโซเดียมคลอไรด์ในปัสสาวะเพื่อตรวจสอบระดับความเค็มที่บริโภคเข้าไปนั้น จึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีของคนไทย โดยเครื่องมือการตรวจวัดความเค็มที่คิดขึ้น มีราคาประหยัด เหมาะกับบุคคลทั่วไป หรือเหมาะกับการนำไปใช้ในการรณรงค์ของ สสส และสำหรับบุคคลากรทางการแพทย์ที่ต้องวิเคราะห์ปริมาณโซเดียมในห้องปฏิบัติการ และจุดบริการทางการแพทย์
สำหรับเครื่องตรวจวัดความเค็มในอาหาร ผลิตโดยใช้หลักการนำไฟฟ้าของวัดการนำไฟฟ้าของโซเดียมคลอไรด์ ในน้ำซึ่งมีโซเดียมคลอไรด์ 0-10% (g/100ml) จะมีความคลาดเคลื่อนเฉลี่ยเพียง ± 0.5% และในน้ำซึ่งมีโซเดียมคลอไรด์ 10.1-20% จะมีความคลาดเคลื่อนเฉลี่ยเพียง ± 1% สำหรับแผ่นตรวจวัดโซเดียมคลอไรด์ในปัสสาวะนั้น นักวิจัยใช้ใช้สารเคมีซิลเวอร์ไนเตรท (silver nitrate) ร่วมกับไดคลอโรฟลูออเรสซีน (dichlorofluorescein) จากการทดสอบพบว่ากระดาษทดสอบดังกล่าวตอบสนองต่อสารละลายโซเดียมคลอไรด์ในช่วงความเข้มข้น 0.05% - 1%
ทั้งนี้การวิจัยและพัฒนาการวิเคราะห์ปริมาณโซเดียมคลอไรด์ในปัสสาวะจะอยู่ในรูปแบบกระดาษทดสอบ โดยการตรึงสารเคมีซิลเวอร์ไนเตรตร่วมกับไดคลอโรฟลูออเรสซีนลงบนกระดาษทดสอบ เพียงแค่หยดตัวอย่างปัสสาวะ 1 หยด ลงบนกระดาษก็สามารถบ่งบอกปริมาณโซเดียมคลอไรด์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนการวิจัยและพัฒนาการวิเคราะห์ปริมาณโซเดียมคลอไรด์ในอาหาร เป็นการพัฒนาอุปกรณ์ตรวจวัดความเค็มแบบอิเล็คทรอนิกส์ โดยใช้หลักการนำไฟฟ้าในสารละลายเพื่อตรวจสอบค่าการนำไฟฟ้าจากโซเดียมคลอไรด์ เครื่องตรวจวัดความเค็มที่ประดิษฐ์ขึ้น มีขนาดเล็กพกพาสะดวก ใช้งานง่าย เหมาะกับการตรวจสอบวัดความเค็มของอาหารไทย และสามารถวัดความเค็มได้ในปริมาณที่สูงกว่าอุปกรณ์จากต่างประเทศ
ด้าน ผศ.ดร.อุไรพร จิตต์แจ้ง ที่ปรึกษาสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงโครงการการสร้างฐานข้อมูลวัตถุดิบอาหารและเครื่องปรุงรส : อาหารท้องถิ่นภาคต่าง ๆ และอาหารที่นิยมทั่วไป กล่าวว่า งานวิจัยชิ้นนี้ต้องการสร้างฐานข้อมูลส่วนประกอบอาหาร-เครื่องปรุงรสของตำรับอาหารท้องถิ่น เพื่อเป็นองค์ความรู้เกี่ยวกับปริมาณ แหล่ง และรายการอาหารที่มีโซเดียมสูง สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการรณรงค์การลดบริโภคโซเดียมในท้องถิ่นต่าง ๆ นอกจากนี้ยังมีความสำคัญต่อการสำรวจพฤติกรรมการบริโภค ซึ่งเป็นประโยชน์ในการเฝ้าระวังสถานการณ์ วางแผนรณรงค์เพื่อการป้องกัน และประเมินติดตามผลการดำเนินงาน โดยประเมินปริมาณการบริโภคโซเดียมรายบุคคลด้วย ชุดโปรแกรม INMU NCD Dietary Assessment ซึ่งสามารถระบุเจาะจงว่าส่วนประกอบอาหาร หรือเครื่องปรุงใดเป็นแหล่งโซเดียมหลักที่มีผลกระทบต่อปริมาณการบริโภคมากที่สุด การรณรงค์ให้คนไทยลดการบริโภคโซเดียมลงจึงไม่จำเป็นต้อง ลด-ละ-เลิก เครื่องปรุงรสทุกชนิด
จากการวิเคราะห์ข้อมูลการบริโภคของผู้สูงอายุไทย พ.ศ. 2546-2547 พบว่าผู้สูงอายุบริโภคอาหารที่มีปริมาณโซเดียมเกินกว่าข้อแนะนำที่กำหนดไว้ว่าไม่ควรบริโภคเกิน 2,000 มก.ต่อวันโดย 3 ใน 4 ของโซเดียมทั้งหมดที่บริโภคมาจากเครื่องปรุงรส ดังนั้นจึงแนะนำให้ใช้เครื่องปรุงรสที่มีโซเดียมไม่เกิน 1,500 มก.ต่อวัน โดยเครื่องปรุงที่เป็นแหล่งโซเดียมหลัก จะแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ โดยเครื่องปรุงที่เป็นแหล่งโซเดียมหลักของภาคอีสาน คือ น้ำปลา ขณะที่ภูมิภาคอื่น ๆ เช่น กรุงเทพมหานคร จะใช้เกลือเป็นเครื่องปรุงรสเค็มหลัก โดยส่วนใหญ่จะมาในรูปของส่วนประกอบของเครื่องแกงสดต่าง ๆ ขณะที่เครื่องปรุงรสเค็มประจำถิ่น เช่น ปลาร้า กะปิ น้ำบูดู เป็นเครื่องปรุงรสเค็มประจำถิ่นไม่ได้มีบทบาทเป็นแหล่งโซเดียมหลัก
องค์กรดีเด่น ด้านการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์สุขภาพ (ลดโซเดียม) ในปี 2559 ได้แก่
1.บริษัทคิวพี จำกัด(ประเทศไทย)
2.บริษัทพาณิชยการแห่งปรเทศไทย จำกัด
3.บริษัทหยั่นหว่อหยุ่น คอร์ปอเรชั่นกรุ๊ป จำกัด
4.บริษัทไมท์ตี้ อินเตอร์เนชั่น จำกัด
5.บริษัทไอ.จี. แมนเนจเม้นท์ จำกัด
6.ร้านแหนมปริญญา
7.บริษัทไฮคิวผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด
8.บริษัทอินทัชธนกร จำกัด
9.สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
10.บริษัทสันติภาพ (ฮั่วเพ้ง 1958) จำกัด
11.บริษัทวีแอนด์พีเฟร็ชฟูดส์ จำกัด
12.บริษัทอำพลฟูดส์ โพรเซสซิ่ง จำกัด
13.บริษัทวินแซนซ์ฟู้ด จำกัด
องค์กรดีเด่นด้านการช่วยเหลือสนับสนุนการลดบริโภคโซเดียม
1.สถาบันโภชนาการมหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับบริษัทยูนิลิเวอร์ จำกัด (ประเทศไทย)
2.บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน)