PwC ชี้ธุรกิจครอบครัวทั่วโลกยังไร้แผนสืบทอดกิจการ หวั่นกระทบการเติบโต
กรุงเทพฯ, 15 ธันวาคม 2559 – PwC เผยผลสำรวจพบการดำเนินธุรกิจครอบครัวทั่วโลกอาจหยุดชะงักเพียงรุ่นที่ 4 หากไร้แผนสืบทอดกิจการ ชี้ ‘เบร็กซิท’ อาจซ้ำเติมผู้ประกอบการธุรกิจส่งออก หลังค่าเงินปอนด์ผันผวน แต่เชื่อผลกระทบอยู่ในวงจำกัด มองการแปลงธุรกิจเข้าสู่ยุคดิจิทัล คือ ความท้าทายของทายาทรุ่นใหม่ เหตุต้องสร้างความเข้าใจที่ดีระหว่างสมาชิกครอบครัวในแต่ละรุ่น พร้อมแนะจ้างคนนอกเข้ามาช่วยบริหาร-ยกเครื่องธุรกิจไปสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
PwC (ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส) หนึ่งในเครือข่ายบริษัทผู้ให้บริการด้านตรวจสอบบัญชี บริการให้คำปรึกษาด้านภาษี และบริการให้คำปรึกษาทางธุรกิจรายใหญ่ของโลก มีเครือข่ายไปใน 157 ประเทศทั่วโลก และมีพนักงานมากกว่า 223,000 คน สำหรับประเทศไทย บริษัทถูกก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2502 โดยมีบทบาทในการช่วยเหลือและให้คำปรึกษาแก่ธุรกิจไทยมานานกว่า 58 ปี PwC ผสมผสานประสบการณ์ ความรู้ ความสามารถในการทำงานกับลูกค้าข้ามชาติ ผนวกกับความเข้าใจตลาดภายในประเทศเป็นอย่างดี สิ่งเหล่านี้ล้วนทำให้ชื่อเสียงของ PwC เป็นที่ยอมรับและได้รับความไว้วางใจจากภาคธุรกิจต่างๆ โดยปัจจุบัน มีบุคลากรกว่า 1,600 คนในประเทศไทย
นาย นิพันธ์ ศรีสุขุมบวรชัย หุ้นส่วนสายงานภาษีและกฎหมาย บริษัท PwC ประเทศไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจ The ‘missing middle’: Bridging the strategy gap in family firms ที่ทำการสำรวจธุรกิจครอบครัวจำนวน 2,802 รายที่มียอดขายระหว่าง 5 ล้านดอลล่าร์ถึงมากกว่า 1,000 ล้านดอลล่าร์ในเดือนพฤษภาคมถึงเดือนสิงหาคมใน 50 ประเทศทั่วโลกว่า ปัจจุบันธุรกิจครอบครัวทั่วโลกยังไม่มีความตื่นตัวในการวางแผนสืบทอดกิจการ (Succession Plan) โดยจากผลสำรวจระบุว่า ผู้บริหารธุรกิจครอบครัวเกือบครึ่ง (43%) ยังขาดการวางแผนสืบทอดกิจการที่รองรับการเจริญเติบโตขององค์กรในระยะยาว ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการอยู่รอดของกิจการ
“เรามองว่า แผนสืบทอดกิจการควรถูกบรรจุเป็นส่วนหนึ่งของแผนกลยุทธ์ของทุกองค์กร โดยทั้งสองแผนนี้ควรมีความเชื่อมโยงกันและต้องรองรับกับพันธกิจของครอบครัว เจ้าของ และตัวองค์กรด้วย ซึ่งนอกจากแต่ละแผนจะต้องซับพอร์ตซึ่งกันและกัน และไม่ทำงานเป็นอิสระจากกันแล้ว สิ่งสำคัญไปกว่านั้น คือ ต้องเขียนแผนให้ชัดเจน มีการตกลงร่วมกัน และมีการสื่อสารออกไปให้ทราบอย่างทั่วถึง และต้องยอมรับว่า ธุรกิจครอบครัวเป็นฟันเฟืองสำคัญของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกและทำให้เกิดการจ้างงานมหาศาลแต่การขาดวิสัยทัศน์และไม่เปิดรับต่อการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ยังเป็นอุปสรรคของธุรกิจเหล่านี้ในทุกวันนี้” นาย นิพันธ์ กล่าว
ทั้งนี้ จากผลสำรวจพบว่า ธุรกิจครอบครัวยังคงมีความมุ่งมั่นในการเติบโต กระจายความเสี่ยง และขยายธุรกิจไปในตลาดต่างประเทศในอีก 5 ปีข้างหน้า โดยพบว่า ธุรกิจครอบครัวในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (21%) มีความต้องการและแผนเชิงรุกสำหรับสร้างการเติบโตในอนาคตมากที่สุด รองลงมาคือ ธุรกิจครอบครัวในอเมริกาเหนือ (12%) และยุโรปตะวันตก (10%)
อย่างไรก็ดี ผลสำรวจพบว่า มีธุรกิจครอบครัวเพียง 12% เท่านั้นที่สามารถยืนหยัด สืบทอดกิจการต่อเนื่องไปได้จนถึงรุ่นที่ 3 ขณะที่มีเพียง 3% เท่านั้นที่สามารถส่งต่อกิจการไปสู่รุ่นที่ 4 ได้ และมีบางครอบครัวเลือกที่จะขายทอดกิจการ เพราะไม่สามารถถ่ายโอนกิจการไปสู่รุ่นต่อไปได้สำเร็จ
นาย นิพันธ์ กล่าวว่า ผลสำรวจสะท้อนให้เห็นว่า ภาวะเศรษฐกิจไม่ใช่ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการเติบโตของธุรกิจครอบครัวเพียงอย่างเดียว โดย 64% ของธุรกิจครอบครัวที่ทำการสำรวจ มีผลการดำเนินงานที่เติบโตในปีที่ผ่านมา แม้ว่าเศรษฐกิจจะซบเซาและมีความไม่แน่นอนทางการเมืองในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว แต่ปัจจัยที่กระทบต่อการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญยิ่งกว่า นั่นคือ การขาดแผนสืบทอดกิจการเชิงกลยุทธ์ที่เชื่อมโยงการทำธุรกิจในปัจจุบันและอนาคตเข้าด้วยกัน ซึ่งนี่เป็นเหตุผลหลักที่ทำให้ธุรกิจไม่สามารถบรรลุเป้าหมายของความสำเร็จที่ยั่งยืนได้
นอกจากนี้ ยังได้มีการสำรวจเพิ่มเติมเกี่ยวกับผลกระทบต่อผู้ประกอบการธุรกิจครอบครัว หลังจากการที่สหราชอาณาจักรตัดสินใจถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) ภายหลังผลประชามติเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2559 ที่ผ่านมา โดยธุรกิจครอบครัวจำนวน 1,145 รายมองว่า ในระยะสั้นเหตุการณ์ดังกล่าวไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการเติบโตของธุรกิจ โดยมีเพียง 15% เท่านั้นที่คาดว่า เบร็กซิทจะส่งผลกระทบในเชิงลบ
อย่างไรก็ดี เมื่อถามถึงความกังวลต่อผลกระทบเบร็กซิทในระยะ 1-2 ปีข้างหน้าพบว่า บรรดาธุรกิจครอบครัวในสหราชอาณาจักรมีความกังวลมากที่สุดที่ 38% รองลงมาคือ ประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปที่ 22% เปรียบเทียบกับทั่วโลกที่ 15%
“เรามองว่า เบร็กซิท น่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและธุรกิจไทยในวงจำกัด เพราะไทยมีสัดส่วนการส่งออกไปตลาดอังกฤษไม่ถึง 2% ของยอดการส่งออกทั้งหมด แต่ธุรกิจครอบครัวบางรายที่ติดต่อทำการค้ากับประเทศในกลุ่มอียูควรติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดเช่นกัน รวมถึงป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่อาจเกิดขึ้นด้วย”
เปลี่ยนธุรกิจสู่ดิจิทัล ความท้าทายของทายาทรุ่นใหม่
นาย นิพันธ์ กล่าวต่อว่า ทายาทรุ่นต่อไปที่จะขึ้นเป็นผู้นำรุ่นใหม่ของธุรกิจครอบครัวจะมีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนธุรกิจเข้าสู่ดิจิทัล (Digitisation) โดย 64% ของผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่า การพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง ถือเป็นความท้าทายที่สำคัญที่สุดของธุรกิจครอบครัวในอีก 5 ปีข้างหน้า แต่การเปลี่ยนแปลงธุรกิจสู่ดิจิทัลนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะมุมมองต่อความจำเป็นของการนำเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์กับองค์กรของผู้นำแต่ละรุ่นนั้นแตกต่างกัน
“การนำเทคโนโลยีมาใช้กับองค์กร ถือเป็นความท้าทายสำคัญของการทำธุรกิจครอบครัวที่ประกอบด้วยผู้นำหลายรุ่น หลายเจเนอเรชั่นที่มีความแตกต่างทางความคิด เจ้าของกิจการรุ่นก่อนที่เคยประสบความสำเร็จผ่านการทำธุรกิจแบบเดิมๆ อาจไม่เห็นถึงความสำคัญของการนำเทคโนโลยีเข้ามาเป็นตัวช่วย หลายรายมองเป็นเรื่องของค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น หรือประเมินความเสี่ยงจากการเข้ามาของเทคโนโลยีดิจิทัลต่ำเกินไป” นาย นิพันธ์ กล่าว
สอดคล้องกับผลสำรวจที่ระบุว่า มีธุรกิจครอบครัวเพียง 25% เท่านั้นที่คิดว่า ธุรกิจของตนมีความอ่อนไหวจากการเข้ามาของกระแสเทคโนโลยีดิจิทัล โดยเชื่อว่าบริษัทของตนมีกลยุทธ์ในการรับมือกับการทำธุรกิจในโลกยุคปัจจุบันอยู่แล้ว ขณะที่น้อยกว่าครึ่ง (45%) เชื่อว่า ธุรกิจของตนมีการเตรียมความพร้อม หากถูกจารกรรมข้อมูล (Data Breach) หรือถูกโจมตีทางไซเบอร์ (Cyber Attack)
“การเปลี่ยนแปลงธุรกิจครอบครัวสู่ดิจิทัล ยังคงเป็นเรื่องยากและท้าทายสำหรับทายาทรุ่นใหม่ เพราะเป็นเรื่องของ Mindset ตราบใดที่คนในครอบครัวปฏิเสธ หรือ หลีกเลี่ยงที่จะหารือในเรื่องนี้เพื่อลดความขัดแย้ง ก็จะทำให้สูญเสียโอกาสและความสามารถในการแข่งขันไปในที่สุด แม้ว่าในบางกรณี บริษัทจะมีทีมผู้บริหารมืออาชีพที่จ้างเข้ามาร่วมในการบริหารองค์กรของตนก็ตาม”
นอกจากนี้ บทพิสูจน์ความสามารถของทายาทรุ่นใหม่ ยังเป็นเรื่องของความมุ่งมั่นส่วนบุคคล โดย 88% เชื่อว่าตนต้องทำงานให้หนักกว่ารุ่นปัจจุบันเพื่อพิสูจน์ตัวเอง (เทียบกับ 66%) และเกือบสองในสามเชื่อว่า พวกเขาถูกประเมินผลงานอย่างเหมาะสม (65% เทียบกับ 59% ในรุ่นปัจจุบัน)
จ้างมืออาชีพอีกหนึ่งกุญแจสู่ความสำเร็จ
นาย นิพันธ์ กล่าวว่า การมีทีมบริหารที่ไม่ใช่สมาชิกภายในครอบครัว ถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยผลักดันให้แผนงานของธุรกิจครอบครัวมีความเป็นมืออาชีพ มีความโปร่งใส และได้มาตรฐานเป็นไปตามเจตนาของเจ้าของกิจการที่ตั้งไว้ โดยผลสำรวจพบว่า 3 ใน 5 ของธุรกิจครอบครัวมีแผนที่จะจ้างบุคคลภายนอกในระดับบริหารให้เข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงานของบริษัทในอนาคต แม้ว่าปัญหาที่พบตามมาในเรื่องของการให้อำนาจการตัดสินใจ และการควบคุมยังคงมีอยู่
แม้จะมีความท้าทายหลายประการอย่างที่กล่าวไป นาย นิพันธ์ กล่าวว่า ธุรกิจครอบครัวมีความเชื่อมั่นและทุ่มเทในด้านอื่นๆ โดย 48% เชื่อว่า พวกเขาต้องทำงานหนักกว่า ธุรกิจที่ไม่ใช่ธุรกิจครอบครัวเพื่อให้ได้มาซึ่งบุคลากรมากความสามารถ (Talent) และต้องมีแนวทางในการรักษาบุคคลเหล่านี้ให้อยู่กับองค์กร ขณะที่ 32% ระบุว่า พวกเขาเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ยากกว่าธุรกิจที่ไม่ใช่ธุรกิจครอบครัวและพร้อมที่จะใช้ทุนส่วนตัวในการขยายกิจการ
ผลจากการสำรวจในด้านอื่นๆ ยังพบว่า ธุรกิจครอบครัวน้อยกว่าครึ่งมีแผนที่จะถ่ายโอนอำนาจบริหารและความเป็นเจ้าของทั้งหมดให้แก่ทายาทรุ่นต่อไป โดย 39% เลือกจะถ่ายโอนเพียงอำนาจบริหาร และ 34% เลือกจะถ่ายโอนเพียงความเป็นเจ้าของให้รุ่นต่อไปเท่านั้น สาเหตุเพราะยังต้องการกุมบังเหียนกิจการที่ตนสร้างมา หรืออาจยังไม่มีความไว้วางใจในตัวลูกหลานให้มารับช่วงต่อ
นอกจากนี้ ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจยังกระตุ้นให้ธุรกิจครอบครัวหลายแห่ง นำบริษัทย่อยหรือบริษัทร่วมของบริษัทจดทะเบียน (บริษัทแม่) แยกออกมาเสนอขายหุ้นต่อประชาชนและจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เพื่อสร้างความยืดหยุ่นและคล่องตัวในการขยายขีดความสามารถในการเติบโต โดยพบว่า เจ้าของกิจการครอบครัวรุ่นแรกมีแผนจะขายกิจการหรือนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (29% เทียบกับ 17% ของธุรกิจทั่วไปทั้งหมด) มากขึ้น
สำหรับประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมา เริ่มเห็นธุรกิจครอบครัวเลือกใช้แนวทางการนำทีมพี่เลี้ยง หรือทีมบริหารมืออาชีพเข้ามาช่วยฟูมฟักและเตรียมความพร้อมให้กับกิจการมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะการถ่ายโอนกิจการจากรุ่นสู่รุ่นนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย และใช่จะประสบความสำเร็จในทุกๆ กรณี โดยความผิดพลาดที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่ มักจะเกิดจากการขาดการวางแผนและการออกแบบการเปลี่ยนผ่านที่ดีและมีประสิทธิภาพ
นาย นิพันธ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ทีมบริหารมืออาชีพจะช่วยผลักดันให้แผนธุรกิจเป็นไปตามที่เจ้าของกิจการตั้งไว้ แต่ในบริบทของธุรกิจครอบครัว เป้าหมายทางธุรกิจอาจไม่ใช่คำตอบเพียงคำตอบเดียวที่เจ้าของกิจการควรมุ่งหวัง แต่ยังมีเรื่องการจัดการในครอบครัว การดูแลพนักงานคนเก่าคนแก่ และเรื่องอื่นๆ ซึ่งไม่ควรมองข้าม ดังนั้น การออกแบบและวางแผนส่งต่อธุรกิจครอบครัวที่ดีจึงต้องประสานทั้งเรื่องการส่งต่อกิจการ การกำหนดยุทธศาสตร์ทางธุรกิจ การกำหนดคุณค่าทางครอบครัว และเป้าหมายขององค์กรในลักษณะองค์รวม มากกว่าที่จะเน้นเรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นการเฉพาะ เพื่อให้ธุรกิจประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืนในระยะยาว
เกี่ยวกับ PwC
PwC (ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส) หนึ่งในเครือข่ายบริษัทผู้ให้บริการด้านตรวจสอบบัญชี บริการให้คำปรึกษาด้านภาษี และบริการให้คำปรึกษาทางธุรกิจรายใหญ่ของโลก มีเครือข่ายไปใน 157 ประเทศทั่วโลก และมีพนักงานมากกว่า 223,000 คน สำหรับประเทศไทย บริษัทถูกก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2502 โดยมีบทบาทในการช่วยเหลือและให้คำปรึกษาแก่ธุรกิจไทยมานานกว่า 58 ปี PwC ผสมผสานประสบการณ์ ความรู้ ความสามารถในการทำงานกับลูกค้าข้ามชาติ ผนวกกับความเข้าใจตลาดภายในประเทศเป็นอย่างดี สิ่งเหล่านี้ล้วนทำให้ชื่อเสียงของ PwC เป็นที่ยอมรับและได้รับความไว้วางใจจากภาคธุรกิจต่างๆ โดยปัจจุบัน มีบุคลากรกว่า 1,600 คนในประเทศไทย