นิสิตจุฬาฯ คว้าแชมป์การประกวดเขียนโปรแกรมซอฟต์แวร์ ในเวทีอุดมศึกษาระดับนานาชาติ โดยไปคว้ารางวัลมาจากประเทศเมียนมา ณ เวที “ ACM – ICPC Asia Regional Programming Contest 2016”
สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือซิป้า หน่วยงานภายใต้การกำกับการดูแลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(ดีอี)ขอแสดงความยินดีกับทีมนิสิตภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในโอกาสที่ไปคว้าแชม์เป็นครั้งแรกการประกวดเขียนโปรแกรมซอฟต์แวร์ในเวทีอุดมศึกษาระดับนานาชาติ โดยไปคว้ารางวัลมาจากประเทศเมียนมา ณ เวที “ ACM – ICPC Asia Regional Programming Contest 2016” ระหว่างวันที่ 8-9 ธันวาคม 2559 ที่ผ่านมา
ทีมนิสิตจุฬาฯ (ชื่อทีม CPCU Debuggers) ทีมประเทศไทยที่ไปคว้าแชมป์รางวัลที่ 1 การประกวดเขียนโปรแกรมซอฟต์แวร์ที่ประเทศเมียนมา ประกอบด้วย นายพีรสิชฌ์ เจริญจิตเสรีวงศ์, นายธนภัทร์ เศรษฐการุณย์, นายเมธัส เกียรติชัยวัฒน์
สำหรับความสำคัญของเวที “ ACM – ICPC Asia Regional Programming Contest 2016”นับได้ว่าเป็นเวทีอุดมศึกษาระดับนานาชาติในการแข่งขันเขียนโปรแกรมซอฟต์แวร์ที่มีชื่อเสียงมากที่สุด โดยทีมผู้เข้าแข่งขันทั้งหมดจะต้องเขียนโปรแกรมแก้ไขปัญหาโจทย์ทางวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และอัลกอริทึม ให้ได้ภายในเวลาที่จำกัด ซึ่งทีมที่ชนะจะต้องได้รับการฝึกฝนและอาศัยความชำนาญในการแก้โจทย์ที่ซับซ้อนมากๆ
นายฉัตรชัย คุณปิติลักษณ์ รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ กล่าวว่า การฝึกฝนของนิสิต และการมีเวทีระดับนานาชาติเช่นนี้ มีส่วนทำให้เยาวชนไทยสามารถพัฒนาศักยภาพตนเอง และเดินตามความฝันในเป้าหมายที่แต่ละคนวางไว้ ซึ่งจากการแข่งขันในทุกปีจะสังเกตได้ว่ามีผู้สมัครให้ความสนใจสมัครเข้ามาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และทุกคนมีทักษะมีความสามารถเพิ่มขึ้น ซึ่งเวทีลักษณะนี้ต้องให้ความสำคัญและสนับสนุนเพื่อก้าวไปสู่เวทีการแข่งขันระดับโลก World Finals ต่อไป
สำหรับซิป้าได้ทำการส่งเสริมการแข่งขันเวที “ACM International Collegiate Programming Contest (ACM – ICPC) การเขียนโปรแกรมซอฟต์แวร์มาตั้งแต่ปี 2552 ซึ่งแบ่งการแข่งขันออกเป็น 3 ระดับ ประกอบด้วย Local Contest ซึ่งเป็นการแข่งขันระดับประเทศ โดยครั้งแรกได้รับความร่วมมือจากภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต ต่อมาได้รับความสนใจมากขึ้นจึงได้มีการจัดการแข่งขันในระดับภูมิภาค โดยตัวแทนจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ในภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อให้การแข่งขันกระจายครอบคลุมทั่วประเทศ
รวมทั้งในปี 2555 ทางซิป้าได้เพิ่มศูนย์การแข่งขันในเขตภาคกลาง เนื่องจากมีมหาวิทยาลัยเปิดการเรียนการสอนเกี่ยวกับด้านนี้เป็นจำนวนมาก โดยทีมที่ผ่านการแข่งขันในระดับภูมิภาคก็จะมีโอกาสเข้าแข่งขันในระดับประเทศ และระดับโลก World Finals ต่อไป อย่างไรก็ดีจุดสำคัญคือระหว่างการเก็บตัวเพื่อไปแข่งขันระดับ Regional Contest ซึ่งซิป้าให้ความสำคัญในจุดนี้ในการเตรียมความพร้อมเยาวชนที่เป็นตัวแทนมาเข้าโครงการ Boost Up camp เพื่อฝึกฝนและเพิ่มความชำนาญก่อนแข่งขัน