ADS


Breaking News

สรท. คาดการณ์ส่งออกปี59 ดีสุด -0.8% ถึง 0% ... คาดการณ์ปี60 โต 0-1%!!!

     นายนพพร เทพสิทธา ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือ สภาผู้ส่งออก แถลงข่าวร่วมกับนายวัลลภ วิตนากร รองประธานสภาผู้ส่งออก นายวิชัย ศรีประเสริฐ กรรมการและผู้ตรวจสอบ นายคงฤทธิ์ จันทริก ผู้อำนวยการบริหารสภาผู้ส่งออก และดร.รติดนัย หุ่นสวัสดิ์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงสถานการณ์ส่งออกในเดือนกันยายน 2559 ณ ห้อง
ประชุม 1 สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย อาคารลุมพินีทาวเวอร์ ถนนพระราม 4 เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2559 ว่า การส่งออกในเดือนกันยายน 2559 มีมูลค่า 19,460 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 3.43% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน (YoY) ขณะที่ มูลค่าการส่งออกในรูปเงินบาทเท่ากับ 668,932 ล้านบาท ขยายตัว 0.5% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน (YoY) อย่างไรก็ตาม ภาพรวมการส่งออก 9 เดือนแรก มีมูลค่า 160,468 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว -0.65%

     ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาร่วมกับปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยประกอบไปด้วย 1) กองทุนการเงินระหว่างประเทศ ได้ปรับลดประมาณการการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศเศรษฐกิจก้าวหน้าในปีนี้ลงจาก 1.8% เป็น 1.6% และปรับลดทิศทางการเติบโตของการค้าโลกลงจาก 2.7% เหลือ 2.3% 2) สถานการณ์ราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์หลักในตลาดโลกที่ยังคงทรงตัว
ในระดับต่ำ 3) ความไม่แน่นอนในการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ และผลกระทบต่ออัตราแลกเปลี่ยนที่อาจเกิดขึ้นจากการเก็งกำไร และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจริงในอนาคต 4) การเมืองระหว่างประเทศและการก่อการร้าย ทั้งในยุโรปและตะวันออกกลาง 5) ความเชื่อมั่นภาคธุรกิจและกำลังซื้อของผู้บริโภคยังคงทรงตัวในระดับต่ำ เพราะรอดูสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและปัจจัยที่เกี่ยวข้องอื่นๆ 6) มาตรการปกป้องตลาดของประเทศคู่ค้า เพื่อปกป้องผู้ประกอบการในประเทศของตนเอง 7) ความสามารถในการปรับตัวของผู้ส่งออกไทย ทั้งในการหาตลาดใหม่ และการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น และ 8) ทิศทางและความคืบหน้าในการเจรจา FTA กรอบต่างๆ ซึ่งยังไม่ชัดเจน จะส่งผลให้คู่ค้าประวิงการเจรจาทั้งการซื้อขายและการลงทุนระหว่างกันมากขึ้น เป็นต้น สภาผู้ส่งออก จึงคาดว่าสถานการณ์ส่งออกจะอยู่ระหว่าง หดตัว -0.8% ถึงทรงตัว (0%) ในขณะที่มูลค่าการส่งออกในปี 2017 จะเติบโตอยู่ระหว่าง 0% ถึง 1%

     ด้าน อ.ดร.รติดนัย หุ่นสวัสดิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในประเทศคู่ค้าสำคัญ ดังต่อไปนี้ 1) สหรัฐอเมริกา – แม้เศรษฐกิจภายในจะชะลอตัวลงในไตรมาส 2-3 ที่ผ่านมา แต่เริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวตั้งแต่เดือนกันยายนที่ผ่านมา ขณะที่ผลการเลือกตั้งจะส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจในช่วงต้นปีหน้าเป็นอย่างเร็ว แต่ทิศทางที่น่าจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอนคือ “การกีดกันทางการค้า” 2) สหภาพยุโรป – คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวได้เพียง 0.4% ในปีนี้ เพราะการผลิตและการบริโภคยังคงหดตัว และแม้ระบบการเงินจะเข้มแข็งมากขึ้น จากกรณี BREXIT แต่ปัญหายังคงไม่หมดไป 3) ญี่ปุ่น –ยังคงมีปัญหาจากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ต่ำกว่าระดับ 50 ส่งให้ราคาสินค้าและยอดค้าปลีกยังคงหดตัว ขณะที่การแข็งค่าของเงินเยนยังคงส่งผลต่อภาคส่งออกอย่างต่อเนื่อง 4) จีน - เศรษฐกิจยังคงขยายได้ 6.7% ตามเป้าหมายของรัฐบาล แต่การส่งออกในเดือนกันยายนยังหดตัวถึง 10.2% โดยเฉพาะการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐ ญี่ปุ่น และฮ่องกง

     ในด้านของค่าเงินบาทนั้น จัดอยู่กลุ่มสกุลเงินที่แข็ง โดยนับแต่ต้นปีที่ผ่านมา แข็งค่าประมาณ 2.69% เป็นรองเพียงญี่ปุ่นซึ่งค่าเงินเยนแข็งค่าสูงถึง 12.43% ขณะนี้เงินรูเปียะอินโดนีเซียแข็งค่า 5.35% แต่เมื่อพิจารณาจาก Real Effective Exchange Rate หรือ REER พบว่าราคาสินค้าส่งออกของไทยกลับถูกลงในสายตาของประเทศคู่ค้า และคาดการณ์ว่าการส่งออกของไทยในปี 2016 ในตลาดอาเซียนจะหดตัว -3% จีน หดตัว -5% ญี่ปุ่น หดตัว -1% สหรัฐอเมริกา เติบโต 2% ยุโรป เติบโต 0.5% และตลาดอื่นๆ หดตัว -0.7% ส่งผลให้ภาพรวมของการส่งออกไทยปีนี้ หดตัว -0.8%.