ADS


Breaking News

คำกล่าวสรุปการประชุมสัมมนาหอการค้าทั่วประเทศ

เรียน
  • รองนายกรัฐมนตรี (ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์)
  • รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (คุณกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร)
  • รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ (ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์)
  • ประธานกรรมการหอการค้าไทย 
  • ผู้ว่าราชการจังหวัด
  • อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
  • กรรมการหอการค้าไทย 
  • ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาค 5 ภาค
  • ประธานหอการค้ากลุ่มจังหวัด 18 กลุ่มจังหวัด
  • ประธานหอการค้าจังหวัด, เลขาธิการ, กรรมการหอการค้าจังหวัดทั่วประเทศ และ
  • ผู้ร่วมสัมมนาหอการค้าทั่วประเทศครั้งที่ 34 ทุกท่าน

ผม ดร.เดช เฉิดสุวรรณรักษ์ เลขาธิการหอการค้าไทย ขอสรุปผลการประชุมหอการค้าทั่วประเทศ ครั้งที่ 34 โดยการประชุมหอการค้าทั่วประเทศครั้งนี้ หอการค้าได้ดำเนินการตามวิสัยทัศน์ที่ว่า “หอการค้าไทยเป็นสถาบันหลักทางธุรกิจ ที่มีองค์ความรู้ มีเครือข่ายและความร่วมมือที่เข้มแข็งที่สุดของประเทศไทย โดยมีเป้าประสงค์ให้ประเทศไทยมีศักยภาพ และแสวงหาโอกาสที่ให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลกอย่างยั่งยืน” ซึ่งหอการค้าไทยมุ่งมั่นดำเนินงานภายใต้ 3 พันธกิจหลัก ซึ่งประกอบด้วย  
  • การพัฒนาเพิ่มพูนทักษะความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการทุกภาคส่วนโดยเฉพาะ SMEs (Competitiveness Enhancement)
  • การพัฒนาเครือข่าย และความร่วมมือกับภาครัฐและเอกชน ทั้งในระดับประเทศ ภูมิภาคและระดับโลก (Connectivity and Collaboration)
  • การพัฒนาสังคมและเสริมสร้างธรรมาภิบาล (Good Governance and Corporate Social Responsibility)

ที่ผ่านมาการประชุมหอการค้าทั่วประเทศได้วางกรอบหัวข้อการสัมมนาไว้ในเรื่อง “การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการ ” ซึ่งสอดคล้องกับ นโยบายที่รัฐบาลกำลังขับเคลื่อนอยู่ในช่วงนี้
1. เพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน  
2. รองรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในโลก
3. เพื่อสร้างการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจและธุรกิจอย่างยั่งยืน เพื่อการก้าวไปข้างหน้าของผู้ประกอบการไทย

สำหรับการสัมมนาหอการค้าทั่วประเทศครั้งที่ 34 ในปีนี้ได้กำหนด หัวข้อการจัดสัมมนาในเรื่อง “นวัตกรรม ทำจริง สู่ประเทศไทย 4.0 หรือ Executing Innovation toward Thailand 4.0” ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี
ในครั้งนี้เราเน้นที่การทำจริง และต้องทำทันที!!!!!
ซึ่งได้แบ่งเป็นหัวข้อย่อยออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่
กลุ่ม 1 เรื่อง “การเชื่อมโยงธุรกิจในภูมิภาค CLMVT+”
(CLMVT + :  Regional Value Chain Linkage)
กลุ่ม 2 เรื่อง “องค์กรที่ประสบผลสำเร็จในสภาวะเศรษฐกิจยุคใหม่”
(Successful Enterprise for Modern Environment)
กลุ่ม 3 เรื่อง “การสร้างเศรษฐกิจจากวัฒนธรรม”
(Cultural Economy)

กลุ่มที่ 1 “การเชื่อมโยงธุรกิจในภูมิภาค CLMVT+”
(CLMVT + :  Regional Value Chain Linkage)
== VTR ==
  • การค้าและการลงทุนในประเทศ CLMV ถือเป็นเป้าหมายสำคัญของประเทศไทย หากเราสามารถเชื่อมโยง
ร่วมกันกับประเทศเพื่อนบ้านเหล่านี้ได้จะช่วยยกระดับเศรษฐกิจไทยให้เติบโต เข้มแข็ง และเป็น บันไดเพื่อไปแข่งขันในตลาดโลกได้

ซึ่งจากที่ประชุมได้มีการหารือถึงสิ่งที่ภาครัฐและเอกชนต้อง ดำเนินการเร่งด่วนร่วมกันมี 7 ข้อดังนี้
1. โครงสร้างพื้นฐาน : ผลักดันให้ยกระดับด่านการค้าเพิ่มขึ้น, ขยายเวลาเปิดด่านการค้าชายแดน
2. ปลดล็อกทางการค้า : ให้มีการใช้เงินสกุลท้องถิ่นบริเวณชายแดน, ยกเลิกมาตรการกีดกันทางการค้า (NTM / NTB) ระหว่างกันออกไป,
ผลักดันความตกลง GMS CBTA, ส่งเสริมให้มีการนำเข้าสินค้าจาก CLMV, ความตกลงร่วมมือในการขนส่งสินค้าระหว่างกัน
3. KnowledgeTank:หอการค้าจะเป็นศูนย์กลางในการรวบรวมและ บูรณาการข้อมูล CLMV เพื่อผู้ประกอบการ พร้อมรับคำแนะนำ จากผู้เชี่ยวชาญตัวจริง
4. การพัฒนาบุคลากรและการศึกษา: พัฒนาบุคลากรในประเทศ CLMV เหล่านั้นเพื่อให้รองรับการลงทุนของธุรกิจไทยและพัฒนาผู้ประกอบการให้มีความพร้อมในการเข้าสู่ตลาด
5. การอำนวยความสะดวกด้านการท่องเที่ยว : ACMECS Single Visa เพื่อให้สอดคล้องกับ concept “5 Countries 1 Destination”, การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ, การรักษาพยาบาล
6. ความร่วมมือระหว่างกัน : การพบปะกันระหว่างกลุ่มนักธุรกิจรุ่นใหม่ (YEC) ในประเทศ CLMVT, การตั้งศูนย์กระจายสินค้า
7. TeamThailand+: ปลดล็อคปัญหาทางการค้าที่เกิดขึ้นภายในพื้นที่ร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน โดยใช้รูปแบบ กรอ. และ เป็นศูนย์กลางในการรวบรวมข้อมูลเชิงลึกที่เกิดขึ้นภายในพื้นที่
  • ทั้งนี้ หากผู้ประกอบการไทยมีความสนใจการค้าการลงทุนใน CLMV หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย พร้อมจะช่วยเหลือ และเดินไปพร้อมๆกับท่านรวมถึงการเชื่อมโยงเครือข่ายทั้งในและต่างประเทศ เพื่อนำท่านไปสู่ความสำเร็จในอนาคตด้วยโครงการเหล่านี้ อาทิ โครงการ Knowledge Tank, โครงการ AEC and SMEs Challenges: Next Steps–Business Matching, Top Thai Brands เป็นต้น

กลุ่มที่ 2 “องค์กรที่ประสบผลสำเร็จในสภาวะเศรษฐกิจยุคใหม่”
(Successful Enterprise for Modern Environment)
== VTR ==
หากเราจะอยู่รอดจากเปลี่ยนแปลงของสภาวะเศรษฐกิจและสังคม หรือ Megatrend เราจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจ ของตนเองจากเดิม
จากการสัมมนาเชิงปฏิบัติการร่วมกัน พวกเราหอการค้าจะขับเคลื่อน การค้าและบริการ 4.0 โดยสร้าง ecosystem เพื่อเอื้อประโยชน์ในการใช้นวัตกรรมให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมมีทั้งสิ้น 5 ด้านด้วยกัน
  • สร้างข้อมูลและพัฒนาองค์ความรู้ หอการค้ามุ่งเน้นพัฒนาผู้ประกอบการให้เป็นผู้ประกอบการ  Ecommerce เต็มตัว  และให้พัฒนาผู้ประกอบการให้มีความรู้ ความเข้าใจในความหมาย ของคำว่า BIG DATA  โดยเริ่มจากการเก็บข้อมูลและนำมาวิเคราะห์ ด้วยระบบอิเลคทรอนิก เพื่อนำไปวิจัยและพัฒนาต่อยอดธุรกิจ
  • เพิ่มมูลค่าเพิ่มของผลิตภัณฑ์ด้วยนวัตกรรม
เราจำเป็นต้องใช้นวัตกรรมเพิ่มมูลค่าของสินค้าและบริการ โดยมีโครงการคูปองนวัตกรรม และ โครงการอื่นๆช่วยสนับสนุน
  • เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน
ผลักดันให้ผู้ประกอบการ SME เป็น IDE (Innovation driven enterpreneurs) และ Smart Enterprise  เพื่อเพิ่มโอกาสให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนง่ายขึ้น  
  • เอื้ออำนวยความสะดวกทางด้านธุรกิจให้ก้าวไปสู่ประเทศไทย 4.0
ช่วยปลดล็อคและอำนวยความสะดวกทางด้านธุรกิจ (Ease of Doing Business) โดยเฉพาะธุรกิจที่กำลังวิจัยและพัฒนานวัตกรรม  
  • สร้างระบบเทคโนโลยีและ digital สำหรับธุรกิจยุคใหม่ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้สอดรับกับเทคโนโลยี และครอบคลุมทุกพื้นที่รวมถึงพัฒนาระบบป้องกันความเสี่ยงและความปลอดภัยทางด้านเทคโนโลยี เพื่อรองรับการเข้าสู่ประเทศไทย 4.0
กลุ่มที่ 3 “การสร้างเศรษฐกิจจากวัฒนธรรม
(Cultural Economy)
== VTR ==
Thailand Services 4.0 เป็นกลไกสำคัญในการเพิ่มมูลค่าและความแตกต่างให้กับธุรกิจ โดยมีปัจจัยขับเคลื่อนในรูปแบบของเอกลักษณ์และเสน่ห์ไทย หรือ "Innovative on Thai Services" คือมีความคิดสร้างสรรค์ (Creative) มีวัฒนธรรม (Cultural) และมีการนำเทคโนโลยีดิจิตอล (Digital Technology) เข้ามายกระดับการให้บริการ ทั้งนี้ ต้องมีปัจจัยพื้นฐานคือ มาตรฐานการบริการ รวมถึงการพัฒนาบุคลากรและผู้ประกอบการเพื่อให้เกิดความเข้มแข็ง ภายใต้การดำเนินตามหลักการปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (Sufficiency Economy) กล่าวคือ ความมีเหตุผล - ความพอประมาณ - มีภูมิคุ้มกัน และใช้ความรู้ควบคู่กับคุณธรรม รวมทั้ง การมีส่วนร่วม (Inclusive) ของชุมชนและทุกภาคส่วน จะนำพาให้การบริการของไทย ก้าวสู่ยุคใหม่ ได้อย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ จากการหารือในห้องสัมมนา ได้ข้อเสนอเพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ และยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน ผ่านแนวคิด “Cultural Economy” สรุปได้ดังนี้

1) การปรับเปลี่ยนภาคการบริการ (Service Sector) ของประเทศไทยให้เข้าสู่ “Thailand Services 4.0” โดยดำเนินการผ่านแนวคิด “Cultural Economy” ของหอการค้าไทยคือ การใช้วัฒนธรรม ภูมิปัญญา อัตลักษณ์ท้องถิ่น เชื่อมโยงกับความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม เทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อสร้างความแตกต่างสำหรับสินค้าและบริการ นำไปสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ และคุณค่าในทางสังคม โดยเชื่อมโยงตลอดทั้งห่วงโซ่คุณค่าการท่องเที่ยว (Value Chain)
2) การขับเคลื่อนการสร้าง Cultural Economy ผ่านโครงการ “ไทยเท่ ทั่วไทย” ซึ่งเป็นการจัดประกวดโครงการที่นำวัฒนธรรมท้องถิ่น ผนวกกับความคิดสร้างสรรค์ มาสร้างสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่ม ให้กับเศรษฐกิจในพื้นที่แต่ละจังหวัด ทั่วประเทศไทย
3) แนวทางของหอการค้าไทยและหอการค้าทั่วประเทศ ในการสนับสนุนการขับเคลื่อน Cultural Economy โดยเสริมสร้างผู้ประกอบการให้มีขีดความสามารถในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อเพิ่มมูลค่า และสร้างเศรษฐกิจในท้องถิ่น ตามแนวคิด Cultural Economy ผ่านเครื่องมือที่หลากหลาย ตั้งแต่การให้คำปรึกษา การสัมมนา การศึกษาดูงาน การฝึกอบรมในหลักสูตรต่างๆ เช่น หลักสูตร IDEA ของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เป็นต้น

ที่ผมได้กล่าวมานี้ เป็นผลจากการประชุมกลุ่มย่อยทั้ง 3 กลุ่ม ที่พวกเราชาวหอการค้าตั้งใจรวมพลังเพื่อขับเคลื่อนและยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศให้ก้าวหน้าอย่างยั่งยืน    
นอกจากที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นแล้ว คณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ ภาคทั้ง 5 ภาค ของหอการค้าไทยที่ได้มีการจัดทำและขั บเคลื่อนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาค 2020 ผ่านกลไก กรอ.จังหวัดและกรอ.กลุ่มจังหวัด และปัจจุบันกระทรวงมหาดไทย ได้ให้ความสำคัญกับภาคเอกชนให้มีส่วนร่วมจัดทำแผนกลุ่มจังหวัด  ในลักษณะ Value Chain เพื่อจัดทำงบประมาณในปี 2561 – 2564 ต่อไป
ยิ่งไปกว่านั้นหอการค้าไทยยังให้ความสำคัญกับ การ ขับเคลื่อนผู้ประกอบการรุ่นใหม่หอการค้าไทย YOUNG ENTREPRENEUR CHAMBER OF COMMERCE (YEC)  เพื่อให้นักธุรกิจรุ่นใหม่ทั่วประเทศ มีโอกาสเข้าร่วมทำกิจกรรมกับหอการค้าไทย โดยเสนอแนวคิดใหม่ๆ และร่วมสร้างคุณประโยชน์ต่อเศรษฐกิจท้องถิ่น และประเทศชาติ  ซึ่งพลังคนรุ่นใหม่ที่จะมารับช่วงต่อในการพัฒนาธุรกิจและขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยร่วมกับภาครัฐและเอกชนในอนาคต โดยได้มีการให้คนรุ่นใหม่นำเสนอโครงการ YEC Pitching เพื่อกิจกรรมร่วมกันกับหอการค้าฯทั่วประเทศ
สุดท้ายนี้ งานสัมมนาหอการค้าทั่วประเทศ ครั้งที่ 34 ได้มี “ปฏิญญาอยุธยา” ที่หอการค้าทั่วประเทศได้ข้อสรุปร่วมกัน ในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ ตามแนวทางที่คุณอิสระ ว่องกุศลกิจ ได้กล่าวในเบื้องต้นแล้ว

ดังต่อไปนี้
  1. หอการค้าทั่วประเทศ จะสานพลังร่วมมือตามแนวทางประชารัฐร่วมกับภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาครัฐ ภาคประชาชน และภาคเอกชน ในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และนำพาประเทศไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน (Inclusive Growth)
  2. หอการค้าทั่วประเทศ จะสนับสนุนภาครัฐในการขับเคลื่อนประเทศไทย ตามนโยบาย Thailand 4.0  
  3. หอการค้าทั่วประเทศ จะลงมือทำนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัล มาให้พัฒนากระบวนการทางธุรกิจไปสู่การค้าและบริการ 4.0 (Trade and Service 4.0) ซึ่งเป็นการค้าและบริการบนระบบอัจฉริยะ (Smart Platform)  

ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าว หอการค้าไทย คาดว่าจะช่วยผลักดันให้มูลค่าการค้าและบริการของประเทศไทยเพิ่มขึ้นจากเดิมอีกอย่างน้อยไม่ต่ำกว่าปีละ 50,000-100,000 ล้านบาท หรือช่วยให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวเพิ่มขึ้นได้ไม่ต่ำกว่าปีละ 0.4-0.7% ซึ่งจะช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจไทยในปี 2560 เติบโตที่ระดับ 4.0%

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นอื่นๆ อีก ที่ได้จากการสัมมนาในครั้งนี้ ซึ่ง ทั้ง หอการค้าไทย หอการค้าจังหวัด มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และ เครือข่ายต่างๆ เช่น สมาคมการค้า และหอการค้าต่างประเทศ จะนำเอาประเด็นที่ได้ไปหารือต่อ
ทั้งหมดนี้คือ ผลสรุปการประชุมการสัมมนาหอการค้าทั่วประเทศ ครั้งที่ 34  สำหรับเอกสารที่เป็นรายละเอียดของผลการประชุม  เราได้ดำเนินการสรุปจัดทำเป็นสมุดปกขาว ซึ่งท่านประธานหอการค้าไทย คุณอิสระ ว่องกุศลกิจ จะมอบให้ ท่านรอง นายกรัฐมนตรี (ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์) เพื่อพิจารณาตามความเหมาะสมต่อไป  ขอบคุณครับ