ADS


Breaking News

สสว. ร่วมกับ หอการค้าไทย ยกระดับ SMEs สู่ 4.0 ในทางปฏิบัติมุ่งเน้นเตรียมความพร้อม Startup ที่มีศักยภาพ ปรับปรุง Packaging และเปิดตลาด AEC

ภายใต้โครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งสำหรับผู้ประกอบการใหม่
โครงการ Innovative Packaging for SME และโครงการเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการเพื่อรองรับ AEC
วันนี้ (28 พฤศจิกายน 2559) นางสาลินี วังตาล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า สสว. ได้กำหนดแนวทางของแผนการส่งเสริม SMEs ฉบับที่ 4 ปี 2560 - 2564 ซึ่งต้องการพัฒนาให้เกิด SMEs 4.0 โดยให้ความสำคัญกับการยกระดับขีดความสามารถของ SMEs ให้เติบโตเข้มแข็งและสามารถแข่งขันได้ในระดับสากล โดยกำหนดเป้าหมายในระดับผลกระทบเชิงมหภาคให้ SMEs ที่มีอยู่ 2.76 ล้านราย สามารถสร้างสัดส่วนมูลค่าของผลิตภัณฑ์มวลรวมหรือ SME GDP เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 50 ของ GDP ประเทศภายในปี 2564 จากร้อยละ 42 ในปัจจุบัน

     (จากซ้าย) นายสุรพล ว่องวัฒนโรจน์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย, นางสาลินี วังตาล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และ นายพลิศร์ ภิรมย์ภักดี กรรมการรองเลขาธิการหอการค้าไทย

สสว. ได้ร่วมมือกับหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในการดำเนินโครงการเพื่อเป็นการยกระดับและพัฒนา SMEs เนื่องจาก ทั้ง 2 องค์กรมีเครือข่ายสมาชิกนักธุรกิจครอบคลุมทั่วประเทศ รวมทั้งเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้ประกอบการและสร้างความยั่งยืนให้กับธุรกิจ ประกอบด้วย 3 โครงการ คือ
1. โครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งสำหรับผู้ประกอบการใหม่ เป้าหมายคือ เพื่อพัฒนาและเตรียมความพร้อมสำหรับผู้ประกอบการรุ่นใหม่ให้มีศักยภาพในการดำเนินธุรกิจ และเป็นการสร้างคนรุ่นใหม่เพื่อสืบทอดธุรกิจ โดยการนำเทคนิคการบริหารงานจากผู้บริหารระดับสูง ถ่ายทอดสู่ผู้ประกอบการรุ่นใหม่เพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันทางธุรกิจในมิติต่างๆ รวมทั้งนำนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาสินค้าและบริการ
2. โครงการ Innovative Packaging for SME เป้าหมายคือ เพื่อให้ผู้ประกอบการ SMEs และวิสาหกิจชุมชน ให้ความสำคัญกับการออกแบบบรรจุภัณฑ์ เพื่อเพิ่มมูลค่าและสร้างเอกลักษณ์ให้กับสินค้า และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทั้งในตลาดภายในและต่างประเทศ รวมทั้งเป็นการผลักดันให้ SMEs เข้าสู่ฐานสมาชิกของ สสว. และจดทะเบียนการค้ากับกระทรวงพาณิชย์
3. โครงการเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการเพื่อรองรับ AEC เป้าหมายคือ เพิ่มศักยภาพ SMEs เพื่อมุ่งสู่ AEC ผ่านการบ่มเพาะผู้ประกอบการให้มีความพร้อมในทุกๆ ด้านในการดำเนินธุรกิจสมัยใหม่ที่มีการแข่งขันสูง โดยการเพิ่มทักษะและองค์ความรู้ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการบริหาร รวมทั้งสร้างพันธมิตรทางการค้าด้วยการจับคู่ทางธุรกิจ (Business Matching)

ซึ่งทั้ง 3 โครงการดังกล่าว สสว. หวังเป็นอย่างยิ่งว่า จะเป็นการสะท้อนการบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนซึ่งจะเห็นเป็นรูปธรรมสามารถเห็นผลลัพธ์ได้จริง

นายสุรพล ว่องวัฒนโรจน์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า หอการค้าไทยร่วมกับ สสว. ได้จัดทำโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งสำหรับผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นโครงการที่จะสร้างคนรุ่นใหม่เพื่อสืบทอดธุรกิจ โดยให้ความรู้และประสบการณ์ผ่านการฝึกปฏิบัติจริง และให้ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ได้เข้าใจถึงการใช้นวัตกรรม ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนการดำเนินธุรกิจ ปัจจุบันได้มีการรวมกลุ่มและจัดตั้งกลุ่มผู้ประกอบการรุ่นใหม่หอการค้า (YEC) เพื่อเป็นแบบอย่างให้ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ได้รวมกลุ่มกันเป็นเครือข่ายในการพัฒนาธุรกิจให้มีศักยภาพและประสิทธิภาพรองรับการขยายตัวของธุรกิจ กลุ่มเป้าหมายของโครงการ คือ นักธุรกิจรุ่นใหม่ หรือทายาทธุรกิจ ซึ่งกลุ่มคนรุ่นใหม่จะเป็นพลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ ชอบความท้าทาย และแสวงหาโอกาส สามารถแตกลายธุรกิจใหม่ๆได้ โดยโครงการนี้จะเปิดรับสมัครผู้ประกอบการรุ่นใหม่เข้าร่วมโครงการ จำนวน 80 รายต่อภาค รวม 5 ภาค จำนวน 400 ราย

     “โครงการนี้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่จะต้องปรับทิศทางของการบริหารจัดการธุรกิจให้ทันต่อสถานการณ์เพื่อให้การดำเนินธุรกิจผ่านพ้นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้อย่างราบรื่น และสืบทอดธุรกิจของครอบครัวให้ก้าวต่อไปข้างหน้าได้อย่างยั่งยืน” นายสุรพล กล่าว
    นอกจากนี้ ยังได้ร่วมกับ สสว. จัดทำโครงการ Innovative Packaging for SME เพื่อสร้างความตระหนักรู้ในการนำเอานวัตกรรมการบรรจุภัณฑ์มาเป็นเครื่องมือสร้างช่องทางการตลาด เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการ SMEs ของไทย กลุ่มเป้าหมายของโครงการคือ ผู้ประกอบการ SMEs ทั่วไป และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่เข้าร่วมโครงการ โดยจะเปิดรับสมัครผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการ จำนวน 100 ราย ใน 5 ภาคทั่วประเทศ
    สำหรับโครง Innovative Packaging  สิ่งที่ผู้เข้าร่วมโครงการจะได้รับ ได้แก่ 1. การเรียนรู้ จะได้เรียนรู้แนวคิดและกลยุทธ์ในการออกแบบบรรจุภัณฑ์เพื่อเพิ่มมูลค่าและสร้างเอกลักษณ์ให้กับสินค้า 2. เสนอไอเดีย และรับคำปรึกษาใกล้ชิด ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้คำปรึกษาและแนะนำการออกแบบแก่ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการอย่างใกล้ชิด จนได้แนวคิดและไอเดียในการออกแบบบรรจุภัณฑ์ใหม่ 3. แบบร่างบรรจุภัณฑ์ (Artwork) ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ เมื่อได้รับคำปรึกษาและแนะแนวทางในการออกแบบจะได้รับแบบร่างบรรจุภัณฑ์รูปแบบใหม่ตามที่ต้องการ 4. ผลิตบรรจุภัณฑ์ต้นแบบ ผู้ประกอบการที่มีแนวคิดในการออกแบบบรรจุภัณฑ์ใหม่ได้ยอดเยี่ยมจะได้รับคัดเลือกให้ผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์ต้นแบบสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้จริงหลังเสร็จสิ้นโครงการ
นายพลิศร์ ภิรมย์ภักดี กรรมการรองเลขาธิการหอการค้าไทย กล่าวว่า โครงการเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการเพื่อรองรับ AEC ที่ร่วมดำเนินการกับ สสว. ประกอบด้วย กิจกรรมที่ 1 โครงการเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการเพื่อรองรับ AEC ภายใต้กิจกรรม “พัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ SMEs เพื่อมุ่งสู่ AEC” ด้วยการบ่มเพาะผู้ประกอบการ SMEs ให้พร้อมทุกด้านเพื่อสร้างแผนธุรกิจโดยในระยะแรกโครงการนี้ จะคัดเลือกผู้ประกอบการ SMEs ในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มจำนวน 50 รายในปีแรก จึงเป็นที่มาของชื่อกิจกรรม ที่เรียกว่า Big Brother 50 มาทำการฝึกอบรม  
โดยมีองค์กรที่เป็นผู้นำทางธุรกิจจากเครือข่ายทั้ง 15 องค์กร มาร่วมเป็นพี่เลี้ยงให้กับ SMEs ในรูปแบบของพี่ช่วยน้อง โดยบริษัทพี่จะทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงให้กับผู้ประกอบการแต่ละราย แบ่งออกเป็นกลุ่มย่อยและมีบริษัทพี่เลี้ยงช่วยกำกับดูแล Coaching และร่วมทำแผนธุรกิจอย่างใกล้ชิด เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายธุรกิจ 100 ล้านบาท โดยผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการจะมีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และองค์ความรู้ซึ่งกันและกัน รวมถึงการได้รับประสบการณ์จริงผ่านการเยี่ยมชมกิจการ ในองค์กรต่างๆ และยังมอบสิทธิประโยชน์ที่จะเอื้อต่อการดำเนินธุรกิจกับบริษัทน้อง
สำหรับ 15 องค์กรชั้นนำที่ร่วมในโครงการนี้ได้แก่ 1. บริษัท ปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) 2. บริษัท สุรพลฟู้ดส์ จำกัด (มหาชน) 3. บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด 4. บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) 5. บริษัท โตโยต้ามอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด 6. บริษัท มาลีกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) 7. บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) 8. บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด 9. บริษัท โรงเส้นหมี่ชอเฮง จำกัด 10. ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) 11. ธนาคาร ไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) 12. ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) 13. บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม และ 14. สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย 15. หอการค้าไทย
หลักสูตรสำคัญของการบ่มเพาะผู้ประกอบการ ได้แก่ 1. เรื่องการพัฒนาสินค้าให้ตรงใจกลุ่มเป้าหมาย 2. กลยุทธ์การตลาดเพื่อเพิ่มยอดขาย 3. การบริหารสินค้าคงคลังและการวางแผนการจัดซื้อ 4. การเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต 5. ตลอดจนการบริหารจัดการบัญชีและการเงิน
กิจกรรมที่ 2 การเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการเพื่อรองรับ AEC ด้วยการต่อยอดธุรกิจสู่ตลาด AEC ภายใต้ชื่อกิจกรรม “AEC and SMEs Challenges: Next Steps – Business Matching” ซึ่งเป็นโครงการที่มุ่งเน้นในการพัฒนาและสร้างเครือข่ายธุรกิจให้กับผู้ประกอบการ SMEs ของไทยกับผู้ประกอบการในประเทศเพื่อนบ้านที่มีศักยภาพ ได้แก่ กัมพูชา ลาว และเมียนมา โดยกลุ่มประเทศดังกล่าวถือได้ว่าเป็นกลุ่มประเทศที่มีความสำคัญต่อการค้าระหว่างประเทศของไทยและมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมีศักยภาพในการขยายธุรกิจค่อนข้างสูงในปัจจุบัน
หอการค้าไทย ได้ดำเนินการเตรียมการในด้านต่างๆ รวมทั้งประสานขอความร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตร อาทิ สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ  และหอการค้าในประเทศนั้นๆ เพื่อให้ผู้ประกอบการ SMEs ของไทยได้ประโยชน์สูงสุดจากการจัดกิจกรรม “สร้างเครือข่าย ศึกษาลู่ทางการค้าและการลงทุนในประเทศกลุ่มเป้าหมาย”  โดยผู้ประกอบการ SMEs ของไทย จะได้มีโอกาสการสร้างเครือข่ายโดยการพบปะ/หารือกับนักธุรกิจชั้นนำที่เป็นสมาชิกหอการค้าในแต่ละประเทศ ซึ่งมีความน่าเชื่อถือ และการสำรวจตลาด เพื่อศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภค และทราบ Trend ของผู้บริโภค ซึ่งจะช่วยในการเปิดโอกาสทางการค้าให้กับผู้ประกอบการ SMEs ของไทย
นอกจากนี้ เพื่อให้การเจรจาการค้าประสบผลสำเร็จ หอการค้าไทยจะมีการจัดอบรมเตรียมความพร้อมก่อนการเดินทาง โดยนักธุรกิจที่ประสบผลสำเร็จ หรือ ผู้เชี่ยวชาญการทำการค้าและธุรกิจในตลาดต่างๆ มาบรรยายให้ความรู้ ชี้แนะแนวทางสำคัญ ซึ่งจะเป็นเครื่องมือ กลไกสำคัญในการเสริมสร้างผู้ประกอบการ SMEs สู่ความสำเร็จมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ หอการค้าไทย ได้กำหนดการเดินทางเยือนกลุ่มประเทศเป้าหมาย ประกอบด้วย 1. กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ระหว่างวันที่ 15-17 กุมภาพันธ์ 2560, 2. กรุงเวียงจันทน์ ประเทศลาว ระหว่างวันที่ 25-27 เมษายน 2560 และ 3. กรุงย่างกุ้ง ประเทศเมียนมา ระหว่างวันที่ 19-21 มิถุนายน 2560
     อย่างไรก็ตาม จะเห็นได้ว่าทั้ง 2 กิจกรรม มีความเชื่อมโยงและสอดคล้องในการพัฒนาและผลักดันธุรกิจของธุรกิจ SMEs ไทยเพื่อมุ่งสู่ตลาด AEC อย่างแท้จริง  อีกทั้งจะทําให้เกิดการพัฒนาเป็นธุรกิจต้นแบบและสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้ประกอบการ SMEs อื่นๆ ซึ่งจะนําไปสู่ความแข็งแกร่งและเจริญก้าวหน้าของประเทศต่อไป