ADS


Breaking News

สุนทรพจน์ “นวัตกรรม ทำจริง สู่ประเทศไทย 4.0” (Executing Innovate toward Thailand 4.0)

โดย คุณอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย 

วันเสาร์ที่ 26 พฤศจิกายน 2559 เวลา 09.25-09.50 น. ณ โรงแรมกรุงศรีริเวอร์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

  1. ภัยอันตรายจากการเปลี่ยนแปลงของโลก
  • ท่านผู้เข้าร่วมสัมมนาที่เคารพ เป็นเวลากว่า 230 ปี ที่โลกได้ผ่านการปฏิวัติอุตสาหกรรม  ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงวิธีการผลิตและกระบวนการทางธุรกิจครั้งสำคัญมาแล้วถึง  3 ครั้ง  นับตั้งแต่ การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งแรก ในปี พ.ศ.2327 ซึ่งมีการใช้เครื่องจักรไอน้ำเป็นกำลังขับเคลื่อน การผลิตแทนแรงงานคนและสัตว์ (Mechanical Production)  

  • ครั้งที่ 2  ในปี พ.ศ.2413  ซึ่งเป็นการใช้พลังงานไฟฟ้าเพื่อการผลิตสินค้าที่เหมือนๆ กัน จำนวนมาก เป็น Mass Production และครั้งที่ 3 ในปี พ.ศ.2512 โดยเป็นการนำอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ ทำให้เกิดระบบการผลิตแบบอัตโนมัติขึ้น (Automated Production) จนถึงปัจจุบัน

  • ล่าสุดในการประชุม World Economic Forum ครั้งที่ 43 ที่เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์  เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2559   ศาสตราจารย์  ดร.คลอส  ชวาบ (Klaus Schwab)  ผู้ก่อตั้งสภาเศรษฐกิจโลก  ได้เสนอข้อมูลเกี่ยวกับพัฒนาการของเศรษฐกิจโลก ใกล้เข้าสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4   ซึ่งเป็นยุคที่นวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัลเปลี่ยนแปลงไป อย่างรวดเร็ว  นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงอย่างมากมายในสังคมมนุษย์อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน  

  • สิ่งต่างๆ รอบตัวเราจะถูกเชื่อมโยงด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล  หรือที่เรียกว่า Internet of Things และกระบวนการทางธุรกิจก็จะเปลี่ยนแปลงอย่างสิ้นเชิง  สู่ยุค 4.0 ที่มีการต่อยอดผสมผสานเทคโนโลยีต่างๆ กับธุรกิจ อาทิ นาโนเทคโนโลยี ไบโอเทคโนโลยี เทคโนโลยีสารสนเทศ เซ็นเซอร์ การพิมพ์ 3 มิติ   และพันธุวิศวกรรม

  • รวมถึงมีการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) และหุ่นยนต์ เข้ามาแทนที่ การทำงานของมนุษย์ โดยภายในปี พ.ศ.2563 คาดว่า 15 เขตเศรษฐกิจ ซึ่งครอบคลุมแรงงานกว่า 65% ของโลก  (ได้แก่ อาเซียน  กลุ่มประเทศอ่าวอาหรับ จีน ญี่ปุ่น อินเดีย  สหรัฐอเมริกา ยุโรป  อเมริกาใต้  แอฟริกา และออสเตรเลียจะมีงานหายไปมากถึง 7 ล้านตำแหน่ง
  • 2 ใน 3 ของงานที่หายไป คาดว่าจะเป็นงานในสำนักงาน งานเลขานุการ งานบัญชี  พนักงานขาย  พนักงานจัดการเอกสาร  แต่จะมีงานใหม่มาทดแทนเพียง 2 ล้านตำแหน่ง  ซึ่งเป็นอาชีพ  เกี่ยวกับการควบคุมการใช้งานและพัฒนาเทคโนโลยี เช่น วิศวกรคอมพิวเตอร์  โปรแกรมเมอร์ เป็นต้น ซึ่งจะมีผลกระทบทำให้คนตกงานรวม 5 ล้านคน สำหรับแรงงานและสถานประกอบการที่ปรับตัวไม่ทัน จะประสบปัญหาเป็นอย่างมาก

  1. ผลกระทบจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป
  • การรับรู้ข้อมูลข่าวสารรวดเร็วเมื่อเทียบกับในอดีต  ตัวอย่างของวิทยุ ที่ต้องใช้เวลานานถึง 38 ปี ในการเข้าถึงผู้ฟัง 50 ล้านคน มาในปัจจุบัน Facebook ใช้เวลาเพียง 2 ปี  ขณะที่ท่าเต้นคังนัมสไตล์ ใช้เวลาไม่ถึง 1 เดือน และล่าสุดข่าวการชนะเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา  ของ นายโดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) ถูกส่งผ่าน Twitter กว่า  75 ล้านครั้ง  ในเวลาเพียง ไม่กี่นาที แต่ในอนาคตการรับรู้ข้อมูลข่าวสารจะยิ่งรวดเร็วกว่านี้อีกหลายเท่า

  • ขณะที่อายุเฉลี่ยขององค์กรธุรกิจ เมื่อปี พ.ศ.2515 ธุรกิจมีอายุเฉลี่ย 67 ปี แต่ปัจจุบันอายุเฉลี่ยลดลงเหลือเพียง 15 ปี เท่านั้น  และในอนาคตจะลดลงอีก ซึ่งเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงของโลก และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและข้อมูล ที่มีส่วนทำให้ทัศนคติและความต้องการของผู้บริโภคเปลี่ยนไป มีการเสนอแนวคิดนวัตกรรม สินค้าและบริการใหม่ๆ มาแทนที่สินค้าและบริการแบบเดิมที่เคยมีมาก่อน  ธุรกิจที่ไม่สามารถปรับตัวได้ทันจึงต้องเลิกหรือปิดกิจการไป

  • ดังตัวอย่าง ความนิยมชมภาพยนต์ทางเว็บไซต์ Online ทำให้ธุรกิจบริการให้เช่า VDO ต่างๆ ต้องปิดตัวจนแทบไม่เหลือให้เห็นในปัจจุบัน เช่นเดียวกับ การทยอยปิดตัวไปของนิตยสารชื่อดังหลายฉบับทั้งในประเทศและต่างประเทศ ที่เห็นเป็นข่าวมาอย่างต่อเนื่องก่อนหน้านี้

  • พัฒนาการของเทคโนโลยีดิจิทัล ทำให้เกิดช่องทางใหม่ๆ ที่ผู้ผลิตและผู้บริโภคสามารถซื้อขายได้โดยตรง ผ่านช่องทางจำหน่ายสินค้า Online ที่ช่วยลดต้นทุน ลดเวลา และขั้นตอนไปได้มาก ธุรกิจตัวแทน (ยี่ปั๊ว ซาปั๊ว ขายปลีก) จึงเริ่มไม่มีความหมาย และในอนาคตจะต้องปิดตัวหายไปจำนวนมาก  

  • ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลง ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับธุรกิจเท่านั้น แม้แต่คนอย่างผมหรือพวกเรา  ถ้าไม่ปรับตัวเตรียมพร้อม  ก็มีโอกาสที่จะกลายเป็นคนไร้ค่าได้ในที่สุด

  1. บริบทการค้าเปลี่ยนแปลงไปสู่ E-Commerce
  • อนาคตที่กำลังพูดถึงนี้ได้เกิดขึ้นแล้วในประเทศจีน เช่นที่ แจ็ค หม่า ประธานกลุ่มบริษัท Alibaba  ได้กล่าวไว้เมื่อครั้งมาเยือนไทยในเดือนตุลาคมที่ผ่านมาว่า “เมื่อ 15 ปีก่อน ไม่มีใครเชื่อว่า E-Commerce จีนจะมีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก สมัยนั้นโครงสร้างพื้นฐานของจีนล้าสมัย และน้อยคนที่จะมีคอมพิวเตอร์ แต่ปัจจุบันชาวนา ชาวไร่ มีสมาร์ทโฟนก็สามารถเชื่อมต่อการค้ากับผู้คนทั่วโลก สามารถซื้อสินค้า Online ได้

  • วันนี้พฤติกรรมผู้บริโภคกำลังเปลี่ยนไป ห้างค้าปลีกในประเทศจีนกลายเป็น Showroom ที่ลูกค้าใช้ทดลองสินค้า แต่จะกลับไปซื้อสินค้านั้นทางร้านค้า Online ที่สามารถสั่งซื้อสินค้าได้หลากหลาย และราคาถูกกว่า 20%-30%  

  • เช่นเดียวกับในสหรัฐฯ นิตยสาร Business Insider รายงานว่า E-Commerce ได้ทำให้คนเดินห้างลดลงกว่า 50% และภายใน 10 ปีข้างหน้า 1 ใน 6 ของห้างในสหรัฐฯ จะต้องปิดตัวลง

  • ไม่เว้นแม้แต่ ห้างค้าปลีกยักษ์ใหญ่อย่าง วอลมาร์ท (Walmart)  ซึ่งครองส่วนแบ่งตลาดค้าปลีก ของสหรัฐฯ ถึง 11%  และเป็นบริษัทที่มีรายรับมากที่สุดในโลก (ถึง 480,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) ยังได้รับผลกระทบ  จนต้องเร่งทำการปรับตัว โดยปิดร้านสาขาทั่วโลกที่ไม่ทำกำไร และอยู่ในรัศมีใกล้กันถึง 269 สาขา  ส่งผลให้พนักงานตกงานกว่า 16,000 คน  แล้วหันมารุกตลาด E-Commerce โดยซื้อกิจการร้านค้าออนไลน์ของ  เจ็ท ดอทคอม (Jet.com)  เพื่อเสริมความแข็งแกร่งของธุรกิจ

  1. คนไทยกำลังเดินหน้าไปสู่วิถีของยุคดิจิทัล
  • สำหรับประเทศไทยจากการวิจัยของ Google Consumer Barometer พบว่า คนไทยกำลังเดินหน้าไปสู่วิถีชีวิตยุคดิจิทัล ปัจจุบัน 70% ของประชากรไทยใช้สมาร์ทโฟน และคนไทยเข้าถึงอินเทอร์เน็ตเป็นจำนวนมาก โดย 53% ใช้อินเทอร์เน็ตทุกวัน ขณะที่ ตลาด E-Commerce ในประเทศไทย มีมูลค่าการค้าถึง  2.5 ล้านล้านบาท และกำลังเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 10% ต่อปี  

  • ในอดีตเรากังวลกับห้างค้าปลีกยักษ์ใหญ่ที่เข้ามาตั้งในพื้นที่ ซึ่งเป็นภัยคุกคามที่เรามองเห็น แต่ในวันนี้ E-Commerce ทำให้บริบททางการค้าไร้พรมแดน เป็นภัยเงียบที่รุกคืบมาถึง ประตูบ้าน คู่แข่งของเราไม่ใช่ห้างค้าปลีกยักษ์ใหญ่เหมือนในอดีต แต่เป็นใครหรือธุรกิจใดก็ได้ในโลกนี้  ซึ่งไม่จำเป็นต้องมีหน้าร้าน แต่เขาสามารถเข้าถึงลูกค้าของเราได้

  • อย่างไรก็ตาม ภัยคุกคามเกิดขึ้นพร้อมกับโอกาสของธุรกิจรายเล็กๆ ที่สามารถใช้ E-Commerce เสริมศักยภาพให้เข้าถึงโอกาสที่ไกลกว่าแค่ภายในจังหวัด เหมือนเช่น ธุรกิจ 108 เทคโนฟาร์ม ของ คุณสมเจตน์  เจริญศรีสัมพันธ์  ซึ่งเมื่อ 20 ปีก่อน จำหน่ายสินค้าเกษตร พืชผัก และเมล็ดพันธุ์ เฉพาะในพื้นที่จังหวัดอ่างทอง และจังหวัดใกล้เคียง (เช่น อยุธยา สุพรรณบุรี สิงห์บุรี และสระบุรี)

  • กระทั่งปี พ.ศ.2554 ได้นำ  E-Commerce มาเป็นเครื่องมือทางการตลาด โดยมีการให้ข้อมูล และขายสินค้าผ่านทางเว็บไซต์ (www.108technofarm.com) และโซเชียลมีเดีย ปัจจุบัน 108 เทคโนฟาร์ม จึงมีลูกค้าในเกือบทุกจังหวัด และมีบริการส่งสินค้าทั่วประเทศ ทำให้ยอดขายเติบโตจาก 100 ล้านบาท เป็น 400 ล้านบาทต่อปี เพิ่มขึ้นถึง 4 เท่า ภายในระยะเวลาเพียง 5 ปี

  • กรณีของ 108 เทคโนฟาร์ม คือตัวอย่างความสำเร็จของ SMEs ที่ได้พัฒนาโดยนำ E-Commerce มาใช้สร้างตลาดนำการผลิต ซึ่งไม่เพียงแต่ทำให้ธุรกิจเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วเท่านั้น แต่ยังช่วยเสริมศักยภาพจังหวัด ในการพัฒนาเป็นแหล่งผลิตสินค้าเกษตรและอาหารปลอดภัย ส่งขายเข้าครัวในเมืองหลวง ตามวิสัยทัศน์โครงการ “อ่างทองครัวกรุงเทพฯ”

  1. การเปลี่ยนผ่านประเทศไปสู่ Thailand 4.0
  • เมื่อโลกกำลังเปลี่ยนแปลงไปสู่ยุค 4.0 เราจึงต้องปรับตัวไปพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงของโลก ร่วมกันพัฒนาประเทศตามนโยบาย  Thailand 4.0  เพื่อปรับโครงสร้างของเศรษฐกิจไทย   สู่การเป็นเศรษฐกิจที่มีมูลค่าเพิ่ม (Value - Based Economy) ที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัล   ซึ่งจะช่วยให้ไทยก้าวขึ้นเป็นประเทศชั้นนำด้านความสามารถในการแข่งขัน
 
  • โดยเฉพาะด้านการเกษตร แนวโน้มความต้องการสินค้าอาหาร ที่เน้นคุณภาพและความปลอดภัยเพิ่มมากขึ้น ถือเป็นโอกาสสำคัญของประเทศไทย ในช่วงที่ผ่านมา ผมได้เดินทางไปในหลาย จังหวัด พบว่า ปัจจุบันมีคนหนุ่มสาวทำงานอยู่ในภาคเกษตร ซึ่งมีการใช้ไอที (IT) และดิจิทัล มาพัฒนาผลิตภัณฑ์และช่องทางการจำหน่าย Online เป็นจำนวนมาก   

  • กลุ่มคนรุ่นใหม่เหล่านี้ถือเป็นความหวังของการทำเกษตรสมัยใหม่ ใช้เทคโนโลยีในการทำ เกษตรแบบแม่นยำ (Precision Farming)  เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต  รวมถึงยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยด้านอาหาร (Food Safety)  และต่อยอดไปสู่ไบโอเทคโนโลยี (Biotechnology)  เช่น  พัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์อาหารเสริมและยา  จากไบโอฯ  เป็นต้น  ซึ่งจะสนับสนุนให้ไทยก้าวไปเป็นมหาอำนาจทางด้านเกษตรและอาหารได้ในอนาคต

  • ด้านการค้าและบริการ ที่เป็นจุดแข็งของพวกเราหอการค้าทั่วประเทศในยุค 4.0 (Trade and Services 4.0) จะต้องพัฒนาสู่ระบบการค้าอัจฉริยะ (Smart Trade Platform) ที่มีการนำนวัตกรรม มาใช้ในการสร้าง Smart Product หรือ Smart Service  ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ หรือการบริการที่เน้นคุณภาพ ได้มาตรฐาน และมีมูลค่าเพิ่มสูง

  • ทั้งยังต้องให้ความสำคัญในการจัดเก็บและนำข้อมูลที่มีอยู่มากมาย (BIG DATA) มาใช้วิเคราะห์คาดการณ์ความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อให้การตอบสนองเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว สามารถตอบโจทย์ความต้องการ และเข้าถึงอารมณ์  ความรู้สึก (Emotional)  ซึ่งมีความสำคัญเป็นอย่างมากต่อการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าและบริการของผู้บริโภคในปัจจุบัน

  • นอกจากนี้ไทยยังมีทุนทางวัฒนธรรมล้ำค่า  อัตลักษณ์ท้องถิ่น ภูมิปัญญา และความเป็นไทย (Thainess) ที่มีไมตรีจิต ซึ่งสามารถนำมาใช้สร้างเอกลักษณ์และความแตกต่าง พัฒนาเป็นสินค้าและบริการทางวัฒนธรรม (Cultural Product) เป็นบริการในรูปแบบไทย (Thai Service) ที่ให้บริการจากใจ รวมถึงต่อยอดการพัฒนาสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) และธุรกิจบริการที่มีมูลค่าสูง (High Value Services)
  • ทั้งนี้ ผู้ประกอบการจะต้องมองเป้าหมายการค้าและการให้บริการในระดับภูมิภาคและระดับโลก ทำการแสวงหาโอกาสในต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดประเทศเพื่อนบ้านกลุ่ม CLMV และ ตลาดอาเซียน ซึ่งเศรษฐกิจกำลังเติบโต โดยนำเทคโนโลยีดิจิทัล และเครื่องมือทางการตลาดสมัยใหม่ มาช่วยให้สามารถเข้าถึงลูกค้าได้อย่างไร้พรมแดน

  1. องค์กรธุรกิจยุคใหม่ที่ประสบความสำเร็จ
  • อย่างไรก็ตาม ประเทศจะพัฒนาไปสู่จุดนั้นได้ ปัจจัยสู่ความสำเร็จอยู่ที่การพัฒนาคน ให้มีความเชี่ยวชาญในแต่ละงานแต่ละอาชีพ โดยเฉพาะผู้ประกอบธุรกิจจะต้องพัฒนาเป็นองค์กรธุรกิจยุคใหม่  มีการสร้างตราสินค้า (Brand) ของตัวเอง ใช้ดิจิทัล และ E-Commerce สร้างตลาด

  • รวมถึงต้องให้ความสำคัญในการลงทุนด้านการวิจัยพัฒนา (R&D) และนวัตกรรม (Innovation) เพื่อสร้างโอกาสในการเติบโตอย่างต่อเนื่อง  ซึ่งในการสัมมนาเชิงปฏิบัติการช่วงบ่ายวันนี้ จะมีกรณีศึกษาของผู้ที่ลงมือทำ นำนวัตกรรมมาพัฒนาธุรกิจจนประสบความสำเร็จ ให้เห็นเป็นตัวอย่าง

  • หากไม่ลงมือทำธุรกิจก็จะประสบปัญหาไม่สามารถที่จะแข่งขันได้ แม้แต่บริษัทขนาดใหญ่อย่าง กลุ่มมิตรผล เรายังตระหนักถึงความสำคัญของการปรับตัว  จึงพัฒนาองค์กรอย่างต่อเนื่อง โดยกำหนดให้นวัตกรรมเป็นวัฒนธรรมองค์กร ส่งเสริมคนรุ่นใหม่ให้มีอิสระทางความคิด และทำการสร้างสรรค์นวัตกรรม  ปัจจุบันกลุ่มคน Gen Y จึงสนใจร่วมทำงานกับเรามากขึ้น  

  • นอกจากนี้ กลุ่มมิตรผลยังทำวิจัยร่วมกับต่างประเทศ โดยได้ร่วมทุนกับบริษัท Dynamic Food Ingredients (DFI) ของประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อวิจัยพัฒนาการผลิตสารให้ความหวาน  แคลอรี่ต่ำ (Erythritol และ Xylitol) ซึ่งเป็นสารให้ความหวานเพื่อสุขภาพจากธรรมชาติ สำหรับสนองความต้องการยุคใหม่ และเมื่อเร็วๆ นี้ ยังได้มีการลงนาม MOU ร่วมกับกลุ่มบริษัท ผู้ผลิตสารให้ความหวานแคลอรี่ต่ำของประเทศจีน เพื่อวิจัยผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องจากชานอ้อย

  1. ตัวอย่าง ธุรกิจแมลงอบกรอบตรา “ไฮโซ”
  • อย่างไรก็ตาม  ธุรกิจยุคใหม่ไม่จำเป็นต้องเป็นรายใหญ่เท่านั้น  SMEs รายเล็กๆ ที่มองเห็นโอกาส  และทำการพัฒนาธุรกิจอย่างต่อเนื่อง  ก็สามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมได้ ดังตัวอย่าง ธุรกิจแมลงอบกรอบไฮโซ  ของ คุณทัดณัฐ ฉันทธรรม์  (คุณทัดนัด  ฉันทะทัน)  ซึ่งเห็นโอกาส  ของรถเข็นขายแมลงทอดข้างถนนที่ยังพัฒนาได้อีกไกล  อีกทั้งแมลงยังเป็นอาหารโปรตีนสูง ซึ่งเป็นที่นิยมบริโภค จึงตัดสินใจเริ่มธุรกิจด้วยการทดลองทอดแมลงในครัวหลังบ้าน
  • โดยเลือกใช้แมลงยอดนิยม คือ ดักแด้หนอนไหมและแมงสะดิ้ง (จิ้งหรีดขาว) เป็นวัตถุดิบ มาปรุงเป็น 4 รสชาติ ได้แก่ รสดั้งเดิม โนริสาหร่าย บาร์บีคิว และรสชีส และร่วมกับภาควิชาวิศวกรรมอาหาร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ทำการวิจัยพัฒนาวิธีการทอด แล้วนำไปอบแห้งสลัดน้ำมันออก  ทำให้ไม่มีน้ำมันตกค้าง สินค้ามีรสชาติดี เก็บรักษาได้นานถึง 1 ปี สะอาดปลอดภัยได้มาตรฐาน อย.  และ GMP

  • ไฮโซใช้นวัตกรรมการตลาดแบบสนุกสนาน  ผ่าน Facebook YouTube  และ Line รวมถึงโฆษณาบนรถเมล์ ป้ายบิลบอร์ดริมถนนและทางด่วน เมื่อสินค้าเป็นที่รู้จัก จึงเข้าสู่โมเดิร์นเทรดและร้านสะดวกซื้อทั่วประเทศ ทำให้แมลงทอดเมนูรถเข็นธรรมดากลายเป็นแมลงไฮโซ ที่มียอดขายกว่า 10,000 ซองต่อวัน สร้างรายได้ 3,000,000 บาทต่อเดือน และยังส่งออกไป  สปป.ลาว สหรัฐฯ  ฝรั่งเศส รวมทั้งมีเป้าหมายในการพัฒนาเป็นผู้นำในธุรกิจแมลงของไทย   

  1. ตัวอย่าง ธุรกิจโรตีสายไหม “Candy Crepe”
  • อีกตัวอย่างใกล้ตัว ธุรกิจโรตีสายไหม Candy Crepe ซึ่งเกิดจากความชื่นชอบของ  คุณเจนนิสา คูวินิชกุล เธอจึงขอซื้อสูตรจากร้านบังหมัด โรตีสายไหมเจ้าดังของอยุธยา นำมาพัฒนาเป็น สายไหมหลากหลายรสชาติ ทั้ง ทุเรียน  มะม่วง  มะพร้าว ส้ม องุ่น เมลอน ราสเบอร์รี่,สตรอเบอร์รี่กีวี และโคล่า   

  • รวมทั้ง พัฒนาแผ่นแป้งแบบดั้งเดิมเป็นรส ชาเขียว ชาร์โคล์ (ผงถ่าน) ชาไทย เบลเยี่ยมช็อคโกแลต และมาการองกุหลาบ พัฒนาการผลิตจนได้รับมาตรฐาน อย. GMP และฮาลาล รวมถึงออกแบบบรรจุภัณฑ์ทันสมัยสวยงาม  ทำให้โรตีสายไหมชุดละ 50 บาท มีมูลค่าเพิ่มสูงสุดที่ชุดละ 495 บาท อีกทั้งยังใช้ความคิดสร้างสรรค์ ผสมผสานโรตีสายไหมกับไอศกรีม  และเครื่องดื่ม เกิดเป็นเมนูใหม่ๆ ที่มีมูลค่าสูงขึ้นเป็น 200 - 595 บาท  

  • ปัจจุบัน Candy Crepe มีสาขาในเดอะซีซั่นมอลล์ (พหลโยธิน) เซ็นทรัลเอ็มบาซซี่ และ ถนนกิ่งแก้วใกล้สนามบินสุวรรณภูมิ เพื่อจับกลุ่มลูกค้าที่มีกำลังซื้อและนักท่องเที่ยวต่างชาติ อีกทั้งยังพัฒนาช่องทางจำหน่าย ผ่าน Facebook และ Instagram  เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าเด็กๆ และวัยรุ่น
  • นอกจากนี้แล้ว Candy Crepe ยังได้ร่วมกับ สวทช.(สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ) ทำวิจัยและพัฒนาสินค้าให้สามารถเก็บรักษาได้นานขึ้น จากแผ่นแป้งที่เก็บได้เพียง 3 วัน พัฒนาจนเก็บได้ 3 สัปดาห์ โดยไม่ใช้สารกันเสีย และพัฒนาเครื่องทำแผ่นแป้ง  เครื่องดึงเส้นสายไหม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เตรียมความพร้อมสำหรับการส่งออกในอนาคต

  • ที่กล่าวมานั้น เป็นตัวอย่างธุรกิจของคนรุ่นใหม่  ที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ พัฒนาจนประสบความสำเร็จ  ผมอยากเห็นหอการค้าทั่วประเทศส่งเสริมให้สมาชิก สร้างสรรค์นวัตกรรม ซึ่งอาจไม่ใช่สิ่งใหญ่ๆ หรือเป็นธุรกิจใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อนในโลกแต่นวัตกรรมสามารถเกิดจากการต่อยอด การพัฒนาเล็กๆ น้อยๆ โดยต่อเนื่อง หรือเป็นนวัตกรรมทางการค้า เป็นกระบวนการทำงานใหม่ๆ  ที่มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น  

  1. นวัตกรรม  ทำจริง  สู่ประเทศไทย 4.0
  • เพื่อนสมาชิกและผู้เข้าร่วมสัมมนาทุกท่าน โลกในวันนี้เปลี่ยนแปลงไปมาก  และในอนาคต จะเปลี่ยนโฉมไปอย่างที่เราไม่เคยคาดคิดมาก่อน สำหรับผู้ที่ไม่สามารถปรับตัวได้ ไม่ว่าจะเป็น คนหรือธุรกิจ ก็จะถูกแทนที่ด้วยสิ่งใหม่ๆ และกลายเป็นผู้แพ้หรือล้มหายตายจากไป ในกรณีของการพัฒนาประเทศก็เช่นเดียวกัน  หากเราปรับตัวช้า จะสูญเสียความสามารถในการแข่งขันและเป็นผู้แพ้ไปในที่สุด

  • เมื่อ 3 ปี ที่แล้ว หอการค้าจึงได้สร้างการตื่นตัวให้ผู้ประกอบการ เปลี่ยนความคิด (Change Mindset)  ตระหนักว่า  การสร้างความสามารถในการแข่งขันเริ่มที่ตัวเรา ซึ่งเป็นที่มาของ หัวข้อสัมมนาหอการค้าทั่วประเทศ  ที่จังหวัดตรัง ในปี พ.ศ.2556  “Change Mind   Change Me   To Be Excellent : เปลี่ยนหัวคิด ตั้งใจ สู่ชัยชนะ”    

  • ต่อมาในปี พ.ศ.2557 มีการปรับปรุงหัวข้อสัมมนาหอการค้าทั่วประเทศ ที่จังหวัดเชียงราย เป็น “Change Me  To Be Excellent : เปลี่ยนหัวคิด  ก้าวไป  สู่ชัยชนะ”

  • และในปีที่แล้ว (พ.ศ.2558) ในการสัมมนาหอการค้าทั่วประเทศ ที่จังหวัดอุดธานี หอการค้าได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการวิจัยและพัฒนา (R&D) รวมถึงสนับสนุนให้ผู้ประกอบการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัล  มาใช้พัฒนาธุรกิจสู่ความเป็นเลิศ  ดังหัวข้อสัมมนาฯ “Innovate to Excellence : นวัตกรรม นำไทย สู่ความเป็นเลิศ”
  • สำหรับในปีนี้ซึ่งเป็นปีที่ 4 เป็นช่วงที่โลกมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ขณะที่รัฐบาลได้มี นโยบายยกระดับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศไปสู่ Thailand 4.0 คณะจัดงานฯ จึงกำหนดหัวข้อสัมมนาหอการค้าทั่วประเทศ ครั้งที่ 34 ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในปีนี้ว่า “Executing Innovate toward Thailand 4.0 : นวัตกรรม ทำจริง  สู่ประเทศไทย 4.0”

  • ในส่วนของหอการค้าไทยและหอการค้าจังหวัดก็ได้พัฒนาองค์กรต่อเนื่องมาโดยตลอด เรามีนักธุรกิจรุ่นใหม่ (YEC) เข้ามาร่วมขับเคลื่อน ทำให้การดำเนินงานมีชีวิตชีวามากยิ่งขึ้น จนเป็นที่ยอมรับจากสังคมในวงกว้าง ซึ่งเป็นผลจากความร่วมมือของพวกเราชาวหอการค้าทั่วประเทศ  ผมจึงขอขอบคุณเพื่อนสมาชิกทุกท่านไว้  ณ  ที่ประชุมแห่งนี้ด้วย

  • แต่การเปลี่ยนแปลงยังคงเกิดขึ้นตลอดเวลา เมื่อโลกกำลังเข้ายุค 4.0 ขณะที่ไทยและหลายประเทศยังคงประสบปัญหาความเหลื่อมล้ำ  ทั้งนี้ เพื่อลดปัญหาช่องว่างทางสังคม  และเพื่อการพัฒนาประเทศให้มั่นคงยั่งยืน  จึงถือเป็นความท้าทายที่ภาคส่วนต่างๆ ทั้ง ภาครัฐ ภาคประชาชน และภาคเอกชน  จะต้องสานพลังความร่วมมือตามแนวทางประชารัฐ  ที่ภาคเอกชนเป็นผู้นำการขับเคลื่อน  

  • กลุ่มคนรุ่นใหม่จึงต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ ช่วงเวลานี้จึงเป็นเวลาของการส่งผ่านจากผู้อาวุโสไปยังนักธุรกิจรุ่นใหม่ รวมถึงตัวผมเองก็ต้องส่งผ่านให้ผู้นำรุ่นใหม่ มารับช่วงการทำงานต่อไป

  • ขณะที่การพัฒนาธุรกิจเป็นสิ่งที่ต้องทำโดยต่อเนื่อง และต้องลงมือทำอย่างจริงจัง โดยนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัล มาใช้เพิ่มประสิทธิภาพ สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจ  เพื่อเปลี่ยนผ่านประเทศไปสู่ Thailand 4.0 หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ความรู้สึกเหล่านี้จะเกิดจากภายใน  และอยู่ในจิตวิญญาณของพวกเราชาวหอการค้าตลอดเวลา สำหรับท่านที่ยังไม่ลงมือทำ ผมขอแนะนำต้องทำเดี๋ยวนี้ ทำทันที  ก่อนที่จะสายเกินไป

  • ขอบคุณครับ





ที่ปรึกษา :
รศ.ดร.จีรเดช  อู่สวัสดิ์, รศ.ดร.เสาวณีย์  ไทยรุ่งโรจน์
ผู้เขียน :
นายนันทนาถ  ม่วงทอง (กลุ่มมิตรผล)

นายคมกริช  นาคะลักษณ์, นางสาวยลไฉไล  จาตุรทิศ

นายวชิรวิทย์  สุนันท์ธัญกุล (กลุ่มมิตรผล)